โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ
Wattanothaipayap School
ที่ตั้ง
แผนที่
22 ถนนบุญเรืองฤทธิ์ ตำบลหายยา อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 50100
ข้อมูล
ชื่ออื่นว.พ. / W.P.
ชื่อเดิมโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ (25 มีนาคม พ.ศ. 2449; 118 ปีก่อน (2449-03-25))
ประเภทโรงเรียนประจำจังหวัดของรัฐ
โรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่พิเศษ
คติพจน์บาลี: สุสิกฺขิตา อติจริยา
(เรียนดี มีมารยาทงาม)
สถาปนา1 กรกฎาคม พ.ศ. 2464; 103 ปีก่อน (2464-07-01)
ผู้ก่อตั้ง"เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์" เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8
พระผู้พระราชทานนาม "สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า" (7 มกราคม พ.ศ. 2471)
รหัส50012002
ผู้อำนวยการนายพิพัฒน์ สายสอน
จำนวนนักเรียน2,805 คน[ต้องการอ้างอิง]
สี  ฟ้า
  ขาว
เพลงมาร์ชฟ้า-ขาว
ดอกไม้ดอกปีบ
เว็บไซต์www.wattano.ac.th

โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เดิมเคยเป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพมาก่อน ปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนแบบสหศึกษาในระดับมัธยมศึกษา และใน พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนจากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระราชอิสริยยศปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) โดยทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงเรียนจากพระนามเดิม “สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา” ว่า “วัฒโนทัยพายัพ" (เป็นคำที่สนธิกันระหว่างคำว่า วัฒนา และ อุทัย)

ชื่อโรงเรียน

  • พ.ศ. 2449: โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย"
  • พ.ศ. 2471: โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ"
  • พ.ศ. 2476: โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ
  • พ.ศ. 2517: โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

ประวัติ

โรงเรียนสตรีเจ้าหลวงประจำมณฑลพายัพ

มหาอำมาตย์โท พันเอก เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ ดำรงนพีสีนคร สุนทรทศลักษ์เกษตร์ วรฤทธิ์เดชดำรง จำนงยุติธรรมสุจริต วิศิษฐสัตยธาดา มหาโยนางคราชวงษาธิบดี เจ้านครเชียงใหม่ องค์ที่ 8

โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เป็นโรงเรียนสตรีของรัฐบาลแห่งแรกในจังหวัดเชียงใหม่ เปิดทำการสอนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2449 (ร.ศ. 125) โดยพระราชดำริของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 8 พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะก่อตั้งโรงเรียนสอนเด็กหญิงในนครเชียงใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดให้ขุนอุปกรณ์ศิลปศาสตร์ ข้าหลวงธรรมการมณฑลพายัพ และนายพันตรีเจ้าไชยสงคราม กรมการเมืองเชียงใหม่ ติดต่อขอใช้คุ้มเจ้าเรือนคำ ถนนแม่ข่า เป็นที่ตั้งโรงเรียนและทรงรับอุปการะ[1] โดยมีนางอบเชย เป็นครูใหญ่คนแรก วันเปิดทำการเรียนการสอนมีนักเรียนทั้งสิ้น 70 คน

ใน พ.ศ. 2457 ขุนอุปกรณ์ศิลปสาตร์ ธรรมการมณฑลพายัพ ดำเนินการให้เปิดทำการสอน ณ บริเวณบ้านพักธรรมการจังหวัดใกล้วัดดอกเอื้อง ต่อจากนั้นหลวงอนุภาณสิศยานุสรรค์ ธรรมการมณฑลคนต่อมาดำเนินการต่อ โดยมีนางจำรัส หงสกุล เป็นครูใหญ่ และในปีถัดมา เมื่อโรงเรียนชายที่ตั้ง ณ คุ้มหลวง ข้างวัดดวงดีย้ายไป โรงเรียนสตรีจึงได้ย้ายไปแทนที่ตามคำสั่งมณฑลพายัพ สมัยขุนเชิดวิชาครูเป็นธรรมการ เปิดทำการสอนครั้งแรก วันที่ 1 พฤษภาคม 2459 และได้ใช้ชื่อโรงเรียนว่า โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" มีรองอำมาตย์โท ขุนอาจวิชาสรร เป็นครูใหญ่ ต่อมาใน พ.ศ. 2460 รื้ออาคารเรียนที่วัดดวงดี ไปสร้างใหม่ในที่ดินของอำมาตย์ตรีเจ้าราชบุตร เสนาคลัง บริเวณถนนพระปกเกล้าเป็นเจ้า (ปัจจุบันคือ ถนนพระปกเกล้า) ซึ่งเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยอาชีวศึกษาในปัจจุบัน เปิดทำการสอนวันที่ 1 พฤษภาคม 2461

ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2464 หลวงวิสณฑ์ดรุณการ ธรรมการมณฑลพายัพ มีคำสั่งประกาศที่ 771 ให้แยกโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "ยุพราชวิทยาลัย" ที่มีครูใหญ่เพียงคนเดียว คือ รองอำมาตย์โทขุนอาจวิชาสรร โดยได้เพิ่ม นางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ รักษาการแทนครูใหญ่ และได้รับการยกฐานะเป็น โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ รับนักเรียนสตรีตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และรับนักเรียนชายอายุไม่เกิน 12 ปีเต็ม

โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ" นามพระราชทาน

พระบรมฉายาลักษณ์ทรงฉายพร้อมด้วย สมเด็จฯ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช

ใน พ.ศ. 2471 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพได้นำความกราบบังคมทูลเพื่อขอพระราชทานนามโรงเรียนจากสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า (พระราชอิสริยยศปัจจุบันคือ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) โดยทรงพระกรุณาโปรดกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานนามโรงเรียนจากพระนามเดิม “ สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา” ว่า “วัฒโนทัยพายัพ" (เป็นคำที่สนธิกันระหว่างคำว่า วัฒนา และ อุทัย) ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า[2] ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้า กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินทร (พระอิสริยยศปัจจุบันคือสมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร)[3] ทรงประกอบพิธีเปิดป้ายนาม โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ "วัฒโนทัยพายัพ"[4] ต่อมาใน พ.ศ. 2474 ธรรมการมณฑลให้รวมโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ วัฒโนทัยพายัพ และโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด (โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ในปัจจุบัน ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2468) เริ่มรับนักเรียนประจำเข้าเรียนในแผนกสามัญ

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา เสด็จทรงเป็นประธานในพิธีเปิด “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” แห่งโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “วัฒโนทัยพายัพ”[5] เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2475 เวลา 16.30 น.

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา

คำประทานกราบทูลเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ของหลวงอนุสารสุนทร กรมการพิเศษจังหวัดเชียงใหม่

“ ...ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานกราบทูลแสดงความปิติยินดีในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระกรุณาทรงเปิดผ้าคลุมนามตึกและเสด็จทรงเหยียบ “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” หลังนี้เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลแก่สถานที่และบรรดานักเรียนที่จะได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการศึกษา สืบไป ...”

ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนโปรดให้ครูช่างฟ้อนเมืองทุกแบบและฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตาในวังมาสอนนักเรียนด้วยเพื่อเป็นการสืบทอดมรดกทางนาฏศิลป์ ที่โรงเรียนภูมิใจมากในปีนั้นได้เปิดสอนสาขาฝึกหัดครูประกาศนียบัตร (ป.) และครูประถม (ปป.) ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ใน พ.ศ. 2476 ทางราชการเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค ยกเลิกการปกครองแบบมณฑล ยุบกองธรรมการมณฑล โรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพ “วัฒโนทัยพายัพ” จึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเติมคำว่า "พายัพ" เพื่อรักษาประวัติว่าเคยเป็นโรงเรียนสตรีประจำมณฑลพายัพมาก่อนและเติมคำว่า “สตรี" หัวนามโรงเรียน จึงมีชื่อทางการว่า โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ แผนกสามัญเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 ในเวลาต่อมา เนื่องจากบริเวณโรงเรียนคับแคบจึงได้ย้ายมาตั้ง ณ ที่ปัจจุบัน ซึ่งเดิมเป็นวัดร้างชื่อ “วัดสีเสียด” เริ่มก่อสร้างตึกเรียนวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2481

พ.ศ. 2481 โรงเรียนสาขาสตรีวัฒโนทัยพายัพที่เป็นที่ตั้ง “ตึกคำเที่ยงนฤมิตร” ได้เป็นอิสระจากการปกครองของโรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ และได้รับชื่อใหม่ว่า “โรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์” ซึ่งต่อมาในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2482 ได้มีพิธีเปิดโรงเรียนคำเที่ยงอนุสสรณ์ โดยพันโทประยูร ภมรมนตรี รัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธี ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2484 – 2488 ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพเป็นสถานที่พักของทหารญี่ปุ่น โรงเรียนจึงต้องย้ายไปทำการสอนที่โรงเรียนฮั่วเอง โรงเรียนฮั่วเคี้ยว ถนนช้างคลาน และโรงเรียนวัดพระนอนหนองผึ้ง (จันทราราษฎร์ประสาท) ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และใน พ.ศ. 2517 โรงเรียนได้เปิดรับนักเรียนชายในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จึงได้ทำการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากเดิม "โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพ" เป็น "โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ"

โรงเรียนสตรีวัฒโนทัยพายัพกับพระบรมราชจักรีวงศ์

พิธีเปิดอาคาร 100 ปี "ร่มฟ้าเจ้าหลวง"

18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ และหม่อมเอลิสะเบธ จักรพงษ์ เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงลงพระนามในสมุดเยี่ยม ต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโรงเรียน และทรงลงพระปรมาภิไธย ในสมุดเยี่ยมโรงเรียน ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2522 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน "อลงกรณ์ศิลป์" ต่อมาในวันที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2528 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และทรงเปิดอาคารเรียน "ศรีสวรินทิรา" พร้อมทั้งอาคารสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

ในวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2549 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพิพิธภัณฑ์การศึกษาโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ และเมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2558 พระองค์ยังเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพยาบาล "อาคาร 150 ปี ศรีสวรินทิรานุสรณีย์" แล้วทรงปลูกต้นไม้ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรห้องพยาบาล ทอดพระเนตรนิทรรศการส่งเสริมสุขภาพ โอกาสนี้ ทรงเสด็จฉายพระฉายาลักษณ์ ร่วมกับผู้บริหารและครูโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ

รายนามผู้บริหาร

ลำดับ รายนาม ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1 นางสาวอบเชย พ.ศ. 2449-2457
2 นางจำรัส หงสกุล พ.ศ. 2457-2459
3 รองอำมาตย์โท ขุนอาจวิชาสรร พ.ศ. 2459-2464
4 นางเพิ่ม วิสณฑ์ดรุณการ พ.ศ. 2464-2474
5 นางจินดา บริหารสิกขกิจ พ.ศ. 2474-2475
6 ขุนจรรยาวิฑูร พ.ศ. 2475-2476
7 นางสาวทองอยู่ เกษกาญจน์ พ.ศ. 2476-2478
8 ม.ล.ประชุม ปาลกวงศ์ ณ อยุธยา พ.ศ. 2478-2482
9 นางอาภรณ์ คชเสนีย์ พ.ศ. 2482-2485
10 นางสมบูรณ์ ธรรมครองอาตม์ พ.ศ. 2485-2487
11 นางชุมศิริ สิทธิพงษ์ พ.ศ. 2487-2488
12 นางทองอยู่ วสันตทัศน์ พ.ศ. 2488-2509
13 นางเสาวนีย์ แขมมณี พ.ศ. 2509-2509
14 คุณหญิงสวาท รัตนวราห พ.ศ. 2509-2522
15 นางนิภา นินทบดี พ.ศ. 2522-2525
16 นางบุญรัตน์ โรจนศักดิ์ พ.ศ. 2525-2528
17 นางดาวเรือง รัตนิน พ.ศ. 2528-2534
18 นางบุญเตี่ยม วังซ้าย พ.ศ. 2534-2537
19 นางพิวัลย์ วิบุลสันติ พ.ศ. 2537-2541
20 นางอรทัย หนองขุ่นสาร พ.ศ. 2541-2546
21 นางปรานอม เชื้อศักดาหงษ์ พ.ศ. 2546-2551
22 นางสาวศรีพรรณ เวียนทอง พ.ศ. 2551-2556
23 นางนิตยา บุญเป็ง พ.ศ. 2556-2557
24 นายนิคม สินธุพงษ์ พ.ศ. 2557-2558
25 นายฐิตติณัฐ ศักดิ์ธนานนท์ พ.ศ. 2558-2562
26 นายสุพล ประสานศรี พ.ศ. 2562-2566
27 นายพิพัฒน์ สายสอน พ.ศ. 2566-ปัจจุบัน

อาคารและสถานที่

อาคารเรียนโรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ มีรายนามอาคารที่คล้องจองกันตั้งแต่อาคารหลังที่ 1-7 ตามลำดับดังนี้ ศิริวิทย์-สิทธิธร-อลงกรณ์ศิลป์-ศรีสวรินทิรา-วัฒนา-ร่มฟ้าเจ้าหลวง-ดวงดารารัศมิ์

  1. อาคารศิริวิทย์
  2. อาคารสิทธิธร
  3. อาคารอลงกรณ์ศิลป์
  4. อาคารศรีสวรินทิรา
  5. อาคาร 100 ปี ร่มฟ้าหลวง
  6. อาคารดวงดารารัศมิ์
  7. หอประวัติศาสตร์ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ จ.เชียงใหม่
  8. อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ 84 ปี
  9. อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ
  10. อาคารหอประชุมวัฒโนทัยพายัพ 117 ปี
  11. โรงอาหารวัฒโนทัย 84 ปี
  12. อาคารสมาคมศิษย์เก่าวัฒโนทัยพายัพ
  13. อาคารอุตสาหรรม
  14. อาคารคหกรรม
  15. อาคารหอสมุดกลาง
  16. อาคารพลศึกษา
  17. อาคารเกษตรกรรม
  18. อาคารพยาบาล 150 ปี ศรีสวรินทิรานุสรณีย์
  19. สวนพฤษาศาสตร์โรงเรียน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  20. พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  21. พระวิหารพระพุทธรูปองค์จำลอง พระเจ้าแค่งคม
  22. อาคารประชาสัมพันธ์

อ้างอิง

แหล่งข้อมูลอื่น

13°44′33″N 100°29′38″E / 13.742538°N 100.494003°E / 13.742538; 100.494003

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!