เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์

เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปภัมภ์ เป็นองค์การอิสระ ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. 2507 ซึ่งตราขึ้นโดยจอมพล ถนอม กิตติขจร โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นสภานายกพิเศษ มีอำนาจหน้าที่ควบคุมกิจการทั้งปวงของสภา และยับยั้งมติของสภาด้วย กับทั้งมีประธานศาลฎีกา เป็นนายก ประธานศาลอุทธรณ์ เป็นอุปนายกคนที่ 1 และอัยการสูงสุด เป็นอุปนายกคนที่ 2

สภามีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยทางนิติศาสตร์ และการประกอบอาชีพทางกฎหมาย รวมทั้งจัดหาทุนเพื่อการนั้น ตลอดจนส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก

ประวัติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริจัดตั้งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อประสงค์บำรุงการศึกษาวิชากฎหมายทั้งการรักษาความประพฤติของทนายความ ให้ตั้งอยู่ในสัจธรรม ให้สาธารณชนได้อาศัยทนายความซึ่งมีความสามารถและสมควรที่จะเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาอภัยราชา เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และกรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ อธิบดีศาลฎีกา พิจารณาร่างข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภา ทรงรับเนติบัณฑิตยสภาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2457 และถือเป็น "วันกำเนิดเนติบัณฑิตยสภา"

สมาชิกภาพและสิทธิ

เนติบัณฑิตยสภามีสมาชิกประเภทต่างๆ ดังนี้

  • สามัญสมาชิก เป็นผู้ผ่านการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
  • วิสามัญสมาชิก
  • สมาชิกสมทบ
  • สมาชิกกิตติมศักดิ์

สมาชิกกิตติมศักดิ์ สามัญสมาชิกและวิสามัญสมาชิกสามารถสวมเสื้อครุยเนติบัณฑิตในการว่าความได้ หรือในโอกาสอันควร แต่ห้ามมิให้สวมในเวลาที่เป็นจำเลยในคดีอาญาหรือคดีล้มละลายหรือเวลาเป็นพยานในศาล[1]

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา

เมื่อ พ.ศ. 2491 เนติบัณฑิตยสภาได้จัดตั้ง สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา มีหลักสูตรตามแบบอย่างของ "สภาการศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาประเทศอังกฤษ" และต้องตามมติของ "เนติบัณฑิตยสภาสากล" ซึ่งได้มีมติในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2491 ว่า การจัดการศึกษาวิชากฎหมายนั้นจำเป็นต้องให้มีการศึกษาภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอเสียก่อนที่จะอนุญาตเข้าปฏิบัติงานในวิชาชีพกฎหมาย

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เริ่มเปิดการสอนและศึกษาขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2491 ผู้ที่สอบไล่ได้ตามหลักสูตร และเนติบัณฑิตยสภาได้ยอมรับเข้าเป็นสามัญสมาชิกแล้ว ให้เป็นเนติบัณฑิต (Barrister-at-Law) เรียกว่า เนติบัณฑิตไทย ใช้อักษรย่อ น.บ.ท.และมีสิทธิ์ในการสวมครุยเนติบัณฑิต

การสมัครเข้าเป็นนักศึกษา

ผู้เป็นนักศึกษาในสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภาต้องเป็น

  1. ผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  2. ผู้ที่ได้ศึกษาวิชานิติศาสตร์ในสถาบันอื่น ในหรือนอกประเทศไทย และสอบไล่ได้ตามมาตรฐานซึ่งคณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา เทียบให้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะดังกล่าว ใน (1) ซึ่งในทางปฏิบัติ คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้เทียบระดับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษาที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้รับรองมาตรฐานการศึกษาแล้ว

คณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา อนุมัติสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถสอบเนติบัณฑิตได้ ดังนี้[2]

หลักสูตรการเรียนการสอน

  • ภาคเรียนที่หนึ่ง

กลุ่มวิชากฎหมายแพ่ง ได้แก่ วิชาทรัพย์-ที่ดิน, นิติกรรม-สัญญา, หนี้, ละเมิด, ซื้อขาย-เช่าทรัพย์-เช่าซื้อ, ยืม-ค้ำประกัน-จำนอง-จำนำ, ตัวแทน-ประกันภัย-ตั๋วเงิน-บัญชีเดินสะพัด, หุ้นส่วน-บริษัท, ครอบครัว, มรดก, กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา, กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ

การเรียนการสอนในกลุ่มวิชากฎหมายแพ่งนั้น จะใช้บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ทั้งหมด แต่ในส่วนของวิชาละเมิด ได้มีการนำหลักความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาประกอบการเรียนการสอนด้วย

กลุ่มวิชากฎหมายอาญา ได้แก่ วิชากฎหมายอาญา, กฎหมายแรงงานและวิธีพิจารณาคดีในศาลแรงงาน, รัฐธรรมนูญ, กฎหมายปกครอง, กฎหมายภาษีอากร

ในส่วนของกฎหมายอาญานั้น จะมีการแบ่งออกไปเป็น 3 วิชา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59-106 1 วิชา, มาตรา 1-58 กับ 107-208 1 วิชา และ มาตรา 288-366 อีก 1 วิชา

  • ภาคเรียนที่สอง

กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง, กฎหมายล้มละลายและการฟื้นฟูกิจการ, ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

กลุ่มวิชากฎหมายวิธิพิจารณาอาญา ได้แก่ กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา, สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม, กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน, วิชาว่าความและการถามพยาน, การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย, ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย

การจบหลักสูตร

ผู้ที่จะถือว่าจบหลักสูตรเป็นเนติบัณฑิตได้นั้น จะต้องสอบผ่านการสอบข้อเขียนทั้งสองภาค โดยในการสอบแต่ละภาคจะต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ขึ้นไป และผ่านการสอบปากเปล่า ผู้ที่สามารถสอบผ่านภาคหนึ่งภาคใดได้ ไม่ต้องสอบข้อเขียนของภาคนั้นอีก แม้ว่าจะสอบข้อเขียนอีกภาคหนึ่งตก เมื่อสอบได้ทั้งสองภาคจึงมีสิทธิสอบปากเปล่า

การสอบปากเปล่า กรรมการผู้สอบจะวินิจฉัยเพียงว่า "สอบได้" หรือ "สอบตก" เท่านั้น ถ้าผู้สอบปากเปล่าผู้ใดสอบตก ผู้นั้นมีสิทธิเข้าสอบปากเปล่ากับคณะกรรมการซึ่งตั้งขึ้นเพื่อการนั้นในวันเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง ถ้าผู้สอบปากเปล่าตกในการเรียนสมัยใด (หรือปีใด) ผู้นั้นมีสิทธิสอบแก้ตัวอีกสามครั้ง หากยังสอบไม่ผ่านอีกเป็นครั้งที่สาม ให้ถือว่าการสอบข้อเขียนทั้งสองภาคที่ได้ไว้แล้วนั้นเป็นอันยกเลิก


กรณีเนติบัณฑิตยสภาถูกฟ้องเป็นจำเลย

จากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552 นายสถิตย์ เล็งไธสง ได้ฟ้องเนติบัณฑิตยสภาต่อศาลยุติธรรมว่า ในการประกาศผลสอบไล่เนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 ประจำ พ.ศ. 2504 เนติบัณฑิตยสภาได้กระทำการละเมิดต่อตนโดยประธานกรรมการของเนติบัณฑิตยสภา นายมนูเวทน์ สุมาวงศ์ (พระมนูเวทย์วิมลนาท) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา สมคบกันทุจริตในการให้คะแนนสอบปากเปล่าด้วยความลำเอียงไม่ให้คะแนนตามความรู้ ด้วยการให้คะแนนสอบปากเปล่าแก่นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ บุตรชายของนายมนูเวทน์ ผู้ซึ่งสอบข้อเขียนได้เป็นอันดับ 3 สูงถึง 85 คะแนน แต่กลับให้นายสถิตย์ซึ่งเป็นผู้สอบข้อเขียนได้คะแนนสูงสุดและมีคะแนนข้อเขียนมากกว่านายอัครวิทย์ถึง 19 คะแนน ได้คะแนนสอบปากเปล่าเพียง 65 คะแนน ซึ่งเมื่อนำไปรวมกับคะแนนสอบข้อเขียนแล้วทำให้นายสถิตย์ตกไปอยู่ในอันดับ 2 และส่งผลให้นายอัครวิทย์ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 และกลายเป็นผู้สอบไล่ได้ในอันดับที่ 1 ของเนติบัณฑิตยสภาสมัยที่ 14 แทนนายสถิตย์ ทำให้นายสถิตย์ได้รับความเสียหายและอับอาย พร้อมทั้งขอให้ศาลสั่งบังคับให้เนติบัณฑิตยสภาดำเนินการขอขมานายสถิตย์และประกาศผลการสอบไล่ดังกล่าวเสียใหม่ว่านายสถิตย์เป็นผู้สอบไล่ได้เป็นอันดับ 1 มิใช่นายอัครวิทย์[3]

อย่างไรก็ดี ใน พ.ศ. 2552 ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องนายสถิตย์ โดยให้เหตุผลว่านายสถิตย์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมานานถึง 43 ปีจึงจะฟ้อง ซึ่งเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และไม่มีอำนาจฟ้อง[4] ภายหลังได้มีบุคคลให้ความเห็นว่าเหตุที่นายสถิตย์เก็บเรื่องนี้ไว้กับตน โดยไม่ฟ้องร้องเป็นคดีความเนิ่นนานถึงเพียงนั้น เนื่องจากภายหลังที่นายสถิตย์สอบไล่เนติบัณฑิตได้หนึ่งปีนั้น นายสถิตย์ได้สอบไล่ได้ในตำแหน่งผู้พิพากษา ณ ศาลยุติธรรมในปี พ.ศ. 2506 และมีความเกรงกลัวว่าหากตนนำคดีดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาล จะส่งผลกระทบต่อความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตน และได้รับการกลั่นแกล้งจากพรรคพวกของนายมนูเวทน์ สุมาวงศ์ อดีตประธานศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งระดับสูงในศาลยุติธรรมอยู่

แม้ว่าศาลฎีกาจะยกฟ้องคดีดังกล่าว แต่การฟ้องร้องคดีของนายสถิตย์ เล็งไธสงก็เป็นที่กล่าวขานในแวดวงนักกฎหมายและสร้างแรงกดดันให้กับเนติบัณฑิตยสภาเป็นอย่างยิ่งถึงความเป็นธรรมในการให้คะแนนการสอบปากเปล่าตามอำเภอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้คะแนนสอบโดยเอื้อแก่บุตรของตนเอง อย่างเช่นกรณีของนายมนูเวทน์ สุมาวงศ์กับนายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ แม้ศาลฎีกาได้พิพากษายกฟ้องในกรณีดังกล่าว แต่ข้อครหาของสังคมที่มีต่อระบบการให้คะแนนของเนติบัณฑิตยสภายังไม่สิ้นไป ในท้ายที่สุด จึงส่งผลให้การสอบปากเปล่าไม่มีการให้คะแนนอีกต่อไปในอีกหลายปีให้หลัง เหลือเพียงประเมินว่า "สอบได้" หรือ "สอบตก" แต่เพียงเท่านั้น


ดูเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

อ้างอิง

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-06-03. สืบค้นเมื่อ 2013-04-27.
  2. "รายชื่อสถาบันการศึกษาที่เนติบัณฑิตยสภารับรองในปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-07-02.
  3. "Smart Deka - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552". www.smartdeka.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-04-24.
  4. "Smart Deka - คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1902/2552". www.smartdeka.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-03. สืบค้นเมื่อ 2022-04-24.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!