เทอร์พิน (อังกฤษ: terpin) ในรูปแบบไฮเดรต (terpin·H2O) เป็นยาขับเสมหะสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบและโรคที่เกี่ยวข้อง
ยาสกัดได้จากแหล่งต่าง ๆ เช่น น้ำมันสน ออริกาโน ไทม์ และยูคาลิปตัส
ยาเคยใช้ในสหรัฐอเมริกาในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่ถูกถอนออกจากตลาดในคริสต์ทศวรรษ 1990 หลังจากองค์การอาหารและยาสหรัฐพบว่าขาดหลักฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิผล[1]
ทางการแพทย์
เทอร์พินไฮเดรตเป็นยาขับเสมหะ ใช้รักษาโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลันและเรื้อรัง โรคปอดบวม โรคหลอดลมพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคแบบติดเชื้อและแบบอักเสบของทางเดินหายใจส่วนบน
มักจะผสมกับยาแก้ไอ (เช่น โคดีอีน) เป็นยาผสม
ผลข้างเคียง
อาการไม่พึงประสงค์ได้แก่การกดการหายใจ ความง่วงซึม ร่างกายทำงานไม่ประสานกัน ท้องผูก และปัสสาวะค้าง
การใช้เทอร์พินไฮเดรตผสมกับโคเดอีนในระยะยาวอาจทำให้ติดโคเดอีนได้
อนึ่ง ยาผสมดังกล่าวมักจะผสมแอลกอฮอล์เพราะโคเดอีนละลายน้ำได้ไม่ดี
อัตราแอลกอฮอล์ที่สูง (42%) อาจเพิ่มการกดการทำงานของระบบประสาทส่วนกลาง สร้างปัญหาการแยกสลายโคเดอีน และเพิ่มความเสี่ยงการใช้ยาผิด ๆ
กลไกการออกฤทธิ์
เทอร์พินไฮเดรตเป็นสารให้ความชุ่มชื้น (humectant) และยาขับเสมหะ
ซึ่งออกฤทธิ์โดยตรงต่อเซลล์ที่หลั่งสารคัดหลั่งในหลอดลมที่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เพื่อทำให้สารคัดหลั่งเหลวและขับออกได้ง่าย
นอกจากนี้ ยังมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อเล็กน้อยที่เซลล์พาเรงไคมาในปอด[2]
ประวัติ
ลีปีน แพทย์ชาวฝรั่งเศส ได้ศึกษาเทอร์พินไฮเดรตทางสรีรวิทยาเป็นครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1885
โดยรายงานว่ายาออกฤทธิ์ต่อเยื่อเมือกและระบบประสาทคล้ายกับน้ำมันสน[3]
สูตรยาที่ผสมเทอร์พินไฮเดรตต่อไปนี้มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 1907 คือ[3]
- ยาน้ำเทอร์พินไฮเดรต
- ยาน้ำเทอร์พินไฮเดรตผสมโคเดอีน
- ยาน้ำเทอร์พินไฮเดรตผสมเฮโรอีน
ยาขับเสมหะที่มีจำหน่ายในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกา
ในปัจจุบัน ไกวเฟนิซิน (glyceryl guaiacolate) เป็นยาขับเสมหะเพียงชนิดเดียวที่ได้รับอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐ
นอกจากเทอร์พินไฮเดรตแล้ว ยาขับเสมหะอื่น ๆ ที่ขาดหลักฐานด้านประสิทธิภาพได้แก่ แอมโมเนียมคลอไรด์, น้ำมันครีโอโสทจากไม้บีช, ยาที่ทำจากยางเบนโซอินจากไม้กำยาน, การบูร, น้ำมันยูคาลิปตัส, ไอโอดีน, น้ำเชื่อมอิพิแคกที่ทำจากรากไม้ Carapichea ipecacuanha, เมนทอล/น้ำมันเปปเปอร์มินต์, ยาจากน้ำมันดินของสนเขา, โพแทสเซียม ไกวอะคอลซัลโฟเนต (potassium guaiacolsulfonate), โซเดียมซิเตรต, ยาจากไม้ Drimia maritima (squill), น้ำมันโทลูและน้ำมันสน[1]
เชิงอรรถและอ้างอิง