เจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5

เจ้าจอม

แส ในรัชกาลที่ 5

เกิด15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435
จังหวัดเพชรบุรี อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต7 ตุลาคม พ.ศ. 2521 (86 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
คู่สมรสพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2451–2453)
บิดามารดาเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)
หม่อมทรัพย์

เจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม บุนนาค; 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เช่นเดียวกับเจ้าจอมก๊กออ แต่ต่างมารดากัน เพราะเจ้าจอมแสมีมารดาชื่อหม่อมทรัพย์ เป็นหญิงลาวโซ่ง ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมแสจึงมีสมญาว่า เจ้าจอมโซ่ง ตามชาติพันธุ์ของมารดา[1]

ประวัติ

เจ้าจอมแส เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 ณ จังหวัดเพชรบุรี เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี กับอนุภรรยาชื่อหม่อมทรัพย์ เป็นชาวลาวโซ่ง บ้านท่าโล้ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี[1] บรรพชนลาวโซ่งนี้ถูกกวาดต้อนจากเมืองแถงและเมืองลอ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม) มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าให้ชาวโซ่งตั้งหลักแหล่งที่เมืองเพชรบุรี[2] มีเรื่องราวมุขปาฐะว่าเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี เกิดจิตพิศวาสอยากได้หม่อมทรัพย์ ลูกสาวกำนันลาวโซ่งบ้านท่าโล้ไปทำเมีย จึงเอ่ยปากขอกำนันลาวโซ่งเสียดื้อ ๆ กำนันจึงบ่ายเบี่ยงและต่อรองว่าให้เอาวัวคู่งามไปแทน แต่อย่าเอาลูกสาวไปเลย เมื่อการร้องขอไม่สำเร็จ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์จึงส่งคนในสังกัดจับลูกสาวกำนันขึ้นเกวียน นำตัวเข้ามายังจวนของตน ครอบครัวกำนันลาวโซ่งท่าโล้จึงได้แต่ร้องไห้ฟูมฟายอยู่หลายวันหลายคืน[2]

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เจ้าจอมแสเข้าไปอยู่ที่สวนพุดตานกับเจ้าจอมเอิบ พี่สาวต่างมารดา ซึ่งรับราชการเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนหน้า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านสวนพุดตานและแอบทอดพระเนตรเจ้าจอมแสกำลังอาบน้ำสระผมในคลอง เมื่อเสด็จเข้าในตำหนักจึงทรงขอเจ้าจอมแสจากเจ้าจอมเอิบ ในขณะนั้นเจ้าจอมแสมีอายุได้ 16 ปี[1] และมิได้ประสูติการพระราชบุตรเลย[3] อย่างไรก็ตามท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมผู้ติดตามใกล้ชิด ในตำแหน่งนางพระกำนัล[4] หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เจ้าจอมแสจึงได้ย้ายออกมาพำนักอยู่นอกพระราชวังดุสิต มีบ้านพักผ่อนที่ย่านสนามเป้า หลังจากนั้นจึงซื้อที่ปลูกบ้านที่ซอยนรอุทิศ ย่านราชวัตรเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยอยู่กับอินทิรา บุนนาค ซึ่งเป็นหลานชาย และเลี้ยงดูลูกหลานของอินทิราตลอดมา[3]

เจ้าจอมแสถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เมื่ออายุ 86 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อัฐิของท่านถูกบรรจุในเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ติดกับเจดีย์ของเจ้าจอมเอิบ และมีสถูปบรรจุอัฐิที่วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ที่ลูกหลานของท่านสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ใกล้บ้านที่ท่านอยู่จนวาระสุดท้ายของชีวิต[5]

ชีวิตส่วนตัว

เจ้าจอมแสเป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะ ไม่เคยโกรธขึ้งหรือเกรี้ยวกราดผู้ใดเลย[5] รักการทำบุญ ใส่บาตรทุกวันพระ และทุกวันที่ใส่บาตรจะห่มสไบหรือผ้าห่มทับเสื้อตัวนอกอีกที[3] ในเรือนของเจ้าจอมแสจะมีห้องที่ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจะทำความสะอาดห้องนี้ด้วยตนเอง และในบางคราเจ้าจอมแสตั้งเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] ท่านชอบสีไวโอลินและตีขิม ชอบเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุนัขและนกพิราบ ปลูกต้นมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัยถวายพระและถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกวัน[7]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

พงศาวลี

อ้างอิง

เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 495
  2. 2.0 2.1 ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ (23 เมษายน 2021). "ทำไมชาวโซ่ง เรียกคนไทยว่า ผู้โกย สอนลูกหลานไม่ให้คบ "บะโกย" สบถ "บะโกยหำแหล่"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2021.
  3. 3.0 3.1 3.2 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 499
  4. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 497
  5. 5.0 5.1 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 507
  6. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 501
  7. เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 503
  8. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
  9. พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน
  10. พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน ฝ่ายใน
บรรณานุกรม
  • กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. เจ้าจอมก๊กออ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. 609 หน้า. ISBN 978-616-18-0366-7

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!