สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย (อังกฤษ: Socialist Soviet Republic of Abkhazia; SSR Abkhazia)[a] เป็นสาธารณรัฐที่มีอยู่เป็นเวลาสั้น ๆ ในภูมิภาคคอเคซัสของสหภาพโซเวียต มีอาณาบริเวณครอบคลุมอับคาเซีย[b] และดำรงอยู่ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1921 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 สาธารณรัฐก่อตั้งขึ้นหลังการรุกรานจอร์เจียโดยกองทัพแดงใน ค.ศ. 1921 และคงสถานะเป็นรัฐเอกราชจนถึงวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1921 ที่ซึ่งลงนามในข้อตกลงร่วมเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีความเหมือนกันกับสาธารณรัฐปกครองตัวเอง แต่ยังคงความเป็นเอกราชจากจอร์เจียรวมถึงได้รับสิทธิประโยชน์บางประการที่มีแต่สาธารณรัฐสหภาพเต็มตัวเท่านั้นจึงมีได้ เช่น การมีกองทัพเป็นของตนเอง ผ่านสถานะของรัฐในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" (treaty republic) กับจอร์เจีย อับคาเซียเข้าร่วมในสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ซึ่งรวมสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตต่าง ๆ ในภูมิภาคคอเคซัส คือ อาร์มีเนีย, อาเซอร์ไบจาน และจอร์เจีย เช้าด้วยกันเป็นหน่วยสหพันธ์หนึ่ง หลังสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1922 สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1931 และเปลี่ยนผ่านเป็นสาธารณรัฐปกครองตัวเองสังคมนิยมโซเวียตอับคาซภายใต้สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีผู้นำคือเนสเตอร์ ลาโกบา ผู้ซึ่งตามตำแหน่งแล้ว เป็นประธานคณะกรรมการราษฎร แต่ควบคุมสาธารณรัฐมากจนถึงจุดที่มักเรียกสาธารณรัฐกันอย่างขำขันว่าเป็น "ลาโคบีสถาน" (Lakobistan) ลาโกบามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากกับผู้นำโซเวียต โจเซฟ สตาลิน จึงส่งผลให้โครงการรวมที่นาในอับคาเซียถูกชะลอไปจนกว่าอับคาเซียจะถูกผนวกเข้ากับจอร์เจีย ในยุคนี้ อับคาเซียยังคงสถานะเป็นผู้นำในการผลิตยาสูบ โดยเป็นผู้เพาะปลูกอุปทานเกินครึ่งหนึ่งของยาสูบในสหภาพโซเวียต นอกจากนี้ อับคาเซียยังผลิตผลผลิตทางการเกษตรอื่น ๆ เช่น ชา, ไวน์ และผลไม้รสเปรี้ยว ส่งผลให้อับคาเซียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดในสหภาพโซเวียต สภาพอากาศแบบกึ่งร้อนชื้นของอับคาเซียยังทำให้อับคาเซียเป็นเป้าหมายในการเดินทางพักผ่อนหย่อนใจ ทั้งสตาลินและผู้นำโซเวียตคนอื่น ๆ ล้วนมี ดาชา (บ้านพักตากอากาศ) อยู่ที่อับคาเซีย รวมถึงยังเดินทางมาพักผ่อนหย่อนใจเป็นเวลานานพอควรที่นี่เช่นกัน
อับคาเซียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่โดยปกติแล้วก็นำโดยชาวอับคาซ ซึ่งคิดเป็นไม่ถึง 30 เปอร์เซนต์ของประชากร กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่อื่น ๆ ได้แก่ ชาวจอร์เจีย, ชาวอาร์มีเนีย, ชาวกรีก และชาวรัสเซีย ถึงแม้ว่าประชากรส่วนใหญ่จะไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์อับคาซ แต่วัฒนธรรมของอับคาซก็ได้รับการสนับสนุนอย่างมากและผลจากนโยบายโคเรนีซัตซียาในเวลานั้นทำให้ภาษาอับคาซได้รับการสนับสนุน นโยบายเหล่านี้ยังสนับสนุนอัตลักษณ์ประจำชาติอับคาซ ซึ่งนำไปสู่การก่อกำเนิดชาตินิยมอับคาเซีย สิ่งสืบเนื่องหลักของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียคือถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่เกิดสถานะทางภูมิศาสตร์ภายใต้ชื่ออับคาเซีย ถึงแม้สาธารณรัฐกึ่งเอกราชจะถูกลดทอนสถานะลงใน ค.ศ. 1931 ชาวอับคาซก็ไม่ได้หลงลืมว่าสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียเคยดำรงอยู่ ภายใต้การมาถึงของกลัสนอสต์และเปเรสตรอยคาในปลายคริสต์ทศวรรษ 1980 ผู้นำชาวอับคาซได้เรียกร้องให้รัฐของตนแยกออกมาเป็นเอกราชจากจอร์เจีย โดยอ้างถึงสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียว่าเคนดำรงอยู่มาก่อน การเรียกร้องนี้นำไปสู่การรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย ค.ศ. 1925 อันนำไปสู่สงครามใน ค.ศ. 1992–1993 ระหว่างผู้แบ่งแยกดินแดนอับคาเซียกับจอร์เจีย และยังคงอยู่ถึงปัจจุบันในฐานะข้อพิพาทพรมแดนอับคาเซียกับจอร์เจีย
จักรวรรดิรัสเซียผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้รวบรวมอำนาจเหนือภูมิภาคเรื่อยมาไม่เกิน ค.ศ. 1864[2] ทางการรัสเซียซึ่งไม่เต็มใจสร้างหน่วยดินแดนเชิงชาติพันธุ์ (ethno-territorial units) จึงได้รวบรวมภูมิภาคนี้เข้ากันเป็นเขตผู้ว่าการกูไตส์[3] การเคลื่อนย้ายของประชากรขนาดใหญ่ทำให้องค์ประกอบทางชาติพันธุ์ของอับคาเซียเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยมีชาวอับคาซหลายพันคนถูกขับไล่ออกไป และชาวมิงเกรเลียนเข้ามาแทนที่[4][5] หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ใน ค.ศ. 1917 ที่ทำให้จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลง สถานะของอับคาเซียจึงเป็นที่ถกเถียงและมีความไม่แน่นอน[6] เนื่องจากอับคาเซียไม่ได้ตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัสเซียแล้ว จึงมีการพิจารณาเข้าร่วมกับสาธารณรัฐที่สูงคอเคซัสเหนือใน ค.ศ. 1917 แต่ท้ายที่สุดได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมสาธารณรัฐนี้เรื่องจากตำแหน่งที่ตั้งของอับคาเซียซึ่งอยู่ห่างออกไปมากจากรัฐอื่น ๆ ในสาธารณรัฐนี้[7] ในเดือนกุมภาพันธ์ 1918 บอลเชวิคชาวอับคาซได้มีความพยายามก่อตั้งคอมมูนขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่คล้ายกับสภาโซเวียตที่ตั้งขึ้นในรัสเซีย ความพยายามนี้ล้มเหลวและผู้นำบอลเชวิค ทั้งเอฟรัม เอชบาและเนสเตอร์ ลาโกบา ต้องเดินทางออกจากอับคาเซีย[8] ในเวลาต่อมามีการก่อตั้งสภาประชาชนอับคาซ (APC) ซึ่งสามารถมีอำนาจควบคุมดินแดนนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยจอร์เจียสถาปนาขึ้นในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1918 จอร์เจียได้ผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่งและถือว่าอับคาเซียเป็นส่วนหนึ่งของเขตแดนของตน อย่างไรก็ตาม จอร์เจียไม่เคยเข้ามายึดครองหรือควบคุมภูมิภาคนี้ แต่ปล่อยให้สภาประชาชนปกครองจนกระทั่งบอลเชวิครุกรานใน ค.ศ. 1921[9]
สถานะของอับคาเซียได้รับการรับรองในรัฐธรมนูญจอร์เจีย ค.ศ. 1921 มาตราที่ 107 รับรองให้ "อับฆาเซตี[c] (อำเภอซูฆูม; Soukhoum)" มีสถานะเป็นอิสระที่จะ "ปกครองตนเอง"[10] รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการหลังกองทัพแดงเข้ารุกรานจอร์เจียในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 อย่างไรก็ตาม หลักการในการปกครองตนเองที่ให้สัญญาไว้นี้ไม่เคนถูกระบุชี้ชัด[11] นักประวัติศาสตร์ ตีมอตี บลาวเวลท์ ระบุว่าข้อความนี้ในรัฐธรรมนูญทำให้เกิดผลสืบเนื่องยาวนานในภูมิภาคนี้ เนื่องจากถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ที่มีการนิยามอับคาเซียในฐานะสิ่งทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นแยกชัดเป็นของตนเอง[12]
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1921 กองทัพแดงเข้ารุกรานจอร์เจียและรุกรานอับคาเซียในสองวันให้หลัง[13] เอชบาและลาโกบาเดินทางกลับอับคาเซียก่อนการรุกรานและตั้งสภาปฏิวัติ (เรฟคอม; Revkom) เพื่อเตรียมพร้อมสู่การตั้งรัฐบาลบอลเชวิค[14] กรุงซูฮูมี เมืองหลวงของอับคาเซีย ถูกยึดครองในวันที่ 4 มีนาคม ในขณะที่การสู้รบในจอร์เจียดำเนินต่อไป เรฟคอมซึ่งไม่ได้คาดหวังว่าจะเป็นผู้ปกครองหนึ่งเดียวของอับคาเซีย ได้ฉวยโอกาสจากความสับสนนี้และประกาศเอกราชให้กับอับคาเซีย[15] เรฟคอมได้ส่งโทรเลขไปยังมอสโกเพื่อขอคำแนะนำในการดำเนินการต่อไป รวมถึงยังเสนอเข้าร่วมสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตรัสเซีย แต่เซียร์โก ออร์ดจอนีคีดเซ ผู้นำบอลเชวิคและผู้นำบูโรคอเคซัส (กัฟบีวโร) ปฏิเสธข้อเสนอนี้[16] ในวันที่ 31 มีนาคม ค.ศ. 1921 จึงมีการประกาศว่า "ด้วยปรารถนาของเหล่ากรรมกร สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียแห่งใหม่นี้จึงถือกำเนิดขึ้นมา"[17] อับคาเซียจึงกลายเป็นสาธารณรัฐเอกราชในนามภายใต้ความเข้าใจของทั้งฝั่งอับคาเซียและจอร์เจียว่าท้ายที่สุดอับคาเซียจะเข้าร่วมสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียที่จะสถาปนาขึ้นในภายหลัง[17] จนถึงตอนนั้น จะถือว่าอับคาเซียไม่เป็นส่วนหนึ่งของจอร์เจีย เรฟคอมของจอร์เจีย ซึ่งเป็นรัฐบาลของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียได้อ้าแขนต้อนรับอับคาเซียผ่านทางโทรเลขในวันที่ 21 พฤษภาคม ค.ศ. 1921 และระบุว่ารูปแบบของความสัมพันธ์ระหว่างสองรัฐควรจะตกลงกันได้ในการประชุมสามัญแรงงานครั้งแรกของทั้งสองสาธารณรัฐ[18]
เรฟคอมของอับคาซซึ่งอยู่ในอำนาจไม่ปรารถนาที่จะจัดการประชุมสภาเพื่อกำหนดสถานะของอับคาเซียในอนาคต เนื่องจากจะทำให้เรฟคอมเองเสียอำนาจในการควบคุมภูมิภาค ท้ายที่สุดกัฟบีวโร (Kavbiuro) บังคับให้เรฟคอมต้องออกตัวและต่อรองในสนธิสัญญาระหว่างอับคาเซียกับจอร์เจีย ซึ่งเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1921[19] สนธิสัญญาดังกล่าวลงนามในวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1921 ประกอบด้วยสองมาตรา:
1. สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย จะเช้าสู่ความร่วมมือทางการเมือง, การทหาร และทางเศรษฐกิจ-การเงิน2. เพื่อให้สามารถปฏิบัติไปตามเป้าหมายที่ระบุข้างต้น รัฐบาลของทั้งสองรัฐประกาศการรวมกรรมการราษฎรของทั้งสองรัฐเข้าด้วยกัน อันประกอบด้วยส่วน: a) กองทัพ, b) การเงิน, c) กสิกรรมประชาชน, d) ไปรษณีย์โทรเลข, e) เชการ์, f) รับกรีน, g) กรรมการราษฎรฝ่ายยุติธรรม และ h) [กรรมการราษฎร] ฝ่ายคมนาคมทางน้ำ— สนธิสัญญาสหภาพระหว่างสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย และ สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย[20]
1. สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย จะเช้าสู่ความร่วมมือทางการเมือง, การทหาร และทางเศรษฐกิจ-การเงิน2. เพื่อให้สามารถปฏิบัติไปตามเป้าหมายที่ระบุข้างต้น รัฐบาลของทั้งสองรัฐประกาศการรวมกรรมการราษฎรของทั้งสองรัฐเข้าด้วยกัน อันประกอบด้วยส่วน: a) กองทัพ, b) การเงิน, c) กสิกรรมประชาชน, d) ไปรษณีย์โทรเลข, e) เชการ์, f) รับกรีน, g) กรรมการราษฎรฝ่ายยุติธรรม และ h) [กรรมการราษฎร] ฝ่ายคมนาคมทางน้ำ
สนธิสัญญานี้รวมทั้งสองรัฐเข้าด้วยกัน และทำให้สถานะของอับคาเซียเป็น "รัฐตามสนธิสัญญา" ("treaty republic") และเป็นรัฐใต้ปกครองจอร์เจียในนาม[21] สถานะพิเศษของอับคาเซียในจอร์เจียยิ่งถูกเน้นย้ำขึ้นอีกในรัฐธรรมนูญจอร์เจียใน ค.ศ. 1922 ซึ่งระบุถึง "สนธิสัญญาสหภาพพิเศษ" ระหว่างสองรัฐ รัฐธรรมนูญอับคาเซีย ค.ศ. 1925 ระบุว่าอับคาอซียผนวกเข้ากับจอร์เจียในแง่ของ "สนธิสัญญาพิเศษ"[22] ในวันที่ 13 ธันวาคม ค.ศ. 1922 ขณะซึ่งยังเป็นส่วนเดียวกับจอร์เจีย อับคาเซียได้เข้าร่วมสหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตทรานส์คอเคซัส ร่วมกับสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอาร์มีเนีย และ อาเซอร์ไบจาน สหพันธรัฐใหม่นี้ตั้งขึ้นโดยเปิดเผยเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แต่ก็มีแนวโน้มสูงว่าตั้งขึ้นเพื่อสร้างฐานอำนาจของโซเวียตในภูมิภาคให้มั่นคงขึ้น ซึ่งก็เป็นที่ถกเถียง[23] ส่วนใหญ่แล้ว อับคาเซียได้รับการปฏิบัติต่อในฐานะเขตปกครองตนเองของจอร์เจีย ถึงแม้ว่าจะไม่เหมือนกับรัฐปกครองตนเองอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียต อับคาเซียมีสัญลักษณ์ประจำชาติของตนเอง ทั้งธงชาติ ตราแผ่นดิน และหน่วยทหารประจำชาติ สิทธิที่กล่าวมานี้มีได้เพียงเฉพาะรัฐเอกราชสมบูรณ์ในสหภาพโซเวียตเองเท่านั้น[24] ตราแผ่นดินอับคาเซียมีระบุถึงในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 ว่า "ประกอบด้วยค้อนและเคียวทองบนพื้นหลังของภูมิทัศน์ของอับคาเซียและอักษรในภาษาอับคาเซียว่า 'SSR Abkhazia'"[25] ก่อนจะถูกดัดแปรงเล็กน้อยใน ค.ศ. 1926 ที่เติมคำชวัญประจำชาติ (เช่นเดียวกับรัฐในโซเวียตทั้งหลาย) ที่ว่า "ชนกรรมาชีพทั่วโลกจงสามัคคีกัน!" ซึ่งเขียนด้วยภาษาอับคาเซีย, จอร์เจีย และรัสเซีย (เดิมทีมีเพียงภาษาอับคาเซีย)[25] นอกจากนี้อับคาเซียยังมีรัฐธรรมนูญของตนเอง ประกาศใช้เมื่อ 1 เมษายน ค.ศ. 1925 ซึ่งสิทธินี้มีได้เฉพาะในสาธารณรัฐอย่างเต็มรูปแบบเท่านั้น[26]
การเป็นสหภาพกับจอร์เจียไม่ได้รับความนิยมในบรรดาผู้นำหรือประชาชนของอับคาเซีย[12] เช่นเดียวกันในจอร์เจียซึ่งถือว่านี่เป็นแผนการของบอลเชวิกเพื่อจะหันเหความต่อต้านของชาวจอร์เจียต่อทางการมอสโกไปยังสู่อับคาเซียแทน เนื่องจากชาวจอร์เจียในเวลานั้นเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่อต้านบอลเชวิกหนักที่สุด[27] ในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" เพียงแห่งเดียวของสหภาพโซเวียต สถานะแน่ชัดของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสร้างความไม่วางใจต่อทั้งโซเวียตและจอร์เจียซึ่งไม่อยากให้ภูมิภาคอื่น ๆ เกิดการเรียกร้องสถานะในลักษณะเดียวกันนี้[28] เพื่อจะแก้ปัญหานี้จึงมีการตัดสินใจลดสถานะของอับคาเซียลง ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1931 โดยจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียขึ้นใหม่ในสถานะสาธารณรัฐปกครองตนเองสังคมนิยมโซเวียตอับคาซ ซึ่งกลายเป็นรัฐใต้ปกครองของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตจอร์เจีย แต่ยังคงสถานะอยู่ในสหพันธรัฐทรานส์คอเคซัส[29] ชาวอับคาเซียต่อต้านการประกาศครั้งนี้อย่างหนัก และนำไปสู่การประท้วงต่อต้านโซเวียตครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกในอับคาเซีย[30]
ในตอนแรก เรฟคอมอับคาเซียมีผู้นำคือประธานคณะกรรมการ เอเฟรม เอชบาร์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลอับค่เศียจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลที่ถาวรกว่าขึ้นมาแทน[18] ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1922 คณะกรรมการราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นและเนสเตอร์ ลาโกบา ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานของคณะกรรมการ และกลายมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลของสาธารณรัฐ การเลือกตั้งนี้ถือเป็นแค่รูปทางการให้กับลาโกบาเท่านั้น เขามีบทบาทควบคุมอับคาเซียมาตั้งแต่เมื่อบอลเชวิคเข้ายึดครองอับคาเซียใน ค.ศ. 1921 แล้ว[31][32] เขากับกับเอชบาเป็นบอลเชวิคแนวหน้าหลังเกิดการปฏิวัติรัสเซีย ลาโกบาและเอชบาเคยนำการพยายามยึดครองอับคาเซียสองครั้งในเดือนกุมภาพันธ์และเมษายน ค.ศ. 1918 ทั้งสองครั้งสิ้นสุดด้วยการยกเลิกแผน หลังความพยายามครั้งหลังล้มเหลว ทั้งคู่ได้หลบหนีออกจากอับคาเซีย และเดินทางกลับมาในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1921 หลังการยึดอำนาจโดยบอลเชวิคสำเร็จ ไม่นาน เอชบาได้เปลี่ยนผ่านและโยกย้ายตำแหน่งไปตำแหน่งอื่น เหลือไว้เพียงลาโกบาคนเดียวเป็นผู้นำของอับคาเซีย [33]
ในทางปฏิบัติ ลาโกบาควบคุมอับคาเซียในฐานะแคว้นฟิวดอล (fiefdom) ของตนเอง จนถึงขั้นที่มีการเรียกอับคาเซียกันอย่างขำขันว่าเป็น "ลาโกบีสถาน" ("Lakobistan") ในขณะเดียวกัน สถานะของลาโกบาในฐานะผู้นำสูงสุดของสาธารณรัฐก็ไม่เคยถูกโต้แย้งหรือตั้งคำถามเลย[34] เขาต้านทานนโยบายกดขี่ประชาชนจำนวนมากที่ถูกนำมาใช้ในที่อื่น ๆ ในสหภาพโซเวียต เช่น นโยบายการยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่ ลาโกบายังสนับสนุนทางการเงินแก่ชนชั้นนำของอับคาเซีย เขาทำเช่นนี้ได้ก็เพราะเขาเป็นมิตรสหายใกล้ชิดกับโจเซฟ สตาลิน ผู้นำโซเวียต[35]
อับคาเซียเป็นผู้ผลิตยาสูบรายใหญ่ในสมัยโซเวียต ในคริสต์ทศวรรษ 1930 อับคาเซียผลิตยาสูบถึง 52 เปอร์เซนต์ของจำนวนการส่งออกยาสูบของโซเวียต[36] ผลผลิตทางการเกษตรอื่น เช่น ชา, ไวน์ และผลไม้รสเปรี้ยว (โดยเฉพาะส้ม) มีการผลิตในขนานใหญ่ ทำให้อับคาเซียเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มั่งคั่งที่สุดในทั้งสหภาพเวียต รวมถึงร่ำรวยกว่าจอร์เจียอย่างมาก[37] การส่งออกทรัพยากรเปล่านี้ทำให้อับคาเซียกลายเป็น "เกาะแห่งความเจริญ ในท่ามกลางคอเคซัสที่ถูกถล่มด้วยสงคราม"[38] มีการสร้างโรงงานในภูมิภาคเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสหภาพโซเวียตโดยรวม แต่ก็ไม่ได้ส่งผลมากนักต่อความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมของอับคาเซีย[39]
อับคาเซียยังเป็นที่เชิดหน้าชูตาในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวสำคัญของทั้งชนชั้นนำและประชาชนของโซเวียต สตาลินเดินทางมาอับคาเซียปีละครั้งตลอดคริสต์ทศวรรษ 1920 เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมงานของเขาในเครมลิน ซึ่งเดินทางมาด้วยเพื่อสร้างความไว้วางใจจากสตาลิน[40] ลาโกบาในฐานะเจ้าบ้านจึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกับสตาลินขึ้นอย่างมากและกลายมาเป็นหนึ่งในบุคคลที่สตาลินไว้ใจ ส่งผลให้ลาโกบาคงสถานะอำนาจใหญ่ในอับคาเซียได้[41] เราสามารถเห็นได้ชัดที่สุดจากการที่ลาโกบาปฏิเสธการยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่ (collectivisation) ที่ซึ่งลาโกบาโต้แย้งว่า ในรัฐนี้ไม่มี คูลัก (kulak; ไพร่ผู้มั่งคั่ง)[42] นโยบายนี้ยังได้รับการแก้ต่างโดยสตาลิน ผู้กล่าวว่านโยบายต่อต้านคูลักไม่ได้ "พิจารณาลักษณะอันเฉพาะของโครงสร้างทางสังคมของอับคาเซีย และเป็นการผิดพลาดที่จะส่งผ่ายโมเดลการก่อร่างสังคมแบบรัสเซียมายังผืนดินอับคาเซีย"[43] การยึดคืนและแจกจ่ายกรรมสิทธิ์ใหม่เริ่มมีขึ้นครั้งแรกในอับคาเซียหลังรัฐถูกลดสถานะลงใน ค.ศ. 1931 และถูกนำมาใช้โดยสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1936 หลังลาโกบาเสียชีวิต[44]
ตลอดการมีอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย สกุลเงินทางการคือรูเบิลโซเวียต[45]
ชาติพันธุ์ในอับคาเซีย ตามช้อมูลจากสำมะโนโซเวียต ค.ศ. 1926[1]
สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูงมาก โดยมีประชากรที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากนับตั้งแต่รัสเซียผนวกอับคาเซียเข้าเป็นส่วนหนึ่ง ในศตวรรษที่ 19 มีการขับไล่ชาวอับคาซกว่า 100,000 คน ออกจากภูมิภาค โดยส่วนใหญ่ขับไปยังจักรวรรดิออตโตมัน[46] ในขณะที่สาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียสถาปนาขึ้น ชาวอับคาซคิดเป็นไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของประชากร นโยบาย โคเรนีซัตซียา (การทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมแม่; nativization) ที่ใช้ในช่วงนี้เพื่อส่งเสริมชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ในสหภาพโซเวียต เป็นผลให้ประชากรชาวอับคาซเพิ่มสูงขึ้น: ระหว่าง ค.ศ. 1922 และ 1926 ชาติพันธุ์ชาวอับคาซเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่จำนวนประชากรชาติพันธุ์จอร์เจียลดลง 6 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นตามที่กล่าวอ้างในสำมะโน ค.ศ. 1926 ของโซเวียต (สำมะโนเดียวที่มีตลอดการดำรงอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย) จำนวนประชากรที่เป็นชาติพันธุ์อับคาซสูงถึง 55,918 คนหรือราว 28 เปอร์เซ็นต์ของประชากร (ซึ่งอยู่ที่ 201,016 คน) ในขณะที่จำนวนชาติพันธุ์จอร์เจียอยู่ที่ 67,494 คน (36 เปอร์เซ็นต์) กลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ ที่ปรากฏในสำมะโน ค.ศ. 1926 ได้แก่ชาวอาร์มีเนีย (25,677 คนหรือ 13 เปอร์เซ็นต์), ชาวกรีกคอเคซัส (14,045 คนหรือ 7 เปอร์เซ็นต์) และ ชาวรัสเซีย (12,553 คนหรือ 6 เปอร์เซ็นต์)[1][47]
ในสมัยของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียมีการปรับแก้ระบบการเชียนที่ใช้ในภาษาอับคาซ ภายใต้นโยบาย โคเรนีซัตซียา ชาวอับคาซไม่ได้ถือเป็นหนึ่งในประชากร "ก้าวหน้า" ของสหภาพโซเวียต ฉะนั้นจึงเกิดการมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาอัตลักษณ์และวัฒนธรรมประจำชาติของตน[48] ภาษาอับคาซและภาษาอื่น ๆ ในสหภาพโซเวียตภายใต้นโยบายนี้ถูกแปรเป็นอักษรละตินใน ค.ศ. 1928 แทนที่การใช้ระบบการเขียนที่ใช้อักษรซีริลลิก[49] มีการให้ความสำคัญมากต่อการพัฒนาวัฒนธรรมอับคาซ ซึ่งได้รับการสนับสนุนมากในแง่ของเงินทุน[39] นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งสมาคมวิทยาศาสตร์อับคาเซีย (Abkhazian Scientific Society) ขึ้นใน ค.ศ. 1922 ตามด้วยสถาบันภาษาและวรรณกรรมอับคาเซีย (Academy of Abkhazian Language and Literature) ซึ่งตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1925[50]
เนื้องจากรัฐบาลรับรู้ถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ภายในอับคาเซียเอง ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญอับคาเซีย ค.ศ. 1925 ได้ระบุให้อับคาเซียมีภาษาทางการสามภาษา คือ ภาษาอับคาเซีย, ภาษาจอร์เจียและภาษารัสเซีย ในขณะที่การแปรญัติในภายหลังระบุเพิ่มว่า "ชนชาติทั้งปวงที่อาศัยในสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียได้รับการรับรองสิทธิในการพัฒนาและใช้ภาษาแม่ของตนโดยเสรี ทั้งในระดับชาติ วัฒนธรรม และในหน่วยงานทั่วไปของรัฐ"[51][52] ประชากรส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษาอับคาเซีย ภาษารัสเซียจึงเป็นภาษาหลักของรัฐบาลในขณะที่ภูมิภาคท้องถิ่นต่าง ๆ ใช้ภาษาที่มีใช้มากสุดในพื้นที่นั้น ๆ[53]
สถานะที่แน่นอนของอับคาเซียในฐานะ "สาธารณรัฐตามสนธิสัญญา" ไม่เคยได้รับการอธิบายให้กระจ่างตลอดการมีอยู่ของสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซีย นักประวัติศาสตร์ อาร์เซนี ซาปารอฟ ระบุว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐในเวลานั้นก็ไม่รู้เช่นกันว่าวลีนี้หมายความว่าอะไร[54] สถานะที่ว่านี้มีความสำคัญในเชิงสัญลักษณ์ต่อชาวอับคาเซีย ผู้ไม่เคยหลงลืมว่าเคยมีรัฐอิสระของตนเองมาก่อน อย่างน้อยในเชิงทฤษฎี[55] ภายหลังการเกิดขึ้นของนโยบายกลัสนอสต์และเปเรสตรอยคาในคริสต์ทศวรรษ 1980 การเรียกร้องให้ฟื้นฟูสถานะของอับคาเซียได้เริ่มเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง การประชุมที่ลีฮนีใน ค.ศ. 1989 เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของโซเวียตประกาศให้อับคาเซียเป็นสาธารณรัฐเต็มตัว โดยอ้างสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตอับคาเซียว่าเป็นรัฐที่เคยดำรงอยู่มาก่อนหน้า[56] เมื่ออับคาเซียประกาศเอกราชอีกครั้งใน ค.ศ. 1990 อับคาเซียได้เรียกร้องให้ฟื้นฟูรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 ซึ่งระบุให้จอร์เจียและอับคาเซียรวมเป็นสหภาพ การเรียกร้องนี้ทำไปเพื่อเปิดทางให้กับความเป็นไปได้ของการรวมเป็นสหภาพของสองรัฐในอนาคต[57] การรื้อฟื้นรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1925 นำไปสู่สงครามใน ค.ศ. 1992–1993 และข้อพิพาทเกี่ยวกับสถานะของอับคาเซีย ซึ่งนำไปสู่สถานะเอกราชโดยพฤตินัยของอับคาเซียในจอร์เจียนับตั้งแต่ ค.ศ. 1992[44]