สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ นามเดิม ยัง ฉายา เขมาภิรโต เป็นสมเด็จพระราชาคณะ อดีตเจ้าอาวาสวัดโสมนัสราชวรวิหาร เจ้าคณะใหญ่ผู้ช่วยคณะธรรมยุติกนิกาย และเจ้าคณะใหญ่ฝ่ายเหนือ
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ มีนามเดิม ยัง เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2394 ตรงกับวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน[1] บิดาเป็นชาวจีนชื่อยี่ มารดาเป็นชาวไทยชื่อขำ[2]เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคลอดท่านแน่นิ่งไปจนมารดาบิดาเข้าใจว่าเสียชีวิต เกือบจะนำลงหม้ออยู่แล้ว ป้าของท่านมาดูเห็นว่ายังมีชีวิตอยู่จึงร้องขึ้นว่า "ยังไม่ตาย" ท่านจึงได้ชื่อว่ายัง
เมื่อโตขึ้น ท่านเรียนหนังสือกับมารดา จนกระทั่งมารดาเสียชีวิตขณะท่านอายุได้ 11 ปี บิดาส่งท่านขึ้นเรือให้ไปเรียนที่ประเทศจีน แต่ท่านกระโดดหนีลงจากเรือแล้วไปอยู่กับน้าชายชื่อสิงห์โต[3] ปีต่อมาบิดามารับท่านไปเรียนภาษาจีนที่ศาลเจ้าข้างวัดราชผาติการามวรวิหาร พออายุได้ 14 ปี บิดาให้ทำงานเป็นเสมียนกับพระเสนางควิจารณ์ (ยิ้ม) เมื่อายุได้ 15 ปี น้าที่เคยอุปการะท่านได้พาท่านไปเรียนกับพระครูเขมาภิมุข (อิ่ม) ที่วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร ต่อมาย้ายไปศึกษากับพระอริยกระวี (ทิง) สมัยยังเป็นพระครูปลัด ฐานานุกรมในพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ)[1]
ปีเถาะ พ.ศ. 2410 ได้บรรพชาเป็นสามเณร และเข้าสอบพระปริยัติธรรมที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. 2413 ได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ถึงปีวอก พ.ศ. 2415 ได้อุปสมบทที่วัดโสมนัสวิหาร โดยมีพระพรหมมุนี (ทับ พุทฺธสิริ) เป็นพระอุปัชฌาย์ ศึกษาต่อแล้วเข้าสอบในปีชวด พ.ศ. 2419 ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ได้อีก 2 ประโยคเป็นเปรียญธรรม 5 ประโยค และเข้าสอบครั้งสุดท้ายในปีมะเมีย พ.ศ. 2425 ที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ได้อีก 3 ประโยคเป็นเปรียญธรรม 8 ประโยค
เมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหารว่างลง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์จะเลือกพระมหาเปรียญจากวัดโสมนัสวิหารมาเป็นเจ้าอาวาส ซึ่งขณะนั้นมีพระมหาเดช ฐานจาโร กับพระมหายัง เขมาภิรโต ได้ทูลปรึกษาสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) ทราบว่าพระมหายังเชี่ยวชาญเทศนาจึงเป็นที่นิยมของคฤหัสถ์ แต่พระมหาเดชเป็นที่รักใคร่นับถือของเพื่อนบรรพชิตมากกว่า ที่สุดทรงตัดสินพระทัยตั้งพระมหาเดชเป็นพระราชาคณะไปครองวัดเทพศิรินทราวาสตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2427[4] พระมหายังจึงอยู่วัดโสมนัสวิหารต่อมา จนได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหารตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2445 ตราบจนมรณภาพ ในสมัยของท่านวัดโสมนัสวิหารเจริญรุ่งเรืองมากเพราะท่านเชี่ยวชาญในการแสดงธรรมและการปฏิสังขรณ์[5]
ด้านการศึกษา ในวันที่ 8 มกราคม ร.ศ. 114 ท่านได้รับพระราชทานตราตั้งเป็นกรรมการมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายบรรพชิต[6] และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้สอบไล่พระปริยัติธรรมในกองเหนือใน ร.ศ. 120[7] ร.ศ. 121[8] ร.ศ. 122[9] เป็นต้น ถึงปี ร.ศ. 129 ท่านจึงได้เป็นแม่กองขวา[10]
ท่านเห็นชอบให้พระยาศรีภูริปรีชา (กมล สาลักษณ) สร้างอาคารเรียนขึ้นในวัดเพื่ออุทิศแก่คุณหญิงพึ่ง อาคารนี้ได้รับพระราชทานนามว่า "สาลักษณาลัย" ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2460 และมอบให้กระทรวงศึกษาธิการใช้เป็นสถานศึกษาตั้งแต่วันนั้น[11]
ในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาท่านเป็นพระพิมลธรรม ระบุเกียรติคุณของท่านว่า "มีความแตกฉานในพระไตรปิฎกธรรม แคล่วคล่องในวิธีสังฆกรรมนานาประการ เป็นปริยัตยาจารย์แห่งภิกษุสงฆ์ มีความอุสาหะมั่นคงกล้าหาญในเทศนาสาสโนบาย มีปฏิภาณโวหารหนักในสารานิยธรรมสัมมาปฏิบัติ เจริญกุศลปวัติซ่อมแปลงอาวาสมิได้ย่อหย่อน โดยศีลาจารวัตรก็เป็นที่เลื่อมใสแห่งสัปรุษนิกรเป็นอันมาก"[16]
ในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนาท่านเป็นสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ระบุว่าท่าน "มีความเชี่ยวชาญแตกฉานในพระไตรปิฎก เป็นอาจารย์สั่งสอนพระปริยัติธรรมแก่ภิกษุสงฆ์สามเณร มีความอุสาหมั่นคงในวัตรปฏิบัติ ทรงคุณธรรมสม่ำเสมอ เป็นผู้รอบรู้ในอรรถธรรม สามารถแผ่สยายข้อความตามเทศโนบาย ให้ชนทั้งหลายผู้ได้สดับฟังแล้ว แลเห็นหนทางธรรมปฏิบัติอันถ่องแท้ เทียบทางโลกกับทางธรรมให้กล้ำกลืนกัน อาจที่จะนำมาใช้ในขณะประกอบกิจการทุก ๆ วันได้ ให้บังเกิดเป็นประโยชน์อันใหญ่ยิ่ง เป็นผู้มีวาจาอันน่าฟัง เสียงไพเราะ มีคุณสมบัติอันประเสริฐอยู่หลายอย่างหลายประการเช่นนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระกรุณายกย่อง ให้ได้รับสมณศักดิ์เลื่อนขึ้นเป็นลำดับจนได้เป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่ชั้นเจ้าคณะรอง ปกครองสังฆบริษัทจัดการพระศาสนาให้ดำเนิรมาโดยเรียบร้อย ได้เป็นพระอุปัธยาจารย์ให้บรรพชาอุปสมบทแก่กุลุบุตรเป็นอันมาก เป็นที่นับถือแห่งศาสนิกชนทั่วไป ในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงนับถือพระพิมลธรรมว่าเป็นอัจฉริยพรหมจรรย์ ทรงนับถือเสมอพระอาจารย์องค์หนึ่ง แลได้ทรงสดับโอวาทตามแต่จะมีโอกาศในการอันควร ประมวลพระราชศรัทธาแลเพิ่มพูลเข้าพระราชหฤทัยในพระธรรมยิ่งขึ้น นับว่าได้ยังประโยชน์ให้บังเกิดแก่พระองค์เป็นอันมาก"[17]
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์เริ่มอาพาธด้วยโรคอัมพาตมาตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2459[5] จนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2474 เวลา 20.20 น. สิริอายุได้ 79 ปี 322 วัน ในวันต่อมา เวลา 17.20 น. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จแทนพระองค์ไปสรงน้ำศพ ได้รับพระราชทานโกศไม้สิบสองฉัตรเบญจา 1 สำรับ และโปรดให้มีพระสวดอภิธรรมเวลากลางคืนมีกำหนด 15 วัน[20]
วันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2475 เจ้าภาพบำเพ็ญกุศลศพ วันต่อมา เวลา 15.00 น. พนักงานเชิญโกศศพขึ้นรถจตุรมุข ไปสมทบกับขบวนศพพระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) เข้าประตูสุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส เวียนศพรอบเมรุแล้วยกขึ้นตั้งบนเชิงตะกอน ถึงเวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเพลิงศพแล้วเสด็จกลับ วันที่ 6 เมษายน เวลา 7:00 น. เจ้าภาพเก็บอัฐิ[21]
{{cite web}}
|accessdate=
{{cite journal}}
|date=