พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เป็นพระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระมหาปราสาท ใน พระบรมมหาราชวัง ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ทางทิศตะวันตกของพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท มีพระที่นั่งพิมานรัตยา พระปรัศว์ซ้าย พระปรัศว์ขวา และ เรือนบริวาร หรือ เรือนจันทร์ ต่อเนื่องทางด้านหลังในเขตพระราชฐานชั้นใน พระที่นั่งองค์นี้ได้รับยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมชั้นเอกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นพระที่นั่งทรงไทยแท้องค์เดียว ในพระบรมมหาราชวัง โดยเฉพาะเรือนยอดพระมหาปราสาท (กุฎาคาร) มีรูปทรงต้องด้วยศิลปะลักษณะอันวิจิตรงดงาม
ประวัติ
เมื่อปี พ.ศ. 2332 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทขึ้น บนพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ซึ่งถูกฟ้าผ่าไหม้จนหมด จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สร้างมหาปราสาทขึ้นใหม่บนพื้นที่เดิม นามว่า พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
สถาปัตยกรรม
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นพระที่นั่ง 1 ชั้น สถาปัตยกรรมทรงปราสาทแบบจตุรมุข ด้านเหนือมีมุขเด็จยื่นออกมา เป็นพระที่นั่งก่ออิฐถือปูน ฐานสูง 2.85 เมตร ชั้นล่างเป็นเชิง ฐานถัดไปเป็นฐานสิงห์ และฐานเชิงบาตรสองชั้น หลังคาเป็นยอดทรงปราสาทประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง คันทวยมีลักษณะเป็นรูปนาคเบือน หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมรอบด้วยลายกนกเทพพนม มุมยอดปราสาททั้ง 4 มุมเป็นรูปลายครุฑ หน้าบันจำหลักรูปพระนารายณ์ทรงครุฑไขรา รอบปราสาทเป็นรูปครุฑยุดนาครองรับ
พระแท่นที่ประดิษฐานอยู่ภายใน
ภายในพระที่นั่งประดิษฐานพระแท่นต่าง ๆ ดังนี้
- พระที่นั่งบุษบกมาลา เป็นพระแท่นสำหรับประดิษฐานพระสยามเทวาธิราชเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จออกมหาสมาคมเนื่องในโอกาสพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี
- พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก เป็นพระแท่นประดับมุก กางกั้นด้วยนพปฎลมหาเศวตฉัตร ใช้เป็นที่ประทับในการพระราชพิธีใหญ่ ๆ ส่วนในงานอื่น ๆ ใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ
- พระแท่นราชบรรจถรณ์ประดับมุก เป็นพระแท่นที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดให้ขนย้ายหนีไฟ เมื่อคราวที่เกิดอสุนีบาตลงที่เครื่องยอดพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ปัจจุบันประดิษฐานปูชนียวัตถุในพระราชพิธีสำคัญ และเป็นที่นั่งของพระสงฆ์ที่จะสวดสรภัญญะในงานการบำเพ็ญพระราชกุศลพระบรมศพและพระศพต่าง ๆ
ธรรมเนียม
เมื่อสร้างแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้เสด็จออกว่าราชการที่ท้องพระโรง จนเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สิ้นพระชนม์ จึงได้เชิญพระศพมาประดิษฐานเป็นพระศพแรก จึงเป็นธรรมเนียมที่สามารถใช้พระมหาปราสาทนี้ประดิษฐานพระศพพระบรมวงศ์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นพิเศษได้ พระมหาปราสาทนี้ใช้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมศพของพระมหากษัตริย์เกือบทุกรัชกาล (ยกเว้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่เสด็จสวรรคตในต่างประเทศ) และพระบรมศพของสมเด็จพระอัครมเหสี (ยกเว้นสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี) และพระบรมวงศ์ที่ทรงโปรดเกล้าเป็นพิเศษ อาทิ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร (เจ้านายฝ่ายหน้าพระองค์เดียวที่ได้ประดิษฐานบนพระมหาปราสาทนี้) และสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โดยล่าสุด (พ.ศ. 2559–2560) ได้ประดิษฐานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
พระที่นั่งองค์นี้ไม่ได้เป็นเพียงที่ประดิษฐานพระบรมศพและพระศพเท่านั้น ยังเป็นสถานที่เพื่อทำพระราชพิธีสำคัญด้วย อย่างเช่น เมื่อปี พ.ศ. 2454 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ในปัจจุบัน พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธี และ พระราชกุศลต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีฉัตรมงคล (พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า) ในวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี
รูปภาพ
-
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้านหน้าตรง
-
ครุฑบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-
นาคเบือนบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-
ยอดหลังคาปราสาทพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
-
รายละเอียดหน้าบันมุขเด็จ
-
พระที่นั่งบุษบกมาลาบนมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
มุขกระสัน
มุขกระสันระหว่างพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท กับพระที่นั่งพิมานรัตยาเป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐถือปูนทาสีขาว หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ปิดทองประดับกระจก มุขกระสันนี้เป็นโถงยาว มีฝากั้นแบ่งเป็นสองตอน ตอนหนึ่งต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท อีกตอนหนึ่งติดต่อกับพระที่นั่งพิมานรัตยา มีพระทวารเป็นทางเชื่อมถึงกัน มุขกระสันตอนที่ต่อกับพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางด้านทิศเหนือ มีบันไดทางขึ้นพระที่นั่งบุษบกมาลาสองข้าง
อ้างอิง
- สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5
แหล่งข้อมูลอื่น
13°45′00″N 100°29′26″E / 13.750125°N 100.490549°E / 13.750125; 100.490549