พระที่นั่งไพศาลทักษิณ

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
ประเภทพระที่นั่ง
เมืองหมู่พระที่นั่งภายใน พระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
พิกัด13°45′01″N 100°29′31″E / 13.750159°N 100.492038°E / 13.750159; 100.492038
เริ่มสร้างพ.ศ. 2325
ผู้สร้างพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เป็นส่วนหนึ่งของพระมหามณเฑียร
เลขอ้างอิง0005574

พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นพระที่นั่งหนึ่งภายในพระบรมมหาราชวัง สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โดยเป็นส่วนหนึ่งของพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน พระที่นั่งแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระสยามเทวาธิราช และเป็นสถานที่ในการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นต้นมา

ประวัติ

เดิมนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จะทรงใช้พระที่นั่งองค์นี้สำหรับประทับทรงพระสำราญ เสวยพระกระยาหาร และประกอบพระราชานุกิจ บางโอกาสโปรดเกล้าฯ ให้ พระบรมวงศ์ ข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และบำเพ็ญพระราชกุศลภายใน แม้เมื่อปลายรัชกาลทรงพระประชวรได้ประทับบรรทมที่พระที่นั่งองค์นี้ ตลอดทรงว่าราชการ โดยให้ข้าราชการเข้าเฝ้าอยู่ที่ชานชาลาข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และเสด็จสวรรคตที่พระที่นั่งองค์นี้

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งองค์นี้ ทำให้เป็นพระราชพิธีสืบมาจวบจนปัจจุบัน ที่พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งองค์นี้ และยังทรงตั้งพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์และพระที่นั่งภัทรบิฐ ขึ้นเป็นพระที่นั่งสำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยเฉพาะ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างเทวรูปเพื่อปกปักษ์รักษา กรุงรัตนโกสินทร์ พระราชทานนามว่า "พระสยามเทวาธิราช" ประดิษฐานไว้ในพระวิมานซุ้มเรือนแก้วกลางผนังด้านทิศเหนือ เป็นปูชนียวัตถสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

ลักษณะ

ลักษณะเป็นอาคารทรงไทยก่ออิฐถือปูน ผนังภายนอกฉาบปูนเรียบทาสีขาว ตั้งอยู่ระหว่างท้องพระโรงหน้าพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน และพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ลักษณะเป็นพระที่นั่งโถงยาว 11 ห้อง (ช่วงเสา) ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยกพื้นสูงสองเมตร ด้านที่ติดต่อกับท้องพระโรงหน้าเป็นคูหาเปิดโล่ง มีอัฒจันทร์ทางขึ้นลงตอนกลาง และที่เฉลียงชั้นลดของสองปีก ด้านที่เชื่อมกับพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย มีผนังกั้น มีประตูตรงกลางเรียกว่า "พระทวารเทวราชมเหศวร" เป็นทางเฉพาะของพระมหากษัตริย์สำหรับเสด็จ สองข้างมีพระทวารเทวราชมเหศวร มีพระบัญชร 10 ช่อง เฉพาะด้านที่เปิดออกสู่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย และลานภายนอกประดับเป็นซุ้มบันแถลง นอกนั้นเป็นเรือนแก้วลายดอกเบญจมาศ หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้ง ปิดทองประดับกระจกสีทอง หน้าบันจำหลักไม้ รูปสมเด็จพระอมรินทราธิราชประทับในวิมานปราสาทสามยอด พื้นกระจกสีน้ำเงินประกอบลายก้านขดหัวนาค

ผนังด้านทิศตะวันออก มีพระทวารเสด็จฯ ออกไปยังหอพระสุราลัยพิมาน ช่วงบนเขียนภาพเทพเจ้าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ 32 องค์ ช่วงล่างระหว่างพระทวารเขียนภาพพระนารายณ์ปางต่าง ๆ

ผนังด้านทิศตะวันตก มีพระทวารเสด็จออกไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ช่วงบนเขียนภาพเทพชุมนุม เหล่าเทวดาบนวิมาน ช่วงล่างเขียนภาพพระนารายณ์ปางต่าง ๆ หน้าพระทวารประดิษฐานพระที่นั่งภัทรบิฐ พระราชอาสน์ทอดอยู่ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร

กลางผนังด้านทิศเหนือ เป็นพระวิมานสำหรับ พระสยามเทวาธิราช ประดิษฐานอยู่ภายใต้ซุ้มเรือนแก้ว เบื้องหน้าตั้งโต๊ะหมู่บูชาแบบจีนพร้อมเครื่องสักการบูชา

อ้างอิง

  • สำนักพระราชวัง. พระบรมมหาราชวัง. กรุงเทพ : โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, พ.ศ. 2547. 331 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-8274-98-5

แหล่งข้อมูลอื่น

13°45′00″N 100°29′31″E / 13.750104°N 100.492056°E / 13.750104; 100.492056

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!