ฟาโรห์โรมัน

ภาพสลักอียิปต์ที่เดนเดรา ซึ่งเป็นภาพสลักที่แสดงภาพของจักรพรรดิตรายานุส (ด้านขวา, ค.ศ. 98 – ค.ศ. 117) ในอาภรณ์แบบฟาโรห์ที่กำลังทรงกำลังเซ่นสังเวยแด่เทพีฮัตฮอร์ และเทพอิฮิ ซึ่งเป็นพระโอรสของพระนาง

ฟาโรห์โรมัน[1] ซึ่งไม่ค่อยนิยมเรียกว่าเป็นราชวงศ์ที่สามสิบสี่แห่งอียิปต์โบราณ[2][a] เป็นจักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันในฐานะผู้ปกครองอียิปต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของไอยคุปต์วิทยา หลังจากที่อียิปต์ถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิโรมันใน 30 ปีก่อนคริสตกาล ผู้คนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งฐานะปุโรหิตของอียิปต์ยังคงยอมรับว่าจักรพรรดิโรมันทรงเป็นฟาโรห์ ตามพระราชอิสริยยศของฟาโรห์แบบโบราณราชประเพณี ซึ่งปรากฏภาพในงานศิลปะและและวัดวิหารทั่วอียิปต์

คาร์ทูชของจักรพรรดิติแบริอุส (ค. ค.ศ. 14 – ค.ศ. 37)

ถึงแม้ว่าชาวอียิปต์เองจะถือว่าจักรพรรดิโรมันจะทรงเป็นฟาโรห์และเป็นผู้สืบทอดที่ถูกต้องตามกฎมณเฑียรบาลย่างโบราณราชประเพณี แต่จักรพรรดิเองก็ทรงไม่เคยยอมรับตำแหน่งหรือขนบประเพณีของฟาโรห์ภายนอกนอกดินแดนอียิปต์ เนื่องจากส่วนดังกล่าวนั้นยากที่จะพิสูจน์ในโลกโรมันอันกว้างใหญ่ จักรพรรดิส่วนใหญ่อาจจะทรงให้สถานะตามที่ทรงดูแลโดยชาวอียิปต์เพียงเล็กน้อยและไม่ค่อยได้ไปเยือนมณฑลอียิปต์มากกว่าหนึ่งครั้งในพระชนม์ชีพของพระองค์ บทบาทของพระองค์ในฐานะเทวกษัตริย์ยังคงได้รับการยอมรับอย่างเป็นวงกว้างจากชาวอียิปต์เองเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกันอย่างมากกับราชวงศ์ก่อนหน้า คือ ราชวงศ์ทอเลมีแห่งเฮลเลนิสติก ซึ่งผู้ปกครองทรงใช้พระชนม์ชีพส่วนใหญ่ภายในอียิปต์ ฟาโรห์ก่อนที่อียิปต์จะผนวกเข้ากับจักรวรรดิอะคีเมนิดในช่วงสมัยปลายแห่งอียิปต์โบราณต่างก็ทรงปกครองพระราชอาณาจักรจากภายในอียิปต์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม อียิปต์ก็มีการปกครองที่แตกต่างจากมณฑลอื่น ๆ ของจักรวรรดิ โดยมีจักรพรรดิเป็นผู้เลือกผู้ว่าการมณฑลและมักจะปฏิบัติกับอียิปต์เหมือนสมบัติส่วนพระองค์มากกว่าที่จะเป็นมณฑล ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่จักรพรรดิทุกพระองค์ที่จะทรงได้รับการยอมรับว่าทรงเป็นฟาโรห์ แต่ศาสนาอียิปต์โบราณจำเป็นต้องให้มีตำแหน่งฟาโรห์เพื่อทรงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า การที่ให้จักรพรรดิทรงมีบทบาทเทวสัมพันธ์นั้นได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ง่ายที่สุด และคล้ายกับวิธีที่ผู้ปกครองชาวเปอร์เซียทรงถูกมองว่าทรงเป็นฟาโรห์เมื่อหลายศตวรรษก่อน (ซึ่งสถาปนาขึ้นเป็นราชวงศ์ที่ยี่สิบเจ็ดและสามสิบเอ็ดแห่งอียิปต์)

อียิปต์จะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมันจนกระทั่งถูกพิชิตโดยรัฐเคาะลีฟะฮ์รอชิดูนในปี ค.ศ. 641 จักรพรรดิแห่งโรมันพระองค์สุดท้ายที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นฟาโรห์คือจักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา (ทรงครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. 311 – 313) เมื่อถึงช่วงเวลาดังกล่าว มุมมองของชาวโรมันที่มีต่อตำแหน่งฟาโรห์ได้ลดลงไประยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากอียิปต์อยู่เขตรอบนอกของจักรวรรดิจักรโรมัน (ตรงกันข้ามกับมุมมองของฟาโรห์โบราณที่มองว่าอียิปต์เป็นศูนย์กลางของโลก) การแพร่กระจายของศาสนาคริสต์ไปทั่วจักรวรรดิในคริสต์ศตวรรษที่ 4 และการเปลี่ยนแปลงในเมืองหลวงอเล็กซานเดรียของอียิปต์ให้เป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์ที่สำคัญ จึงได้ยุติประเพณีนิยมดังกล่าวลงอย่างเด็ดขาด เนื่องจากศาสนาใหม่ไม่สอดคล้องกับความหมายดั้งเดิมของการเป็นฟาโรห์

พระนามของจักรพรรดิได้ถูกเขียนด้วยอักษรอียิปต์โบราณตามการออกเสียงจากการแผลงพระนามในภาษากรีก วิธีการเขียนพระนามดังกล่าวส่งผลให้ฟาโรห์โรมันมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการศึกษาไอยคุปต์วิทยาสมัยใหม่ เนื่องจากการอ่านพระนามของพระองค์เป็นขั้นตอนสำคัญในการถอดรหัสของอักษรอียิปต์โบราณ

ประวัติฟาโรห์โรมัน

พระนางคลีโอพัตราที่ 7 ทรงมีความสัมพันธ์กับจอมเผด็จการโรมันนามว่า จูเลียส ซีซาร์ และแม่ทัพโรมันนามว่า มาร์ค แอนโทนี แต่หลังจากนั้นเมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาลพระนางก็ทรงทำอัตวินิบาตกรรม (หลังจากมาร์ค แอนโทนีพ่ายแพ้ต่ออ็อกตาเวียน ซึ่งต่อมากลายเป็นจักรพรรดิเอากุสตุส) อียิปต์ก็ได้กลายเป็นมณฑลหนึ่งของสาธารณรัฐโรมัน จักรพรรดิโรมันพระองค์ต่อมาทรงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นฟาโรห์ แม้ว่าจะเป็นแค่ในมณฑลอียิปต์เท่านั้น ด้วยเหตุดังกล่าว ไม่ใช่ว่าจักรพรรดิโรมันทุกพระองค์ที่จะทรงได้รับการยอมรับว่าทรงเป็นฟาโรห์ ถึงแม้ว่าอ็อกตาเวียนจะทรงเลือกที่จะไม่สวมมงกุฎฟาโรห์เมื่อพิชิตอียิปต์ได้ ซึ่งคงจะเป็นการยากที่จะพิสูจน์ให้จักรวรรดิกว้างใหญ่ขึ้น เมื่อพิจารณาจากการเผยแพร่คำชวนเชื่อจำนวนมหาศาลที่พระองค์ทรงเผยแพร่เกี่ยวกับพฤติกรรม "แปลกประหลาด" ของพระนางคลีโอพัตราและแม่ทัพแอนโทนี[4] ชาวพื้นเมืองอียิปต์ถือว่าพระองค์ทรงเป็นฟาโรห์ ผู้ซึ่งสืบทอดพระราชบัลลังก์ต่อจากพระนางคลีโอพัตราและทอเลมี ซีซาเรียน ภาพสลักของอ็อกตาเวียน ซึ่งในปัจจุบันจะเรียกพระองค์ว่า เอากุสตุส ในเครื่องแต่งกายของฟาโรห์ตามโบราณราชประเพณี (ทรงสวมมงกุฎที่แตกต่างกันและกระโปรงสั้นแบบดั้งเดิม) และการสังเวยของเซ่นไหว้แด่เทพเจ้าต่าง ๆ ของอียิปต์ ซึ่งถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อราว 15 ปีก่อนคริสตกาล และปัจจุบันปรากฏอยู่ในวิหารเดนดูร์ ซึ่งสร้างโดยกาอิอุส เพตรอนิอุส ซึ่งรั้งตำแหน่งเป็นผู้ว่าการมณฑลอียิปต์แห่งโรมัน[5] โดยก่อนหน้านั้น จักรพรรดิเอากุสตุสยังทรงได้รับตำแหน่งราชวงศ์ในภาษาอียิปต์บนจารึกศิลา เมื่อ 29 ปีก่อนคริสตกาลที่สร้างโดยกอร์เนลิอุส กัลลุส ถึงแม้ว่าตำแหน่งราชวงศ์จะไม่ปรากฏอยู่ในข้อความเดียวกันในรูปแบบภาษาละตินหรือกรีกก็ตาม[6]

ซึ่งไม่เหมือนกับฟาโรห์จากราชวงศ์ทอเลมีและฟาโรห์ของราชวงศ์ต่างเชื้อชาติก่อนหน้านี้ที่จักรพรรดิโรมันแทบจะไม่ได้ทรงปรากฏตัวในอียิปต์เลย ด้วยเหตุดังกล่าว บทบาทดั้งเดิมของฟาโรห์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแห่งทวยเทพและระเบียบจักรวาลจึงค่อนข้างยากต่อการพิสูจน์ จักรพรรดิไม่ค่อยเสด็จเยือนมณฑลนี้มากกว่าหนึ่งครั้งในพระชนม์ชีพ ซึ่งตรงกันข้ามกับฟาโรห์พระองค์ก่อน ๆ ที่ทรงใช้พระชนม์ชีพส่วนใหญ่ในอียิปต์ ถึงอย่างนั้น อียิปต์ก็มีความสำคัญอย่างมากต่อจักรวรรดิ เนื่องจากเป็นดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และเป็นภูมิภาคที่ร่ำรวยที่สุดของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน อียิปต์มีการปกครองแตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ โดยจักรพรรดิทรงปฏิบัติต่ออียิปต์เหมือนสมบัติส่วนตัวมากกว่าที่จะเป็นมณฑล ซึ่งทรงเลือกผู้ว่าการมณฑลด้วยพระองค์เองและบริหารโดยปราศจากการแทรกแซงของวุฒิสภาโรมัน ส่งผลให้วุฒิสมาชิกจึงไม่ค่อยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการมณฑลแห่งอียิปต์ และมักจะถูกห้ามไม่ให้ไปเยือนมณฑลอียิปต์โดยไม่ได้รับพระบรมราชานุญาตอย่างชัดแจ้ง[7]

จักรพรรดิเวสพาซิอานุส (ค.ศ. 69 – ค.ศ. 79) เป็นจักรพรรดิพระองค์แรกนับตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิเอากุสตุสที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนมณฑลอียิปต์[8] ที่เมืองอเล็กซานเดรีย พระองค์ทรงได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นฟาโรห์ ซึ่งได้ระลึกย้อนไปถึงการเฝ้าฯ รับเสด็จของอเล็กซานเดอร์มหาราชที่วิหารอันศักดิ์สิทธิ์แห่งเซอุส-อัมมอนที่โอเอซิสซิวา จักรพรรดิเวสพาซิอานุสทรงได้รับการประกาศให้เป็นพระโอรสแห่งเทพผู้สร้าง อามุน (เซอุส-อัมมอน) ตามแบบราชประเพณีของฟาโรห์โบราณและทรงเป็นร่างอวตารของเทพเซราพิสในแบบของผู้ปกครองจากราชวงศ์ทอเลมี[9] ตามแบบอย่างของฟาโรห์ จักรพรรดิเวสพาซิอานุสจะต้องแสดงให้เห็นถึงการเลือกอันศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์โดยวิธีการแบบดั้งเดิมของการถ่มน้ำลายรดและเหยียบย่ำชายตาบอดและพิการ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงสามารถรักษาชายผู้นั้นได้อย่างน่าอัศจรรย์[10]

จักรพรรดิการากัลลา (ค. ค.ศ. 211 – ค.ศ. 217) ในภาพของฟาโรห์ในวิหารแห่งคอมออมโบ

สำหรับชาวอียิปต์แล้ว ศาสนาอียิปต์โบราณจำเป็นต้องมีฟาโรห์เพื่อทรงทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและมนุษย์ ด้วยเหตุดังกล่าว จักรพรรดิโรมันจึงยังคงถูกมองว่าทรงเป็นฟาโรห์ ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวที่ง่ายที่สุด โดยไม่สนใจถึงสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจริง คล้ายกับที่ชาวอียิปต์ปฏิบัติต่อผู้ปกครองชาวเปอร์เซียหรือชาวกรีกก่อนหน้าชาวโรมัน ลักษณะที่เป็นนามธรรมของบทบาทของ "ฟาโรห์โรมัน" เหล่านี้ส่งผลให้มั่นใจได้ว่านักบวชของอียิปต์สามารถแสดงความจงรักภักดีต่อวิถีดั้งเดิมและต่อผู้ปกครองต่างเชื้อชาติพระองค์ใหม่ จักรพรรดิโรมันเองส่วนใหญ่ก็ทรงมิได้สนพระราชหฤทัยในพระราชสถานะที่ชาวอียิปต์มอบให้ ซึ่งตำแหน่งภาษาละตินและภาษากรีกของพระองค์ยังคงเป็นภาษาโรมันเท่านั้น (อิมแปราตอร์ในภาษาละตินและเอาตอกราตอร์ในภาษากรีก) และบทบาทของพระองค์ในฐานะเทวกษัตริย์ก็เป็นที่ยอมรับเฉพาะในมณฑลโดยชาวอียิปต์เองเท่านั้น[11] แต่ไม่ใช่ว่าชาวอียิปต์ทุกคนจะเอนเอียงไปทางจักรพรรดิโรมันในทางบวก ก็ยังมีการประท้วงของชาวอียิปต์จำนวนหนึ่งที่ต่อต้านการปกครองของโรมัน และมีตัวอย่างบันทึกที่หลงเหลืออยู่โดยนักบวชชาวอียิปต์ที่คร่ำครวญถึงการปกครองอียิปต์ของจักรวรรดิโรมันและเรียกร้องให้มีการคืนสถานะของราชวงศ์พื้นเมืองของฟาโรห์[12]

เมื่อคริสต์ศาสนาได้รับการยอมรับมากขึ้นภายในจักรวรรดิ ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ จักรพรรดิทั้งหลายทรงไม่พบว่ามีความเป็นไปได้ที่จะยอมรับความหมายดั้งเดิมของการเป็นฟาโรห์ (ตำแหน่งที่หยั่งรากอย่างมั่นคงในศาสนาอียิปต์โบราณ) และในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 4 ในเมืองอเล็กซานเดรียเอง ซึ่งเมืองหลวงของอียิปต์ตั้งแต่สมัยอเล็กซานเดอร์มหาราชก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของศาสนาคริสต์ เมื่อถึงจุดนี้ ทัศนะของผู้ปกครองชาวโรมันในฐานะฟาโรห์ได้ลดลงบ้างแล้ว โดยที่มณฑลอียิปต์ซึ่งอยู่รอบนอกของจักรวรรดิโรมันนั้นแตกต่างอย่างมากจากมุมมองของฟาโรห์ดั้งเดิมที่มองว่าอียิปต์เป็นศูนย์กลางของโลก สิ่งนี้เห็นได้ชัดในตำแหน่งราชวงศ์แห่งฟาโรห์ของจักรพรรดิ ถึงแม้ว่าจักรพรรดิในช่วงแรก ๆ จะทรงได้รับตำแหน่งราชวงศ์ที่ซับซ้อนคล้ายกับของผู้ปกครองจากราชวงศ์ทอเลมีและฟาโรห์ชาวพื้นเมืองก่อนหน้าพระองค์ แต่ก็ไม่มีจักรพรรดิพระองค์ใดหลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิมาร์คุส เอาเรลิอุส (ค.ศ. 161 – ค.ศ. 180) ที่จะทรงได้รับเพียงการขนานพระนามประสูติเท่านั้น (แต่ก็คงยังเขียนพระนามลงในวงคาร์ทูช) ถึงแม้ว่าจักรพรรดิโรมันจะขึ้นมาปกครองหลังจากนั้นมาอีกหลายศตวรรษ จนกระทั่งกรุงคอนสแตนติโนเปิลล่มสลายในปี ค.ศ. 1453 อียิปต์ก็ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิจนถึงปี ค.ศ. 641 โดยจักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้ายที่ทรงได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นฟาโรห์คือจักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา (ทรงครองราชย์ระหว่าง ค.ศ. 311 – ค.ศ. 313)[13]

ถึงแม้จะมีความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์จริงก็ตาม (ปรากฏว่ามีราชวงศ์ที่แตกต่างกันอย่างน้อยจำนวน 4 ราชวงศ์ของจักรพรรดิโรมันในช่วงระหว่างรัชสมัยของจักรพรรดิเอากุสตุสและจักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา) ซึ่งช่วงเวลาที่จักรวรรดิโรมันได้ปกครองอียิปต์ทั้งหมด บางครั้งอาจจะเรียกว่า ราชวงศ์ที่สามสิบสี่[2] ซึ่งนักวิชาการคอปติกบางคนในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เช่น มิคาอิล ชารูบิม และ ริฟะ'อะ อัต-ตะฮ์ตะวิ ได้แบ่งจักรพรรดิโรมันออกเป็นสองราชวงศ์ โดยราชวงศ์ที่สามสิบสี่เป็นราชวงศ์ของจักรพรรดินอกรีต และราชวงศ์ที่สามสิบห้า ซึ่งครอบคลุมแต่จักรพรรดิที่ทรงนับถือคริสต์ศาสนา โดยนับตั้งแต่จักรพรรดิเทออดอซิอุสที่ 1 ไปจนถึงช่วงการพิชิตอียิปต์ของชาวมุสลิมในปี ค.ศ. 641 ถึงแม้ว่าจะไม่ปรากฏจักรพรรดิโรมันที่ทรงนับถือศาสนาคริสต์พระองค์ใดเลยที่ทรงเคยถูกเรียกว่าฟาโรห์โดยชาวอียิปต์โบราณก็ตาม[14]

ผลกระทบต่อการศึกษาไอยคุปต์วิทยา

ตำแหน่งฟาโรห์ของจักรพรรดิโรมันมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษาไอยคุปต์วิทยาสมัยใหม่ บุคคลสำคัญในการถอดรหัสอักษรอียิปต์โบราณคือ ฌ็อง-ฟร็องซัว ช็องปอลียง ซึ่งเป็นนักตะวันออกศึกษาชาวฝรั่งเศส (ค.ศ. 1790 – ค.ศ. 1832) โดยที่ จดหมายถึง เอ็ม. ดาซีเอร์ (Lettre à M. Dacier) ของช็องปอลียงในปี ค.ศ. 1822 เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในไอยคุปต์วิทยาทั้งหมด และบางครั้งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระเบียบการศึกษาไอยคุปต์วิทยา[15] จดหมายฉบับดังกล่าวรวมการอ่านคาร์ทูชของฟาโรห์จากช่วงสมัยราชวงศ์ทอเลมีและสมัยโรมันโดยช็องปอลียง[15] โดยอ้างอิงจากความพยายามก่อนหน้านี้และการเปรียบเทียบระหว่างคาร์ทูชต่าง ๆ การถอดรหัสตำแหน่งของจักรพรรดิ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการแผลงตำแหน่งในภาษาอียิปต์ เช่น ไกซาร์และเอาตอกราตอร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งของกระบวนการดังกล่าว[16]

ถึงแม้ว่าจะมีการพัฒนาเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถอ่านข้อความอักษรอียิปต์โบราณแบบเต็มความยาวได้อย่างถูกต้องตามสมควร แต่การค้นพบของช็องปอลียงในอักษรอียิปต์โบราณแบบออกเสียงนั้นได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการศึกษา[15] เมื่อถึงเวลาตีพิมพ์จดหมาย ซึ่งรวมถึงรายการสัญลักษณ์อักษรอียิปต์โบราณเกี่ยวกับการออกเสียง ช็องปอลียงก็ไม่ได้คาดหวังว่าค่าการออกเสียงที่ค้นพบจะสามารถนำไปใช้กับพระนามของฟาโรห์สมัยก่อนหน้าราชวงศ์ทอเลมีได้เช่นกัน[16] การตระหนักในภายหลังของเขา ณ จุดหนึ่งต่อมาในปี ค.ศ. 1822 หรือ ค.ศ. 1823 ว่าการเขียนอักษรอียิปต์โบราณมักจะเป็นการผสมผสานระหว่างการออกเสียงและตัวหนังสือความคิด (เช่น สัญลักษณ์ของคำหรือความคิด) ซึ่งได้วางรากฐานในความพยายามในการถอดรหัสที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต[17] และส่งผลให้ช็องปอลียงเริ่มสนใจไม่เพียงแต่ถอดรหัสสัญลักษณ์เท่านั้นแต่ยังแปลภาษาที่ซ่อนอยู่ด้วย[18][19]

รายพระนามจักรพรรดิฟาโรห์

รายการพระนามดังต่อไปนี้ปรากฏเฉพาะจักรพรรดิที่ปรากฏหลักฐานยืนยันในตัวอักษรอียิปต์โบราณ (เช่น ปรากฏพระนามฟาโรห์) โดยฟ็อน เบ็คเคอราธ (ค.ศ. 1984)[20]

รูปภาพ พระนามและรัชสมัย ตำแหน่งราชวงศ์อียิปต์โบราณ (คาร์ทูช)[b] คำอธิบาย อ้างอิง
เอากุสตุส
ค. 30 ปีก่อนคริสตกาล[c]– ค.ศ. 14
พระนามฮอรัส:

ṯmꜢ-Ꜥ wr-pḥtj ḥwnw-bnr-mrwt ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Ptḥ-Nnw-jt-nṯrw

ṯmꜢ-Ꜥ wr-pḥtj ḥwnw-bnr-mrwt
พระนามครองราชย์:

ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Ptḥ

ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Ptḥ mrj-Ꜣst

Autokrator
พระนามประสูติ:

Kaisaros, Ep. nt.f mḥ[d]

Kaisaros, Ep. pꜢ nṯr

Kaisaros, Ep. Ꜥnḫ-ḏt mrj-Ptḥ-Ꜣst

Romaios
จักรพรรดิโรมันพระองค์แรกและผู้ปกครองโรมันพระองค์แรกที่ทรงควบคุมอียิปต์ ทรงจัดตั้งระบบภาษีใหม่ที่ไม่เป็นที่ชอบในอียิปต์และห้ามประเพณีบูชาจากอียิปต์ในกรุงโรม [24]
ติแบริอุส
ค. ค.ศ. 14 – ค.ศ. 37
พระนามฮอรัส:

ṯmꜢ-Ꜥ wr-pḥtj ḥwnw-bnr-mrwt ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Ptḥ-Nnw-jt-nṯrw

ṯmꜢ-Ꜥ wr-pḥtj ḥwnw-bnr-mrwt kꜢ-nsw sḫm-ḫntj-pr-dwꜢt

ṯmꜢ-Ꜥ ẖwj-ḫꜢswt wr-pḫtj nḫhw-BꜢqt

ṯmꜢ-Ꜥ ẖnmw-n-tꜢw smꜢw-wꜢs-?-gmj-wš-m-Jtrtj
พระนามประสูติ:

Tiberios

Tiberios ntj-ḫw[e]

Tiberios Kaisaros, Ep. Ꜥnḫ-ḏt
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ [24]
กาลิกุลา
ค. ค.ศ. 37 – ค.ศ. 41
พระนามฮอรัส:

kꜢ-nḫt jꜢḫ-stwt-RꜤ-JꜤḥ
พระนามครองราชย์:

Autokrator, Ep. ḥqꜢ-ḥqꜢw mrj-Ptḥ-Ꜣst
พระนามประสูติ:

Kaisaros Germanikos, Ep. Ꜥnḫ-ḏt
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ โดยทรงยกเลิกการห้ามลัทธิบูชาอียิปต์ในกรุงโรมที่ตราขึ้นโดยจักรพรรดิเอากุสตุส [26]
เกลาดิอุส
ค. ค.ศ. 41 – ค.ศ. 54
พระนามฮอรัส:

kꜢ-nḫt ḏd-jꜢḫ-Šw-(m)-Ꜣḫt

kꜢ-nḫt wḥm-ḫꜤw
พระนามครองราชย์:

Autokrator, Ep. ḥqꜢ-ḥqꜢw mrj-Ꜣst-Ptḥ

Kaisaros Germanikos

Kaisaros Sebastos Germanikos Autokrator
พระนามประสูติ:

Tiberios Klaudios
Tiberios Klaudios Kaisaros ntj ḫw
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ โดยทรงตำหนิคำขอจากอเล็กซานเดรียเพื่อให้ได้วุฒิสภาที่ปกครองตนเอง [26]
แนโร
ค. ค.ศ. 54 – ค.ศ. 68
พระนามฮอรัส:

ṯmꜢ-Ꜥ ẖwj-ḫꜢswt wr-nḫw-BꜢqt ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Nnw-Mrwr

ṯmꜢ-Ꜥ ẖwj-ḫꜢswt
พระนามครองราชย์:

ḥqꜢ-ḥqꜢw stp-n-Ptḥ mrj-Ꜣst

Kaisaros Germanikos
พระนามประสูติ:

Neron

Neron Klaudios, Ep. ḫw

Autokrator Neron

Neron Klaudios Kaisaros ntj ḫw
ทรงส่งกองทหารรักษาการณ์กลุ่มเล็ก ๆ ไปสำรวจตามแม่น้ำไนล์ทางตอนใต้ของอียิปต์ บางทีอาจจะทรงตั้งใจให้เป็นภารกิจสอดแนมเพื่อพิชิตดินแดนในภายหลัง [26]
กัลบา
ค. ค.ศ. 68 – ค.ศ. 69
พระนามประสูติ:

Serouios Galbas Autokrator
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ [26]
ออธอ
ค. ค.ศ. 69
พระนามประสูติ:

Markos Othon
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ [26]
ไม่ปรากฏร่องรอยในช่วงการครองราชย์เป็นระยะเวลาอันสั้นของจักรพรรดิวิแต็ลลิอุส (ค. ค.ศ. 69) ในอียิปต์
แว็สปาซิอานุส
ค. ค.ศ. 69 – ค.ศ. 79
พระนามประสูติ:

Ouespasianos

Ouespasianos ntj ḫw
จักรพรรดิพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอียิปต์นับตั้งแต่จักรพรรดิเอากุสตุส ซึ่งทรงได้รับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างฟาโรห์ [27]
ติตุส
ค. ค.ศ. 79 – ค.ศ. 81
พระนามฮอรัส:

ḥwnw-nfr bnr-mrwt
พระนามครองราชย์:

Titos

Autokrator Titos Kaisaros
พระนามประสูติ:

Ouespasianos
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ [28]
ดอมิติอานุส
ค. ค.ศ. 81 – ค.ศ. 96
พระนามฮอรัส:

ḥwnw-nḫt jṯj-m-sḫm.f.
พระนามฮอรัสทองคำ:

wsr-rnpwt ꜤꜢ-nḫtw
พระนามครองราชย์:

Ḥr-zꜢ-Ꜣst mrj-nṯrw-nb(w)
พระนามประสูติ:

Domitianos

Domitianos ntj ḫw

Domitianos Sebastos Kaisaros
ทรงโปรดให้เริ่มนำเทพเจ้าอียิปต์มาปรากฏไว้บนเหรียญที่ผลิตขึ้นในเมืองอเล็กซานเดรีย และทรงโปรดให้สร้างวิหารที่อุทิศแด่เทพเจ้า เช่น เทพีไอซิสและเทพเซราพิสในอิตาลี พระองค์ยังทรงพยายามที่จะเพิ่มความชอบธรรมให้กับการปกครองของจักรพรรดิอีกด้วย ด้วยการใช้ทรงเครื่องประกอบของการเป็นฟาโรห์ [28]
แนร์วา
ค. ค.ศ. 96 – ค.ศ. 98
พระนามฮอรัส:

Nerouas ntj ḫw
ทรงทิ้งร่องรอยของพระองค์ไว้เล็กน้อยในอียิปต์ [28]
ตรายานุส
ค. ค.ศ. 98 – ค.ศ. 117
พระนามครองราชย์:

Autokrator Kaisaros Nerouas

Germanikos Dakikos, Ep. Ꜥnḫ-ḏt
พระนามประสูติ:

Nerouas Traianos
Nerouas Traianos, Ep. Ꜥnḫ-ḏt mrj-Ꜣst

Traianos ntj ḫw

Traianos ntj ḫw + Aristos Germanikos Dakikos
แหล่งข้อมูลจากอียิปต์ในรัชสมัยของจักรพรรดิตรายานุส ปรากฏการเชื่อมโยงระหว่างจักรพรรดินีปอมเปอียา โปลตีนากับเทพีฮัตฮอร์ ซึ่งเป็นความสัมพันธ์โดยตรงครั้งแรกที่รู้จักกันระหว่างราชวงศ์ของจักรพรรดิ (นอกเหนือจากจักรพรรดิ) กับเทพเจ้าอียิปต์ [29]
ฮาดริอานุส
ค. ค.ศ. 117 – ค.ศ 138
พระนามประสูติ:

Traianos Adrianos, Ep. Ꜥnḫ-ḏt mrj-Ꜣst

Adrianos ntj ḫw

Hadrianus Caesar
เสด็จพระราชดำเนินเยือนอียิปต์โดยรัฐเป็นระยะเวลานานถึง 8/10 เดือนในปี ค.ศ. 130 – ค.ศ. 131 ทรงเยี่ยมชมสถานที่สำคัญหลายแห่งและทรงโปรดให้สร้างเมืองอันติโนโพลิส โดยลัทธิอันตินออัสของจักรพรรดิฮาดริอานุสได้รับอิทธิพลมาจากเทววิทยาอียิปต์ ทรงปกครองในช่วงเวลาคลั่งวัฒนธรรมอียิปต์โบราณ [30]
อันตอนินุส พิอุส
ค. ค.ศ. 138 – ค.ศ. 161
พระนามฮอรัส:

nfr-n(?)-tꜢ-nṯr ḥn-n-f-ŠmꜤw-Mḥw-m-nḏm-jb
พระนามครองราชย์:

Autokrator Kaisaros Titos Ailios Adrianos
พระนามประสูติ:

Antoninos ntj ḫw + Eusebes

Antoninos Sebastos Eusebes ntj ḫw

Antoninos ntj ḫw Ꜥnḫ-ḏt

Antoninos ntj ḫw, Ep. šꜢj-n-BꜢqt
ทรงเฉลิมฉลองในอียิปต์โบราณ เนื่องจากวงจรโซธิกครบรอบในปี ค.ศ. 139 รัชสมัยอันยาวนานของพระองค์จึงได้เห็นการก่อสร้างวิหารที่สำคัญครั้งสุดท้ายในอียิปต์ ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยือนเมืองอเล็กซานเดรียในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 150 เพื่อทรงอุปถัมภ์อาคารใหม่หลายแห่ง [31]
ลูกิอุส เวรุส
ค. ค.ศ. 161 – ค.ศ. 169


Loukio(s) Aurelio(s), Ep. wr-ꜤꜢ Ꜥnḫ-ḏt[f]
ทรงเป็นจักรพรรดิร่วมกับจักรพรรดิมาร์กุส เอาเรลิอุส [20]
มาร์กุส เอาเรลิอุส
ค. ค.ศ. 161 – ค.ศ. 180


Aurelios Antoninos ntj ḫw

Autokrator Kaisaros Mark(os) Aurelio(s) Antonin(os)

Aure(li)os, Ep. Ꜥnḫ-ḏt + Antonin(os), Ep. Ꜥnḫ-ḏt

[Markos] Aurelio(s) Antoninos Sebastos
ทรงเผชิญกับการก่อการจลาจลของชาวอียิปต์พื้นเมืองที่นำโดยอิซิดอรุสในปี ค.ศ. 171 – ค.ศ. 175 และการก่อจลาจลของผู้แย่งชิงตำแหน่งนามว่า อะวิดิอุส กัสซิอุส ในปี ค.ศ. 175 ที่สนับสนุนโดยอียิปต์ ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังอียิปต์ในปี ค.ศ. 176 ซึ่งเป็นมณฑลที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาดอันโตนีน ทรงโปรดให้ยกเลิกตัวอักษรเดมอติกซึ่งแทนที่ตัวอักษรกรีก โดยทรงให้ใช้อย่างเป็นทางการในอียิปต์ [33]
ก็อมมอดุส
ค. ค.ศ. 180 – ค.ศ. 192


Markos Au(re)lios Komodos Antoninos

Komodos Kaisaros(?)

Komodos Antoninos ntj ḫw
จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายที่ทรงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในฐานะผู้อุปถัมภ์ของฟาโรห์ในวิหารของอียิปต์ การลดลงของการเป็นตัวแทนของจักรพรรดิในเวลาต่อมาอาจเป็นผลมาจากทรัพยากรที่ลดลงสำหรับนักบวชและวิหารแทนที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและนโยบายของจักรวรรดิ [34]
ไม่ปรากฏตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ใดเลยของจักรพรรดิที่ปกครองในช่วงเวลาอันสั้นทั้งสองพระองค์ในปีแห่งห้าจักรพรรดิ (ค.ศ. 193)[20] จักรพรรดิแปร์ตินักซ์ทรงเป็นที่รู้จักในอียิปต์ช่วงเวลาสั้น ๆ จำนวน 22 วันก่อนการปลงพระชนม์ของพระองค์ และส่วนจักรพรรดิดิดิอุส ยูลิอานุส กลับทรงไม่เป็นที่รู้จักในอียิปต์เลย และแป็สแก็นนิอุส นิแกร์ ซึ่งเป็นผู้แย่งชิงตำแหน่งกลับเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งที่ได้รับการยอมรับของจักรพรรดิแปร์ตินักซ์ในอียิปต์[35] แต่ไม่ทราบตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ที่หลงเหลือเช่นกัน[20]
แซ็ปติมิอุส เซเวรุส
ค. ค.ศ. 193 – ค.ศ. 211


Seouēros ntj ḫw
เสด็จประพาสอียิปต์พร้อมกับพระราชวงศ์ในปี ค.ศ. 199 – ค.ศ. 200 ทรงโปรดให้บูรณะปฏิสังขรณ์อาคารเก่าและจัดตั้งวุฒิสภาในเมืองอเล็กซานเดรียและที่อื่น ๆ การแตกแยกทางศาสนาและการโต้เถียงนำไปสู่การประหัตประหารชาวคริสต์ครั้งใหญ่ครั้งแรกในอียิปต์ในปี ค.ศ. 201 [36]
แกตา
ค. ค.ศ. 211


Geta(s) ntj ḫw
ทรงเป็นจักรพรรดิที่ปกครองร่วมเป็นระยะเวลอันสั้นกับจักรพรรดิการากัลลา [20]
การากัลลา
ค. ค.ศ. 211 – ค.ศ 217


Antoninos ntj ḫw
ทรงเพิ่มความความเป็นพลเมืองโรมันให้กับชาวโรมันทุกคนผ่านรัฐธรรมนูญแห่งอันโตนินุสในปี ค.ศ. 212 พระนามของพระองค์คือ เอาเรลิอุส[g] จากนั้นก็เป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอียิปต์ [37]
มากรินุส
ค. ค.ศ. 217 – ค.ศ. 218


Makrino(s) n(tj) ḫw
ทรงทำลายข้อปฏิบัติที่มีมายาวนานและทรงส่งผู้ปกครองและวุฒิสมาชิกไปปกครองอียิปต์ ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะถูกปลดจากตำแหน่งและวุฒิสมาชิกถูกสังหารหลังจากการสวรรคตของจักรพรรดิมากรินุส [38]
ดิอาดุเมนิอานุส
ค. ค.ศ. 218


Diadoumenianos
เป็นจักรพรรดิร่วมกับจักรพรรดิมากรินุส [20]
จักรพรรดิแอลากาบาลุส (ค. ค.ศ. 218 – ค.ศ. 222) ทรงสืบทอดตำแหน่งต่อจากจักรพรรดิมากรินุสและจักรพรรดิดิอาดุเมนิอานุส ซึ่งทรงไม่ได้ถูกกล่าวถึงในแหล่งข้อมูลอียิปต์ที่ยังหลงเหลืออยู่[35] ผู้สืบทอดตำแหน่งของพระองค์พระนามว่า จักรพรรดิแซเวรุส อาแล็กซันแดร์ (ค. ค.ศ. 222 – ค.ศ. 235) ทรงเป็นที่รู้จักในอียิปต์ ไม่ปรากฏตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ที่หลงเหลืออยู่[20] จักรพรรดิที่ทรงปกครองเป็นระยะเวลาอันสั้นอย่างจักรพรรดิมักซิมินุส ตรักซ์ (ค. ค.ศ. 235 – ค.ศ. 238), จักรพรรดิกอร์ดิอานุสที่ 1 (ค. ค.ศ. 238), จักรพรรดิกอร์ดิอานุสที่ 2 (ค. ค.ศ. 238), จักรพรรดิพูพิเอนุส (ค. ค.ศ. 238), จักรพรรดิบัลบินุส (ค. ค.ศ. 238) และจักรพรรดิกอร์ดิอานุสที่ 3 (ค. ค.ศ. 238 – ค.ศ. 244) ทรงมีส่วนเกี่ยวข้องในอียิปต์น้อยมากและทรงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในเอกสารหลักฐานอียิปต์ที่ยังหลงเหลืออยู่
ฟิลิปปุส
ค. ค.ศ. 244 – ค.ศ. 249


Philippos ntj ḫw
เนื่องจากการบริหารที่ผิดพลาดมาหลายทศวรรษและการปะทะกันทางการเมือง อียิปต์จึงตกอยู่ในความยากจนในช่วงเวลาที่จักรพรรดิฟิลิปปุสทรงขึ้นครองราชย์ และเป็นฟาโรห์พระองค์สุดท้ายจะได้รับการรำลึกไว้ที่วิหารขนาดใหญ่ที่เอสนา [39]
เดกิอุส
ค. ค.ศ. 249 – ค.ศ 251


Dekios ntj ḫw
ทรงกำกับการข่มเหงชาวคริสเตียน รัชสมัยของพระองค์บริเวณอียิปต์ทางตอนใต้ถูกโจมตีโดยพวกเบลมมิเอส ซึ่งเป็นครั้งแรกที่อียิปต์ตอนใต้ถูกโจมตีนับตั้งแต่รัชสมัยจักรพรรดิเอากุสตุส [40]
จักรพรรดิแตรบอนิอานุส กัลลุส (ค. ค.ศ. 251 – ค.ศ. 253) และจักรพรรดิไอมิลิอานุส (ค. ค.ศ. 253) ทรงได้รับการยอมรับในอียิปต์ ตามเอกสารทางการและเหรียญที่ผลิตในเมืองอเล็กซานเดรีย[41] แต่ไม่ปรากฏตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ใดเลย[20]
วาแลริอานุส
ค. ค.ศ. 253 – ค.ศ. 260


Oualerianos
ทรงไม่เป็นที่ชอบโดยชาวคริสเตียนจากการข่มเหงชาวคริสเตียนอีกครั้ง แต่พระองค์กลับเป็นที่นิยมของในหมู่นักบวชชาวอียิปต์ [42]
หลังจากรัชสมัยของจักรพรรดิวาแลริอานุส อียิปต์ถูกควบคุมโดยกลุ่มผู้แย่งชิงตำแหน่ง ได้แก่ มากริอานุส มินอร์ (ค. ค.ศ. 260 – ค.ศ. 261), กวีเอตุส (ค. ค.ศ. 260 – ค.ศ. 261) และลูกิอุส มุสซิอุส ไอมิลิอานุส (ค. ค.ศ. 261– ค.ศ. 262)[43] ซึ่งไม่ปรากฏตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ใดเลยทั้งหมด[20] จักรพรรดิที่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างกัลลิเอนุส (ค. ค.ศ. 262 – ค.ศ. 268) ทรงเป็นที่รู้จัก,[44] ไม่ปรากฏตำแหน่งราชวงศ์ของฟาโรห์ในรัชสมัยของพระองค์[20] ปรากฏบันทึกไม่กี่ชิ้นที่หลงเหลือจากอียิปต์จากผู้สืบทอดของจักรพรรดิกัลลิอานุสโดยปรากฏหลักฐานเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับรัชสมัยของจักรพรรดิเกลาดิอุส กอทิกุส (ค. ค.ศ. 268 – ค.ศ. 270), จักรพรรดิควินติลลุส (ค. ค.ศ. 270), จักรพรรดิเอาเรลิอานุส (ค. ค.ศ. 270 – ค.ศ. 275) และจักรพรรดิตากิตุส (ค. ค.ศ. 275 – ค.ศ. 276) ถึงแม้ว่าทรงเป็นที่รู้จักของของชาวอียิปต์ทั้งหมด ตลอดช่วงเกือบปี ค.ศ. 271 อียิปต์ถูกยึดครองโดยซีโนเบียแห่งอาณาจักรพัลไมรีน จนกระทั่งมณฑลนี้ถูกยึดคืนโดยจักรพรรดิเอาเรลิอานุส รัชสมัยอันสั้นของจักรพรรดิฟลอริอานุส (ค. ค.ศ. 276) ซึ่งพระองค์ทรงไม่เป็นที่ยอมรับอย่างชัดเจนในอียิปต์ โดยกองทหารอียิปต์ที่สนับสนุนจักรพรรดิปลอบุส
ปรอบุส
ค. ค.ศ. 276 – ค.ศ. 282


Autokrator Probos (?)[h]
ทรงยึดพระราชบัลลังก์จักรวรรดิด้วยการสนับสนุนของอียิปต์ ทรงเอาชนะพวกเบลมมิเอส ซึ่งบุกขึ้นไปทางเหนือไกลถึงเมืองคอปโตส [46]
จักรพรรดิการุส (ค. ค.ศ. 282 – ค.ศ. 283), จักรพรรดิการินุส (ค. ค.ศ. 283 – ค.ศ. 285) และจักรพรรดินุเมริอานุส (ค. ค.ศ. 283 – ค.ศ. 284) ทรงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในแหล่งข้อมูลของอียิปต์[20][44]
ดิออเกลติอานุส
ค. ค.ศ. 284 – ค.ศ. 305


Diokletian(os)
ทรงทำการปฏิรูป ซึ่งได้ขจัดความเสื่อมทรามออกไปอียิปต์มาก ทำให้อียิปต์สามารถบูรณาการทางเศรษฐกิจและการบริหารกับมณฑลอื่นๆ ได้มากขึ้น ดินแดนทางตอนใต้ของอียิปต์ถูกทิ้งร้างระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินเยือนอียิปต์ในปี ค.ศ. 298 และมีการข่มเหงชาวคริสเตียนนั้นมีความรุนแรงเป็นอย่างมากในอียิปต์ [47]
มักซิมิอานุส
ค. ค.ศ. 286 – ค.ศ. 305


Maksimiano(s)
ทรงเป็นจักรพรรดิโรมันตะวันตก ซึ่งปกครองร่วมกับจักรพรรดิดิออเกลติอานุส แต่ทรงไม่ได้ควบคุมอียิปต์ [20]
กาแลริอุส
ค. ค.ศ. 305 – ค.ศ. 311


Kaisaros Iouio(s) Maksimio(s)
การกดขี่ข่มเหงชาวคริสเตียนยังคงดำเนินต่อไปจนกระทั่งจักรพรรดิกาแลริอุสทรงออกพระราชโองการขันติธรรมทางศาสนา [20]
มักซิมินุส ดาซา
ค. ค.ศ. 311 – ค.ศ. 313


Kaisaros Oualerios Mak(sim)inos
จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายที่ชาวอียิปต์ถือว่าทรงเป็นฟาโรห์ [48]
จักรพรรดิมักซิมินุส ดาซา เป็นจักรพรรดินอกรีตที่ผู้ทรงโหดร้ายพระองค์สุดท้ายที่ทรงควบคุมอียิปต์ และเป็นจักรพรรดิโรมันพระองค์สุดท้ายที่ทรงได้รับการยอมรับในบันทึกอักษรอียิปต์โบราณ ถึงแม้ว่าคาร์ทูชหลายอันจะถูกบันทึกในเวลาต่อมา (คาร์ทูชที่เป็นที่ทราบที่บันทึกเป็นครั้งสุดท้าย คือ รัชสมัยของจักรพรรดิกอนสแตนติอุสที่ 2 ในปี ค.ศ. 340) แต่ชาวอียิปต์นอกรีตกลับใช้คาร์ทูชของจักรพรรดิดิออเกลติอานุสแทนการยกย่องจักรพรรดิคริสเตียนในช่วงเวลาหลัง

เชิงอรรถ

  1. ราชวงศ์สุดท้ายที่ระบุด้วยตัวเลขโดยนักไอยคุปต์วิทยาส่วนใหญ่ คือ ราชวงศ์ที่สามสิบเอ็ด (เมื่อชาวเปอร์เซียเข้ามาปกครองอียิปต์เป็นครั้งที่สอง)[3] หากนับชาวโรมันเป็น "ราชวงศ์ที่สามสิบสี่" ราชวงศ์อาร์กีดของอเล็กซานเดอร์มหาราชจะถือเป็นราชวงศ์ที่สามสิบสอง และราชอาณาจักรทอเลมีจะถือเป็นราชวงศ์ที่สามสิบสาม
  2. ตำแหน่งและพระนามตามฟ็อน เบ็คเคอราธระบุได้นั้น (ค.ศ.1984) มาจาก อักษรอียิปต์โบราณ หน้าที่ 296–306 และการทับศัพท์ หน้าที่ 123–127[21] พระนามของจักรพรรดิเขียนด้วยอักษรอียิปต์โบราณตามการออกเสียงตามพระนามในภาษากรีก[22] เนื่องจากการสะกดเป็นแบบสัทอักษร จักรพรรดิหลายพระองค์จึงเป็นที่รู้จักจากการแผลงพระนามและตำแหน่งต่าง ๆ กัน การแผลงคำที่แตกต่างกันจะรวมไว้ที่นี่เฉพาะในกรณีที่มีความหมายต่างกันเท่านั้น
  3. จักรพรรดิเอากุสตุสทรงไม่ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่งโรมัน จนกระทั่งเมื่อ 27 ปีก่อนคริสตกาล แต่ทรงได้รับการยอมรับว่าทรงเป็นฟาโรห์ในอียิปต์หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของทอเลมีที่ 15 ซีซาเรียน ซึ่งน่าจะทรงเป็นตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อนคริสตกาลเป็นต้นไป[20]
  4. พระฉายานี้อาจจะแปลเป็น "เอาตอกราตอร์"[23]
  5. "ntj-ḫw" ที่ใช้บ่อยครั้งนั้นคือคำภาษาอียิปต์ของคำภาษากรีก เซบัสทอส (เป็นรูปแผลงภาษากรีกของคำว่า เอากุสตุส ในภาษากรีก)[25]
  6. จากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นต้นไป ตามฟ็อน เบ็คเคอราธ (ค.ศ. 1984) ได้หยุดการใช้ตำแหน่งราชวงศ์แบบอียิปต์ดั้งเดิม พระนามที่เหลือทั้งหมดนับจากนี้เป็นเพียง พระนาม (พระนามประสูติ)[32]
  7. "การากัลลา" เป็นพระนามเล่น ส่วนพระนามเต็มของจักรพรรดิคือ มาร์กุส เอาเรลิอุส อันโตนินุส
  8. การอ่านพระนามในคาร์ทูชดังกล่าว ซึ่งอ่านตามตัวอักษรจาก "prʻbwj" ว่า "ปลอบุส" นั้นยังยังไม่ชัด[45]

อ้างอิง

  1. Rossini 1989, p. 6.
  2. 2.0 2.1 Loftie 2017.
  3. von Beckerath 1984, p. 164.
  4. Scott 1933, pp. 7–49.
  5. Marinelli 2017.
  6. Minas-Nerpel & Pfeiffer 2008, pp. 265–298.
  7. Wasson 2016.
  8. Ritner 1998, p. 13.
  9. Ritner 1998, pp. 13–14.
  10. Ritner 1998, p. 14.
  11. O'Neill 2011.
  12. Ritner 1998, p. 10.
  13. Vernus & Yoyotte 2003, pp. 238–256.
  14. Reid 2003, pp. 284.
  15. 15.0 15.1 15.2 Thompson 2015, p. 118.
  16. 16.0 16.1 Robinson 2010, p. 138.
  17. Robinson 2010, p. 139.
  18. Thompson 2015, p. 120.
  19. Adkins & Adkins 2000, p. 208.
  20. 20.00 20.01 20.02 20.03 20.04 20.05 20.06 20.07 20.08 20.09 20.10 20.11 20.12 20.13 von Beckerath 1984, p. 165.
  21. von Beckerath 1984, pp. 123–127, 296–306.
  22. Champollion 1822, p. 9.
  23. von Beckerath 1984, p. 123.
  24. 24.0 24.1 von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 12–13.
  25. ฟอน เบ็คเครอธ 1984, p. 124.
  26. 26.0 26.1 26.2 26.3 26.4 von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 13.
  27. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 13–14.
  28. 28.0 28.1 28.2 von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 14.
  29. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 14–15.
  30. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 15–16.
  31. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 16–17.
  32. von Beckerath 1984, p. 126.
  33. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 17.
  34. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 17–18.
  35. 35.0 35.1 Ritner 1998, p. 18.
  36. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 18–19.
  37. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 19–20.
  38. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 20.
  39. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 21.
  40. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 21–22.
  41. Ritner 1998, p. 22.
  42. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 22.
  43. Ritner 1998, pp. 22–23.
  44. 44.0 44.1 Ritner 1998, p. 23.
  45. von Beckerath 1984, p. 128.
  46. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, p. 23.
  47. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 23–25.
  48. von Beckerath 1984, p. 165; Ritner 1998, pp. 25–26.

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!