พิจิตต รัตตกุล

พิจิตต รัตตกุล
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 12
ดำรงตำแหน่ง
3 มิถุนายน พ.ศ. 2539 – 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2543
(4 ปี 49 วัน)
ก่อนหน้าร้อยเอกกฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
ถัดไปสมัคร สุนทรเวช
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
ดำรงตำแหน่ง
22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 – 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559
(4 ปี 8 วัน)
ก่อนหน้ารองศาสตราจารย์ ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย
ถัดไปรองศาสตราจารย์ นายแพทย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด30 สิงหาคม พ.ศ. 2489 (78 ปี)
อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองประชาธิปัตย์ (2528–2539)
กิจสังคม (2539–2543)
ถิ่นไทย (2543–2545)
มหาชน (2547–2548)
รวมใจไทยชาติพัฒนา (2550–2551)
คู่สมรสชารียา ปิณฑกานนท์[1]
บุตร2 คน

พิจิตต รัตตกุล (เกิด 30 สิงหาคม พ.ศ. 2489) ชื่อเล่น โจ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 12 อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตหัวหน้าพรรคถิ่นไทย อดีตผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ประวัติ

ดร.พิจิตต รัตตกุล หรือ ดร.โจ เกิดเมื่อ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรชายคนโตจากพี่น้อง 3 คน (คุณหญิงพัชรี ว่องไพฑูรย์ และ ดร.อาณัฐชัย รัตตกุล) ของนายพิชัย รัตตกุล (อดีตประธานรัฐสภา รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. 2525-2534) และ คุณหญิงจรวย รัตตกุล[2] มีปู่ชื่อนายพิศาล รัตตกุล ผู้บุกเบิกกิจการหมากหอมเยาราช สมรสกับ ชารียา ปิณฑกานนท์ มีบุตรสาว 2 คน คือ พิจริยา รัตตกุล และพีรธิดา รัตตกุล

ดร.พิจิตต สำเร็จการศึกษาระดับอนุบาลจากโรงเรียนอนุบาลสมถวิล ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ในระดับปริญญาตรี จบวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาชีววิทยา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระดับปริญญาโท จบสาขาเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง (Brigham Young University) สหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนจาก TEACHING and RESEARCH ASSISTANTSHIP AWARDS และในระดับปริญญาเอก จบสาขาจุลชีววิทยาทางอุตสาหกรรมจากที่เดียวกัน โดยได้รับทุนจาก INTERNSHIP AWARDS

ประวัติการทำงาน

ดร.พิจิตต เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่ พ.ศ. 2512 โดยหลังจบการศึกษาปริญญาเอก ดร.พิจิตต ได้เป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยบริกแฮมยังอยู่อีก 1 ปีและเดินทางกลับประเทศไทย มาเป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการนโยบายและวิชาการของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี พ.ศ. 2525 และลงสมัคร ส.ส. ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ. 2526 ทำให้ต้องลาออกจากการเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยลงสมัครในเขตพญาไท แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ดร.พิจิตต จึงไปเป็นข้าราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน (ชื่อขณะนั้น) เพื่อจะได้ทำงานให้ตรงตามที่ตัวเองจบมา โดยได้รับตำแหน่งรองผู้อำนวยการศูนย์วิศวกรรมพันธุศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเลขานุการ ดำรง ลัทธิพิพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน

ในปี พ.ศ. 2528 มีการเลือกตั้งซ่อมในกรุงเทพฯ ดร.พิจิตต จึงได้ลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ และได้รับการเลือกตั้ง

ในปี พ.ศ. 2529 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน

ในปี พ.ศ. 2531 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ดร.พิจิตต ก็ลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.อีกครั้ง และได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส.อีกสมัย อีกทั้งได้รับตำแหน่งกรรมาธิการอุตสาหกรรมของรัฐบาล จนกระทั้งมีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบและเรียบร้อยแห่งชาติ (ร.ส.ช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 บทบาทของ ดร.พิจิตต ในทางการเมืองจึงหายไปในช่วงเวลาหนึ่งจนถึงหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535

ในปี พ.ศ. 2535 ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ในนามของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 305,740 คะแนน เป็นอันดับที่ 2 รองจากร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา จากพรรคพลังธรรม

ในปี พ.ศ. 2539 ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครผู้ว่า กทม. อีกครั้ง ในนามอิสระ ซึ่งได้ใช้ยุทธวิธีการหาเสียงเลือกตั้งโดยใช้ประเด็นเชิงนโยบาย ทำให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 12 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2539 ด้วยคะแนนเสียง 768,994 คะแนน

ในปี พ.ศ. 2543 หลังพ้นจากการดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ดร.พิจิตต ได้ตั้งพรรคถิ่นไทย ซึ่งคือกลุ่มมดงานเดิมที่ ดร.พิจิตตตั้งขึ้นในช่วงที่เป็นผู้ว่า กทม. เพื่อช่วยในการทำงาน โดย ดร.พิจิตต ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรค

ในปี พ.ศ.2547 ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่า กทม. อีกครั้ง ในนามของพรรคมหาชน แต่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 101,220 คะแนน

ในปี พ.ศ. 2549 ดร.พิจิตต ได้ลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ชุดที่ 9 ของประเทศไทย เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2549 ด้วยคะแนนเสียง 100,211 คะแนน

ในปี พ.ศ. 2550 ได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center: ADPC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศด้านการจัดการภัยพิบัติ

ในปี พ.ศ. 2555 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช[3] ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร

ในปี พ.ศ. 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ[4]

ในปี พ.ศ. 2559 ได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร บริษัท แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)[5]

ในปี พ.ศ. 2561 ได้รับการแต่งตั้งเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช[6]

ในปี พ.ศ. 2564 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิมหาวิทยาลัยนเรศวร[7]

ผลงานที่สำคัญในทางการเมือง

ในช่วงที่ ดร.พิจิตต เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และพลังงาน ได้ผลักดันในการจัดตั้ง ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (National Electronics and Computer Technology Center : NECTEC ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (National Metal and Materials Technology Center : MTEC) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency: NSTDA) ขึ้นในปี พ.ศ. 2529 ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์การ และรวมหน่วยงานต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พ.ศ. 2534 ขึ้นเป็นสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Science and Technology Development Agency: NSTDA หรือ สวทช.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (ในขณะนั้น) การผลักดันดังกล่าวมีคุณูปการที่สำคัญต่อการพัฒนาวงการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และยังพัฒนาต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ ดร.พิจิตต ดำรงตำแหน่งผู้ว่า กทม. ได้ผลักดันนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การปรับทัศนียภาพขนานใหญ่ในกรุงเทพฯ โครงการจับปรับ-ทิ้งขยะ โครงการลดมลพิษถนนตรวจจับควันดำ เป็นต้น รวมถึงโครงการด้านการอนุรักษ์วัฒนธรรมในบริเวณกรุงเทพฯ เช่น การฟื้นฟูป้อมพระสุเมรุ แพร่งนภา แพร่งภูธร (ชุมชนคูคลองเมืองเดิม) ถนนคนเดินเพื่อเผยแพร่กิจกรรมของแต่ละชุมชน โครงการเหล่านี้เป็นการเสริมสร้างจิตวิญญาณของผู้คนในชุมชนเดิมของกรุงเทพฯ ขึ้นมา โดยนโยบายต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการปรับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม และควันจากท่อไอเสียรถยนต์ที่อัดแน่นไปด้วยรถยนต์จำนวนมหาศาล และการจราจรที่ติดขัดมากที่สุดของไทย นโยบายของ ดร.พิจิตต ถือเป็นการปรับเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในเรื่องเมืองสีเขียวและสิ่งแวดล้อมในกรุงเทพฯ ให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในอนาคต

เกียรติประวัติ

  • พ.ศ. 2517 Member Sigma XI
  • พ.ศ. 2517 Member American Society for Microbiology (ASM)
  • พ.ศ. 2537 รางวัล "คนดีศรีสังคม" สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปภัมภ์
  • พ.ศ. 2539 ปริญญาวิทยาศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต(กิตติมศักดิ์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ      
  • พ.ศ. 2541 ปริญญาวิศวกรรมศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต (กิตติมศักดิ์) มหาวิทยาลัยนเรศวร
  • พ.ศ. 2535 รางวัล "ศิษย์เก่าดีเด่น" คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • พ.ศ. 2539 รางวัล "ศิษย์เก่าดีเด่น" โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
  • พ.ศ. 2541 รางวัล "ศิษย์เก่าดีเด่น" มหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง สหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ. 2543 รางวัล “ผู้มุ่งมั่นในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว เติมชีวิตให้เมือง” สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. คู่รัก พิจิตต รัตตกุล[ลิงก์เสีย]
  2. "ประวัติ พิจิตต รัตตกุล". web.archive.org. 2013-01-17. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-17. สืบค้นเมื่อ 2021-09-26.
  3. ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพมหานคร (นายพิจิตต รัตตกุล)
  4. ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
  5. "ดร.พิจิตต รัตตกุล | GRANDE ASSET HOTELS AND PROPERTY PUBLIC COMPANY LIMITED (GRAND)". www.grandeasset.com.
  6. isranews (2022-10-27). "โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายก-กก.สภา ม.นวมินทราธิราช รวม 10 ราย". สำนักข่าวอิศรา.
  7. "กรรมการสภามหาวิทยาลัยนเรศวร – สำนักงานสภามหาวิทยาลัย" (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2014-04-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๑๓ ตอนที่ ๒๒ ข หน้า ๑, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๙
  9. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๖ ตอนที่ ๒๑๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๕, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๒
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญลูกเสือสดุดี เก็บถาวร 2021-10-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๒๐ ตอนที่ ๒๓ ข หน้า ๖, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๖

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า พิจิตต รัตตกุล ถัดไป
รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย
อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
(22 มิถุนายน พ.ศ. 2555 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559)
รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์
ร้อยเอก กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
(3 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2543)
สมัคร สุนทรเวช

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!