พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ นามเดิม เตี้ยม บุนนาค (20 ธันวาคม พ.ศ. 2422 – 25 มิถุนายน พ.ศ. 2505) เป็นนายทหาร ขุนนางและข้าราชการชาวไทย เคยดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น สมุหพระราชมณเฑียร, ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก, ผู้ช่วยทูตทหารบกประจำประเทศเยอรมนี, ออสเตรีย, รัสเซีย, สวีเดน, นอร์เวย์, เดนมาร์ก, เนเธอร์แลนด์, เบลเยียม และอิตาลี เป็นบิดาของวรันดับ ฉัตรกุล ณ อยุธยา อดีตนางกำนัลในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค)[1] เกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2422 ที่บ้านตลาดแขก เมืองธนบุรี เป็นบุตรคนที่ 3 ของพลโท เจ้าพระยาสุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (โต บุนนาค) กับท่านผู้หญิงตลับ สุรวงศ์วัฒนศักดิ์ (สกุลเดิม โอสถานนท์) มีพี่น้องทั้งหมด 27 คน
เมื่ออายุได้ 3 ปี บิดาได้ถวายเป็นโอรสบุญธรรมในสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เนื่องด้วยในเวลานั้นพระองค์ยังไม่มีพระโอรสและพระธิดา จึงอยู่ที่วังบูรพาภิรมย์เรื่อยมาจนกระทั่งไปศึกษาวิชาการที่ต่างประเทศ เมื่ออายุได้ 13 ปี
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) สมรสกับหม่อมหลวงวงศ์ ฉัตรกุล ธิดาคนใหญ่ของจอมพล เจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์อรุณ ฉัตรกุล) กับท่านผู้หญิงวร บดินทรเดชานุชิต มีบุตรธิดารวม 5 คนคือ
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นปฐม พอสอบได้ประโยคหนึ่ง และเจริญวัยพอที่จะออกไปศึกษา ณ ต่างประเทศได้แล้ว สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช จึงโปรดส่งไปประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2435 เข้าเรีบนวิชาสามัญที่โรงเรียนมาลเวิร์น เมืองวุร์สเตอร์เชอร์ จนจบหลักสูตร แล้วเข้าศึกษาต่อ เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกที่ โรงเรียนนายร้อยทหารบกแซนด์เฮิสต์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2441 ถึงเดือนธันวาคม สอบไล่ได้ ได้รับยศเป็นนายร้อยตรี ประเภทนายทหารนอกกอง สังกัดกองร้อยที่ 2 แห่งกรมทหารแมนเชสเตอร์ที่อัลเดอร์ช็อต แต่ยังศึกษาต่อไปจนถึงปี พ.ศ. 2444 สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เมื่อทรงยังดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เสด็จออกไปทรงศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศเยอรมนี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้าฯ พระองค์นั้น[1]
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ เริ่มเข้ารับราชการในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2441 เป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกออกไปศึกษาวิชาการทหาร ณ ประเทศอังกฤษ เป็นนายทหารสัญญาบัตรครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2442 แต่ยังคงศึกษาอยู่ต่อไปจนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2444 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปเป็นราชองครักษ์ประจำพระองค์สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ประเทศเยอรมนี จนถึงปี พ.ศ. 2446 จึงเดินทางกลับประเทศไทย รับราชการเป็นหัวหน้าแผนก 2 กรมเสนาธิการทหารบก ดำรงตำแนห่งสำคัญ ๆ เช่น
และตำแหน่งสุดท้ายในราชการ คือ ปลัดกรมเสนาธิการทหารบก จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2470 จึงโอนมารับราชการในกระทรวงวัง[1]
ต่อมา พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ โอนมารับราชการที่กระทรวงวัง ในตำแหน่งเจ้ากรม กรมวัง ในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2471[4] แล้วทำการแทนสมุหพระราชมณเฑียรด้วยอีกตำแหน่งหนึ่งในปี พ.ศ. 2472[5]
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2473 ย้ายจากตำแหน่งเจ้ากรมวังของสมเด็จพระบรมราชินี มาเป็นสมุหพระราชมณเฑียร[6] และดำรงตำแหน่งนี้ต่อมาจนออกรับบำนาญเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2478 ในคราวการปรับปรุงกระทรวงวังเป็นสำนักพระราชวัง
ถึงปี พ.ศ. 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับมาดำรงตำแหน่งสมุหพระราชมณเฑียร ในคณะกรรมการพระราชสำนักอีกครั้งหนึ่ง[7] ต่อมาจึงกราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2499 แต่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อยู่ในตำแหน่งไปก่อน จึงอยู่ในตำแหน่งสมุหพระราชมณเฑียรจนตลอดชีวิต[1]
ระหว่างที่พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ เป็นเจ้ากรมวังนั้น ได้ตามเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลีคราวหนึ่ง ในเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2472 ต่อมาเสด็จพระราชดำเนินประพาสอินโดจีนก็ได้ตามเสด็จอีกครั้งหนึ่ง เมื่อต้นปี พ.ศ. 2473 คราวนี้ได้ประสพอุปัทวเหตุรถยนต์คว่ำที่เมืองกำปงธม ระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินจากไซ่ง่อนไปเสียมราฐ แต่ไม่เป็นอันตราย[1]
และระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมุหพระราชมณเฑียร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยายืนชิงช้าในการพระราชพิธีตรียัมปวายเมื่อปี พ.ศ. 2475 กับเป็นพระยาแรกนาในการพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีต่อมา นับเป็นการณ์พิเศษ เพราะน้อยคนนักที่จะได้เป็นทั้งพระยายืนชิงช้าและพระยาแรกนา[1]
พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งในราชการพิเศษ เช่น
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2505 เวลา 11.30 น. ด้วยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ สิริอายุ 82 ปี 187 วัน มีพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส[1]
พลตรี พระยาสุรวงศ์วิวัฒน์ (เตี้ยม บุนนาค) ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งไทยและต่างประเทศ ดังนี้[1]