พระพรหมสิทธิ[1] นามเดิม ธงชัย สุขโข ฉายา สุขญาโณ เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ[2] [3] เจ้าคณะภาค 11[4] เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร[5] กรรมการมหาเถรสมาคม[6]
พระพรหมสิทธิ นามเดิม ธงชัย สุขโข เกิดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2499 ที่บ้านเลขที่ 19 หมู่ 5 ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โยมบิดาชื่อ นายเสงี่ยม โยมมารดาชื่อ นางตัน สุขโข หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้เข้ารับการบรรพชา ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ จากนั้นสามเณรธงชัยได้คอยปรนนิบัติรับใช้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) จนได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2519 ณ พระอุโบสถ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า "สุขญาโณ"
หลังจากอุปสมบทก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ดูแลงานปกครอง ในขณะเดียวกันยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมสนามหลวง พระพรหมสิทธินั้นได้เป็นที่เคารพนับถือในหมู่กว้างและเป็นที่ไว้วางใจของพระมหาเถระหลายรูป เช่น สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) ทั้งนี้พระพรหมสิทธิได้รับความวางใจให้สนองงานของคณะสงฆ์ในหลาย ๆ โอกาส
10 กุมภาพันธ์ 2558 พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งดำรงตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม และเข้ารับพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช จากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ณ หอประชุมสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 14.00 น.
24 พฤษภาคม 2561 สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาปลดจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม
19 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางอ่านคำพิพากษาคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ถึง 4 กับอดีตพระพรหมสิทธิ จำเลยที่ 5 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่น โดยทุจริตหรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ซึ่งศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึง 5 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โดยในส่วนพระพรหมสิทธิ ให้จำคุก 36 เดือน และปรับ 27,000 บาท แต่ที่ผ่านมาได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ ไม่เคยกระทำผิดทางวินัย จึงเห็นควรให้รอการลงโทษไว้กำหนด 2 ปี[7] ปัจจุบันพำนักจำพรรษาปฏิบัติศาสนกิจ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร
ได้สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นเลขานุการประจำสำนักเรียน ทั้งแผนกธรรมและบาลี เป็นกรรมการตรวจประโยคนักธรรมสนามหลวง เพื่อให้พระภิกษุได้บรรยายและแสดงธรรมเป็นประจำ นอกจากนี้ ได้จัดให้พระภิกษุไปสอนศีลธรรมตามโรงเรียนและจัดพระภิกษุผู้ทรงคุณวุฒิไปแสดงปาฐกถาธรรม ให้การฝึกอบรมตามสถานศึกษาและองค์กรต่าง ๆ ด้านการศึกษาสงเคราะห์ ได้มอบทุนการศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรที่สอบนักธรรมและบาลีของสำนักเรียนวัดสระเกศ
ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร ให้ดำเนินการก่อสร้างศาลารับรองและกุฏิ รวมทั้งบูรณปฏิสังขรณ์โรงเรียนพระปริยัติธรรม ตึกสมเด็จญาโณทยมหาเถระ (พ.ศ. 2501) และเป็นประธานดำเนินการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถและหอไตรวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติตามโอกาสอันควรตลอดมา เช่น ได้มอบเครื่องนุ่งห่ม ให้แก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดารในเขตปกครองหนตะวันออก และมอบปัจจัย อัฐบริขารที่จำเป็นให้แก่พระภิกษุสามเณรที่ประสบอุทกภัยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งได้มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบธรณีพิบัติภัย (สึนามิ) ผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในนามวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
เป็นพระสงฆ์ที่สนองงานสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ในด้านการต่างประเทศได้ไปเยี่ยมพระธรรมทูตไทยที่ปฏิบัติศาสนกิจในต่างประเทศจำนวนหลายครั้ง เช่น สหราชอาณาจักร สหรัฐ ประเทศสวีเดน เป็นต้น และยังเป็นหัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ 6 ควบคุมพระธรรมทูตแถบสแกนดิเนเวียและสหรัฐอเมริกา และในคราวที่พระธรรมทูตได้ประสบอุบัติเหตุก็ได้ช่วยเหลือแบบเป็นกันเอง จึงเป็นที่เคารพศรัทธาในวงกว้าง
พระพรหมสิทธิ และคณะ เช่น พระเทพโพธิวิเทศ พระราชธีราจารย์ พระวิจิตรธรรมมาภรณ์ พระศรีคุณาภรณ์ และคณะสงฆ์จำนวนมากได้เดินทางไปยังสำนักวาติกัน เพื่อเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขคริสตจักรโรมันคาทอลิก ได้หารือเกี่ยวกับด้ารการศึกษาของพระสงฆ์ไทยที่ไปต่างประเทศ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่คณะสงฆ์ไทยเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตปาปาถือเป็นความร่วมมือที่สำคัญระหว่างศาสนา[18]
{{cite web}}
|title=