ชาวแมนจู

แมนจู

滿族/满族
ประชากรทั้งหมด
ประมาณ 10.68 ล้านคน (2000)[1]
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศจีน ประเทศจีน (เฮย์หลงเจียง · จี๋หลิน · เหลียวหนิง)10,410,585[2]
 ไต้หวัน12,000[3]
 ฮ่องกง1,000[4]
ภาษา
ภาษาแมนจู (มีจำนวนน้อยมากใกล้สูญหาย),
ภาษาจีนกลาง
ศาสนา
พระพุทธศาสนา และบูชาบรรพบุรุษ[5][6]
ปัจจุบัน ไม่นับถือศาสนา และไม่เชื่อในพระเจ้า[7]
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง
ซีเปอ, อีเวนค์, นาไน, โอโรเชน และกลุ่มตุงกูซิกอื่น ๆ

แมนจู (แมนจู:ᠮᠠᠨᠵᡠ; จีนตัวย่อ: 满族; จีนตัวเต็ม: 滿族; พินอิน: Mǎnzú; เวด-ไจลส์: Man3-tsu2 หม่านจู๋) เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าหนึ่งในประเทศจีนและผู้คนจากดินแดนแมนจูเรียได้ใช้ชื่อดินแดนเป็นชื่อเรียกชนเผ่าของตนเอง[8]

ชาวแมนจูเป็นกลุ่มสาขาที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่มชาวตุงกูซที่ใช้ภาษากลุ่มตุงกูซิกและได้อาศัยกระจัดกระจายทั่วประเทศจีน ถือเป็นชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศจีน[2] ชาวแมนจูได้อาศัยและพบได้ใน 31 จังหวัดของจีน โดยเฉพาะในดินแดนแมนจูเรีย

เหลียวหนิงถือได้ว่าเป็นดินแดนที่มีประชากรแมนจูมากที่สุด ส่วนเหอเป่ย์, เฮย์หลงเจียง, จี๋หลิน, มองโกเลียในและปักกิ่ง มีประชากรแมนจูประมาณ 100,000 คนอาศัยอยู่ โดยครึ่งของประชากรอาศัยอยู่ในเหลียวหนิงและ 1 ใน 5 อยู่ที่เหอเป่ย์ นอกจากนี้ยังมีชาวแมนจูอาศัยอยู่ในประเทศรัสเซียอันได้แก่ ดินแดนปรีมอร์สกี บางส่วนของดินแดนฮาบารอฟสค์และแคว้นอามูร์

ประวัติโดยสังเขปของชาวแมนจูนั้น ในทัศนคติของชาวฮั่นถือได้ว่าเป็นชนกลุ่มน้อยเร่ร่อนหรือคนป่าเถื่อน ชาวแมนจูได้สืบเชื้อสายมาจากชาวหนวี่เจิน (Jurchen; 女真) ที่ซึ่งได้สถาปนาราชวงศ์จินตอนแรกขึ้นทางตอนเหนือของจีน ในช่วง ค.ศ. 1115–1234 ชาวแมนจูนั้นต่อมาได้ตั้งอาณาจักรของตนขึ้นทางตอนเหนือของจีนอีกครั้ง คือ ราชวงศ์จินตอนหลัง เป็นราชวงศ์แรกของชาวแมนจูที่อาศัยอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีผู้นำคือจักรพรรดินู่เอ๋อร์ฮาชื่อเป็นจักรพรรดิองค์แรก และจักรพรรดิหฺวัง ไถจี๋จักรพรรดิองค์ที่สอง ได้ทรงเปลี่ยนชื่อชาวแมนจูจาก "หนวี่เจิน" (女真) เป็น "หม่านจู๋" หรือ แมนจู (滿族)[9]

และในสมัยจักรพรรดิซุ่นจื้อได้นำกองทัพแมนจูยึดกรุงปักกิ่งซึ่งเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์หมิงได้สำเร็จในปีค.ศ. 1644 และได้เปลี่ยนชื่อจากแมนจูเป็นชิงและสถาปนาราชวงศ์ชิงขึ้นในปีเดียวกันนั่นเอง ราชวงศ์นี้ปกครองจีนเป็นระยะเวลานาน 268 ปี มีจักรพรรดิปกครองทั้งสิ้น 12 พระองค์ ราชวงศ์ชิงถือได้ว่าเป็นราชวงศ์ที่ปกครองประเทศจีนเป็นราชวงศ์สุดท้ายจนถึงปี ค.ศ. 1912 ก่อนจะถูกล้มล้างโดยการปฏิวัติซินไฮ่

นิรุกติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์

จิ่ว หมั่นโจว ดาง เป็นเอกสารบันทึกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้คำว่า "แมนจู" เป็นครั้งแรก[10] อย่างไรก็ตาม ความหมายของชื่อแมนจูยังเป็นที่ถกเถียงกัน[11] ตามบันทึกประวัติศาสตร์โดยราชสำนักสมัยราชวงศ์ชิง มีการอ้างไว้ว่าชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์มาจาก มัญชุศรี[12] หรือพระโพธิสัตว์ ในความเชื่อของทิเบต มีนัยทางการเมืองแอบแฝงว่าชาวแมนจูเป็นชนชาติศักดิ์สิทธิ์ ในขณะนั้นทิเบตอยู่ภายใต้อาณัติของราชวงศ์ชิง โดยจักรพรรดิเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงได้ทรงสนับสนุนความเชื่อดังกล่าวและได้เขียนบทกลอนกวีโดยมีเนื่อหาเช่นเดียวกันเป็นจำนวนมาก[13]

เม็ง เซน บัณฑิตโด่งดังสมัยราชวงศ์ชิงตอนปลายก็มีความเห็นโดยเขาเชื่อว่า คำว่า "แมนจู" ยังเกี่ยวข้องกับ "หลี่ หมั่นโจว" (李滿住) หัวหน้าเผ่าของหนวี่เจินในเจี้ยนโจว[14][15]

ส่วนบัณฑิตอีกคน จาง ซาน คิดว่า แมนจู เป็นคำประสมมาจากคำว่า "แมน" (หมัน) มาจากคำว่า "มางกา" (ᠮᠠᠩᡤᠠ) ในภาษาแมนจูแปลว่า แข็งแรง, เข้มแข็ง และ "จู" (ᠵᡠ) มาจาก ธนู ดังนั้น แมนจู จึงแปลว่า ธนูอันแกร่ง[16]

ถิ่นฐาน

ดินแดนแมนจูเรีย
ดินแดนแมนจูเรียเทียบกับแผนที่ประเทศจีนปัจจุบัน ประกอบด้วย แมนจูเรียใน: ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน = สีแดง, ส่วนตะวันออก มองโกเลียใน = สีชมพู

ชาวแมนจูหรือชื่อเดิมว่า หนวี่เจินนั้นมีอารยธรรมเกิดขึ้นมาควบคู่กับอารยธรรมฮั่น โดยมีมาตุภูมิ (Homeland) อยู่แถบบริเวณลุ่มแม่น้ำแม่น้ำอามูร์หรือ "แม่น้ำมังกรดำ" ของมณฑลเฮย์หลงเจียง ถือเป็นต้นกำเนิดชาวแมนจู แม่น้ำมังกรดำ เป็นแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปเอเชีย แม่น้ำมีความยาว 2,824 กม.เป็นเส้นเขตแดนระหว่างมณฑลเฮย์หลงเจียงของประเทศจีนกับประเทศรัสเซีย

ชาวหนวี่เจินเป็นชนชาติที่มีประวัติอันยาวนานชนชาติหนึ่ง สืบย้อนหลังไปได้ถึง 2,000 กว่าปีก่อน บรรพบุรุษของชนชาติแมนจูดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่กว้างใหญ่ บริเวณที่ลุ่มตอนกลางและตอนต้นของแม่น้ำอามูร์และลุ่มแม่น้ำอูซูหลี่เจียงซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของภูเขาฉางไป๋ซานในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนมาโดยตลอด

วัฒนธรรม

ทรงผม

ทรงผมตามประเพณีของชาวแมนจู คือ โกนครึ่งหัวด้านหน้าและไว้ผมแบบหางเปียข้างหลังรวบเป็นเส้นเดียวและยาว เรียกว่า "เปี้ยนจึ" (辮子; biànzi) หรือ "ซอนโกโฮ" ในภาษาแมนจู ต้นกำเนิดของทรงผมนี้คาดว่าน่าจะมาจากข้อสันนิษฐานว่าชาวแมนจูนิยมใช้ม้า ทรงผมนี้ช่วยในการเคลื่อนไหวบนหลังม้าและเวลายิงธนู เส้นผมจะไม่ปกหน้า การถักเปียเมื่อนำมาพันลำคอสามารถให้ความอบอุ่นกับคอ ส่วนการโกนด้านหน้ามีสองทฤษฎี คือไม่ให้ปลิวมาปิดตา หรือทำให้ใส่หมวกเหล็กสะดวก (แบบทรงผมซามูไร)

องค์ชายไจ้เต้าแห่งราชวงศ์ชิงไว้ผมเปียตามแบบชาวแมนจู
การไว้ผมเปียรูปแบบต่าง ๆ ของชาวแมนจู
หางเปียของชาวแมนจู (สังเกตจากด้านหลัง)
การโกนครึ่งหัวด้านหน้า

ส่วนสตรีชาวแมนจูจะไว้ทรงผมที่แตกต่างออกไปที่เรียกว่า "เหลียง ปาโตว" สตรีชาวแมนจูนิยมผมทรงสูง ๆ ใหญ่ ๆ ใส่ดอกไม้ดอกโต ทรงผมของหญิงชาวแมนจูแบ่งเป็น 2 แบบ คือ 1.ทรงสองแกละ 2.ทรงหมวกปีกกว้าง ทรงสองแกละนั้นเริ่มจากการหวีผมไปไว้ด้านหลัง จากนั้นแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนล่างถึงลำคอ แล้วแบ่งผมออกเป็นสองช่อยกสูง ตอนที่พับนั้นชโลมน้ำยาจัดทรงผมพร้อมกับจัดให้เรียบ ยกสูงขึ้นเล็กน้อย แล้วพับ จากนั้นรวมกันเป็นช่อเดียว แล้วย้อนกลับไปด้านหน้า ใช้เชือกมัดให้แน่นจากโคนผมจากนั้นสอดแถบเหล็กสำหรับจัดทรง แล้วนำเส้นผมพันรอบแถบเหล็กนั้นไว้ ให้เป็นรูปตัว T แล้วค่อยประดับด้วยดอกไม้ ลูกปัด และพู่ห้อยหรือตุ้งติ้ง ภายหลังในสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (ก่อนสมัยซูสีไทเฮา) ผมทรงนี้ก็ค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้น แกละทั้งสองข้างก็มีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำแถบรูปพัดสีดำมาประดับให้ปีกผมทั้งสองข้างกว้างขึ้น แล้วเรียกว่า ฉีโถว หรือ กวนจวง ซึ่งเรารู้จักกันในนาม ต้าลาเช่อ

วันหยุดทางประเพณี

ชาวแมนจูมีวันหยุดทางประเพณีหลายวัน บ้างได้รับอิทธิพลจากชาวฮั่น เช่น ตรุษจีน[17] และ เทศกาลไหว้บ๊ะจ่าง[18] บ้างก็เป็นวันหยุดของแมนจูแท้ ๆ เช่น เทศกาลปานจิน (ᠪᠠᠨᠵᡳᠨ ᡳᠨᡝᠩᡤᡳ, Banjin Inenggi, 頒金節) ซึ่งจัดทุกวันที่ 13 ของเดือนสิบในปฏิทินจันทรคติ เป็นวันฉลองครบรอบการตั้งชื่อคำว่า "หม่านจู๋" (แมนจู)[11] โดยในปี ค.ศ. 1635 จักรพรรดิหฺวัง ไถจี๋ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อชาวแมนจูจาก "หนวี่เจิน" (女真) เป็น "หม่านจู๋" (滿族)[19] วันเจว๋เหลียง (絕糧日) หรือ วันกำจัดอาหาร ซึ่งจัดทุกวันที่ 26 ของเดือนแปดของในปฏิทินจันทรคติ เป็นวันหยุดอีกวันหนึ่ง ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าของจักรพรรดินู่เอ๋อร์ฮาชื่อและกองทัพของพระองค์ ซึ่งกำลังทำศึกกับศัตรูกระทั่งเกือบไม่มีอาหารเหลือ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้สนามรบ ได้ยินว่าเสบียงอาหารใกล้หมด จึงมาช่วยจักรพรรดิและกองทัพ ขณะนั้นสนามรบไม่มีภาชนะที่ใช้ในการรับประทานอาหาร จึงต้องใช้ใบจี่ซู (紫蘇) ห่อข้าว จากนั้นกองทัพก็ได้ชัยชนะ คนรุ่นหลังจึงระลึกถึงความลำบากนี้ โดยจักรพรรดินู่เอ๋อร์ฮาชื่อทรงสถาปนาวันนี้ให้เป็นวันเจว๋เหลียง ตามประเพณีแล้ว ชาวแมนจูมักกินใบจี่ซูหรือใบผักกาดห่อด้วยข้าวสวย ไข่คน เนื้อวัว หรือเนื้อหมู[20]

อ้างอิง

  1. "Ethnic Groups - china.org.cn - The Manchu ethnic minority" (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
  2. 2.0 2.1 《中国2010年人口普查资料(上中下)》(the Data of 2010 China Population Census). China Statistics Press. 2012. ISBN 9787503765070.
  3. 中華民國滿族協會. www.manchusoc.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-27. สืบค้นเมื่อ 2018-12-12.
  4. "Research". Ethnicity Research (《民族研究》) (ภาษาจีนตัวย่อ) (1–12): 21. 1997.
  5. Sate Nationalities Affairs Commission (2005). Zhang Yongfa and Fang Yongming (บ.ก.). Selected pictures of Chinese ethnic groups (ภาษาอังกฤษ) (First ed.). China Pictorial Publishing House. p. 48. ISBN 7-80024-956-5.
  6. Wang Can; Wang Pingxing (2004). Ethnic groups in China (ภาษาอังกฤษ). China Intercontinental Press. ISBN 7-5085-0490-9.
  7. the gospel need of Manchu people(Chinese traditional)[ลิงก์เสีย]
  8. Merriam-Webster, Inc 2003, p. 754
  9. "the Origin of Banjin Inenggi (simplified Chinese)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-26. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  10. Endymion Porter Wilkinson (2000). Chinese History: A Manual. Harvard Univ Asia Center. pp. 728–. ISBN 978-0-674-00249-4.
  11. 11.0 11.1 Yan 2008, p. 49
  12. Agui 1988, p. 2
  13. Meng 2006, p. 6
  14. Meng 2006, pp. 4–5
  15. Meng 2006, p. 5
  16. 《族称Manju词源探析》,长山,刊载于《满语研究》2009年第01期 (Changshan (2009), The Research of Ethnic Name "Manju"'s Origin, Manchu Language Research, the 1st edition)
  17. "Manchu Spring Festival". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2017-09-17. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  18. "Manchu Duanwu Festival". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-03-29. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  19. "the Origin of Banjin Inenggi (simplified Chinese)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-02-26. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.
  20. "The Day of Running Out of Food (simplified Chinese)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-06. สืบค้นเมื่อ 2017-03-13.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!