คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ (มหาอินทร์ ณ เชียงใหม่) ถือเป็นคุ้มเจ้านายฝ่ายเหนือเพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในเมืองเชียงใหม่ ตั้งอยู่ที่ถนนพระปกเกล้าด้านที่ตัดกับถนนราชดำเนิน ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่
ประวัติ
สร้างขึ้นระหว่าง ระหว่างปี พ.ศ. 2432 - 2436 ในรัชสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้านครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ที่มี เจ้าบุรีรัตน์ น้อยมหาอินทร์ เป็นพระอุปราช
ภายหลังเจ้าน้อยมหาอินทร์ถึงแก่กรรม เจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าน้อยมหาอินทร์ ได้เป็นผู้ครอบครองอาคาร ต่อมานางบัวผัน นิกรพันธ์ ได้ขอซื้อจากเจ้าบุษบา ณ เชียงใหม่ (ชายาเจ้าน้อยชมชื่น) ในราคา 5,000 บาทและได้เชิญพระนายกคณานุการ (เมือง ทิพยมณฑล) บิดามาพำนักอยู่ที่คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ที่เรียกว่า "บ้านกลางเวียง" ดังนั้นในระยะหลังบ้านกลางเวียงจึงเป็นที่พักอาศัยของบุตรและญาติของพระนายกคุณานุการ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2470 เป็นต้นมา
ปี พ.ศ. 2529 เมื่อนางบัวผัน ทิพยมณฑล ถึงแก่กรรม นางพรรณจิตร เจริญกุศล บุตรีของนายจรัลและนางบู่ทอง ทิพยมณฑลได้อาศัยอยู่จนถึงปี พ.ศ. 2544 นางสาวเรียงพันธุ์ ทิพยมณฑล จึงได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เจ้าน้อยมหาอินทร์ ให้กับทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่บรรพบุรุษตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร[1] ซึ่งในปัจจุบัน คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ มหาอินทร์ ได้เป็นศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา ในความดูแลของ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถาปัตยกรรม
คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ เป็นอาคารครึ่งปูนเครื่องไม้บนแบบผสม[2] สูงสองชั้นมีบันไดอยู่นอกบ้าน ชั้นล่างเสาก่ออิฐหนาก่อเป็นรูปโค้งฉาบปูนเรียบมีระเบียงโดยรอบ เป็นรูปแบบผสมระหว่างเรือนมนิลากับสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล ซึ่งเป็นรูปแบบที่แพร่หลายในประเทศอาณานิคม ส่วนชั้นบนเป็นไม้มีระเบียงโดยรอบเช่นกัน หลังคาจั่งและหลังคาปั้นหยาคลุมระเบียงโดยรอบ เป็นแบบอย่างของสถาปัตยกรรมบริติชในเชียงใหม่ยุคแรก สันนิษฐานว่าบริษัทป่าไม้ของชาวอังกฤษเป็นผู้เข้ามาก่อสร้างให้เจ้าบุรีรัตน์ น้อยมหาอินทร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2432 - 2436[3]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
18°47′16″N 98°59′17″E / 18.78778°N 98.98806°E / 18.78778; 98.98806