โรคเมนิแยร์ (อังกฤษ : Ménière's disease ) เป็นโรคอย่างหนึ่งของหูชั้นใน ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะหมุน เป็นระยะๆ ได้ยินเสียงผิดปกติในหู สูญเสียการได้ยิน และหูอื้อได้[ 1] [ 2] ส่วนใหญ่จะเป็นเพียงข้างเดียวในระยะแรก[ 1] อาการครั้งหนึ่งมักคงอยู่ประมาณ 20 นาที ไปจนถึง 2-3 ชั่วโมง[ 3] โดยแต่ละครั้งอาจเป็นนานไม่เท่ากันได้[ 1] อาการสูญเสียการได้ยินและอาการได้ยินเสียงผิดปกติในหูอาจเป็นมากขึ้น จนเป็นถาวรได้[ 2]
สาเหตุของโรคเมนิแยร์ยังไม่ชัดเจน แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับสาเหตุทางพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมประกอบกัน[ 1] [ 4] บางทฤษฎีเชื่อว่าสาเหตุของโรคสัมพันธ์กับการเกิดหลอดเลือดตีบ การติดเชื้อไวรัส และปฏิกิริยาแพ้ภูมิตนเอง[ 1] ผู้ป่วย 10% มีคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย[ 2] อาการของโรคเชื่อว่าเกิดจากการที่มีสารน้ำคั่งกว่าปกติในโพรงเลบิรินท์ของหูชั้นใน การวินิจฉัยทำได้โดยการสัมภาษณ์อาการ การตรวจร่างกาย และการตรวจการได้ยิน [ 1] โรคอื่นที่อาจทำให้มีอาการคล้ายกันได้แก่อาการเวียนศีรษะจากไมเกรน และภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว [ 4]
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาใดที่สามารถรักษาโรคเมนิแยร์ให้หายขาดได้[ 1] การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การบรรเทาอาการในแต่ละครั้งที่มีอาการกำเริบ ซึ่งทำได้ด้วยการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการเวียนศีรษะ อาการคลื่นไส้ และความกังวล วิธีที่แนะนำไว้ในการป้องกันการเกิดอาการกำเริบมีหลายวิธี แต่ละวิธียังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าได้ผล ผู้ป่วยอาจใช้การลดปริมาณเกลือในอาการ การใช้ยาขับปัสสาวะ หรือยาสเตียรอยด์ ได้ภายใต้การแนะนำของแพทย์[ 2] การทำกายภาพบำบัด อาจช่วยบรรเทาปัญหาการทรงตัวได้ และการรับคำปรึกษา อาจช่วยลดความกังวลได้[ 2] [ 1] บางครั้งแพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการฉีดยาเข้าหูชั้นใน หรือการผ่าตัด หากรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วยังไม่ได้ผล แต่วิธีการรักษาเช่นนี้ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้[ 3] [ 1] การวางท่อที่แก้วหู เป็นวิธีรักษาหนึ่งที่ทำกันมาก แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนว่าได้ผล[ 3]
โรคเมนิแยร์ค้นพบครั้งแรกเมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 1800 โดย Prosper Ménière [ 3] มีความชุก 0.3-1.9 ต่อ 1000 ประชากร[ 4] ผู้ป่วยส่วนใหญ่เริ่มมีอาการในช่วงอายุ 40-60[ 1] เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย[ 4] หลังเริ่มมีอาการไปประมาณ 5-15 ปี อาการเวียนศีรษะหมุนมักลดลงจนไม่เป็นอีก คงเหลือเฉพาะอาการทรงตัวลำบากเล็กน้อย สูญเสียการได้ยินปานกลาง และมีเสียงผิดปกติในหู[ 3]
อ้างอิง
↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 "Ménière's Disease" . NIDCD . June 1, 2016. สืบค้นเมื่อ 18 July 2016 .
↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 Seemungal, Barry; Kaski, Diego; Lopez-Escamez, Jose Antonio (August 2015). "Early Diagnosis and Management of Acute Vertigo from Vestibular Migraine and Ménière's Disease". Neurologic Clinics . 33 (3): 619–628, ix. doi :10.1016/j.ncl.2015.04.008 . ISSN 1557-9875 . PMID 26231275 .
↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 Harcourt J, Barraclough K, Bronstein AM (2014). "Meniere's disease". BMJ (Clinical Research Ed.) . 349 : g6544. doi :10.1136/bmj.g6544 . PMID 25391837 .
↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Lopez-Escamez, Jose A.; Carey, John; Chung, Won-Ho; Goebel, Joel A.; Magnusson, Måns; Mandalà, Marco; Newman-Toker, David E.; Strupp, Michael; Suzuki, Mamoru (2015). "Diagnostic criteria for Menière's disease". Journal of Vestibular Research: Equilibrium & Orientation . 25 (1): 1–7. doi :10.3233/VES-150549 . ISSN 1878-6464 . PMID 25882471 .