แม่น้ำยาลฺวี่ (จีนตัวย่อ : 鸭绿江 ; จีนตัวเต็ม : 鴨綠江 ; พินอิน : Yālǜ Jiāng ; อังกฤษ : Yalu River ) หรือ แม่น้ำอัมนก (เกาหลี : 압록강 ; ฮันจา : 鴨綠江 ; อาร์อาร์ : Amnokkang ; เอ็มอาร์ : Amnokgang ; อังกฤษ : Amnok River ) เป็นแม่น้ำที่เป็นพรมแดนธรรมชาติกั้นระหว่างจีน และเกาหลีเหนือ และมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์เกาหลี อย่างมาก
ภูมิศาสตร์
จุดเริ่มต้นของแม่น้ำที่ความสูง 2,500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลบนภูเขาแพ็กดู บนพรมแดนระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือ แม่น้ำไหลลงใต้สู่เขตเมืองฮเยซาน (혜산시 ) ก่อนจะเลี้ยวไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเป็นระยะทาง 130 กิโลเมตร ถึงเขตเมืองหลินเจียง (临江市 ) จากนั้นวกกลับลงทางใต้เป็นระยะอีก 300 กิโลเมตร เพื่อไหลลงสู่อ่าวเกาหลี ระหว่างเมืองตานตง (丹东市 ) และเมืองชินอึยจู (신의주시 ) โดยเป็นเส้นกั้นพรมแดนของมณฑลจี๋หลิน และมณฑลเหลียวหนิง ของประเทศจีน กับจังหวัดรยังกัง จังหวัดชากัง จังหวัดพย็องอันเหนือ และเขตบริหารพิเศษชินอึยจู ของประเทศเกาหลีเหนือ
แม่น้ำมีความยาว 795 กิโลเมตร (494 ไมล์) โดยลุ่มแม่น้ำมีขนาดกว่า 30,000 ตารางกิโลเมตร แควที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำยาลฺวี่ได้แก่แม่น้ำในประเทศเกาหลีเหนือคือ แม่น้ำชางจิน (장진강 ; 長津江 ), แม่น้ำฮอชอน (허천강 ; 虛川江 ), แม่น้ำทกโร (독로강 ; 禿魯江 ) และแม่น้ำในประเทศจีนคือ แม่น้ำอ้าย (璦河 ) และแม่น้ำหุน (浑江 ) ตลอดความยาวส่วนใหญ่ของแม่น้ำไม่สามารถเดินเรือได้สะดวก[ 1] โดยแม่น้ำส่วนใหญ่จะกลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาวและสามารถเดินเท้าข้ามฝั่งได้[ 2]
ความลึกของแม่น้ำยาลฺวี่อยู่ระหว่างส่วนที่ตื้นบางพื้นที่ทางด้านตะวันออกของเมืองฮเยซานมีความลึก 1 เมตร (3 ฟุต 3 นิ้ว) ไปจนถึงส่วนที่ลึกของแม่น้ำใกล้ทะเลเหลืองมีความลึก 2.5 เมตร (8 ฟุต 2 นิ้ว)[ 3] ปากแม่น้ำ เป็นที่ตั้งของพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นกแม่น้ำอัมนก ซึ่งประกาศโดยองค์กรอนุรักษ์นกสากล (Birdlife International )[ 4]
เกาะในแม่น้ำยาลฺวี่มีประมาณ 205 เกาะ ตามสนธิสัญญาพรมแดนจีน–เกาหลีเหนือ ค.ศ. 1962 แบ่งอาณาเขตของเกาะตามกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในแต่ละเกาะ เกาหลีเหนือครอบครอง 127 เกาะและจีน 78 เกาะ เนื่องจากเกณฑ์การแบ่งทำให้เกาะบางเกาะเช่นเกาะฮวางกึมพยอง (황금평도 ) เป็นของเกาหลีเหนือแม้ที่ตั้งจะอยู่ติดกับฝั่งประเทศจีน
ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง
ในอดีตแม่น้ำแห่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของอาณาจักรโครยอ ได้ก่อตั้งราชธานีแคซ็อง (ปัจจุบันตั้งอยู่ในเขตชีอัน) และสร้างป้อมปราการตลอดแนวแม่น้ำ[ 5]
ก่อนจะถูกรัฐประหารในเวลาต่อมาโดยขุนศึกคนสำคัญของอาณาจักรคือ อี ซ็องกเย (ภายหลังมีชื่อว่า พระเจ้าแทโจ แห่งโชชอน) และสถาปนาราชวงศ์โชซ็อน ในเวลาต่อมา โดยจุดที่ อี ซ็องกเย ได้หันทัพกลับแคซ็องก่อนจะกลับไปรัฐประหารคือเกาะวีฮวากลางแม่น้ำ[ 6]
แม่น้ำสายนี้เป็นยังเป็นจุดทางยุทธศาสตร์ระหว่างจีนและเกาหลี ในสงครามหลายครั้งได้แก่
ยุทธการที่แม่น้ำยาลวี่ ค.ศ. 1894 ในสงครามจีน-ญี่ปุ่นครั้งที่หนึ่ง
ยุทธการที่แม่น้ำยาลวี่ ค.ศ. 1904 ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
ยุทธการใกล้แม่น้ำยาลวี่ ค.ศ. 1950 สงครามเกาหลี
ยุคที่ถูกปกครองโดยญี่ปุ่น (ค.ศ. 1910–1945) ทางตอนไต้ของแม่น้ำได้ถูกเปลี่ยนเป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเกือบ 20% ของผลผลิตทางอุตสาหกรรมทั้งหมดของญี่ปุ่นขณะนั้น มาจากนิคมอุตสาหกรรมในเกาหลี
ในสงครามเกาหลี แม่น้ำสายนี้ยังเป็นชนวนที่จีนได้เข้าร่วมสงครามยกกองทัพขนาดใหญ่ข้ามแม่น้ำเข้ามาในสมรภูมิ หลังจากกองกำลังรักษาสันติภาพแห่งสหประชาชาติละเลยคำเตือนของจีนได้เคลื่อนพลเข้าใกล้แม่น้ำ ณ ตอนนั้นการสู้รบทำให้สะพานถูกทำลายเหลือเพียงสะพานเดียวซึ่งในปัจจุบันเป็นสะพานมิตรภาพเชื่อมระหว่างซึนอึยจู ประเทศเกาหลีเหนือ และ ตานตง ประเทศจีน
หุบเขาทางตะวันตกของแม่น้ำเป็นจุดที่มีการต่อสู้ทางอากาศระยะประชิด (dogfight) เพื่อครองน่านฟ้าอันโด่งดังซึ่งถูกขนานนามว่า “ตรอกซอยแห่งมิก ” เพราะปรากฎเครื่องบินรบ MiG-15 ของฝ่ายจีน รัสเซีย และ เกาหลีเหนือ ในบริเวณดังกล่าวจำนวนมาก[ 7]
แม่น้ำแห่งนี้ยังเป็นจุดที่ผู้ลี้ภัย ชาวเกาหลีเหนือใช้ข้ามฝั่งไปยังจีน แต่ก็ไม่มากเท่าแม่น้ำตูเมน ที่เป็นจุดที่ใช้ในการอพยพข้ามฝั่งมากที่สุด[ 8]
ตามความเห็นของนักวิชาการ แม่น้ำยาลวี่ถือเป็นพรมแดนธรรมชาติ ระหว่างจีน-เกาหลีเหนือที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1000 ปี[ 9]
เศรษฐกิจ
แม่น้ำสายนี้เป็นที่ตั้งของเขื่อนซุปพุง เขื่อนสำคัญในการสร้างพลังงานไฟฟ้าจากน้ำและเป็นหนึ่งในเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียมีขนาดสูง 106 เมตร ยาว 460 เมตร โดยสร้างไว้ต้นน้ำก่อนจะถึงเมืองซึนอึยจู ประเทศเกาหลีเหนือ นอกจากนี้แม่น้ำยังเป็นเส้นทางหลักในการเดินทางโดยเฉพาะสำหรับขนส่งลำเลียงไม้ที่ตัดบริเวณป่าริมแม่น้ำ เป็นแหล่งประมงสำหรับคนท้องถิ่น ปลายน้ำต่อเขื่อนซุปพุงคือเขื่อนไตพิงวัน ส่วนเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำต่อเขื่อนซุปพุงคือเขื่อนอันบอง โดยทั้งหมดเป็นเขื่อนที่ผลิตไฟฟ้าได้
บริเวณปากแม่น้ำเหนือตานตงใกล้กับเมืองฮูชานเป็นชุมชนเกาหลีเหนือซึ่งมีสภาพยากจนและไม่มีไฟฟ้าใช้[ 10]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น