สมัยจตุมุข เป็นประเทศกัมพูชาหลังสมัยอาณาจักรพระนคร มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองจตุมุข ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของกรุงพนมเปญ ตั้งแต่ พ.ศ. 1974 – พ.ศ. 2069 ซึ่งตรงกับช่วงประมาณสมัยอยุธยาตอนกลาง เป็นช่วงเวลาที่เขมรฟื้นฟูจากความเสื่อมโทรมในปลายยุคสมัยพระนครและพร้อมที่จะก้าวไปสู่ความรุ่งเรืองชั่วครู่ในสมัยอาณาจักรเขมรละแวก
สาเหตุการย้ายราชธานีขอม
อาณาจักรพระนครหลังรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้เสื่อมถอยลงตามลำดับ ประเทศราชต่างที่เคยตีได้พากันแยกตัวเป็นอิสระ เช่น อาณาจักรจามปา อาณาจักรละโว้ ฯลฯ จนนำไปสู่การตั้งตนเป็นอิสระของชาวไท คือ อาณาจักรสุโขทัยบนที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน อีกทั้งยังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม คือ ประชาชนรวมทั้งรัถฐาธิปัตย์เปลี่ยนไปนับถือพระพุทธศาสนานิกายเถรวาท จากเดิมที่เป็นศาสนาฮินดู ทำให้การสร้างศาสนาสถานอันอลังการสิ้นสุดลง เปลี่ยนมาเป็นการหล่อพระพุทธรูปและสร้างวัดวาอารามแทน ถึงกระนั้นพระนครก็ยังทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ด้วยอำนาจเทวราชาของกษัตริย์ลดน้อยถอยลงและปัญหาทางเศรษฐกิจ
แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่ทำให้อาณาจักรขอมพระนครถึงจุดจบนั้นคือ การรุกรานของอาณาจักรอยุธยา (ซึ่งเป็นการสืบต่อจากอาณาจักรละโว้) ถึงสามครั้ง ทำให้เมืองพระนครซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรขอมมาหลายร้อยปีต้องพังพินาศประชาชนถูกกวาดต้อน ไม่อยู่ในสภาพที่จะสามารถเป็นศูนย์กลางการปกครองได้อีกต่อไป ในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 ได้ส่งทัพบุกมาตีเมืองพระนครอีกครั้งในพ.ศ. 1974 ทำให้พระบรมราชาที่ 2 (เจ้าพระยาญาติ - Chao Ponhea Yat) กษัตริย์เขมรทรงเลือกที่จะหลบหนีย้ายราชธานีไปที่ใหม่ ปล่อยให้ทัพกรุงศรีอยุธยาเข้าย่ำยีเมืองเก่าเมืองแก่ ราชธานีใหม่นั้นมีชื่อว่า พนมเพ็ญจัตุรมุขจะรามเชียม หรือมีชื่อเต็มว่า จตุรมุข มงคลสกลกัมพูชาธิบดี ศรีโสธรบวรอินทปัตถ์ บุรีรัฏฐราชสีมามหานคร
ช่วงเวลาแห่งการแก่งแย่งราชสมบัติ
ในพ.ศ. 2006 พระบรมราชา (เจ้าพระยาญาติ) ได้ทรงเวนคืนราชสมบัติแก่พระโอรสเจ้าพระยากามะโคตร ขึ้นครองราชย์เป็นพระนารายณ์ราชา ส่วนองค์พระบรมราชาเองทรงดำรงพระยศเป็นพระมหาอุปยุวราชและสวรรคตในปีเดียวกัน รัชสมัยของพระนารายณ์ราชาพระพุทธศาสนาเถรวาทรุ่งเรื่อง เพราะเป็นพระศาสนูปถัมภก ทรงสร้างวัดต่าง ๆ มากมายในเขมร แต่พระนารายณ์ราชาทรงแต่งตั้งพระอนุชาพระศรีราชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราช ทำให้พระโอรสของพระนารายณ์ราชา คือ พระนารายณ์ราม ไม่พอใจและก่อการกบฏต่อพระราชบิดา[1] ยึดได้หัวเมืองต่าง ๆ ทางใต้ของอาณาจักร พระราชบิดาพระนารายณ์ราชาได้ทรงนำทัพเข้าปราบ พระนารายณ์รามจึงสงบไปช่วงหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์ราชาสวรรคต พระศรีราชาก็เถลิงราชสมบัติเป็นกษัตริย์เขมร และตั้งพระอนุชาเจ้าพระยาธรรมราชาเป็นพระมหาอุปราช พระนารายณ์รามเห็นดังนั้นจึงประกอบพีธีราชาภิเษกขึ้นบ้างที่เมืองศรีสุนทร เป็นพระศรีสุริโยไทยราชา พระศรีราชาจึงนำทัพเข้าห้ำหั่นกับพระนัดดา พระยาธรรมราชามหาอุปราช ก็ฉวยโอกาสตั้งตัวเองเป็นกษัตริย์เช่นกัน พระนามว่า พระบาทสมเด็จพระธรรมราชาธิราชรามาธิบดี จึงเกิดเป็นสงครามกลางเมืองสามฝ่าย
สมเด็จพระธรรมราชาธิราชฯ มีพระราชมารดาเป็นชาวอยุธยา และรู้จักกับพระยาเดโช ข้าราชการทางฝ่ายกรุงศรีฯ พระยาเดโชได้กราบทูลขอสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถให้ส่งทัพมาช่วยปราบขบถในอาณาจักรเขมร ทัพกรุงศรีฯ จึงบุกเข้ามาในเขมรในพ.ศ. 2011 ตีทัพของทั้งพระศรีราชาและพระศรีสุริโยไทยแตกพ่าย จับองค์กษัตริย์เขมรทั้งสองกลับไปกรุงศรีอยุธยา เหลือเพียงพระธรรมราชาธิราชฯ เป็นเอกกษัตริย์แห่งกัมพูชาต่อไป
พระธรรมราชาธิราชฯ มีพระโอรสกับพระอัคมเหสี คือ สมเด็จเจ้าพระยางามขัตติยราช และมีพระโอรสกับพระสนมคือ เจ้าพระยาจันทราชา เมื่อพระธรรมราชาธิราชฯ สวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยางามขัตติยราชก็ขึ้นครองราชสมบัติต่อเป็น สมเด็จพระศรีสุคนธบทฯ ทรงย้ายราชธานีไปที่เมืองปาสาณ ครองราชย์ได้ 9 พรรษาก็ทรงถูกพระเจ้าบุตรเขย ขุนหลวงสมุหเสนาบดีชื่อว่า เสด็จกัน (Sdech Kan) จับไปสำเร็จโทษที่แม่น้ำสะตึงแสนในพ.ศ. 2059 พร้อมกับตั้งตนเป็นเจ้า พระนามว่า พระศรีไชยเชษฐาธิราช พระยาจันทราชาเสด็จหนีไปยังกรุงศรีอยุธยา แล้วกราบทูลขอทัพจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อกลับมาชิงราชบัลลังก์คืนจากเสด็จกันในพ.ศ. 2063 ทรงตั้งค่ายอยู่ที่เมืองอมราวดีจันทบูร (น่าจะเป็นป้อมฝรั่งป้อมหนึ่ง) บรรดามุขมนตรีเชื้อพระวงศ์ต่าง ๆ พากันเรียกร้องให้พระจันทราชาทรงประกอบพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระบรมราชาที่ 3 จนในพ.ศ. 2069 ได้ยกทัพกรุงศรีฯ ไปรบกับเสด็จกัน เสด็จกันสิ้นพระชนม์ในที่รบ
เมื่อปราบเสด็จกันได้แล้ว สมเด็จพระบรมราชาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้หล่อพระพุทธรูปอัฐรัศประดิษฐานไว้ที่เมืองอมราวดีจันทบูร โดยทรงตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า เมืองบันทายมีชัย แล้วก็ทรงสร้างราชธานีใหม่ คือ เมืองละแวก
รายพระนามกษัตริย์เขมรจตุมุข
อ้างอิง
ก่อนหน้า
|
|
สมัยจตุมุข
|
|
ถัดไป
|
พระนครหลวง
|
|
ราชธานีกัมพูชา (พ.ศ. 1927 - พ.ศ. 2069)
|
|
ละแวก
|