สนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ เป็นสนธิสัญญาสันติภาพที่ลงนามเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1918 ระหว่างรัฐบาลบอลเชวิคใหม่แห่งโซเวียตรัสเซียกับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (เยอรมนี ออสเตรีย-ฮังการี บัลแกเรียและจักรวรรดิออตโตมัน) ซึ่งยุติการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่งของรัสเซีย มีการลงนามสนธิสัญญาที่เบรสท์-ลีตอฟสก์ (หลัง ค.ศ. 1945 ชื่อ เบรสต์) หลังการเจรจาสองเดือน สนธิสัญญาบังคับต่อรัฐบาลบอลเชวิคโดยกองทัพเยอรมันและออสเตรียขู่รุกเพิ่ม ตามสนธิสัญญา โซเวียตรัสเซียสละข้อผูกมัดทั้งหมดของจักรวรรดิรัสเซียต่อพันธมิตรไตรภาคี
ในสนธิสัญญานี้ บอลเชวิครัสเซียยอมโอนรัฐบอลติกให้เยอรมนี เจตนาให้เป็นเมืองขึ้นของเยอรมนีภายใต้เจ้าน้อย (princeling) เยอรมัน รัสเซียยังยอมโอนจังหวัดมณฑลคาส์ในเซาท์คอเคซัสให้จักรวรดิออตโตมันและรับรองเอกราชของยูเครน ยิ่งไปกว่านั้น รัสเซียตกลงจ่ายค่าปฏิกรรมหกพันล้านมาร์กทองคำเยอรมัน นักประวัติศาสตร์ สเปนเซอร์ ทักเคอร์ (Spencer Tucker) เขียนว่า "เสนาธิการเยอรมันสรุปเงื่อนไขโหดร้ายเป็นพิเศษซึ่งทำให้แม้แต่ผู้เจรจาเยอรมันยังตกใจ"[2] ไม่มีการกล่าวถึงคองเกรสโปแลนด์ในสนธิสัญญา เพราะฝ่ายเยอรมันปฏิเสธรับรองการดำรงอยู่ของผู้แทนโปแลนด์ ซึ่งนำสู่การประท้วงของโปแลนด์[3] เมื่อภายหลังฝ่ายเยอรมันร้องทุกข์ว่าสนธิสัญญาแวร์ซาย ค.ศ. 1919 โหดร้ายต่อพวกตน ฝ่ายสัมพันธมิตร (และนักประวัติศาสตร์ที่ถือฝ่ายสัมพันธมิตร) ตอบว่า เงื่อนไขนั้นเบากว่าเบรสท์-ลีตอฟสก์[4]
สนธิสัญญาดังกล่าวสิ้นสุดอย่างชะงัดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 เมื่อเยอรมนียอมจำนนต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ทว่า ในขณะเดียวกัน ก็ให้ความโล่งใจบ้างแก่บอลเชวิคซึ่งต่อสู้ในสงครามกลางเมืองรัสเซีย โดยการบอกเลิกการอ้างสิทธิ์ของรัสเซียเหนือโปแลนด์ ฟินแลนด์ เอสโตเนีย ลัตเวีย เบลารุส ยูเครนและลิทัวเนีย
อ้างอิง