ลิพิด (อังกฤษ: lipid) คือสารชีวโมเลกุลที่ไม่ละลายในน้ำ (water-insoluble) มีหลายชนิด หรือ สารประกอบ ไม่มีขั้ว (non-polar) ละลายน้ำน้อยตลอดจนละลายน้ำมาก พวกที่ละลายน้ำได้มากจะเป็นสารประกอบจำพวก มีขั้ว (polar)
ลิพิดบางตัวมีโมเลกุลเป็นเส้นตรง อะลิฟาติก (aliphatic) บางตัวมีวงแหวนเรียก อะโรมาติก (aromatic) บางตัวยืดหยุ่นบางตัวเปราะบาง โมเลกุลของลิพิดมีสองส่วนทั้งที่มีขั้วและไม่มีขั้ว จึงทำให้ลิพิดสามารถละลายได้ทั้งในตัวทำละลายมีขั้วเช่นน้ำ และไม่มีขั้วเช่นน้ำมัน โมเลกุลเหล่านี้เรียกว่า แอมฟิฟิลิก (amphiphilic) คือใน โมเลกุล เดียวกันมีทั้งส่วนที่ชอบน้ำ ไฮโดรฟิลิก (hydrophilic) และส่วนที่กลัวน้ำ ไฮโดรโฟบิก (hydrophobic) ตัวอย่างเช่น คอเลสเตอรอลส่วนที่มีขั้วคือ -OH (ไฮดรอกซิล หรือ แอลกอฮอล์)
กรดไขมัน
กรดไขมันเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานของไขมันทุกชนิด มีคาร์บอนตั้งแต่ 4 – 36 ตัว ไม่แตกกิ่ง พันธะระหว่างคาร์บอนอาจเป็นพันธะเดี่ยวทั้งหมด ซึ่งเรียกว่ากรดไขมันอิ่มตัว หรือมีพันธะคู่ปนกับพันธะเดี่ยว ซึ่งเรียกว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัว จำนวนของคาร์บอนในกรดไขมันส่วนใหญ่มักเป็นเลขคู่ จุดหลอมเหลวของกรดไขมันขึ้นกับจำนวนคาร์บอนและจำนวนพันธะคู่ เช่นที่อุณหภูมิห้อง กรดไขมันอิ่มตัวที่มีคาร์บอน 12 – 24 ตัวอยู่ในสภาพเป็นไข ในขณะที่กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีคาร์บอนเท่ากันยังเป็นน้ำมันอยู่ เป็นต้น
ไตรกลีเซอไรด์
ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันที่ประกอบด้วยกรดไขมันสามโมเลกุลรวมตัวกับกลีเซอรอล หนึ่งโมเลกุล เป็นโมเลกุลที่ไม่ละลายน้ำ เป็นพลังงานสะสมในสัตว์ และใช้สะสมใต้ผิวหนังเพื่อรักษาอุณหภูมิของร่างกาย
ฟอสโฟลิพิด
ฟอสโฟลิพิด หรือ กลีเซอโรฟอสโฟลิพิด เป็นไขมันที่เป็นองค์ประกอบหลักของเยื่อหุ้มต่างๆในสิ่งมีชีวิต โครงสร้างคล้ายไตรกลีเซอไรด์ แต่มีกรดไขมันเพียงสองโมเลกุล โดยอีกตำแหน่งหนึ่งจะมีหมู่ฟอสเฟตมาเกาะและจะมีสารอื่นมาเกาะที่หมู่ฟอสเฟตอีกต่อหนึ่งซึ่งเป็นการกำหนดชนิดของฟอสโฟลิพิด เช่น โคลีน (choline) หรือ เซอรีน (serine) ถูกสร้างบนแกนกลางที่เป็น กลีเซอรอล (glycerol) ซึ่งเชื่อมต่อกับหางสองเส้นที่เป็นอนุพันธ์ของกรดไขมันโดยรูปแบบการเชื่อมต่อที่เป็นเอสเตอร์ (ester) และหนึ่งหัวที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อเป็นฟอสเฟตเอสเตอร์
- กรดไขมัน เป็นสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีสาขาและเชื่อมต่อกันด้วย
- ฟอสฟาติดิลคอลีน (phosphatidylcholine-lecithin)
- ฟอสฟาติดิลเอตทาโนลามีน (phosphatidylethanolamine)
- ฟอสฟาติดิลเซอรีน (phosphatidylserine)
- ฟอสฟาติดิลอินโนซิทอล (phosphatidylinositol)
ไขมันอื่นๆที่มีบทบาทในสิ่งมีชีวิต
นอกจากไตรกลีเซอไรด์และฟอสโฟลิพิดแล้ว ในสิ่งมีชีวิตยังมีสารกลุ่มไขมันที่มีบทบาทสำคัญอีกหลายชนิด เช่น
- สฟิงโกลิพิด (sphingolipids) เป็นการรวมตัวของสฟิงโกซายน์ (sphingosine) กับกรดไขมันและหมู่ฟอสเฟต เป็นไขมันที่เป็นองค์ประกอบในเยื่อหุ้ม และมีบทบาทในการจดจำระหว่างเซลล์
- สเตอรอล (sterols) เป็นไขมันที่พบในเยื่อหุ้มของเซลล์ยูคาริโอต สเตอรอลชนิดหนึ่งคือคอเลสเตอรอล พบมากในเซลล์สัตว์
- ไขมันที่เป็นตัวส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ เช่น ฟอสฟาทิดิลอิโนซิทอล (phosphatidylinositol) เป็นตัวส่งสัญญาณเกี่ยวกับการรวมตัวของเยื่อหุ้มระหว่างเกิดการหลั่งสารออกนอกเซลล์ หรืออีโคซานอย (eicosanoi) เป็นตัวส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ที่อยู่ใกล้เคียงกัน
- ไขมันที่เป็นฮอร์โมน ได้แก่ฮอร์โมนกลุ่มสเตอรอยด์
- ไขมันที่เป็นวิตามิน ได้แก่ วิตามินเอ วิตามินดี วิตามินอี และวิตามินเค
อ้างอิง
- Lehninger, A.L., Nelson, D.L., and Cox, M.M. 1993. Principle of Biochemistry. 2nd ed. New York.: Worth
แหล่งข้อมูลอื่น