พระเจ้าอินโจ (เกาหลี: 인조 仁祖 ค.ศ. 1595 - ค.ศ. 1649) เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 16 (ค.ศ. 1623 - ค.ศ. 1649) แห่งราชวงศ์โชซ็อน ได้รับราชบัลลังก์มาจากการยึดอำนาจของฝ่ายตะวันตก หรือ ซออิน (เกาหลี: 서인 西人) จากเจ้าชายควังแฮในค.ศ. 1623 ในรัชสมัยของพระเจ้าอินโจขุนนางฝ่ายตะวันตกขึ้นมามีอำนาจ และเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีความเปลี่ยนแปลงของจีนจากราชวงศ์หมิงสู่ราชวงศ์ชิง พระเจ้าอินโจและขุนนางฝ่ายตะวันตกดำเนินนโยบายสนับสนุนราชวงศ์หมิงและต่อต้านราชวงศ์ชิง จนเป็นเหตุให้เกิดการรุกรานเกาหลีของแมนจูสองครั้งได้แก่ ค.ศ. 1627 และ ค.ศ. 1636-37 ซึ่งผลออกมาอาณาจักรโจซอนพ่ายแพ้ต่อพวกแมนจูและตกเป็นรัฐบรรณาการของราชวงศ์ชิง
รัฐประหารพระเจ้าอินโจ
พระเจ้าอินโจ เดิมพระนามว่า เจ้าชายนึงยาง (เกาหลี: 능양군 綾陽君) เป็นพระโอรสองค์ใหญ่ของเจ้าชายช็องว็อน (เกาหลี: 정원군 定遠君) ซึ่งเจ้าชายช็องว็อนนั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าซ็อนโจกับพระสนมอินบิน ตระกูลคิม เนื่องจากพระสนมอินบินเป็นพระสนมองค์โปรดของพระเจ้าซอนโจ พระเจ้าซ็อนโจจึงมีพระประสงค์จะให้พระโอรสของสนมอินบินได้ขึ้นเป็นกษัตริย์โชซ็อนต่อจากพระองค์ แต่ทว่าในขณะนั้นมีรัชทายาทอยู่แล้วคือเจ้าชายควังแฮ ดังนั้นในรัชสมัยของเจ้าชายควังแฮ เจ้าชายช็องว็อนและพระโอรสจึงเป็นที่เพ่งเล็งอยู่เสมอ ใน ค.ศ. 1615 พระอนุชาของเจ้าชายนึงยางคือ เจ้าชายนึงชัง (เกาหลี: 능창군 綾昌君) ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏต่อพระเจ้าควังแฮและถูกสำเร็จโทษด้วยยาพิษ
ในรัชสมัยของพระเจ้าควังแฮขุนนางกลุ่มเหนือใหญ่ หรือ แทบุก (เกาหลี: 대북 大北) เรืองอำนาจ ผลักดันให้มีการสำเร็จโทษเจ้าชายยองชัง (เกาหลี: 영창대군 永昌大君) รวมทั้งปลดและกักขังพระพันปีอินมก (เกาหลี: 인목대비 仁穆大妃) ในค.ศ. 1623 กลุ่มขุนนางฝ่ายตะวันตกได้แก่ ลีควี (เกาหลี: 이귀 李貴) คิมยู (เกาหลี: 김유 金瑬) คิมจาจอม (เกาหลี: 김자점 金自點) ฯลฯ กระทำการรัฐประหารล้มอำนาจของพระเจ้าควังแฮและขุนนางฝ่ายเหนือใหญ่ ในข้อหาที่ว่าพระเจ้าควังแฮทรงเข่นฆ่าพี่น้องและทารุณกรรมพระมารดาเลี้ยง จึงทำการ "ยึดอำนาจเพื่อความถูกต้อง"[1] เรียกว่า รัฐประหารพระเจ้าอินโจ หรือ อินโจ-บันจอง (เกาหลี: 인조반정 仁祖反正) เจ้าชายควังแฮทรงถูกเนรเทศไปยังเกาะคังฮวา และคณะรัฐประหารฝ่ายตะวันตกได้อัญเชิญเจ้าชายนึงยางขึ้นครองราชย์แทนที่ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้วพระเจ้าอินโจทรงตั้งพระบิดาคือเจ้าชายจองวอนให้มีสถานะเสมอเหมือนกษัตริย์ พระนามว่า พระเจ้าวอนจง (เกาหลี: 원종 元宗)
กบฏของลีควาล
หลังจากพระเจ้าอินโจเสด็จขึ้นครองราชย์ได้เพียงสิบเดือน ก็เกิดเหตุการณกบฏขึ้นเมื่อ ลีควาล (เกาหลี: 이괄 李适) เป็นขุนพลซึ่งมีบทบาทอย่างมากในการรัฐประหารเมื่อค.ศ. 1623 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการกองกำลังชายแดนทางตอนเหนือ ไว้สำหรับป้องกันการรุกรานของราชวงศ์โฮ่วจิน (ราชวงศ์ชิง) แต่ลีควาลกลับมองว่าตำแหน่งทหารชายแดนนั้นเป็นตำแหน่งที่ต้อยต่ำ ไม่เหมาะสมแก่คุณความดีความชอบของตนเองที่ได้เคยกระทำไว้ จึงเกิดความไม่พอใจและใช้กองกำลังชายแดนเหนืออันมากมายมหาศาลที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของตนเอง บุกไปยังเมืองฮันซองในค.ศ. 1624 พระเจ้าอินโจพร้อมทั้งพระราชวงศ์เสด็จหลบหนีออกมาฝ่าวงล้อมของกบฏไปประทับที่เมืองคงจูทางตอนใต้ของนครฮันซอง ลีควาลสามารถตีนครฮันซองได้และตั้งเจ้าชายฮึงอันพระปิตุลาของพระเจ้าอินโจเป็นกษัตริย์ชั่วคราว ฝ่ายพระเจ้าอินโจนายพล จางมัน (เกาหลี: 장만 張晩) ได้รวบรวมทัพเข้าบุกยึดเมืองหลวงคืนจากลีควาลได้สำเร็จ นายพลลีควาลได้ถูกทหารผู้ทรยศของตนเองสังหาร
การรุกรานของแมนจู
ในรัชสมัยของพระเจ้าอินโจ ชนเผ่าแมนจูในแมนจูเรียภายใต้การนำของหฺวังไถจี๋ (จีน: 皇太極 huang tai ji) กำลังสะสมขยายอำนาจคุกคามจักรวรรดิจีนราชวงศ์หมิง แม้ว่าอาณาจักรโชซอนจะมีฐานะเป็นประเทศราชของจักรวรรดิจีนจึงต้องให้การสนับสนุนฝ่ายราชวงศ์หมิงในการทำสงครามกับชาวแมนจู แต่ในรัชสมัยของเจ้าชายควังแฮได้ดำเนินนโยบายเป็นกลางมาโดยตลอด และอาณาจักรโชซอนไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะขัดขวางการขยายอำนาจของหฺวังไถจี๋ แต่ในรัชสมัยของพระเจ้าอินโจขุนนางฝ่ายตะวันตกครอบครองราชสำนัก มีความเห็นว่าราชวงศ์หมิงเคยมีบุญคุณต่อโจซอนในช่วงการบุกครองเกาหลีของญี่ปุ่น (พ.ศ. 2135–2141) จึงสมควรที่จะทดแทนบุญคุณโดยให้การสนับสนุนราชวงศ์หมิงอย่างเต็มที่ โดยฝ่ายโชซอนได้ให้การสนับสนุนนายพล เหมาเหวินหลง (จีน: 毛文龍 Mao Wen long) ขุนพลของจีนประจำ คาบสมุทรเหลียวตง
ขุนนางเกาหลีคนหนึ่งชื่อว่า ฮันยุน (เกาหลี: 한윤 韓潤) มีส่วนร่วมในการกบฏของลีควาลในค.ศ. 1624 หลบหนีไปยังเมืองเสิ่นหยาง (จีน: 瀋陽 Shen yang) อันเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์จินในขณะนั้น และได้พบกับนายพลคังฮงนิป (เกาหลี: 강홍립 姜弘立) นายพลชาวเกาหลีผู้ที่ตกเป็นเชลยของพวกแมนจู ฮันยุนได้กล่าวแก่นายพลคังว่า ครอบครัวของนายพลคังในโจซอนได้ถูกประหารชีวิตไปจนหมดสิ้นด้วยเหตุที่นายพลคังมาเข้าพวกกับแมนจู[2] ด้วยความโกรธแค้นนายพลคังฮงนิปจึงเสนอต่อหฺวังไถจี๋ให้ยกทัพเข้ารุกรานโชซอน เพื่อล้มล้างขุนนางฝ่ายตะวันตกออกไปและคืนราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายควังแฮ (ยังมีพระชนม์ชีพอยู่บนเกาะคังฮวา) หฺวังไถจี๋จึงส่งเจ้าชายอามิน (Amin) ผู้เป็นลุง ยกทัพแมนจูเข้ารุกรานอาณาจักรโจซอนในปีค.ศ. 1627 โดยมีนายพลคังฮงนิปเป็นผู้นำทาง เรียกว่า การรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่หนึ่ง (First Manchu Invasion of Korea) หรือ การรุกรานปีจองมโย (เกาหลี: 정묘호란 丁卯胡亂)
อันดับแรกทัพแมนจูได้เข้าบุกยึดทำลายฐานที่มั่นของเหมาเหวินหลง ริมแม่น้ำยาลูชายแดนทางเหนือ เป็นการเปิดเส้นทางให้กองทัพของเจ้าชายอามินและคังฮงนิปยกทัพเข้ามาในโจซอนได้ ฝ่ายโจซอนส่งแม่ทัพจางมันไปต้านทานการรุกรานที่ชายแดนทางเหนือแต่ไม่สำเร็จ เมื่อคังฮงนิปนำทัพของเจ้าชายอามินรุกคืบลงมาทางใต้เรื่อยๆ ฝ่ายราชสำนักโจซอนวิตกว่าจะเสียเมืองฮันซอง (โซล) ให้แก่พวกแมนจู พระเจ้าอินโจพร้อมทั้งพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงเสด็จลี้ภัยมาอยู่ที่เกาะคังฮวา ฝ่ายแมนจูเห็นว่าฝ่ายโจซอนมีความเกรงกลัวทัพแมนจูถึงเพียงนี้จึงเปิดโต๊ะเจรจา ทัพแมนจูจะยอมถอยกลับไปถ้าหากโจซอนเลิกส่งบรรณาการให้แก่ราชวงศ์หมิง เลิกการใช้ศักราชนามปีตามพระนามของฮ่องเต้ต้าหมิง และให้สัตย์สาบานว่าจะไม่รุกล้ำอาณาเขตซึ่งกันและกัน มีความสัมพันธ์กันเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ฝ่ายโจซอนจึงยอมรับข้อตกลง
ในค.ศ. 1635 ฮงไทจีเปลี่ยนชื่อราชวงศ์จากราชวงศ์โฮ่วจินหรือราชวงศ์จินหลังเป็นราชวงศ์ชิง (Qing dynasty) และต้องการที่จะเปลี่ยนความสัมพันธ์กับอาณาจักรโจซอนจากบ้านพี่เมืองน้องเป็นประเทศแม่-ประเทศราช ได้ทำการเรียกร้องบรรณาการจิ้มก้องจากอาณาจักรโจซอนและส่งราชทูตมายังเมืองฮันซอง ทางฝ่ายเกาหลีได้ทำการต้อนรับทูตแมนจูอย่างเย็นชาและแอบซุ่มซ่อนกองกำลังทหารไว้ ฮงไทจีจึงแน่ใจว่าว่าโจซอนจะไม่มีวันยอมรับราชวงศ์ชิงได้โดยไม่ใช้กำลัง การรุกรานครั้งที่สองจึงเกิดขึ้นในค.ศ. 1636 เรียกว่า การรุกรานเกาหลีของแมนจูครั้งที่สอง (Second Manchu Invasion of Korea) หรือ การรุกรานปีพยองจา (เกาหลี: 병자호란 丙子胡亂) โดยฮงไทจีเป็นผู้นำทัพแมนจูเข้ารุกรานโจซอนด้วยตนเอง
ฝ่ายโจซอนเตรียมการรับมือไว้แล้วโดยการให้นายพล อิมกยองออป (เกาหลี: 임경업 林慶業) ผู้มีความสามารถคอยตั้งรับอยู่ทางเหนือ แต่ทว่าฮงไทจีกลับหลีกเลี่ยงการปะทะกับทัพของนายพลอิมและรีบยกทัพมายังกรุงฮันซองอย่างรวดเร็ว บรรดาพระราชวงศ์และขุนนางผู้ใหญ่จึงหลบหนีไปยังเกาะคังฮวาอีกครั้ง แต่ทว่าด้วยการทำงานที่ขาดประสิทธิภาพของคิมจาจอม ทำให้พระเจ้าอินโจและรัชทายาทเสด็จหลบหนีไม่ทันถูกทัพของฮงไทจีติดตามถึง จึงถูกทัพแมนจูทำการปิดล้อมอยู่ที่ป้อมนัมฮันซาน (เกาหลี: 남한산 南漢山) ทางตอนใต้ของเมืองฮันซองพร้อมกับขุนนางคนสำคัญต่างๆ หลังจากถูกปิดล้อมอยู่เป็นเวลาหลายเดือนเสบียงเริ่มหมดลงทำให้บรรดาขุนนางมิอาจทนได้ ด้วยคำแนะนำของขุนนางฝ่ายตะวันตกผู้อาวุโสพระเจ้าอินโจทรงยอมจำนนต่อฮงไทจีในที่สุดในค.ศ. 1637
การเจรจาสงบศึกมีข้อตกลงให้อาณาจักรโจซอนเป็นประเทศราชของราชวงศ์ชิง ต้องส่งบรรณาการจิ้มก้องให้แก่ราชวงศ์ชิง โดยฮ่องเต้ฮงไทจีมีพระราชโองการให้สร้างอนุสรณ์สถานรำลึกชัยชนะของแมนจูเหนือโจซอน เรียกว่า อนุสรณ์ซัมจอนโด (เกาหลี: 삼전도비 三田渡碑) แล้วทรงนัดพบกับพระเจ้าอินโจที่อนุสรณ์สถานนั้น ทรงให้พระเจ้าอินโจคำนับพระองค์ห้าครั้งและเอาพระเศียรโขกลงกับพื้นอีกสามครั้ง เพื่อเป็นการแสดงการสวามิภักดิ์โดยสิ้นเชิงต่อแมนจู นอกจากนี้พระเจ้าอินโจยังต้องทรงส่งพระโอรสสองพระองค์ ได้แก่ เจ้าชายรัชทายาทโซฮย็อน (เกาหลี: 소현세자 昭顯世子) และเจ้าชายพงนิม (เกาหลี: 봉림대군 鳳林大君 ต่อมาคือพระเจ้าฮโยจง) ไปเป็นองค์ประกันที่เมืองเสิ่นหยาง เป็นความอัปยศครั้งยิ่งใหญ่ของพระเจ้าอินโจและในประวัติศาสตร์เกาหลี และเป็นเหตุให้เกาหลีต้องตกเป็นประเทศราชของราชวงศ์ชิงไปอีกเป็นเวลาสองร้อยห้าสิบปี
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
รัชทายาทโซฮยอนขณะประทับเป็นองค์ประกันอยู่ที่เมืองเสิ่นหยาง ได้ทรงสานสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักแมนจูทำให้ทรงได้รับการสนับสนุน ซึ่งเป็นสิ่งที่พระเจ้าอินโจกังวลพระทัยเพราะทรงเกรงว่าฝ่ายแมนจูจะยกทัพมากระทำการรัฐประหารปลดพระองค์ลงจากบัลลังก์แล้วให้รัชทายาทโซฮยอนขึ้นเป็นกษัตริย์โชซ็อนแทน ใน ค.ศ. 1644 ทัพราชวงศ์ชิงภายใต้การนำของเจ้าชายดอร์กอน (ตัวเอ่อกุน) เข้ายึดกรุงปักกิ่งและเข้าปกครองจีนแผ่นดินใหญ่ ในระหว่างที่ประทับอยู่เมืองปักกิ่งนั้น เจ้าชายโซฮยอนได้พบกับนายโยฮันน์ อดัม แชล ฟอน เบลล์ (Johann Adam Schall von Bell) มิชชันนารีชาวเยอรมันที่อาศัยอยู่ในกรุงปักกิ่งขณะนั้น นายแชลฟอนเบลล์ได้แนะนำให้เจ้าชายทรงรู้จักกับวิทยาการตะวันตกและคริสต์ศาสนา ในปีเดียวกันเจ้าชายดอร์กอนทรงอนุญาตให้เจ้าชายโซฮยอนเสด็จนิวัติโจซอนเป็นการถาวร
ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าอินโจและเจ้าชายโซฮยอนนั้นไม่สู้จะดีนักอยู่เดิม และเมื่อเจ้าชายโซฮยอนทรงตรัสถึงโลกตะวันตกและคริสต์ศาสนาทำให้พระเจ้าอินโจทรงเห็นว่าพระโอรสนั้นเสียสติไปเสียแล้ว อีกทั้งยังมีเสนาบดีซ้ายคิมจาจอมและพระสนมควีอิน ตระกูลโจ (เกาหลี: 귀인조씨 貴人趙氏) พระสนมองค์โปรดคอยยุยงให้พระเจ้าอินโจทรงเกลียดชังพระโอรส จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น เพียงสามเดือนให้หลังเจ้าชายรัชทายาทโซฮยอนก็สิ้นพระชนม์อย่างกระทันหันและเป็นปริศนา สร้างความพิศวงให้แก่ราชสำนักในสมัยนั้นหรือแม้กระทั่งนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน มีการบันทึกไว้ในชิลลกหรือพงศาวดารราชวงศ์โจซอนว่าพระศพเจ้าชายโซฮยอนนั้นเน่าเปื่อยสลายลงอย่างรวดเร็วอย่างผิดธรรมชาติ ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเจ้าชายอาจทรงถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์ ชาวเกาหลีในสมัยต่อมาและนักประวัติศาสตร์ในปัจจุบันมีความเห็นพ้องต้องกันว่ารัชทายาทโซฮยอนสิ้นพระชนม์ด้วยน้ำพระหัตถ์ของพระเจ้าอินโจผู้เป็นพระบิดา
ตามหลักของลัทธิขงจื้อเมื่อรัชทายาทโซฮยอนสวรรคต ตำแหน่งรัชทายาทจะต้องเป็นของพระโอรสองค์โตสุดของรัชทายาทโซฮยอนนั่นคือเจ้าชายลีซอกชอล[3] แต่ทว่าพระเจ้าอินโจประสงค์จะให้พระอนุชาของเจ้าชายโซฮยอนคือเจ้าชายพงนิม ซึ่งเสด็จนิวัติโจซอนตามหลังพระเชษฐามาเป็นรัชทายาทองค์ต่อมา เนื่องจากทรงพอพระทัยนโยบายที่จะยกทัพรุกรานราชวงศ์ชิงเพื่อทำการแก้แค้นให้แก่โจซอนของเจ้าชายพงนิม พระเจ้าอินโจจึงทรงกล่าวหาพระชายาตระกูลคัง (เกาหลี: 민회빈강씨 愍懷嬪姜氏) พระชายาของเจ้าชายโซฮยอนว่าเป็นผู้ปลงพระชนม์พระสวามี ให้สำเร็จโทษโดยการประทานยาพิษ และเนรเทศพระโอรสทั้งหมดของเจ้าชายโซฮยอนไปยังเกาะเชจู และแต่งตั้งเจ้าชายพงนิมเป็นรัชทายาทใน ค.ศ. 1645
พระเจ้าอินโจสวรรคตในปี ค.ศ. 1649 เจ้าชายพงนิมรัชทายาทขึ้นครองราชย์ต่อมาเป็นพระเจ้าฮโยจง
พระนามเต็ม
พระเจ้าอินโจ แทโจ แกชอน โจอุน จองกิ ซอนด็อก ฮอนมุน ยอลมู มยองซุก ซุนฮโย แห่งเกาหลี
พระบรมวงศานุวงศ์
- พระราชบิดา: เจ้าชายช็องว็อน (พระราชโอรสของพระเจ้าซ็อนโจกับพระสนมอินบิน ตระกูลคิม แห่งซูวอน) ภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระเจ้าวอนจง
- พระราชมารดา: พระนางอินฮอน พระพันปีหลวง ตระกูลกู แห่งนึงซอง (인헌왕후 구씨)
- พระมเหสี
- พระนางอินย็อล ตระกูลฮัน แห่งชองจู (인렬왕후 한씨)
- มกุฎราชกุมารโซฮย็อน อี วัง (소현세자 ,昭顯世子 ,1612 - 1645)
- พระเจ้าฮโยจง (봉림대군 ,鳳林大君 ,1619 - 1659)
- เจ้าชายอินพยอง อี โย (인평대군 ,麟坪大君 ,1622 - 1658)
- เจ้าชายยงซอง อีกน (용성대군 ,龍城大君 ,1624 - 1629)
- เจ้าชายไม่ปรากฏพระนาม
- เจ้าหญิงไม่ปรากฏพระนาม
- พระนางชังรย็อล ตระกูลโจ แห่งยางจู (장렬왕후 조씨)
- พระสนม
- พระสนมควีอิน ตระกูลโจ (폐귀인 조씨) ภายหลังถูกถอดออกจากตำแหน่งพระสนม
- เจ้าชายซุงซอน อี จิง (숭선군 ,崇善君 ,1639 - 1690)
- เจ้าชายนักซอน อี ซุก (낙선군 ,樂善君 ,1641 - 1695)
- เจ้าหญิงฮโยมยอง (효명옹주 ,孝明翁主 ,1637 - 1700)
- พระสนมควีอิน ตระกูลจาง (귀인 장씨)
- พระสนมซุกอึย ตระกูลนา (숙의 나씨)
- พระสนมซุกอึย ตระกูลปาร์ค (숙의 박씨)
- พระสนมซุกวอน ตระกูลจาง (숙원 장씨)
- ซังกุง ตระกูลลี (상궁 이씨)
พงศาวลี
ก่อนหน้า
|
|
พระเจ้าอินโจ
|
|
ถัดไป
|
เจ้าชายควังแฮ
|
|
กษัตริย์แห่งโชซ็อน (พ.ศ. 2166 - พ.ศ. 2192)
|
|
พระเจ้าฮโยจง|}
|
---|
| พระมหากษัตริย์แห่งโชซ็อน | |
---|
จักรพรรดิเกาหลี | |
---|
เฉลิมพระปรมาภิไธย | |
---|
| พระมหากษัตริย์สกุลอี | |
---|
|
|
- ↑ Jae-eun Kang. The Land of Scholars: Two Thousand Years of Korean Confucianism.
- ↑ James B. Palais. Confucian Statecraft and Korean Institutions: Yu Hyŏngwŏn and the Late Choson dynasty.
- ↑ JaHyun Kim Haboush, Martina Deuchler. Culture and the State in Late Choson Korea.