พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล หรือชื่อทั่วไปคือ พระหยกเชียงราย เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะแบบเชียงแสน แกะสลักจากหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา ปางสมาธิ ฐานเขียง พระโมลีเป็นต่อมกลม ขนาดหน้าตักกว้าง 49.7 เซนติเมตร สูง 65.9 เซนติเมตร ฐานแกะสลักด้วยหินหยกสีเขียวเป็นรูปบัวสูงประมาณ 1 ศอก เป็นฐานบัวศิลปะเชียงแสน เครื่องทรงสร้างด้วยอัญมณีและทองคำ แบบเครื่องทรงแบบเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย
ในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เจริญพระชนมายุครบ 90 พรรษา เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 คณะสงฆ์หนเหนือนำโดยสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สุวรรณ สุวณฺณโชโต) อดีตเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร อดีตกรรมการมหาเถรสมาคม และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ได้ร่วมกับพุทธศาสนิกชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดสร้างพระแก้วมรกตจำลอง เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ
สำหรับหินหยกที่นำมาแกะสลักเป็นพระแก้วในครั้งนี้ เป็นหินหยกชนิดที่ดีที่สุดของประเทศแคนาดา แกะสลักโดยโรงงานหยกวาลินนานกู จงจูลู มหานครปักกิ่ง เมื่อโรงงานหยกได้แกะสลักหินหยกเป็นพระพุทธรูปเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้กราบอาราธนาสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการอุปถัมภ์ฝ่ายสงฆ์ ได้เดินทางไปรับมอบพระพุทธรูปหยกที่มหานครปักกิ่ง เพื่ออัญเชิญมายังประเทศไทย เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 และประกอบพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน และมีพระมหาเถระ 37 รูป นั่งปรกบริกรรม เจริญภาวนาในพิธี เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2534
ต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้พระราชทานพระนามพระพุทธรูปหยกว่า “พระพุทธรตนากร นวุติวัสสานุสรณ์มงคล” มีความหมายว่า “พระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นอากรแห่งรัตน เป็นอนุสรณ์ 90 พรรษา” และโปรดเกล้าฯ ให้ขนานพระนามว่า “พระหยกเชียงราย”
คณะสงฆ์และประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ได้จัดพิธีสมโภชอัญเชิญพระหยกเชียงรายไปประดิษฐาน ณ วัดพระแก้ว จังหวัดเชียงราย ระหว่างวันที่ 16-20 ตุลาคม พ.ศ. 2534
อ้างอิง
- ปิลันธน์ มาลากุล,หม่อมหลวง, 2534, นวุติวัสสานุสรณ์. มปท.
- ชมรมพระพุทธรูปศักดิ์ศิทธิ์, 2548,สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองภาคเหนือ, กรุงเทพฯ: คอมมา ดีไซน์แอนด์พริ้นต์.
พระแก้วและวัดพระแก้ว |
---|
พระพุทธรูป | | |
---|
วัด และศาสนสถาน | |
---|