พระกริ่ง คือพระพุทธรูปขนาดเล็ก มีรูปแบบทั่วไปคือเป็นพระพุทธรูปประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงายเฉพาะเพียงด้านหน้า พระหัตถ์ขวาแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา บนฝ่าพระหัตถ์มีหม้อยาหรือผลไม้ที่เป็นยาวางไว้ ซึ่งพุทธลักษณะคล้ายพระไภษัชยคุรุ จนเชื่อว่าพระกริ่งทุกองค์คือ พระไภษัชยคุรุ[1][2] เป็นพระพุทธเจ้าปางหนึ่งของลัทธิมหายาน เป็นครูในด้านเภสัช รักษาพยาบาล ตามความเชื่อโบราณ นิยมนำพระกริ่งอธิษฐานแช่น้ำทำเป็นน้ำพระพุทธมนต์แล้วดื่มกินด้วยความเชื่อว่า จะรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ และเชื่อว่าช่วยขจัดอันตรายทั้งหลายทั้งปวง เดินทางแคล้วคลาดปลอดภัย และด้านโชคลาภเมตตามหานิยม ในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ใช้พระกริ่งปวเรศนี้ทําน้ำพุทธมนต์ที่ใช้ในพิธีมุรธาภิเษก[1]
การสร้างพระกริ่งเริ่มต้นที่ทิเบตและจีน จึงเรียกพระกริ่งทิเบตและพระกริ่งหนองแส ต่อมานิยมสร้างในเขมร เรียกว่า พระกริ่งอุบาเก็ง หรือพระกริ่งพนมบาเก็ง และพระกริ่งพระปทุมสุริยวงศ์ พบว่าขอมได้สร้างพระกริ่งปทุมขึ้นอย่างแพร่หลายทุกยุคในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เพื่ออุทิศบูชาแด่พระพุทธไภษัชยคุรุ ซึ่งได้มีการสร้างขึ้นมาตั้งแต่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 1 ภายหลังแพร่หลายในหมู่ชาวไทย ลาว สำหรับประเทศไทย การสร้างพระกริ่งปรากฏเป็นหลักฐาน ก่อนยุครัตนโกสินทร์ บ้างว่า สมัยกรุงศรีอยุธยา บ้างว่าตั้งแต่สมัยสุโขทัย[3]
พระกริ่งนิยมมีการบรรจุเม็ดกริ่งเป็นเม็ดโลหะเล็ก ๆ ไว้ภายในองค์พระ เพื่อเขย่าแล้วเกิดเสียงเวลาสวดมนต์ขอพรจากพระพุทธองค์ พระกริ่งมี 3 ขนาด คือ ขนาดใหญ่ สำหรับบูชาประจำบ้าน ขนาดเล็ก สำหรับทำน้ำมนต์และบูชาห้อยติดตัว ขนาดจิ๋วสำหรับบูชาติดตัว นิยมเรียกว่า พระชัยหรือพระชัยวัฒน์ นิยมสร้างนวโลหะ หรือโลหะทั้ง 9 ชนิด คือ ทองคำ เงิน ทองแดง พลวง ดีบุก สังกะสี ชิน ปรอท เจ้าน้ำเงิน ตามตำราของโบราณาจารย์
พระกริ่งที่นิยมนับถือกันมากและหายาก คือ พระกริ่งวัดสุทัศน์ สร้างโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)[4]
พระกริ่งในประเทศไทย
พระกริ่งกลุ่มวัดบวรนิเวศวิหาร
- พระกริ่งปวเรศ เป็นพระกริ่งแบบแรกที่สร้างขึ้นในประเทศไทย ที่เรียกว่า พระกริ่งปวเรศเพราะสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นผู้สร้างขึ้น
- พระกริ่งบัวรอบ มีพุทธลักษณะประทับบนฐาน บัวคว่ำบัวหงายจะมีกลีบบัวเพียงด้านเดียว 7 คู่ เรียกว่า กริ่งบัวรอบ เพราะมีฐานเป็นบัวกลีบอยู่รอบฐานด้านหน้าและด้านหลัง
- พระกริ่งไพรีพินาศ มีพุทธลักษณะประทับบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย พระหัตถ์ขวาแสดงปางประทานอภัย[5]
พระกริ่งกลุ่มวัดสุทัศน์เทพวราราม
พระกริ่งที่วัดสร้างได้รับความนิยมในวงการพระเครื่องและมีความเชื่อเรื่องอำนาจพุทธคุณมาก จุดเริ่มต้นสร้างโดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว)
- พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รุ่นเทพโมลี เป็นพระกริ่งที่สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (แพ ติสฺสเทโว) สร้างขึ้นรุ่นแรก สร้างจากนวโลหะสีดำ ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำบัวหงาย 7 คู่ ฐานด้านหลังเรียบไม่มีลวดลาย พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระเนตรเหลือบมองลงต่ำ พระเกศาขมวดเป็นก้นหอยซ้อนกัน 2 ชั้น พระหัตถ์ขวาแสดงปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายถือวัชระ
- พระกริ่งสมเด็จพระสังฆราช (แพ) รุ่นพรหมมุนี ท่านจัดสร้างขณะครองสมณศักดิ์ พระพรหมมุนี ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2455–2465 มีชื่ออื่น เรียก เขมรน้อย พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่[6]
- พระกริ่งเจ้าคุณศรี (สนธิ์) รุ่นอุดผงอุดพระเกศา จัดสร้างโดยดำริของอาจารย์หนู (นิรันตร์ แดงวิจิตร) มีการบรรจุผงวิเศษและเส้นพระเกศาของสมเด็จพระสังฆราช (แพ) เส้นจีวร องค์พระกริ่งทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีการแต่งมือตอกเป็นเม็ดไข่ปลา[7]
- พระกริ่งเจ้าคุณศรี (สนธิ์) รุ่นประภามณฑล เป็นพระกริ่งที่เจ้าคุณศรีสร้างขึ้นหลายรุ่นระหว่าง พ.ศ. 2485–2487
- พระกริ่งจักรพรรดิ สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2546 เนื่องจากฤกษ์ที่ใช้สร้างเป็นฤกษ์ราชา
พระกริ่งกลุ่มวังจันทน์ จังหวัดพิษณุโลก
อ้างอิง