ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย

อีวัน อาแลกซันเดอร์
ภาพเหมือนของซาร์จากต้นฉบับในยุคกลาง, พระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์
ซาร์แห่งบัลแกเรีย
ครองราชย์1331 – 17 กุมภาพันธ์ 1371
ก่อนหน้าซาร์อีวัน สแตฟัน
ถัดไปซาร์อีวัน ชิชมัน
ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์
สวรรคต17 กุมภาพันธ์ 1371
คู่อภิเษกซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย
ซารีนาซารา–แตออดอรา
พระราชบุตรดูด้านล้าง
ราชวงศ์สรัตซีมีร์
พระราชบิดาสรัตซีมีร์แห่งเกริน
พระราชมารดาเจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา
ศาสนาอีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ (บัลแกเรีย: Иван Александър, ถ่ายตัวอักษรได้ว่า Ivan Aleksandǎr, สะกดอย่างดั้งเดิม: ІѠАНЪ АЛЄѮАНдРЪ)[1] หรือในบางครั้งแผลงเป็นอังกฤษได้ว่า จอห์น อเล็กซานเดอร์[2] เป็นจักรพรรดิ (ซาร์) แห่งจักรวรรดิบัลแกเรียตั้งแต่ ค.ศ. 1331–1371[3] วันเสด็จพระราชสมภพของพระองค์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด โดยทราบเพียงวันสวรรคตซึ่งตรงกับวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1371 ช่วงระยะเวลาการครองราชสมบัติที่ยาวนานของพระองค์เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของประวัติศาสตร์บัลแกเรียในยุคกลาง ซึ่งพระองค์ทรงต้องจัดการกับปัญหาภายในและภัยคุกคามจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจักรวรรดิไบแซนไทน์และจักรวรรดิเซอร์เบีย ซึ่งเป็นดินแดนเพื่อนบ้านของบัลแกเรีย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ศิลปะและการศาสนาของบัลแกเรียอีกด้วย[4]

อย่างไรก็ตามในช่วงหลัง ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงไม่สามารถรับมือกับปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยจากกาฬมรณะ การรุกรานของจักรวรรดิออตโตมันและการรุกรานบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศโดยราชอาณาจักรฮังการี[3] การเผชิญหน้าอย่างไร้ผลกับปัญหาเหล่านี้ พระองค์ได้ทรงแบ่งดินแดนให้พระราชโอรส 2 พระองค์[5][6] ซึ่งนำไปสู่ความอ่อนแอและการแบ่งแยกของจักรวรรดิบัลแกเรีย พร้อมกับการเผชิญหน้ากับขยายอำนาจของจักรวรรดิออตโตมัน[3][6]

ระยะแรกของการครองราชย์

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ทรงเป็นพระราชโอรสของสรัตซีมีร์ เดสเปิต (Despot) แห่งเกริน ซึ่งมีบรรพบุรษสืบเชื้อสายจากราชวงศ์อาแซน[7] และเจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา พระขนิษฐาของซาร์มีคาอิล ชิชมันแห่งบัลแกเรีย[8] ดังนั้นซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงมีความสัมพันธ์เป็นพระภาคิไนยขอซาร์มีคาอิล ชิชมันด้วย[4][5] ใน ค.ศ. 1330 พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเดสเปิตแห่งเมืองโลเวช ในขณะที่พระองค์ดำรงตำแหน่งเดสเปิต พระองค์ได้ร่วมรบในยุทธการที่แวลเบิชด์ ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณเมืองกยูสแตนดิล เพื่อต่อต้านเซอร์เบียใน ค.ศ. 1330 ร่วมกับพระราชบิดาและบาซารับที่ 1 แห่งวอเลเคีย พระสัสสุระของพระองค์ ซึ่งในยุทธการครั้งนี้ฝ่ายเซอร์เบียได้รับชัยชนะ และการพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้ของบัลแกเรีย พร้อมกับปัญหาภายในที่เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงการรุกรานของจักรวรรดิไบแซนไทน์จากความสัมพันธ์ที่เลวร้ายระหว่างกัน นำไปสู่การก่อการรัฐประหารขับไล่ซาร์อีวัน สแตฟันออกจากเมืองหลวงแวลีโกเตอร์โนโวใน ค.ศ. 1331 และกลุ่มผู้ก่อการได้ทูลเชิญให้อีวัน อาแลกซันเดอร์ขึ้นครองราชบัลลังก์[9]

ภาพจิตรกรรมฝาผนังร่วมสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์มีพระราชดำริในการยึดดินแดนที่สูญเสียให้กับจักรวรรดิไบแซนไทน์กลับคืนมาเพื่อสร้างความมั่นคงในตำแหน่งของพระองค์ ดังนั้นใน ค.ศ. 1331 ซาร์อีวันจึงทำการศึกในบริเวณเอดีร์แนและสามารถยึดดินแดนตะวันออกเฉียงเหนือของเธรซกลับคืนมาได้[4][5] ในขณะเดียวกันพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียได้ปลดพระราชบิดาของพระองค์ (พระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 3) ออกจากราชบัลลังก์และสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบีย ส่งผลให้ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายของบัลแกเรียและเซอร์เบียกลับมาดีขึ้น พระมหากษัตริย์ทั้ง 2 พระองค์สัญญาเป็นพันธมิตรต่อกัน โดยกำหนดให้มีการอภิเษกสมรสระหว่างพระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียและแอแลนาแห่งบัลแกเรีย ซึ่งเป็นพระขนิษฐาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในวันอีสเตอร์ ของ ค.ศ. 1332[4][5][10]

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันแบลาอูร์ ซึ่งเป็นพระอนุชาของซาร์มีคาอิล ชิชมันได้ก่อการกบฎขึ้นที่วีดีน โดยการก่อกบฎครั้งนี้อาจเป็นไปเพื่อช่วยให้ซาร์อีวัน สแตฟัน พระภาคิไนยของพระองค์กลับสู่ราชบัลลังก์อีกครั้ง การปราบปรามกลุ่มกบฎต้องเลื่อนออกไป เมื่อในช่วงฤดูร้อนของ ค.ศ. 1332 จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 พาลาโอโลกอสแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์รุกรานบัลแกเรีย กองทัพของไบแซนไทน์ได้รุกคืบเข้าสู่พื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือของเธรซ โดยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงรีบนำกองกำลังขนาดเล็กมุ่งลงใต้ไปทันกองทัพของจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 ที่รูซอกัสตรอ[10]

ไม่มีซาร์พระองค์ใดที่จะเหมือนกับซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์นี้ ในเชิงความสามารถทางการทหาร พระองค์เปรียบเสมือนเป็นอเล็กซานเดอร์มหาราช พระองค์ที่ 2 ในเชิงความเชื่อและความศรัทธา พระองค์เปรียบเสมือนเป็นนักบุญคอนสแตนติน พระองค์ทรงจับศัตรูของพระองค์ไว้ใต้เข่าและได้สร้างสันติภาพที่มั่นคงในจักรวาลนี้ [11]

— บทสรรเสริญอีวัน อาแลกซันเดอร์[12]โดยผู้แต่งนิรนามร่วมสมัย

หลังจากที่พระองค์แสดงทรงแสดงท่าทีลวงว่าจะเจรจา ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์พร้อมด้วยกองกำลังเสริมจากกองทัพม้าของชาวมองโกล ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงโจมตีกองทัพไบแซนไทน์ ส่งผลให้กองกำลังของไบแซนไทน์ที่ถึงแม้ว่าจะมีการจัดกระบวนทัพที่ดีกว่า แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าประสบกับความพ่ายแพ้[5] บรรดาเมืองโดยรอบหลายเมืองได้ยอมแพ้ต่อซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ในขณะที่จักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในกำแพงเมืองรูซอกัสตรอ สงครามครั้งนี้จบลงเมื่อทั้งสองฝ่ายเจรจาสงบศึก โดยทั้งสองฝ่ายยอมรับสภาวะเดิม (status quo) และเพื่อสร้างพันธมิตรระหว่างกันซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ขอให้มีการหมั้นหมายระหว่างมาเรีย พระธิดาของจักรพรรดิอันโดรนิคอสที่ 3 กับมีคาอิล อาแซน พระโอรสของพระองค์ และนำไปสู่การอภิเษกสมรสของทั้งสองพระองค์ใน ค.ศ. 1339[5][13] เมื่อจบสงครามกับไบแซนไทน์ พระองค์จึงเริ่มให้ความสำคัญกับการจัดการกับแบลาอูร์ และสามารถปราบฐานที่มั่นสุดท้ายของกบฎทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือได้สำเร็จในประมาณ ค.ศ. 1336 หรือ 1337[14]

ใน ค.ศ. 1332 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้สถาปนาพระโอรสองค์โตมีคาอิล อาแซนที่ 4 ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วม (Co–Emperor) และพระองค์ได้ดำเนินแนวทางเช่นนี้ในเวลาต่อมาด้วยการสถาปนาพระโอรสองค์รองอย่างอีวัน สรัตซีมีร์และอีวัน อาแซนที่ 5 ขึ้นเป็นจักรพรรดิร่วมเช่นกันใน ค.ศ. 1337 ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นไปเพื่อรักษาราชบัลลังก์ไว้ในราชตระกูลของพระองค์ นอกจากนี้ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อาจมีความตั้งพระทัยที่จะควบคุมเมืองสำคัญภายในดินแดนผ่านการตั้งตำแหน่งจักรพรรดิร่วม ซึ่งพบว่าอีวัน สรัตซีมีร์ได้รับมอบหมายให้ปกครองวีดีน ในขณะที่อีวัน อาแซนที่ 4 อาจได้รับมอบหมายให้ปกครองแปรสลัฟ อย่างไรก็ตามการกระทำเช่นนี้เป็นตัวอย่างสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของธรรมเนียมบัลแกเรียกับไบแซนไทน์ในการแต่งตั้งตำแหน่ง despotēs เนื่องจากตามธรรมเนียมของไบแซนไทน์ พระโอรสองค์รองจะได้รับการแต่งตั้งเป็น despotēs ไม่ว่าจะมีดินแดนภายใต้การปกครองหรือไม่ก็ตาม[15]

ความสัมพันธ์กับจักรวรรดิไบแซนไทน์

อาณาเขตของบัลแกเรียในสมัยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์[16]

ในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1340 ความสัมพันธ์กับไบแซนไทน์เลวร้ายลงชั่วคราว เมื่อซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้เรียกร้องให้จักรวรรดิไบแซนไทน์ส่งตัวเจ้าชายชิชมัน หนึ่งในพระโอรสของซาร์มีคาอิลที่ 3 ชิชมันกลับสู่บัลแกเรีย พร้อมทั้งขู่ประกาศสงครามหากนิ่งเฉย การขู่ใช้กำลังครั้งนี้ของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในครั้งนี้ได้ผลตรงกันข้าม เนื่องจากจักรวรรดิไบแซนไทน์ทราบเจตนาที่แท้จริงของพระองค์ จึงได้นำกองทัพเรือพันธมิตรชาวตุรกีจากอูมูร์ เบย์ เอมีร์แห่งสเมอร์นา ซึ่งได้ขึ้นฝั่งที่บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำดานูบและปล้นสะดมพื้นที่ชนบท พร้อมทั้งเข้าโจมตีนครของบัลแกเรียที่อยู่ใกล้เคียง ด้วยการถูกบังคับให้ระงับข้อเรียกร้อง ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จึงรุกรานจักรวรรดิไบแซนไทน์อีกครั้งใน ค.ศ. 1341 โดยอ้างว่าชาวเอเดรียโนเปิลเรียกหาพระองค์[17] อย่างไรก็ตามกองกำลังพันธมิตรของไบแซนไทน์สามารถเอาชนะกองทัพของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ในการรบใกล้กับนครเอเดรียโนเปิลได้ถึง 2 ครั้ง[18]

ใน ค.ศ. 1341–1347 จักรวรรดิไบแซนไทน์ต้องเผชิญกับปัญหาสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลายาวนาน เพื่อแย่งชิงสิทธิ์การเป็นผู้ปกครองของจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอส ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ระหว่างกลุ่มของผู้สำเร็จราชการภายใต้การนำของแอนนาแห่งซาวอยและกลุ่มของจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส ซึ่งเป็นผู้ปกครองที่หมายมั่นไว้ ประเทศเพื่อนบ้านของไบแซนไทน์ต่างฉวยโอกาสจากสงครามกลางเมืองครั้งนี้ โดยพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4 แห่งเซอร์เบียทรงสนับสนุนจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส ในขณะที่ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงสนับสนุนจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสและคณะผู้สำเร็จราชการ[5] แม้ว่าทั้งสองประเทศจะให้การสนับสนุนขั้วอำนาจที่แตกต่างกันในสงครามกลางเมือง ทั้งสองฝ่ายยังคงสถานะเป็นพันธมิตรต่อกัน ซึ่งใน ค.ศ. 1344 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ดินแดนนครฟิลิปโปโปลิส (ปลอฟดิฟ) รวมไปถึงป้อมปราการสำคัญ 9 แห่งบริเวณเทือกเขารอดอปปีจากการที่พระองค์สนับสนุนกลุ่มของผู้สำเร็จราชการ[3][19] จากการพลิกกลับอย่างสันตินี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งสุดท้ายของการดำเนินนโยบายการต่างประเทศในรัชสมัยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์

ความรุ่งเรืองของเซอร์เบียและภัยจากออตโตมัน

เหรียญเงินของอีวัน อาแลกซันเดอร์, บัลแกเรีย, 1331–1371

การเข้าไปมีส่วนร่วมของเซอร์เบียในสงครามกลางเมืองไบแซนไทน์ ส่งผลให้เซอร์เบียได้ประโยชน์จากสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการได้ดินแดนมาซิโดเนีย พื้นที่เกือบทั้งหมดของแอลเบเนียและตอนเหนือของกรีซ ใน ค.ศ. 1345 พระมหากษัตริย์แห่งเซอร์เบียเริ่มเรียกพระองค์เองเป็น "จักรพรรดิของชาวเซิร์บและกรีก" พร้อมทั้งราชาภิเษกพระองค์เองขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยได้รับการสวมมงกุฎจากอัครบิดรแห่งเซอร์เบีย ซึ่งเป็นตำแหน่งตั้งใหม่ใน ค.ศ. 1346[5] การกระทำเช่นนี้แม้เป็นการสร้างความไม่ขุ่นเคืองให้กับไบแซนไทน์ แต่พบว่าบัลแกเรียเป็นผู้สนับสนุนการกระทำเช่นนั้น โดยอัครบิดรซีแมออนแห่งบัลแกเรียมีส่วนร่วมในการสถาปนาเขตอัครบิดรแปชี (Serbian Patriarchate of Peć) และร่วมงานบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นจักรพรรดิของพระเจ้าสแตฟัน อูรอสที่ 4[20]

ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ทศวรรษ 1340 ความสำเร็จระยะแรกของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เริ่มเหลือน้อยเต็มที บัลแกเรียซึ่งเผชิญกับความเสียหายจากกาฬมรณะ ยิ่งอยู่ในสภาวะที่เลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการปล้นสะดมในพื้นที่เธรซช่วง ค.ศ. 1346, 1347, 1349, 1352 และ 1354 โดยกองกำลังพันธมิตรชาวตุรกีของจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอส[21] บัลแกเรียพยายามที่จะขับไล่ผู้รุกรานออกไป แต่ประสบกับความล้มเหลว พร้อมกับการสิ้นพระชนม์ของพระโอรสพระองค์ที่ 3 อีวัน อาแซนที่ 4 ใน ค.ศ. 1349 และพระโอรสองค์โต มีคาอิล อาแซนที่ 4 ใน ค.ศ. 1355 หรือก่อนหน้านั้นเพียงเล็กน้อย[22]

สงครามกลางเมืองไบแซนไทน์ได้จบสิ้นลงใน ค.ศ. 1351 และจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอสได้ตระหนักถึงภัยอันตรายจากออตโตมันต่อดินแดนในคาบสมุทรบอลข่าน ดังนั้นพระองค์จึงหันไปสร้างพันธมิตรกับเซอร์เบียและบัลแกเรีย เพื่อร่วมมือกันต่อต้านกองกำลังชาวตุรกี ในการนี้ไบแซนไทน์ได้ร้องขอเงินจากซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เพื่อนำไปต่อเรือรบ[5][23] อย่างไรก็ตามการสร้างพันธมิตรระหว่างกันดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านไม่ไว้วางใจในเจตนาของไบแซนไทน์[24] ความพยายามครั้งใหม่ที่จะแสวงหาความร่วมมือระหว่างบัลแกเรียและไบแซนไทน์เกิดขึ้นอีกครั้งใน ค.ศ. 1355 [25]เมื่อจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสทรงบังคับให้จักรพรรดิจอห์นที่ 6 คันตาคูเซนอสสละราชสมบัติ ส่งผลให้จักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสทรงเป็นผู้ปกครองสูงสุดของจักรวรรดิแต่เพียงผู้เดียว พระองค์ได้สร้างพันธมิตรกับบัลแกเรีย เพื่อให้สัญญาการเป็นพันธมิตรมีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการกำหนดให้พระราชโอรสของพระองค์ อันโดรนิคอสที่ 4 พาลาโอโลกอสอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงแกรัตซา พระธิดาของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ [26][3] แต่การสร้างพันธมิตรระหว่างกันในครั้งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่สำคัญแต่ประการใด[27]

ปัญหาความมั่นคงภายในและความขัดแย้งจากภายนอก

เหรียญแสดงภาพของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และมีคาอิล อาแซนที่ 4 (ขวา)

ประมาณ ค.ศ. 1349 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงหย่ากับซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคียพระชายาพระองค์แรกด้วยเหตุผลการรักษาความมั่นคงภายใน และอภิเษกสมรสใหม่กับซารีนาซารา–แตออดอรา ซึ่งเคยนับถือศาสนายูดาย และเปลี่ยนมานับถืออีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในภายหลัง[5] การอภิเษกสมรสใหม่ครั้งนี้ ส่งผลให้ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทรงมีพระราชบุตรเพิ่มขึ้น และได้แต่งตั้งพระราชบุตรเหล่านี้ให้ดำรงตำแหน่งจักรพรรดิร่วม ประกอบด้วย อีวัน ชิชมัน ใน ค.ศ. 1365 และอีวัน อาแซนที่ 5 ใน ค.ศ. 1359 อย่างไรก็ตามพระโอรสที่ประสูติแต่ซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นจักรพรรดิร่วมในวีดินคือ อีวัน สรัตซีมีร์ เปลี่ยนเป็นผู้ปกครองดินแดนอย่างอิสระใน ค.ศ. 1356[5] ส่วนซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เป็นผู้ควบคุมผู้ปกครองใต้อาณัติที่เข้มแข็ง อย่างวอเลเคียและโดบรูยา ซึ่งผู้ปกครองเหล่านี้ได้พยายามที่จะดำเนินนโยบายต่างประเทศด้วยตนเองมากขึ้น[28]

ตั้งแต่ช่วงกลางของคริสต์ศตวรรษที่ 14 เป็นต้นไป บัลแกเรียประสบปัญหากับการขยายอำนาจของพระเจ้าหลุยส์ที่ 1 แห่งฮังการีแห่งราชวงศ์กาเปเตียง อองจู ซึ่งได้ควบรวมดินแดนมอลเดเวียไว้ในอำนาจใน ค.ศ. 1352 และสถาปนาพื้นที่แห่งนั้นขึ้นเป็นราชรัฐภายใต้อาณัติของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังนำกองกำลังฮังการีเข้ายึดครองเมืองวีดินใน ค.ศ. 1365[5][23] และจับตัวซาร์อีวัน สรัตซีมีร์และพระบรมวงศานุวงศ์เป็นเชลย[5][28]

การทำสงครามของอมาเดอุสที่ 6 ในบัลแกเรีย (1366–67)

ใน ค.ศ. 1364 บัลแกเรียและไบแซนไทน์เริ่มมีปัญหาการกระทบกระทั่งระหว่างกันอีกครั้ง และใน ค.ศ. 1366 ความขัดแย้งนี้เริ่มรุนแรงขึ้น เมื่อจักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอสกำลังเสด็จกลับจากการเสด็จประพาสพื้นที่ทางภาคตะวันตก แต่บัลแกเรียปฏิเสธไม่ให้ไบแซนไทน์เดินทางผ่านดินแดนของบัลแกเรีย การกระทำเช่นนี้ของบัลแกเรียก่อให้เกิดผลย้อนกลับ เมื่ออมาเดอุสที่ 6 แห่งซาวอยซึ่งเป็นพันธมิตรกับไบแซนไทน์ ได้นำกองกำลังครูเสด ยึดเมืองชายทะเลหลายแห่งของบัลแกเรีย เช่น อันคีอาลอส (ปอมอรีแอ) และเมเซมเบรีย (แนแซเบอร์) เป็นการตอบโต้ รวมไปถึงได้พยายามยึดเมืองวาร์นา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์จำยอมต้องเจรจาสันติภาพ[29]

ผลของการตกลงสันติภาพในครั้งนี้ จักรพรรดิจอห์นที่ 5 พาลาโอโลกอส ตกลงจ่ายเงินให้บัลแกเรียเป็นจำนวน 180,000 ฟลอริน ในขณะที่เมืองที่กองกำลังครูเสดยึดได้ตกเป็นของไบแซนไทน์[5] ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์นำเงินที่ได้และการยอมตกลงมอบดินแดนบางส่วนให้เพื่อจูงใจให้ผู้ปกครองดินแดนภายใต้อาณัติโดยนิตินัยอย่างดอบรอติดซาแห่งโดบรูยา[30] และวลัดดีสลัฟที่ 1 แห่งวอเลเคีย[31][32] ช่วยเหลือในการช่วงชิงวีดินกลับคืนมาจากฮังการี[33] สงครามครั้งนี้ประสบความสำเร็จ และใน ค.ศ. 1369 ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ได้กลับมาปกครองวีดินอีกครั้งหนึ่ง ถึงแม้ว่าพระมหากษัตริย์แห่งฮังการีจะบังคับให้ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ยอมรับว่าอยู่ภายใต้อำนาจของฮังการีก็ตาม[34]

แม้ว่าจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขวิกฤตที่เกิดขึ้นทางตะวันตกเฉียงเหนือ แต่ความสำเร็จนี้ไม่สามารถช่วยให้ดินแดนที่สูญเสียไปทางภาคตะวันออกเฉียงใต้กลับคืนมาได้ สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายมากยิ่งขึ้นเมื่อสุลต่านมูรัดที่ 1 แห่งออตโตมันทำสงครามรุกรานพื้นที่บริเวณเธรซใน ค.ศ. 1361 และสามารถยึดอเดรียโนเปิลได้สำเร็จใน ค.ศ. 1369 และสถาปนาเมืองแห่งนี้เป็นเมืองหลวงเพื่อใช้ในการขยายอำนาจต่อไป นอกจากนี้ออตโตมันยังเข้ายึดเมืองฟิลิปโปโปลิสและแบรอแอ (สตาราซากอรา) ซึ่งเป็นเมืองสำคัญของบัลแกเรีย[35] ระหว่างที่เหล่าเจ้าชายในบัลแกเรียและเซอร์เบียในมาซีโดเนียกำลังร่วมมือกันเพื่อต่อต้านออตโตมัน ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เสด็จสวรรคตในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1371[36] พระโอรสของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ทั้งสองพระองค์เป็นผู้สืบพระอิสริยยศ ซาร์แห่งบัลแกเรีย โดยอีวัน สรัตซีมีร์ขึ้นครองราชย์ในวีดิน[23] ส่วนอีวัน ชิชมันขึ้นครองราชย์ในเตอร์นอวอ[23] ขณะที่ผู้ปกครองของโดบรูยาและวอเลเคียมีอิสระในการปกครองมากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมและศาสนา

ภาพเหมือนผู้อุทิศร่วมสมัยในจิตรกรรมฝาผนังของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์

ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ จักรวรรดิบัลแกเรียที่ 2 เข้าสู่ยุคสมัยแห่งการฟื้นฟูวัฒนธรรม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของวัฒนธรรมบัลแกเรียครั้งที่ 2[37][38] โดยยุคทองครั้งแรกเกิดขึ้นในรัชสมัยของซาร์ซีแมออนที่ 1 แห่งบัลแกเรีย[39] ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้มีพระบรมราชโองการให้สร้างและซ่อมแซมอารามและโบสถ์หลายแห่ง[3][40] โดยพบภาพเหมือนผู้อุทิศของพระองค์ปรากฏอยู่ในออสชัวรีของอารามบัคกอฟสกีและในโบสถ์หินสกัดแห่งอีวันนอวอ[41] นอกจากนี้เอกสารการบริจาคของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอและหลักฐานอื่นช่วยพิสูจน์ให้ทราบว่ามีศาสนสถานหลายแห่งได้รับการบูรณะหรือสร้างใหม่ในรัชสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ เช่น มหาวิหารพระมารดาแห่งพระเจ้าเอเลอูซาและโบสถ์เซนต์นิโคลัสที่เมืองแนแซเบอร์[5][41] และอารามแปแชสกี ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองแปรนิกเป็นต้น [41][42] นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นผู้ริเริ่มการก่อสร้างอารามดรากาเลฟสกีและอารามในเมืองกีลีฟาแรวออีกด้วย[5]

นอกจากการสร้างและบูรณะศาสนสถานหลายแห่งแล้ว ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์มีพระบรมราโชบายในการเสริมสร้างสถานะของคริสตจักรบัลแกเรียออร์ทอดอกซ์ให้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น ด้วยการไล่ล่าและจับกุมกลุ่มนอกรีตและยิว[43] นอกจากนี้พระองค์ยังจัดการประชุมทางศาสนา ซึ่งมีการตำหนิกลุ่มนิกายนอกรีต เช่น ลัทธิบอกอมิล แอดาไมต์และยูไดห์เซอร์[5][44] เป็นจำนวน 2 ครั้ง ใน ค.ศ. 1350 และ ค.ศ. 1359–1360[45]

ในรัชสมัยของพระองค์ แตออดอซีย์แห่งเตอร์นอวอเป็นผู้แทนชาวบัลแกเรียคนสำคัญในขบวนการฝึกจิตวิญญาณที่เรียกว่าเฮซิแคซึม ซึ่งเป็นวิธีการสวดภาวนารูปแบบหนึ่งที่เน้นการภาวนาในความเงียบสงบและจิตจดจ่ออยู่กับการภาวนา เป็นแนวทางที่ได้รับความนิยมทั่วไปในดินแดนที่นับถืออีสเทิร์นออร์ทอดอกซ์ในช่วงคริสต์ศวรรษที่ 14[46]

นอกจากกิจกรรมทางด้านศาสนาแล้ว กิจกรรมทางด้านวรรณกรรมก็เฟื่องฟูเช่นกัน โดยพบงานวรรณกรรมสำคัญหลายชิ้นที่เขียนขึ้นในสมัยนี้ เช่น การแปลบันทึกเหตุการณ์ของมานาสสิส (ค.ศ. 1344–1345) เป็นภาษาบัลแกเรีย ปัจจุบันงานแปลชิ้นนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในหอจดหมายเหตุนครรัฐวาติกัน[5][47] พระวรสารซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดบริติช[48] หนังสือเพลงสวดสดุดีตอมีชอฟ (ค.ศ. 1360) ปัจจุบันเก็บรักษาที่มอสโคว [5] และหนังสือเพลงสวดสดุดีโซเฟีย (ค.ศ. 1337)[49] เป็นต้น

ด้านกิจกรรมทางการค้า จักรวรรดิบัลแกเรียมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับมหาอำนาจทางการค้าในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ได้แก่สาธารณรัฐเวนิส สาธารณรัฐเจนัวและสาธารณรัฐรากูซา[50] โดยใน ค.ศ. 1353 ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้ออกกฎบัตรอนุญาตให้พ่อค้าชาวเวนิสสามารถซื้อหรือขายสินค้าในดินแดนบัลแกเรียได้ หลังจากที่ดอเจอันเดรอา ดานโดโลยืนยันจะเคารพสนธิสัญญาที่ทั้ง 2 ประเทศได้ทำร่วมกันไว้[51]

อีวัน วาซอฟ ซึ่งเป็นกวีและนักประพันธ์ของบัลแกเรียในยุคสมัยใหม่ ได้แรงบันดาลใจจากยุคสมัยของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ โดยแต่งนิยายสั้นเรื่อง Ivan–Aleksandǎr[52] และบทนาฏกรรม Kǎm propast (สู่ห้วงลึก) ซึ่งงานทั้งสองชิ้นนี้มีซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์เป็นตัวละครหลัก[52]

ช่วงคริสต์ทศวรรษ 1970 มีการค้นพบชิ้นส่วนของเสื้อผ้า ซึ่งลงพระนามโดยซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์และถูกร้อยเข้าด้วยทองคำในสุสานของชนชั้นสูงใกล้กับเมืองพีรอต ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเซอร์เบียในเบลเกรด โดยการค้นพบในครั้งนี้ช่วยยืนยันธรรมเนียมที่เกิดขึ้นในยุคกลางของผู้ปกครองออร์ทอดอกซ์ที่จะพระราชทานเสื้อผ้าที่เคยสวมใส่ให้กับบุคคลสำคัญ[53]

ชื่อสถานที่ในปัจจุบัน ซึ่งตั้งตามพระนามของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์ได้แก่ แหลมอีวัน อาแลกซันเดอร์บนเกาะเนลสันในหมู่เกาะเชตแลนด์ใต้ของทวีปแอนตาร์กติกา[54]

พระราชบุตร

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อภิเษกสมรสครั้งแรกกับซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย พระธิดาของบาซารับที่ 1 แห่งวอเลเคีย มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งรวมถึงซาร์อีวัน สรัตซีมีร์ ซึ่งเป็นซาร์แห่งบัลแกเรียในวีดินระหว่าง ค.ศ. 1356–1397 เจ้าชายมีคาอิล อาแซนที่ 4 และเจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 4

ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 กับซารีนาซารา–แตออดอรา มีพระโอรสธิดาหลายพระองค์ ซึ่งรวมถึงจักรพรรดินีแกรัตซา ซึ่งอภิเษกสมรสกับจักรพรรดิอันโดนิคอสที่ 4 พาลาโอโลกอส จักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ ซาร์อีวัน ชิชมันซึ่งสืบราชสมบัติในฐานะซาร์แห่งบัลแกเรียในเตอร์นอวอ เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 5 เจ้าหญิงแกรา ตามาราซึ่งครั้งแรกอภิเษกสมรสครั้งแรกกับเดิสเปิตกอนสตันตินและครั้งที่ 2 กับสุลต่านมูรัดที่ 1[55] แห่งจักรวรรดิออตโตมัน[8] รวมไปถึงพระธิดา 2 พระองค์ คือ เจ้าหญิงแดซิสลาวาและเจ้าหญิงวาซีลีซา[8]

พงศาวลีของซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์[8][26]
สรัตซีมีร์แห่งเกริน เจ้าหญิงแกรัตซา แปตริตซา
1 2
ซารีนาแตออดอราแห่งวอเลเคีย ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์
(สวรรคต 1371 ครองราชย์ 1331–1371)
ซารีนาซารา-แตออดอรา
1 1 1 2 2 2 2 2 2
เจ้าชายมีคาอิล อาแซนที่ 4 ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์
(ประสูติ 1324 สวรรคต 1397,
ครองราชย์ 1356–1397)
จักรพรรดินีแกรัตซา-มารียา
(ประสูติ 1348, สิ้นพระชนม์ 1390)
เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 5 เจ้าหญิงวาซีลีซา
เจ้าชายอีวัน อาแซนที่ 4 เจ้าหญิงแกรา ตามารา ซาร์อีวัน ชิชมัน
(ประสูติ 1350–1351, สวรรคต 1395,
ครองราชย์ 1371–1395)
เจ้าหญิงแดซิสลาวา

อ้างอิง

เชิงอรรถ

  1. พบการสะกดแบบนี้ในกฎบัตรของบัลแกเรียในยุคกลาง Daskalova, Angelina; Marija Rajkova (2005). Gramoti na bǎlgarskite care (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences. pp. 58–59. ISBN 954-322-034-4.
  2. For example in "John Alexander (emperor of Bulgaria)". Encyclopædia Britannica Online. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Lalkov, Rulers of Bulgaria, pp. 42–43.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Bǎlgarite i Bǎlgarija, 2.1
  5. 5.00 5.01 5.02 5.03 5.04 5.05 5.06 5.07 5.08 5.09 5.10 5.11 5.12 5.13 5.14 5.15 5.16 5.17 5.18 Delev, Istorija i civilizacija za 11. klas
  6. 6.0 6.1 Castellan, Georges (1999). Histoire des Balkans, XIVe–XXe siècle (ภาษาฝรั่งเศส). Paris: Fayard. p. 42. ISBN 2-213-60526-2.
  7. Fine, Late Medieval Balkans, p. 273.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 Bozhilov, Familiyata na Asenevtsi, pp. 192–235.
  9. Fine, Late Medieval Balkans, p. 273.
  10. 10.0 10.1 Fine, Late Medieval Balkans, p. 274.
  11. ดั้งเดิมมาจาก Sofia Psalter, folios 311a–312b. Adapted by Canev, Bǎlgarski hroniki, pp. 459–460.
  12. บทความดั้งเมฉบับเต็มในภาษาบัลแกเรียกลาง ค้นได้จาก Arhangelskij, A. S. (1897). "Bolgarskij "pěsnivec" 1337 goda. "Pohvala" i otryvok psaltyrnago teksta". Izvestija ORJAS IAN (ภาษารัสเซีย). สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
  13. Božilov, Familijata na Asenevci, pp. 192–197.
  14. Andreev, Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v., pp. 33–41.
  15. Andreev, Balgariya prez vtorata chetvart na XIV v., pp. 23–52.
  16. Based on Lalkov, Rulers of Bulgaria
  17. Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Esenta, 1341 g."
  18. Fine, Late Medieval Balkans, pp. 292–293.
  19. Fine, Late Medieval Balkans, p. 304.
  20. Fine, Late Medieval Balkans, pp. 309–310.
  21. Fine, Late Medieval Balkans, pp. 322, 325, 328.
  22. Andreev, Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v., pp. 67–75.
  23. 23.0 23.1 23.2 23.3 Bǎlgarite i Bǎlgarija, 2.2
  24. Fine, Late Medieval Balkans, p. 325.
  25. Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "1355 g."
  26. 26.0 26.1 Božilov, Ivan; Vasil Gjuzelev (2006). Istorija na srednovekovna Bǎlgarija VII–XIV vek (tom 1) (ภาษาบัลแกเรีย). Anubis. ISBN 954-426-204-0.
  27. Božilov, Familijata na Asenevci, pp. 218–224.
  28. 28.0 28.1 Fine, Late Medieval Balkans, p. 366.
  29. Fine, Late Medieval Balkans, p. 367.
  30. Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Dobrotica (neizv.–okolo 1385)"
  31. Koledarov, Petǎr (1989). Političeska geografija na srednovekovnata bǎlgarska dǎržava 2 (1186–1396) (ภาษาบัลแกเรีย). Bulgarian Academy of Sciences. pp. 13–25, 102.
  32. Miletič, Ljubomir (1896). "Dako-romǎnite i tjahnata slavjanska pismenost. Novi vlaho-bǎlgarski gramoti ot Brašov". Sbornik Za Narodni Umotvorenija, Nauka I Knižnina (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia. 2 (13): 47. สืบค้นเมื่อ 2007-02-11.
  33. Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Esenta, 1369 g."
  34. Fine, Late Medieval Balkans, pp. 367–368.
  35. Tjutjundžiev and Pavlov, Bǎlgarskata dǎržava i osmanskata ekspanzija
  36. Fine, Late Medieval Balkans, p. 368.
  37. Čavrǎkov, Georgi (1974). "Bǎlgarski manastiri" (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Nauka i izkustvo. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  38. Kǎnev, Petǎr (2002). "Religion in Bulgaria after 1989". South-East Europe Review (1): 81. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-29. สืบค้นเมื่อ 2020-06-19.
  39. "1.2.3 "Zlaten vek" na bǎlgarskata kultura". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.
  40. Sinodik na Car Boril, additions from the 13th and 14th century, cited in Canev, Bǎlgarski hroniki, p. 456.
  41. 41.0 41.1 41.2 "Izobraženijata na Ivan Aleksandǎr ot XIV vek" (ภาษาบัลแกเรีย). สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  42. "Manastiri" (ภาษาบัลแกเรีย). Infotel.bg. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ January 17, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  43. "The Virtual Jewish History Tour Bulgaria". Jewish Virtual Library. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  44. Canev, Bǎlgarski hroniki, p. 457.
  45. Karamihaleva, Aleksandra. "Bǎlgarskite patriarsi prez Srednovekovieto" (ภาษาบัลแกเรีย). Cǎrkoven vestnik. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-01-01. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  46. "Sv. prepodobni Teodosij Tǎrnovski" (ภาษาบัลแกเรีย). Pravoslavieto.com. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  47. Gjuzelev, Vasil (1963). "Njakoi pametnici na starobǎlgarskata knižnina" (ภาษาบัลแกเรีย). Kosmos. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 24, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  48. "Gospels of Tsar Ivan Alexander". British Library. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ February 13, 2006. สืบค้นเมื่อ 2006-03-25.
  49. Miltenova, Anisava (June 2005). "ИЗЛОЖБИ" [Exhibitions]. Informacionen Bjuletin Na BAN (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences (89): 24. ISSN 1312-5311.
  50. glaven red.: Evgeni Golovinski (2005). "Ivan Aleksandǎr Asen (?–1371)". Bǎlgarska enciklopedija A–JA – treto osǎvremeneno izdanie (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Trud, Sirma. ISBN 954-528-519-2.
  51. Bakalov, Istorija na Bǎlgarija, "Venecianska gramota"
  52. 52.0 52.1 "Biografični beležki – Ivan Vazov" (ภาษาบัลแกเรีย). Slovoto. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  53. Beniševa, Daniela (2002-11-18). "Otkrita e unikalna zlatotkana dreha na Car Ivan Aleksandǎr" (ภาษาบัลแกเรีย). Bǎlgarska armija. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 30, 2007. สืบค้นเมื่อ 2007-02-03.
  54. Composite Gazetteer of Antarctica: Ivan Alexander Point.
  55. Sugar, Pete (1983). Southeastern Europe Under Ottoman Rule, 1354–1804. University of Washington Press. p. 16. ISBN 0-295-96033-7.

บรรณานุกรม

  • Andreev, Jordan; Ivan Lazarov; Plamen Pavlov (1999). Koj koj e v srednovekovna Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย) (2nd ed.). Sofia: Petǎr Beron. ISBN 954-402-047-0.
  • Andreev, Jordan (1993). Bǎlgarija prez vtorata četvǎrt na XIV v. (ภาษาบัลแกเรีย). Veliko Tǎrnovo: Sv. Kliment Ohridski. OCLC 69163573.
  • Angelov, Petǎr (1982) [1978]. Bǎlgaro-srǎbskite otnošenija pri caruvaneto na Ivan Aleksandǎr (1331–1371) i Stefan Dušan (1331–1355) (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Sofia University Press.
  • Bakalov, Georgi; Milen Kumanov (2003). Elektronno izdanie – Istorija na Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Trud, Sirma. ISBN 954528613X.
  • Božilov, Ivan (1985). Familijata na Asenevci (1186–1460) (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia: Bulgarian Academy of Sciences. OCLC 14378091.
  • Canev, Stefan (2006). "11 Kǎm propast. Car Ivan Aleksandǎr, Momčil". Bǎlgarski hroniki (ภาษาบัลแกเรีย). Sofia, Plovdiv: Trud, Žanet 45. ISBN 954-528-610-5.
  • Delev, Petǎr; Valeri Kacunov; Plamen Mitev; Evgenija Kalinova; Iskra Baeva; Bojan Dobrev (2006). "19 Bǎlgarija pri Car Ivan Aleksandǎr". Istorija i civilizacija za 11. klas (ภาษาบัลแกเรีย). Trud, Sirma.
  • Fine, Jr., John V.A. (1987). The Late Medieval Balkans. Ann Arbor: University of Michigan Press. ISBN 0-472-08260-4.
  • Lalkov, Milčo (1997). "Tsar Ivan Alexander (1331–1371)". Rulers of Bulgaria. Sofia: Kibea. ISBN 954-474-334-0.
  • Tjutjundžiev, Ivan; Plamen Pavlov (1992). Bǎlgarskata dǎržava i osmanskata ekspanzija 1369–1422 (ภาษาบัลแกเรีย). Veliko Tǎrnovo. OCLC 29671645.
  • "2.1 Sǎzdavane i utvǎrždavane na Vtorata bǎlgarska dǎržava. Vǎzstanovenata dǎržavnost". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.
  • "2.2 Balkansko kǎsogledstvo. Opitǎt da se oceljava poedinično". Bǎlgarite i Bǎlgarija (ภาษาบัลแกเรีย). Ministry of Foreign Affairs of Bulgaria, Trud, Sirma. 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-09-07.

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า ซาร์อีวัน อาแลกซันเดอร์แห่งบัลแกเรีย ถัดไป
ซาร์อีวัน สแตฟันแห่งบัลแกเรีย
ซาร์แห่งบัลแกเรีย
(ราชวงศ์สรัตซีมีร์)

(ค.ศ. 1331–1371)
ซาร์อีวัน ชิชมันแห่งบัลแกเรีย
ซาร์อีวัน สรัตซีมีร์แห่งบัลแกเรีย

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!