งูงวงช้าง (อังกฤษ: Elephant trunk snake; ชื่อวิทยาศาสตร์: Acrochordus javanicus) เป็นงูน้ำขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ไม่มีพิษ อยู่ในวงศ์ Acrochordidae จัดอยู่ในวงศ์เดียวและสกุลเดียวกับงูผ้าขี้ริ้ว (A. granulatus) ซึ่งในประเทศไทยพบเพียง 2 ชนิดนี้เท่านั้น
งูงวงช้างมีผิวหนังย่นและสากแบบเปลือกขนุน หัวแบนเล็ก เกล็ดบนลำตัวมีลักษณะเป็นตุ่ม รวมถึงเกล็ดบริเวณด้านท้องซึ่งแตกต่างจากงูชนิดอื่น ท้องสีขาว ไม่มีลวดลาย ลำตัวป้อมอ้วนสั้น ฟันแหลมคม ถ้าอยู่พ้นน้ำจะมีสีเหลืองนวล แต่ถ้าอยู่ในน้ำจะมีสีน้ำตาลดำ มีความยาวประมาณ 1 เมตร
เป็นงูที่อาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา อาหารหลักคือ ปลา สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย ในต่างประเทศพบได้ที่อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา, พม่า, ลาว โดยจะขุดรูอยู่ตามริมตลิ่ง อุปนิสัยไม่ดุ ปกติมักอยู่นิ่ง ๆ ไม่ขยับเขยื้อน แต่ถ้าถูกรบกวนมักจะใช้ลำตัวรัดพัน ดังนั้นเมื่อมีคนลงไปว่ายน้ำในถิ่นที่งูงวงช้างอาศัยอยู่ มักจะถูกงูรัด ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นผีพรายมาฉุด ออกลูกเป็นตัว ครั้งละ 25-30 ตัว ลูกที่เกิดใหม่มีความยาวประมาณ 29 เซนติเมตร ซึ่งสามารถกินอาหารได้เลย [2]
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Acrochordus javanicus ที่วิกิสปีชีส์