กุนน์ฮิลด์ สเวนสด็อททีร์ หรือ กุนน์ฮิลด์ ฮารัลด์สด็อททีร์ หรือ กูดา (สิ้นพระชนม์ที่ กุดเฮม , เวสเตร์เยิตลันด์ , สวีเดน ราวค.ศ. 1060) จากพงศาวดารระบุว่าพระนางเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน และเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของพระนางมีความคลุมเครือมากจนนักประวัติศาสตร์สมัยใหม่หลายคน ยืนยันว่า มีพระราชินีสองพระองค์ที่มีพระนามเดียวกัน ในสวีเดนและเดนมาร์ก[ 1] บางครั้งพระนางทรงถูกเรียกพระนามว่า กูเดอ หรือ กูริดเย แต่อาจเป็นการเรียกเพื่อไม่ให้สับสนกับ กูดาแห่งสวีเดน พระราชธิดา หรืออาจเป็นพระราชธิดาเลี้ยงของพระนาง ดังนั้นจึงมีการรู้จักในพระนามว่า กุนน์ฮิลด์ [ 2]
ภูมิหลัง
ตามพงศาวดารเฮมสกริงลา ของสนอร์รี สตูร์ลูสัน (ราว ค.ศ. 1230) และพงศาวดารนีทลิงกา (ทศวรรษที่ 1250) ระบุว่า กุนน์ฮิลด์เป็นธิดาในยาร์ล ชาวนอร์เวย์ ชื่อ สเวน โฮกุนนาร์สัน และเจ้าหญิงโฮล์มฟริดแห่งสวีเดน พระธิดาที่เกิดแต่พระสนมของพระเจ้าโอลอฟ สเคิตโคนุงแห่งสวีเดน และเจ้าหญิงโฮล์มฟริดเป็นพระขนิษฐาในพระเจ้าเอมุนด์ ผู้อาวุโส แห่งสวีเดน ซิกริด พี่สาวของกุนน์ฮิบด์ได้แต่งงานกับขุนนางชื่อ อัสลัคส์ เออลิงส์สันในแยเรน [ 3]
สมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน
สเวน โฮกุนนาร์สันครองที่ดินบางส่วนของนอร์เวย์แต่เป็นศักดินาภายใต้กษัตริย์โอลอฟ สเคิตโคนุงแห่งสวีเดน ในค.ศ. 1015 สเวนพ่ายแพ้ในการรบกับผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ คือ พระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์ และเขาพร้อมครอบครัวจำต้องหลบหนีมายังสวีเดน จากพงศาวดารที่ใกล้เคียงยุคร่วมสมัยของอดัมแห่งเบรเมิน ระบุว่า กุนน์ฮิลด์ได้อภิเษกสมรสกับพระราชโอรสที่ประสูติแต่พระราชินีและเป็นผู้สืบราชบัลลังก์ของกษัตริย์โอลอฟ สเคิตโคนุง คือ พระเจ้าอานุนด์ ยาค็อบแห่งสวีเดน (ค.ศ. 1022 - ราว ค.ศ. 1050) กษัตริย์อานุนด์มีศักดิ์เป็นสมเด็จอาฝ่ายแม่ของกุนน์ฮิลด์ การอภิเษกสมรสไม่มีวันที่ระบุชัดเจน ข้อมูลดังกล่าวพบในงานเขียนแบบ สคอเลียน ระบุว่า "กุนน์ฮิลด์ พระมเหสีม่ายในอานุนด์ ไม่ใช่คนเดียวกันกับกูดาที่ถูกสังหารโดยทอรา"[ 4] สคอเลียน อ้างถึงข้อความหลักในงานของอดัมแห่งเบรเมิน ซึ่งบรรยายว่า กุนน์ฮิลด์ประทับอยู่ในสวีเดน ราว ค.ศ. 1056 หลังจากการอภิเษกสมรสกับพระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ต้องสิ้นสุดลง[ 5] โดยพื้นฐานของสคอเลียน เป็นเรื่องปกติในการเขียนประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุคเก่าที่ระบุตัวตนสมเด็จพระราชินีกุนน์ฮิลด์แห่งสวีเดนและเดนมาร์กเป็นคนละคนกัน สิ่งนี้ถูกปฏิเสธโดยนักประวัติศาสตร์ สตูเร บอลิน ซึ่งเขาได้พินิจพิเคราะห์งานของอดัมอย่างใกล้ชิด โดยเขาระบุว่ากุนน์ฮิลด์เป็นบุคคลสองคนที่ไม่ใช่คนเดียวกัน ซึ่งคนที่เป็นสมเด็จพระราชินีเดนมาร์กนั้นเป็นธิดาของสเวน โฮกุนสัน[ 6] นักวิชาการอีกสองคนต่อมาคือ ทอเร นูแบร์กและคาร์ล ฮัลเลนครูทซ์ ได้บรรยายว่า ที่จริงแล้วกุนน์ฮิลด์อาจจะอภิเษกสมรสกับทั้งกษัตริย์อานุนด์และกษัตริย์สเวนที่ 2[ 7]
แหล่งข้อมูลร่วมสมัยไม่ได้บันทึกว่ากษัตริย์อานุนด์และพระราชินีกุนน์ฮิลด์ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน แต่นักประวัติศาสตร์เดนมาร์กในยุคหลังอย่าง แซ็กโซ แกรมมาติคัส และพงศาวดารไอซ์แลนด์ กล่าวว่า "กษัตริย์สวีเดน" โดยนัยอาจหมายถึง กษัตริย์อานุนด์ ยาค็อบ ทรงมีพระราชธิดาหนึ่งพระองค์คือ เจ้าหญิงกูดา ซึ่งบางครั้งเรียกว่า กูดา หรือ กุนด์ฮิลด์[ 8] มีความเป็นไปได้ที่เจ้าหญิงกูดาเป็นพระราชธิดาในกษัตริย์อานุนด์ที่ประสูติแต่สตรีนางอื่น และพระราชินีกุนน์ฮิลด์เป็นพระมารดาเลี้ยง แต่ทั้งพงศาวดารของแซ็กโซและของไอซ์แลนด์เป็นแหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นในยุคหลังแล้ว และข้อมูลเกี่ยวกับพระชนกและพระชนนีของเจ้าหญิงกูดาท้ายที่สุดอาจจะตีกลับไปสู่การตีความเอกสารของอดัมแห่งเบรเมินที่ผิดพลาด ตามเอกสารของอดัมระบุว่าเจ้าหญิงกูดา อภิเษกสมรสกับกษัตริย์สเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ซึ่งอภิเษกสมรสในช่วงที่กษัตริย์ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในสวีเดนในราว ค.ศ. 1047 แต่พระราชินีกูดาแห่งเดนมาร์กก็สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1048/49 โดยมีการอ้างว่าพระนางถูกวางยาพิษลอบปลงพระชนม์โดยพระสนมของกษัตริย์สเวนที่ชื่อว่า ทอรา[ 9]
สมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์ก
กษัตริย์อานุนด์ ยาค็อบเสด็จสวรรคต ราว ค.ศ. 1050 ถ้าหากว่ากุนน์ฮิลด์ทั้งสองคนเป็นคนๆ คนเดียวกัน ก็จะแสดงว่า สมเด็จพระพันปีหลวงได้เสด็จไปยังเดนมาร์กและอภิเษกสมรสกับพระสวามีม่ายของพระธิดา (หรือพระธิดาเลี้ยง) และเป็นอดีตพระราชบุตรเขย คือ พระเจ้าสเวนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก ตามพงศาวดารลุนเดนซิส ระบุว่าการอภิเษกสมรสครั้งนี้ยุติลงใน ค.ศ. 1052[ 10] ตามคำอ้างของอดัมแห่งเบรเมินว่า "เมื่อทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีสำหรับพระองค์ ในไม่ช้าพระองค์ก็หลงลืมพระเจ้าและทรงไปนำพระญาติจากสวีเดนมาเป็นพระมเหสี อาร์กบิชอป (แห่งฮัมบูร์ก-เบรเมิน)ไม่พอใจอย่างมากกับเรื่องนี้"[ 11] ทั้งสองพระองค์มีพระโอรสร่วมกันคือ เจ้าชายสเวน[ 12] แต่การอภิเษกสมรสครั้งนี้ก็ไม่นานนัก ศาสนจักรเห็นว่าการอภิเษกสมรสครั้งนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันเกินไป อาจเป็นเพราะทรงเป็นลูกพี่ลูกน้องกันหรือเพราะกษัตริย์สเวนเคยอภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระนาง และทั้งสองพระองค์ทรงถูกขู่ตัดขาดจากศาสนา ถ้าหากว่ายังไม่แยกจากกัน ในตอนแรก กษัตริย์สเวนทรงพิโรธอย่างมากและทรงขู่จะทำลายสังฆมณฑลเบรเมิน แต่อาร์คบิชอปยังคงยืนกรานในข้อเรียกร้องของเขา ในที่สุดสมเด็จพระสันตะปาปาลีโอที่ 9 ทรงมีคำขอต่อกษัตริย์มาเป็นลายลักษณ์อักษร กษัตริย์สเวนจึงทรงยอมจำนนต่อสมเด็จพระสันตะปาปาและยอมหย่าขาดจากพระราชินีของพระองค์[ 13] ดังนั้นอดีตพระราชินีกุนน์ฮิลด์ทรงถูกบังคับให้เสด็จกลับสวีเดน ราว ค.ศ. 1051/52 เรื่องของพระนางกุนน์ฮิลด์และการอภิเษกสมรสของพระธิดาของพระนางกับกษัตริย์สเวนได้สร้างความสับสนต่อประวัติศาสตร์นิพนธ์ในภายหลัง[ 14]
บั้นปลายพระชนม์ชีพ
หลังจากที่ต้องหย่าร้างอย่างไม่เต็มพระทัย อดีตพระราชินีกุนน์ฮิลด์แห่งเดนมาร์ก พระพันปีหลวงแห่งสวีเดนเสด็จกลับไปยังที่ดินของพระนางที่เวสเตร์เกิตลันด์ อดัมแห่งเบรเมินเรียกพระนางว่า แซงทิสซิมา และบรรยายถึงความเอื้อเฟื้อของพระนางต่อบิชอปอาดัลวาร์ด มิชชันนารี ผู้ซึ่งถูกกีดกันจากทิง หรือ สภาขุนนาง โดยพระเจ้าเอมุนด์ ผู้อาวุโส แห่งสวีเดน ผู้เป็นสมเด็จลุงของพระนางกุนน์ฮิลด์ อดัมบรรยายว่า อาดัลวาร์ดถูกพาไปยังที่ประทับของสมเด็จพระพันปีหลวงบนภูมิประเทศที่เป็นภูเขา นำโดยญาติของกษัตริย์ คือ สเตนคิล ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่หุบเขาแมลาเรน ในเวสเตร์เกิตลันด์ พระนางอุทิศตนให้กับ "ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และงานทางศาสนาอื่นๆ"[ 15]
ไม่มีสิ่งอื่นใดบันทึกถึงพระนางกุนน์ฮิลด์อีกในเอกสารร่วมสมัย ตามพงศาวดารที่ไม่น่าเชื่อถือในศตวรรษที่ 16 ของโยฮันเนส มักนุส ระบุว่า พระนางใช้เวลาที่เหลือในการกลับตัวกลับใจจากบาปและดำเนินกิจกรรมทางศาสนา พงศาวดารรายงานว่าพระนางได้จัดตั้งโรงผลิตสิ่งทอและเครื่องแต่งกายทางศาสนา ผลงานที่เป็นที่รู้จักของพระนางที่สุดก็คือ เครื่องแต่งกายของกลุ่มนักร้องประสานเสียงที่อาสนวิหารมหาวิหารรอสคิลด์ จากพงศาวดารของโยฮันเนส มักนุสระบุว่าพระนางทรงก่อตั้งคอนแวนต์โบสถ์กุดเฮม ในกลางศตวรรษที่ 11[ 16] แต่ในความเป็นจริง โบสถ์ถูกก่อตั้งในเวลาร้อยปีหลังจากนั้น (ค.ศ. 1152)[ 17] ตำนานของคอนแวนต์อาจเกิดขึ้นเพราะพระนางและเหล่าสตรีของพระนางต้องใช้ชีวิตในร่มศาสนาอย่างโดดเดี่ยวโดยจัดทำเครื่องแต่งกายของสมณเพศในพื้นที่ของพระนาง ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นที่กุดเฮม ตามพงศาวดารระบุว่า พระนางอาจสิ้นพระชนม์ที่กุดเฮม ซึ่งพระนางได้ "แสดงคุณธรรมมากมาย" ในระหว่างที่ทรงพ่ายแพ้ในการสมรส และพระศพถูกฝังไว้ในหลุมพระศพที่มีความคล้ายคลึงตัวตนของพระนาง
ปีที่ประสูติและสิ้นพระชนม์นั้นไม่เป็นที่รับรู้แน่ชัด แต่พระนางทรงมีพระชนม์ชีพยืนยาวกว่าพระสวามีองค์แรก (สิ้นพระชนม์ราว ค.ศ. 1050) และมีพระชนม์ชีพในช่วงรัชกาลของกษัตริย์เอมันด์ ผู้อาวุโส (ครองราชย์ราว ค.ศ. 1050-ราว ค.ศ. 1060) พระนางสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1060 หรือหลังจากนั้น
อ้างอิง
↑ Hans Gillingstam, "Gunhild", Svenskt biografiskt lexikon
↑ Sven Axelson (1955), Sverige i utländsk annalistik 900-1400 . Stockholm: Appelbergs, p. 34, 55.
↑ Snorre Sturluson (1993), Nordiska kungasagor. III. Magnus den gode till Magnus Erlingsson . Stockholm: Fabel, p. 100 (Harald Sigurdssons saga, Chapter 41); Knýtlinga saga, Chapter 23 [1] .
↑ Adam av Bremen (1984), Historien om Hamburgstiftet och dess biskopar . Stockholm: Proprius, p. 189 (Book III, Scholion 66).
↑ Adam av Bremen (1984), p. 140 (Book III, Chapter 15).
↑ Sture Bolin (1932), "Kring Mäster Adams text", Scandia 4, p. 230-8.
↑ Adam av Bremen (1984), p. 189.
↑ Saxo Grammaticus, Gesta danorum [2] ; Sven Axelson (1955), p. 34, 55-6.
↑ Adam av Bremen (1984), p. 192 (Book III, Scholion 72).
↑ Sven Axelson (1955), p. 55.
↑ Adam av Bremen (1984), p. 137 (Book III, Chapter 12).
↑ Knýtlinga saga, Chapter 23 [3]
↑ Adam av Bremen (1984), p. 137 (Book III, Chapter 12).
↑ Sven Axelson (1955), p. 55-6.
↑ Adam av Bremen (1984), p. 140 (Book III, Chapter 15).
↑ Johannes Magnus (1620), Swea och Götha Crönika . Stockholm: Ignatium Meurer, p. 515.
↑ Markus Hagberg (ed.) (2009), Gudhems kloster . Skara stiftshistoriska sällskaps skriftserie, 44. Skara: Skara stiftshistoriska sällskap.
วรรณกรรม
Adam av Bremen (1984), Historien om Hamburgstiftet och dess biskopar . Stockholm: Proprius. Libris 7604979. ISBN 91-7118-447-3
Blomberg, Assar (1916), Några anteckningar om Gudhems Församling i Västergötland (Some notes of the congregation of Gudhem in Västergötland). A J Lindgrens Boktryckeri.
Gillingstam, Hans, ”Gunhild”, Svenskt biografiskt lexikon [4] Accessed 27 November 2012.
Henrikson, Alf (1989), Dansk historia (Danish history). Stockholm: Bonnier.
* ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์ด้วย
^ ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเดนมาร์กด้วย
† ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งนอร์เวย์
‡ ทรงเป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดน