กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 และ 2 (สหประชาชาติ)

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 และ 2 (สหประชาชาติ)
กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1
กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)
กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) ระหว่างการซ่อมแซมสะพานแบลี่ย์
ประจำการ3 กุมภาพันธ์ 2535 – ตุลาคม 2536
ประเทศไทย
เหล่า กองทัพบกไทย
รูปแบบผู้มิใช่พลรบ
บทบาทการทำลายล้างวัตถุระเบิด
การป้องกันกำลังรบ
ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
การแทรกแซงด้านมนุษยธรรม
วิศวกรรมการทหาร
การส่งกำลังบำรุงทางทหาร
การตรวจตราทางทหาร
การรักษาสันติภาพ
การลาดตระเวน
การสงครามในเมือง
กำลังรบ
  • 1,151 นาย
    • 446 นาย (พัน.ช.ฉก.ที่ 1)
    • 705 นาย (พัน.ช.ฉก.ที่ 2 (สหประชาชาติ))
ขึ้นกับ
กองบัญชาการจังหวัดพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
ผู้บังคับบัญชา
ผบ.พัน.ช.ฉก.ที่ 1พันเอก วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์
ผบ.พัน.ช.ฉก.ที่ 2 (สหประชาชาติ)พันเอก สมมารถ ปรุงสุวรรณ์

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 และ 2 (สหประชาชาติ) (อังกฤษ: 1st Thai Engineering Battalion Task Force และ 2nd Thai Engineering Battalion Task Force (2nd United Nation Thai Engineering Battalion Task Force)) หรือ พัน.ช.ฉก.ที่ 1 และ พัน.ช.ฉก.ที่ 2 (สหประชาชาติ) เป็นหน่วยทหารช่างของกองทัพไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูกัมพูชาหลังสงครามกลางเมือง อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลไทยและองค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ตามลำดับ

ภารกิจของหน่วยคือการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมในกัมพูชาหลังจากสภาวะสงครามกลางเมือง โดยประเทศไทยได้ส่งกำลังทหารที่ไม่ใช่พลรบกองพันที่ 1 จำนวน 446 นาย และกองพันที่ 2 จำนวน 705 นาย รวมทั้งสิ้น 1,151 นาย[1]

ประวัติ

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ และเป็นประเทศเพื่อนบ้านกับกัมพูชา จึงได้ให้ความช่วยเหลือด้วยเหตุผลทั้งด้านมนุษยธรรมและความสัมพันธ์อันดี จึงได้จัดกำลังเป็นหน่วยทหารช่างเฉพาะกิจมาจากกองพลทหารช่างจำนวน 2 กองพัน

กองพันแรก ชื่อว่า กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลไทย โดยนายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีขณะนั้น (ไม่ได้สวมหมวกฟ้า) มีกำลังพลจำนวน 446 นาย ก่อสร้างถนนสายคลองลึก ปอยเปต ศรีโสภณ ความยาว 48 กิโลเมตร เป็นของขวัญให้กับรัฐบาลกัมพูชาเพื่อส่งกลับผู้อพยพและเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ[1] ปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2536[2]

ขณะที่กองพันที่สอง คือ กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) ได้รับการร้องขอกำลังจากสหประชาชาติเพื่อปฏิบัติงานในนามสหประชาชาติ (สวมหมวกฟ้า) เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2534 โดยการทาบทามของรองเลขาธิการสหประชาชาติฝ่ายกิจการการเมืองพิเศษ Marrak Goulding ผ่านผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติที่นิวยอร์ก โดยร้องขอกำลังพลทหารช่างระดับกองพันประมาณ 700 - 800 นายในการเก็บกู้วัตถุระเบิดและทุ่นระเบิดในกัมพูชา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้ประสานงานไปยังกองทัพบก และได้รับอนุมัติจากผู้บัญชาการทหารบก พลเอก สุจินดา คราประยูรให้จัดเตรียมกำลังพล[3]

สหประชาชาติได้เห็นชอบอย่างเป็นทางการ และมีหนังสือลงวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2535 และผู้แทนถาวรของไทยประจำสหประชาชาติได้ยืนยันต่อคำร้องขออย่างเป็นทางการโดยพิจารณาส่งกำลังพลจำนวน 505 นายเข้าร่วมกับกองกำลังของคณะผู้แทนล่วงหน้าของสหประชาชาติในกัมพูชา (UNAMIC) และฝ่ายรัฐบาลไทยได้มีมติอนุมัติรับในหลักการให้ส่งกองกำลังเข้าร่วมเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 และทำพิธีส่งกองกำลังในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ณ กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์[3]

จัดกำลังแบ่งเป็น 2 ผลัด คือ ผลัดที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ถึง 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 และผลัดที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึงตุลาคม พ.ศ. 2536[1] ซึ่งในระหว่างนั้น UNAMIC ได้สลายตัวลงและกลายเป็นส่วนหนึ่งของ UNTAC ทำให้กองกำลังได้ขึ้นการบัญชาการกับผู้บัญชาการฝ่ายทหารของ UNTAC

ภาพรวมของกองกำลัง

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 และ 2 (สหประชาชาติ) มีกำลังพลทั้งสิ้นจำนวน 1,151 นาย แบ่งเป็น

  • กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 — จำนวน 446 นาย[1] ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 – 5 สิงหาคม พ.ศ. 2536
  • กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) — มีกองบัญชาการอยู่ที่พระตะบอง จำนวน 705 นาย[1]
    • ผลัดที่ 1 ระหว่างวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 – 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536
    • ผลัดที่ 2 ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ – ตุลาคม พ.ศ. 2536

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 อยู่ภายใต้การสั่งการและงบประมาณของรัฐบาลไทย มี พันเอก วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ เป็นผู้บังคับกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1[4] จัดกำลังพลมาจากกรมการทหารช่าง และชุดสุนัขสงคราม โดยหมวดสุนัขทหารประกอบด้วยกำลังพล 47 นาย และสุนัขทหาร 27 ตัว ปฏิบัติงานระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 ถึงวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2536[5]

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)

ผู้บัญชาการ กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติในกัมพูชา ตรวจเยี่ยม กองร้อยทหารช่างที่ 1 ศรีโสภณ กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยทหารช่างขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ซึ่งประกอบด้วยหน่วยทหารช่าง 5 หน่วย ได้แก่

  1. กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) — จากประเทศไทย กองบัญชาการตั้งอยู่ที่พระตะบอง รับผิดชอบเซกเตอร์ 1, 8, 9W (บางส่วน)
  2. กองพันทหารช่างจีน — จากประเทศจีน กองบัญชาการตั้งอยู่ที่พนมเปญ รับผิดชอบเซกเตอร์ 5W, 9W (บางส่วน) และกรุงพนมเปญ
  3. กองพันทหารช่างญี่ปุ่น — จากประเทศญี่ปุ่น กองบัญชาการตั้งอยู่ที่จังหวัดตาแก้ว รับผิดชอบเซกเตอร์ 5E (บางส่วน), 6, 9E
  4. หน่วยเฉพาะกิจทหารช่างโปแลนด์ — จากประเทศโปแลนด์ กองบัญชาการตั้งอยู่ที่จังหวัดกระแจะ รับผิดชอบเซกเตอร์ 4, 5E (บางส่วน)
  5. กองร้อยทหารช่างฝรั่งเศส — จากประเทศฝรั่งเศส กองบัญชาการตั้งอยู่ที่จังหวัดเสียมราฐ รับผิดชอบเซกเตอร์ 2, 3

โครงสร้าง

โครงสร้างของกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันเอก สมมารถ ปรุงสุวรรณ์ ผู้บังคับกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)[6] มีกำลังพลแบ่งเป็น นายทหารชั้นสัญญาบัตร จำนวน 55 นาย นายทหารชั้นประทวน จำนวน 471 นาย พลทหาร จำนวน 139 นาย พลอาสาสมัคร 35 นาย แบ่งโครงสร้างประกอบไปด้วย[3]

การจัดกำลังจากหน่วยต้นสังกัด

การจัดกำลังจากหน่วยต้นสังกัด ประกอบไปด้วย

เครื่องมือช่าง

เครื่องมือช่างของกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) ประกอบไปด้วย[3]

  • รถถากถาง จำนวน 5 คัน
  • รถตักบรรทุก จำนวน 5 คัน
  • รถโกยตัก จำนวน 5 คัน
  • รถเกลี่ย จำนวน 5 คัน
  • รถบด จำนวน 5-6 คัน
  • รถน้ำ จำนวน 5-6 คัน
  • รถบรรทุกท้าย จำนวน 55 คัน

ปฏิบัติการ

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 และ 2 (สหประชาชาติ) มีภารกิจในการปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมฟื้นฟูและบูรณะภายในประเทศกัมพูชาทั้งจากการเสนอของรัฐบาลไทยเองและการร้องขอจากสหประชาติ แบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1

สะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชาในปี พ.ศ. 2556 ที่ พัน.ช.ฉก.ที่ 1 ก่อสร้าง

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 (พัน.ช.ฉก.ที่ 1) มีภารกิจในการซ่อมแซมและบูรณะเส้นทางหลวงหมายเลข 5 ของกัมพูชา ช่วงระหว่างปอยเปตไปจนถึงศรีโสภณ (จากชายแดนไทยไปทางตะวันออก) ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร เพื่อใช้เป็นเส้นทางในการส่งกลับผู้อพยพชาวกัมพูชากลับไปยังภูมิลำเนาของตน และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจ โดยมีภารกิจสืบเนื่องคือการกวาดล้างและทำลายทุ่นระเบิดตามแนวเส้นทางที่ก่อสร้างซึ่งตกค้างมาจากสงครามกลางเมือง[2]

นอกจากนี้ยังมีการก่อสร้างเพิ่มเติมจากแผนที่วางไว้ คือ โรงเรียนมิตรภาพกัมพูชา-ไทย จำนวน 3 แห่ง และสะพานมิตรภาพไทย–กัมพูชา (อรัญประเทศ–ปอยเปต)[2]

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) (พัน.ช.ฉก.ที่ 2 (สหประชาชาติ)) มีภารกิจในการปฏิบัติการตามการร้องขอของสหประชาชาติคือการเก็บกู้ทุ่นระเบิดและกับระเบิดบนเส้นทางสำหรับการส่งกลับผู้อพยพชาวกัมพูชา และพื้นที่ที่จะสร้างศูนย์รับผู้อพยพ ขึ้นการบังคับบัญชากับองค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) และสนับสนุนการทำงานของข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR)[2] ในพื้นที่รับผิดชอบ 3 พื้นที่ คือ เซกเตอร์ 1, 8 และ 9w ครอบคลุมจังหวัดบันทายมีชัย พระตะบอง โพธิสัตว์ และกำปงฉนัง[3]

ภารกิจของกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)[3] มีดังนี้

  • เก็บกู้ทุ่นระเบิดและวัตถุระเบิดในขอบเขตจำกัดเพื่อสนับสนุนการส่งกลับผู้อพยพและตามความต้องการขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC)
  • การซ่อมแซมอาคาร เส้นทาง ถนน อาคาร สนามบิน ทางวิ่ง และสนามเฮลิคอปเตอร์
  • การก่อสร้างอย่างง่ายในการส่งกำลังบำรุงและการก่อสร้างบริเวณหัวสนามบิน
  • การจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟสนาม
  • การผลิตน้ำบริสุทธิ์ การเก็บรักษาน้ำ และการขุดบ่อ
  • จัดหา ผลิต รักษา และแจกจ่ายวัสดุการช่างต่าง ๆ

การปฏิบัติการของกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ)[3] มีดังนี้

  1. การบูรณะและบำรุงรักษาเส้นทางสัญจรและสะพานของทางหลวงหมายเลข 5 จากกัมปงชะนังถึงศรีโสภณ และทางหลวงหมายเลข 6 จากศรีโสภณถึงแยกตัดกับทางหลวงหมายเลข 68 รวมถึงรับผิดชอบพื้นที่ของกองร้อยทหารช่างฝรั่งเศสที่ถอนกำลังจากเสียมเรียบในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2536 คือทางหลวงหมายเลข 6 จากศรีโสภณถึงเสียมเรียบ
  2. ซ่อมแซมและบำรุงรักษาท่าอากาศยานพระตะบอง
  3. การตรวจค้นและทำลายล้างทุ่นระเบิด และสุนัขสงคราม
  4. ให้การสนับสนุนชุดก่อสร้างจำนวน 3 ชุด สำหรับรื้อถอนและคลังสำเร็จรูปตามคำสั่ง
  5. ให้การสนับสนุนงานช่างให้กับหน่วยขององค์การบริหารชั่วคราวแห่งสหประชาชาติในกัมพูชา (UNTAC) ในการถอนตัวผ่านพื้นที่รับผิดชอบ
  6. ถอนตัวออกจากประเทศกัมพูชาตามคำสั่ง

ปฏิบัติการหลัก

ทางหลวงหมายเลข 5 ในปัจจุบัน มุ่งหน้าไปยังจังหวัดกำปงฉนัง

การปฏิบัติหลักซึ่งแทบจะเป็นงานที่ต้องทำตลอดเวลาคือการปรับปรุง ซ่อมแซมเส้นทางสัญจร โดยมีลักษณะความเสียหายอันเนื่องมาจากการขาดการบำรุงรักษาอย่างหนักจนถึงฐานราก บางส่วนเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดความเสียหายจากกระสุนปืนใหญ่ จากน้ำท่วม จากการใช้งานเกินพิกัด โดยความรับผิดชอบ ประกอบไปด้วย[3]

ปัญหา

กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) ประสบปัญหาในการปฏิบัติการในด้านของข้อจำกัดในการหาแหล่งของลูกรัง ซึ่งในพื้นที่คุณภาพต่ำ รวมถึงอยู่ห่างจากหน้าพื้นที่ปฏิบัติงาน รวมไปถึงไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น มีการรีดไถกำลังพลในลักษณะของด่าน และการบังคับให้ซื้อลูกรังในพื้นที่จากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ รวมถึงการจัดหาวัสดุต่าง ๆ ไม่อนุญาตให้จัดหาโดยตรงผ่านประเทศไทย ต้องทำผ่านสำนักงานของสหประชาชาติในพนมเปญเท่านั้น และข้อที่สำคัญที่สุดคือการไม่มีการควบคุมน้ำหนักของรถบรรทุกในการใช้งานเส้นทาง ทำให้เกิดความทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว[3]

สิ่งสืบเนื่อง

ได้มีการจัดสร้างพระเครื่องเนื่องในโอกาสที่ไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศกัมพูชา เป็นหลวงพ่อโสธร รุ่น กองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 (พัน.ช.ฉก.ที่ 1)[7][8]

ดูเพิ่ม

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 เอกสารประกอบการสอน วิชาประวัติศาสตร์ทหาร (PDF). กรมยุทธการทหารบก. 2554.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "..:: กรมการทหารช่าง ค่ายภาณุรังษี อ.เมือง จว.ราชบุรี ::." www.engrdept.com.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 3.6 3.7 3.8 เพ็ญเขตกรณ์, ธิวา. "กองกำลังสหประชาชาติเพื่อการถ่ายโอนอำนาจในกัมพูชา" (PDF). เสนาธิปัตย์: 21–47.
  4. "นครวัด นครธม กัมพูชา ดินแดนแห่งปราสาท นำชมสิ่งมหัศจรรย์ 1 ใน 7 ของโลกค้วยภาพกว่า 150 ภาพ ผู้เขียน พันเอก วีระศักดิ์ รักษาทรัพย์ อดีตผู้บังคับกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 0 กก". www.thebookbun.com.
  5. 5.0 5.1 ภูกองไชย, ธัญภา (2559). เครื่องประดับที่แสดงออกถึงความกล้าหาญและเสียสละของสุนัขทหารแห่งราชอาณาจักรไทย (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  6. แข็งแรง, เกรียงไกร. ทหารช่าง กับกระบวนการรักษาสันติภาพ กรณีศึกษา กกล.ทบ.ไทย/ติมอร์ (PDF). เสนาธิปัตย์. pp. 48–53.
  7. "G-Pra.com: ประมูลพระเครื่องการันตีพระ.คอม". g-pra.com.
  8. "หลวงพ่อโสธร พัน.ช. ฉก. ที่1 สร้าง เนื้อเงิน กล่องเดิม". uauction3.uamulet.com.

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!