ทางหลวงหมายเลข 5 (10005) เป็นทางหลวงแห่งชาติสายหนึ่งของกัมพูชา ด้วยความยาว 407.45 กิโลเมตร (253.18 ไมล์) เชื่อมต่อเมืองหลวงพนมเปญกับประเทศไทย[1]
ประวัติ
ทางหลวงหมายเลข 5 เป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อกัมพูชากันประเทศไทยและเข้าไปสู่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ก่อนช่วงปี พ.ศ. 2513 โดยถนนได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงสงครามกลางเมืองกัมพูชา[2]
ทางหลวงหมายเลข 5 ได้รับการซ่อมแซมและปรับปรุงโดยรัฐบาลไทยและสหประชาชาติในระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2536 โดยช่วงแรกของถนน จากชายแดนไทยไปยังศรีโสภณ ระยะทางรวม 48 กิโลเมตร รับผิดชอบโดยกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 1 ควบคุมดูแลโดยรัฐบาลไทย เพื่อมอบเป็นของขวัญในมิตรภาพระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา เชื่อมโยงเศรษฐกิจ และเป็นเส้นทางลำเลียงผู้อพยพชาวกัมพูชากลับเข้าสู่ประเทศ[3][4]
ช่วงที่ 2 โดยสหประชาชาติ ดำเนินการโดยกองพันทหารช่างเฉพาะกิจที่ 2 (สหประชาชาติ) ซึ่งจัดกำลังมาจากกองทัพบกไทย ตามแนวเส้นทางที่เหลือตั้งแต่ศรีโสภณลงไปตามเส้นทางจนถึงจังหวัดโพธิสัตว์ระยะทางรวม 282 กิโลเมตร และมีการขยายความรับผิดชอบเพิ่มเติมถึงจังหวัดกำปงฉนัง ระยะทางประมาณ 100 กิโลเมตร[4]
นอกจากนี้ ทางหลวงหมายเลข 5 ได้รับการกำหนดให้เป็นทางหลวงสายเอเชียสาย 1 หรือเส้นทางเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS)[2]
รายละเอียดของเส้นทาง
ทางหลวงหมายเลข 5 ออกจากพนมเปญในทิศเหนือไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ โดยติดกับทะเลสาบโตนเลสาบก่อน มีสะพานสามแห่งคือ สะพานจรอยจังวร, แปรกกดัม และ แปรกพโนว เชื่อมระหว่างตะวันออกของประเทศ จากนั้นจึงเคลื่อนตัวออกจากแม่น้ำ/ทะเลสาบ เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนั้นถูกน้ำท่วมเป็นบางช่วงของปี และออกจากจังหวัดกันดาล และข้ามจังหวัดกำปงฉนัง จากทางแยกที่ติดกับทางหลวงหมายเลข 51 ไปทางเหนือสู่เมืองกำปงฉนัง จากนั้นไปทางตะวันตกเฉียงเหนือสู่อำเภอบริบูรณ์ ซึ่งข้ามไปยังจังหวัดโพธิสัตว์ จากจุดนั้น จะเลี่ยงผ่านทะเลสาบโตนเลสาบและไปทางตะวันตกสู่เมืองโพธิสัตว์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของจังหวัด เมื่อออกจากจังหวัดโพธิสัตว์ ทางหลวงหมายเลข 5 จะเลี้ยวไปทางตะวันตกเฉียงเหนืออีกครั้งและมุ่งสู่จังหวัดพระตะบอง ผ่านเมืองหลวงของอีกจังหวัดหนึ่งที่เมืองพระตะบอง และเดินทางต่อไปยังอำเภอศรีโสภณในจังหวัดบันทายมีชัย ซึ่งเส้นทางไปบรรจบกับจุดสิ้นสุดของทางหลวงหมายเลข 6 และโค้งไปทางทิศตะวันตกสู่จุดสิ้นสุดที่เมืองปอยเปตซึ่งอยู่บนชายแดนประเทศไทย
อ้างอิง