ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น
อุตสาหกรรมภาพยนตร์ สตูดิโอ
ก่อตั้งพ.ศ. 2516
สำนักงานใหญ่
บุคลากรหลักอภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร
ผลิตภัณฑ์ภาพยนตร์ (2516 - ปัจจุบัน)
โทรทัศน์ (2535 - 2541)
เจ้าของเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร (2516 - 2524)
เจริญ เอี่ยมพึ่งพร (2524 - 2555)
อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร
เว็บไซต์http://www.fivestarent.com/

ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เป็นบริษัทผู้สร้างภาพยนตร์ไทยรายใหญ่ของไทย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2516 โดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร เดิมชื่อว่า บริษัทนิวไฟว์สตาร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไฟว์สตาร์ โปรดักชั่น เมื่อประมาณ พ.ศ. 2523 โดยไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ได้ดำเนินการผลิตภาพยนตร์คุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อความบันเทิงทั้งในและต่างประเทศตลอดระยะเวลา 40 ปี

ภาพยนตร์ของ ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ได้รับความนิยมชมชอบแทบทุกเรื่องในสมัยก่อนจนถึงปัจจุบัน เช่น ขุนศึก, ลูกอีสาน, ผู้ใหญ่ลีกับนางมา, บุญชู, น้ำพุ, วัยระเริง, อนึ่งคิดถึงพอสังเขป, กลิ่นสีและกาวแป้ง, กว่าจะรู้เดียงสา, ส.อ.ว.ห้อง 2 รุ่น 44, คู่กรรม, อำแดงเหมือนกับนายริด, หวานมันส์ ฉันคือเธอ, ด้วยเกล้า, หลังคาแดง, ฟ้าทะลายโจร, มนต์รักทรานซิสเตอร์ เป็นต้น

หลังจาก เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร ถูกลอบยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2524 [1] เจริญ เอี่ยมพึ่งพร บริหารงานต่อจนเสียชีวิตใน พ.ศ. 2555 [2] ปัจจุบันบริหารงานโดย เกียรติกมล และ อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร บุตรของเกียรติ เอี่ยมพึ่งพร

เกี่ยวกับบริษัท

ก่อตั้งบริษัท

ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 โดย เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร เดิมชื่อว่า บริษัทนิวไฟว์สตาร์ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตและจัดจำหน่าย ภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย

นอกจากจะผลิตภาพยนตร์หลายเรื่องแล้ว ต่อมา ได้ขยายกิจการสู่การผลิตละครโทรทัศน์ และรายการโทรทัศน์ โดยมีรายการแนววาไรตี้ ที่จะค้นหาผู้ที่มีพรสวรรค์ทางด้านการแสดง เข้ามาสู่วงการบันเทิง ช่วงระหว่างปี 25352541 ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง ในช่วงระยะเวลานั้น สามารถสร้างดาราที่มีชื่อเสียง และมีคุณภาพเข้ามาสู่วงการได้อย่างมากมาย ปัจจุบัน

งานดำเนินการผลิต

ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ได้ดำเนินการผลิตภาพยนตร์ไทย รวมทั้งพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ในปี พ.ศ. 2520 มีโรงถ่ายทำภาพยนตร์เป็นของตัวเอง ได้ขยายธุรกิจออกไป โดยเปิด สตูดิโอ ที่ให้บริการทางด้านการตลาดของธุรกิจภาพยนตร์ อย่างครบวงจร โดยบุคลากรที่มีประสบการณ์และคุณภาพ และได้ผลิต ภาพยนตร์ไทยแล้วกว่า 240 เรื่อง โดยมี ผู้กำกับภาพยนตร์ กว่า 100 คน ดารากว่า 1000 คน มาร่วมแสดงในแต่ละเรื่องในแต่ละยุค

ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ได้ก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำของบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทย และยืนหยัดอยู่คู่วงการมาโดยตลอดระยะเวลา 40 ปี ยังคงยืนเคียงข้างประชาชนชาวไทย และ ดำเนินการผลิตภาพยนตร์คุณภาพอย่างต่อเนื่อง เพื่อความบันเทิงทั้งในและต่างประเทศในโอกาสต่อไป

การสร้างภาพยนตร์

ภาพยนตร์ขุนศึก ปี พ.ศ. 2519

ในยุคปี 2522 ภาพยนตร์เรื่อง บ้านทรายทอง เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากวรรณกรรมของ ก.สุรางคนางค์ สามารถทำรายได้สูงสุดกว่า 20 ล้านบาทในสมัยนั้น ถ้าเทียบสมัยนี้ก็อยู่ราว ๆ 200 ล้านบาท และยังมีภาพยนตร์ตลกในยุคนั้นโดย ล้อต๊อก เช่น ทหารเกณฑ์, แดร๊กคูล่าต๊อก, ทหารเรือมาแล้ว เป็นต้น ในยุคเดียวกัน เปี๊ยก โปสเตอร์ ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังวัยรุ่นที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในปี 2519 ซึ่งภาพยนตร์หลายเรื่องสร้างให้นักแสดงนำโด่งดังเป็นอย่างมาก เช่น ชื่นชุลมุน, คุณย่าเซ็กซี่, คุณปู่ซู่ซ่าส์ เป็นต้น จนถึงยุค 2530-38

ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 - 2539 วัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ของคนทำหนังไทยตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2531-2532 หลังความสำเร็จของ บุญชูผู้น่ารัก (พ.ศ. 2531) เรื่องหลังเป็นงานที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงของบัณฑิต ฤทธิ์ถกล ผู้กำกับรุ่นเดียวกับยุทธนา มุกดาสนิท ซึ่งหลังจากหนังเรื่องนี้ บัณฑิตก็กลายเป็นคนทำหนังร่วมสมัยที่มีหนังทำเงินและหนังคุณภาพมากที่สุด ระหว่างปี 2531-2538 บัณฑิตทำหนังชุดบุญชูถึง 6 เรื่อง ในยุคนั้น[3] และมีนักแสดงที่มีชื่อเสียงสันติสุข พรหมศิริ และ จินตหรา สุขพัฒน์ เป็นคู่ขวัญที่มีผลงานการแสดงร่วมกันมากที่สุดคู่หนึ่งของวงการบันเทิง เช่น บุญชู, อำแดงเหมือนกับนายริด, หวานมันฉันคือเธอ เป็นต้น

ในยุคเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง อนึ่งคิดถึงพอสังเขป ซึ่งเป็น 1 ในหนัง 6 เรื่องแรกของ แอน ทองประสม นำแสดง ซึ่งภาพยนตร์เรื่องนี้คว้ารางวัลมามากมายจากหลายสถาบัน , ภาพยนตร์เรื่อง สะพานรักสารสิน ที่นำแสดงโดย จินตรา สุขพัฒน์ และ รอน บรรจงสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นและถูกหยิบยกขึ้นมาสร้างเป็นภาพยนตร์เป็นตำนานความรักที่ถูกนำมาเป็นบทเรียนของชีวิต ทั้งภาพยนตร์ที่กำกับโดย รุจน์ รณภพ ผู้กำกับมือทองของวงการภาพยนตร์ เช่น เรื่อง เขาชื่อกานต์ ที่ถูกดัดแปลงมาจากบทประพันธ์ที่มีชื่อเสียงของ สุวรรณี สุคนธา ยังได้นำมาสร้างใหม่อีกครั้ง และ ภาพยนตร์เรื่อง หลงไฟ ที่สามารถกวาดรางวัลได้จากหลายสถาบัน ปัจจุบันทางบริษัทบีเคพีได้นำมารีมาสเตอร์ใหม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นภาพยนตร์ในตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การเก็บสะสมเช่นกัน

นำสู่เทศกาลภาพยนตร์

ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยยุคแรก ๆ ที่นำภาพยนตร์ออกสู่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 กับภาพยนตร์เรื่อง ขุนศึก (2519) เป็นบทประพันธ์ของ ไม้ เมืองเดิม กำกับโดย สักกะ จารุจินดา นำแสดงโดย สมบัติ เมทะนี, นัยนา ชีวานันท์

เรื่อยมาจนถึง ฟ้าทะลายโจร ผลงานการกำกับโดย วิศิษฎ์ ศาสนเที่ยง ที่เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกที่ได้เข้าประกวดในสาย Un Certain Regard ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2544 ตามมาด้วย มนต์รักทรานซิสเตอร์ ผลงานของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่ได้รับเลือกเป็น Director’s Fortnight ในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์ ปี พ.ศ. 2545 ในปี พ.ศ. 2546 Last Life in the Universe ผลงานของ เป็นเอก รัตนเรือง ที่เป็นงานร่วมทุนสร้างที่ใหญ่เรื่องหนึ่งของ ไฟวสตาร์ โปรดักชั่น ประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดต่างประเทศ รวมถึงได้รับรางวัล ดารานำชาย จากงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองเวนิส ปี พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2550 เช่นกัน[4]

ในปี พ.ศ. 2552 ภาพยนตร์เรื่อง นางไม้ ภาพยนตร์โดย เป็นเอก รัตนเรือง ก็สร้างชื่อต่อเนื่องอีกครั้งที่โดนคัดเลือกจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ สาขา Un Certain Regard (ภาพยนตร์ที่น่าจับตามอง) และยังได้รับเลือกเข้าชิงและถูกเลือกเข้าฉายอย่างเป็นทางการอีกกว่า 100 เทศกาลทั่วโลก และในปีเดียวกัน ภาพยนตร์เรื่อง เฉือน จากผู้กำกับชื่อดัง ก้องเกียรติ โขมศิริ ผู้กำกับจากภาพยนตร์เรื่อง ไชยาและลองของ ก็สร้างชื่ออีกครั้งเมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับคัดเลือกเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ ถึง 14 สาขาจากทั้งหมด 16 สาขา รวมถึงเทศกาลชื่อดังของโลกอีกหลายเทศกาล อาทิ Rotterdam International Film Festival 2010, Sitges Film Festival 2010, etc.

ภาพยนตร์ 3 มิติ

ในปี พ.ศ. 2555 ไฟว์สตาร์เปิดมิติใหม่ของวงการภาพยนตร์ไทย ด้วยโปรเจกต์ 407 Dark Fight (3D) ภาพยนตร์แนว Horror ถือว่าเป็นภาพยนตร์สามมิติเรื่องแรกของประเทศไทย[5][6] ผลงานการสร้างสรรค์ของทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ลองของ แล้วภาพยนตร์ประสบความสำเร็จดี ต่อมาภาพยนตร์สามมิติแนวสยองขวัญเรื่อง ตีสาม 3D ออกฉายในปี พ.ศ. 2556 บริษัทจึงยังคงเดินหน้าสร้างภาพยนตร์ในระบบสามมิติเต็มรูปแบบออกมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นความต่อเนื่องในตลาดภาพยนตร์ 3D ในประเทศไทย ทำให้ไฟว์สตาร์จะยังคงทำ 3D ออกมาอย่างต่อเนื่องในปี พ.ศ. 2556 โดยคาดว่าจะสร้างภาพยนตร์ทั้งสิ้น 4 เรื่อง และ 3 ใน 4 เรื่องนั้นจะสร้างเป็น 3D เต็มรูปแบบตามถนัดเช่นเดิม [7]

บุคคลสำคัญ

บุคลากรหลัก

  • เกียรติ เอี่ยมพึ่งพร
  • เจริญ เอี่ยมพึ่งพร
  • อภิรดี เอี่ยมพึ่งพร
  • เกียรติกมล เอี่ยมพึ่งพร
  • กอบสุข จารุจินดา

ผู้กำกับภาพยนตร์

นักแสดงหลัก

โลโก้ตราสัญลักษณ์

โลโก้ตราสัญลักษณ์ของไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ในปัจจุบัน จะมีลักษณะมีรูปโลก มีดาว 5 ดวงเรียงร้อมโลกอยู่ข้างบนและมีคำว่า ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น อยู่ข้างล่าง ซึ่งใช่มาตลอดทุกเรื่อง จากอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงจะต่างรูปแบบก็ตาม มีรายละเอียดดังนี้

โดยต้นฉบับ ก่อนที่จะเป็นในรูปแบบปัจจุบัน ในราว พ.ศ. 2518 จะมีลักษณะมีดาว 5 ดวงและมีคำว่า ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น อยู่ข้างล่าง ซึ่งไม่มีดนตรีประกอบ ซึ่งเป็นรูปแบบในยุคก่อตั้งไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ต่อมาในช่วงราว พ.ศ. 2520-21 มีรูปแบบมีลักษณะมีดาว 5 ดวงเหมือน เรียงกัน และมีคำว่า ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น อยู่ข้างล่าง โดยครั้งนี้เริ่มมีดนตรีประกอบ เช่นภาพยนตร์เรื่อง เทพบุตรต๊ะติ๊งโหน่ง (2520), เท่งป๊ะต๊ะติ๊งโหน่ง (2521) เป็นต้น

ต่อมาเริ่มมีรูปแบบต้นฉบับในปัจจุบัน ที่มีลักษณะมีรูปโลก มีดาว 5 ดวงเรียงร้อมโลกอยู่ข้างบน โดยปรากฏที่ละดวงและมีคำว่า ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น อยู่ข้างล่าง ใช้เมื่อราว พ.ศ. 2521 และประมาณ พ.ศ. 2534 สำหรับดนตรีประกอบการนำเสนอโลโก้ มี 2 ครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สองจะเริ่มใช้ในยุคของ สันติสุข - จินตหรา[8]

ต่อมาโลโก้ตราสัญลักษณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปแต่ละยุค เช่น โลโก้ครั้งที่ 4 ที่ใช้ในยุคของภาพยนตร์ในยุคปี 2535 ตอนปลาย ที่มีลักษณะมีรูปโลก แล้วปรากฏดาว 5 ดวงเรียงร้อมโลกอยู่ข้างบน ตามด้วยคำว่า ไฟว์สตาร์โปรดักชั่น อยู่ข้างล่าง, โลโก้ครั้งที่ 5 ที่ใช้ในยุคของภาพยนตร์ในยุคปี พ.ศ. 2540 กลับมาใช้ใหม่ พ.ศ. 2544 จนถึงประมาณ พ.ศ. 2550 และโลโก้ล่าสุดครั้งที่ 8 ใช้ในยุคของภาพยนตร์สามมิติ เริ่มใช้ในปี พ.ศ. 2555

ผลงานภาพยนตร์

สิ่งสะสม

ภาพยนตร์ของไฟว์สตาร์โปรดักชั่น ทางบริษัทบีเคพีได้นำมารีมาสเตอร์ใหม่ภายใต้โปรเจกต์ The Legend Collection (เดอะรีเจนคอลเลคชั่น) ตำนานหนังกลางใจ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นภาพยนตร์ในตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่ควรค่าแก่การเก็บสะสม เป็นการจัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองนโยบายที่อยากให้คนไทยหันมาหวงแหนและอนุรักษ์หนังไทยกันมากขึ้น โดยเฉพาะหนังไทยเก่า หลังจากที่ สมชัย นิพัทธ์เจริญวงศ์ (เฮียคุง) เจ้าของบริษัทบีเคพี ซื้อลิขสิทธิ์หนังไทยทรงคุณค่า น่าสะสมกว่า 100 เรื่อง[9] จากไฟว์สตาร์โปรดักชั่น เพื่อจัดทำเป็นคอลเลคชั่น

โดยคุณเจริญ เอี่ยมพึ่งพร และทีมผู้บริหารบริษัทไฟว์สตาร์ จับมือเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับ คุณสมชัย นิพัทธ์เจริญวงศ์ มอบลิขสิทธิ์หนังไทยทรงคุณค่า[10] ทั้งในแง่ของชื่อเสียงของภาพยนตร์ ความเป็นที่รู้จักการทำรายได้และรางวัลที่ได้รับต่าง ๆ เช่น รางวัลตุ๊กตาทอง, รางวัลจากภาพยนตร์นานาชาติ และอื่น ๆ ทั้งภาพยนตร์ที่กำกับโดย รุจน์ รณภพ, เปี๊ยก โปสเตอร์ และยังได้รำลึกผู้กำกับ บัณฑิต ฤทธิ์ถกล โดยนำมาเป็นในรูปแบบ DVD 9 และออกแบบแพ็คเก็จ ในคอลเลคชั่นนี้จะมีการแบ่งหนังออกเป็นชุด ๆ โดยมีจำนวน 10 เซ็ต 1 เซ็ต มีจำนวน 7 เรื่อง โดยสามารถหามาเป็นเจ้าของได้แล้ว ที่ร้านบีเคพี, บูมเมอแรง, มีเดียเน็ตเวิร์ค, อิมเมจิ้น และบีทูเอส ทุกสาขา หรือสั่งจองในเว็บ bkp collection

หลังจากมอบลิขสิทธิ์หนังนั้น กระแสตอบจากคนรักหนังไทยดีเกินคาด ทำให้หนังบางเรื่องขาดตลาด[11] ต่อมา ทางบริษัทบีเคพีเปิดเว็บ บีเคพี คอลเลคชั่น เพื่อตอบรับกระแสนักสะสมที่ชื่นชอบสินค้าหายาก ซึ่งเป็นของแท้ ทั้งของในประเทศและของที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังไทยเก่า ทางด้านงานเพลง ตั้งแต่ยุคก่อตั้งค่ายแกรมมี่, ค่ายอาร์เอส, ค่ายคีตา, ค่ายนิธิทัศน์, ค่ายรถไฟดนตรี ฯลฯ ส่วนคอเพลงสากลมีตั้งแต่ยุค 50 ไล่เรียงมา จนถึงปัจจุบัน เป็นต้น

อ้างอิง

  1. กองบรรณาธิการมติชน, 289 ข่าวดัง พ.ศ. 2521-2549, หน้า 63 "จับ โส ธนวิสุทธิ์", ISBN 974-323-889-1
  2. มะเร็งตับคร่าชีวิต"เจริญ เอี่ยมพึ่งพร" วัย 62 ปี
  3. สุทธากร สันติธวัช, หนังไทยในทศวรรษ 2530 - 2540 เก็บถาวร 2007-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  4. "นำสู่เทศกาลภาพยนตร์ไฟว์สตาร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-14. สืบค้นเมื่อ 2012-01-08.
  5. บวงสรวง 407 Dark Flight หนังระทึกขวัญ 3D เรื่องแรกของไทย
  6. "407 เที่ยวบินผี 3D เรื่องแรกของไทย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-08-15. สืบค้นเมื่อ 2012-08-26.
  7. ‘ไฟว์สตาร์’ ตอกย้ำความเป็น ผู้นำ 3 มิติสัญชาติไทย ยิ่งทำ ยิ่งดี ยิ่งดัง[ลิงก์เสีย]
  8. ชวนรำลึกถึงโลโก้ผู้สร้าง - จัดจำหน่ายหนังไทย และผู้จัดจำหน่ายหนังต่างประเทศรายเล็กในบ้านเรา
  9. ""เดอะรีเจนคอลเลคชั่น"ตำนานหนังกลางใจ หนังไทยน่าสะสม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2012-01-08.
  10. ""ไฟว์สตาร์" จับมือเซ็นสัญญา "บีเคพี" มอบลิขสิทธิ์หนังไทยน่าสะสม กว่า 100 เรื่อง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-01-08.
  11. "กระแสตอบจากคนรักหนังไทยดีเกินคาด". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-01-08.

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!