ไถหนาน

นครไถหนาน


Tâi-lâm
เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา: ใจกลางไถหนาน รูปปั้นวิศวกรโยอิจิ ฮัตตะ สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไถหนาน ต้าอ๊ามี ชื่อข่านโหลว และดอกไม้ไฟที่เขตหยานฉุ่ย
เวียนขวาตามเข็มนาฬิกา: ใจกลางไถหนาน รูปปั้นวิศวกรโยอิจิ ฮัตตะ สถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงไถหนาน ต้าอ๊ามี ชื่อข่านโหลว และดอกไม้ไฟที่เขตหยานฉุ่ย
ธงของนครไถหนาน
ธง
ตราอย่างเป็นทางการของนครไถหนาน
ตรา
สมญา: 

"เมืองหงส์"
(鳳凰城; Fènghuáng Chéng; Phoenix City)
"เมืองมณฑล"
(府城; Fǔ Chéng; Prefecture City)
ที่ตั้งของนครไถหนาน
ประเทศธงของสาธารณรัฐจีน ไต้หวัน
ภาคตะวันตกเฉียงใต้
ศูนย์กลางการปกครองเขตอันผิง
เขตซินหยิง[1]
การปกครอง
 • นายกเทศมนตรี (รักษาการ)หลี่ เมิ่งยั่น
(李孟諺; Lǐ Mèngyàn)
พื้นที่
 • ทั้งหมด2,191.6531 ตร.กม. (846.2020 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (ตุลาคม 2011)
 • ทั้งหมด1,876,312 คน
 • ความหนาแน่น854.917 คน/ตร.กม. (2,214.22 คน/ตร.ไมล์)
เขต37
นกสาลิกาปากดำ (Pica hudsonia)
ดอกไม้ยูงทอง (Delonix regia)
ต้นไม้ยูงทอง (Delonix regia)
เว็บไซต์Foreigner.tainan.gov.tw

ไถหนาน (จีนตัวย่อ: 台南; จีนตัวเต็ม: 臺南; พินอิน: Táinán) ชื่ออย่างเป็นทางการว่า นครไถหนาน (จีน: 臺南市; พินอิน: Táinán Shì; Tainan City) เป็นเมืองหนึ่งในภาคใต้ของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเป็นเขตการปกครองประเภทนครปกครองโดยตรง ด้านตะวันตกและด้านใต้ติดกับช่องแคบไต้หวัน มีสมญาว่า "เมืองหงส์" (鳳凰城; Fènghuáng Chéng; Phoenix City) โดยเปรียบกับหงส์จีนซึ่งเชื่อว่า มีฤทธิ์ฟื้นคืนชีพได้ เพราะเมืองนี้ผ่านร้อนผ่านหนาวแล้วกลับรุ่งเรืองหลายครั้ง[2]

เดิมที บริษัทอินเดียตะวันออก (East India Company) ของชาววิลันดา ก่อตั้งเมืองนี้ขึ้นในช่วงวิลันดาครองไต้หวัน เพื่อเป็นนิคมการค้าเรียกว่า "ป้อมวิลันดา" (熱蘭遮城; Rèlánzhē Chéng; Fort Zeelandia) แต่เมื่อเจิ้ง เฉิงกง (鄭成功; Zhèng Chénggōng) ขุนพลจักรวรรดิหมิง นำทัพขับไล่ต่างชาติออกจากเกาะไต้หวันได้อย่างราบคาบในปี 1661 เขาก็สถาปนาอาณาจักรตงหนิง (東寧; Dōngníng; Tungning) ขึ้นบนเกาะ และใช้นิคมดังกล่าวเป็นเมืองหลวงจนถึงปี 1683 เมื่อราชวงศ์ชิงสถาปนาการปกครองบนเกาะไต้หวันได้เป็นผลสำเร็จ อาณาจักรตงหนิงก็กลายเป็นเพียงมณฑลไต้หวันอันเป็นหนึ่งในมณฑลของจักรวรรดิชิง และนิคมดังกล่าวก็เป็นเมืองหลวงของมณฑลไต้หวัน จนมีการย้ายเมืองหลวงไปที่ไทเป (臺北; Táiběi; Taipei) เมื่อปี 1887

คำว่า "ไถหนาน" แปลว่า ไต้หวันใต้ คู่กับ "ไถเป่ย์" (台北; Táiběi) คือ ไทเป ที่แปลว่า ไต้หวันเหนือ "ไถจง" (臺中; Táizhōng) ที่แปลว่า ไต้หวันกลาง และ "ไถตง" (台東; Táidōng) ที่แปลว่า ไต้หวันตะวันออก

ชื่อเก่าของไถหนานคือ "ต้า-ยฺเหวียน" (大員; Dàyuán; Tayouan) แปลว่า ต่างชาติ และมีผู้ถือว่า ชื่อนี้เป็นที่มาของชื่อ "ไต้หวัน" ปัจจุบัน นอกจากเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไต้หวันแล้ว ไถหนานยังเป็นแหล่งวัฒนธรรมขนานเอก เพราะมีวัฒนธรรมท้องถิ่นนานัปการ เช่น อาหารพื้นเมืองเลื่องชื่อ พิธีกรรมลัทธิเต๋าซึ่งรักษาไว้เป็นอย่างดี กับทั้งประเพณีชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้ชีวิตตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน[3]

ประวัติ

ประวัติศาสตร์ช่วงต้น

การขุดค้นทางโบราณคดีที่เขตจั่วเจิ้นทำให้ได้ข้อสันนิษฐานว่า มีผู้คนอยู่อาศัยในบริเวณไถหนานมาแล้วอย่างน้อยสองหมื่นปีถึงสามหมื่นหนึ่งพันปี จนคริสต์ศตวรรษที่ 16 ชาวซีลาหย่า (西拉雅; Xīlāyǎ; Siraya) ซึ่งเป็นชนพื้นเมือง จึงได้เถลิงอำนาจเหนือกลุ่มอื่น ๆ ในบริเวณนี้ ในท้องที่นี้ยังมีชนพื้นเมืองอีกหลายกลุ่ม คือ ชาวซินกั่ง (新港; Xīngǎng; Sinckan) ซึ่งตั้งถิ่นฐานกันอยู่ในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นใจเมือง[4] ตลอดจนชาวเซียวหลง (蕭瓏; Xiāolóng; Soelangh) ชาวหมาโต้ว (麻豆; Mádòu; Mattauw) และชาวมู่เจียลิว (目加溜; Mùjiāliū; Baccloangh) ซึ่งรวมกลุ่มกันอยู่บริเวณชานเมือง

ครั้นปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 พ่อค้าและชาวประมงจากจีนแผ่นดินใหญ่เริ่มตั้งที่อยู่ที่ทำกินริมฝั่งตะวันตกของเกาะไต้หวัน รวมถึงบริเวณสันดอนคั่นหาดซินกั่ง และชาวจีนเหล่านั้นเรียกสันดอนดังกล่าวว่า "ต้า-ยฺเหวียน" มาจากภาษาซีลาหย่าแปลว่า ต่างชาติ ต่อมาชื่อนี้จึงใช้เรียกเกาะไต้หวันทั้งเกาะ ภายหลังมีผู้ถือว่า คำว่า "ไต้หวัน" มาจาก "ต้า-ยฺเหวียน" นี้เอง[4][5][6] นอกจากชาวจีนดังกล่าวแล้ว ยังมีชาวญี่ปุ่นเข้ามาตั้งนิคมการค้าอยู่ด้านเหนือสันดอนต้า-ยฺเหวียน[5] ชาวจีนและชาวญี่ปุ่นทั้งหลายเหล่านั้นพากันค้าขายกับชนพื้นเมือง โดยเฉพาะเกลือ เขากวาง และเนื้อกวางแห้ง ชนพื้นเมืองจึงค่อย ๆ ได้รับอิทธิพลในความเป็นอยู่มาจากชนชาติทั้งสอง เช่น รับคำจีนเข้ามาในภาษาพวกตน และใช้มีดหมอญี่ปุ่นในพิธีกรรมของกลุ่ม เมื่อชนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาเรื่อย ๆ ชนพื้นเมืองจึงเคลื่อนเข้ามาในพื้นที่บกมากขึ้น ครั้นเมื่อฝรั่งเข้ามาก็ปรากฏว่า วัฒนธรรมจีนและญี่ปุ่นกลืนกินเกาะซึ่งเคยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนนี้ไปทั้งสิ้นแล้ว[5][7]

เมืองขึ้นวิลันดา

ป้อมอันผิง สร้างบนพื้นที่ป้อมวิลันดาเดิม

ฝรั่งพวกแรก ๆ ที่เข้ามา คือ ชาววิลันดาซึ่งเดิมประสงค์จะยึดครองเกาะมาเก๊า และเกาะเผิงหู (澎湖; Pénghú) แต่ไม่สำเร็จ ในเดือนกรกฎาคม 1622 คอร์เนลิส เรเยิร์ซ (Cornelis Reyersz) พ่อค้าชาววิลันดาจากบริษัทอินเดียตะวันออก จึงล่องเรือมายังเกาะไต้หวันเพื่อหาชัยภูมิสำหรับตั้งนิคมการค้า จนปี 1624 เขาได้ตั้งป้อมเล็ก ๆ บนสันดอนต้า-ยฺเหวียนดังกล่าว เรียกชื่อว่า "ป้อมออเรนจ์" (Orange) เพื่อใช้เป็นที่มั่นต่อต้านคู่แข่งชาวสเปนและเป็นแหล่งค้าขายกับชาวจีนและชาวปัตตาเวียในอินโดนีเซีย ภายหลัง ป้อมดังกล่าวได้ขยายไปมากและเปลี่ยนชื่อเป็น "ป้อมวิลันดา" ป้อมนี้จึงกลายเป็นศูนย๋กลางการค้าของชาววิลันดากับชาวจีน ญี่ปุ่น และฝรั่งชาติอื่น[5][7]

เมื่อวิลันดาสถาปนาการปกครองขึ้นในนิคมการค้านั้นแล้ว ปีเตอร์ นุยส์ (Pieter Nuyts) ได้เป็นผู้ว่าการตั้งแต่ปี 1627 ถึง 1629 เวลานั้น เกิดความบาดหมางระหว่างพ่อค้าวิลันดากับพ่อค้าญี่ปุ่น นุยส์จึงถูกฮะมะดะ ยะเฮ (Hamada Yahee) พ่อค้าญี่ปุ่น จับเป็นตัวประกันไว้คราวหนึ่ง[7][8] ครั้นช่วงปี 1635 ถึง 1636 จึงมีกิจกรรมทางทูตเพื่อหย่าศึกบนเกาะ และปราบปรามชนพื้นเมืองทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากนี้ ในปี 1642 กองทัพวิลันดาจึงเข้ายึดป้อมสเปนที่เมืองจีหลง (基隆; Keelung) ไว้ได้ เป็นเหตุให้ชาววิลันดามีอำนาจสิทธิ์ขาดเหนือเกาะไต้หวันทุกหย่อมหญ้า และใช้ป้อมวิลันดาเป็นกองบัญชาการ[9]

แต่การที่ชาววิลันดาเข้าปกครองชนอื่น ๆ บนเกาะไต้หวันนั้นเป็นไปอย่างรีดนาทาเร้น ประกอบกับที่ชาววิลันดาร่วมปล้นแผ่นดินจีนในระหว่างราชวงศ์หมิงล่มสลาย ชาวจีนซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะไต้หวันจึงจงเกลียดจงชังวิลันดา นำไปสู่การนองเลือดในเหตุการณ์กบฏกัว ไหฺวอี (郭懷一; Guō Huáiyī; Kuo Huai-i) เมื่อปี 1652 ครั้งนั้น ชาววิลันดามีชัยเหนือชาวจีนเพราะได้ความช่วยเหลือจากชาวซินกั่งชนพื้นเมือง[7] การปกครองก็ดำเนินต่อไปอย่างสงบราบคาบ การค้าขายก็เป็นล่ำเป็นสันมากขึ้น ครัวเรือนบริเวณป้อมวิลันดาจึงขยายตัวด้วย ฉะนั้น ในปี 1653 ชาววิลันดาจึงตั้งป้อมใหม่ ณ ที่อยู่ของชาวซินกั่ง เรียก "ป้อมโปรวินเทีย" (Fort Provintia) เพื่อเป็นนิคมเกษตรกรรม และเชื้อเชิญให้ชาวไร่ชาวสวนจากจีนแผ่นดินใหญ่ย้ายมาตั้งรกรากที่นั้นเพื่อปลูกข้าวและอ้อย กิจกรรมของชาววิลันดาในภาคใต้ของเกาะไต้หวันนี้ประสบความสำเร็จมาก เป็นเหตุให้ชาววิลันดาสามารถยึดครองอินโดนีเซียได้ในคริสต์ทศวรรษที่ 1650 นั้นเอง[5]

อาณาจักรตงหนิง

เมื่อราชวงศ์หมิงล่มสลายนั้น เจิ้ง เฉิงกง ขุนศึกจักรวรรดิหมิง ได้รวมกำลังหนีมายังเกาะไต้หวัน และเข้าโจมตีชาววิลันดาในปี 1661 หลังจากปิดล้อมป้อมวิลันดาไว้ถึงเก้าเดือน เฟรเดริก โกเย็ต (Frederik Coyett) ชาววิลันดาซึ่งเป็นผู้ว่าการไต้หวันอยู่ในขณะนั้น ก็ยอมแพ้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 1662[5] เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของวิลันดาซึ่งดำเนินมายาวนานสามสิบแปดปี จากนั้น เจิ้ง เฉิงกง ได้ใช้เกาะไต้หวันเป็นฐานที่มั่นสำหรับฟื้นฟูจักรวรรดิหมิงต่อไป เขาสถาปนาอาณาจักรขึ้นชื่อว่า "ตงตู" แปลว่า "กรุงบูรพา" (東都; Dōngdū; East Capital) โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ป้อมโปรวินเทีย แล้วตั้งป้อมวิลันดาเป็นตำบลชื่อ "อันผิง" (安平; Ānpíng) ซึ่งก็คือเขตอันผิงในปัจจุบัน ครั้นแล้ว เขาก็ตั้งบ้านตั้งเมืองโดยรอบไว้เลี้ยงกองทัพ[5]

เมื่อเจิ้ง เฉิงกง ตายในปี 1662 เจิ้ง จิง (鄭經; Zhèng Jīng) บุตรของเขา สืบอำนาจต่อ และเปลี่ยนชื่ออาณาจักรเป็น "ตงหนิง" ในสมัยปกครองของเจิ้ง จิงนั้น เฉิง หย่งหฺวา (程永华; Chéng Yǒnghuá) อัครมหาเสนาบดี ได้จัดระเบียบการปกครองแบบจีนขึ้นบนเกาะไต้หวัน และก่อสร้างปูชนียสถานแห่งแรกซึ่งปัจจุบันเรียกว่า "วัดขงจื่อไต้หวัน" (台灣孔廟; Táiwān Kǒngmiào; Taiwan Confucian Temple) กับทั้งยังคิดค้นวิธีผลิตเกลือในบริเวณชายฝั่ง อนึ่ง ช่วงนั้นยังมีการชวนเชิญให้ชาวอังกฤษเข้ามาตั้งถิ่นค้ากับชาวพื้นเมือง ชาวจีน และชาวเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ที่ตำบลอันผิง เกาะไต้หวันจึงสามารถดำรงความเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้ไว้ได้ต่อไป[10]

เมืองขึ้นจีน

ประตูคลองห้า

เมื่อเจิ้ง จิง ตายในปี 1681 มีการชิงอำนาจกันสืบ ๆ มา ราชวงศ์ชิงจึงอาศัยความวุ่นวายนี้ส่งกำลังเข้ายึดครองเกาะไต้หวัน ชือ หลัง (施琅; Shī Láng) ผู้บัญชาการราชนาวีชิง นำทัพเรือเข้าหักเอาเกาะไต้หวัน และเอาชัยเหนือทัพเรือตงหนิงบนเกาะเผิงหูได้ในวันที่ 17 กรกฎาคม 1683 สองวันถัดมา กองทัพชิงจึงขึ้นบกเพื่อปราบปรามการแข็งข้อที่ยังมีอยู่อีกประปราย ในที่สุด จักรวรรดิชิงก็สามารถผนวกอาณาจักรตงหนิงเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนได้ในปี 1684 โดยรวมกับมณฑลฝูเจี้ยน เป็นอันสิ้นสุดการปกครองของตระกูลเจิ้งซึ่งมีมาราวยี่สิบปี[7] จากนั้น จักรวรรดิชิงได้ตั้งจังหวัดไต้หวัน (臺灣府; Táiwān Fǔ; Taiwan Prefecture) ขึ้น ณ บริเวณซึ่งเป็นไถหนานปัจจุบัน

ครั้นปี 1721 ชนชั้นรากหญ้าชาวจีนและชาวพื้นเมืองบนเกาะไต้หวันลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของราชวงศ์ชิงซึ่งดำเนินไปอย่างกดขี่ข่มเหง จู อีกุ้ย (朱一貴; Zhū Yīguì; Tsu It-Kui) หัวหน้ากบฏ นำกำลังเข้ายึดเมืองไต้หวันได้โดยปราศจากการปะทะต่อสู้ แต่ภายหลังพวกกบฏแตกคอกันเอง ราชวงศ์ชิงจึงส่งกองทัพจากแผ่นดินใหญ่เข้ามาฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยได้โดยสะดวก จู อีกุ้ย ถูกจับและประหารชีวิต ราชวงศ์ชิงตรากฎหมายห้ามสร้างกำแพงเมืองไต้หวัน แต่ก็ปลูกป่าไผ่รายรอบเมืองไว้เป็นแนวกันภัยแทน อย่างไรก็ดี มีกบฏเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ราชวงศ์ชิงจึงสร้างกำแพงเมืองไต้หวันขึ้นในปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1780[4]

อุทกภัยในปี 1823 ทำให้โคลนเลนเจิ่งนองทั่วฝั่งแม่น้ำในเมืองไต้หวัน แต่นี้ก็ทำให้เกิดท้องดินกว้างขวางเหมาะแก่การเพาะปลูก ต่อมา มีการขุดลอกทะเลเพื่อสร้างระบบแม่น้ำเรียกว่า "คลองห้า" (五條港; Wǔtiáogǎng) สำหรับอำนวยความสะดวกแก่การสัญจรทางน้ำและกันมิให้เรือขนาดใหญ่เข้ามาได้[4]

หลังจากที่เกาะไต้หวันงดติดต่อกับฝรั่งมายาวนานถึงหนึ่งร้อยเจ็ดสิบสี่ปี ราชวงศ์ชิงได้เปิดท่าเรือที่ตำบลอันผิงตามสนธิสัญญาเทียนจิน (天津条约; Tiānjīn Tiáoyuē; Treaty of Tientsin) เมื่อปี 1858 ครั้นปี 1864 ก็ตั้งด่านศุลกากรที่ท่าเรือดังกล่าว เหล่าพ่อค้าฝรั่งจึงจับกลุ่มกันอยู่ในท้องที่ที่เดิมเป็นป้อมวิลันดา

ในเดือนธันวาคม 1871 ชาวไผวัน (排灣; Páiwān) ชนพื้นเมืองทางภาคใต้ของเกาะไต้หวัน สงสัยว่า ชาวญี่ปุ่นซึ่งเรือแตกเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยนั้นคิดไม่ซื่อ และจับตัดศีรษะเสียห้าสิบสี่คน จักรวรรดิญี่ปุ่นจึงส่งกองทัพเข้ารุกรานเกาะไต้หวันในปี 1874 รัฐบาลชิงส่งเฉิน เป่าเจิน (沈葆楨; Chén Bǎozhēn; Shen Pao-chen) ข้าหลวงใหญ่ เข้ามาจัดการป้องกันบนเกาะ เฉินปรับปรุงระบบป้องกันหลายประการที่เมืองไต้หวัน โดยตั้งเครือข่ายโทรเลขระหว่างเมืองไต้หวันกับเซี่ยเหมิน (厦门; Xiàmén; Amoy) และให้ช่างฝรั่งเศสสร้างป้อมเรียก "หอทองคู่ฟ้า" (億載金城; Yìzǎi Jīnchéng; Eternal Golden Castle) ขึ้นที่ตำบลอันผิง[4][7] มีการรื้ออิฐจากป้อมวิลันดามาใช้สร้างบางป้อมดังกล่าวบางส่วนด้วย[11]

พัฒนาการตลอดสองร้อยปีที่ผ่านมาทำให้เมืองไต้หวันกลายเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดบนเกาะไต้หวัน วิลเลียม แคมป์เบล (William Campbell) อนุศาสนาจารย์ชาวสกอต พรรณนาสภาพเมืองในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1870 ไว้ว่า "เกี่ยวกับตัวเมืองไต้หวันนั้น ข้าพเจ้าขอกล่าวว่า กำแพงอิฐรอบเมืองหนาราวสิบห้าฟุต สูงยี่สิบห้าฟุต และมีปริมณฑลราวห้าไมล์ มีการสร้างหอตรวจการณ์สูงตระหง่านบนประตูเมืองทั้งสี่ ส่วนพื้นที่กว้างขวางภายในเมืองนั้นใช้ประดิษฐานวัดหลวง และจวนหรือสำนักราชการบ้านเมืองทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร แต่จำเป็นต้องดำเนินการตามแผนปรับปรุงเมืองไต้หวันอีกมาก แม้เดินทอดน่องไปเรื่อย ๆ ก็สุขใจได้อย่างไม่ต้องสงสัย ส่วนห้างร้านทั้งหลายก็ช่างตกแต่งงามตายิ่งนัก ทว่า กฎระเบียบที่วางไว้ทำให้ถนนแคบเหลือเกิน ทั้งยังคดเคี้ยว ขรุขระ และเหม็นสาบเหม็นเน่าคละคลุ้ง"[12]

ครั้นปี 1885 รัฐบาลชิงได้กำหนดให้เกาะไต้หวันเป็นมณฑลใหม่ต่างหากจากมณฑลฝูเจี้ยน เรียกว่า "มณฑลไต้หวัน" เพื่อให้พัฒนาได้เร็วขึ้น แล้วย้ายเมืองหลวงจากเมืองไต้หวันไปยังไถจง (臺中; Táizhōng) ต่อมาในปี 1887 ก็เปลี่ยนเมืองหลวงเป็นไทเป

เมืองขึ้นญี่ปุ่น

ยุทธศาลา (ญี่ปุ่น: 武徳殿โรมาจิButokuden; Court of Martial Art) ซึ่งญี่ปุ่นสร้างไว้ในไถหนาน

ในปี 1895 รัฐบาลชิงรบกับรัฐบาลญี่ปุ่น นำไปสู่สงครามจีนญี่ปุ่นครั้งแรก และจีนแพ้ศึก รัฐบาลชิงจึงทำสนธิสัญญาหม่ากวัน (馬關條約; Mǎguān Tiáoyuē) ยกเกาะไต้หวันและเกาะเผิงหูให้แก่จักรวรรดิญี่ปุ่น ข้าราชการไต้หวันจึงพร้อมใจกันประกาศเกาะไต้หวันเป็นรัฐเอกราชเรียกว่า "สาธารณรัฐไต้หวัน" (臺灣民主國; Táiwān Mínzhǔ Guó; Republic of Formosa) เพื่อไม่ยอมอยู่ในอำนาจญี่ปุ่น โดยตั้งเมืองหลวงในท้องที่ซึ่งปัจจุบันเป็นไถหนาน แต่เมื่อกองทัพบกญี่ปุ่นขึ้นเกาะในเดือนตุลาคม 1895 ข้าราชการดังกล่าวทั้งหลายก็หนีหายไปสิ้น ทิ้งให้เกาะไร้ผู้ปกครอง บรรดาผู้ดีท้องถิ่นและพ่อค้าฝรั่งในไถหนานจึงเลือกทอมัส บาร์เคลย์ (Thomas Barclay) อนุศาสนาจารย์ชาวอังกฤษ ไปเจรจากับกองทัพญี่ปุ่น ได้ความว่า ไถหนานยอมจำนนโดยไม่ขัดขืน[4]

ดังกล่าวมาแล้วว่า อาณาบริเวณซึ่งเป็นไถหนานในปัจจุบันนั้นเดิมมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "ไต้หวัน" ก่อนที่ชื่อนี้จะกลายเป็นคำเรียกดินแดนทั้งเกาะ ส่วนชื่อ "ไถหนาน" นั้นใช้เรียกท้องที่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการแต่เมื่อใดไม่ปรากฏชัด ทว่า เมื่อญี่ปุ่นได้ครองไต้หวัน ญี่ปุ่นใช้ไถหนานเป็นเมืองหลวงของเกาะไต้หวัน และเปลี่ยนชื่อเมืองนี้ในภาษาตนเองหลายครั้ง ในปี 1895 ใช้ว่า "ไทนังเก็ง" (Tainanken) ในปี 1901 ใช้ "ไทนันโช" (Tainanchō) และในปี 1920 ใช้ "ไทนันชู" (Tainanshū) ช่วงนั้น ไถหนานประกอบด้วยท้องที่ที่ปัจจุบันเป็นเทศมณฑลเจียอี้ (嘉義縣; Jiāyì Xiàn) และเทศมณฑลหยุนหลิน (雲林縣; Yúnlín Xiàn) นอกเหนือไปจากพื้นที่อื่น ๆ[8]

อย่างไรก็ดี แม้ชนชั้นสูงจะยอมจำนน แต่ชนชั้นล่างไม่เห็นด้วยและสะสมความไม่พอใจเรื่อยมา ภายหลังก็ปะทุเป็นการลุกฮือขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 1915 โดยเริ่มที่ตำบลเจี้ยวปาเหนียน (噍吧哖; Jiaòbānián; Tapani) ซึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตยวี่จิ่ง และมียฺหวี ชิงฟัง (余清芳; Yú Qīngfāng) เป็นหัวหน้า การลุกฮือดังกล่าวขยายวงอย่างรวดเร็ว ในไม่ช้าก็มีผู้ร่วมก่อการทั่วเกาะ ทั้งได้รับความสนับสนุนจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะและจากชาวพื้นเมืองของเกาะเอง จักรวรรดิญี่ปุ่นปราบปรามกบฏอย่างรุนแรง ผู้คนจำนวนมากถูกฆ่า และสถานที่หลายแห่งถูกทำลาย ยฺหวี ชิงฟัง ถูกจับได้ในวันที่ 22 สิงหาคม 1915 และถูกพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับชาวไถหนานอีกมากกว่าแปดร้อยคน เมื่อประหารไปได้แล้วกว่าหนึ่งร้อยคน พระเจ้าไทโช (ญี่ปุ่น: 大正โรมาจิTaishō) แห่งญี่ปุ่นก็อภัยโทษคนที่เหลือ[4] เหตุการณ์นี้ทำให้ญี่ปุ่นเปลี่ยนนโยบายที่มีต่อไต้หวันจากการบีบให้จำนนเป็นการผนวกเข้ากับญี่ปุ่นและพัฒนาให้ทันสมัยไปพร้อมกัน รัฐบาลญี่ปุ่นจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานหลายประการขึ้นในเมืองไถหนาน เช่น การศึกษา การศาล การบริหารราชการแผ่นดิน การคมนาคม การขนส่งทางราง การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ และการชลประทาน นอกจากนี้ ยังวางผังเมืองแบบสมัยใหม่ กับทั้งรื้อกำแพงเมืองเก่าทิ้ง และสร้างถนนอันกว้างขวางขึ้นแทน[8]

หลังสงครามโลก

ต่อมาในปี 1912 ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐจากระบอบราชาธิปไตยเป็นระบอบสาธารณรัฐ พรรคชาตินิยม (ก๊กมินตั๋ง) ได้เถลิงอำนาจในประเทศจีน และสามารถยึดเกาะไต้หวันคืนไปในปี 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง เกาะไต้หวันจึงกลับไปเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน และไถหนานมีสถานะเป็นเทศมณฑลหนึ่งของมณฑลไต้หวัน

ครั้นปี 1947 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ในเทศมณฑลไถหนาน คือ กบฏ 228 จนวันที่ 11 มีนาคม 1947 ทัง เต๋อจัง (湯德章; Tāng Dézhāng; Thng Tek-chiong) นักนิติศาสตร์ลูกครึ่งญี่ปุ่นซึ่งถูกกล่าวหาว่า เป็นสมาชิกกบฏ และลงรับเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน ถูกจับและตั้งข้อหาแบ่งแยกดินแดน วันรุ่งขึ้น เขาถูกทรมานและประหารชีวิตต่อหน้าธารกำนัลในศาลากลางไถหนาน แต่เมื่อเขาตายแล้ว ศาลก็พิพากษาว่า เขาไม่มีความผิด ศาลากลางนั้นจึงจัดตั้งเป็น "อนุสรณ์สถานทัง เต๋อจัง" (湯德章紀念公園; Tāng Dézhāng Jìniàn Gōngyuán; Tang Dezhang Memorial Park) ในภายหลัง[13]

ในปี 1949 เกิดสงครามกลางเมืองในประเทศจีน ส่งผลให้พรรคสังคมนิยม (พรรคคอมมิวนิสต์) ได้เป็นใหญ่ พรรคสังคมนิยมเปลี่ยนรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบสังคมนิยม และเรียกประเทศเสียใหม่ว่า "สาธารณรัฐประชาชนจีน" พรรคชาตินิยมจึงหนีมายังเกาะไต้หวัน และจัดตั้งการปกครองบนพื้นที่ไต้หวันแยกเป็นประเทศต่างหากจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เรียกว่า "สาธารณรัฐจีน" แต่พรรคสังคมนิยมยังคงถือว่า พื้นที่ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน กับทั้งสาธารณรัฐจีนเองก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนานาชาติว่าเป็นประเทศเอกราชมาจนปัจจุบัน

เมื่อจัดตั้งสาธารณรัฐจีนแล้ว รัฐบาลที่สถาปนาขึ้นได้จัดระเบียบการปกครองบนเกาะไต้หวันเสียใหม่ เทศมณฑลไถหนานเลือกตั้งนายกเทศมนตรีและคณะเทศมนตรีจริง ๆ เป็นครั้งแรกในปี 1950 ต่อมาในช่วงทศวรรษที่ 1960 มีการปรับปรุงท่าเกาสยฺง ทำให้เมืองเกาสฺยง (高雄; Gāoxióng) เติบโตขึ้นเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจทางภาคใต้แทนไถหนาน แต่ไถหนานยังคงได้รับความสำคัญในลำดับต้น ๆ เพราะโครงการพัฒนาระดับชาติหลายโครงการเริ่มที่ไถหนานก่อน ความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับทำให้เทศมณฑลไถหนานได้รับการยกระดับขึ้นเป็นนครปกครองโดยตรง เขตปกครองชั้นสูงสุด มาจนปัจจุบัน

การปกครอง

วิธีปกครอง

ปัจจุบัน ไถหนานเป็นนครปกครองโดยตรงซึ่งเป็นเขตปกครองชั้นสูงสุดตามกฎหมาย และใช้การปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งแบ่งเป็นสองฝ่าย ฝ่ายบริหารมีนายกเทศมนตรี (市長; Shìzhǎng) คนหนึ่งซึ่งมาจากการเลือกตั้งเป็นผู้นำ ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติมีสภานคร (市議會; Shìyìhuì) ดำเนินการ

นครปกครองโดยครงแบ่งเขตปกครองออกเป็นเขต (; ) และเขตแบ่งเป็นหมู่บ้านในเมือง (; ) กับละแวก (; lín) เขตในไถหนานไม่มีอำนาจปกครองตนเอง ขณะที่หมู่บ้านและละแวกปกครองตนเอง

ศูนย์กลางการปกครองของนครไถหนาน คือ เขตอันผิงกับเขตซินหยิง เขตทั้งสองเคยเป็นที่ตั้งที่ว่าการเทศมณฑลซึ่งบัดนี้ใช้เป็นศูนย์ราชการ (administration center) เพื่อบริหารงานพัฒนาทั่วไป เช่น การศึกษา และการผังเมือง ส่วนในเขตที่เหลือมีสำนักงานเขต (district office) เพื่อให้พลเมืองสามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้

อนึ่ง ถือกันว่า ไถหนานเป็นฐานอำนาจของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (民主進步黨; Mínzhǔ Jìnbù Dǎng) โดยเฉพาะในการเลือกตั้งระดับชาติ

ศาลากลางไถหนาน
(Tainan City Hall)
สภานครไถหนาน
(Tainan City Council)
ศาลจังหวัดไถหนาน
(Tainan District Court)
ศาลสูงไต้หวันสาขาไถหนาน
(Taiwan High Court Tainan Branch Court)

เขตปกครอง

ไถหนานประกอบด้วยเขต 37 เขต ดังนี้

แผนที่ไถหนาน
ที่ ชื่อ ประชากร
(2010)
พื้นที่
(ตารางกิโลเมตร)
ไทย จีน พินอิน โรมัน
(อย่างเป็นทางการ)
หรืออังกฤษ
1 กวันเถียน 官田 Guāntián Guantian 22,284 70.7953
2 กวันเมี่ยว 關廟 Guānmiào Guanmiao 36,109 53.6413
3 กุยเหริน 歸仁 Guīrén Guiren 65,816 55.7913
4 เจียง-จฺวิน 將軍 Jiāngjūn Jiangjun 21,633 41.9796
5 เจียหลี่ 佳里 Jiālǐ Jiali 59,290 38.9422
6 ชันชั่ง 山上 Shānshàng Shanshang 7,912 27.8780
7 ชั่นฮว่า 善化 Shànhuà Shanhua 43,443 55.309
8 ชีกู่ 七股 Qīgǔ Qigu 24,857 110.1492
9 ซิงอิ๋ง 新營 Xīnyíng Xinying 78,155 38.5386
10 ซินชื่อ 新市 Xīnshì Xinshi 34,794 47.8096
11 ซินฮว่า 新化 Xīnhuà Xinhua 44,116 62.0579
12 ซีกั่ง 西港 Xīgǎng Xigang 25,242 33.7666
13 เซี่ยอิ๋ง 下營 Xiàyíng Xiaying 26,165 33.5291
14 ตงชัน 東山 Dōngshān Dongshan 23,182 124.91
15 ตะวันตกกลาง 中西 Zhōngxī West Central 79,286 6.2600
16 ตะวันออก Dōng East 194,608 14.4281
17 ต้าเน่ย์ 大內 Dànèi Danei 10,903 70.3125
18 ใต้ Nán South 126,293 27.2681
19 เป่ย์เหมิน 北門 Běimén Beimen 12,504 44.1003
20 ไป๋เหอ 白河 Báihé Baihe 31,514 126.4046
21 ยฺวี่จิ่ง 玉井 Yùjǐng Yujing 15,442 76.366
22 ลุ่ยเจี่ย 六甲 Liùjiǎ Liujia 23,787 64.5471
23 ลุ่ยอิ๋ง 柳營 Liǔyíng Liuying 22,746 61.2929
24 สั่วเจิ้น 左鎮 Zuǒzhèn Zuozhen 5,531 74.9025
25 เสฺวเจี่ย 學甲 Xuéjiǎ Xuejia 27,943 53.9919
26 หนานซี 楠西 Nánxī Nanxī 10,687 109.6316
27 หนานฮว่า 南化 Nánhuà Nanhua 8,919 171.5198
28 เหนือ Běi North 131,939 10.4340
29 หมาโต้ว 麻豆 Mádòu Madou 45,953 53.9744
30 หย่งคัง 永康 Yǒngkāng Yongkang 217,194 40.275
31 หยันฉุ่ย 鹽水 Yánshuǐ Yanshui 27,220 52.2455
32 เหรินเต๋อ 仁德 Réndé Rende 69,228 50.7664
33 หลงฉี 龍崎 Lóngqí Longqi 4,395 64.0814
34 อันติ้ง 安定 Āndìng Anding 30,200 31.2700
35 อันผิง 安平 Ānpíng Anping 62,520 11.0663
36 อันหนาน 安南 Ānnán Annan 177,960 107.2016
37 โฮ่วปี้ 後壁 Hòubì Houbi 26,002 71.2189

วัฒนธรรม

การลอดซุ้มในพิธีฉลองอายุสิบหกปี
เกี๊ยวกุ้งเนื้อทอดกรอบราดน้ำจิ้มเปรี้ยวหวาน
ขนมหีบศพ
วัดเวฬุธาร

ไถหนานถือเป็นเมืองหลวงด้านวัฒนธรรมของไต้หวัน เพราะเป็นแหล่งโบราณสถาน ศาสนสถาน และภูมิปัญญาซึ่งเก่าแก่ที่สุดบนเกาะไต้หวัน นอกจากนี้ ไถหนานยังรักษาของกินอันเป็นเอกลักษณ์เอาไว้มาตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน

ประเพณีชาวบ้าน

พลเมืองไถหนานจำนวนมากผูกพันใกล้ชิดกับวัดและเทพยดาจีน เช่น บิดามารดามักพาบุตรไปไหว้นางฟ้าเจ็ดดาว (七娘媽; Qīniángmā) ซึ่งเป็นเทวีพิทักษ์เด็ก และตามประเพณีแล้ว ชาวจีนถือว่า เด็กเป็นผู้ใหญ่เมื่ออายุได้สิบหกปี ชาวไถหนานซึ่งได้รับอิทธิพลจากคตินี้ก็จัดพิธีกรรมใหญ่โตให้แก่บุคคลทั้งหลายที่อายุสิบหกปี พิธีกรรมดังกล่าวมีขึ้นในวันที่เจ็ดเดือนเจ็ดของทุกปีตามปฏิทินจันทรคติ เรียกว่า "วันกำเนิดนางฟ้าเจ็ดดาว" (七娘媽的生日; Qīniángmā De Shēngrì) อนึ่ง ในอดีต ครอบครัวชาวไถหนานที่บุตรหลานทำงาน ณ ท่าเรือจะอาศัยวันดังกล่าวเรียกให้เริ่มเพิ่มค่าจ้างเด็กเสมอค่าจ้างผู้ใหญ่ด้วย

นักเรียนนักศึกษาเมื่อจะสอบก็มักไปขอพรจากราชาเหวินชัง (文昌帝君; Wénchāng Dìjūn) เทพแห่งการเล่าเรียน วัดเหวินชังซึ่งนิยมไปกันนั้นตั้งอยู่ ณ บริเวณซึ่งเดิมเป็นป้อมโปรวินเทีย นักเรียนที่กำลังจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังมักพากันไปไหว้เหวินชังในเดือนมิถุนายนอันเป็นเดือนก่อนสอบ และผู้ต้องการโชคด้านความรักหรือชีวิตสมรสมักไหว้อาวุโสใต้จันทร์ (月下老人; Yuèxià Lǎorén) ซึ่งเป็นกามเทพจีน ชาวไถหนานยังไหว้เจ้าเข้าวัดด้วยสาเหตุอีกหลายประการ เป็นต้นว่า ไปวิงวอนขอโชคลาภ ไปทำบุญวันเกิด หรือไปทำนายโชคชะตาราศี[14]

ส่วนพิธีมงคลสมรสในไถหนานนั้นเป็นที่ขึ้นชื่อเพราะขั้นตอนพิถีพิถัน ขบวนแห่อึงมี่ และหน้าที่ของบ่าวสาวในการเตรียมข้าวของสิบสองประการซึ่งสื่อความหมายต่าง ๆ ให้เป็นของหมั้นแก่กัน ผู้คนเชื่อว่า ความสลับซับซ้อนนี้เป็นเครื่องสำแดงความเป็นอารยชาติ[14]

ประชาชนในเขตอันผิงยังมักติดรูปสิงห์คาบดาบ (劍獅; jiàn shī) ไว้หน้าบ้านเพื่อไล่ผี ประเพณีนี้มีที่มาจากสมัยอาณาจักรตงหนิง เมื่อไพร่พลรบทัพจับศึกกลับมา มักนำโล่รูปหัวสิงห์แขวนไว้หน้าประตูบ้าน แล้วสอดดาบไว้ในปากสิงห์ ชาวบ้านทั่วไปเห็นก็จดจำมาทำบ้างด้วยเชื่อว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความปลอดภัย ส่วนที่นิยมปฏิบัติกันในท้องถิ่นนี้เพราะครั้งนั้นอันผิงเป็นฐานทัพเรือหลัก[15]

อาหารการกิน

อาหารไต้หวันชื่อดังหลายตำรับกำเนิดที่ไถหนาน และเนื่องจากไถหนานเป็นแหล่งอุตสาหกรรมน้ำตาลมาแต่โบราณกาล อาหารไถหนานจึงมักมีรสหวานกว่าอาหารในภูมิภาคอื่นของประเทศ ที่ขึ้นชื่อที่สุด คือ

  • เกี๊ยวกุ้งเนื้อ (蝦仁肉丸; Xiārén Ròuwán; Shrimp and Meat Dumpling)
    เป็นเกี๊ยวทำจากแป้งเหนียวหนึบ ใส่ไส้กุ้งและเนื้อโคหมักเปรี้ยว นึ่งสุกหรือทอดกรอบ รับประทานกับน้ำจิ้มเปรี้ยวหวาน
  • ขนมหีบศพ (棺材板; Guāncái Bǎn; Coffin Bread)
    เป็นขนมรูปสี่เหลี่ยมคล้ายหีบศพ ทำจากแป้งชุบไข่ทอดกรอบ ตรงกลางเจาะเป็นช่องใส่ไส้ เช่น เนื้อโคพริกไทยดำ หรือไก่ผัดผงกะหรี่
  • ข้าวมัน (油飯; Yóu Fàn; Oily Rice)
    เป็นข้าวเหนียวผัดกับน้ำมันส้ม น้ำมันงา ซีอิ๊ว หมูฝอย เห็ด และกุ้งแห้ง
  • บะหมี่ปลาไหล (鳝鱼面; Shànyú Miàn; Eel Noodles)
    เป็นบะหมี่ผัดกับปลาไหลนาทอดและหอมใหญ่ ปรุงรสเปรี้ยวหวาน
  • บะหมี่หาบ (擔仔麵; Dānzǐ Miàn; Tan-tsu Noodles)
    เป็นบะหมี่น้ำ น้ำที่ใช้เป็นน้ำต้มกุ้ง บะหมี่ราดเต้าเจี้ยว น้ำส้มดำ และซีอิ๊ว โรยกระเทียมเจียวและผักชี แล้วใส่กุ้งและไข่พะโล้

อาหารที่โด่งดังในไถหนานหลายรายการทำจากปลานวลจันทร์ทะเล หรือที่ชาวไถหนานเรียก "ปลาราชสกุล" (國姓魚; Guóxìng Yú; Koxing's Fish) เพราะเชื่อว่า ชื่อปลานี้อย่างเป็นทางการในภาษาจีน คือ "ชือมู่-ยฺหวี" (虱目魚; Shīmù Yú) อันแปลว่า "ปลาตาเล็น" นั้น เจิ้ง เฉิงกง หรือบรรดาศักดิ์ว่า "เจ้าราชสกุล" (國姓爺; Guóxìngye; Koxinga) ตั้งให้[14]

อนึ่ง ภัตตาคารร้านรวงจำนวนมากในไถหนานยังมีความเป็นมาย้อนไปถึงสมัยที่ไถหนานเป็นเมืองขึ้นราชวงศ์ชิงและเมืองขึ้นญี่ปุ่นด้วย[14]

วัดวาอาราม

ไถหนานขึ้นชื่อเรื่องมีวัดมาก และบางแห่งเป็นชนิดซึ่งไม่ปรากฏที่ใดในเกาะไต้หวันอีก ศาสนสถานเลื่องชื่อนั้นเรียกรวมกันว่า "เจ็ดวัดแปดอาราม" (七寺八廟; qī sì bā miào; seven temples and eight shrines)[4] วัดเจ็ดแห่งนั้นเป็นพุทธสถาน ส่วนอารามแปดแห่งเป็นศาสนสถานเต๋า

วัดทั้งเจ็ด

ที่ ชื่อ ความหมาย ปี/สมัย
ที่สร้าง
ไทย จีน พินอิน
1 ไค-ยฺเหวียนซื่อ 開元寺 Kāiyuán Sì วัดไค-ยฺเหวียน 1690
2 จู๋ซีซื่อ 竹溪寺 Zhúxī Sì วัดเวฬุธาร อาณาจักรตงหนิง
3 ฉงชิ่งซื่อ 重慶寺 Chóngqìng Sì วัดสหมงคล ราชวงศ์ชิง
4 ฝ่า-หฺวาซื่อ 法華寺 Fǎhuá Sì วัดสัทธรรมปุณฑริก อาณาจักรตงหนิง
5 หมีถัวซื่อ 弥陀寺 Mítuó Sì วัดอมิตาภ อาณาจักรตงหนิง
6 หลงชันซื่อ 龍山寺 Lóngshān Sì วัดมังกรคีรี ราชวงศ์ชิง
7 หฺวังปั้วซื่อ 黃檗寺 Huángbò Sì วัดหฺวังปั้ว ราชวงศ์ชิง

อารามทั้งแปด

ที่ ชื่อ ความหมาย เทวดาประจำ ปี/สมัย
ที่สร้าง
ไทย จีน พินอิน ไทย จีน พินอิน
1 ฉุ่ยเซียนกง 水仙宮 Shuǐxiān Gōng เก๋งเทพวารี เทพวารี 水仙 Shuǐxiān ราชวงศ์ชิง
2 ซื่อเตี่ยนอู่เมี่ยว 祀典武廟 Sìdiǎn Wǔmiào วิหารเทพสงคราม กวัน ยฺหวี่ 關羽 Guān Yǔ 1665
3 ตง-ยฺเว่เตี้ยน 東嶽殿 Dōngyuè Diàn ตำหนักผาบูรพา มัจจุราช 閻羅王 Yánluówáng 1673
4 ต้าเทียนโฮ่วกง 大天后宮 Dàtiānhòu Gōng เก๋งเจ้าแม่สวรรค์ เจ้าแม่ทับทิม 媽祖 Māzǔ อาณาจักรตงหนิง
5 ฝู่เฉิงหฺวังเมี่ยว 府城隍廟 Fǔchénghuáng Miào อารามเสื้อเมือง เสื้อเมืองไถหนาน 府城隍 Fǔchénghuáng 1669
6 เฟิงเฉินเมี่ยว 風神廟 Fēngshén Miào อารามเทพวายุ เทพวายุ 風神 Fēngshén 1739
7 เย่าหวังเมี่ยว 藥王廟 Yàowáng Miào อารามเทพโอสถ มหาเทพหวง 黃大仙 Huáng Dàxiān 1685
8 หลงหวังเมี่ยว 龍王廟 Lóngwáng Miào อารามนาคราช นาคราชทะเลตะวันออก 東海龍王 Dōnghǎi Lóngwáng 1716

พิพิธภัณฑ์และอุทยาน

ไถหนานมีพิพิธภัณฑ์และอุทยานมากมายเพราะยังดำรงรักษาวัฒนธรรมหลายแขนงไว้เป็นอย่างดี ในบรรดาสถานที่เหล่านี้ ที่โด่งดังได้แก่

สถานศึกษา

อุดมศึกษา

  • มหาวิทยาลัยคุนชัน (崑山科技大學; Kūnshān Kējì Dàxué; Kun Shan University)
    เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน เดิมก่อตั้งเป็นวิทยาลัยเทคโนโลยีคุนชัน (Kun Shan Institute of Technology) เมื่อปี 1965 ก่อนยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2000 จัดการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ นิเวศวิทยา เทคโนโลยีสารสนเทศ และบริหารธุรกิจ
  • มหาวิทยาลัยจั่งหรง (長榮大學; Zhǎngróng Dàxué; Chang Jung Christian University)
    เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนสังกัดคณะเพรสไบทีเรียนไต้หวัน (Presbyterian Church in Taiwan) จัดการศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก กับทั้งส่งเสริมกิจการศาสนาในไต้หวัน
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีไถหนาน (臺南應用科技大學; Táinán Yngyòng Kējì Dàxué; Tainan University of Technology)
    เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1964 และจัดการศึกษาระดับปริญญาในสาขาดุริยางคศิลป์ ทัศนศิลป์ และวิทยาศาสตร์ประยุกต์
  • มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไต้หวันใต้ (南台科技大學; Nántái Kējì Dàxué; Southern Taiwan University of Science and Technology)
    เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1969
  • มหาวิทยาลัยศิลปะแห่งชาติไถหนาน (國立臺南藝術大學; Guólì Táinán Yìshù Dàxué; Tainan National University of the Arts)
    เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1996 มีวัตถุประสงค์ผลิตบัณฑิตด้านศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ การออกแบบภาพและเสียง สถาปัตยกรรมศาสตร์ ศิลปะเชิงอนุรักษ์ ตลอดจนประวัติศาสตร์และการวิจารณ์ศิลปะ
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง (國立成功大學; Guólì Chénggōng Dàxué; National Cheng Kung University)
    เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ เดิมจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเพาะช่างไถหนาน (Tainan Technical College) เมื่อปี 1931 ต่อมายกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งมณฑลเมื่อปี 1956 และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติตั้งแต่ปี 1971 ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเลื่องชื่อของไต้หวัน และโด่งดังด้านวิศวกรรมศาสตร์[16]
  • มหาวิทยาลัยแห่งชาติไถหนาน (國立臺南大學; Guólì Táinán Dàxué; National University of Tainan)
    เป็นมหาวิทยาลัยรัฐ เดิมจัดตั้งเป็นสถาบันผลิตครู (Institute of Teachers' In-service Education) เมื่อปี 1988 ต่อมายกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยครูแห่งชาติไถหนาน (National Tainan Teachers College) เมื่อปี 1991 และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติไถหนานตั้งแต่ปี 2004
  • วิทยาลัยเทววิทยาไถหนาน (臺南神學院; Táinán Shén Xuéyuàn; Tainan Theological College and Seminary)
    เป็นสถานศึกษาเอกชน ทอมัส บาร์เคลย์ อนุศาสนาจารย์ชาวอังกฤษ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 1876[17]

มัธยมศึกษา

มหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง
วิทยาลัยเทววิทยาไถหนาน
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งชาติไถหนานสอง
โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายแห่งชาติไถหนานหนึ่ง

กีฬา

ไถหนานเป็นที่อยู่ของสิงห์ยูนิ-เพรสซิเดนต์เซเว่นอีเลฟเว่น (統一7-Eleven獅; Tǒngyī 7-Eleven shī; Uni-President 7-Eleven Lions) ทีมบาสเกตบอลมืออาชีพซึ่งมักแข่งขันที่สนามเบสบอลเทศบาลไถหนาน[18] นอกจากนี้ ไถหนานยังเป็นบ้านเกิดของนักเบสบอลผู้มีชื่อเสียงหลายคน เช่น หวัง เจี้ยนหมิน (王建民; Wáng Jiànmín; Wang Chien-Ming) กัว หงจื้อ (郭泓志; Guō Hóngzhì; Kuo Hong-Chih) กัว ไท่-ยฺเหวียน (郭泰源; Guō Tàiyuán; Kuo Tai-yuan) และหลิน เอิน-ยฺหวี่ (林恩宇; Lín Ēnyǔ; Lin En-yu)

หมายเหตุ

คำในภาษาพื้นเมือง

อ้างอิง

  1. "臺南市政府全球資訊網". Tainan.gov.tw. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-01-18. สืบค้นเมื่อ 2013-01-23.
  2. Chang, Winnie (April 1994). "Rise of the Phoenix?". Taiwan Today. สืบค้นเมื่อ 2012-01-10.
  3. "Tainan Confucian Temple". Council for Cultural Affairs. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-01. สืบค้นเมื่อ 2008-08-19.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 4.6 4.7 蔡玉仙等編. 府城文史. 臺南市政府. ISBN 978-986-00-9434-3.
  5. 5.0 5.1 5.2 5.3 5.4 5.5 5.6 石守謙主編. Ilha Formosa: the Emergence of Taiwan on the World Scene in the 17th Century. National Palace Museum. ISBN 957-562-441-6.
  6. 加藤光貴著 黃秉珩譯. 昨日府城 明星台南: 發現日治下的老臺南. 臺南市文化資產保護協會. ISBN 978-957-28079-9-6.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 Murray A. Robinstein (2006-10-30). Taiwan: a new history, expanded edition. M.E. Sharpe, Inc. ISBN 0-7656-1495-2.
  8. 8.0 8.1 8.2 加藤光貴著 黃秉珩譯. 昨日府城 明星臺南: 發現日治下的老台南. 臺南市文化資產保護協會. ISBN 978-957-28079-9-6.
  9. "Anping Harbor National Historical Park". Tainan City Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-10-15. สืบค้นเมื่อ 2010-03-31.
  10. 蔡玉仙等編. 府城文史. 台南市政府. ISBN 978-986-00-9434-3.
  11. "Anping Harbor National Historical Park". Tainan City Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-03-14. สืบค้นเมื่อ 2010-03-25.
  12. William Campbell (1913). Sketches of Formosa. London: Marshall Brothers. pp. 16–17
  13. "湯德章". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-21. สืบค้นเมื่อ 2010-04-17.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 "台南市文資導讀". Tainan City Government. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-07-02. สืบค้นเมื่อ 2011-05-12.
  15. "Sword Lion". Anping Harbor National Historical Park. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-02-23. สืบค้นเมื่อ 2011-05-12.
  16. "Brief History". National Cheng Kung University. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  17. "Introduction". Tainan Theological College and Seminary. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-05-22. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.
  18. "Parking near the Municipal Stadium" (ภาษาจีน). Uni-President Lions. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-13. สืบค้นเมื่อ 2008-08-20.

แหล่งข้อมูลอื่น

22°59′N 120°11′E / 22.983°N 120.183°E / 22.983; 120.183

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!