รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร (19 มกราคม พ.ศ. 2465 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2522) เป็นสถาปนิกชาวไทย อดีตอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสงอรุณ เป็นชาวตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นบุตรของ พันเอกพระยาวิเศษสิงหนาท (สาหร่าย รัตกสิกร) อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก และคุณหญิงระเบียบ สกุลเดิม คงพันธุ์ เริ่มศึกษาที่โรงเรียนประจำจังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นย้ายมาศึกษาที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ต่อมาเข้าศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับทุน ก.พ. ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล สหรัฐอเมริกา จากนั้นได้เข้าฝึกงานใน "รังนกอินทรี" ของแฟรงก์ ลอยด์ ไรต์[1] ก่อนที่จะกลับมาอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และได้รับประกาศนียบัตรนักธรรมตรี
เมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้วก็เข้ารับราชการในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2490 และยังมีผลงานเขียนหนังสือเช่น "แสงอรุณ 2" ซึ่งเป็น หนึ่งในรายการหนังสือ 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่าน, ตึก ต้นไม้ และแสงอรุณ, ทรรศนะอุจาด ,แสงอรุณแห่งสถาปัตยกรรม, " เรณู - ปัญญา " เที่ยวรถไฟ, อนุสาวรีย์ที่ไทยทำ โดยส่วนใหญ่ท่านใช้นามจริง เว้นบางเรื่องใช้นามปากกาว่า ส. รัตกสิกร ท่านยังมีฝีมือในการเขียนภาพลายเส้น นิสัยรักธรรมชาติและการศึกษาค้นคว้า เป็นผู้เผยแพร่ความรู้เรื่องอนุรักษ์ศิลปะและสิ่งแวดล้อมที่ดีเยี่ยมผู้หนึ่ง
ตำแหน่งสุดท้ายทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ถึงแก่กรรมด้วยอาการหัวใจวายเฉียบพลัน เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2522 สิริรวมอายุได้ 56 ปี 8 เดือน 26 วัน
ชีวิตส่วนตัว
รองศาสตราจารย์แสงอรุณ รัตกสิกร สมรสกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ลดา สีบุญเรือง อดีตรองหัวหน้าภาควิชาคหกรรมศาสตร์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีบุตรีด้วยกัน 1 คน ได้แก่ ชูมาน ถิระกิจ อดีตบรรณารักษ์อาวุโส สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2]
การทำงาน
- 1 สิงหาคม 2497 ตำแหน่งอาจารย์โท
- 20 กรกฎาคม 2503 ตำแหน่งอาจารย์เอก
- 30 ตุลาคม 2511 ตำแหน่งชั้นพิเศษ
- 1 ตุลาคม 2512 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์
- 1 ตุลาคม 2519 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 7
- 1 มิถุนายน 2520 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 8
- 22 พฤษภาคม 2522 ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ ระดับ 9
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง