เสถียร โพธินันทะ
|
---|
|
เกิด | เสถียร กมลมาลย์ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2472 เยาวราช จังหวัดพระนคร ประเทศสยาม |
---|
เสียชีวิต | 9 ธันวาคม พ.ศ. 2509 (37 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
---|
นามปากกา | ส.โพธินันทะ (ตั้งเม้งเต็ก) |
---|
อาชีพ | นักวิชาการพระพุทธศาสนา นักเขียน นักแปล |
---|
สัญชาติ | ไทย |
---|
|
ลายมือชื่อ | |
---|
เสถียร โพธินันทะ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาคนหนึ่งของไทย ผู้บุกเบิกการศึกษาพระพุทธศาสนามหายาน และอดีตเลขาธิการคณะสงฆ์จีนนิกายแห่งประเทศไทย เกิดที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2472 ที่บ้านในตรอกอิศรานุภาพ บริเวณตลาดเก่าเยาวราช ใกล้ ๆ กับวัดกันมาตุยาราม บิดาเป็นชาวจีนชื่อนายตั้งเป็งท้ง มารดาชื่อนางมาลัย กมลมาลย์ มีพี่สาวสองคน ตามประวัติกล่าวว่าเมื่อมารดาตั้งครรภ์อาจารย์เสถียร บิดาก็มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางกลับไปประเทศจีนและได้ถึงแก่กรรมในเวลาต่อมา ในวัยเด็กเด็กชายเสถียรใช้นามสกุลว่า “กมลมาลย์” ตามมารดา จนกระทั่ง พ.ศ. 2491 เมื่อมีอายุได้ 20 ปี จึงได้เปลี่ยนนามสกุลตนเองเป็น “โพธินันทะ” อันหมายถึงผู้ยินดีในความรู้แจ้ง ด้วยประสงค์จะให้ใกล้ชิดกับพระศาสนาและได้ใช้นามสกุลนี้ตลอดมาจนถึงแก่กรรม ด้วยอายุ 37 ปี
ชีวิตในวัยเด็ก
เมื่อมีอายุพอจะรับการศึกษาได้ มารดาจึงได้นำไปฝากให้เรียนในโรงเรียนราษฎรเจริญของครูชม เปาโรหิตย์ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับวัดจักรวรรดิราชาวาส หลังจากนั้นได้ศึกษาต่อชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมวัดบพิตรพิมุขจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 5 จึงได้ลาออก การลาออกทั้งที่มีโอกาสและทุนทรัพย์พอที่จะศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปได้นั้น เป็นความประสงค์ของอาจารย์เสถียรเองที่ต้องการความเป็นอิสระ และปรารถนาจะมีเวลาทำการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ที่ต้องการด้วยตนเอง โดยเฉพาะความรู้ทางพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่
นายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า “คุณเสถียรเริ่มรู้จักกับข้าพเจ้าเมื่ออายุ 15 ปี ครั้งนั้นคุณเสถียรกำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนวัดบพิตรพิมุข เป็นเด็กฉลาดเฉียบแหลมมีปฏิภาณดีมาก และมีความจำยอดเยี่ยมด้วย ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่คุณเสถียรได้รู้จักคุ้นเคยกับอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ แต่ครั้งยังอุปสมบทอยู่ที่วัดกันมาตุยาราม ซึ่งคุณเสถียรได้ศึกษาหาความรู้ทางพระพุทธศาสนาเถรวาทจากอาจารย์ท่านนี้ เพียงระยะเวลาไม่นานก็มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี ทั้งนี้ได้จากอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถเป็นเยี่ยมท่านหนึ่ง ประกอบกับสติปัญญาอันเฉียบแหลมของคุณเสถียรเองด้วย” ในเรื่องนี้มารดาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะก็ได้เล่าว่าอาจารย์เสถียรสนใจทางพระศาสนามาตั้งแต่เล็ก เมื่ออายุประมาณได้ 3 ขวบก็เริ่มนำดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้พระแล้ว
ในสมัยเด็ก เมื่ออยู่ในที่แวดล้อมเป็นคนจีนเด็กชายเสถียรก็ชอบเล่นแต่งกายเป็นพระจีน การวาดเขียนที่ชอบมากคือเขียนรูปพระพุทธเจ้าและรูปบุคคลประกอบเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา เมื่ออายุได้ 13–14 ปีก็ชอบท่องเที่ยวไปตามวัดต่าง ๆ ทั้งวัดจีน วัดญวน และวัดไทย วัดไทยที่ชอบไปคือวัดจักรวรรดิราชาวาส เพื่อไปสนทนาไต่ถามเรื่องราวต่าง ๆ ทางศาสนากับพระสงฆ์ โดยเฉพาะวัดจีนและวัดญวนนั้นชอบไปดูพิธีทิ้งกระจาด การทำกงเต๊ก และการสวดมนต์ ส่วนในด้านความรู้นั้นก็ได้ศึกษาความรู้เรื่องพระพุทธศาสนามหายานจากหนังสือลัทธิของเพื่อน ของเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป แต่ก็รู้จักใช้ถ้อยคำสำนวนได้ถูกต้องตามหลักวิชา ประกอบกับมีความจำเป็นเลิศจึงจดจำเรื่องราวที่อ่านไว้ได้มาก สามารถอธิบายรูปปฏิมาต่าง ๆ ในวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) ได้ถูกต้องและถี่ถ้วน ยิ่งกว่านั้นการซักถามพระจีนพระญวนที่มีความรู้โดยละเอียดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มีความรู้ในเรื่องของจีนและญวนแตกฉานขึ้น
ภายหลังจบชั้นมัธยมปีที่ห้าแล้ว จึงได้เข้าศึกษาภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง ชั่วเวลาเพียงสองปีก็มีความรู้ภาษาจีนแตกฉาน สามารถใช้ศัพท์สูง ๆ ยาก ๆ ในภาษาจีนกลางได้ดี สามารถอ่านพระไตรปิฎกจีนซึ่งอุดมไปด้วยสำนวนโวหารโบราณที่ลึกซึ้งได้อย่างเข้าใจ ทักษะทางด้านภาษาจีนนี้ถือเป็นอัจฉริยภาพอีกประการหนึ่งของอาจารย์เสถียร ซึ่งนายแพทย์ตันม่อเซี้ยงได้เล่าว่า "เมื่อครั้งที่ข้าพเจ้าไปแสดงปาฐกถาที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณเสถียรได้ทำหน้าที่ล่ามให้ถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกคุณเสถียรมีอายุเพียง 17 ปีเท่านั้น แต่ก็สามารถถ่ายทอดคำปาฐกถาจากภาษาจีนสู่พากย์ไทยได้อย่างดียิ่ง สามารถแปลได้ถูกต้องและครบถ้วนตามเจตจำนงของข้าพเจ้าทุกกระบวนความ คุณเสถียรได้แสดงความเป็นปราชญ์ให้เป็นที่ปรากฏแก่คนทั้งหลายแต่เยาว์วัยทีเดียว และได้แสดงปาฐกถาด้วยตนเองครั้งแรกที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยเมื่ออายุ 18 ปี"
อุปนิสัยรักการศึกษาค้นคว้า
อาจารย์เสถียร มีความจำเป็นเลิศมาแต่วัยเยาว์ เมื่ออ่านหนังสืออะไรก็สามารถเล่าได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน ในขณะที่เป็นนักเรียนอยู่เพื่อน ๆ จึงชอบตีวงล้อมฟังเด็กชายเสถียรเล่านิทานและเรื่องราวต่าง ๆ อย่างสนุกสนาน กระทั่งเมื่อ “ยาขอบ” แต่งเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ลงพิมพ์ในสมัยนั้น เด็กชายเสถียรก็เป็นผู้หนึ่งที่มีความสามารถเล่าเรื่องผู้ชนะสิบทิศตามสำนวนของยาขอบได้ดีอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เมื่อไปที่บ้านไหนที่มีเด็กมาก ๆ จึงมักถูกขอร้องให้เล่าเรื่องต่าง ๆ จากหนังสือที่ได้อ่านมาให้ฟัง และเป็นที่ถูกอกถูกใจกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้เกียรติคุณด้านปาฐกถาของอาจารย์เสถียรเลื่องลือมาตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากวิชาการทางศาสนาแล้ว หนังสืออีกประเภทหนึ่งที่ท่านชอบมาตั้งแต่เด็กคือเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งท่านกล่าวว่าศึกษาอย่างสนุกสนานเพลิดเพลินที่สุด ใครอ่านหนังสือตำราประวัติศาสตร์เล่มหนา ๆ กินเวลาหลายวัน แต่เด็กชายเสถียรจะใช้เวลาเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้นก็อ่านจบแล้วเล่าเรื่องได้ตลอด ถ้าตรงส่วนไหนชอบมากก็จะอ่านซ้ำ ๆ จนขึ้นใจหรือท่องจำเอาไว้เลย ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทยยุคไหน ตั้งแต่สมัยน่านเจ้า สุโขทัย กรุงศรีอยุธยา หรือรัตนโกสินทร์ เมื่อเล่าประวัติศาสตร์สมัยไหนก็คล้ายตนเองได้เกิดและได้พบเห็นเรื่องราวนั้นด้วยตนเอง ทั้งยังจดจำชื่อบุคคลและลำดับเหตุการณ์ได้ตรงตามรายละเอียดในตำราทุกอย่างจนแทบไม่น่าเชื่อ เป็นเหตุให้ผู้ฟังปาฐกถาในระยะหลัง ๆ มักจะรู้สึกอัศจรรย์ไปตาม ๆ กันว่าเหตุไฉนจึงจำได้แม่นยำนัก ความจำเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เหล่านี้สืบมาแต่สมัยที่ยังเป็นเด็กเป็นส่วนมาก
พบกับอาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ
ในช่วงเรียนอยู่โรงเรียนวัดบพิตรพิมุขอาจารย์เสถียร มีโอกาสได้พบกับปราชญ์สำคัญทางพุทธศาสนาของไทยอีกท่านหนึ่งคือ อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ หรืออดีตพระสุชีโว ภิกขุ แห่งวัดกันมาตุยาราม เนื่องจากมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งเป็นศิษย์ของท่านสุชีโว ภิกขุ จึงได้มีโอกาสได้ติดตามไปที่วัดและรู้จักท่านสุชีโวภิกขุจากการแนะนำของเพื่อนคนนั้น จนในที่สุดก็มากลายเป็นศิษย์คอยติดตามสุชีโว ภิกขุไปกิจนิมนต์ต่าง ๆ เป็นส่วนมาก ประวัติตอนนี้ อาจารย์ สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เล่าไว้ในหนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของอาจารย์เสถียรว่า
"วันแรกที่นายเสถียร ไปที่วัดกันมาตุยารามได้ตั้งปัญหาถามเกี่ยวกับข้อความที่สำคัญในพระสูตรหลายสูตร เช่น โปฏฐปาทสูตร ในทีฆนิกาย สีลขันธวรรค และอัคคัญญสูตร ในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ซึ่งได้ทำความแปลกใจให้แก่ผู้ถูกถามเป็นอย่างยิ่งว่าเด็กอายุยังน้อย เหตุไฉนจึงมีความรู้ความสนใจในพระพุทธศาสนามากอย่างนั้น ความรู้สึกประทับใจและเอ็นดูในเด็กชายผู้แสดงปรีชาสามารถให้ปรากฏในวันแรกที่ได้พบปะและรู้จักกันนั้น เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ไปหาและผู้ต้อนรับทั้ง 2 มีความเกี่ยวข้องกันทั้งในทางส่วนตัวและในทางพระพุทธศาสนา จนกระทั่งวาระสุดท้ายที่นายเสถียร โพธินันทะ ได้จากไป…"
ก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย
เมื่ออาจารย์เสถียร มีอายุราว 17 ปี ท่านสุชีโว ภิกขุ หรืออาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้เชิญให้อาจารย์เสถียร ซึ่งเป็นศิษย์ในวัดกันมาตุยารามไปบรรยายธรรมะให้พุทธศาสนิกชนฟัง ที่ตึกมหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร (ปัจจุบันใช้เป็นสำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง) อาจารย์เสถียรไปถึงที่บรรยายทั้งๆ ที่ใส่ชุดนักเรียน โดยที่ท่านสุชีโว ภิกขุได้ตามไปเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย การบรรยายในวันนั้นสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังเป็นอย่างมากที่เห็นวัยรุ่นอายุยังไม่ครบ 20 ปีสามารถบรรยายธรรมได้อย่างแตกฉาน ทำให้เกิดกระแสความต้องการของประชาชนที่จะก่อตั้งเป็นกลุ่มเยาวชนพุทธขึ้นมา เพื่อสร้างศาสนทายาทในฝ่ายฆราวาสขึ้น ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีอีกคนในยุคนั้น คือ นายบุญยง ว่องวาณิช นายห้างอังกฤษตรางู ซึ่งสมัยนั้น ติดตามฟังปาฐกถาของสุชีโว ภิกขุและอาจารย์เสถียร โพธินันทะเป็นประจำ
ต่อมา สุชีโว ภิกขุก็นำเรื่องนี้ไปปรึกษาพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่ออาจารย์เสถียร โพธินันทะอายุได้ 20 ปีเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสมาคม พระพรหมมุนี จึงตั้งชื่อให้ว่ายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่บัดนั้น อาจารย์เสถียร ก็ทำหน้าที่ระดมชาวพุทธวัยหนุ่มสาวให้มาทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาร่วมกัน ผลการก่อตั้งยุวพุทธิกสมาคม ปรากฏว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัย พ่อค้า ข้าราชการ ที่มีความเห็นตรงกันจำนวนมากสนใจในพระพุทธศาสนา ต่อมายุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นองค์กรทางศาสนาที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศและมีชื่อเสียงไปถึงระดับนานาชาติ ภายใต้นายกสมาคมคนใหม่ กล่าวคือ อนุรุทธ ว่องวาณิช ซึ่งเป็นบุตรชายของบุญยง ว่องวาณิชมาจนทุกวันนี้
อาจารย์ในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
เกียรติคุณด้านความรอบรู้ในทางวิชาการพระพุทธศาสนาของอาจารย์เสถียร ได้แผ่ขยายออกไปสู่สังคม เมื่ออายุได้ 23 ปีจึงได้รับเชิญจากสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ให้ไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายวิชาประวัติศาสตร์พุทธศาสนา และวิชาพุทธศาสนามหายาน เป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุดในสภาการศึกษา ฯ แต่ก็ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดียิ่ง และในระหว่างที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ อาจารย์เสถียรได้เขียนบทความและหนังสือไว้เป็นอันมาก ซึ่งผลงานเหล่านี้มีความสำคัญยิ่งต่อวงการศึกษาพุทธศาสนา ที่ใช้เป็นตำราประกอบการศึกษาค้นคว้าและอ้างอิงมาจนทุกวันนี้ หนังสือเล่มสำคัญ ๆ ได้แก่ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา , พระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรไทย , ปรัชญามหายาน , พุทธศาสนาในอาเซียกลาง และบทความทั้งสั้นและยาวรวมเล่มอีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2508 หนังสือเมธีตะวันออกของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ ก็ได้รับรางวัลหนังสือดีเด่นจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และมีการพิมพ์ซ้ำเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และผลงานสำคัญที่สุดที่ถือได้ว่าเป็นผลงานอมตะคือ งานแปลพระสูตรฝ่ายมหายานจากภาษาจีน คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร และ วิมลเกียรตินิทเทศสูตร
เกียรติคุณด้านปาฐกถา
นอกจากหน้าที่ในการเป็นอาจารย์แล้ว อาจารย์เสถียร ยังเป็นนักปาฐกถาอีกด้วย งานสำคัญที่ปฏิบัติตลอดมาคือการแสดงปาฐกถาเกี่ยวกับวิชาการทางด้านพระพุทธศาสนา ปรัชญา และประวัติศาสตร์ และก็เป็นนักปาฐกถาชั้นเยี่ยมที่มีคนนิยมมาก เพราะเป็นผู้มีความรู้กว้างขวาง มีความจำดี ชอบค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ ทั้งยังชอบขบคิดหรือค้นคว้าเรื่องยาก ๆ เรื่องอะไรที่เห็นว่าสำคัญพอจะท่องจำไว้ได้ก็ท่องจำไว้ทีเดียว และด้วยมีความรู้หลายภาษาจึงสามารถศึกษาได้กว้างขวางลุ่มลึก เป็นที่ถูกอกถูกใจแก่บรรดาปัญญาชนผู้ใฝ่หาความรู้ เมื่อมีประกาศทางหนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์เสถียรจะไปพูด ณ ที่ใด ก็จะมีคนติดตามไปฟังแน่นขนัดเสมอ งานแสดงปาฐกถานี้เป็นงานที่กระทำต่อเนื่องกว่าสิบปี ทั้งที่ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย และที่พุทธสมาคมอื่น ๆ หลายแห่ง รวมถึงตามมหาวิทยาลัยและตามโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่าเด็กและเยาวชนให้ความสนใจกันมาก
มรณกรรม
วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2509 อาจารย์เสถียร โพธินันทะได้กลับมาบ้านในเวลา 21.00 น. แล้วอาบน้ำชำระร่างกาย จากนั้นเมื่อเลยเที่ยงคืนไปแล้วจึงได้เข้านอน ถึงวันรุ่งขึ้นในเวลาเช้า เด็กรับใช้ขึ้นไปเรียกเห็นเงียบก็ลงมาบอก มารดาเข้าใจว่ายังหลับอยู่จึงออกไปซื้อของนอกบ้าน จนสายราว 8.00 น. กลับมาเห็นยังไม่ตื่นจึงได้ขึ้นไปดูเห็นอาการนอนนิ่ง เมื่อเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ตกใจ จึงให้หลานชายไปตามแพทย์มาตรวจ แพทย์สันนิษฐานว่าสิ้นลมมาราว 6-7 ชั่วโมงแล้ว ลักษณะการถึงแก่กรรมของท่านเหมือนคนนอนหลับธรรมดา หน้าตาเปล่งปลั่งมีรอยยิ้มน้อย ๆ ไม่มีร่องรอยว่ามีทุกขเวทนาใด ๆ แม้เมื่อนำศพไปตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดจักรวรรดิราชาวาสแล้วและยังมิได้ปิดฝา ในหัวค่ำวันที่ 10 ธันวาคมนั้น ใคร ๆ ไปเยี่ยมศพก็จะเห็นว่าร่างท่านสมบูรณ์ ยังมีหน้าตาเปล่งปลั่งมีเลือดฝาดเหมือนกับคนนอนหลับ นับได้ว่าจากไปด้วยอาการอันสงบ ต่อมาได้มีการจัดงานพระราชทานเพลิงศพขึ้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส รวมสิริอายุได้ 37 ปี ตลอดมาได้ดำรงตนเป็นฆราวาสมุนี ถือพรหมจรรย์ และประพฤติธรรมตราบจนสิ้นอายุขัย
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
- สุชีพ ปุญญานุภาพ, ชีวประวัติและงานของนายเสถียร โพธินันทะ, อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายเสถียร โพธินันทะ บ.ม. ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๑๐.
- เสถียร โพธินันทะ, อาจารย์เสถียร โพธินันทะ : บุคคลของพระพุทธศาสนา (รวมบทความและปาฐกถาของอาจารย์เสถียร โพธินันทะ) , กรุงเทพ ฯ : หอรัตนชัยการพิมพ์,๒๕๔๐.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2022-09-29 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๖๐, ๒๓ มกราคม ๒๕๐๐