เลี่ยกั๋ว (มาตรฐาน) เลียดก๊ก (ฮกเกี้ยน) ภาพประกอบจากฉบับพิมพ์ภาษาจีน
ผู้ประพันธ์ เฝิง เมิ่งหลง ชื่อเรื่องต้นฉบับ ตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ ประเทศ จีน ภาษา จีน หัวเรื่อง ประเทศจีนสมัยโบราณ ประเภท นิยายอิงประวัติศาสตร์ ชนิดสื่อ หนังสือ
เลี่ยกั๋ว ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ เลียดก๊ก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ : 列国 ; จีนตัวเต็ม : 列國 ; พินอิน : Lièguó ; "รัฐต่าง ๆ") หรือชื่อเต็มตามสำเนียงมาตรฐานว่า ตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ (จีนตัวย่อ : 东周列国志 ; จีนตัวเต็ม : 東周列國志 ; พินอิน : Dōngzhōu Lièguó Zhì ; "บันทึกเรื่องรัฐต่าง ๆ สมัยโจวตะวันออก") เป็นนวนิยายจีนซึ่งเฝิง เมิ่งหลง (馮夢龍) ประพันธ์ขึ้นในช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิง มีเนื้อหาเริ่มด้วยราชวงศ์โจวตะวันตก ถึงแก่ความพินาศ ราชวงศ์โจวตะวันออก ขึ้นแทนที่ แต่บ้านเมืองระส่ำระสายจนแตกแยกออกเป็นรัฐน้อยใหญ่ต่าง ๆ ในยุควสันตสารท และยุครณรัฐ ไปจบที่จิ๋นซีฮ่องเต้ รวมแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ
หนังสือเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนโบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด[ 1] เนื้อหาอ้างอิงจากเอกสารจีนดั้งเดิมจำนวนมาก เช่น จั่วจ้วน ของจั่ว ชิวหมิง ฉื่อจี้ ของซือหม่า เชียน และตำราศักดิ์สิทธิ์โบราณบางเล่ม เช่น หลี่จี้ และ ชือจิง
งานแปล
หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลไปเป็นภาษาต่างประเทศถึงหลายภาษา ซึ่งรวมไปถึงภาษาเกาหลี ไทย และเวียดนาม โดยฉบับภาษาเกาหลีแปลเสร็จใน พ.ศ. 2546[ 2] ส่วนฉบับภาษาเวียดนาม Nguyễn Đỗ Mục แปลเสร็จใน พ.ศ. 2476[ 3]
ฉบับแปลไทย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รับสั่งให้แปล เลียดก๊ก เป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2362 วันที่รับสั่งและรายชื่อคณะผู้แปลมีจารึกไว้ในบานแพนกสมุดไทยดังนี้[ 4]
"ศุภมัสดุ จุลศักราชพันร้อยแปดสิบ ปีเถาะ เอกศก อาษาฒมาส ศุกลปักษ์ อัฐมีดิถี คุรุวาระ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้จัดข้าทูลละอองแปลเลียดก๊กพงศาวดาร จีนนี้เป็นคำไทยไว้สำหรับแผ่นดิน
"ข้าพระพุทธเจ้า กรมหมื่นนเรศร์โยธี หนึ่ง เจ้าพระยายมราช หนึ่ง เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ หนึ่ง พระยาโชดึก หนึ่ง ขุนท่องสือ หนึ่ง จมื่นไวยวรนาถ หนึ่ง เล่ห์อาวุธ หนึ่ง จ่าเรศ หนึ่ง หลวงลิขิตปรีชา หนึ่ง หลวงญาณปรีชา หนึ่ง ขุนมหาสิทธิโวหาร หนึ่ง
"ห้องสิน แลในเลียดก๊กนั้นว่าด้วยองค์พระเจ้าบู๊อ๋องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้า หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ชำระขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย"
วิธีแปลนั้นเป็นอย่างเดียวกับเรื่อง สามก๊ก [ 5] ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า[ 6]
"ลักษณะการแปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเป็นสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง แล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเป็นภาษาไทยให้ถ้อยคำแลสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง [...] แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้"
อ้างอิง
↑ Li, Wai-Yee (2010). "Full-Length Vernacular Fiction". In Mair, Victor H. (ed.). The Columbia History of Chinese Literature . New York: Columbia University Press. p. 625. ISBN 978-0-231-10984-0 .
↑ "최이산씨, 원전 "열국지" 완역" (ภาษาเกาหลี). kihoilbo. 2003-11-18. สืบค้นเมื่อ 2014-08-26 .
↑ "Nguyễn Đỗ Mục" (ภาษาเวียดนาม). daitudien. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 2014-08-26. สืบค้นเมื่อ 2014-08-26 .
↑ เลียดก๊ก เล่ม 1 . กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 2506. p. 1.
↑ บาหยัน อิ่มสำราญ (ม.ป.ป.). "พิไชยสงครามเลียดก๊ก" [War Strategics in Laidkok] (PDF) . วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี . 15 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf) เมื่อ 2014-08-26. สืบค้นเมื่อ 2014-08-24 .
↑ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2471). ตำนานหนังสือสามก๊ก. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. หน้า 33.
แหล่งข้อมูลอื่น