บทความนี้เกี่ยวกับเรือหลวงช้าง (LPD-792) (ลำที่ 3) สำหรับความหมายอื่น ดูที่
เรือหลวงช้าง
|
ประวัติ |
ประเทศไทย |
ชนิด | เรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 071 |
ชื่อ | เรือหลวงช้าง |
ตั้งชื่อตาม | เกาะช้าง |
อู่เรือ | หูตง-จงหัว ชิปบิลดิง, เซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน |
ปล่อยเรือ | 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 |
เดินเรือแรก | 4 มกราคม พ.ศ. 2566 |
เข้าประจำการ | 25 เมษายน พ.ศ. 2566 |
รหัสระบุ | |
ลักษณะเฉพาะ
|
ขนาด (ระวางขับน้ำ): |
25,000 ตัน |
ความยาว: |
213 เมตร (699 ฟุต) |
ความกว้าง: |
28 เมตร (92 ฟุต) |
กินน้ำลึก: |
7 เมตร (23 ฟุต) |
ความเร็ว: |
25 นอต (46 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) สูงสุด 18 นอต (33 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) มัธยัสถ์ |
พิสัยเชื้อเพลิง: |
10,000 ไมล์ทะเล (19,000 กิโลเมตร; 12,000 ไมล์) |
จำนวนเรือและอากาศยาน: |
|
ความจุ: |
|
กำลังพล: |
- 196 นาย ประกอบไปด้วย
- สัญญาบัตร 26 นาย
- ชั้นประทวน 135 นาย
- พลทหาร 35 นาย
|
อัตราเต็มที่: |
650 นาย |
อุปกรณ์สนับสนุนการบิน: |
|
เรือหลวงช้าง (LPD-792) (อังกฤษ: HTMS Chang) เป็นเรือลำที่สองในเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ชุดเรือหลวงอ่างทอง[2] และเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ที่สุดรวมถึงเป็นเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย สังกัดกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ[3]
เรือลำนี้เป็นเรือลำที่ 3 ที่ใช้ชื่อว่า เรือหลวงช้าง[4][5] มีสัญญาณเรียกขานว่า HSXZ[3]
ประวัติ
เรือหลวงช้าง ต่อขึ้นภายใต้โครงการจัดหาเรืออเนกประสงค์ยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ ตามยุทธศาสตร์กองทัพเรือระยะ 20 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2560 - 2579 ซึ่งระบุความต้องการในส่วนของเรืออเนกประสงค์สำหรับยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่จำนวน 4 ลำ เพื่อทดแทนเรือเดิมที่ปลดประจำการไป คือเรือหลวงช้าง ลำที่ 2 (LST-712) สำหรับปฏิบัติการสนับสนุนการทำงานของการยกพลขึ้นบกของกำลังทางเรือและนาวิกโยธิน[4] โดยชื่อเรือหลวงช้าง (ลำที่ 3 คือลำปัจจุบัน) ได้รับการพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามชื่อของเกาะช้าง ในจังหวัดตราด[5]
กองทัพเรือไทยและทางการจีนได้ลงนามในสัญญาเพื่อต่อเรือหลวงช้าง เมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562[6] ซึ่งถือเป็นการผลิตและส่งออกเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ (LPD) ครั้งแรกของจีน[7] และถูกปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.19 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) โดย นางอรัญญา ศิริสวัสดิ์ ภรรยาของ พลเรือเอก เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นสุภาพสตรีดำเนินการปล่อยเรือตามธรรมเนียมชาวเรือ ณ ท่าเรือหมายเลข 5 อู่ต่อเรือหู้ดง-จงหัวชิปบิลดิง เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน[8]
ระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 กองทัพเรือได้ส่งกำลังพลประจำเรือชุดแรกเพื่อไปฝึกและศึกษาระบบต่าง ๆ ในการดูแลเรือ ทั้งระบบเครื่องจักร ระบบอู่ลอย ระบบเครื่องจักช่วย และระบบด้านช่างกล ประกอบไปด้วยนายทหารชั้นสัญญาบัตรและกำลังพลส่วนของงานช่าง ระยะเวลาในการศึกษาประมาณ 4 - 5 เดือน ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ได้ส่งกำลังพลชุดที่สองไปเพื่อฝึกฝนในส่วนของการเดินเรือ ระบบอาวุธ ระบบการสื่อสาร ด้านพลาธิการ การปฏิบัติการระวางบรรทุก การปฏิบัติงานของอู่ลอย การจมเรือเพื่อลดระดับ การใช้เครื่องมือไฮโดรลิคเกี่ยวกับระบบลิฟต์ การขนย้ายยานยนต์ระบบ Roll-on Roll-off การใช้งานแรมพ์ข้าง และแรมพ์ท้าย การปฏิบัติการของโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ การเติมน้ำมันให้กับอากาศยาน และการใช้อุปกรณ์สนับสนุนเรือดำน้ำ และกำลังพลชุดสุดท้าย คือพลทหาร และแพทย์ทหารประจำเรือ เดินทางไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับเรือ[3]
เรือหลวงช้าง ทำพิธีส่งเรือจากท่าเรือในประเทศจีนมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมคณะและคณะกรรมการตรวจรับเข้าร่วมในพิธี[9] ซึ่งเรือหลวงช้าง เดินทางมาจากประเทศจีนเข้าสู่ประเทศไทย โดยมีเรือหลวงนราธิวาส จากทัพเรือภาคที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่เป็นเรือในหน่วยเรือคุ้มกัน คุ้มกันตั้งแต่บริเวณจุดบรรจบน่านน้ำจีนและเวียดนามเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2566[10] ผ่านน่านน้ำสากล เข้ามาสู่น่านน้ำทางทะเลของไทย และส่งมอบการคุ้มกันให้กับหน่วยเรือในทัพเรือภาคที่ 1 คุ้มกันไปจนถึงฐานทัพเรือสัตหีบ[5]
เรือหลวงช้าง เข้าประจำการเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 โดยมี พลเรือเอก เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีต้อนรับเรือหลวงช้าง ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยนายทหารระดับสูงและญาติพี่น้องของกำลังพลของเรือซึ่งเดินทางกลับมาพร้อมกับเรือหลังจากเดินทางไปรับการฝึกที่ประเทศจีน[11]
การออกแบบ
เรือหลวงช้าง มีความยาว 213 เมตร มีความกว้าง 28 เมตร ระวางขับน้ำ 25,000 ตัน มีความเร็วสูงสุด 25 นอต กินน้ำลึก 6.8[3] - 7[11] เมตร มีระยะในการปฏิบัติการไม่ต่ำกว่า 10,000 ไมล์ทะเล สามารถคงทนทะเลได้ถึงระดับ 6 (Sea State 6) ปฏิบัติการได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง 45 วัน โดยประกอบไปด้วยกำลังพลประจำเรือจำนวนทั้งสิ้น 196 นาย แบ่งเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรจำนวน 26 นาย ชั้นประทวน 135 นาย และพลทหาร 35 นาย รองรับการบรรทุกกำลังรบสำหรับการปฏิบัติการยกพลขึ้นบกพร้อมกับอุปกรณ์ได้จำนวน 650 นาย[3]
พื้นที่ดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์ สามารถรองรับเฮลิคอปเตอร์ทุกประเภทของกองทัพเรือ โดยมีดาดฟ้าเฮลิคอปเตอร์จำนวน 3 จุด พร้อมกับโรงเก็บเฮลิคอปเตอร์ได้อีก 2 ลำ[3]
การบรรทุกกำลังพลสำหรับการยกพลขึ้นบก สามารถรองรับกำลังพลได้ 650 นาย พร้อมทั้งบรรทุกยานพาหนะ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 1 สามารถบรรทุกยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 9 คัน หรือบรรทุกรถถังหลัก (MBT) ได้ 11 คัน ดาดฟ้ายานพาหนะที่ 2 สามารถบรรทุกยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 8 คัน หรือรถถังหลัก (MBT) ได้ 9 คัน และส่วนของอู่ลอยภายในเรือ สามารถบรรทุกเรือระบายพลขนาดกลาง (LCM) ได้ 6 ลำ หรือเรือระบายพลขนาดเล็ก (LCVP) ได้ 9 ลำ หรือยานรบสะเทินน้ำสะเทินบก (AAV) ได้ 40[3] - 57[11] คัน หรือยานเบาะอากาศ (LCAC) ได้ 2 ลำ[3]
เรือหลวงช้าง ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับปฏิบัติการด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัย ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการทางการแพทย์จำนวน 11 ห้อง เป็นหอผู้ป่วย 3 ห้อง และส่วนสำหรับการรักษาด้านต่าง ๆ เช่น การเอกซ์เรย์ ทันตกรรม ศัลยกรรม ห้องแลป จำนวน 8 ห้อง[3]
ระบบอาวุธในเรือปัจจุบันยังไม่มีการติดตั้ง แต่มีแผนในการติดตั้งในอนาคต โดยสามารถรองรับการติดตั้งปืนใหญ่เรือขนาด 76 มิลลิเมตร จำนวน 1 แท่นยิง และระบบป้องกันระยะประชิดแบบปืนกล 6 ลำกล้องหมุนขนาด 30 มิลลิเมตร จำนวน 4 แท่น[2]
การต่อเรือ
เรือหลวงช้าง ดำเนินการต่อโดย China Shipbuilding Trading ณ หูตง-จงหัว ชิปบิลดิง เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ซึ่งปรับปรุงจากเรืออู่ลำเลียงพลสะเทินน้ำสะเทินบกแบบ 071[4] ใช้ระยะเวลาในการต่อ 4 ปี คือตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562 ที่เริ่มเซ็นสัญญา[6] และปล่อยเรือลงน้ำเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2566[8]
เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2566 กองทัพเรือไทยรับมอบเรือหลวงช้าง และนำเรือเข้าประจำการโดยที่ตัวเรือยังเป็นเพียงเรือเปล่า มีเพียงระบบนำร่องในการเดินเรือเท่านั้นที่ได้รับการติดตั้งมาจากทางอู่ต่อเรือ[3] เนื่องจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ซึ่งกองทัพเรือมีแผนที่จะดำเนินการติดตั้งระบบอำนวยการรบ ระบบอาวุธ ระบบเซนเซอร์ตรวจจับต่าง ๆ และเรดาร์ทางทหารในภายหลัง โดยมีแผนจะคัดเลือกบริษัทมาดำเนินการติดตั้งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ภายใต้วงเงินประมาณ 950 ล้านบาท[11]
ภารกิจ
เรือหลวงช้าง มีภารกิจหลักในการปฏิบัติการร่วมกับเรือรบ อากาศยาน หน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง หน่วยนาวิกโยธิน และหน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ในการปฏิบัติการยุทธสะเทินน้ำสะเทินบก ในการขนส่งลำเลียงกำลังพลและเป็นเรือบัญชาการในการสนับสนุนการยกพลขึ้นบก รวมถึงการสนับสนุนการปฏิบัติการของเรือดำน้ำในฐานะของเรือพี่เลี้ยง[2] ซึ่งเป็นครั้งแรกของโลกที่ใช้เรือยกพลขึ้นบก (LPD) เป็นเรือพี่เลี้ยงให้กับเรือดำน้ำ[6]
ในยามสงบ เรือหลวงช้างมีภารกิจในการปฏิบัติการบรรเทาสาธารณภัยในเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับทางทะเล[2] เนื่องจากตัวเรือที่มีขนาดใหญ่กว่า 25,000 ตัน ทำให้มีศักยภาพในการเป็นฐานในการปฏิบัติการทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคอาเซียน[12] รวมไปถึงการปฏิบัติการสนับสนุนการป้องกันและการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเลและบริเวณชายฝั่ง[11]
กระแสสังคม
เรือหลวงช้าง ถูกระบุว่าเป็นส่วนหนึ่งขอค่าใช้จ่ายบานปลายจากการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณที่กองทัพเรือเสนอเพื่อจัดซื้อมาเป็นเรือพี่เลี้ยงสำหรับเรือดำน้ำโดยเฉพาะ[13] รวมถึงเป็นการจัดซื้อทางการเมือง เนื่องจาก พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือในขณะนั้น และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจมีความใกล้ชิดกับผู้นำทางการทหารของจีน โดยใช้งบประมาณในโครงการจัดหาเรือหลวงช้างกว่า 6,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่สูงมาก อาจจะทำให้มีปัญหาในด้านของการดูแลรักษาในระยะยาว เนื่องจากต้องทุ่มงบประมาณไปทั้งในส่วนของเรือดำน้ำและเรือพี่เลี้ยง[12] โดยงบประมาณในการจัดซื้อเรือหลวงช้างนั้นมาจากการชะลอโครงการต่อเรือหลวงประแส ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเรือฟริเกตชุดเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช ที่จะดำเนินการต่อในประเทศไทยผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากเกาหลีใต้ และโครงการจัดซื้อเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเล เนื่องจากมีความสำคัญกับเรือดำน้ำและเป็นงบประมาณผูกพันกับเรือดำน้ำลำที่ 2 ที่จะจัดซื้อต่อในขณะนั้น[14]
นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลในเรื่องของการต่อเรือจากประเทศจีน[11] อย่างในกรณีของเรือฟริเกตชุดเรือหลวงเจ้าพระยา ที่เคยประสบปัญหาจากการต่อเรือหลังนำเรือเข้าประจำการ[15] ซึ่งผู้บัญชาการทหารเรือได้ระบุว่าเรือที่ได้รับมานั้นเป็นเพียงเรือเปล่า ยังไม่มีการติดตั้งระบบอาวุธหรือระบบอำนวนการรบอื่น ๆ มา ซึ่งกองทัพเรือจะดำเนินการติดตั้งในภายหลังโดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นระบบของจีนเท่านั้นโดยให้ตรงกับความต้องการในการปฏิบัติการ จึงไม่ต้องกังวลในส่วนนี้[11]
ในส่วนของความเชื่อส่วนบุคคล หลายคนนำหมายเลขตัวเรือของเรือหลวงช้าง คือ 792 มาใช้เป็นหมายเลขในการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลตามความเชื่อว่าหมายเลขเด่นต่าง ๆ ในแต่ละช่วงจะนำมาซึ่งโชคลาภ[16]
อ้างอิง
- ↑ https://www.marinetraffic.com/en/ais/details/ships/shipid:7344893/mmsi:567603000/imo:0/vessel:H_T_M_S_CHANG
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "รู้จัก "เรือหลวงช้าง" เรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือไทย". posttoday. 2023-04-25.
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 แจ๊ค (2023-04-25). "รับ"เรือหลวงช้าง"ลำมหึมา ไทม์ไลน์69ทร.ลุ้นรับ"เรือดำน้ำ"".
- ↑ 4.0 4.1 4.2 ""เรือหลวงช้าง" เรือรบลำใหม่ไทย ใหญ่กว่าเรือหลวงจักรีนฤเบศร". posttoday. 2023-04-25.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 หยู (2023-04-25). "ยลโฉม 'เรือหลวงช้าง 792' แผ่แสนยานุภาพแห่งราชนาวีไทย".
- ↑ 6.0 6.1 6.2 "ชาวเน็ตจีนเผยภาพ "เรือหลวงช้าง" ปล่อยลงน้ำแล้ว". thaiarmedforce. 2021-12-23.
- ↑ วอยซ์ทีวี (2019-09-13). "กองทัพไทยลงนามจัดซื้อ 'เรือสะเทินน้ำสะเทินบก' จากจีน 'ล็อตแรก'". สำนักข่าวอิศรา.
- ↑ 8.0 8.1 "ทร.ได้ฤกษ์ ปล่อย"เรือหลวงช้าง" ลงน้ำแทนเรือลำเก่า ขีดความสามารถรบ 3 มิติ". คมชัดลึกออนไลน์. 2023-01-05.
- ↑ พี่ฉัตร (2023-04-18). "'เรือหลวงช้าง' ออกเดินทางจากจีนสู่น่านน้ำไทย เตรียมเข้าประจำการ กองทัพเรือ".
- ↑ Admin_Tojo. "จัดเรือหลวงนราธิวาส คุ้มกัน!! "เรือหลวงช้าง" เดินทางกลับไทย | TOJO NEWS". LINE TODAY.
- ↑ 11.0 11.1 11.2 11.3 11.4 11.5 11.6 "ทร.รับ "เรือหลวงช้าง" ขนาด 2.5 หมื่นตัน ขึ้นอันดับหนึ่งเรือลำใหญ่ที่สุดในกองทัพเรือ". mgronline.com. 2023-04-25.
- ↑ 12.0 12.1 "ครบกำหนดเส้นตายเรือดำน้ำ จีนจะหาเครื่องยนต์จากไหนมาให้ไทย". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2023-04-26.
- ↑ "เรือดำน้ำจีน : เรือดำน้ำในฝันทัพเรือไทยที่ส่อเป็นจีนแท้ 100% กับหลากงบสนับสนุน รวมเฉียด 5 หมื่นล้าน". BBC News ไทย. 2022-12-14.
- ↑ "ทร.เปลี่ยนใจ ชะลอต่อเรือฟริเกตเกาหลีใต้ หันต่อเรือจากจีน ไว้เป็นเรือพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ". www.matichon.co.th.
{{cite web}}
: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
- ↑ "เรือจีนรุ่นใหม่สวยกระเด้งเช้งวับ ไทยไม่ซื้อไม่ท้อลุยต่อตลาดอาเซียน". mgronline.com. 2013-08-21.
- ↑ Jantong, Tanomsri. "เลข "เรือหลวงช้าง" เรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ลำใหม่ อาจให้โชคมีเศรษฐีใหม่เพียบ". เดลินิวส์.