เซ็นทรัลเวิลด์ (อังกฤษ : CentralWorld , เขียนในรูปแบบ: centralwOrld ) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชยกรรมแบบผสมใจกลางกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บริเวณหัวมุมฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของย่านการค้าราชประสงค์ จุดตัดระหว่างถนนพระรามที่ 1 และถนนราชดำริ ในพื้นที่แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งของวังเพ็ชรบูรณ์ โครงการประกอบด้วยศูนย์การค้า , โรงแรม (โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ) และอาคารสำนักงาน (เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส ) โดยเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่รวมใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ขายมากเป็นอันดับที่ 4 ของไทย และมีพื้นที่ชั้น 1 มากเป็นอันดับที่ 4 ของโลก[ 1]
เดิมบริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด ทำสัญญาเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ก่อนเมื่อปี พ.ศ. 2525 และเปิดดำเนินการศูนย์การค้า เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ก่อนจะถูกยกเลิกสัญญาในปี พ.ศ. 2545 จากนั้นกลุ่มเซ็นทรัล ชนะการประมูลและทำสัญญาเช่าพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการต่อ โดยเปลี่ยนชื่อเป็น เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา ก่อนเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น เซ็นทรัลเวิลด์ ในปี พ.ศ. 2550 โดยเดิมนั้นกลุ่มเซ็นทรัลจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ในปี พ.ศ. 2575 ก่อนที่ต่อมาจะมีการต่อสัญญาไปจนถึง พ.ศ. 2583
ประวัติ
พื้นที่ของศูนย์การค้าเป็นที่ตั้งเดิมของพระราชวังปทุมวัน และต่อมาเป็นวังเพ็ชรบูรณ์ วังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราไชย โดยเมื่อปี พ.ศ. 2466 เจ้าของวังสิ้นพระชนม์ และหลังจากนั้น 9 ปี เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. 2475 จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้วังหลายแห่งถูกคณะราษฎร เข้ายึดครองและตกเป็นสมบัติของรัฐ รวมถึงวังเพ็ชรบูรณ์ด้วย แต่อยู่ในกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ มาโดยตลอด[ 2] [ 3] ต่อมาในปี พ.ศ. 2525 บริษัท วังเพชรบูรณ์ จำกัด ของอุเทน เตชะไพบูลย์ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินผืนนี้เพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในชื่อ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ (อังกฤษ : World Trade Center ) ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับกลุ่มอาคาร ในนครนิวยอร์ก ของสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่ทำสัญญาเช่า บจก.วังเพชรบูรณ์ ประสบความล่าช้าในการก่อสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์อยู่หลายครั้ง จนกระทั่งต้องเลื่อนไปเปิดดำเนินการเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดยประกอบด้วยตัวอาเขตและห้างสรรพสินค้าเซน ก่อนที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน จะเข้ามาเปิดดำเนินการใน พ.ศ. 2535 และเริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนต่อขยายเพิ่มเติมเพื่อให้โครงการแล้วเสร็จตามสัญญาที่ทำไว้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แต่ในปลายปี พ.ศ. 2545 บจก.วังเพชรบูรณ์ ประสบปัญหาทางการเงินและไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างโรงแรมและอาคารสำนักงานให้แล้วเสร็จตามกำหนด สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จึงยกเลิกสัญญาเช่า และเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประมูลเพื่อบริหารศูนย์การค้า รวมทั้งพัฒนาพื้นที่และต่อเติมอาคารให้แล้วเสร็จตามข้อตกลงในคู่สัญญา โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ได้เปิดประมูลและปรับโครงสร้างจากเดิมด้วยวิธีการเปลี่ยนถ่ายสัญญาไปเป็นบริษัทที่ชนะการประมูล โดยมีผู้เข้าร่วมการประมูลครั้งนี้เป็น 2 ธุรกิจค้าปลีกหลักของไทย คือ กลุ่มเซ็นทรัล และ กลุ่มเดอะมอลล์ และเป็นกลุ่มเซ็นทรัลที่ชนะการประมูลดังกล่าว ส่วนกลุ่มเดอะมอลล์ได้หันไปร่วมมือกับสยามพิวรรธน์ เพื่อพัฒนาศูนย์การค้าสยามพารากอน ในพื้นที่เดิมของโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ที่อยู่ใกล้เคียง
ปัจจุบันโครงการนี้บริหารงานโดย บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มเซ็นทรัล โดยในระยะแรกเป็นการปรับปรุงและต่อเติมอาคารสำนักงานในสมัยเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่ยังไม่แล้วเสร็จให้เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งปัจจุบันคือ เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส จากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงศูนย์การค้า โดยเปลี่ยนชื่อจากเดิมคือเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ เป็น เซ็นทรัลเวิลด์ พลาซา (อังกฤษ : Central World Plaza ) และสร้างทางเดินเชื่อม "เซ็นทรัลเวิลด์สกายวอล์ก" ซึ่งเป็นทางเชื่อมลอยฟ้าจากสถานีสยาม ซึ่งเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้าบีทีเอส สายหลักทั้ง 2 สาย คือสายสุขุมวิท และสายสีลม ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับลูกค้าจากย่านสยาม ที่อยู่ใกล้เคียง และคาดว่าจะมาใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต และยังร่วมทุนกับกลุ่มผู้ประกอบการบริเวณย่านการค้าราชประสงค์ เพื่อสร้างทางเดินเชื่อม "ราชประสงค์สกายวอล์ก" จากสถานีชิดลม ของสายสุขุมวิท มาจนถึงโครงสร้างเดิมที่ได้ก่อสร้างไว้บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเกษรพลาซา ซึ่งแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2548[ 4]
ต่อมาในปี พ.ศ. 2549 บริษัทได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบทั้งหมด ต่อเติมโครงสร้างที่เหลือจากชั้นบนให้เป็นพื้นที่สำหรับลานกิจกรรม ก่อสร้างอาคารเซนเวิลด์ รวมทั้งภัตตาคารและส่วนโรงแรมซึ่งต่อเติมไปจากช่วงอิเซตัน โดยโรงแรมในปัจจุบันคือ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และครั้งนี้ได้มีเปลี่ยนชื่อศูนย์การค้าอีกครั้ง โดยตัดคำว่า "พลาซ่า" ออกเพื่อให้ชื่อสั้นลง เหลือเพียงชื่อ เซ็นทรัลเวิลด์ (อังกฤษ : CentralWorld ) โดยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิด ศูนย์การค้าด้วยพระองค์เองเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550
การจัดสรรพื้นที่
เซ็นทรัล โดม (ลิฟต์แก้ว) ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประกอบด้วยอาคารทั้งหมด 7 หลัง และแบ่งพื้นที่ออกเป็นทั้งหมด 10 โซน โดยมีพื้นที่สำคัญดังต่อไปนี้
ห้างสรรพสินค้า
เซ็นทรัล เดอะสโตร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
คาเฟ่ % อะราบิกา สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ ซึ่งอยู่บริเวณโซน A ของอาคาร เป็นสาขาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยรวม 50,000 ตารางเมตร เดิมคือห้างสรรพสินค้าเซน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาขาของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลมาตลอด แต่มีคอนเซปต์เป้นห้างสรรพสินค้าสำหรับวัยรุ่น โดยตั้งแต่ พ.ศ. 2562 ห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ถูกเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาหลักแทนสาขาชิดลม ที่จะเปลี่ยนเป็นห้างสรรพสินค้าหรูหราแห่งแรกในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยห้างสรรพสินค้าแห่งนี้เป็นที่ตั้งของร้านมูจิ หนึ่งในสาขาเรือธงของประเทศไทย คาเฟ่ % อะราบิกา สาขาที่สองในกรุงเทพมหานคร จุดบริการของไทยทิคเก็ตเมเจอร์ และจุดบริการสำหรับลูกค้าบัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน นอกจากนี้ยังมีอาคาร "เซ็นทรัล ทาวเวอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์" (อาคารเซน เวิลด์ เดิม) ที่สร้างต่อเติมจากอาคารห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รวมพื้นที่ทั้งหมด 20 ชั้น
ก่อนหน้านี้ เซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นที่ตั้งของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ห้างสรรพสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นสาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทย ซึ่งเปิดทำการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2535 จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2563[ 5]
ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหาร
เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของ ท็อปส์ ฟู้ด ฮอลล์ ซูเปอร์มาร์เก็ตระดับบนของกลุ่มเซ็นทรัล และเป็นฟู้ดสโตร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริหารงานโดย บจก. เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล ภายในเป็นที่ตั้งของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ "ท็อปส์ ไวน์ เซลลาร์" ร้านอาหาร "ท็อปส์ อีทเทอรี่" และร้านกาแฟ "ปีเตอร์ คอฟฟี" โดย Peter Weckström นอกจากนี้ยังมีศูนย์อาหาร "ฟู้ดเวิลด์" และ "ลิฟวิ่ง เฮาส์ โค-ลิฟวิ่งแอนด์อีตติ้ง สเปซ" บริเวณชั้น 7, ศูนย์อาหาร "ฮักไทย" และ "ตลาดจริงใจ" บริเวณชั้น 1 รวมถึงร้านอาหารต่าง ๆ กระจายตัวภายในศูนย์การค้า
ร้านค้าในศูนย์การค้า
แอปเปิลสโตร์ สาขาเซ็นทรัลเวิลด์
เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นที่ตั้งของร้านค้าสาขาเรือธง ทั้งที่อยู่ในกลุ่มเซ็นทรัล ได้แก่ ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย และธิงค์สเปซ บีทูเอส ในชื่อ เพาเวอร์บาย x บีทูเอส ธิงค์สเปซ และนอกกลุ่มเซ็นทรัล อาทิ ยูนิโคล่ เอชแอนด์เอ็ม อาดิดาส คิโนะคูนิยะ และนิโตริ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลานไอซ์สเก็ต "เดอะ ริงก์" สถานออกกำลังกาย "โซน บาย ฟิตเนส เฟิร์ส" ร้านสตาร์บัคส์ รีเซิร์ฟ คอนเซปต์ สโตร์ และแอปเปิลสโตร์ [ 6] [ 7] ซึ่งแต่ละร้านมีขนาดพื้นที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
โรงภาพยนตร์
เซ็นทรัลเวิลด์ มีโรงภาพยนตร์ประกอบกิจการหนึ่งแห่ง คือ เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า เป็นโรงภาพยนตร์ที่บริหารงานโดยเอสเอฟ ซีเนม่า และเป็นสาขาเรือธงของบริษัท ภายในประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ย่อย 15 โรง โดยมีโรง "เวิลด์แมกซ์ สกรีนส์" เป็นโรงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของกลุ่มเอสเอฟ ซีเนม่า นอกจากนี้ยังมีโรงภาพยนตร์สี่มิติ "เอ็มเอ็กซ์โฟร์ดี บาย ซีพี" (ทุนร่วมกับเจริญโภคภัณฑ์อาหาร ) เป็นแห่งแรกของประเทศไทยและโรง "ซิกม่า ซีเนสเตเดียม บาย ซีทู"[ 8] (ทุนร่วมกับ ซี ดริ้ง) ที่มีระบบการฉายแบบเลเซอร์ด้วยเครื่องฉาย 4K RGB Pure Laser ของคริสตี้ (Christie) และระบบเสียงดอลบี แอทมอส [ 9]
ก่อนหน้านี้ยังมีโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ อีกจำนวน 8 โรง ที่เปิดทำการมาตั้งแต่สมัยศูนย์การค้าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในปี พ.ศ. 2543 [ 10] แต่ปิดตัวลงหลังการเปิดตัวของเอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า ได้หนึ่งปี เนื่องจากยอดผู้เข้าชมภาพยนตร์ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ศูนย์การเรียนรู้
ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ขนาดใหญ่ใจกลางกรุงเทพมหานคร โดยเป็นที่ทำการหลักของ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ หรือไทยแลนด์ โนวเลดจ์ พาร์ค (ทีเคพาร์ค) โดย สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้แบบองค์รวมสองแห่ง ได้แก่ "จีเนียส แพลเน็ต" แหล่งรวมสถาบันกวดวิชา ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่ "เอเชียน เซนเซส" เดิม และ "แฟมิลี่ แพลเน็ต" แหล่งรวมศูนย์การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว ซึ่งพัฒนาจากพื้นที่เดิมในโซน F2 และยังมีสถาบันกวดวิชา โรงเรียนสอนภาษา และโรงเรียนการโรงแรมเปิดทำการภายในอาคารสำนักงานทั้งอาคารดิ ออฟฟิสเศส แอท เซ็นทรัลเวิลด์ และอาคารเซ็นทรัล ทาวเวอร์
กรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
กรูฟ เป็นอาคารความสูง 2 ชั้น สร้างบนพื้นที่ติดถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเดิมเป็นลานกิจกรรมกลางแจ้งหน้าอาคารสำนักงาน จุดเด่นคือเป็นอาคารที่มีการต่อพื้นที่สองส่วนเข้าด้วยกัน คือพื้นที่แบบปิดและพื้นที่แบบเปิด ซึ่งพื้นที่แบบปิด เป็นที่ตั้งของร้านค้าแนวฮิปชิค ส่วนหนึ่งเป็นร้านจากศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ที่มาเปิดทำการ และพื้นที่แบบเปิด เป็นที่ตั้งของร้านอาหารแนวฮิปชิค ผับ บาร์ อาคารนี้เป็นอาคารเดียวในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ที่เปิดทำการจนถึงเวลา 01.00 น. ของวันถัดไป เป็นอาคารส่วนหน้าสุดที่ติดจากสกายวอล์คไปยังรถไฟฟ้าบีทีเอส สองจุด และยังเป็นต้นแบบของอาคารศูนย์การค้า เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ ด้วย
พื้นที่จัดกิจกรรม
เซ็นทรัลเวิลด์มีพื้นที่ลานกิจกรรมหลายส่วน ได้แก่
เซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ ลานกลางแจ้งพื้นที่ 8,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่หน้าอาคารศูนย์การค้า ฝั่งติดกับถนนราชดำริ โดยตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561 ได้ร่วมมือกับแพลน บี มีเดีย ติดตั้งจอไดโอดเปล่งแสง แบบโต้ตอบเชิงดิจิทัล ชื่อ "เดอะ พาโนรามิกซ์" ขนาด 3,790 ตารางเมตร ซึ่งเป็นจอแอลอีดีที่มีความยาวมากที่สุดในโลก สามารถเชื่อมโยงภาพรูปแบบปฏิสัมพันธ์ตามเวลาจริงไปยังจอแอลอีดีของสถานที่ที่เป็นภูมิสัญลักษณ์ อื่น ๆ ทั่วโลก[ 11]
คราฟต์สตูดิโอ พื้นที่จัดกิจกรรมเชิงการเรียนรู้ ตั้งอยู่ชั้น 5-6 โซน A
เฮาส์ ออฟ อีเวนต์ พื้นที่จัดกิจกรรมของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ตั้งอยู่ชั้น 8 อาคารฝั่งห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล
เซ็นทรัลเวิลด์ไลฟ์ (ช่วงปี พ.ศ. 2557–2563 เช่าโดยจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ในชื่อ "เมืองไทย จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์" (ตามชื่อผู้สนับสนุนคือเมืองไทยประกันชีวิต ) และ "จีเอ็มเอ็มไลฟ์เฮาส์" ตามลำดับ) หอประชุมขนาดใหญ่และโรงมหรสพอเนกประสงค์ ประกอบด้วยโถงประชุมสำหรับจัดแสดงคอนเสิร์ต ทำกิจกรรม พื้นที่รวม 4,500 ตารางเมตร ความจุสูงสุด 3,000 ที่นั่ง ตั้งอยู่ชั้น 8 โซน A
เซ็นทรัลเวิลด์พัลส์ พื้นที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการ ตั้งอยู่ชั้น 8 โซน I
บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ศูนย์ประชุมและโรงมหรสพอเนกประสงค์ บริหารงานโดยเครือโรงแรมเซ็นทารา ประกอบด้วยโถงประชุมหลัก ความจุสูงสุด 7,000 ที่นั่ง ห้องเวิลด์บอลรูม ห้องประชุมเอ็ม 23 และห้องประชุมย่อยโลตัสสวีทอีก 17 ห้อง ตั้งอยู่ชั้น 23M โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ หรือชั้น 10 โซน D
ลานกิจกรรมภายในศูนย์การค้า ประกอบด้วย ลานกิจกรรมชั้น 1 จำนวน 5 จุด (ลาน A1, B1, C1, E1 และ G1), ลานกิจกรรมชั้น 3 จำนวน 2 จุด (ลาน A3 และ E3), ลานกิจกรรมชั้น 6 จำนวน 1 จุด (B6) และลานกิจกรรมชั้น 7 จำนวน 1 จุด (ลาน C7)
เทวรูป
บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์สแควร์ด้านหน้าอาคารโซน I เป็นที่ตั้งของเทวรูปพระสทาศิวะ ซึ่งย้ายมาจากลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลที่ปัจจุบันคือแอปเปิลสโตร์ และพระพิฆเนศ
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์
โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นโรงแรมระดับห้าดาว ความสูง 55 ชั้น ประกอบด้วยห้องพัก จำนวน 505 ห้อง ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ห้องอาหาร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ตัวอาคารเป็นอาคารทรงกระบอกสองอันมาผสานต่อกัน และมีจุดเด่นคือมีพื้นที่ไขว้ออกมานอกอาคารสลับกันไปตามแต่ละความสูง และชั้นเพดานเปิดโล่งพร้อมติดตั้งสถาปัตยกรรมโค้งสูงนับเป็นยอดสูงสุดของอาคารหลังนี้
อาคารสำนักงาน เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส
เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเศส เป็นอาคารสำนักงานอัจฉริยะอาคารแรกในประเทศไทย ตัวอาคารมีความสูง 45 ชั้น มีระบบการจัดการการจราจรในแนวตั้งด้วยลิฟท์โดยสารความเร็วสูง และระบบคีย์การ์ดที่ลิฟท์ อาคารดังกล่าวเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของเซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งได้ย้ายออกมาจากอาคารสำนักงานที่เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าวเดิม นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลบางส่วน และสำนักงานสาขาประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ
รางวัล
Best of the Best Awards ประจำปี 2010 จากสมาคมศูนย์การค้าระหว่างประเทศ (International Council of Shopping Centers : ICSC) ถือเป็นรางวัลระดับโลก[ 12]
Thailand Energy Awards ประจำปี 2011 ประเภทอาคารควบคุมดีเด่น โดยกระทรวงพลังงาน
Asean Energy Award ประจำปี 2011 ประเภท Asean Best Practices for Energy Management in Large Building Category : Winner
สมาคมศูนย์การค้านานาชาติ (ICSC) มอบรางวัลห้างสรรพสินค้าดีเด่นระดับโลก ด้านการออกแบบและพัฒนา เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
Building of the Year ประจำปี 2021 (แอปเปิลสโตร์)[ 13]
เหตุการณ์ทางการเมืองและกรณีอื้อฉาว
ความเสียหายที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553
อาคารส่วนของ ห้าง ZEN ที่ถล่มลงมา
ZEN World ส่วนที่เหลือ
ตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แดงทั้งแผ่นดิน เริ่มใช้พื้นที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ เป็นสถานที่จัดกิจกรรมการชุมนุมทางการเมือง จนถึงวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 เจ้าหน้าที่ทหาร ได้เข้าสลายการชุมนุม จนทำให้แกนนำต้องประกาศยุติการชุมนุม และเข้ารายงานตัวกับตำรวจ หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุจลาจลขึ้นทั่วกรุงเทพมหานคร ลุกลามไปสู่ปริมณฑลและต่างจังหวัด โดยจุดหนึ่งที่มีการลอบวางเพลิง และเข้าทุบทำลายอาคารคือ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[ 14] [ 15] ทั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ด้วยสาเหตุข้างต้น จึงส่งผลให้เซ็นทรัลเวิลด์เกิดเพลิงไหม้ในบริเวณพื้นที่ห้างสรรพสินค้าเซน หลังเพลิงไหม้ได้ลุกขึ้นนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง จนกระทั่งเวลา 01.00 น. เพลิงไหม้เริ่มส่งผลให้ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนทรุดตัวลงจนด้านหน้า (บริเวณป้ายโลโก้เซ็นทรัลเวิลด์) ถล่มลงมา และเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 02.00 น. วันที่ 20 พฤษภาคม[ 16]
หลังจากนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้เข้ามาสำรวจสภาพของศูนย์การค้าที่คงเหลืออยู่ในวันถัดมา พบว่าเพลิงไหม้ได้ทำลายตัวอาคารประมาณหนึ่งในสาม โดยส่วนของห้างสรรพสินค้าเซน ได้รับความเสียหายมากที่สุด ส่วนโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ อาคารสำนักงาน และอาคารอิเซตัน ไม่ได้รับความเสียหาย ซึ่งต่อมาเซ็นทรัลพัฒนาได้แถลงข่าวชี้แจงว่า การซ่อมแซมจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการอย่างสมบูรณ์ ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2554 หลังจากนั้นไม่นานส่วนของห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ก็สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ส่วนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 โดยจะปรับภูมิทัศน์ใหม่ ให้เป็นสวนใจกลางเมือง เสริมเทคโนโลยี ที่สามารถเปลี่ยนสีสันของแต่ละโซน ได้ตามช่วงเวลาของวัน และเพิ่ม "เดอะริงก์" ลานสเก็ตน้ำแข็งในร่มขนาดใหญ่ บริเวณหน้าบีทูเอส ส่วนของห้างสรรพสินค้าเซนได้เปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้บางส่วน ซึ่งประกอบไปด้วยรายได้จากการเช่าพื้นที่ที่จำเป็นต้องละเว้นให้กับร้านค้าผู้เช่า เนื่องจากไม่สามารถเปิดทำการได้ตามปกติ รวมถึงรายได้สัมพัทธ์รายการอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้บริษัท ยังต้องบันทึกค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมโครงการทั้งหมดเอง โดยระหว่างนั้นเซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งไปยังบริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เพื่อขอเบิกค่าสินไหมทดแทนกรณีที่อาคารถูกเพลิงไหม้ แต่เทเวศประกันภัยกลับแจ้งว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุก่อการร้ายจึงไม่ได้เข้าเงื่อนไขการเบิกสินไหมทดแทน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานเซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ดำเนินการฟ้องร้องเทเวศประกันภัยต่อศาลฎีการ่วมกับ กองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ (ในฐานะโจทย์คนที่หนึ่ง) บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด (ในฐานะโจทย์คนที่สาม) และบริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด (ในฐานะโจทย์คนที่สี่) ในเวลาต่อมา[ 17] รวมถึงได้ยื่นฟ้องร้องเอาผิดกลุ่มคนเสื้อแดงในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สินกับศาลอาญาด้วย
ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 ศาลได้มีคำสั่งตัดสินเกี่ยวกับสองคดีที่เซ็นทรัลพัฒนายื่นฟ้องร้องไป โดยคดีแรกที่ได้รับการตัดสินก็คือคดีการเบิกสินไหมทดแทน โดยศาลแพ่งตัดสินว่าให้เทเวศประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนาเป็นจำนวนเงิน 2,719 ล้านบาทสำหรับค่าความเสียหายของทรัพย์สิน รวมถึงค่าชดเชยทดแทนกรณีเหตุธุรกิจหยุดชะงักอีก 989 ล้านบาท โดยให้จ่ายรวมดอกเบี้ยอีก 7.5% ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554 ไปจนกว่าจะชำระครบทั้งหมด พร้อมทั้งจ่ายค่าทนายและค่าดำเนินการทั้งหมดให้แก่เซ็นทรัลพัฒนาอีก 60,000 บาทด้วย[ 18] แต่อย่างไรเสีย เทเวศประกันภัย กลับยื่นอุทธรณ์คดีโดยชี้แจงถึงเหตุที่ไม่สามารถเบิกจ่ายได้เพราะเงื่อนไขไม่ตรงกับกรมธรรม์ที่เซ็นทรัลพัฒนาได้ทำไว้ ศาลอุทธรณ์จึงมีคำสั่งพิพากษากลับให้เทเวศประกันภัยไม่ต้องดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเซ็นทรัลพัฒนา ทั้งนี้เซ็นทรัลพัฒนาได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ว่ากองทุนรวมธุรกิจไทยสี่ได้ทำกรมธรรม์คุ้มครองในกรณีการก่อการร้ายเอาไว้อีกกรมธรรม์หนึ่งกับ บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งบริษัทจะดำเนินการเบิกสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์นี้แทนเป็นจำนวนเงิน 3,500 ล้านบาท และไทยเศรษฐกิจประกันภัย ได้ดำเนินการจ่ายสินไหมทดแทนเรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560
ส่วนคดีความที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษที่ 4 ได้ยื่นฟ้องกลุ่มคนเสื้อแดงนั้น ศาลอาญาได้ตัดสินว่าจำเลยทั้งสองนั้นไม่มีความผิดเพราะศาลเห็นว่าในหลักฐานจำเลยทั้งสองเป็นบุคคลที่ถือถังดับเพลิง ไม่ใช่อุปกรณ์วางเพลิง ถึงแม้ว่าจากหลักฐานจะมีภาพถ่ายของยามรักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าที่สามารถจับภาพของกลุ่มคนเสื้อแดงที่บุกทำลายเข้ามาเข้ามาพร้อมโยนขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่บรรจุน้ำมันก๊าซพร้อมจุดไฟเอาไว้ได้ แต่ศาลวินิจฉัยว่าพยานที่เห็นเหตุการณ์นั้น อยู่ไกลจากตัวจำเลยที่ 1 ไปเกินกว่า 30 เมตร ศาลจึงพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งหมดไป[ 19]
เหตุนั่งร้านถล่มเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2553
ในระหว่างการซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนนั้น ได้เกิดเหตุนั่งร้านที่ใช้ค้ำยันเพดานชั้น 7 ได้เกิดทรุดตัวลงและถล่มลงมา ส่งผลให้คนงานเสียชีวิต 2 คน และ ได้รับบาดเจ็บ 6 คน และยังมีถังแก๊สที่ใช้ในการเชื่อมเหล็กได้ถูกแผ่นปูนตกลงมาใส่ ได้เกิดความเสียหายและมีแก๊สรั่วออกมา จึงทำให้ต้องรีบตัดกระแสไฟฟ้า ก่อนใช้รถดับเพลิงฉีดน้ำเพื่อให้แก๊สเจือจาง สาเหตุนั้นเกิดจากบริเวณระหว่างนั่งร้านชั้น 1 กับชั้น 2 ซึ่งใช้เป็นที่พักของอิฐก่อสร้าง รวมถึงนั่งร้านได้ถูกใช้งานเป็นที่ขนแผ่นพื้นคอนกรีต จึงไม่สามารถแบกรับน้ำหนักเอาไว้ได้ส่งผลให้นั่งร้านพังถล่มลงมาจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บดังกล่าว จากเหตุการณ์นี้ส่งผลให้การซ่อมแซมห้างสรรพสินค้าเซนต้องระงับการซ่อมแซมไปเป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับการออกแบบของแบบแปลนนั่งร้าน[ 20]
เพลิงไหม้อาคารเซนเวิลด์ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ห้างสรรพสินค้าเซนที่ยังอยู่ในระหว่างการซ่อมแซม จุดเกิดเหตุอยู่บนชั้น 11 ของอาคารเซนเวิลด์ โดยมีกลุ่มควันโพยพุ่งออกมาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เจ้าหน้าดับเพลิงใช้เวลาเพียง 15 นาทีจึงสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้ โดยตัวอาคารได้รับความเสียหายที่ส่วนฝ้าเพดานและช่องแอร์ ได้ถูกเพลิงไหม้ได้รับความเสียหายกินพื้นที่ประมาณ 15 ตารางเมตร ในเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต โดยสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้นั้นคาดว่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ในขณะที่เกิดเหตุการณ์นั้นศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ยังคงเปิดให้บริการตามปกติอยู่ และไม่ได้กระทบกับผู้ที่ใช้บริการศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์[ 21]
เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของ กปปส. มกราคม - กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557
เมื่อวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557 คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. ได้เริ่มปักหลักชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพมหานครชั้นในเป็นจำนวนกว่า 9 จุด เพื่อเป็นการขัดขวางไม่ให้ข้าราชการและตำรวจสามารถเดินทางไปทำงานได้ตามปกติ โดยจุดหนึ่งที่มีการตั้งเวทีใหญ่ก็คือบริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งหลังจากที่เริ่มมีการตั้งเวทีการชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ได้ส่งจดหมายด่วนถึงร้านค้าเช่าว่าจะขอปิดศูนย์การค้าเร็วกว่าปกติ ก็คือเวลา 10.00-18.00 น. โดยใช้เวลานี้เท่ากันทั้งอาคารศูนย์การค้าหลักและอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ในช่วงอาทิตย์แรกของการชุมนุม แต่หลังจากนั้นก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงเวลาเปิด-ปิดศูนย์การค้าเป็น 10.00 - 20.00/21.00 น. ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในแต่ละวัน ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติในช่วงอาทิตย์ที่สามของการชุมนุม แต่ภายหลังที่เกิดเหตุปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุม เซ็นทรัลพัฒนาก็ใช้เวลาในการเปิดปิดศูนย์การค้าเป็นเวลา 10.00-19.00 น. อีกครั้ง และจะประเมินสถานการณ์รายวันต่อไป
จากเหตุการณ์นี้ทำให้เซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดกั้นพื้นที่บริเวณศูนย์การค้าบางส่วน และไม่อนุญาตให้รถยนต์ผ่านเข้า-ออกบริเวณถนนพระรามที่ 1 ทุกกรณี ซึ่งรถที่จะเข้า-ออกศูนย์การค้า จะต้องใช้ทางเลี่ยงด้านหลังสยามดิสคัฟเวอรี่เซ็นเตอร์ สยามเซ็นเตอร์ และสยามพารากอน ในการเดินทางเข้ามาแทน แต่ภายหลังกลุ่มผู้ชุมนุมก็มีการเปิดเส้นทางให้รถยนต์สามารถเข้า-ออกศูนย์การค้าได้จากฝั่งถนนราชดำริตามปกติ อีกทั้งเหตุการณ์นี้ทำให้การตกแต่งภายในของอาคารกรูฟ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ รวมถึงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี ต้องหยุดชะงักลงเนื่องจากลำเลียงวัสดุก่อสร้างเข้ามาไม่ได้อีกด้วย แต่พอกลุ่มผู้ชุมนุมประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เซ็นทรัลเวิลด์ก็กลับมาเปิดให้บริการตามปกติอีกครั้งตั้งแต่เวลา 10.00-22.00 น. สำหรับอาคารศูนย์การค้า และเวลา 10.00-01.00 น. สำหรับอาคารกรูฟ
ผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องปรับลดค่าเช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าอีกครั้ง นับเป็นการปรับลดราคาเช่าพื้นที่เป็นครั้งที่สองหลังจากไม่ได้ปรับลดอีกตั้งแต่เหตุชุมนุม พ.ศ. 2553 และทำให้เซ็นทรัลพัฒนาต้องสูญเสียรายได้ไปกว่าร้อยล้านบาทภายในระยะเวลา 2 เดือนที่ กปปส. ใช้พื้นที่บริเวณศูนย์การค้าเป็นที่ชุมนุม
เหตุเพลิงไหม้เซ็นทรัลเวิลด์ 10 เมษายน พ.ศ. 2562
เมื่อเวลาประมาณ 17.30 น. ของวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2562 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ บริเวณโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์[ 22] [ 23] [ 24] [ 25] โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน และเจ้าหน้าที่สายด่วน 199 ได้รับแจ้งเมื่อเวลา 17.49 น. จึงเดินทางไปตรวจสอบยังที่เกิดเหตุ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สถานีดับเพลิงบรรทัดทอง สถานีดับเพลิงพญาไท และสถานีดับเพลิงคลองเตย เพื่อระดมเจ้าหน้าที่ให้ได้มากที่สุดในทันที โดยเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุ สภาพอาคารยังมีเปลวไฟและควันดำพุ่งออกมาจากบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้กันประชาชนที่อพยพออกมาให้ออกนอกพื้นที่ และสั่งห้ามเคลื่อนย้ายยานพาหนะทุกชนิดออกจากศูนย์การค้า ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้ในเวลา 18.45 น. ก่อนเข้าสู่สถานการณ์ปกติในเวลา 21.00 น. เหตุการณ์นี้ส่งผลให้ผู้ได้รับบาดเจ็บ 16 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยเป็นพนักงานของ บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด 2 ราย ได้แก่[ 26] นายศักดิ์ชัย เจริญลาภ และนายอาทิตย์ คำสาย และประชาชนทั่วไปหนึ่งราย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ต้องปิดทำการในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 เป็นเวลา 1 วัน เพื่อระบายควันออกจากพื้นที่ ก่อนเปิดให้บริการตามปกติในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2562
ต่อมา บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) ได้ออกหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถึงสาเหตุที่แท้จริงของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ โดยสาเหตุและต้นเพลิงอยู่ภายในบริเวณภายในห้องเครื่องชั้น B2 ของอาคารสำนักงาน โดยเหตุเกิดบริเวณบ่อดักไขมันของศูนย์การค้าที่เกิดความร้อนสะสมถึง 800 องศา เมื่อมีความร้อนสูงบวกกับสภาพอากาศภายนอกที่ร้อนจัด จึงเกิดประกายไฟอันเป็นสาเหตุของเพลิงไหม้ในครั้งนี้ เพลิงไหม้สร้างความเสียหายบริเวณห้องเครื่องอย่างหนัก ก่อนกลุ่มควัน ประกายไฟและความร้อนจะลามขึ้นไปยังชั้น 8 อย่างรวดเร็วผ่านช่องลมระบายควัน แต่จากความร้อนที่สูงมากจึงทำให้ช่องลมเกิดการละลายจนถล่มลงมา ก่อให้เกิดกลุ่มควันหนาแน่นบริเวณห้องเครื่องชั้น 8 ก่อนเพลิงไหม้ซ้ำอีกครั้งในบริเวณสำนักงานและห้องเก็บเอกสาร และกลุ่มควันบางส่วนได้ลอยเข้าไปในศูนย์การค้าและตัวโรงภาพยนตร์เอสเอฟเวิลด์ ซีเนม่า[ 27] อย่างไรก็ตามส่วนของโรงแรมไม่ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ และแขกที่เข้าพักรวมถึงพนักงานทุกคนปลอดภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น[ 28] ในส่วนของกรณีสัญญาณเตือนภัยที่ถูกสังคมออนไลน์ร้องเรียน เซ็นทรัลพัฒนาได้ชี้แจงว่าเนื่องจากเซ็นทรัลเวิลด์เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ จึงได้วางระบบป้องกันอัคคีภัยให้แจ้งเตือนเป็นโซน ๆ แทนการวางระบบให้เตือนพร้อมกันทั้งศูนย์ฯ เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกตกใจของประชาชนที่จะเพิ่มความลำบากในการอพยพ[ 29] และในระหว่างที่เกิดเหตุ เชียร์ - ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์ ได้อธิบายถึงวิธีการที่ทางศูนย์ฯ ใช้ว่า ทางห้างใช้วิธีการแชร์โค้ดลับภายในซึ่งรู้กันทั้งหมดในการพูดคุยกัน ตนรู้เรื่องอีกทีคือมีกลุ่มควันลอยมาจากทางศูนย์อาหารฟู้ดเวิลด์ และเริ่มมีประชาชนวิ่งหนีมาจากทางดังกล่าว พนักงานทั้งหมดจึงได้เริ่มทำหน้าที่อพยพคนออกจากห้างให้เร็วที่สุด[ 30]
เหตุทำร้ายร่างกาย 19 เมษายน พ.ศ. 2565
วันที่ 19 เมษายน 2565 เกิดเหตุชายใช้มีดคัตเตอร์ฟันลูกค้าของศูนย์การค้าได้รับบาดเจ็บ 2 คน ด้านเซ็นทรัลเวิลด์แจ้งว่าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสามารถควบคุมตัวผู้ก่อเหตุไว้ได้ในเวลา 5 นาที[ 31]
เหตุเพลิงไหม้อาคารกรูฟ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565
เมื่อเวลาประมาณ 15:30 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2565 มีรายงานสัญญาณแจ้งเตือนเพลิงไหม้ดังบริเวณอาคารอี และอาคารเอ ของศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และมีรายงานจากประชาชนทางสื่อสังคมออนไลน์และทวิตเตอร์เป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลปทุมวันได้รับแจ้งในเวลา 16:23 น. และมีประชาชนแตกตื่นวิ่งหนีออกจากศูนย์การค้าเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงที่เกิดเหตุเจ้าหน้าที่ศูนย์การค้าแจ้งว่าพบเพลิงไหม้บริเวณใต้บันไดเลื่อนภายในอาคารกรูฟ โซนอินดอร์ ชั้น 1 (บริเวณหน้าร้านคาร์มาคาร์เม็ต) ถนนพระรามที่ 1 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ของศูนย์การค้าสามารถควบคุมเหตุการณ์เบื้องต้นได้ และอยู่ในระหว่างการระบายควันออกจากตัวอาคาร เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร และบริเวณใต้บันไดเลื่อนมีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ประจำเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นวัสดุติดไฟได้ เลยทำให้เหตุการณ์และความเสียหายออกมาค่อนข้างรุนแรง
ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และศูนย์การค้าในบริเวณอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาคารกรูฟ รวมถึงโรงแรมเซ็นทารา และโรงภาพยนตร์เอสเอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
รางวัล
ปี
รางวัล
สาขา
ผล
2566
Thailand Zocial Awards 2023[ 32]
Best Brand Performance on Social Media กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า
ชนะ
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
แหล่งข้อมูลอื่น
13°44′48″N 100°32′21″E / 13.746534°N 100.539220°E / 13.746534; 100.539220
สถานที่สำคัญ ดูเพิ่มเติม พื้นที่ในอดีต
เซ็นทรัลแบงค็อก เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) เซ็นทรัล ไลฟ์คอมเพล็กซ์ (ภูมิภาค) โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (กรุงเทพฯ และปริมณฑล) โรบินสัน ไลฟ์สไตล์ (ภูมิภาค) ท็อปส์ พลาซา ศูนย์การค้า ต่างประเทศ ตัวเอียง = กำลังก่อสร้าง
แขวง ประวัติศาสตร์
อำเภอ/เขต
อำเภอประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
อำเภอสามเพ็ง ตำบลประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
อำเภอประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
วังสระปทุม
สถานีวิทยุศาลาแดง
เหตุการณ์ร่วมสมัย
เศรษฐกิจ
สังคม
การศึกษา
มหาวิทยาลัย/สถาบัน
โรงเรียน
ราชการ สาธารณสุข กีฬา วัฒนธรรม