เจดีย์กุโตดอ

เจดีย์กุโตดอ
ကုသိုလ်တော်‌ဘုရား
เจดีย์กุโตดอด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
นิกายเถรวาท
ที่ตั้ง
ที่ตั้งมัณฑะเลย์ ภาคมัณฑะเลย์ พม่า
เจดีย์กุโตดอตั้งอยู่ในประเทศพม่า
เจดีย์กุโตดอ
ที่ตั้งในประเทศพม่า
พิกัดภูมิศาสตร์22°00′17″N 96°06′46″E / 22.004712°N 96.112902°E / 22.004712; 96.112902
สถาปัตยกรรม
ผู้ก่อตั้งพระเจ้ามินดง
เสร็จสมบูรณ์4 พฤษภาคม 1868; 156 ปีก่อน (1868-05-04)
จารึกกุโตดอ *
  ความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโก
ที่เก็บรักษาเจดีย์กุโตดอ, มัณฑะเลย์
ประเทศ พม่า
ภูมิภาค **เอเชียและแปซิฟิก
อ้างอิง[1]
ประวัติการขึ้นทะเบียน
ขึ้นทะเบียน2556
* ชื่อตามที่ได้ขึ้นทะเบียนในบัญชีความทรงจำแห่งโลก
** ภูมิภาคที่จัดแบ่งโดยยูเนสโก

เจดีย์กุโตดอ (พม่า: ကုသိုလ်တော်‌ဘုရား, ออกเสียง: [kṵðòdɔ̀ pʰəjá]; หมายถึง พระราชกุศล ชื่อเป็นทางการคือ มะฮาโลกะมาระซีนเจดี မဟာလောကမာရဇိန်စေတီ) เป็นเจดีย์พุทธตั้งอยู่เชิงเขามัณฑะเลย์ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า ซึ่งมีหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดในโลก[1] สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้ามินดง ตัวเจดีย์ซึ่งปิดทองเหนือฐาน มีความสูง 57 เมตร (187 ฟุต) จำลองตามเจดีย์ชเวซี่โกน เมืองญองอู้ ใกล้พุกาม บริเวณรอบเจดีย์มีซุ้มขนาดเล็กประดิษฐานหินจารึก 729 แผ่น แต่ละแผ่นจารึกไว้ทั้งสองด้าน มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระไตรปิฎกภาษาบาลีของศาสนาพุทธนิกายเถรวาท[2]

พระราชกุศล

พระเจ้ามินดงสร้างเจดีย์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของหลักเมืองมัณฑะเลย์ตามประเพณี ซึ่งเป็นเมืองหลวงใหม่ในปี พ.ศ. 2400[2] ต่อมาพระองค์มีพระราชดำริให้สังคายนาพระไตรปิฎกในปี พ.ศ. 2414[1] นอกจากนี้พระองค์ต้องการฝากงานพระราชกุศลครั้งใหญ่ไว้ โดยมีพระราชดำริให้จารึกพระไตรปิฎกไว้บนแผ่นหินเพื่ออนุชนรุ่นหลัง ให้สืบเนื่องไปห้าพันปีหลังพระพุทธเจ้า การก่อสร้างเริ่มขึ้นปี พ.ศ. 2403 มีการติดตั้ง ที่ (ฉัตร) วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2405 และเปิดให้ประชาชนเข้าชมวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2411 จารึกถูกจัดเรียงเป็นระเบียบภายในกำแพงล้อมสามชั้น ชั้นแรก 42 แผ่น ชั้นสอง 168 แผ่น และชั้นสาม 519 แผ่น อีกแผ่นหนึ่งตั้งอยู่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของกำแพงชั้นแรกทำให้ได้ 730 แผ่น หินแผ่นนี้บันทึกประวัติการสร้าง และมี ซะยะ ตั้งเรียงรายอยู่รอบ ๆ เจดีย์[3][2]

ทางเข้าหลักทางทิศใต้ผ่านประตูไม้สักบานใหญ่ที่เปิดกว้าง ซึ่งแกะสลักอย่างวิจิตรด้วยลายดอกไม้และเทวดา ทางเดินมีหลังคาเช่นเดียวกับเจดีย์พม่าส่วนใหญ่ รวมทั้งจิตรกรรมฝาผนังใต้หลังคา ระหว่างแถวของซุ้มหินจารึกจะมีต้นพิกุลที่โตเต็มที่ ซึ่งส่งกลิ่นหอมคล้ายดอกมะลิไปทั่วทั้งบริเวณ ลานด้านในทิศตะวันตกเฉียงใต้มีต้นไม้เก่าแก่ต้นหนึ่งซึ่งเชื่อกันว่ามีอายุ 250 ปี โดยมีกิ่งก้านแผ่ต่ำและมีค้ำยัน[4]

การผนวกและการดูหมิ่น

หลังการผนวกมัณฑะเลย์โดยอังกฤษในปี พ.ศ. 2428 เมืองที่มีกำแพงล้อมอย่างพระราชวังมัณฑะเลย์ ได้กลายเป็นป้อมดัฟเฟริน และกองทหารถูกระดมกำลังไปทั่วเขามัณฑะเลย์ ในอาราม วัด และเจดีย์ ถูกห้ามเข้าสำหรับประชาชน อู้อองบาน นักสำรวจภาษีรายหนึ่งเกิดความคิดที่จะอุทธรณ์โดยตรงต่อสมเด็จพระราชินีวิกตอเรีย เนื่องจากพระองค์สัญญาว่าจะเคารพทุกศาสนาที่ประชากรของพระองค์นับถือ ด้วยความประหลาดใจและยินดียิ่ง สมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษมีพระบัญชาให้ถอนทหารทั้งหมดออกจากเขตศาสนาโดยทันทีในปี พ.ศ. 2433 อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กลับกลายเป็นความเสียใจอย่างยิ่งเมื่อพบว่าฉัตรเจดีย์ถูกปล้น ส่วนโครงเหลือถูกทิ้งอยู่บนพื้น ปราศจากระฆัง ทอง เงิน เพชร ทับทิม และอัญมณีล้ำค่าอื่น ๆ ไปจนถึงกระเบื้องหินอ่อนอิตาลีจากขั้นเจดีย์ ศาลาที่พักกำลังพังลง อิฐถูกใช้เพื่อสร้างถนนให้กับกองทหาร ระฆังทองเหลืองจากซุ้มหินจารึกหายไปทั้งหมด ซุ้มหนึ่งมีระฆัง 9 ใบ รวมเป็น 6,570 ใบ หมึกสีทองจากแถบอักษรด้านข้างและด้านบนของแผ่นหินอ่อนแต่ละแผ่นหายไปเช่นกัน รูปยักษ์อสูรทั้งหมดตามทางเดินสูญเสียหัว ดวงตาและกรงเล็บหินอ่อนของ ชีนเต่ ก่ออิฐก็สูญหายเช่นกัน[3][4]

การบูรณะ

พ.ศ. 2435 คณะกรรมการพระภิกษุอาวุโส สมาชิกในราชวงศ์ และอดีตเจ้าหน้าที่ของกษัตริย์ รวมทั้ง อะตุมะชิ ซะยาดอ (เจ้าอาวาสวัดอะตุมะชิ) กินหวุ่นมินจี (อัครเสนาบดี) เลทิน อะตวินหวุ่น (รัฐมนตรีทัพเรือหลวง) เจ้าฟ้าซอมอง และโม่-บแย ซิแก (นายพลกองทัพหลวง) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเริ่มงานบูรณะ พร้อมความช่วยเหลือและการบริจาคจากครอบครัวผู้บริจาคเดิม และจากสาธารณชนทั่วไปด้วยเช่นกัน[3][4]

ซิแกเป็นผู้ขออนุญาตพระภิกษุอาวุโสเพื่อปลูกต้นพิกุลและต้นมะซางอินเดีย (Madhuca longifolia)[5] ตัวอักษรสีทองถูกแทนที่ด้วยหมึกสีดำซึ่งทำให้อ่านง่ายขึ้น ฉัตรโลหะซุ้มหินจารึกถูกประดับใหม่ร่วมกับหินซึ่งบริจาคโดยราชวงศ์ (155 คัน) อดีตทหารกองทัพหลวง (58 คัน) เจ้าฟ้าไทใหญ่และเจ้าเมือง (102 คัน) และประชาชนบริจาค (414 คัน) ในปี พ.ศ. 2456 โบ้ตา พ่อค้าข้าวแห่งเมืองย่างกุ้งได้บูรณะและปิดทองเจดีย์ ปีต่อมาสมาคมจารึกหินพระปิฎกมอบประตูเหล็กด้านทิศใต้ ซึ่งเคยเปิดโล่งไว้เนื่องจากบานไม้แกะสลักถูกทำลายโดยทหาร ปีถัดมาประตูทิศตะวันตกได้รับบริจาคโดยโบ้เซน (นักแสดงละครเวที) และปี พ.ศ. 2475 ประตูทิศเหนือและทิศตะวันออก ซึ่งบริจาคโดยลูกหลานของพระเจ้ามินดง ปี พ.ศ. 2462 ฤๅษีอู้คันดี เป็นผู้นำในการสร้างแนวทางเข้ามีที่คลุมด้านทิศใต้และทิศตะวันตก[3][4]

จารึกยูเนสโก

พ.ศ. 2556 ป้ายยูเนสโกระบุว่า มะฮาโลกะมาระซีน หรือ จารึกกุโตดอ ที่เจดีย์กุโตดอ เป็นหนังสือเล่มใหญ่ที่สุดในโลกในรูปแบบจารึกแผ่นหินอ่อน 729 แผ่น โดยจารึกเกี่ยวกับพระไตรปิฎก และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นความทรงจำแห่งโลก

คลังภาพ

อ้างอิง

  1. 1.0 1.1 วัดกุโสดอ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
  2. 2.0 2.1 2.2 Asian Historical Architecture Kuthodaw Temple
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 Ludu Daw Amar - English translation by Prof. Than Tun (1974). The World's Biggest Book. Mandalay: Kyipwayay Press. pp. 6, 9–10, 16, 22, 24–31, 35.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 Kuthodaw Pagoda researchgate
  5. มะทราง (มะซาง) น้ำปานะ ในพระไตรปิฎก, มติชนสุดสัปดาห์

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!