นับตั้งแต่ช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2567 ได้เกิดอุทกภัยฉับพลันและดินถล่มในหลายจังหวัดของประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทยจากอิทธิพลพายุไต้ฝุ่นยางิและพายุซูลิก[2] ในปัจจุบัน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้รายงานว่าอุทกภัยได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ 19 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 45 คน และประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 43,535 ครัวเรือน[3]
ภูมิหลัง
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2567 เกิดฝนตกต่อเนื่องและปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ด้วยอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านทางตอนบนของภาคเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จึงทำให้เกิดฝนตกต่อเนื่องแทบทุกวันและตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 17–21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝนที่ตกในพื้นที่ภูเขาสูง ทำให้มีปริมาณฝนตกสะสมเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมหาศาลไหลลงสู่ลุ่มน้ำหลักและลุ่มน้ำสาขาอย่างรวดเร็ว[1]
อุทกภัย
เดือนสิงหาคม
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม เกิดฝนตกประกอบกับน้ำป่าไหลหลากหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงรายบริเวณสี่แยกหน้ามหาวิทยาลัย ทำให้ประชาชนสัญจรลำบากทั้งนี้เส้นทางที่ถูกตัดขาดเป็นเส้นทางหลักเข้าประตูมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับผลกระทบในถนนพหลโยธิน ต่อมาเกิดน้ำท่วมบริเวณสี่แยกขัวแคร่ ทำให้รถเล็กสัญจรได้บางส่วน ซึ่งเกิดน้ำท่วมและไม่สามารถระบายน้ำได้ทันท่วงที
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากใน 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเทิง อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่ลาว อำเภอขุนตาล อำเภอป่าแดด อำเภอพญาเม็งราย อำเภอเชียงแสน และอำเภอแม่สาย ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,665 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในอำเภอเชียงแสน น้ำในแม่น้ำรวก แม่น้ำคำ แม่น้ำกกไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ และอำเภอขุนตาล ลำน้ำอิงท่วมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ[4] พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งการให้ทุกอำเภอเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลากน้ำล้นตลิ่งอย่างต่อต่อเนื่อง พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องมืออุปกรณ์และกำลังพลพร้อมให้ความช่วยเหลือทันทีเมื่อได้รับการร้องขอ[5]
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยฉับพลันจากฝนตกต่อเนื่องที่ตำบลแม่ใส อำเภอเมืองพะเยา ส่งผลให้น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ ประชาชนต้องเร่งขนทรัพย์สินและข้าวของเครื่องใช้ไปเก็บไว้ที่สูงพื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต[6]
ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดอุทกภัยฉับพลันที่ตำบลห้วยผา อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน หน่วยงานรัฐเข้าไปซ่อมแซมและฟื้นฟู รวมถึงตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ที่ล้มทับเส้นทางจนสายไฟฟ้าแรงสูงขาด เพื่อเปิดเส้นทางในการสัญจรตามปกติ พร้อมสั่งให้เฝ้าระวังเนื่องจากหลายพื้นที่ยังมีฝนตก[7]
เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม ในจังหวัดเพชรบูรณ์ เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าไหลหลากที่ตำบลห้วยโป่ง อำเภอหนองไผ่ และตำบลบุ่งน้ำเต้า อำเภอหล่มสัก ส่งผลกระทบ 650 ครัวเรือน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ทั้งกำลังพล เครื่องมือ อุปกรณ์ เครื่องจักร เพื่อรับสถานการณ์ในพื้นที่ ตลอดจนแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เตรียมรับสถานการณ์[8]
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ในจังหวัดเชียงราย มีรายงานผู้เสียชีวิต 2 คนจากอุทกภัยฉับพลันในช่วงผ่านมาที่อำเภอเทิง และอำเภอดอยหลวง[9] ขณะเดียวกัน มีนักเรียน 146 คนติดอยู่ภายในโรงเรียนเวียงแก่นวิทยาคมที่อำเภอเวียงแก่น เนื่องด้วยถนนเส้นบ้านหลู้–บ้านหล่ายงาวน้ำท่วมไม่สามารถสัญจรได้จากน้ำป่าไหลหลาก[10]
ในจังหวัดน่าน เกิดอุทกภัยฉับพลันจากน้ำป่าสีแดงขุ่นไหลหลาก ส่งผลให้สะพานสลิงบ้านดวงคำได้รับความเสียหายและประชาชนอำเภอทุ่งช้างได้รับผลกระทบ ชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เตือนประชาชนใกล้แม่น้ำยกของขึ้นที่สูง และให้เตรียมพร้อมทั้งเครื่องอุปโภค บริโภค พร้อมสั่งให้ทุกตำบลตั้งโรงครัวทำอาหารแจกจ่ายประชาชนที่ประสบภัยบรรเทาความเดือดร้อน[11]
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ในจังหวัดน่าน เขตเศรษฐกิจในอำเภอเมืองน่านยังมีอุทกภัยเป็นวงกว้าง รวมทั้งวัดภูมินทร์ ซึ่งชาวบ้านบางคนระบุว่าไม่เคยเห็นน้ำท่วมวัดภูมินทร์มาก่อน สุรพล เธียรสูตร นายกเทศบาลเมืองน่าน กล่าวว่า เป็นอุทกภัยครั้งนี้มากที่สุดในรอบ 100 ปี[12] ขณะเดียวกัน โดยเฉพาะชุมชนบ้านท่าลี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ถูกน้ำท่วมสูง บางจุดท่วมสูงถึง 3 เมตร เป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในอำเภอเมืองน่าน[13]
ในจังหวัดแพร่ เกิดอุทกภัยจากแม่น้ำยมไหลท่วมที่อำเภอเมืองแพร่ ส่งผลให้ย่านเขตเศรษฐกิจ ศูนย์ราชการและชุมชนโดยรอบเป็นบริเวณกว้าง ถนนหลายสายไม่สามารถสัญจรได้ รวมถึงโรงเรียนประกาศให้หยุดเรียนชั่วคราว ชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้กำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพร้อมกำลังพลเข้าช่วยเหลือประชาชนที่ไม่สามารถออกจากพื้นที่ได้[14]
เดือนกันยายน
เมื่อวันที่ 11 กันยายน ในจังหวัดเชียงราย เกิดอุทกภัยใหญ่ในอำเภอเมืองเชียงราย ทำให้บริเวณห้าแยกอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราช ถูกน้ำท่วมมากจนรถไม่สามารถสัญจรได้ จึงทำให้ปิดเส้นทางการจราจร ใน ถนนพหลโยธินที่สะพานข้ามแม่น้ำกก ถนนเลี่ยงเมืองเชียงรายด้านตะวันตกที่สะพานข้ามแม่น้ำกก (ฮ่องอ้อ-หนองด่าน) ถนนเวียงบูรพาที่สะพานเฉลิมพระเกียรติ ส่วน ถนนแม่ฟ้าหลวงที่สะพานแม่ฟ้าหลวง และถนนกลางเวียงที่สะพานขัวพญามังราย สามารถสัญจรได้บางส่วน ทั้งนี้ทางจังหวัดได้ขอความร่วมมือให้เลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ต่อมาวันที่ 12 กันยายน รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ เนื่องจากสะพานข้ามแม่น้ำกกได้ถูกกระแสน้ำไหลเชี่ยวกลากทุกจุด จนถึงคอสะพานจึงทำให้สะพานที่ข้ามแม่น้ำกกทั้งในส่วนอำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงแสนได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่จึงต้องปิดเส้นทางที่ข้ามแม่น้ำกกทั้งหมดเพื่อที่ให้สถานการณ์น้ำลดลง หลังจากนั้นน้ำเริ่มลดลงในเขตอำเภอเมืองเชียงรายตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน และวันที่ 14 กันยายน ถนนสายหลักในอำเภอเมืองเชียงรายก็สามารถสัญจรได้ตามปกติ ส่วนแม่น้ำกกก็ไหลไปทางอำเภอเชียงแสนทำให้อำเภอเชียงแสนได้รับผลกระทบหนักด้วย
ส่วนอำเภอแม่สาย ก็ท่วมหนักบริเวณตลาดสายลมจอยในเขตด่านถาวรแม่สายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน จึงทำให้สองฟากฝั่งในอำเภอแม่สาย และจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งขณะนี้ทางการมีศูนย์พักคอยช่วยเหลือผู้ประสบภัย พร้อมกับนำอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยจากผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นยางิในครั้งนี้[15]
ด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 13 กันยายน อำเภอปากชม จังหวัดเลย พบว่าระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น เอ่อทะลักท่วมอาคารด่านตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากรบ้านโคกไผ่ ส่วนพื้นที่อำเภอเชียงคาน แม่น้ำสาขาที่ไหลลงแม่น้ำโขงหลายสาย เช่น แม่น้ำฮวย ได้เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือน[16]
วันที่ 14 กันยายน ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ท่วมฉับพลันที่ตัวเมืองอำเภอเมืองหนองคาย โดยถนนสายหลักคือถนนประจักษ์ศิลปาคม น้ำท่วมสูง 30 – 50 เซนติเมตร[17] ส่วนจังหวัดนครพนม พื้นที่อำเภอบ้านแพง ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งในที่ลุ่ม เข้าท่วมนาข้าว พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และบ้านเรือน[18]
ต่อมา วันที่ 17 กันยายน ทางตอนใต้ของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอำเภอเวียงป่าเป้า เกิดฝนตกหนักมากในทางตอนใต้ของอำเภอ จึงทำให้น้ำแม่ลาวเพิ่มสูงขึ้นแล้วทำให้ท่วมในเขตตำบลเวียงและตำบลป่างิ้ว จึงทำให้ทางหลวงสายหลักเชียงราย-เชียงใหม่ ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ซึ่งก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจนถึงวันที่ 25-26 กันยายน ทั้งนี้ในวันที่ 21 กันยายน เกิดเหตุฝายเก็บน้ำแตกที่บริเวณบ้านหล่ายลาว ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย แตก และทั้งนี้น้ำแม่ลาวกัดเซาะคอสะพานน้ำแม่ลาวในบริเวณรอยต่อของตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อยและตำบลแม่พริก ซึ่งเป็นถนนสายหลักที่ชาวตำบลป่าแดดสัญจรไปมาเป็นเส้นทางหลักไปทางอำเภอเวียงป่าเป้า รวมไปจนถึงโรงพยาบาลแม่สรวย ส่วนตำบลศรีถ้อยนั้น จะใช้เป็นถนนสายหลักขึ้นไปสู่ตัวอำเภอแม่สรวยได้ และในวันที่ 27-28 กันยายน น้ำแม่ลาวพาดผ่านสู่อำเภอแม่ลาว ซึ่งสถานที่รับน้ำต่อนั้นเป็นสะพานของถนนพหลโยธิน บริเวณรอยต่อของอำเภอแม่ลาวและอำเภอพาน และขึ้นเข้าสู่อำเภอแม่ลาวแล้วก็เกิดให้หมู่บ้านในตำบลบัวสลี เกิดผลกระทบหนัก แล้วหลังจากนั้นน้ำก็ไหลเชี่ยวกราก เข้าสู่อำเภอเวียงชัย แล้วก็ไหลเข้าไปทางแม่น้ำกก
ในขณะเดียวกัน ในจังหวัดพะเยา เกิดอุทกภัยหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ทำให้นักศึกษาที่อาศัยอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจึงต้องอาศัยอยู่บนหลังคาบนหอพักนักศึกษา แล้วน้ำเหล่านี้ขึ้นไปในเขตตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมืองพะเยา ซึ่งเขตเทศบาลเมืองพะเยาก็ได้รับผลกระทบด้วย
เมื่อวันที่ 23–24 กันยายน แม่น้ำปิงรับน้ำป่าจากหลายอำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ทางตอนเหนือ[19] ทำให้แม่น้ำปิงมีระดับน้ำสูงหน้าขึ้นเรื่อย ๆ และเลยระยะวิกฤตในวันที่ 24 กันยายน [20] ระดับน้ำสูงขึ้นและทะลักเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่จากท่อระบายน้ำในบริเวณโดยรอบ โดยที่ระดับน้ำเริ่มคงตัวในช่วงเช้าของวันที่ 25 กันยายน
เดือนตุลาคม
ก่อนหน้านี้วันที่ 30 กันยายน ได้ทราบถึงร่องมรสุมพาดผ่านในตัวจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน ทำให้ฝนตกหนักมาก ในเวลา 00:00 น. ของวันที่ 1 ตุลาคม มีฝนตกหนักเกือบทั้งวัน ซึ่งน้ำฝนที่เกิดขึ้น กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าเป็นฝนห่าสุดท้ายของฤดูกาลนี้ ซึ่งจังหวัดที่ได้รับผลกระทบก็คือ จังหวัดเชียงราย ในตัวอำเภอเมืองเชียงราย ได้รับผลกระทบหนักในบริเวณถนนพหลโยธิน ในช่วงตำบลนางแล และตำบลท่าสุด โดยเฉพาะหน้ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้รับผลกระทบหนักทำให้รถเล็กไม่สามารถสัญจรไปมาได้เลย ในส่วนของตำบลบ้านดู่ เกิดฟ้าผ่าในบริเวณร้านยางบีควิกสาขาบ้านดู่ บริเวณเส้นถนนท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ซึ่งอยู่ข้างบิ๊กซี เชียงราย 2 ทำให้เกิดเพลิงไหม้จำนวนมาก ส่วนหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเองก็ได้รับผลกระทบอีกครั้ง เนื่องจากน้ำจากเทือกเขาดอยพระบาทล้นลงมา และจุดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเดิมในวันที่ 11 กันยายนได้รับผลกระทบอีกครั้งด้วย และอำเภอแม่สายก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันและได้รับผลกระทบอย่างแสนสาหัสจากจุดที่เกิดอุทกภัยเดิมในวันที่ 11 กันยายนด้วย และอีกอย่างหนึ่งคือบริเวณแม่น้ำกกเพิ่มสูงขึ้นในอำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเวียงชัย อำเภอเวียงเชียงรุ้ง อำเภอแม่จัน อำเภอดอยหลวง และอำเภอเชียงแสนได้รับผลกระทบอีกครั้ง
ส่วนจังหวัดเชียงใหม่เองมีอำเภอแม่อายที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำกก วันที่ 5 ตุลาคม แม่น้ำปิงล้นตลิ่งเข้าท่วมถนนท่าแพ ตั้งแต่สะพานนวรัฐและได้แผ่ขยายวงกว้างไปทั่ว โดยทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิงน้ำได้ไหลเข้าท่วมแผ่รัศมีไปกว่า 2 กิโลเมตร ทั้งนี้บนถนนแก้วนวรัฐถูกน้ำท่วมสูงตั้งแต่ช่วงเชิงสะพานนครพิงค์ ต่อเนื่องยาวไปถึงสี่แยกศาลเด็กและบริเวณสถานีขนส่งอาเขต[21]
ต่อมาวันที่ 6 ตุลาคม มวลน้ำขยายวงกว้างออกทุกทิศทางจากแม่น้ำปิงตั้งแต่เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ไปจนถึงพื้นที่ท้ายน้ำ อำเภอสารภี และหลายพื้นที่ของจังหวัดลำพูน โดยมวลน้ำที่ล้นตลิ่งล้นพนังกั้นน้ำเทศบาลนครเชียงใหม่ท่วมย่านเศรษฐกิจและชุมชน ได้แก่ ย่านไนท์บาซาร์ ถนนช้างคลาน และกาดหลวง[22][23]
ในวันเดียวกันพื้นที่ ตำบลธรรมามูล อำเภอเมืองชัยนาท จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นพื้นที่ทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา มวลน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่ หมู่ 4 ตำบลธรรมามูล เนื่องจากคันดินที่ใช้เป็นคันกั้นน้ำเกิดพังทลาย เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงกระสอบทรายเข้าไปทำการอุดได้ จนส่งผลทำให้มีพื้นที่ชุมชนที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทางการเกษตรถูกน้ำท่วม ชาวบ้านกว่า 100 หลังคาเรือน[24]
เดือนพฤศจิกายน
27 พฤศจิกายน เกิดอุทกภัยทางจังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นจังหวัดทางภาคใต้
เดือนธันวาคม
ปฏิกิริยา
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี พระราชทานเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อช่วยเหลือในการทำความสะอาดบ้านเรือนผู้ประสบอุทกภัยในจังหวัดเชียงราย[25]
แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โพสต์บนเฟซบุ๊ก ระบุว่า ได้ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือและมีความเป็นห่วงและกังวลใจ พร้อมส่งกำลังใจแก่ผู้ประสบภัยทุกครอบครัวและเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังขณะนี้[26] ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วยืนยันว่าสถานการณ์อุทกภัยในปัจจุบันไม่รุนแรงเท่าอุทกภัยเมื่อปี พ.ศ. 2554[27]
ปลัดกระทรวงมหาดไทยได้มีคำสั่ง แต่งตั้งให้รองปลัดกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และย้ายรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย โดยมีผลในวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567
อ้างอิง