อนินทิตา อาขุบุตร

คุณหญิง

อนินทิตา อาขุบุตร

เกิดเสงี่ยม นาวีเสถียร
27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448
ตำบลท่าโรงยาเก่า จังหวัดพระนคร อาณาจักรสยาม
เสียชีวิต13 สิงหาคม พ.ศ. 2507 (59 ปี)
โรงพยาบาลศิริราช จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
ชื่ออื่นอนินทิตา นาวีเสถียร
อาชีพนักแสดง
คู่สมรสเนื่อง อาขุบุตร (พ.ศ. 2474–2507)
บิดามารดาพระยานาวีวราสา (ยืน นาวีเสถียร)
คุณหญิงแดง นาวีวราสา

คุณหญิงอนินทิตา อาขุบุตร นามเดิม เสงี่ยม นาวีเสถียร (27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 — 15 สิงหาคม พ.ศ. 2507) เป็นนางละครและนักแสดงหญิงชาวไทย เป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงหญิงคนแรกของสยามจากภาพยนตร์เรื่อง นางสาวสุวรรณ (2466) ภายหลังเธอได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า อนินทิตา

ประวัติ

ประวัติตอนต้น

คุณหญิงอนินทิตา เกิดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2448 มีนามเดิมว่า เสงี่ยม นาวีเสถียร เป็นบุตรคนที่สองของเสวกโท พระยานาวีวราสา (ยืน นาวีเสถียร) กับคุณหญิงแดง นาวีวราสา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 7 คน ในวัยเด็กได้เข้าศึกษากับครูชื่อนายเปลี่ยนและนายนาก ซึ่งเป็นน้า ต่อมาบิดาจึงฝากตัวเธอเรียนรำละครกับพระนมทัต พึ่งบุญ ณ อยุธยา จากนั้นจึงเข้าไปอยู่ในวังและฝึกรำละครกับท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา)

ในปี พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งละครหลวงฝ่ายหญิงขึ้นในราชสำนัก และทรงพระกรุณาให้บรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่นำธิดาของตนมาถวายตัวเข้าอยุ่ในสังกัดละครหลวงดังกล่าว ในเวลานั้นพระยานาวีวราสานำนางสาวเสงี่ยมไปเฝ้าฯ ถวายตัวอยู่ในละครหลวง และได้รับเงินเดือนพระราชทาน เดือนละ 6 บาท, 8 บาท และ 15 บาท ตามลำดับ

การแสดงภาพยนตร์

อนินทิตาได้รับการคัดเลือกให้แสดงภาพยนตร์ เรื่อง นางสาวสุวรรณ ซึ่งเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรกของไทย อำนวยการสร้าง เขียนบท และกำกับโดยเฮนรี แมคเร ชาวสหรัฐอเมริกา เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย โดยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้กรมรถไฟหลวง และกรมมหรสพหลวงอำนวยความสะดวกในการถ่ายทำ โดยภาพยนตร์เข้าฉายที่สหรัฐก่อนแล้วหลังจากนั้นจึงเข้าฉายในประเทศไทย แต่เมื่อฉายไปได้ 3 วันฟิล์มก็ได้สูญหายไป

พ.ศ. 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนเสงี่ยมเป็นที่นางพระกำนัล และได้รับพระราชทานนามใหม่จาก เสงี่ยม เป็น อนินทิตา และอนินทิตาก็สนองพระเดชพระคุณต่อจนสิ้นรัชกาล

หลังการสวรรคตของรัชกาลที่ 6 อนินทิตาเป็นหนึ่งในพระพี่เลี้ยงที่ทำหน้าที่ในการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว[1] และอนินทิตายังได้รับพระราชทานเงินเลี้ยงชีพตามที่มีรายชื่ออยู่ในพระราชพินัยกรรมของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว​ เดือนละ 120 บาท ตลอดมา จนกระทั่งออกจากวังเพื่อทำการสมรสกับพลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร​ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 จึงได้งดจ่ายเงินดังกล่าว

ชีวิตส่วนตัว

อนินทิตาสมรสกับพลตำรวจตรี เนื่อง อาขุบุตร​ บุตรของรองอำมาตย์โท หลวงประชากรบริรักษ์ (เจิม อาขุบุตร) และเผื่อน ประชากรบริรักษ์[2] เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2474 โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงประกอบพิธีสมรสประทานที่วังวรดิศ ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันทั้งหมด 7 คน ได้แก่

  1. พันตำรวจเอก อานนท์ อาขุบุตร สมรสกับรจนา (สกุลเดิม พึ่งบารมี)
  2. อนุ อาขุบุตร
  3. รัตนา อาขุบุตร
  4. ประภาพร ธนะรัชต์ สมรสกับทองดุลย์ ธนะรัชต์
  5. เกษมสุข พยัคฆนิธิ สมรสกับร้อยตำรวจเอก กำพล พยัคฆนิธิ
  6. เกียรติศักดิ์ อาขุบุตร สมรสกับสุนีนารถ (สกุลเดิม ศิริบุญ)
  7. เอกสิทธิ์ อาขุบุตร

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

อ้างอิง

  1. ประวัติศาสตร์แห่งชีวิต...คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ พระอภิบาลในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณวดี[ลิงก์เสีย]
  2. "อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พล.ต.ต. เนื่อง อาขุบุตร (เรื่องตำนานพระพิมพ์)". หนังสือเก่าลุงทอง. สืบค้นเมื่อ 4 กันยายน 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)[ลิงก์เสีย]
  3. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗๒ ตอนที่ ๙๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๓๐, ๒๙ ธันวาคม ๒๔๙๘
  4. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๔๒ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๕๕, ๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๖๘
  5. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญฝ่ายใน, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๒๐๗, ๒๘ ธันวาคม ๒๔๖๗
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญราชรุจิฝ่ายใน, เล่ม ๔๑ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๗๑๙, ๓๐ พฤศจิกายน ๒๔๖๗

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!