หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) |
---|
|
เกิด | พ.ศ. 2373 |
---|
เสียชีวิต | 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 (61 ปี) |
---|
สัญชาติ | ไทย |
---|
ชื่ออื่น | ฟรานซิศจิตร |
---|
ยุคสมัย | พ.ศ. 2373 - พ.ศ. 2434 |
---|
ผลงานเด่น | ช่างถ่ายภาพอาชีพคนแรกของไทย |
---|
ตำแหน่ง | ช่างถ่ายภาพ |
---|
บิดามารดา | - นายตึง (บิดา)
- ไม่ทราบชื่อ (มารดา)
|
---|
หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร) หรือ นายจิตร หรือ ฟรานซิศจิตร (Francis Chit, พ.ศ. 2373 – 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434[1]) เป็นช่างภาพอาชีพคนแรกชาวไทย เป็นผู้เปิดร้านถ่ายรูปขึ้นเป็นแห่งแรก ในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2406 บริเวณเรือนแพหน้าวัดกุฎีจีน ฝั่งธนบุรี (ปัจจุบันคือ วัดซางตาครู้ส) ร่วมกับนายทองดี บุตรชาย ชื่อ ร้านฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน [1]
ประวัติ
นายจิตรเป็นบุตรของนายตึงซึ่งเป็นทหารแม่นปืนฝ่ายพระราชวังบวร[2] แต่ไม่ทราบชื่อมารดา[3] นายจิตรเรียนรู้วิชาการถ่ายรูปจาก บาทหลวงหลุยส์ ลาร์นอดี (L' abbe Larnaudie)[4] และนายจอห์น ทอมสัน[5] ช่างภาพชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาถ่ายพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ขณะทรงพระเยาว์ และพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์
ภาพถ่ายฝีมือนายจิตร มีลักษณะเด่นเป็นเอกลักษณ์ คือ ภาพมีสีเหลืองหรือน้ำตาล ดูไม่คมชัด เนื่องจากน้ำยาอัดรูป ต่างจากภาพของช่างภาพร่วมสมัย เช่นภาพของนายจอห์น ทอมสัน ซึ่งมีลักษณะสีเข้ม คมชัด ผลงานถ่ายภาพของนายจิตร มีทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ ภาพถ่ายของขุนนาง ข้าราชการ วัด วัง บ้านเรือน และภาพเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ห้องบุรฉัตร ชั้น 2 กองจดหมายเหตุแห่งชาติ[6]
ในช่วงต้นรัชกาล พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ห้องภาพฟรานซิศจิตรแอนด์ซัน เป็นร้านถ่ายรูปหลวงประจำราชสำนัก ได้รับพระราชทานตราตั้ง และลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกรีกอเดอ จดหมายเหตุสยามไสมย บางกอกไตมส์ และเดอะสยามเมอร์แคนไตล์กาเซท์[1]
รับราชการ
ด้านการรับราชการ นายจิตรเริ่มรับราชการเป็นมหาดเล็กหลวงอยู่เวรชิตภูบาลในพระราชวังบวรสถานมงคลสมัยรัชกาลที่ 4 ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 5 ตำลึง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต จึงสมทบลงมารับราชการอยู่ในพระบรมมหาราชวัง[2] ในรัชกาลที่ 5 ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น ขุนสุนทรสาทิศลักษณ์[7] ตำแหน่งช่างถ่ายรูปขึ้นกรมแสง รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 5 ตำลึง และได้รับพระราชทานเลื่อนบรรดาศักดิ์และตำแหน่งเป็น หลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป ถือศักดินา ๖๐๐ เมื่อวันศุกร์ เดือนแปดบูรพาสาธ แรมสิบเอ็ดค่ำ ปีมะโรงโทศก จุลศักราช ๑๒๔๒ ตรงกับปี พ.ศ. 2423[8] รับพระราชทานเบี้ยหวัดปีละ 1 ชั่ง 10 ตำลึง
ถึงแก่กรรม
หลวงอัคนีนฤมิตร ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2434 ด้วยอหิวาตกโรค รวมอายุได้ 61 ปี[2][3] เป็นต้นสกุล "จิตราคนี" บุตรชายของหลวงอัคนีนฤมิตรคนหนึ่งชื่อนายทองดี ได้รับราชการเป็นช่างถ่ายรูปอยู่ในกรมพระแสงหอกดาบ มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนฉายาสาทิศกร[9] นอกจากนี้บุตรชายคนเล็กของหลวงอัคนีนฤมิตรชื่อ นายสอาด ยังได้รับราชการเป็นช่างภาพหลวงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระฉายาสาทิศกร และเป็นผู้ได้รับพระราชทานนามสกุล จิตราคนี[1]
ตัวอย่างผลงาน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
อ้างอิง
- ↑ 1.0 1.1 1.2 1.3 ฟรานซิส. จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่ เอนก นาวิกมูล, สารคดี ปีที่ ๑๗ ฉบับที่ ๒๐๔ เดือน กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ราชกิจจานุเบกษา. ข่าวตาย. เก็บถาวร 2021-06-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน เล่ม ๘, ตอน ๙, วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๔, หน้า ๗๒.
- ↑ 3.0 3.1 เอนก นาวิกมูล. ภาพเก่าเล่าตำนาน:หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี)ช่างถ่ายรูปอาชีพคนแรกของไทย. ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 17 เล่ม 5 มีนาคม 2539. หน้า 128
- ↑ เอนก นาวิกมูล. ลิ้นชักภาพเก่า ประมวลภาพ จากคอลัมน์เปิดกรุภาพเก่าในนิตยสารแพรวรายปักษ์ และคอลัมน์ลิ้นชักภาพเก่าในวิทยาจารย์. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์วิญญูชน, พ.ศ. 2550. 392 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 978-974-94365-2-3
- ↑ เอนก นาวิกมูล. ฝรั่งในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2549. 288 หน้า. ISBN 974-9818-46-6
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, 2548. 132 หน้า. ISBN 974-93740-5-3
- ↑ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกใน จดหมายเหตุแลนิราศลอนดอน ว่า "ขุนฉายาทิศลักษณ"
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรปีมะโรงโทศก (หน้า ๑๑๕)
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. ประวัติ [หม่อมเจ้าหญิงประไพ ในพระเจ้าบวรวงษเธอ กรมขุนธิเบศร์บวร, ขุนฉายาสาทิศกร (ทองดี) ช่างถ่ายรูป ในกรมพระแสงหอกดาบ.] เล่ม ๑๒, ตอน ๓๗, วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๘, หน้า ๓๔๗.
- ↑ Royal Thai Government Gazette. 7 (043): 392.