หมู่ศาลเทพเจ้าฮินดูบริเวณแยกราชประสงค์ประกอบศาลเทพเจ้าฮินดู 9 แห่ง ที่ประดิษฐานอยู่ในพื้นที่ของอาคารโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสำนักงานบริเวณรอบแยกราชประสงค์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งประกอบด้วย ศาลพระพรหม ที่โรงแรมเอราวัณ, พระอุมาเทวี ที่ห้างบิ๊กซีราชดำริ, พระลักษมี และ ท้าวจตุโลกบาล บนอาคารเกษรวิลเลจ, พระนารายณ์ทรงอนันตนาคราช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, พระนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล, พระพิฆเนศ และ พระสทาศิวะ ที่ลานด้านหน้า เซ็นทรัลเวิลด์[1] เป็นที่เชื่อกันว่าแยกราชประสงค์นั้นมีอาถรรพ์จึงทำให้ต้องมีการสร้างศาลเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ขึ้นเพื่อปกปักษ์ดูแลธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว
รายชื่อศาล
ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณ
ศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณเป็นศาลของท้าวมหาพรหมตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ มีพระวรกายสีทอง เป็นที่นิยมสักการะในหมู่ชาวไทย และนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีนและมาเลเซีย
ศาลพระสทาศิวะ เซ็นทรัลเวิลด์
ศาลพระสทาศิวะ เซ็นทรัลเวิลด์ เป็นศาลของพระสทาศิวะตั้งอยู่บนลานด้านหน้าส่วนอดีตห้างอิเซตัน ของเซ็นทรัลเวิลด์ คู่กับศาลพระพิฆเนศวร เซ็นทรัลเวิลด์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สาเหตุที่สร้างนั้นย้อนกลับไปถึงประวัติของห้างเซ็นทรัลเวิลด์ (ขณะนั้นใช้ชื่อว่าเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์) ซึ่งสร้างขึ้นบนพื้นที่เดิมของวังเพ็ชรบูรณ์ อันสร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก กรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช และเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2533 เชื่อกันว่า หลังเปิดตัวผลประกอบการนั้นไม่เป็นไปตามคาดหวัง เกิดอุปสรรคต่าง ๆ นักธุรกิจเจ้าของห้างจึงเชื่อว่าเป็นอาถรรพ์ประกอบกับคำบอกเล่าที่ว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคยนำรูปพระตรีมูรติ ที่สร้างในสมัยพระนเรศวร มหาราช มาประดิษฐานไว้ที่วังแห่งนี้ แต่สุดท้ายได้สูญหายไปในที่สุด จึงได้สร้างศาลฯ แห่งนี้ขึ้นมาเพื่อแก้เคล็ดตามคำบอกเล่า[2]
เดิมศาลพระสทาศิวะตั้งอยู่บริเวณหัวมุมแยกราชประสงค์ แต่เมื่อเซ็นทรัลพัฒนาเข้าปรับปรุงศูนย์การค้าและเปลี่ยนชื่อจาก "เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์" เป็น "เซ็นทรัลเวิลด์" ได้ย้ายศาลดังกล่าวไปอยู่คู่กับศาลพระพิฆเนศวร ส่วนพื้นที่เดิมได้ปรับปรุงเป็นลานน้ำพุ และแอปเปิลสโตร์ตามลำดับ[ต้องการอ้างอิง]
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์เสนอว่าคำบอกเล่าที่อ้างถึงการประดิษฐานพระตรีมูรติของรัชกาลที่ 4 ด้านหน้าวังเพ็ชร์บูรณ์นั้น ขัดกับข้อเท็จจริงที่วังเพ็ชรบูรณ์สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งความเข้าใจผิดนี้นักประวัติศาสตร์เชื่อกันว่าเริ่มมาจากการตีความผิดถึงประวัติศาสตร์ที่ระบุถึงการสร้างวังแห่งหนึ่งของรัชกาลที่ 4 ในบริเวณย่านปทุมวันปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ คือ วังสระปทุม ไม่ใช่วังเพ็ชรบูรณ์[3]
ในขณะที่ประติมานวิทยาของเทวรูปซึ่งมีห้าเศียรนั้น นักวิชาการบางกลุ่มมองว่ามิใช่พระตรีมูรติอย่างที่เข้าใจกัน แต่คืออวตารปางหนึ่งของพระศิวะ พระนามว่า สทาศิวะ ที่นิยมทำกันในยุคหนึ่งของไทย[2] ในขณะที่เทวรูปพระตรีมูรติแบบที่นิยมบูชาในไทยจะมีลักษณะแบบเขมรมากกว่า
ศาลพระพิฆเนศวร เซ็นทรัลเวิลด์
ศาลพระพิฆเนศวร เซ็นทรัลเวิลด์เป็นศาลของพระพิฆเนศตั้งอยู่บนลานด้านหน้าส่วนห้างอิเซตันของเซ็นทรัลเวิลด์ ถัดจากศาลพระตรีมูรติ เซ็นทรัลเวิลด์ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ถือเป็นศาลเทพเจ้าองค์หนึ่งในหมู่ศาลองค์เทพฮินดูรอบแยกราชประสงค์ มีพระลักษณะเป็นพระพิฆเนศประทับนั่ง ด้านหน้ามีรูปปั้นหนูสักการะอยู่มากมาย
ศาลพระลักษมี เกษรเซ็นเตอร์
ศาลพระลักษมี เกษรวิลเลจเป็นศาลของพระลักษมีตั้งอยู่บนดาดฟ้าชั้น 4 ของเกษรวิลเลจ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539[4] เป็นหนึ่งในศาลฯ ในบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ลักษณะของเทวรูปมาจากครั้นการกวนเกษียรสมุทรเพื่อทำน้ำอมฤต ขณะพระลักษมีเสด็จขึ้นมาประทับนั่งในดอกบัวและพระหัตถ์ถือดอกบัว เทวรูปและศาลองค์นี้เชื่อว่าสร้างขึ้นด้วยประสงค์ของเจ้าของห้างที่เป็นสตรี จึงให้สร้างศาลเทวรูปที่เป็นองค์เทพสตรี ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันว่าในตอนแรกมีประสงค์ให้สร้างศาลพระอุมา แต่ด้วยความเข้าใจคาดเคลื่อนจึงเป็นศาลพระลักษมีจนถึงปัจุบัน[ต้องการอ้างอิง]
ศาลท้าวจตุโลกบาล เกษรเซ็นเตอร์
ศาลท้าวจตุโลกบาล เกษรวิลเลจ เป็นศาลของท้าวจตุโลกบาลตั้งอยู่บนดาดฟ้าชั้น 4 ของเกษรวิลเลจส่วนสำนักงาน ในบริเวณเดียวกับศาลพระลักษมี ถือเป็นศาลเทพเจ้าองค์ล่าสุดที่นำมาประดิษฐานในหมู่ศาลองค์เทพฮินดูรอบแยกราชประสงค์ ซึ่งทางห้างได้อัญเชิญมาประดิษฐานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560[5] ลักษณะของเทวรูปมีความพิเศษที่เป็นครั้งแรกที่ได้นำองค์ท้าวจตุโลกบาลทั้ง 4 พระองค์ อัญเชิญมารวมกันในเทวรูปพระองค์เดียว ซึ่งโดยปกติจะประดิษฐานแยกกันสี่องค์
ศาลพระอุมา บิ๊กซีราชดำริ
ศาลพระแม่อุมาเทวี บิ๊กซีราชดำริ เป็นศาลของพระแม่อุมาเทวี ที่ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าห้างบิ๊กซีราชดำริ สร้างขึ้นเมื่อปี 2554[1] ลักษณะศาลเป็นศาลประกอบด้วยโดม
ศาลท้าวอัมรินทราธิราช เกษรอมรินทร์
ศาลท้าวอัมรินทราธิราชประดิษฐานในศาลสร้างเป็นทรงบุษบกสามยอด ท้าวอัมรินทราธิราช เป็นพระนามหนึ่งที่ใช้เรียกพระอินทร์ อันที่มาของชื่อโรงแรมและศูนย์การค้าอมรินทร์ พลาซา ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาล โดยต่อมาเกษรได้ซื้อโครงการนี้และเปลี่ยนเป็นชื่อปัจจุบัน
ศาลพระนารายณ์ทรงสุบรรณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนทัล
เทวรูปพระนารายณ์ (พระวิษณุ) องค์สีดำประทับยืนบนครุฑ ประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ทางฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของแยกและสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2540[1] สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบเขมร นักวิชาการท่านหนึ่งระบุว่าเทวรูปนี้เป็นตัวอย่างสำคัญหนึ่งถึงการคงอยู่ของเทวรูปศิลปะเขมรในไทยสมัยใหม่[6]
ศาลพระนารายณ์ทรงอนันตนาคราช สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ด้านในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระนารายณ์องค์สีดำประทับยืนบนอนันตนาคราชและประดิษฐานอยู่กลางสระน้ำ[1] สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2496 โดยมีพลตรีหลวงสุวิชาแพทย์เป็นผู้ทำพิธีบวงสรวง เดิมประดิษฐานที่บนอาคาร 1 แต่มีความเชื่อว่าเป็นผลให้ข้าราชการที่ทำงานในอาคารมีอาการเจ็บป่วยจึงย้ายมาประดิษฐานที่จุดปัจจุบัน และยังอัญเชิญพระนารายณ์ปางเดียวกับในรูปเคารพมาเป็นตราประจำกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง[7]
ระเบียงภาพ
อ้างอิง
|
---|
แขวง | | |
---|
ประวัติศาสตร์ |
- อำเภอ/เขต
- อำเภอประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
- อำเภอสามเพ็ง ตำบลประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
- อำเภอประทุมวัน กรุงเทพพระมหานคร มณฑลกรุงเทพ ฯ
- อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร
- เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
- วังสระปทุม
สถานีวิทยุศาลาแดง
- เหตุการณ์ร่วมสมัย
|
---|
เศรษฐกิจ | |
---|
สังคม | การศึกษา |
- มหาวิทยาลัย/สถาบัน
- โรงเรียน
|
---|
ราชการ | |
---|
สาธารณสุข | |
---|
กีฬา | |
---|
วัฒนธรรม | |
---|
|
---|
|