ส้วมในประเทศไทย มีมาแต่โบราณ โดยในสมัยก่อน ผู้ที่ใช้ส้วมแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มของกษัตริย์ เจ้านาย ขุนนางและผู้มีฐานะดี กลุ่มของพระที่อยู่ภายใต้พระธรรมวินัย กลุ่มของชาวบ้านที่เป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยกลุ่มชาวบ้านมักจะไปถ่ายทุกข์ตามที่เหมาะ ๆ เนื่องจากยังไม่มีส้วมใช้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2440 รัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) มีผลบังคับให้คนไทยต้องขับถ่ายในส้วม
กระทั่งช่วงปี พ.ศ. 2460–2471 ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุขจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลเอกชนของสหรัฐอเมริกา โดยส่งเสริมให้มีการสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ และยังเกิดการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่ายและส้วมคอห่านที่ใช้ร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งต้นพุทธทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยม มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในปัจจุบัน
จากอดีตที่ผ่านมาส้วมสาธารณะในประเทศไทยเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และทางกรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้ มีการสำรวจและประเมินผลมาตรฐานส้วมสาธารณะ พบว่าส้วมสาธารณะในประเทศไทยผ่านเกณฑ์มาตรฐานไม่มาก ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในการพัฒนาส้วมสาธารณะ และมีโครงการหลายโครงการเกี่ยวกับส้วมสาธารณะอีกหลายโครงการ
ประเทศไทยได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส้วม ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับที่เริ่มมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลของคนกรุงเทพฯ และต่อมาได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 รวมถึงกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548
ความหมายของคำว่าส้วม
ความหมายของ "ส้วม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต มีความหมายถึง ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ที่อึและที่ฉี่") ซึ่งคำว่า "ส้วม" เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์
จากหนังสือ "ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย" ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม" ไว้ดังนี้
คำว่าส้วมในภาษาล้านนามีความหมายว่า "หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ" โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว คำว่า "ส้วม" จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่มีความหมายว่าส้วม เช่น ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังเป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาววังที่มิใช่เจ้านาย) แต่สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือกษัตริย์จะใช้คำว่า "ห้องบังคน" เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร ส่วนในปัจจุบัน คำว่า "ห้องส้วม" หรือ "ห้องสุขา" มักจะหมายถึง ห้องหับเล็ก ๆ ที่มิดชิด มีส่วนประกอบคือโถนั่งแบบชักโครก หรือส้วมที่ต้องนั่งยอง ๆ
คำว่า "สุขา" น่าจะมาจากชื่อของ "กรมศุขาภิบาล" ที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกสั้น ๆ ว่า "กรมศุขา" (มีความหมายถึง การบำรุงรักษาความสุข) และมีการเปลี่ยนคำเขียนเป็น สุขาภิบาล ดังนั้นห้องสุขาภิบาลหรือที่เรียกอย่างย่อว่า ห้องสุขา มีความหมายว่า "ห้องที่สร้างโดยสุขาภิบาลสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ" โดยมีหน่วยงานกรมศุขาภิบาลทำหน้าที่ในการรักษาความสะอาดของพระนครและป้องกันโรคระบาดในสมัยนั้น[2]
ประวัติ
หลักฐานในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา
หลักฐานเกี่ยวกับส้วม ระบุว่าในสมัยสุโขทัยก็เริ่มมีส้วมเป็นกิจจะลักษณะแล้ว พบว่ามีโถส้วมเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ว่าคนสมัยนั้นมีวิธีกำจัดสิ่งปฏิกูลแล้ว เรียกว่าโถส้วมสุโขทัย[3] มีลักษณะเป็นหิน มีร่องรับการถ่ายเบา และช่องรับการถ่ายหนักอยู่ตรงกลาง เบา-หนักจะแยกไปคนละทางไม่ให้ปนกัน เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้เกิดกลิ่นเหม็นรุนแรง[4]
วิวัฒนาการของส้วมในไทยมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับบุคคลชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายที่มีอภิสิทธิ์ในการสร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ที่ลงบังคน หรือ ห้องบังคน เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า บังคน เช่นกัน เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ จะมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง ส่วนสถานที่ของส้วมหรือสถานที่ลงพระบังคน น่าที่จะอยู่ห่างจากพระราชมนเทียรพอสมควร เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน[5]
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2231 ว่า
"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่างกายนั้น"[6]
สำหรับพระสงฆ์แล้วในพระธรรมวินัยกำหนดไว้ว่าจะต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ, เวจกุฎี (อ่านว่า เว็ดจะกุดี) หรือ วัจกุฎี (อ่านว่า วัดจะกุดี) โดยมีลักษณะเป็นหลุมถ่ายก่ออิฐหรือหินหรือไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง มีเขียงแผ่นหินหรือแผ่นไม้รอง ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ หรืออาจมีฝาทำจากไม้ อิฐ หรือหิน ในบางแห่งมีล้อมเป็นผนังให้มิดชิด[7] นอกจากนี้ยังมีคำว่าถาน ใช้เรียกส้วมของภิกษุสามเณร โดยถานสมัยโบราณเป็นโรงเรือนแยกออกไปต่างหาก ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายวัดจะได้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นมารบกวน ลักษณะโรงเรือนจะมีใต้ถุนสูงโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้สะดวก ด้านบนมีฝามิดชิด ข้างบนฝามีช่องระบายอากาศและช่องแสง มีประตูปิด-เปิด พื้นปูด้วยไม้หรือเทปูน มีร่องสำหรับถ่ายอุจจาระ มีเขียงรองเท้าสองข้าง มีรางน้ำปัสสาวะยื่นออกไปนอกฝา มีไม้ซีกเล็ก ๆ มัดรวมกันวางไว้ข้าง ๆ สำหรับเช็ดเมื่อเสร็จกิจ ในถิ่นที่หาน้ำได้ง่ายก็ชำระด้วยน้ำที่ใส่ภาชนะเช่นตุ่มเล็ก ๆ เตรียมไว้แล้ว[8]
และสำหรับชาวบ้านทั่วไป จะเรียกว่าการไปขับถ่ายว่า "ไปทุ่ง" "ไปท่า" และ "ไปป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน จะถ่ายตามทุ่งหรือป่าหรือใกล้แหล่งน้ำ ชุมชนบ้านป่าเมื่อปวดท้องถ่าย จะเดินไปหาที่เหมาะ ๆ ในป่าเพื่อปลดทุกข์ ขณะชาวบ้านทุ่งก็ต้องเลือกป่าละเมาะหรือพุ่มไม้ในหรือสวนไร่นาของหมู่บ้าน อาจจะถือไม้ไปคอยไล่หมูไม่ให้เข้ามากวน ส่วนชาวชุมชนที่อยู่ใกล้น้ำก็อาศัยขับถ่ายบริเวณท่าน้ำหรือริมน้ำและสามารถใช้น้ำชำระล้างได้เลย[7]
ยุครัตนโกสินทร์ ในเขตพระมหามณเฑียร
ในพระราชพงศาวดาร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้กล่าวถึงที่ลงพระบังคนว่า "ด้วยแต่เดิมหาได้ลงพระบังคน บนพระมหามณเฑียรเหมือนทุกวันนี้ไม่ ต่อเวลาค่อนย่ำรุ่ง ยังไม่สว่าง เสด็จไปที่ห้องพระบังคนหลังพระมหามณเฑียร" ทั้งนี้เป็นการค่อนข้างอันตรายหากจะเสด็จออกนอกพระมหามณเฑียรเพื่อลงพระบังคน ด้วยมีเหตุที่เคยมีคนร้ายจะลอบปลงพระชนม์ นับแต่นั้นมาจึงโปรดให้ทำที่ลงพระบังคนให้ปลอดภัยกว่าเดิมซึ่งก็น่าจะอยู่ภายในพระราชมณเฑียร[5]
ในสมัยรัชกาลที่ 2 ที่ลงพระบังคนที่พระตำหนักเดิมที่อัมพวา มีลักษณะเป็นหีบสี่เหลี่ยมหรือเก้าอี้ทรงสี่เหลี่ยมทึบ ทำด้วยไม้ ด้านบนเจาะเป็นช่องให้นั่งถ่าย ข้างในเป็นที่ว่างและสามารถเปิดด้านข้างได้ เพื่อเอากระโถนหรือกระทงใหญ่ ๆ ที่วางไว้ข้างใน ออกมานำไปเททิ้ง ที่ลงพระบังคนชนิดนี้สามารถทำความสะอาดได้ง่ายและจะมีพนักงานเชิญลงไปทิ้งในน้ำ[9]
สำหรับพระบรมมหาราชวังนั้นมีการสันนิษฐานตำแหน่งของที่ลงพระบังคน จากบทความ "ที่ลงพระบังคน" เขียนโดยจุลลดา ภักดีภูมินทร์ ในนิตยสารสกุลไทย กล่าวว่า "ไม่เคยพบว่ามีหนังสือเล่มใดเขียนถึงที่ลงพระบังคน เป็นเพียงการเล่ากันต่อ ๆ มาว่า มีห้องเล็ก ๆ ข้างหลังพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานมีไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จทรงลงพระบังคนซึ่งห้องสรงก็คงจะอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น"[10] เมื่อทรงลงพระบังคนแล้ว ก็จะมีพนักงานนำไปจำเริญ ซึ่งต่อมา โถลงพระบังคนของพระเจ้าแผ่นดินมักทำจากของมีค่า จะนำออกไปน่าจะมีปัญหา ภายหลังจึงโปรดให้พนักงานเตรียมทำกระทงไว้วันละ 3 ใบ เมื่อเสร็จพระราชกิจแล้ว เจ้าพนักงานเพียงเชิญกระทงไปจำเริญโดยวิธีลอยน้ำ
ต่อมาลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนที่เปลี่ยนแปลงไป จากการเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก ลักษณะและวัสดุของโถลงพระบังคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยทำด้วยทอง กะไหล่ทอง ทองคำลงยา ก็เปลี่ยนเป็นทำด้วยโถกระเบื้องเคลือบชนิดหนา ลักษณะเป็นโถปากกว้างมีหูจับ มีทั้งชนิดเคลือบสีธรรมดาและอาจมีลวดลายสวยงามต่าง ๆ เช่น ลายดอกไม้เล็ก ๆ เจ้านายบางพระองค์จะสั่งภาชนะ ที่เกี่ยวกับการสรงพระพักตร์ ล้างพระหัตถ์และถ่ายพระบังคน มาเป็นชุดเดียวกันและต่อมาในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างพระราชวังดุสิตขึ้นนั้น ก็ทรงใช้วัฒนธรรมการขับถ่ายตามแบบยุโรป คือ ใช้ส้วมชักโครก[5]
การจัดสร้างส้วมสาธารณะ
ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 สยามเริ่มมีพลเมืองมากขึ้น การค้าเศรษฐกิจเจริญเติบโตตามจำนวนประชากร อีกทั้งยังเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตกที่เข้ามา ในยุคนั้นประชาชนทั่วไปก็ยังไม่นิยมสร้างส้วมในที่อาศัยของตนเอง แต่จะขับถ่ายนอกสถานที่ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลองต่าง ๆ เกลื่อนกลาดไปด้วยกองอุจจาระ เป็นสิ่งไม่น่าดู ทั้งยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง และเป็นสาเหตุของโรคระบาดตามมา อีกทั้งเวจหรือถานพระที่มีอยู่ตามวัด ก็ปลูกสร้างแบบปล่อยอุจจาระทิ้งลงน้ำบ้างหรือปล่อยทิ้งลงพื้นเรี่ยราด เป็นเหตุให้มีทั้งสัตว์มาคุ้ยเขี่ยและแมลงวันไต่ตอม จนในปี พ.ศ. 2440 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐโดยกรมสุขาภิบาลซึ่งก่อตั้งในปีเดียวกันนั้น[11] ได้ดำเนินการจัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นครั้งแรกหรือสมัยนั้นเรียกว่า "เวจสาธารณะ" ขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ พร้อมกันนั้นรัฐได้ออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ พ.ศ. 2440 มีผลบังคับให้คนต้องขับถ่ายในส้วม และรัฐได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตามตำบลต่าง ๆ ตามข้อกำหนดในหมวดที่ 2 มาตรา 8 ที่ให้กรมศุขาภิบาล "จัดเว็จที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชนทั่วไป"[4]
กรมสุขาภิบาลจัดสร้างส้วมสาธารณะที่กั้นแบ่งเป็นห้อง ๆ มีห้องประมาณ 5-6 ห้อง เป็นห้องแถวไม้ยาว มักตั้งอยู่บนถนนสายสำคัญซึ่งเป็นย่านการค้าที่มีผู้คนอยู่คับคั่ง เช่น ถนนเจริญกรุง ถนนบำรุงเมือง ถนนเฟื่องนคร และตามชุมชนวัด ทั้งบริเวณรอบวัด เช่น บริเวณหน้าวัดบรมธาตุ ข้างวัดกำโลยี่ ตรอกข้างวัดมหรรณ์ หรืออยู่ในวัด เช่น วัดบวรนิเวศ วัดราชบูรณะ นอกจากนี้ยังมีการจัดส้วมสาธารณะจำนวนมากใกล้กับบริเวณวังของเจ้านายและตามสถานที่ราชการ อย่างเช่น โรงพัก โรงพยาบาล เป็นต้น[7]
ลักษณะส้วมสาธารณะในยุคแรกเป็นส้วมถังเท มีอาคารปลูกสร้างครอบไว้ ภายในมีฐานส้วมทำจากไม้ เจาะรูสำหรับนั่งขับถ่าย ข้างใต้มีถังสำหรับรองรับอุจจาระ ซึ่งจะมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐอย่าง "บริษัทสอาด" หรือ "บริษัทออนเหวง" เป็นผู้ทำหน้าที่จัดการเก็บและบรรทุกถังบรรจุอุจจาระและเปลี่ยนถ่ายถังใหม่ทุกวัน[7] รัฐมีนโยบายจะเปลี่ยนพฤติกรรมการขับถ่ายของประชาชนโดยการสร้างเวจหรือส้วมสาธารณะในรูปแบบของส้วมแบบถังเทในเขตเมืองและในรูปแบบของส้วมหลุมในเขตท้องถิ่น และออกกฎหมายบังคับและมีบทบัญญัติลงโทษผู้ฝ่าฝืน ทำให้คนเมืองหลวงรู้วิธีการใช้ส้วมและเห็นความสำคัญ จนเริ่มมีผู้สร้างส้วมไว้ในบ้านตนเองภายในช่วงระยะประมาณ 10 ปี หลังการออกกฎหมาย
ในช่วงปี พ.ศ. 2460-2471 มูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์จากสหรัฐอเมริกา เข้ามาช่วยเหลือทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยส่งเสริมการจัดสร้างส้วมในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อป้องกันโรคพยาธิปากขอ ซึ่งต่อมาคนไทยก็ได้มีการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นเองที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น "ส้วมหลุมบุญสะอาด" ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และส้วมคอห่านทำงานร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม แก้ปัญหาเรื่องแมลงวันและกลิ่นเหม็นย้อนกลับมาของส้วมหลุมแบบเก่า ส้วมประเภทนี้ยังประหยัดน้ำ ราคาถูก และสามารถสร้างได้สะดวก ต่อมาส้วมคอห่านก็แพร่หลายแทนที่ส้วมหลุมในที่สุด และยังคงได้รับความนิยมจนปัจจุบันนี้[7]
สมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมนโยบายด้านสุขอนามัย ในด้านการขับถ่ายและชำระร่างกายของประชาชนในส่วนภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น ได้จัดทำหนังสือแบบเรียนของเด็ก เพื่อปลูกฝังด้านสุขอนามัย และทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญและมีทัศนคติที่ดีต่อส้วม[7]
ส้วมในบ้าน
ในระยะแรกที่ส้วมชักโครกเข้ามาในประเทศไทย คือช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2460-2490 ส้วมชักโครกคงมีเฉพาะตามวังและบ้านเรือนของผู้มีฐานะดีที่จบการศึกษาหรือเคยใช้ชีวิตในต่างประเทศ ไม่ค่อยแพร่หลายสู่คนทั่วไป ต่อมาเริ่มมีผู้ใช้ส้วมชักโครกมากขึ้นในช่วงที่มีการก่อสร้างบ้านแบบสมัยใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระทั่งต้นทศวรรษ 2500 โถส้วมชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมและมีผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ [7]
ประเทศไทยก็มีการส่งเสริมให้ประชาชนสร้างส้วมราดน้ำหรือส้วมคอห่านใช้ในบ้านอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2485 เป็นต้นมา และรัฐบาลโดยความร่วมมือจากองค์การยูซ่อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในปี 2503[12] โดยเริ่มโครงการพัฒนาการอนามัยท้องถิ่น มีกิจกรรมสำคัญคือการสร้างส้วมและรณรงค์ให้ประชาชนถ่ายอุจจาระในส้วม[4] จนถึงแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ในปี 2532 กระทรวงสาธารณสุขดำเนินงานให้ปประชาชนในประเทศไทยมีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลในทุกครัวเรือน ในปีนี้ครอบคลุมจาก ร้อยละ 75 เป็นร้อยละ 90 และจากผลสำรวจในปี พ.ศ. 2542 มีส้วมถูกหลักสุขาภิบาลครอบคลุมครัวเรือนร้อยละ 98.1[13]
ในแผนพัฒนาสาธารณสุขฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2534-2539) กรมอนามัยได้ส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนรูปแบบจากส้วมซึมมาใช้เป็นระบบส้วมถังเกรอะ เหตุเพราะทางด้านมาตรฐานและสุขอนามัย กล่าวคือระบบส้วมซึม ถังส้วมสร้างด้วยอิฐ หรือวงของซีเมนต์ (วงของส้วม) เป็นถังส้วมที่น้ำ สามารถซึม เข้า-ออกได้ ถังจะเก็บกักสิ่งปฏิกูลและฝังลงในดิน โดยดินรอบ ๆ ถัง ทำหน้าที่กรองน้ำไหลออกจากหลุมส้วม และสารอินทรีย์ที่ไหลออกมากับของเหลวนี้จะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในดินไปตามธรรมชาติ การไหลซึมออกได้ของน้ำนี้ จึงเรียกส้วมชนิดนี้ว่า "ส้วมซึม" ส่วนระบบส้วมถังเกรอะ ประกอบด้วย ถังเก็บกักของเสีย ฝังอยู่ในดิน ทำหน้าที่แยกของแข็งจากของเหลว เกิดการย่อยสลายอินทรีย์สาร วัสดุของถังเกรอะจะทำจากวัสดุที่ป้องกันน้ำซึมเข้าหรือออกจากถังได้ เพื่อเก็บกักน้ำเสียไว้ในถัง และจะเกิดการตกตะกอน รวมทั้งขบวนการย่อยสลายต่าง ๆ ในถัง และปล่อยของเหลวส่วนที่เป็นน้ำใสไปตามท่อสำหรับระบายออกจากถังเกรอะโดยเฉพาะ[14]
การสำรวจการใช้ส้วมในครัวเรือนในปี พ.ศ. 2553 พบว่าส้วมนั่งยองร้อยละ 86.0 มีการใช้ส้วมนั่งราบหรือส้วมห้อยขาร้อยละ 10.1 และมีบ้านที่ใช้ทั้งส้วมนั่งยองและส้วมห้อยขาร้อยละ 3.1 ของครัวเรือนทั้งหมด ประชากรไทยส่วนใหญ่นิยมใช้ส้วมนั่งยอง ซึ่งอาจเป็นสาเหตุสำคัญอาจก่อให้เกิดอาการข้อเข่าเสื่อมอายุสูงขึ้นได้[15] กระทรวงสาธารณสุขได้มีการเสนอแผนแม่บทการพัฒนาส้วมไทย ระยะที่ 3 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการให้ทุกหน่วยงานเปลี่ยนส้วมนั่งยองเป็นส้วมโถชักโครกแทน ต่อมาในปี 2556 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เสนอขอความเห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556 – 2559) โดยตั้งเป้าทุกครัวเรือนหรือประมาณร้อยละ 90 ต้องเปลี่ยนจาก "ส้วมนั่งยอง" มาเป็น "ส้วมนั่งราบ" หรือส้วมชักโครก ภายในปี 2559[16]
ประเภทของส้วมในประเทศไทย
ส้วมหลุม
ส้วมหลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินมีทั้งที่ใช้เป็นแบบหลุมแห้งหรือหลุมเปียกที่ขุดเป็นหลุมกลมหรือหลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจมีไม้กระดาน 2 แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบและเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์หรือทำฐานโดยใช้แผ่นไม้กระดานมาปิดปากหลุมแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย ตำแหน่งของส้วมหลุมมักจะสร้างไว้ไกลจากบ้านพอสมควรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่ ส้วมหลุมที่มีลักษณะถูกต้องตามแบบของกรมสุขาภิบาลต้องมีฝาปิดและมีท่อระบายอากาศ อาจทำจากไม้ไผ่ทะลุปล้องให้เป็นท่อกลวง เจาะทะลุพื้นส้วมเป็นการลดกลิ่นเหม็นจากภายในหลุมส้วม
คนไทยสร้างส้วมหลุมลักษณะดังกล่าวใช้กันมาแต่โบราณ ส้วมหลุมมีปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 ในยุคที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องส้วมของประชาชนนับตั้งแต่ทศวรรษ 2440 ส้วมที่กรมสุขาภิบาลแนะนำในสมัยนั้นคือส้วมหลุมและส้วมถังเท[17]
ส้วมถังเท
ส้วมถังเทมีลักษณะคล้ายส้วมหลุมแต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรองรับอุจจาระของผู้ขับถ่าย เป็นการกำจัดอุจจาระที่ยึดหลักการถ่ายอุจจาระลงถังที่เตรียมไว้แล้วจึงนำไปทิ้ง การเก็บและบรรทุกถังไปชำระตามปกติ[17] โดยมากจะทำการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งทำกันวันละครั้ง
"บริษัทสอาด" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ถือเป็นบริษัทแห่งแรกในจังหวัดพระนครที่ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระ ในช่วงแรกของการดำเนินกิจการตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม กิจการของบริษัทสอาดดำเนินการมาประมาณ 20 ปี ก็ได้ขายกิจการต่อให้กับบริษัทออนเหวง ถือเป็นบริษัทรับขนเทอุจจาระรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ รับเหมาสัมปทานเวจสาธารณะของกรมสุขาภิบาลและของประชาชนทั่วไปในกรุงเทพ
อัตราค่าถังเท ถังละประมาณหนึ่งบาทหรือหกสลึงต่อเดือน ไม่บังคับใช้หากใครไม่อยากจะใช้ระบบถังเทก็ไปใช้บริการสาธารณะได้เช่นกัน เมื่อซื้อถังไปแล้ว ลูกค้าก็จะนำไปใช้แล้ว ทุกคืนราวเที่ยงคืน บริษัทก็จะออกเก็บโดยใช้วัวสองตัวลากรถบรรทุกที่ปิดกั้นด้วยแผ่นสังกะสีทั้งสี่ด้าน แต่ด้านหลังเป็นบานประตูเปิดปิดได้ คันหนึ่งก็รับถังได้ประมาณ 30-40 ถัง จะมีพนักงานเอาถังใหม่มาเปลี่ยนกับถังเก่า[18] แต่เนื่องจากส้วมถังเทเป็นส้วมที่ยากต่อการดูแลรักษา และการควบคุมให้ปลอดภัยต่อการแพร่ของเชื้อโรค ทางการจึงไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้[17]
ส้วมบุญสะอาด
ส้วมบุญสะอาดประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2474 คือส้วมหลุมที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตูและจะมีส่วนยื่นออกมานอกประตู จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่ามีคนใช้งานอยู่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วผู้ใช้จะต้องปิดฝาส้วมไว้ตามเดิม มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูส้วมออกมาข้างนอกได้ เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุม[19]
ส้วมคอห่าน
ผู้ประดิษฐ์ "ส้วมคอห่าน" คือพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2467 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรให้ใช้ส้วม
ส้วมหลุมและส้วมถังเทจะมีกลิ่นเหม็นและป้องกันแมลงวันได้ไม่ดี พระยานครพระรามได้คิดค้นลองทำส้วมชนิดใหม่ไว้หลายแบบ ในที่สุดได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อกลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบนจึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันจะไม่สามารถตามลงไปได้เพราะติดน้ำกั้นไม่ให้ลงไปอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดินจึงเรียกวิธีการนี้ว่า "ส้วมซึม"[18]ระบบส้วมซึมในระยะแรกมีข้อเสียตรงน้ำอุจจาระที่ซึมสู่พื้นดินเป็นตัวการแพร่เชื้อโรคได้ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระบบบ่อเกรอะบ่อซึมโดยบ่อที่ฝังใต้ดินมักทำจากคอนกรีต แบ่งออกเป็น 2 ห้องหรือมากกว่า ใช้สำหรับรับอุจจาระจากโถส้วม มีน้ำและแบคทีเรียเป็นตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองที่เรียกว่า บ่อเกรอะ แล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ระบบนี้ดีกว่าบ่อซึมแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเต็มที่ หัวส้วมแบบคอห่านและระบบบ่อเกรอะบ่อซึมซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า "ส้วมซึม" ได้เข้ามาแทนที่การใช้ส้วมหลุม ส้วมถังเท ช่วยให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วยราคาค่าก่อสร้างที่ไม่แพงนักและยังมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ส้วมชักโครก
ส้วมแบบนี้มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนที่เรียกว่า ชักโครก เพราะเมื่อก่อนตัวถังที่กักน้ำ อยู่เหนือที่นั่งถ่ายสูงขึ้นไป เวลาเสร็จกิจต้องชักคันโยกให้ปล่อยน้ำลงมา มีเสียงน้ำดัง จึงเรียกว่า ชักโครก[17]
ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ได้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) มีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว น้ำจะดันของเสียผ่านท่อไปยังถังเก็บ ต่อมาในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครก โดยการดัดท่อระบายของเสียข้างใต้ที่ลงบ่อเกรอะให้เป็นรูปตัวยู สามารถกักน้ำไว้ในท่อ และยังกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน[18]
ในประเทศไทยส้วมชักโครกแบบนั่งราบเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชักโครกในสมัยนั้นจะมีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถ เมื่อชักโครกน้ำจะไหลลงมาชำระให้อุจจาระลงไปสู่ถังเซ็ปติกแทงก์ (Septic Tank) ที่ไว้เก็บกักอุจจาระ[18] ส้วมชักโครกยุคปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม ทันสมัยและเทคโนโลยีการใช้งานเช่นเรื่องการประหยัดน้ำ ระบบชำระล้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงเบาลงหรือมีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มากมาย
ส้วมสาธารณะ
ส้วมสาธารณะ คือ ห้องส้วมในที่สาธารณะหรือสถานประกอบการที่จัดเตรียมไว้ให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาส้วมเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และทางกรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้[20]
มาตรฐานส้วมไทย
ในปี พ.ศ. 2547 กรมอนามัยได้สำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย 1,100 แห่ง ผู้ใช้บริการ 5,786 คน ใน 20 จังหวัด พบปัญหาทั้งความไม่สะอาดและผู้ใช้ยังใช้ไม่เป็น ส้วมสาธารณะส่วนใหญ่แยกชาย/หญิงร้อยละ 76 ในจำนวนนี้จัดให้คนพิการ 10% มีส้วมสะอาดระดับปานกลาง 58.9% มีส้วมสกปรก 19.5% มีกลิ่นเหม็น 34% ส่วนประเด็นการใช้ส้วมของคนไทยพบว่า 83.6% เคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ ราดน้ำ ส่วนชักโครก พบว่า 22.1% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งหรือยกที่นั่งขึ้นแล้วขึ้นไปเหยียบบนโถส้วม ที่สำคัญคือยังมีคนถึง 6.5% หลังใช้ส้วมแล้วไม่ล้างมือ[21]
จากการสุ่มสำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2549สุ่มสำรวจส้วมจำนวนกว่า 6,149 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด อาทิ นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น กำแพงเพชร ฯลฯ ปรากฏว่ามีส้วมที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 5,993 แห่ง มีปัญหาเรื่องความสะอาด 90% ที่พบมากคือ ถังขยะไม่มีฝาปิด ไม่มีกระดาษชำระหรือสายฉีดน้ำ และไม่มีสบู่ล้างมือ ปัญหาเรื่องความพอเพียงพบ 76% ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ส่วนเรื่องความปลอดภัยพบปัญหา 69% ไม่มีการแยกส้วมชาย-หญิง พื้นไม่แห้ง และส้วมตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว[22][23]
ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงสาธารณสุขประเมินส้วมสาธารณะในประเทศไทย มีส้วมผ่านเกณฑ์เพียง 40.37% จากมาตรฐานประเมินเรื่อง ความสะอาด (Heathy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยส้วมที่ผ่านมาตรฐาน แบ่งเป็น ห้างสรรพสินค้า 88.52% โรงพยาบาล 83.11% ส้วมริมทาง 67.02% แหล่งท่องเที่ยว 62.91% สวนสาธารณะ 60.06% ตลาดสด 48.6% สถานที่ราชการ 47.28% โรงเรียน 44.45% ปั๊มน้ำมัน 44.07% สถานีขนส่ง 41.4% ร้านอาหาร 36.15% และวัด 11.75%[24] ในปี พ.ศ. 2554 มีรายงานผลดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทย มีส้วมสาธารณะสะอาด พอเพียง ปลอดภัย เพียงร้อยละ 55.47 ไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้คือร้อยละ 60[25]
ส้วมสาธารณะในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ กรมอนามัยเปิดเผยว่า จากการสำรวจส้วมสาธารณะใน 20 จังหวัด จำนวน 1,100 แห่ง เมื่อปี 2547 พบว่ามีส้วมคนพิการเพียง 10% คือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานีขนส่งทุกประเภท โรงแรม สวนสาธารณะ ร้านอาหาร สนามกีฬา สถานบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น ไม่มีส้วมสำหรับคนพิการ[26] และส่วนใหญ่ถ้ามีก็ไม่สามารถใช้งานได้ มักใส่กุญแจไว้ หรือใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดแทน จึงเป็นความยากสำหรับคนพิการในการเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ขอให้ทุกสถานที่จะต้องมีส้วมสำหรับคนพิการอย่างน้อย 1 ห้อง[27]
การส่งเสริมและรณรงค์
ในปี พ.ศ. 2548 ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 11 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ด้วยการวางกรอบการพัฒนาไว้ 3 ประเด็น คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หรือมีคำย่อว่า "HAS" ซึ่งมาจากคำว่า Healty Accessibility และ Safety[28]
ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ที่อิมแพ็ค อารีน่า เมืองทองธานี โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เข้าร่วม ซึ่งเป็นงานที่มีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง "การพัฒนาส้วมสาธารณะ" รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลก ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ งานครั้งนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หันมาดูแลส้วมสาธารณะให้ดีขึ้นอีกด้วย[29][30]
นอกจากนั้นกรมอนามัยได้มีโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับส้วมสาธารณะ เช่นโครงการสายสืบส้วม (Toilet Spy) เป็นโครงการที่มีอาสาสมัคร ตัวแทนประชาชนในการเฝ้าระวัง ดูแล ตรวจตราและแจ้งเบาะแสส้วมทั้งที่ได้มาตรฐานให้กรมอนามัยทราบและดำเนินการ[31] และอีกโครงการของกรมอนามัย คือโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2549-2551 โดยตั้งหลักชัยอยู่ที่ 3 คำสำคัญคือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอุทยานแห่งชาติ และกลุ่มธุรกิจผู้ค้าน้ำมัน[32]
ส้วมกับกฎหมายไทย
ประเทศไทยได้ใช้มาตรการหลายอย่าง รวมทั้งมีมาตรการทางกฎหมายซึ่งมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับส้วม ปรากฏอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ
เริ่มจาก บทบัญญัติในการจัดการเรื่องส้วมและสิ่งปฏิกูลตามกฎหมายไทย ซึ่งเกิดขึ้นมาจากสภาวการณ์ที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น จนเริ่มมีการออกพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 ซึ่งถือเป็นกฎหมายฉบับแรกเกี่ยวกับการสุขาภิบาลของคนกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันโรคติดต่อมิให้แพร่หลาย การจัดการเวจ ที่ถ่ายอุจจาระและปัสสาวะของมหาชน และในปี พ.ศ. 2469 มีการตราพระราชสีห์น้อยถึงสมุหเทศบาลทุกมณฑลให้ควบคุมการสุขาภิบาลเกี่ยวกับการถ่ายอุจจาระและการทำลายส้วมตามริมแม่น้ำ ลำคลองทั่วไป จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2477 และในปี พ.ศ. 2480 ได้เกิดพระราชบัญญัติควบคุมการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย ซึ่งกฎหมายสาธารณสุขก็ได้มีการตราขึ้นใหม่เป็นพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2484 โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดให้มีส้วม การกำหนดเขตห้ามสร้างส้วม และการจัดการความสะอาดของส้วม ซึ่งต่อมาได้มีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง จนกระทั่งมีการยกเลิกพระราชบัญญัติควบคุมการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย พ.ศ. 2480 และพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2484 แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบัน[33][ลิงก์เสีย]
นอกจากนั้นใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 39 (พ.ศ. 2537) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้กำหนดจำนวนของห้องน้ำและห้องส้วม ของอาคารประเภทต่าง ๆ ไว้ด้วย เพื่อควบคุม คุณภาพและมาตรฐานของอาคาร[34]
ทางด้านกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพและคนชรา พ.ศ. 2548 กำหนดไว้ว่า
"อาคารประเภท โรงพยาบาล สถานพยาบาล ศูนย์บริการสาธารณสุข สถานีอนามัย อาคารที่ทำการของราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย สถานศึกษา หอสมุดและพิพิธภัณฑสถานของรัฐ สถานีขนส่งมวลชน ที่มีพื้นที่ส่วนใดของอาคารที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเกิน 300 ตารางเมตร และ สำนักงาน โรงมหรสพ โรงแรม หอประชุม สนามกีฬา ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าประเภทต่าง ๆ ที่มีพื้นที่ส่วนใดของอาคารที่เปิดให้บริการแก่บุคคลทั่วไปเกิน 2,000 ตารางเมตร ได้ระบุว่านอกจากห้องส้วมสำหรับบุคคลทั่วไปแล้ว ต้องจัดให้มีห้องส้วมสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราเข้าใช้ได้อย่างน้อย 1 ห้อง รวมถึงสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง"[35][ลิงก์เสีย]
ในปี พ.ศ. 2556 มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบต้องเป็นไปตามมาตรฐาน พ.ศ. 2556 มีสาระสำคัญเรื่อง ยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์วิเทรียสไชนา : โถส้วมนั่งราบ และกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเครื่องสุขภัณฑ์เซรามิก : โถส้วมนั่งราบ[36]
วัฒนธรรมเกี่ยวกับส้วม
การใช้ส้วมของคนไทย
วัฒนธรรมการใช้ส้วมของคนไทยนั้นแต่เดิมคนไทยจะใช้ท่านั่งยอง ๆ ในสมัยก่อนก็เหมาะกับลักษณะการบริโภคอาหารของคนไทยที่มักกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย กากใยสูง ใช้เวลาไม่นานก็ยังไม่ทันเป็นตะคริว ก็ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ส่วนฝรั่งการนั่งยอง ๆ เป็นการไม่สะดวกเพราะอาหารส่วนใหญ่ เป็นเนื้อทำให้ต้องใช้เวลานาน ในระบบขับถ่ายจึงต้องนั่งแบบโถนั่งเหมือนเก้าอี้ ซึ่งพฤติกรรมในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น เราจึงเห็นส้วมนั่งยอง ๆ มีน้อยลง ในขณะที่ส้วมแบบโถนั่งชักโครก มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในส่วนภูมิภาค[37] ซึ่งก็มีคนไทยบางส่วนมีความเคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ และพบว่า 22% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งบนส้วมแบบชักโครก[38][ลิงก์เสีย]
ส่วนเรื่องการต่อคิวส้วมสาธารณะ ในบ้านเรามักจะต่อคิวเข้าแถวเป็นห้อง ๆ แต่ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เขาจะเข้าคิวเดียวตรงทางเข้าเลย พอห้องไหนว่าง คนแรกในแถวก็เข้าไป การเข้าแบบนี้มีข้อดีหลายอย่างคือ ไม่ต้องรอนานและเป็นไปตามสิทธิ คือ มาก่อน เข้าก่อน[2]
สำนวนไทย
มีสำนวนภาษาไทยที่ใช้ส้วมในคำเปรียบเปรย ซึ่งมีความหมายในแง่ลบ ในสำนวนโบราณ "เป็นขี้เจ็ดเว็จ" มีความหมายว่า "เกลียดที่สุด" เปรียบกับขี้ซึ่งเป็นของน่าเกลียด "เว็จ" หมายถึงส้วม ลำพังขี้เพียงนิดเดียวคนก็เกลียดแล้ว ถ้ามีจำนวนมากถึง "เจ็ดเว็จ" ก็มีความหมายว่า ยิ่งเกลียดมากขึ้น[39]
และยังมีการนำห้องส้วม ในการเปรียบเปรยสิ่งที่น่ารังเกียจ คนโบราณนำไปเปรียบเปรยกับลูกผู้หญิงว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" กล่าวคือห้องส้วมนั้นส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่แล้วหากอยู่หน้าบ้านก็จะส่งกลิ่นเหม็นประจานเจ้าของได้ตลอดเวลา เปรียบกับลูกสาวบ้านไหนหากเผลอไม่ดูแลให้ดีก็อาจจะสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่พ่อแม่ เช่นการท้องไม่มีพ่อหรือท้องก่อนแต่งซึ่งคนสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย[40]
ส้วมในงานประพันธ์
ในส่วนการประพันธ์ มีการเอ่ยถึงส้วมอยู่บ้าง ทั้งในวรรณคดีและบทเพลง จากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีกล่าวถึงส้วมอยู่ 2 ตอน คือ ขุนช้างใส่ความขุนแผนว่า เป็นกบฏต่อพระพันวษา ข้อหาหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ซ่องสุมผู้คนและบังอาจทำส้วมไว้ในที่อยู่ คือ การมีส้วมอยู่บนบ้านซึ่งสมัยก่อน ไม่นิยมเอาส้วม หรือ "เว็จ" มาไว้ในตัวบ้าน ดังที่ว่า
มันปลูกตำหนักป่าพลับพลาแรม |
ค่ายป้อมล้อมแหลมเป็นหน้าฉาน
|
ตั้งที่ลงบังคนชอบกลการ |
นานไปก็จะเกิดกลีเมือง[41]
|
อีกตอนหนึ่งนางวันทองตัดเป็นตัดตายขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง นางเอกที่หัวใจสลายเพราะผัวรักอย่างวันทอง ยังระบายออกมาด้วยความคั่งแค้นว่า
ทั้งน้ำมันกระจกกระแจะแป้ง |
จะทิ้งไว้ให้แห้งเป็นสะเก็ด
|
ให้สิ้นวายหายชาติของคนเท็จ |
จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย
|
จากบทความ "ศรีสำราญ" ในนิตยสารสกุลไทย เขียนโดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ขยายความไว้ว่า
"ส้วมที่เป็นส้วมหลุม จะอยู่นอกบ้าน พอเต็มก็เอาดินกลบจึงย้ายแล้วปลูกเว็จใหม่ ส้วมที่ขุนแผนถ่ายทุกข์เอาไว้ ตั้งแต่ตอนแต่งงานอยู่กินเป็นผัวเมีย กระทั่งขุนแผนไปราชการงานศึกเป็นแรมปี จนของเสียที่ขุนแผนที่นอกใจถ่ายทิ้งเอาไว้เนิ่นนาน กลมกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับดินใต้เว็จไปเรียบร้อยแล้ว นางวันทองก็ไม่ละ บอกว่าจะยอมลงทุนลงแรง ขุดดินแล้วพรวนเสียใหม่ กลบร่องกลิ่นรอยเก่าเสียให้สิ้น ไม่ให้มีแม้แต่กลิ่นปฏิกูลของผัวตัวดี ลอยละล่องฟ่องฟุ้งเป็นเสนียดกับบ้านและจมูกของตัวนางวันทองอีกต่อไป"[42]
ส่วนในวัฒนธรรมสมัยนิยม มีผู้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับส้วมอยู่บ้าง เน้นความตลกขบขัน อย่างเพลง "สุขาอยู่หนใด" ขับร้องโดยชัยรัตน์ เทียบเทียม เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน ภาพยนตร์ไทยในปี 2519 นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตรและลลนา สุลาวัลย์ เพลง "สุขาอยู่หนใด" ประพันธ์โดย ปิยพล เอนกกุล เป็นเพลงที่ร้องกันเล่น ๆ ในหมู่เพื่อนฝูง เอ๋ ไพโรจน์ได้เอาเพลงนี้มาให้ชัยรัตน์เรียบเรียงใหม่ เล่นกับกีตาร์โปร่งตัวเดียว จากนั้นคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับ ก็เอาเพลงนี้มาใส่ในภาพยนตร์ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในที่สุด[43]
อีกเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับส้วมคือเพลง "กู้ส้วม" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โกยเถอะเกย์ ของผู้กำกับยุทธเลิศ สิปปภาค นำแสดงโดย เสนาหอย เกียรติศักดิ์ อุดมนาค และ เปิ้ล นาคร เพลงนี้ร้องโดยเสนาหอย และท่อนแร็ปโดยดาจิม และมีเปิ้ล นาคร ที่ช่วยร้อง 2 ประโยค เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของเพศ และปัญหาการเข้าห้องส้วมสาธารณะของชาวเกย์ เป็นเพลงที่เน้นความตลกขบขันเป็นหลัก[44]
ดูเพิ่ม
อ้างอิง