สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ชะฮ์ (มลายู: Abdul Hamid Halim Shah; 4 มิถุนายน ค.ศ. 1864 – 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1943) หรือบรรดาศักดิ์ไทยว่า เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน (ฮามิด) เป็นสุลต่านแห่งรัฐเกอดะฮ์ องค์ที่ 25 นับเป็นเจ้าเมืองไทรบุรีองค์สุดท้ายภายใต้การปกครองของสยาม
สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ชะฮ์ มีพระนามเต็มว่า "สุลต่านอับดุล ฮามิด ฮาลิม ชะฮ์ ที่ 2 อิบนี อะฮ์มัด ตัชอุดดิน อัลมุการ์รัม ชะฮ์" (Sultan Sir Abdu'l Hamid Halim Shah II ibni Ahmad Taj ud-din al-Mukarram Shah) มีบรรดาศักดิ์ทางฝ่ายสยามเป็นที่ "เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหมัดรัตนราชมุนินทร สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี" ตำแหน่งเจ้าประเทศราชไทรบุรี เอกสารฝ่ายไทยมักเรียกอย่างย่อว่าเจ้าพระยาไทรบุรี (อับดุลฮามิด)
ประวัติ
สุลต่านอับดุล ฮามิด ประสูติเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1864 (พ.ศ. 2407) เป็นพระราชโอรสของสุลต่านอะฮ์มัด ตาจุดดิน มูการ์รัม ชะฮ์ (เอกสารไทยเรียก เจ้าพระยาไทรอะหมัด) กับวันฮาจาร์ บินตี วันอิสมาอิล (เอกสารไทยเรียก หวันเต๊ะ) เป็นพระมเหสี ในเอกสารไทยออกพระนามของพระองค์ว่า ตนกูอับดุลฮามิด[1] พระองค์สามารถตรัสเป็นภาษาไทยได้ และเมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนรัฐไทรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2467 พบว่าสุลต่านอับดุล ฮามิด ทรงพระประชวรและเลือนพระสัญญาเกี่ยวกับภาษาไทยไปบ้าง ความว่า "...สังเกตดูออกจะลืม ๆ ภาษาไทยไปเสียมาก แต่ว่ากันว่าหากพูดด้วยซ้ำ ๆ นัยว่ายังพอเข้าใจได้ดี..."[2]
ในปี ค.ศ. 1876 (พ.ศ. 2419) ตนกูฮามิดได้ร่วมกองทัพเมืองไทรบุรี (เกอดะฮ์) และกองทัพหัวเมืองต่างๆ ในความปกครองของสยามขึ้นไปช่วยปราบปรามจีนอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 5 วิจิตราภรณ์ เป็นบำเหน็จความชอบในครั้งนั้น
ในปี ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตนกูฮามิดเป็นที่พระเสนีณรงค์ฤทธิ ตำแหน่งรายามุดา ต่อมาเมื่อสุลต่านไซนัล ราซิด มุดซัม ชาห์ที่ 2 หรือพระยาไทรบุรี (ตนกูไซนาระชิด) ผู้เป็นพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรตั้งพระเสนีณรงค์ฤทธิรายามุดา เป็นพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหะมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง ตรีศก จุลศักราช 1243 ตรงกับวันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424)
ภายหลังทรงมีพระราชดำริว่าพระยาไทรบุรีได้บังคับบัญชาราชการบ้านเมืองต่างพระเนตรพระกรรณมาช้านาน มีความชอบความดีมาก ในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนยศพระยาฤทธิสงครามเป็น เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน ตำแหน่งเจ้าประเทศราชเมืองไทรบุรี พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า[3] และเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกชั้นที่ 1 มหาวราภรณ์ เป็นเกียรติยศ ต่อมาในปี ค.ศ. 1897 (พ.ศ. 2440) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้งเจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่านเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการเมืองปะลิส เมืองสตูล และเมืองไทรบุรี รวม 3 เมือง[4] นอกจากนี้พระองค์ยังทรงส่งพระโอรส 2 องค์ของสุลต่านอับดุลฮามิดไปศึกษาที่ทวีปยุโรป ได้แก่ ตนกู ยูซุฟ ซึ่งต่อมาได้กลับมารับราชการตำรวจที่ประเทศสยาม และตนกู บาดิร ชาห์ (สุลต่านบาดิร ชาฮ์) ซึ่งสำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดและได้กลับมาพำนักอยู่ที่ประเทศสยามในระยะเวลาสั้นๆ
พระองค์มีชายาหลายองค์ ได้แก่
- เจ๊ะเมนเญราลา (Cik Menjelara) มีชื่อไทยว่า คุณหญิงเนื่อง นนทนาคร
- เจ๊ะโซฟิอะห์ (Che Sofiah) หรือ ตุนกู ไน โซฟียะฮ์ บินตี อัลมัรฮูม ตุนกู ไน ฮาจี ฮัสซัน (Tunku Nai Sofiah binti Almarhum Tunku Nai Haji Hassan)
- ชะรีฟะห์ บินติ ไซเอ็ด อิดรุส (Sharifah Fatimah Binti Syed Idrus)
- ชะรีฟะห์ เซหะ บินติ ไซเอ็ด ฮุซเซน (Sharifah Seha Binti Syed Hussein)
- เจ๊ะปวน สปาเชนดรา (Che Puan Spachendra)
- ชะรีฟะห์ มาเรียม (Sharifah Mariam)
- เจ๊ะลาราเซห์ (Che Laraseh)
ท่านม๊โอรสและธิดาจากชายาและหม่อมต่างๆ รวมทั้งสิ้น 43 องค์ โอรสองค์ที่สำคัญได้แก่ตนกู อับดุล ระห์มัน นายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศมาเลเซีย (ประสูติแต่คุณหญิงเนื่อง นนทนาคร) และสุลต่านบาดิร ชาฮ์ (ประสูติแต่เจ๊ะโซฟิอะห์)
สุลต่านอับดุล ฮามิดได้สร้างพระที่นั่งใหม่โดยจากคอนกรีดและโลหะในปี ค.ศ. 1906 นอกจากนี้ พระองค์ยังเป็นผู้นำในการสวดมนต์วันศุกร์
สุลต่าน อับดุล ฮามิด ฮาลิม ชาห์ สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม ค.ศ. 1943 รวมพระชนม์ได้ 78 พรรษา อยู่ในราชสมบัติ 62 ปี
บรรดาศักดิ์
- ค.ศ. 1879 (พ.ศ. 2422) - พระเสนีณรงคฤทธิ์ รายามุดาเมืองไทรบุรี[5]
- ค.ศ. 1882 (พ.ศ. 2425) - พระยาฤทธิสงครามรามภักดี ศรีสุลต่าน มหะมัดรัตนราชมุนินทร์ สุรินทรวิวังษา พระยาไทรบุรี[6]
- ค.ศ. 1895 (พ.ศ. 2438) - เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดีศรีสุลต่าน มหมัดรัตนราชมุนินทร สุรินทรวิวงษ์ผดุง ทนุบำรุงเกดะนคร อมรรัตนาณาเขตร ประเทศราชราไชสวริยาธิบดี วิกรมสีหะ เจ้าพระยาไทรบุรี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
- บริเตนใหญ่
- พ.ศ. 2454 - Knight Commander of the Order of St Michael and St George
- พ.ศ. 2454 - King George V Coronation Medal
- พ.ศ. 2478 - King George V Silver Jubilee Medal
- พ.ศ. 2480 - King George VI Coronation Medal
อ้างอิง
- ↑ ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. ชีวิตและงานกงสุลไทยของพระยาอนุกูลสยามกิจ อุปนิกษิตสยามรัฐ (ตันกิมเจ๋ง) กงสุลเยเนอราลไทยคนแรก ณ เมืองสิงคโปร์. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือกรุงเทพ. 2525, หน้า 129
- ↑ จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสสหรัฐมะลายู พ.ศ. 2467. พระนคร : พระจันทร์, 2480, หน้า 13
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศในการเลื่อนยศพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรี เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 12, 1 กันยายน 2438, หน้า 190-191
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ 7 เมษายน รัตนโกสินทรศก 116, เล่ม 14, ตอน 6, 9 พฤษภาคม 2440, หน้า 73-75
- ↑ พระราชทานสัญญาบัตรในปีเถาะเอกศก (หน้า ๖๙)
- ↑ ตั้งตำแหน่ง
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, การเลื่อนยศพระยาไทรบุรีเปนเจ้าพระยาไทรบุรีแลพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายหน้า เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 12, 1 กันยายน 2438, หน้า 189-190
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๗, ตอน ๑๑, ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๓๓, หน้า ๑๐๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เก็บถาวร 2018-02-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐, ตอน ๙, ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๖, หน้า ๑๑๕
แหล่งข้อมูลอื่น