สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี)
สมเด็จพระวันรัต นามเดิม เฮง ฉายา เขมจารี เป็นสมเด็จพระราชาคณะฝ่ายมหานิกาย ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้าคณะใหญ่หนใต้ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร และแม่กองบาลีสนามหลวง
ประวัติ
ชาติกำเนิด
สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า กิมเฮง บิดาเป็นพ่อค้าชาวจีนชื่อตั้วเก๊า แซ่ฉั่ว มารดาชื่อทับทิม เสียชีวิตระหว่างคลอดบุตรคนที่สี่ ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 3 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2424 (นับแบบปัจจุบันตรงกับปี พ.ศ. 2425) ภูมิลำเนาท่านอยู่บ้านท่าแร่ ตำบลสะแกกรัง อำเภอเมืองอุทัยธานี เมื่ออายุได้ 10 ปี ได้เรียนภาษาไทยกับพระอาจารย์ชัง วัดขวิด อยู่ 2 ปี แล้วย้ายไปเรียนกับพระสุนทรมุนี (ใจ) ขณะยังเป็นพระปลัดอยู่วัดมณีธุดงค์[1]
อุปสมบทและศึกษาปริยัติธรรม
เมื่ออายุได้ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้วเรียนภาษาบาลีที่วัดมณีธุดงค์ต่อจนกระทั่งอายุได้ 16 ปี ตรงกับปี พ.ศ. 2440 จึงย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เรียนภาษาบาลีกับพระยาธรรมปรีชา (ทิม) และหลวงชลธีธรรมพิทักษ์ (ยิ้ม) เมื่อยังเป็นมหาเปรียญ ต่อมาเรียนกับพระอมรเมธาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) วัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เมื่อยังดำรงพระยศเป็นกรมหลวง จนสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยคในปี พ.ศ. 2444[2]
ถึงปีขาล พ.ศ. 2445 ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระวันรัต (ฑิต อุทโย) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระธรรมวโรดม (จ่าย ปุณฺณทตฺโต) และพระเทพเมธี (เข้ม ธมฺมสโร) เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์[3] แล้วเข้าสอบในปี ร.ศ. 122 ได้เพิ่มอีก 2 ประโยค รวมเป็นเปรียญธรรม 7 ประโยค[4] ต่อมาเข้าสอบอีกได้เป็นเปรียญธรรม 8 ประโยคในปี ร.ศ. 123[5] และในที่สุดสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ในปี ร.ศ. 124[6]
ศาสนกิจ
นับแต่เป็นสามเณรเปรียญ 4 ประโยค ท่านก็ได้รับมอบหมายให้เป็นครูสอนในมหาธาตุวิทยาลัย[7] เมื่อสมเด็จพระวันรัต (ฑิต) ชราภาพ สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสโปรดให้ท่านเป็นผู้จัดการวัดมหาธาตุแทนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2455[8] เมื่อสมเด็จพระวันรัตมรณภาพในปี พ.ศ. 2466 ท่านจึงได้รับโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน[9] ตลอดช่วงเวลาที่ครองวัด ท่านได้จัดระเบียบวัดทั้งในด้านการทะเบียน การทำสังฆกรรม จัดลำดับชั้นการปกครองคณะ เข้มงวดกับจริยวัตรของพระเณรในวัด และจัดการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ทรุดโทรมและก่อสร้างเพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอกับการขยายการศึกษา นอกจากนี้ท่านยังสนองงานถวายสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสจนเป็นที่พอพระทัย
เมื่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 ประกาศใช้ ท่านได้รับคัดเลือกเป็นประธานสังฆสภาเป็นรูปแรก
สมณศักดิ์
มรณภาพ
สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) ถึงแก่มรณภาพด้วยโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและมีอาการขั้วปอดโต เมื่อวันจันทร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2486[16] เวลา 20.30 น. ณ คณะ 1 วัดมหาธาตุฯ[17] สิริอายุได้ 61 ปี 99 วัน พรรษา 42
อ้างอิง
- เชิงอรรถ
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 239
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑, หน้า 240
- ↑ ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัตฯ, หน้า 73
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกสังฆการี เรื่อง พระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่พระปริยัติธรรมได้, เล่ม 20, ตอน 4, 26 เมษายน ร.ศ. 122, หน้า 50
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, บัญชีพระสงฆ์สามเณร ที่แปลพระปริยัติธรรมได้ใน ศก๑๒๒, เล่ม 21, ตอน 4, 24 เมษายน ร.ศ. 123, หน้า 40
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความกระทรวงธรรมการ แผนกกรมสังฆการี (ประชุมสอบไล่พระปริยัติธรรม พระสงฆ์สามเณรในรามัญประจำ ศก ๑๒๓), เล่ม 22, ตอน 12, 18 มิถุนายน ร.ศ. 124, หน้า 239
- ↑ ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัตฯ, หน้า 74
- ↑ ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัตฯ, หน้า 76
- ↑ ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัตฯ, หน้า 96
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รายนามพระสงฆ์ที่ได้รับพระราชทานตำแหน่งสมณศักดิ์, เล่ม 26, ตอน 0 ง, วันที่ 14 พฤศจิกายน ร.ศ. 128, หน้า 1,802
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระราชาคณะ, เล่ม 29, ตอน 0 ง, วันที่ 13 พฤศจิกายน ร.ศ. 131, หน้า 239
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 33, ตอน 0 ง, วันที่ 19 พฤศจิกายน 2459, หน้า 2,201
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะและพระราชาคณะ, เล่ม 38, ตอน 0 ง, วันที่ 2 ตุลาคม 2459, หน้า 1,831
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 45, ตอน 0 ก, วันที่ 11 พฤศจิกายน 2471, หน้า 182-3
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ สถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม 56, ตอน 0 ง, วันที่ 25 กันยายน 2482, หน้า 1784-5
- ↑ เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒, หน้า 135
- ↑ ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัตฯ, หน้า 109
- บรรณานุกรม
- กรมศิลปากร. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 450 หน้า. ISBN 974-417-530-3
- ธนิต อยู่โพธิ์. ตำนานสมณศักดิ์ พระวันรัต และ สมเด็จพระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ สมเด็จพระวันรัตในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ : ศิวพร, 2516. 447 หน้า.
- สมมอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม ๑. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2545. 428 หน้า. ISBN 974-417-530-3
|
|