ธรรมเนียมพระยศของ สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ พระราชลัญจกร
ตราประจำพระองค์
การทูล Her Majesty The Queen (ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท) การแทนตน ข้าพระพุทธเจ้า การขานรับ Your Majesty The Queen (พระพุทธเจ้าข้า/เพคะ)
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ : Mary II of England ; 30 เมษายน ค.ศ. 1662 – 28 ธันวาคม ค.ศ. 1694) เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งอังกฤษ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์ ระหว่างปี ค.ศ. 1689 จนกระทั่งสวรรคตในปี ค.ศ. 1694 ทรงเป็นประมุขสูงสุดแห่งคริสตจักรอังกฤษ อีกทั้งพระนางยังทรงปกครองอังกฤษร่วมกับ พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ พระราชสวามี ทำให้พระนางเป็นเจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ด้วย พระนางเป็นองค์แรกได้รับพระสมัญญานามว่าเป็น ปริยกษัตริยา (Queen of Hearts) อันหมายถึงกษัตริยาอันเป็นที่รัก เนื่องด้วยพระสิริโฉมและพระราชจริยาวัตรอันงดงาม ทำให้เป็นที่รักของพสกนิกรชาวอังกฤษและชาวดัตช์
พระนางเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1662 ที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน เป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ และเลดี้แอนน์ ไฮด์ ทรงเสกสมรสกับพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แห่งอังกฤษ และครองราชย์เป็นพระราชินีนาถแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ และไอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689 ถึง 28 ธันวาคม ค.ศ. 1694 และพระราชินีนาถของราชอาณาจักรสกอตแลนด์ ระหว่างวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1689 จนถึงวันสวรรคตเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1694 ที่พระราชวังเคนซิงตัน ในกรุงลอนดอน
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 กษัตริยาผู้นับถือนิกายโปรเตสแตนต์ ขึ้นครองราชสมบัติหลังจากการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ ซี่งเป็นการปฏิวัติที่มีผลในการโค่นราชบัลลังก์ของพระราชบิดาพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ ผู้เป็นโรมันคาทอลิก พระราชินีนาถแมรีทรงครองราชบัลลังก์ร่วมกับพระสวามีและพระญาติพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ผู้เป็นผู้ปกครองอังกฤษพระองค์เดียวหลังจากพระราชินีนาถแมรีสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1694 รัชสมัยที่ครองร่วมกันมักจะเรียกโดยนักประวัติศาสตร์ว่า “สมัยวิลเลียมและแมรี” ถึงแม้ว่าพระองค์จะทรงมีสิทธิเต็มตัวในการปกครองแต่มักจะไม่ทรงใช้อำนาจในการปกครองด้วยพระองค์เองแต่จะให้พระสวามีเป็นผู้ปกครอง แต่เมื่อพระเจ้าวิลเลียมเสด็จออกสงครามในต่างประเทศพระราชินีนาถแมรีก็จะทรงปกครอง[ 1]
เบื้องต้น
สมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 พระราชสมภพที่พระราชวังเซนต์เจมส์ ในกรุงลอนดอน เป็นพระธิดาองค์โตของดยุกแห่งยอร์ก และ เลดี้แอนน์ ไฮด์ พระชายาองค์แรก[ 2] เป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 และทรงเป็นหลานของเอ็ดเวิร์ด ไฮด์, เอิร์ลแห่งแคลเร็นดอนที่ 1 (ทางพระมารดา) ผู้รับราชการในฐานะที่ปรึกษาในพระองค์ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 เป็นระยะเวลานาน[ 3] แม้ว่าพระมารดาจะมีบุตรธิดาถึง 8 คนแต่ก็มีแต่พระราชินีนาถแมรี และพระขนิษฐาสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ เท่านั้นที่มีชีวิตรอดมาจนโต[ 4]
แมรีในค.ศ 1685
ดยุกแห่งยอร์ก ทรงเปลี่ยนไปนับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ราวปี ค.ศ. 1668 หรือ 1669 แต่มีทรงมีคำสั่งให้พระธิดาทั้งสองพระองค์ถูกเลี้ยงอย่างเคร่งครัดในนิกายโปรเตสแทนต์ ดังที่เคยเป็นมา[ 5] หลังจากเลดี้แอนน์ ไฮด์ เสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1673 ดยุคแห่งยอร์คก็เสกสมรสเป็นครั้งที่สองกับแมรีแห่งโมดีนา ผู้เป็นโรมันคาทอลิก[ 6]
เมื่อพระราชินีนาถแมรีมีพระชนมายุได้ 15 พรรษาก็ทรงหมั้นกับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ ผู้เป็นโปรเตสแทนต์[ 1] เจ้าชายวิลเลียมเป็นพระโอรสของเจ้าหญิงแมรีแห่งออเรนจ์ พระมาตุฉาของเจ้าหญิงแมรี กับเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ เมื่อเริ่มแรกเริ่มดยุคแห่งยอร์คไม่ทรงเห็นด้วยกับการที่เจ้าหญิงแมรีจะไปมีความสัมพันธ์กับเจ้านายดัทช์ เพราะมีพระประสงค์จะให้เจ้าหญิงแมรีแต่งงานกับโดแฟงลุยส์ รัชทายาทของราชบัลลังก์ฝรั่งเศสมากกว่า แต่ในที่สุดก็ทรงต้องยอมเนื่องจากความกดดันจากรัฐสภาในเหตุผลที่ว่าการมีความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสโรมันคาทอลิกไม่เหมาะสมกับสภาวะทางการเมืองของอังกฤษ [ 7] และการที่ทรงยอมให้พระราชธิดาแต่งงานกับโปรเตสแทนต์เป็นการหวังว่าจะทำให้ประชาชนเพิ่มความนิยมในตัวพระองค์มากขึ้นแต่ก็ไม่ได้ผล[ 8] แมรีและวิลเลียมผู้เป็นลูกพีลูกน้องกันทรงเสกสมรสเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1677 กล่าวกันว่าแมรีกรรแสงตลอดงาน[ 2]
หลักจากการเสกสมรสแล้วเจ้าหญิงแมรีก็เสด็จไปประทับที่ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ กับพระสวามี แม่ว่าจะทรงรักพระสวามีเป็นอันมากแต่ชีวิตการสมรสของพระองค์ก็เป็นชีวิตที่ไม่ค่อยมีความสุขนัก เจ้าหญิงแมรีทรงพระครรภ์ 3 ครั้งแต่ทรงตกหรือทรงให้การประสูติแต่พระทารกเสียชีวิตทั้ง 3 ครั้ง ความที่ไม่ทรงสามารถมีพระโอรสธิดาได้นี้เป็นสาเหตุหนึ่งในความไม่มีความสุขของพระองค์ เจ้าหญิงแมรีมีพระนิสัยไปทางร่าเริงและเป็นกันเองซึ่งทำให้เป็นที่นิยมของชาวดัทช์ แต่พระสวามีทรงเป็นผู้มืพระนิสัยตรงข้ามคือเย็นชาและไม่ยินดียินร้ายกับผู้ใด[ 1] แต่ต่อมาก็ทรงค่อยผ่อนคลายพระองค์บ้างเมื่อทรงอยู่ใกล้ชิดกับเจ้าหญิงแมรี[ 2]
การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์
เมื่อพระเจ้าชาลส์ที่ 2 เสด็จสวรรคตเมื่อปี ค.ศ. 1685 โดยไม่มีรัชทายาท ดยุกแห่งยอร์กก็ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรอังกฤษและไอร์แลนด์ และพระเจ้าเจมส์ที่ 7 แห่งสกอตแลนด์ แต่ทรงมีปัญหาเกี่ยวกับนโยบายทางศาสนา โดยทรงพยายามพระราชทานเสรีภาพในการนับถือศาสนาแก่ผู้ที่มิได้นับถือนิกายเชิร์ชออฟอิงแลนด์ แต่นโยบายนี้ไม่เป็นที่ยอมรับโดยสาธารณชน วิธีที่ทรงทำคือทรงใช้อำนาจในการเป็นพระมหากษัตริย์ยุบเลิกกฤษฏีที่ออกโดยรัฐสภา[ 5] ขุนนางและนักการเมืองโปรเตสแทนต์จึงเดินทางไปเฝ้าเจ้าหญิงแมรีและพระสวามีเมื่อปี ค.ศ. 1687 เพื่อจะหาข้อต่อรองเกี่ยวกับปัญหานี้ หลังจากนั้นพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ก็ทรงบังคับให้นักบวชอังกลิคันอ่าน “ประกาศการไถ่บาป” (Declaration of Indulgence) ภายในวัดในเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ. 1688 ซึ่งเป็นการประกาศให้เสรีภาพทางศาสนาให้แก่ผู้ลี้ภัยทางศาสนา (โรมันคาทอลิก) ความนิยมในพระองค์ของประชาชนจึงตกฮวบ[ 5] ความหวาดระแวงของผู้นับถือโปรเตสแทนต์ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อแมรีแห่งโมดีนา พระชายาผู้เป็นโรมันคาทอลิกให้กำเนิดแก่พระราชโอรส เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1688 ซึ่งไม่เช่นเจ้าหญิงแมรีและแอนน์ที่ถูกเลี้ยงเป็นโปรเตสแทนต์ เจมส์ ฟรานซิสจะถูกเลี้ยงเป็นโรมันคาทอลิก นอกจากนั้นก็ยังมีข่าวลือกันว่าพระราชโอรสเป็น “พระราชโอรสปลอม” (supposititious) เพราะถูกลักลอบในถาดถ่านที่ใช้อุ่นเตียงก่อนนอน (bed-warming pan) เข้ามาในห้องที่ใช้ประสูติเพื่อแทนพระโอรสที่สิ้นพระชนม์หลังประสูติของเจมส์ ฟรานซิส[ 9] ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหานี้ เจ้าหญิงแมรีก็ทรงประท้วงสิทธิในราชบัลลังก์ของพระราชโอรสอย่างเป็นทางการ และทรงส่งรายการคำถามต่างๆ มายังพระขนิษฐาเกี่ยวกับสถานะการณ์ของการประสูติ[ 10]
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1688 กลุ่มขุนนางโปรเตสแทนต์ที่เรียกตนเองว่า “ผู้อัญเชิญทั้งเจ็ด ” (Immortal Seven) ก็ได้อัญเชิญเจ้าชายวิลเลียมแห่งออเรนจ์ อย่างลับๆ ให้ทรงยกกองทัพมาอังกฤษ[ 11] ครั้งแรกเจ้าชายวิลเลียมก็ไม่ทรงเต็มพระทัยเพราะทรงอิจฉาที่พระชายาทรงมีตำแหน่งเป็นรัชทายาทแห่งราชบัลลังก์อังกฤษ และทรงกลัวว่าพระชายาจะมีอำนาจมากกว่าพระองค์ถ้าทรงไปรุกรานอังกฤษสำเร็จ แต่แมรีทรงปลอบพระทัยเจ้าชายวิลเลียมว่าตัวพระองค์เองนั้นไม่มีความสนพระทัยทางการเมืองเท่าใดนักและจะทรงเป็น “แต่เพียงพระชายา, และพระองค์จะทรงทำทุกสิ่งทุกอย่างเท่าที่อำนาจจะอำนวยที่จะทำให้เจ้าชายวิลเลียมเป็นกษัตริย์ตลอดพระชนม์ชีพ”[ 12] เจ้าชายวิลเลียมจึงทรงตกลงที่จะรุกรานอังกฤษ
ก่อนจะรุกรานเจ้าชายวิลเลียมก็ทรงออกประกาศซึ่งในประกาศกล่าวถึงพระราชโอรสของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ในนามว่า “เจ้าชายแห่งเวลส์ผู้อ้างสิทธิ” (Pretended Prince of Wales) นอกจากนั้นก็ยังทรงระบุรายการของความไม่พึงพอใจต่าง ๆ ของชาวอังกฤษ และทรงกล่าวว่าจุดประสงค์เพียงอย่างเดียวในการรุกรานของพระองค์ก็เพื่อให้อังกฤษมี “รัฐสภาที่เป็นเอกราชและถูกต้องตามนิตินัย”[ 2] กองทัพเนเธอร์แลนด์ขึ้นฝั่งอังกฤษเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ค.ศ. 1688 หลังจากที่ต้องกลับไปเนเธอร์แลนด์ครั้งหนึ่งในเดือนตุลาคมเพราะโดนพายุ[ 11] กองทัพและราชนาวีอังกฤษหันมาหนุนหลังเจ้าชายวิลเลียม เพราะหมดความเชื่อมั่นในความมั่นคงในรัฐบาลของพระเจ้าเจมส์[ 13] พระเจ้าเจมส์ทรงพยายามหลบหนีเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1688 แต่ไม่สำเร็จ แต่ครั้งที่สองทรงหลบหนีไปฝรั่งเศสได้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1688 และทรงลี้ภัยอยู่ในฝรั่งเศสจนเสด็จสวรรคต[ 5]
เจ้าหญิงแมรีทรงมีความเศร้าพระทัยกับสถานะการณ์ในการโค่นราชบัลลังก์ของพระราชบิดา แต่เจ้าชายวิลเลียมทรงมีโองการให้พระชายาแสดงพระพักตร์ว่ามีความสุขเมื่อเดินทางเข้าลอนดอนหลังจากได้ทรงได้รับชัยชนะ การกระทำของพระองค์ทำให้ทรงถูกวิจารณ์ว่าทรงขาดความรู้สึก เจ้าชายวิลเลียมเองก็ทรงเขียนวิจารณ์เจ้าหญิงแมรีว่าเป็นผู้ไม่มีความจงรักภักดี การกระทำนี้มีผลกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของเจ้าหญิงแมรีเป็นอย่างมาก[ 2]
ในปี ค.ศ. 1689 เจ้าชายวิลเลียมทรงเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่จะดำเนินต่อไป[ 14] ตัวพระองค์ไม่ทรงมีความมั่นพระทัยในความมั่นคงของสถานะภาพของพระองค์เอง และมีพระประสงค์จะขึ้นครองเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนที่จะเป็นเพียงพระราชสวามีของพระราชินีนาถ สถานะการณ์ที่คล้ายคลึงกันนี้เกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วก่อนหน้านั้น ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 เมื่อพระราชินีนาถแมรีที่ 1 ทรงเสกสมรสกับพระเจ้าฟิลลิปที่ 2 แห่งสเปน ผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “กษัตริย์” แต่ตามพระราชกำหนดพระเจ้าฟิลลิปเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้จนสิ้นรัชสมัยของพระราชินีนาถแมรีเท่านั้น แต่เจ้าชายวิลเลียมทรงเรียกร้องให้พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปแม้ว่าจะหลังจากการสวรรคตของพระชายา รัฐบุรุษคนสำคัญๆ บางคงต้องการให้เจ้าหญิงแมรีเป็นพระมหากษัตรีย์แต่เพียงผู้เดียวแต่เจ้าหญิงแมรีไม่ทรงยอม[ 14]
เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689 รัฐสภาผ่านพระราชประกาศสิทธิ (Declaration of Right) ซึ่งระบุว่าในเมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 พยายามหลบหนีเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1688 ก็เท่ากับว่าเป็นการทรงสละราชสมบัติแห่งราชอาณาจักรโดยปริยาย ฉะนั้นราชบัลลังก์จึงว่างลง[ 14] [ 15] รัฐสภามิได้ถวายราชบัลลังก์ให้แก่พระราชโอรสองค์โตที่สุดของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 -- เจมส์ ฟรานซิส เอ็ดเวิร์ด สจวต (ผู้ที่ควรจะเป็นรัชทายาทตามกฎหมายถ้าสถานะการณปกติ) -- แต่ถวายให้แก่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแมรีในฐานะกษัตริย์และกษัตรีย์ผู้ปกครองร่วมกันแทนที่ แต่มีข้อแม้ว่าการใช้อำนาจของเจ้าชายวิลเลียมต้องใช้ในนามของทั้งสองพระองค์ในระยะเวลาที่ทรงราชย์ร่วมกัน[ 14] พระราชประกาศสิทธิต่อมาขยายความไม่แต่จะจำกัดสิทธิในการครองราชย์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์เท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการลิดรอนสิทธิของผู้ที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิกทั้งหมดด้วย ซึ่งรัฐสภาอ้างว่าจากประสบการณ์การมีพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นโรมันคาทอลิกเป็นการสร้างความไม่ปลอดภัยต่อราชอาณาจักรโปรเตสแตนต์[ 15]
เฮ็นรี ค็อมพตันบาทหลวงแห่งลอนดอนเป็นผู้สวมมงกุฏให้แก่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแมรีที่ เวสท์มินสเตอร์แอบบี เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1689 ตามปกติแล้วผู้ทำพิธีสวมมงกุฏให้พระเจ้าแผ่นดินควรจะเป็นอัครบาทหลวงแห่งแคนเตอร์บรี แต่วิลเลียม แซนครอฟต์ผู้เป็นอัครบาทหลวงในขณะนั้นไม่ยอมรับว่าการประกาศยกเลิกสิทธิในราชบัลลังก์ของพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เป็นการกระทำที่ถูกต้อง[ 16] [ 17] จนถึงวันพระราชพิธีราชาภิเศกรัฐสภาสกอตแลนด์จึงได้ยอมประกาศว่าพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ไม่ใช่พระเจ้าแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรสกอตแลนด์ อีกต่อไป และถวายมงกุฏแห่งราชบัลลังก์สกอตแลนด์ แก่เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงแมรีซึ่งทรงรับเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1689 (ขณะนั้นราชอาณาจักรและอังกฤษยังไม่ได้รวมเป็นอาณาจักรเดียวกัน) [ 1]
แม้ว่าจะมีการออกพระราชประกาศสิทธิอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีผู้สนับสนุนพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เป็นอันมากในสกอตแลนด์ จอห์น แกรม ไวเคานท์แห่งดันดี รวบรวมกำลังในการกู้ราชบัลลังก์ให้แก่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 และได้รับชัยชนะในศึกคิลลีแครงคีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม แต่ก็มาพ่ายแพ้อย่างยับเยินเดือนต่อมาในศึกดันเคลด์[ 18] [ 19]
ครองราชย์
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1689 รัฐสภาผ่านพระราชบัญญัติสิทธิ ค.ศ. 1689 (Bill of Rights 1689) ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่สำคัญที่สุดฉบับหนึ่งในประวัติศาสตร์อังกฤษ พระราชบัญญัตินี้เป็นเอกสารที่สนับสนุนพระราชประกาศสิทธิ ที่ออกมาก่อนหน้านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจำกัดสิทธิต่างๆ ของพระมหากษัตริย์รวมทั้งข้อที่ว่าพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ผ่านรัฐสภา; ออกระบบการเก็บภาษีโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐสภา; ขัดขวางสิทธิในการเรียกร้อง; รวบรวมกองทัพยามสงบโดยไม่ได้รับการอนุญาตจากรัฐสภา; ยับยั้งการถืออาวุธโดยประสกนิกรชาวโปรเตสแทนต์; เข้ายุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้งของรัฐสภา; และในการลงโทษสมาชิกของรัฐสภาไม่ว่าในเรื่องใด ๆ ที่ถกเถียงกันในรัฐสภา, หรือบังคับให้เสียค่าประกันตัวอย่าเกินเลย หรือลงโทษอย่างเกินเลยและไม่มีเหตุผล
นอกจากนั้นพระราชบัญญัติสิทธิก็ยังระบุลำดับของการสืบสันตติวงศ์ของราชอาณาจักรอังกฤษ[ 20] โดยกำหนดว่าหลังจากพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 และพระราชินีนาถแมรีที่ 2 สวรรคต ผู้ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์ต่อไปคือพระราชโอรสธิดาของทั้งสองพระองค์ ลำดับต่อจากนั้นก็เป็นพระขนิษฐาเจ้าหญิงแอนน์ และพระโอรสธิดา จากนั้นไปก็เป็นพระราชโอรสธิดาของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 กับพระชายาใหม่ในอนาคตในกรณีที่พระราชินีนาถแมรีสวรรคตก่อนพระเจ้าวิลเลียม[ 20]
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1690 พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 มักจะเสด็จออกสงครามในต่างประเทศ สงครามครั้งแรกที่เสด็จไปเกิดขึ้นที่ไอร์แลนด์ในสงครามกับผู้สนับสนุนราชวงศ์สจวต (Jacobitism) ขณะที่พระราชสวามิไม่ได้ประทับในลอนดอนพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ก็จะทรงเป็นผู้บริหารแผ่นดิน ทรงเป็นกษัตรีย์ผู้มีความแข็งแกร่ง เช่นในการทรงสั่งจับ เฮนรี ไฮด์ เอิร์ลแห่งแคลเร็นด็อนที่ 2 พระปิตุลาในข้อหาว่าวางแผนกู้ราชบัลลังก์คืนให้แก่พระเจ้าเจมส์ที่ 2 และจอห์น เชอร์ชิลล์ ดยุคแห่งมาร์ลเบรอ ในข้อหาคล้ายคลึงกันในปี ค.ศ. 1692 โดยทรงปลดเชอร์ชิลล์จากตำแหน่งต่างๆ และจำขัง แต่เชอร์ชิลล์เป็นผู้ที่ประชาชนนิยมจึงเป็นผลทำให้ความนิยมในตัวพระองค์จากประสกนิกรลดลงบ้าง การกระทำครั้งนี้เป็นจุดที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพระองค์กับเจ้าหญิงแอนน์พระขนิษฐา (ผู้เป็นสหายสนิทของซาราห์ เชอร์ชิลล์ ภรรยาของจอห์น เชอร์ชิลล์ ดยุคแห่งมาร์ลเบรอ ) เสื่อมลง[ 1] เมื่อเจ้าหญิงแอนน์เสด็จมาปรากฏตัวในราชสำนักกับซาราห์ เชอร์ชิลล์เพื่อแสดงว่าทรงสนับสนุนดยุคแห่งมาร์ลเบรอ พอเห็นเช่นนั้นพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ก็กริ้วและมีพระราชโองการให้เจ้าหญิงแอนน์ปลดซาราห์ออกจากตำแหน่งนางสนองพระโอษฐ์และให้เจ้าหญิงแอนน์ย้ายออกจากพระราชฐาน พระราชินีนาถแมรีที่ 2 มิได้เสด็จไปเยี่ยมพระขนิษฐาแม้ในระหว่างที่ทรงพระครรภ์ ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งพระองค์ไม่ดีขึ้นจนพระราชินีนาถแมรีที่ 2 เสด็จสวรรคต[ 2]
พระเจ้าวิลเลียมที่ 3 ทรงได้รับชัยชนะต่อผู้สนับสนุนราชวงศ์สจวตที่ไอร์แลนด์ ในปี ค.ศ. 1692 แต่ก็ยังเสด็จไปสงครามในต่างประเทศ เช่นสงครามต่อต้านฝรั่งเศสในเนเธอร์แลนด์ เมื่อพระราชสวามีไม่ได้ประทับที่ลอนดอน พระราชินีนาถแมรีที่ 2 ก็ทรงบริหารประเทศในนามของพระองค์เองแต่ตามคำแนะนำของพระเจ้าวิลเลียม แต่ถ้าพระเจ้าวิลเลียมประทับอยู่ในอังกฤษ พระราชินีนาถแมรีก็ไม่ทรงเชอบข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองแม้ว่าจะระบุไว้ในพระราชบัญญัติสิทธิก็ตาม[ 1] [ 20] แต่ทรงมีส่วนในการการปกครองที่เกี่ยวกับเชิร์ชออฟอิงแลนด์ [ 21]
สวรรคต
พระราชินีนาถแมรีที่ 2 ทรงเริ่มประชวรด้วยโรคฝีดาษ ในช่วงเดือนธันวาคม ค.ศ.1694 พระนางเสด็จสวรรคตที่พระราชวังเคนซิงตัน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1694 ด้วยพระชนมายุเพียง 32 พรรษา[ 1] [ 22] เมื่อเสด็จสวรรคตเฮนรี เพอร์เซลล์ (Henry Purcell) คีตกวี บาโรก ถูกจ้างให้เขียนดนตรีสำหรับงานพระบรมศพในชื่อ “ดนตรีสำหรับงานพระบรมศพของพระราชินีนาถแมรี”[ 23] พระเจ้าวิลเลียม พระราชสวามีที่ทรงเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับพระราชินีนาถทรงโทมนัสเป็นอันมากถึงกับทรงกล่าวว่าทรงกลายจากเป็นผู้ที่มีความสุขที่สุดไปเป็นผู้มีความทุกข์ที่สุดในโลก[ 2] พิธีพระบรมศพ ถูกจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.1695 ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยมีพสกนิกรเป็นจำนวนมากที่คอยเฝ้าขบวนพระบรมศพ โดยพิธีพระบรมศพในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ขุนนางในรัฐสภาอังกฤษเข้าร่วมกันอย่างพร้อมเพียง
มรดก
หลังจากที่พระราชินีนาถแมรีเสด็จสวรรคตพระเจ้าวิลเลียมก็ทรงราชย์ต่อมาในฐานะพระมหากษัตริย์ เจ้าชายวิลเลียม ดยุคแห่งกลอสเตอร์ พระราชโอรสของพระราชินีนาถแอนน์ก็มาสวรรคตเอาเมี่อวันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 1700 เมื่อพิจารณาสถานะการณ์โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่พระเจ้าวิลเลียมและเจ้าหญิงแอนน์จะมีพระราชโอรสธิดาอีกก็เกือบจะเป็นไปไม่ได้ ทางรัฐสภาอังกฤษ จึงออกพระราชบัญญัติการสืบสันตติวงศ์ ค.ศ. 1701 (Act of Settlement 1701) ซึ่งระบุว่าเมื่อสิ้นสุดจากเจ้าหญิงแอนน์ และพระราชโอรสธิดาในอนาคตของพระเจ้าวิลเลียมที่ 3 แล้วราชบัลลังก์ก็จะตกไปเป็นของพระญาติที่ใกล้ชิดที่สุดที่เป็นโปรเตสแทนต์ ซึ่งในกรณีนี้คือเจ้าหญิงโซเฟียแห่งฮาโนเวอร์ และผู้สืบเชื้อสายจากพระองค์ที่เป็นโปรเตสแทนต์ เจ้าหญิงโซเฟียทรงเป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ ทางพระราชธิดาเจ้าหญิงอลิสซาเบ็ธ สจวต ทางรัฐสภามิได้พิจารณาพระประยูรญาติอีกหลายพระองค์ที่ควรจะมีสิทธิแต่เพราะทรงเป็นโรมันคาทอลิก[ 24] เมื่อพระเจ้าวิลเลียมเสด็จสวรรคตในปี ค.ศ. 1702 เจ้าหญิงแอนน์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระราชินีนาถแอนน์ หลังจากพระราชินีนาถแอนน์เสด็จสวรรคตโดยไม่มีรัชทายาท ราชบัลลังก์ก็ตกไปเป็นของเจ้าชายจอร์จแห่งฮาโนเวอร์ (พระโอรสของเจ้าหญิงโซเฟีย) ผู้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 1 แห่งบริเตนใหญ่ [ 25]
พระราชินีนาถแมรีพระราชทานทรัพย์สร้างวิทยาลัยวิลเลียมและแมรี ที่ตั้งอยู่ที่เมืองวิลเลียมสเบิร์กในรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1693[ 26] และทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงพยาบาลกรีนนิช ในลอนดอน [ 1]
พระราชอิสริยยศ
30 เมษายน ค.ศ. 1662 – 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689: เฮอร์ไฮเนส เลดีแมรี (Her Highness The Lady Mary)
4 พฤศจิกายน ค.ศ. 1677 – 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689: เฮอร์รอยัลไฮเนส เจ้าหญิงแห่งออเรนจ์ (Her Royal Highness The Princess of Orange)
13 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1689 – 28 ธันวาคม ค.ศ. 1694: เฮอร์มาเจสตี สมเด็จพระราชินีนาถ (Her Majesty The Queen)
พระราชินีนาถแมรีกับสมัยนิยม
“เชอร์ชิลล์คนแรก” (The First Churchills) - ค.ศ. 1969 - เป็นละครโทรทัศน์ของบีบีซี ที่แสดงชีวิตของพระราชินีนาถแมรีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนสวรรคตโดนเน้นความสัมพันธ์ระหว่างพระราชินีนาถแอนน์กับซาราห์ เชอร์ชิลล์
“ออร์แลนโด” (Orlando) - ค.ศ. 1992 - ภาพยนตร์สร้างจากนวนิยายชื่อเดียวกันโดย เวอร์จิเนีย วูลฟ (Virginia Woolf)
“อังกฤษ, อังกฤษของฉัน” (England, My England) - ค.ศ. 1995 - ภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวประวัติของคีตกวี เฮนรี เพอร์เซลล์ (Henry Purcell)
พระราชวงศ์
พระราชวงศ์ของพระราชินีนาถแมรี
หมายเหตุ
อ้างอิง
ดูเพิ่ม
ธงแห่งราชอาณาจักรสกอตแลนด์ 1 องค์ที่เป็นทั้งกษัตริย์แห่งอังกฤษและกษัตริย์แห่งไอร์แลนด์