สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ (อังกฤษ : Henry IV of England ) (3 เมษายน ค.ศ. 1367 – 20 มีนาคม ค.ศ. 1413) เป็นพระเจ้าแผ่นดินราชวงศ์แลงคาสเตอร์ ของราชอาณาจักรอังกฤษ และราชอาณาจักรไอร์แลนด์
สมเด็จพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367 ที่ปราสาทโบลิงโบรค , ลิงคอล์นเชอร์ ในอังกฤษ เป็นพระราชโอรสของจอห์นแห่งกอนท์ ดยุกแห่งแลงคาสเตอร์ที่ 1 และ บลานซแห่งแลงคาสเตอร์ ทรงเสกสมรสกับแมรีแห่งโบฮุน และทรงราชย์ระหว่างวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1399 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1413 ที่เวสท์มินสเตอร์แอบบี ลอนดอน
วัยเยาว์
พระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษเสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 3 เมษายน ค.ศ. 1367 ที่ปราสาทบอลิงบรูก พระองค์เป็นบุตรชายของจอห์นแห่งกอนท์ ดยุคแห่งแลงคัสเตอร์ (พระราชโอรสที่มีชีวิตรอดลำดับที่สามของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ) กับบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ ซึ่งทั้งคู่มีบุตรด้วยกันหกคน เฮนรีเป็นบุตรคนที่ห้าและเป็นบุตรชายที่มีชีวิตรอดลำดับที่สาม เนื่องจากเกิดที่ปราสาทบอลิงบรูกเฮนรีจึงถูกเรียกว่าเฮนรี บอลิงบรูก หลังเสด็จพระราชสมภพได้หนึ่งปีบลานช์แห่งแลงคัสเตอร์ พระมารดาของพระองค์ก็ถึงแก่กรรมที่ปราสาททัตบรี โดยสันนิษฐานว่าน่าจะป่วยเป็นกาฬโรค พระบิดาของเฮนรีสมรสใหม่ด้วยเหตุผลทางการเมืองกับกอนส์ตันซาแห่งกัสติยา เจ้าหญิงสเปนซึ่งเป็นพระราชธิดาคนโตของพระเจ้าเปโดรผู้โหดเหี้ยมแห่งกัสติยา
บอลิงบรูกน้อยเป็นเพื่อนเล่นในวัยเด็กของริชาร์ด บอร์โดซ์ ลูกพี่ลูกน้องชั้นที่หนึ่งซึ่งเป็นบุตรชายของเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสคนโตของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 (พระเชษฐาของจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรี) ในวันที่ 23 เมษายน ค.ศ. 1377 พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ได้แต่งตั้งพระราชนัดดาน้อยทั้งสองเป็นอัศวินการ์เตอร์ ต่อมาในวันที่ 21 มิถุนายนพระองค์เสด็จสวรรคต เนื่องจากเอ็ดเวิร์ด เจ้าชายดำ พระราชโอรสคนโตของพระองค์สิ้นพระชนม์ไปก่อนแล้ว ริชาร์ด บุตรชายวัย 10 ปีของเจ้าชายดำจึงได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ตามสิทธิของบุตรหัวปี โดยมีจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีและพระปิตุลาของกษัตริย์ทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน เฮนรีให้การสนับสนุนพระเจ้าริชาร์ดอย่างเต็มที่และกษัตริย์ได้ตั้งเฮนรีเป็นเอิร์ลแห่งเดอร์บีในวันที่ 16 กรกฎาคมของปีนั้น
ในปี ค.ศ. 1378 จอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีต้องการให้เฮนรีสมรสกับแมรี เดอ โบฮัน บุตรสาวและทายาทของฮัมฟรีย์ เดอ โบฮัน เอิร์ลแห่งเฮริฟอร์ด กอนท์ได้ลักพาตัวแมรีจากปราสาทเพรสชี มายังปราสาทอารันเดล โดยมีโจน มารดาของแมรีให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่จอห์นแห่งกอนท์ในการเคลื่อนย้ายตัวบุตรสาว เฮนรีกับแมรีได้สมรสกันในวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1380 ที่ปราสาทอารันเดล แต่เนื่องจากทั้งคู่ยังอายุน้อย (เจ้าสาวมีอายุเพียง 12 ปี) จึงมีการแนะนำว่าควรปล่อยให้การสมรสไม่สมบูรณ์ไปก่อน แต่ทั้งคู่ไม่ยอมทำตามคำแนะนำ ในปี ค.ศ. 1382 แมรีได้ให้กำเนิดบุตรชายที่มีอายุอยู่ได้เพียง 4 วัน เฮนรีกับแมรีมีบุตรธิดาด้วยกัน ดังนี้
เอ็ดเวิร์ด (เกิด ค.ศ. 1382) มีอายุอยู่ได้เพียง 4 วัน
เฮนรี (เกิด ค.ศ. 1387) ต่อมาขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 แห่งอังกฤษ
ทอมัส (เกิด ค.ศ. 1388) ดยุคแห่งแคลเรนซ์
จอห์น (เกิด ค.ศ. 1389) ดยุคแห่งเบดฟอร์ด
ฮัมฟรีย์ (เกิด ค.ศ. 1390) ดยุคแห่งกลอสเตอร์
บลานช์ (เกิด ค.ศ. 1392)
ฟิลิปปา (เกิด ค.ศ. 1394)
ในวันที่ 22 ธันวาคม ค.ศ. 1384 เฮนรีได้เป็นเอิร์ลแห่งนอร์แทมตันโดยสิทธิ์ของภรรยา
ความขัดแย้งกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 2
ภาพผู้นำทั้งห้าของกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์โยนถุงมือเกราะทิ้งต่อหน้าพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 (จากซ้ายไปขวา) ริชาร์ด ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 11 แห่งอารันเดล, ธอมัสแห่งวูดสต็อก ดยุคที่ 1 แห่งกลอสเตอร์, ธอมัส เดอ มาวบราย เอิร์ลแห่งนอร์ติงแฮม, เฮนรี บอลิงบรูก เอิร์ลแห่งเดอร์บี และธอมัส เดอ โบแชมป์ เอิร์ลที่ 12 แห่งวอริค
ในปี ค.ศ. 1386 จอห์นแห่งกอนท์ได้ออกเดินทางไปทำศึกในสเปน ในตอนนั้นเฮนรีมีอายุได้ 20 ปี แม้จะรูปร่างเตี้ยแต่พระองค์มีร่างกายกำยำ ทรงมีผมสีน้ำตาลแดง เคราสีแดง และดวงตาสีน้ำตาล ทั้งยังกล้าหาญและกระฉับกระเฉงตามแบบราชวงศ์แพลนแทเจเนต พระองค์เป็นหนึ่งในห้าผู้นำของกลุ่มขุนนางที่มีชื่อเรียกว่า "กลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ (อังกฤษ : Lords Appellant )" ร่วมกับริชาร์ด ฟิตซ์อลัน เอิร์ลที่ 11 แห่งอารันเดล , ธอมัสแห่งวูดสต็อก ดยุคที่ 1 แห่งกลอสเตอร์ , ธอมัส เดอ มาวบราย ดยุคที่ 1 แห่งนอร์ฟอล์ก และธอมัส เดอ โบแชมป์ เอิร์ลที่ 12 แห่งวอริค โดยขุนนางกลุ่มนี้ได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ที่มีความเป็นทรราชย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ปีต่อมาในวันที่ 19 ธันวาคม ค.ศ. 1387 เฮนรีร่วมกับกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์นำกองทัพคว้าชัยชนะเหนือกษัตริย์ ต่อมาในช่วงปลายเดือนนั้นกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้เข้าพบพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ที่หอคอยแห่งลอนดอน กษัตริย์จำใจต้องทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์อย่างไม่มีทางเลือก ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1388 กลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้ตั้งรัฐสภาที่มีชื่อเรียกว่า "รัฐสภาอันไร้ความปราณี (อังกฤษ : Merciless Parliament )" และได้ออก "ฎีกาว่าด้วยผู้ทรยศ (อังกฤษ : Appeal of Treason )" เพื่อกำจัดกลุ่มผู้ฝักใฝ่ฝรั่งเศสซึ่งเป็นขุนนางและผู้ติดตามในครัวเรือนของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 โดยไม่สนใจกฎหมาย ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน รัฐสภาอันไร้ความปราณีถูกยุบ พระเจ้าริชาร์ดได้กลับมาปกครองแต่อยู่ในสถานะกษัตริย์หุ่นเชิดที่ถูกชักใยโดยกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ ตลอดระยะเวลาสามปีต่อมาได้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้นเป็นระยะ พระเจ้าริชาร์ดเริ่มได้อำนาจกลับมา และเมื่อจอห์นแห่งกอนท์กลับมาจากทำศึกในสเปนพระองค์ได้ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายประนีประนอมกัน
ในช่วงปี ค.ศ. 1390 เฮนรีใช้เวลามากมายไปกับการทำสงครามครูเสด โดยพระองค์ได้ร่วมกับกลุ่มอัศวินทิวทอนิก ทำการปิดล้อมเมืองวิลนีอุส นครหลวงของลิทัวเนีย ในช่วงปี ค.ศ. 1392 พระองค์ได้เข้าร่วมสงครามครูเสดอีกครั้งในปรัสเซีย แต่ประสบความล้มเหลว พระองค์จึงออกแสวงบุญไปเยรูซาเล็ม และปฏิญาณว่าจะปลดปล่อยเมืองจากพวกนอกรีตแต่ทำไม่สำเร็จ
ในปี ค.ศ. 1394 เฮนรีประสบกับความสูญเสียครั้งใหญ่เมื่อแมรี เดอ โบฮัน ภรรยาของพระองค์เสียชีวิตในการคลอดบุตร ในวันที่ 29 กันยายน ค.ศ. 1397 เฮนรีถูกตั้งเป็นเอิร์ลแห่งเฮริฟอร์ด ทว่าต่อมาในปี ค.ศ. 1398 เฮนรีทะเลาะเบาะแว้งกับธอมัส เดอ มาวบราย ดยุคที่ 1 แห่งนอร์ฟอร์ก เปิดช่องให้พระเจ้าริชาร์ดที่ยังแค้นเฮนรีเรื่องกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์ได้ข้ออ้างในการเนรเทศเฮนรีออกจากประเทศเป็นเวลา 1 ปี มาวบรายเองก็ถูกเนรเทศเช่นกัน เฮนรีได้เดินทางไปเบรอตาญ และได้พบกับฌานแห่งนาวาร์ ชายาของฌ็องที่ 4 ดยุคแห่งเบรอตาญ
การขึ้นเป็นกษัตริย์
ภาพเฮนรี บอลิงบรูกกำลังอ้างสิทธิ์ในบัลลังก์ต่อหน้าขุนนางทั้งทางโลกและทางธรรมในปี ค.ศ. 1399
ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1399 จอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของเฮนรีสิ้นพระชนม์อย่างกระทันหัน เฮนรีควรได้สืบทอดตำแหน่งดยุคแห่งแลงคัสเตอร์, เอิร์ลแห่งเลสเตอร์ และเอิร์ลแห่งลิงคอล์นของพระบิดา แต่พระเจ้าริชาร์ดฉวยโอกาสในตอนที่พระองค์ยังถูกเนรเทศริบดินแดนมรดกอันกว้างใหญ่ไพศาลของพระองค์และขยายเวลาการเนรเทศจาก 1 ปีเป็นตลอดชีวิต
เฮนรีได้ติดต่อธอมัส อารันเดล อดีตอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีที่เสียตำแหน่งจากการเคยอยู่ฝ่ายเดียวกับกลุ่มขุนนางผู้อุทธรณ์เช่นกัน อารันเดลชี้ช่องทางให้เฮนรีเดินทางกลับอังกฤษพร้อมกองกำลังติดอาวุธในช่วงที่พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ออกไปทำศึกในไอร์แลนด์ เฮนรีได้ขึ้นฝั่งที่ราเวนสเปอร์ในมณฑลยอร์กเชอร์ ในวันที่ 19 สิงหาคม เนื่องจากกษัตริย์ได้พากลุ่มอัศวินที่จงรักภักดีไปกับพระองค์ การขึ้นฝั่งของเฮนรีจึงไม่มีฝ่ายใดออกมาต่อต้าน ดยุคแห่งยอร์กผู้ทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์อาณาจักรในช่วงที่กษัตริย์ไม่อยู่ได้หันมาอยู่ฝ่ายเดียวกับเฮนรี ทั้งยังมีเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ให้การสนับสนุน พระองค์จึงมีอำนาจมากพอที่จะท้าชิงบัลลังก์กษัตริย์ เมื่อพระเจ้าริชาร์ดเดินทางกลับมาจากไอร์แลนด์ไม่มีใครให้การสนับสนุนกษัตริย์อีกแล้ว ในวันที่ 29 กันยายนเฮนรีได้จับกุมตัวพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 และได้จำขังพระองค์ไว้ในปราสาทพอนเตอแฟรค กษัตริย์ถูกบังคับให้สละราชสมบัติเพื่อหลีกทางให้เฮนรี รัฐสภาได้ประกาศให้เฮนรีเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ผู้ครองบัลลังก์แห่งอังกฤษและเวลส์ในวันที่ 30 กันยายน พระองค์ได้ก่อตั้งกลุ่มอัศวินบาธ ในวันที่ 12 ตุลาคมและได้รับการสวมมงกุฎที่วิหารเวสต์มินสเตอร์ ในวันที่ 13 ตุลาคม ในวันที่ 15 ตุลาคม เฮนรี พระโอรสคนโตของพระเจ้าเฮนรีถูกตั้งเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์, ดยุคแห่งคอร์นวอลล์, เอิร์ลแห่งเชสเตอร์ และเจ้าชายแห่งอากีแตน ในช่วงปี ค.ศ. 1400 เฮนรีได้ขอสมรสกับฌานแห่งนาวาร์ซึ่งพระสวามีของพระนางได้ถึงแก่กรรมไปเมื่อปี ค.ศ. 1399 พระนางยอมรับคำขอสมรสแต่ประกาศว่าจะบริหารปกครองเบรอตาญไปก่อนจนกว่าการสมรสจะเกิดขึ้น
รัชสมัยแห่งการก่อกบฏ
ภาพพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษ จากพงศาวดารของฌ็อง ฟรัวซาร์
รัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 เป็นรัชสมัยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและการก่อกบฏ หลายคนมองว่าพระองค์แย่งชิงบัลลังก์มาอย่างไม่ชอบธรรม กลุ่มบุคคลสำคัญที่เคยช่วยพระองค์ปราบพระเจ้าริชาร์ดมุ่งมั่นกับการสร้างฐานอำนาจให้ตนเองมากกว่าการค้ำจุนราชบัลลังก์ ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1400 กลุ่มผู้สนับสนุนอดีตกษัตริย์ได้วางแผนจับกุมตัวพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ในงานเลี้ยงฉลองวันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เพื่อเอาบัลลังก์กลับคืนมาให้พระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ทว่าแผนการล้มเหลว มีผู้สมคบคิดคนหนึ่งทรยศนำแผนการไปบอกแก่พระเจ้าเฮนรี แกนนำทั้งหมดถูกจับกุมตัวและถูกประหารชีวิต ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์มีการประกาศว่าพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ได้เสด็จสวรรคตแล้วที่ปราสาทพอนเตอแฟรค ภายหลังในปี ค.ศ. 1871 ดีน สแตนลีย์แห่งเวสต์มินสเตอร์ได้ทำการพิสูจน์โครงกระดูกของพระองค์และไม่พบร่องรอยของความรุนแรงจึงคาดว่าพระองค์น่าจะสวรรคตเพราะความหิว แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน
ต่อมาในวันที่ 25 กรกฎาคมพระเจ้าเฮนรีได้นำทัพขึ้นเหนือเพื่อเตรียมบุกสกอตแลนด์ กองทัพอังกฤษไปถึงสกอตแลนด์ในเดือนสิงหาคมและได้ทำการปิดล้อมปราสาทเอดินบะระ แต่ประสบความล้มเหลว ในวันที่ 16 กันยายน ในเวลส์ โอไวน์ เกลินดูร์ ได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรีด้วยการประกาศตนเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และเข้ายึดปราสาทคอนเวย์ โดยมีพันธมิตรคือกลุ่มผู้สนับสนุนตระกูลมอร์ติเมอร์ที่มองว่าเอ็ดมันด์ มอร์ติเมอร์ ลูกหลานในสายไลโอเนลแห่งแอนท์เวิร์ป ดยุคแห่งแคลเรนซ์ (พระเชษฐาของจอห์นแห่งกอนท์ พระบิดาของพระเจ้าเฮนรีที่ 4) คือทายาทโดยชอบธรรมของพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 ซึ่งควรได้เป็นกษัตริย์ตามสิทธิของบุตรหัวปี
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1401 ได้เกิดยุทธการที่เฮิดด์เกน กองทัพอังกฤษพ่ายแพ้แก่อกองทัพเวลส์บริเวณใกล้กับอาเบเริสทรุยส์ ในวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ. 1402 กองทัพอังกฤษได้ทำยุทธการที่เนสบิตมัวร์ปราบกลุ่มชาวสกอตแลนด์ที่ทำการรุกราน ในวันที่ 22 มิถุนายน กองกำลังอังกฤษพ่ายแพ้ต่อกลุ่มกบฏชาวเวลส์อีกครั้งในยุทธการที่เบรินกลาส ในวันที่ 14 กันยายนเฮนรี ฮอตสเปอร์นำกองกำลังอังกฤษปราบกลุ่มผู้รุกรานชาวสกอตแลนด์ในยุทธการที่ฮัมเบิลตันฮิลล์
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 1402 ฌานแห่งนาวาร์ คู่หมั้นของพระเจ้าเฮนรี กับธิดาของพระนางเดินทางออกจากเบรอตาญมาอังกฤษ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1403 พระเจ้าเฮนรีกับฌานสมรสกันที่อาสนวิหารวินเชสเตอร์ แต่พระราชินีคนใหม่ไม่เป็นที่นิยมของทั้งประชาชนและชนชั้นสูง
ภาพการเสียชีวิตของฮอตสเปอร์ในยุทธการที่ชรูวส์บรี โดยริชาร์ด คาตัน วูดวิลล์ ปี ค.ศ. 1910 ในเดือนกรกฎาคมของปีนั้น เฮนรี เพอร์ซีหรือฮอตสเปอร์ บุตรชายของเอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์และเขยของตระกูลมอร์ติเมอร์ประกาศตนเป็นพันธมิตรกับโอไวน์ เกลินดูร์และตระกูลมอร์ติเมอร์ในการต่อสู้กับพระเจ้าเฮนรี แต่ก่อนที่เฮนรี เพอร์ซีจะได้รวมกองทัพเข้ากับกลุ่มของตระกูลมอร์ติเมอร์ พระเจ้าเฮนรีได้นำทัพขึ้นเหนือและปราบเพอร์ซีได้ในยุทธการที่ชรูวส์บรีในวันที่ 21 กรกฎาคม เพอร์ซีถูกกองทัพของกษัตริย์สังหาร ผู้นำคนอื่นๆ ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอและถูกตัดหัวเสียบประจาน แต่พระเจ้าเฮนรีละเว้นโทษตายให้แก่เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ บิดาของเพอร์ซีที่หนีไปสกอตแลนด์
ในวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1404 โอไวน์ เกลินดูร์ประกาศตัวเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์และร่วมเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส ในวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 1405 เฮนรีแห่งมอนเมาธ์ เจ้าชายแห่งเวลส์นำกองทัพอังกฤษปราบกลุ่มกบฏเวลส์ได้ที่ยุทธการที่กรอสมอนต์ (มอนเมาธ์เชอร์) กลุ่มกบฏเวลส์พ่ายแพ้ต่อกองกำลังอังกฤษอีกครั้งในยุทธการที่อัส์กในวันที่ 5 พฤษภาคม ในวันที่ 8 มิถุนายนริชาร์ด สกรอป อาร์ชบิชอปแห่งยอร์กได้ก่อกบฏต่อพระเจ้าเฮนรีที่ 4 โดยมีเฮนรี เพอร์ซี เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์แลนด์ให้การสนับสนุน สกรอปพ่ายแพ้และถูกประหารชีวิต นอร์ทัมเบอร์แลนด์หนีไปสกอตแลนด์อีกครั้ง ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 1406 พระเจ้าเฮนรีจับตัวเจมส์ ทายาทในบัลลังก์สกอตแลนด์มาอยู่ในการควบคุม เอิร์ลแห่งนอร์ทัมเบอร์รุกรานอังกฤษอีกครั้งในปี ค.ศ. 1408 โดยมีสกอตแลนด์ให้การสนับสนุน พระเจ้าเฮนรีนำทัพไปหากองกำลังดังกล่าวที่แบรมแฮมมัวร์ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์และคว้าชัยชนะได้อย่างเด็ดขาด นอร์ทัมเบอร์แลนด์ถูกสังหารในสนามรบ
บั้นปลายพระชนมาชีพ
หลุมฝังศพของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 แห่งอังกฤษที่อาสนวิหารแคนเทอร์บรี
หลังทำการปิดล้อมกลุ่มกบฏชาวเวลส์ที่อาเบเริสทรุยธ์ตั้งแต่เดือนตุลาคม ค.ศ. 1407 เฮนรี เจ้าชายแห่งเวลส์สามารถยึดอาเบเริสทรุยส์ได้ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1408 ในช่วงต้นปี ค.ศ. 1409 พระองค์ยึดปราสาทฮาร์เลชในเวลส์ได้ ในปีนั้นเจ้าชายเฮนรีผู้เป็นทายาทในบัลลังก์ได้ขึ้นเป็นเสนาบดี สุขภาพของพระเจ้าเฮนรีที่ 4 เริ่มย่ำแย่ พระองค์ป่วยเป็นโรคที่ทำให้เสียโฉม (คาดว่าน่าจะเป็นโรคเรื้อน , โรคซิฟิลิส หรือไม่ก็โรคสะเก็ดเงิน ) จนปลีกวิเวกจากสังคม ทั้งยังถูกรัฐสภากล่าวหาบริหารจัดการงบประมาณสำหรับการทำศึกสงครามผิดพลาดในราชสำนัก เริ่มเกิดความขัดแย้งขึ้นและธอมัส อารันเดล อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์บรีได้ขึ้นมาครองความเป็นใหญ่ในราชสำนัก กระทั่งในปี ค.ศ. 1410 ฝ่ายตรงข้ามซึ่งนำโดยเจ้าชายเฮนรีได้ขับไล่เขาลงจากอำนาจ
ความสัมพันธ์ระหว่างกษัตริย์กับเจ้าชายเฮนรีผู้เป็นพระราชโอรสย่ำแย่ลงเมื่อเกิดกบฏขึ้นในฝรั่งเศส กษัตริย์ต้องการผูกมิตรกับกลุ่มผู้นำกบฏ ขณะที่เจ้าชายต้องการช่วยสหายชาวบูร์กอญของพระองค์ทำสงครามกับกลุ่มกบฏ หลังมีความเห็นไม่ลงรอยกันพระเจ้าเฮนรีที่ 4 ได้ถอดเจ้าชายเฮนรีออกจากสภากษัตริย์ในวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1411 ต่อมาในช่วงปลายปี ค.ศ. 1412 พระเจ้าเฮนรีที่ 4 กลายเป็นผู้ไร้ความสามารถ เจ้าชายเฮนรีได้เข้ามารับช่วงต่อบริหารบ้านเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสองพ่อลูกยังคงตึงเครียดจนกระทั่งในวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1413 พระเจ้าเฮนรีที่ 4 เสด็จสวรรคตด้วยพระชนมายุ 46 พรรษา ร่างของพระองค์ถูกฝังที่อาสนวิหารแคนเทอร์บรี ตรงข้ามกับหลุมศพของเจ้าชายดำ เจ้าชายเฮนรี พระราชโอรสของพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 5 กษัตริย์รัชกาลต่อมา
ดูเพิ่ม
อ้างอิง
ผลงานที่อ้างถึง
Armitage-Smith, Sydney (1905). John of Gaunt . Charles Scribner's Sons. OL 32573643M .
Bevan, Bryan (1994). Henry IV . New York: St. Martin's Press. ISBN 0312116969 . OL 1237370M .
Brown, Alfred Lawson ; Summerson, H. (2010). "Henry IV [known as Henry Bolingbroke]". Oxford Dictionary of National Biography (online ed.). Oxford University Press. doi :10.1093/ref:odnb/12951 . (ต้องรับบริการหรือเป็นสมาชิกหอสมุดสาธารณะสหราชอาณาจักร )
Cokayne, George Edward ; Gibbs, Vicary ; Doubleday, H. A.; Warrand, Duncan; Lord Howard de Walden , บ.ก. (1926). The Complete Peerage . Vol. VI (2nd ed.). London: St Catherine Press.
Janvrin, Isabelle; Rawlinson, Catherine (6 June 2016). The French in London: From William the Conqueror to Charles de Gaulle . แปลโดย Emily Read. Wilmington Square Books. p. 16. ISBN 978-1-908524-65-2 .
Given-Wilson, Chris (26 April 2016). Henry IV . English Monarchs series . Yale University Press. ISBN 978-0-300-15419-1 .
McNiven, Peter (1985). "The Problem of Henry IV's Health, 1405–1413". English Historical Review . 100 .
Mortimer, Ian (2007). The Fears of Henry IV: The Life of England's Self-made King . London: Jonathan Cape. ISBN 978-0-224-07300-4 .
Nickson, Charles (1887), History of Runcorn , London and Warrington: Mackie & Co., OCLC 5389146
Panton, Kenneth J. (2011). Historical Dictionary of the British Monarchy . Scarecrow Press.
Watson, G. W. (1896). "The Seize Quartiers of the Kings and Queens of England" . ใน H. W. Forsyth Harwood (บ.ก.). The Genealogist . New Series. Vol. 12. Exeter: William Pollard & Co.
Weir, Alison (2008). Britain's Royal Family . ISBN 9780099539735 . OL 24083871M .
Wilson, Christopher (1990). Fernie, Eric; Crossley, Paul (บ.ก.). The Tomb of Henry IV and the Holy Oil of St Thomas of Canterbury . Medieval Architecture and its Intellectual Context . London: Hambledon Press. OL 1875648M .
นานาชาติ ประจำชาติ ประชาชน อื่น ๆ