สถาปัตยกรรมมหาวิหารสมัยกลางในอังกฤษ (อังกฤษ: Architecture of the medieval cathedrals of England) เป็นช่วงระยะเวลาการก่อสร้างมหาวิหารที่เกิดขึ้นในอังกฤษระหว่าง ค.ศ. 1040 ถึงปี ค.ศ. 1540 กลุ่มสิ่งก่อสร้างยี่สิบห้าปีหลังที่ถือว่ามีเอกลักษณ์ของการก่อสร้างที่เป็นของอังกฤษแท้ แม้ว่าสิ่งก่อสร้างจะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งก่อสร้างทั้งหมดต่างก็มีจุดประสงค์ร่วมกันเพียงจุดประสงค์เดียว ในการเป็นมหาวิหารอันเป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นศูนย์กลางของการบริหารมุขมณฑลและเป็นที่ตั้งของคาเทดรา[1]
แม้ว่าลักษณะของสิ่งก่อสร้างแต่ละสิ่งจะเป็นลักษณะอังกฤษแต่ก็เป็นลักษณะที่ต่าง กันออกไปทั้งความแตกต่างจากกันและกัน และความแตกต่างภายในมหาวิหารเดียวกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่ต่างจากมหาวิหารสมัยกลางอื่น ๆ เช่นทางตอนเหนือของฝรั่งเศสที่มหาวิหารและแอบบีย์ใหญ่ ๆ เป็นสิ่งก่อสร้างสำหรับกลุ่มชนเดียวกัน และการสืบประวัติของลักษณะสถาปัตยกรรมก็สามารถทำได้โดยศึกษาจากสิ่งก่อสร้างหนึ่งไปยังสิ่งก่อสร้างถัดไปภายในกลุ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นของอารามเดียวกัน[2]
สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของมหาวิหารอังกฤษก็คือประวัติของสถาปัตยกรรมสมัยกลางทั้งสมัยสามารถที่จะบรรยายได้จากสิ่งก่อสร้างสิ่งเดียว ที่มักจะประกอบด้วยลักษณะสถาปัตยกรรมเด่น ๆ ของแต่ละยุคโดยไม่มีการพยายามแต่อย่างใดในการพยายามผสานลักษณะที่แตกต่างกันของแต่ละสมัยที่สร้างขึ้นมาก่อนหน้านั้น[2] ฉะนั้นลำดับเหตุการณ์ของการก่อสร้างจากสมัยหนึ่งไปอีกสมัยหนึ่งในมหาวิหารเดียวกันจึงอาจจะย้อนกลับไปกลับมาภายในบริเวณต่างๆ ของสิ่งก่อสร้าง จะมีข้อยกเว้นอยู่ก็แต่มหาวิหารซอลสบรีที่เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมตระกูลเดียวที่กลมกลืนกันไปทั้งตัวสิ่งก่อสร้าง เพราะเป็นการสร้างรวดเดียวเสร็จ[3]
ที่มา
ประวัติ
โรมันเป็นผู้นำคริสต์ศาสนาเข้ามาในอังกฤษ และมาเผยแพร่ไปทั่วอังกฤษจนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 5 ความนิยมก็ลดถอยลงพร้อมกับการจากไปของโรมัน และการรุกรานของแซ็กซอน ในปี ค.ศ. 597 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 1 ก็ทรงส่งนักบุญออกัสตินมาเผยแพร่ศาสนาที่แคนเทอร์เบอรี ออกัสตินมาก่อตั้งโบสถ์ของแคนันประจำมุขมณฑล ต่อมากลายเป็นอารามคณะเบเนดิกติน ระหว่างปลายสมัยแซกซันจนถึงปี ค.ศ. 1540 มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีปัจจุบันก็เป็นโบสถ์ประจำตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีผู้นำคริสตจักรแห่งอังกฤษทั้งหมด[1][3]
พระเจ้าอัลเฟรดมหาราชทรงริเริ่มการรวมตัวของอังกฤษในปี ค.ศ. 871 และต่อมาพระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ผู้เข้ามายึดอังกฤษในปี ค.ศ. 1066 อังกฤษจึงกลายเป็นชาติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการเมืองก่อนประเทศอื่นใดในยุโรป ซึ่งเป็นผลทำให้หน่วยการบริหารของอาณาจักรและคริสตจักรเป็นสถาบันใหญ่ อังกฤษแบ่งออกเป็นสองมุขมณฑลหลัก คือ มุขมณฑลแคนเทอร์เบอรีและมุขมณฑลยอร์กโดยต่างก็มีอาร์ชบิชอปเป็นของตนเอง ระหว่างสมัยกลางอังกฤษมีบิชอปไม่เกิน 17 องค์ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับฝรั่งเศสหรืออิตาลี[2]
ชีวิตอารามวาสีแบบเบเนดิกตินเข้ามาในอังกฤษตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 6 แต่มาเผยแพร่กันอย่างแพร่หลายหลังจากการพิชิตอังกฤษของชาวนอร์มันในปี ค.ศ. 1066 นอกจากอารามเบเนดิกตินแล้วก็ยังมีแอบบีย์ของคณะซิสเตอร์เชียนบ้างแต่มักจะเป็นแอบบีย์ที่นิยมก่อตั้งอยู่ห่างไกลจากผู้คน และไม่ได้ยกฐานะเป็นมหาวิหาร ขณะเดียวกันสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ของนอร์ม็องดีก็เข้ามาแทนสถาปัตยกรรมแซกซัน สิ่งก่อสร้างใหม่มีขนาดใหญ่และโล่งกว่าเดิม และมักจะเป็นกลุ่มสิ่งก่อสร้าง (Complex) ตามแบบการสร้างอารามเช่นที่อารามกลูว์นี สถาปัตยกรรมโรมาเนสก์ที่มารู้จักกันในอังกฤษว่าสถาปัตยกรรมนอร์มันเริ่มวิวัฒนาการมามีลักษณะท้องถิ่นที่เป็นของตนเอง[1][3]
สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งในยุคกลางของการเป็นคริสต์ศาสนิกชนคือการสักการบูชานักบุญ ที่ทำได้โดยการแสวงบุญยังสถานที่ที่มี[เรลิก]]ของนักบุญที่ใดก็ได้ตามแต่จะต้องการ ฉะนั้นการได้ครอบครองเรลิกจึงเป็นวิธีหลักในการทำรายได้ให้แก่โบสถ์ ผู้มาแสวงบุญมักจะทำการบริจาคโดยหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางใจหรือการช่วยให้หายจากความเจ็บไข้จากเรลิกของนักบุญดังกล่าว
ในบรรดามหาวิหารที่ได้ประโยชน์จากเรลิกก็ได้แก่มหาวิหารเซนต์อัลบันที่เป็นเจ้าของเรลิกของนักบุญอัลบันปฐมมรณสักขีของอังกฤษ มหาวิหารริพพอนที่มีเรลิกของนักบุญวิลฟริดผู้ก่อตั้งมหาวิหาร มหาวิหารเดอรัมที่สร้างสำหรับเป็นที่บรรจุร่างของนักบุญคัธเบิร์ตแห่งลินดิสฟาร์นและนักบุญไอดัน มหาวิหารอีลีมีเรลิกของนักบุญเอเธลเรดา เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เป็นที่ฝังพระศพพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดธรรมสักขี และมหาวิหารชิกเชสเตอร์มีเรลิกของนักบุญริชาร์ดแห่งชิกเชสเตอร์
การมีเรลิกนักบุญต่าง ๆ ที่กล่าวเป็นการนำนักแสวงบุญมายังมหาวิหารเหล่านี้แต่เรลิกที่สำคัญที่สุดคือเรลิกนักบุญทอมัส เบ็กเก็ต อดีตอาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีที่ถูกลอบสังหารโดยข้าราชสำนักในพระเจ้าเฮนรีที่ 2 ในปี ค.ศ. 1170 ที่ทำให้เบ็คเค็ทได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นนักบุญ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 มหาวิหารแคนเทอร์เบอรีจึงกลายเป็นจุดหมายที่ดึงนักแสวงบุญมาเป็นลำดับสองรองก็แต่การเดินทางไปแสวงบุญที่ซานติอาโกเดอคอมโพสเตลาในสเปน
ในคริสต์ทศวรรษ 1170 สถาปัตยกรรมกอทิกเริ่มเข้ามาในอังกฤษจากฝรั่งเศสโดยเริ่มที่แคนเตอร์บรีและเวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และเป็นสถาปัตยกรรมที่เป็นที่นิยมกันในอังกฤษต่อมาอีก 400 ปีบางครั้งก็จะมีการวิวัฒนาการที่คล้ายคลึงกับลักษณะของยุโรปภาคพื้นทวีป แต่โดยทั่วไปแล้วจะเป็นลักษณะที่แตกหน่อออกไป ตามความแตกต่างของท้องถิ่นของสิ่งก่อสร้างและที่มา[2][4]
ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 การปฏิรูปศาสนานำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการปกครองของมหาวิหาร คริสต์ศาสนสถานบางแห่งที่มีอยู่แล้วก็ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นมหาวิหาร แต่บางแห่งก็ถูกทำลายหรือถูกทิ้งร้างเพราะการยุบอารามโดยพระเจ้าเฮนรีที่ 8 ระหว่างปี ค.ศ. 1537 ถึงปี ค.ศ. 1540 แอบบีย์เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะที่ตั้งอยู่ไกลจากชุมชนถูกปล้นล้าง เผา และ/หรือถูกละทิ้ง ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 16 และต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นสมัยของการบูรณปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างที่ยังคงเหลืออยู่หรือที่รอดมาจากการถูกทำลาย[2][5]
ระหว่างสมัยเครือจักรภพแห่งอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1649 ถึงปี ค.ศ. 1660 เป็นสมัยของการทำลายรูปสัญลักษณ์ และสิ่งตกแต่งต่าง ๆ ภายในคริสต์ศาสนสถาน เช่น รูปปั้นรูปสลัก ภาพเขียน อนุสรณ์ผู้ตาย และอื่น ๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกทำลายไปหรือทำให้เสียหายไปเป็นจำนวนมาก หน้าต่างประดับกระจกสีจากยุคกลางถูกทุบแตก รูปปั้นถูกทุบทิ้งหรือทำให้เสียหาย ภาพเขียนจากยุคกลางแทบหายไปจากคริสต์ศาสนสถานทุกแห่งในอังกฤษ อาภรณ์ศักดิ์สิทธิ์ที่ปักอย่างงดงามก็ถูกเผา ถ้วยที่ใช้ทำพิธีศาสนาที่หลงเหลือมาจากสมัยการยุบอารามถูกหลอมเอาโลหะ ที่ทำให้ถ้วยที่สร้างก่อนหน้าการปฏิรูปศาสนาเหลืออยู่เพียง 50 ใบเท่านั้น[2][6]
เมื่อมาถึงสมัยการฟื้นฟูราชวงศ์อังกฤษในปี ค.ศ. 1660 ก็มีการฟื้นฟูคริสต์ศาสนสถานบ้างเช่นมหาวิหารลิชฟิลด์โดยเซอร์วิลเลียม วิลสัน[1] และการตกแต่งและการสร้างอนุสรณ์อันหรูหราเพิ่มเติม การสูญเสียมหาวิหารเซนต์พอลเก่าไปในเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอนในปี ค.ศ. 1666 ก็เท่ากับเป็นการสร้างมหาวิหารใหม่ทั้งหมด มหาวิหารเซนต์พอลปัจจุบันเป็นสถาปัตยกรรมบาโรกที่ออกแบบโดยเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน[2]
โดยทั่วไปแล้วตั้งแต่การปฏิรูปศาสนาเป็นต้นมา นอกจากการบูรณปฏิสังขรณ์ที่จำเป็น และการก่อสร้างอนุสรณ์ส่วนบุคคลแล้ว ก็แทบจะไม่มีความก้าวหน้าแต่อย่างใดในสถาปัตยกรรมการก่อสร้างมหาวิหารในอังกฤษ การหยุดยั้งการวิวัฒนาการเกิดขึ้นเป็นเวลาราว 250 ปีที่เป็นผลทำให้สิ่งก่อสร้างเสื่อมโทรมเป็นอันมากลงจากการถูกละเลย ที่สร้างความเสียหายให้แก่โครงสร้างเช่นเมื่อยอดมหาวิหารชิเชสเตอร์พังทลายลงมาในปี ค.ศ. 1861[1][2]
เมื่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 สถาปัตยกรรมสมัยกลางก็กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้งหนึ่ง ความซาบซึ้งในคุณค่าของสถาปัตยกรรมของยุคกลางของอังกฤษเริ่มขึ้นราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่เป็นผลทำให้มีการเริ่มบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารหลายแห่งโดยสถาปนิกเจมส์ ไวแอ็ทท์ ความกระตือรือร้นของการบูรณปฏิสังขรณ์ค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนมาถึงคริสต์ทศวรรษ 1840 เมื่อกลุ่มนักวิชาการสองกลุ่มที่เรียกตนเองว่าสมาคมออกซฟอร์ด (Oxford Society) และสมาคมเคมบริดจ์แคมเดน (Cambridge Camden Society) ทั้งสองสมาคมประกาศว่าสถาปัตยกรรมแบบเดียวที่เหมาะสมในการก่อสร้างคริสต์ศาสนสถานคือกอทิก จอห์น รัสคิน นักวิจารณ์ศิลปะเป็นอีกผู้หนึ่งที่สนับสนุนและเผยแพร่ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับสมัยกลางอย่างเต็มตัว สถาปนิกออกัสตัส พิวจินผู้ออกแบบส่วนใหญ่ให้กับคริสตจักรโรมันคาทอลิกสร้างงานที่ไม่แต่เป็นโครงสร้างของคริสต์ศาสนสถานของสมัยกลางแต่ยังใช้การตกแต่งอันวิจิตรและเต็มไปด้วยสีสรรค์ภายในสิ่งก่อสร้างด้วย แต่ก็หายไปแทบทั้งสิ้นและเหลืออยู่เพียงไม่กี่แห่งเช่นกระเบื้องไม่กี่แผ่นที่มหาวิหารวินเชสเตอร์ และมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี หรือเพดานไม้ที่ทาสีอย่างละเอียดที่มหาวิหารปีเตอร์บะระ[3][7]
สมัยวิกตอเรียเป็นสมัยของการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารและแอบบีย์ที่ยังหลงเหลืออยู่ สิ่งก่อสร้างบางแห่งที่ยังสร้างค้างอยู่ก็ได้รับการก่อสร้างให้เสร็จ ที่รวมไปถึงการตกแต่งภายในเช่นหน้าต่างประดับกระจกสี สถาปนิกที่มีบทบาทในยุคนี้ก็ได้แก่จอร์จ กิลเบิร์ต สกอตต์ (George Gilbert Scott), จอห์น ลัฟบะระ เพียร์สัน (John Loughborough Pearson) จอร์จ เฟรเดอริก โบดลีย์ (George Frederick Bodley) และ จอร์จ เอ็ดมันด์ สตรีท (George Edmund Street) [2][3]
เนื้อหา
มหาวิหารที่กล่าวถึงในบทความนี้รวมทั้ง: มหาวิหารบริสตอล, มหาวิหารแคนเทอร์เบอรี, มหาวิหารคาร์ไล, มหาวิหารเชสเตอร์, มหาวิหารชิคเชสเตอร์, มหาวิหารเดอรัม, มหาวิหารอีลี, มหาวิหารเอ็กซิเตอร์, มหาวิหารกลอสเตอร์, มหาวิหารแฮรฟอร์ด, มหาวิหารลิชฟิลด์, มหาวิหารลิงคอล์น, มหาวิหารนอริช, มหาวิหารออกซฟอร์ด, มหาวิหารปีเตอร์บะระ, มหาวิหารริพพอน, มหาวิหารรอเชสเตอร์, มหาวิหารเซนต์อัลบัน, มหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารซัดเดิร์ก, มหาวิหารเซาท์เวล, มหาวิหารเวลล์ส, มหาวิหารวินเชสเตอร์, มหาวิหารวูสเตอร์ และมหาวิหารยอร์ก นอกจากนั้นก็ยังมีการอ้างอิงถึง เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์ และมหาวิหารเดิมของกรุงลอนดอนที่รู้จักกันว่ามหาวิหารเซนต์พอลเก่า
สิ่งก่อสร้างจากยุคกลางที่ในปัจจุบันเป็นมหาวิหารในอังกฤษแต่เดิมเป็นคริสต์ศาสนสถานของนิกายโรมันคาทอลิกเพราะสร้างมาก่อนการปฏิรูปศาสนาในอังกฤษ ในปัจจุบันมหาวิหารเหล่านี้เป็นของคริสตจักรแห่งอังกฤษที่เป็นผลจากการเปลี่ยนมาเป็นศาสนาอย่างเป็นทางการของรัฐที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1534 ในรัชสมัยของพระเจ้าเฮนรีที่ 8
มหาวิหารแบ่งเป็นสามกลุ่มตามระบบการบริหารเดิม:
โบสถ์อื่น ๆ ที่อยู่ในข่ายของเนื้อหาก็ได้แก่: มหาวิหารเซนต์พอลเก่า, มหาวิหารบาธ และแอบบีย์เบเนดิกตินแห่งโคเวนทรีที่ถูกทำลายไประหว่างการยุบอาราม มหาวิหารเซนต์พอลเก่าที่ปกครองโดยเคลอจีประจำมุขมณฑลถูกทำลายระหว่างอัคคีภัยครั้งใหญ่ในลอนดอน ค.ศ. 1666 และมาสร้างแทนด้วยสิ่งก่อสร้างใหม่ที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้เป็นแบบบาโรกโดยเซอร์คริสโตเฟอร์ เรน มหาวิหารบาธเป็นมหาวิหารร่วมมุขมณฑลบาธและเวลล์สกับมหาวิหารเวลล์ส แม้ว่าจะเป็นวัดขนาดใหญ่แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมก็ไม่เทียมเท่ามหาวิหาร เช่นเดียวกับชาเปลคิงส์คอลเลจ หรือชาเปลเซนต์จอร์จในพระราชวังวินด์เซอร์ แอบบีโคเวนทรีเป็นมหารวิหารร่วมของมุขมณฑลลิชฟิลด์แต่มาถูกทำลายระหว่างการยุบอาราม โบสถ์เซนต์ไมเคิลซึ่งเป็นโบสถ์ประจำเขตแพริชโคเวนทรีจึงกลายมาเป็นมหาวิหารโคเวนทรี แต่ก็มาถูกทำลายในปี ค.ศ. 1918 จากการถูกระเบิดระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง เหลือก็แต่หอสูงที่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่งดงามที่สุดชิ้นหนึ่งในอังกฤษ มหาวิหารโคเวนทรีใหม่ที่ออกแบบโดยเซอร์แบซิล สเปนซ์ได้รับการสถาปนาใหม่ในปี ค.ศ. 1962 เป็นสิ่งก่อสร้างที่ผสานซากสิ่งก่อสร้างที่หลงเหลือจากการถูกระเบิดกับสถาปัตยกรรมใหม่[1][2][8]
บทบาททางศาสนา
ในทางปฏิบัติแล้วมหาวิหารเป็นสถานที่สำหรับทำพิธีทางศาสนาฉะนั้นการก่อสร้างจึงเป็นไปตามความต้องการทางการใช้สอย ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางของมุขมณฑลของบิชอปโดยเป็นที่ตั้งของคาเทดรา นอกจากที่นั่งของมุขนายกประจำมุขมณฑลแล้วก็จะมีที่นั่งประจำตำแหน่งที่สำคัญ ๆ ต่างที่รวมทั้งอธิการผู้เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่มากที่สุดของมหาวิหาร ผู้อำนวยการด้านเพลงสวด (precentor) ผู้ดูแลสมบัติมีค่าของโบสถ์ (sacristan) อัครพันธบริกร (archdeacon) และนักบวชอื่น ๆ นักบวชเหล่านี้ที่เป็นนักบวชนอกระบบสำนักสงฆ์ที่เดิมเป็นสมาชิกของสำนักสงฆ์มาก่อน และมีหน้าที่ทางศาสนาทุกวัน ฉะนั้นมหาวิหารจึงมักจะมีคูหาชาเปลเล็ก ๆ หลายคูหาภายในตัวมหาวิหาร เพื่อใช้ในการทำพิธีที่เป็นการส่วนตัวหรือสำหรับกลุ่มผู้ศรัทธาย่อยๆ ในอังกฤษการสร้างชาเปลมักจะหันไปทางทิศตะวันออก ฉะนั้นแขนกางเขนของมหาวิหารในอังกฤษจึงมักจะยาวเมื่อเทียบกับประเทศอื่น และบางครั้งถึงกับมีการสร้างกางเขนซ้อนเพื่อสามารถทำให้สร้างชาเปลที่หันไปทางตะวันออกได้มากขึ้น บริเวณหลักทางด้านตะวันออกสุดเป็นบริเวณสำหรับการทำพิธีและเป็นบริเวณสงฆ์[2]
พิธีศาสนาของมหาวิหารอังกฤษประกอบด้วยเพลงสวดที่เป็นเพลงสดุดีประจำวันและเพลงชาติที่ขับโดยคณะนักร้อง (Choir) ของมหาวิหารราวสามสิบคน ฉะนั้นทางด้านตะวันออกของหอกลางจึงเป็นที่ตั้งของที่นั่งนักดนตรีในบริเวณที่เรียกว่าบริเวณร้องเพลงสวด
ทางปลายด้านตะวันออกของบริเวณร้องเพลงสวดเป็นที่ตั้งของแท่นบูชาซึ่งเป็นที่ทำพิธีมหาสนัท บางครั้งบริเวณร้องเพลงสวดก็จะแยกจากช่องทางเดินกลางด้วยฉากหิน[1] (Pulpitum) ที่มีออร์แกนตั้งอยู่ข้างบน[2]
ช่องทางเดินกลางของมหาวิหารตามปกติแล้วเป็นบริเวณภายในสิ่งก่อสร้างที่ใช้โดยและเปิดให้แก่ประชาชนผู้ศรัทธาและสาธารณชนอื่น ๆ ในมหาวิหารใหญ่ ๆ โดยเฉพาะมหาวิหารที่แบ่งด้วยฉากหินเช่นที่มหาวิหารยอร์ก ก็อาจจะมีแท่นบูชาอีกแท่นบูชาหนึ่งนอกบริเวณสงฆ์ที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของช่องทางเดินกลางก่อนจะถึงบริเวณบริเวณร้องเพลงสวดที่ถือว่าเป็นเพรสไบเทอรี เพื่อที่จะให้เป็นที่ทำพิธีสำหรับผู้มีศรัทธาเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วช่องทางเดินกลางก็ยังใช้ในการเดินขบวนพิธี (procession) ภายในวัดด้วย
อุปกรณ์อีกอย่างหนึ่งสำหรับการทำพิธีคือแท่นอ่าน (lectern) ที่เป็นที่ตั้งคัมภีร์ไบเบิล แท่นเทศน์ซึ่งเป็นที่สำหรับอธิการหรือนักบวชให้การเทศนาจากพระคัมภีร์ ทางด้านตะวันตกจะเป็นที่ตั้งของอ่างศีลจุ่มที่ใช้สำหรับพิธีบัพติศมาโดยเฉพาะสำหรับเด็กที่เป็นสัญลักษณ์ในการรับเข้ามาเป็นคริสต์ศาสนิกชน อ่างบัพติศมามักจะทำด้วยหินและมักจะเป็นสิ่งที่เก่าที่สุดในมหาวิหารที่อาจสร้างมาตั้งแต่สมัยนอร์มัน
สถาปัตยกรรม
ข้อสังเกต: สัดส่วนที่อ้างมาจากจอห์น ฮาร์วีย์นอกจากจะอ้างอิงเป็นอย่างอื่น[1] สมัยและลักษณะทางสถาปัตยกรรมเป็นศัพท์ที่ใช้โดยแบนนิสเตอร์ เฟล็ทเชอร์ (Banister Fletcher) และผู้อื่นที่มีรากฐานมาจากริคแมนและชาร์พ[3]
ลักษณะโดยทั่วไปของมหาวิหารอังกฤษ
แผนผัง
มหาวิหารอังกฤษก็เช่นเดียวกับมหาวิหารในประเทศอื่นที่เป็นทรงกางเขนละติน (Latin Cross) โดยมีแขนกางเขน (transept) ทางขวางแขนเดียวเป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีบ้างที่มีแขนกางเขนซ้อนเช่นที่มหาวิหารซอลสบรี มหาวิหารลิงคอล์น มหาวิหารเวลล์ส และมหาวิหารแคนเทอร์เบอรี ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะในอังกฤษ นอกจากนั้นแขนกางเขนของอังกฤษก็มักจะยาวออกไปอย่างเด่นชัดกว่าของฝรั่งเศส มหาวิหารไม่ว่าจะเป็นมหาวิหารระบบสำนักสงฆ์หรือนอกระบบมักจะมีสิ่งก่อสร้างรองจากตัวมหาวิหารหลักโดยเฉพาะหอประชุมสงฆ์ และระเบียงคด
มหาวิหารส่วนใหญ่จะมีช่องทางเดินข้างข้างละหนึ่งช่องขนาบช่องทางเดินกลางที่จะมีระดับต่ำกว่า ที่ทำให้สามารถสร้างหน้าต่างชั้นบนเหนือช่องทางเดินกลางเพื่อให้แสงสาดเข้ามาในวัดได้มากขึ้น ข้อยกเว้นคือที่มหาวิหารบริสตอลที่ช่องทางเดินข้างมีความสูงเท่ากับช่องทางเดินกลางเช่นเดียวกับวัดโถง[2] (Hall church) ของวัดทางตอนเหนือของเยอรมนี และที่มหาวิหารชิเชสเตอร์ที่มีช่องทางเดินข้างข้างละสองคล้ายกับมหาวิหารในฝรั่งเศสบางมหาวิหาร มหาวิหารบางมหาวิหารที่มีแขนกางเขนกว้างก็อาจจะมีช่องทางเดินข้างทางด้านตะวันออกของแขนกางเขนเช่นที่มหาวิหารปีเตอร์บะระ, มหาวิหารเดอแรม, มหาวิหารลิงคอล์น และมหาวิหารซอลสบรี หรืออาจจะมีทั้งสองข้างเช่นที่มหาวิหารวินเชสเตอร์ มหาวิหารเวลส์ มหาวิหารอีลี และมหาวิหารยอร์ค[2][3]
ความยาว
ช่องทางเดินกลางหรือบางครั้งทางมุขตะวันออกมักจะยาวกว่ามหาวิหารในประเทศอื่น[3] มหาวิหาร 7 มหาวิหารในบรรดา 25 มหาวิหารอังกฤษ: มหาวิหารแคนเตอร์บรี, เดอแรม, อีลี, ลิงคอล์น, เซนต์อัลบัน, วินเชสเตอร์ และ ยอร์คมีช่องทางเดินกลางที่ยาวกว่า 150 เมตร (ราวระหว่าง 155 ถึง 169 เมตร) จะเทียบได้ก็แต่มหาวิหารมิลาน และมหาวิหารฟลอเรนซ์เท่านั้น อีก 9 มหาวิหาร นอริช, ปีเตอร์บะระห์, ซอลสบรี, วูสเตอร์, กลอสเตอร์, เวลล์ส, เอ็กซิเตอร์, ชิคเชสเตอร์ และ ลิชฟิลด์มีความยาวระหว่าง 120 ถึง 150 เมตร เมื่อเทียบกับมหาวิหารยาวๆ ทางตอนเหนือของฝรั่งเศสเช่น มหาวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส มหาวิหารอาเมียง มหาวิหารโนเทรอดามแห่งรูอ็อง มหาวิหารแร็งส์ และมหาวิหารชาร์ตร์ ก็มีความยาวระหว่าง 135 ถึง 140 เมตร เช่นเดียวกับมหาวิหารโคโลญในเยอรมนี มหาวิหารที่ยาวที่สุดในสเปนที่รวมทั้งมหาวิหารเซวิลล์ที่มีเนื้อที่ใช้สอยมากที่สุดในบรรดามหาวิหารในยุคกลางมีความยาวเพียง 120 เมตร[3] ห้ามหาวิหารอังกฤษ: เชสเตอร์, แฮรฟอร์ด, รอเชสเตอร์, เซาท์เวล และ ริพพอนมีความยาวระหว่าง 90 ถึง 115 เมตร อีกสี่มหาวิหารจะด้วยเหตุผลใดก็ตามไม่มีช่องทางเดินกลางหรือเหลืออยู่เพียงช่วงระหว่างทางเดินเท่านั้น ช่องทางเดินกลางของมหาวิหารบริสตอลและซัทเธิคมาสร้างในสมัยวิคตอเรีย ที่ทำให้คาร์ไลและออกซฟอร์ดที่มีช่องทางเดินกลางเพียงสองช่วงยาว 73 เมตร และสี่ช่วงยาว 57 เมตรตามลำดับ[1]
ความสูง
มหาวิหารอังกฤษเน้นความยาวแต่เมื่อมาถึงความสูงแล้วเพดานของมหาวิหารอังกฤษมักจะต่ำเมื่อเทียบกับมหาวิหารที่พบในประเทศอื่น ความสูงของเพดานหินที่สูงที่สุดในอังกฤษคือเพดานของแอบบีเวสต์มินสเตอร์ที่สูง 55 เมตร[3] เท่ากับมหาวิหารยอร์คแต่ของมหาวิหารยอร์คเป็นเพดานไม้ มหาวิหารอังกฤษส่วนใหญ่แล้วสูงประมาณระหว่าง 20 ถึง 26 เมตร[1] ซึ่งตรงกันข้ามกับมหาวิหารโบเวส์, อาเมียงส์, และโคโลญที่ความสูงภายในต่างก็สูงกว่า 42 เมตร[4]
หอ
สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญทางสถาปัตยกรรมของมหาวิหารอังกฤษที่ไม่พบที่อื่นคือหอสี่เหลี่ยมเหนือจุดตัดของแขนกางเขนกับทางเดินกลาง[3] หอที่ใหญ่ ๆ ก็ได้แก่หอของมหาวิหารเวลส์ที่สูง 55 เมตร และที่มหาวิหารลิงคอล์นที่สูง 82.5 เมตร[1] หอเหนือจุดตัดอาจจะเป็นจุดเด่นของสิ่งก่อสร้างจุดเดียวเช่นที่มหาวิหารซอลสบรี กลอสเตอร์ วูสเตอร์ นอริช และชิเชสเตอร์ หรืออาจจะรวมทั้งหอคู่ทางมุขด้านตะวันตกของโบสถ์เช่นที่มหาวิหารยอร์ก ลิงคอล์น แคนเทอร์เบอรี เดอแรม และเวลส์ ถ้ามีหอสามหอ หอเหนือจุดตัดก็มักจะเป็นหอที่สูงที่สุด หอสองหอของมหาวิหารเซาท์เวลเป็นด้วยยอดแหลมทรงปิรามิดที่มุงด้วยแผ่นตะกั่ว
มหาวิหารซอลสบรีและมหาวิหารนอริชมีหอกลางที่เป็นหอยอดแหลม (spire) ที่ยังคงตั้งอยู่ แต่หอของมหาวิหารชิคเชสเตอร์มาสร้างใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากหอเก่าพังทลายลงมา หอของมหาวิหารซอลสบรีสูง 123 เมตรซึ่งเป็นหอที่สูงที่สุดในอังกฤษ และเป็นหอหินตันที่สูงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 14 (ตรงข้ามกับหอหินโปร่งของเยอรมนีและฝรั่งเศส) และเป็นหอที่สูงที่สุดจากยุคกลางหอเดียวที่ยังไม่ได้รับการสร้างใหม่ แต่หอที่สูงกว่าต่อมาคือหอของมหาวิหารลิงคอล์นและมหาวิหารเซนต์พอลเก่า หอของมหาวิหารลิงคอล์นสร้างเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ถึงปี ค.ศ. 1548 เหนือหอกลางเป็นยอดแหลมที่สูงที่สุดในโลกในขณะนั้นที่สูงราว 170 เมตร มหาวิหารลิชฟิลด์มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวในอังกฤษตรงที่มีหอยอดแหลมหินสามหอ
แม้ว่าการสร้างหอทางตะวันตกเพียงหอเดียว (แทนที่จะเป็นสองหอขนาบทางเข้า) จะเป็นลักษณะที่นิยมกันในการก่อสร้างวัดประจำท้องถิ่นในอังกฤษ แต่มหาวิหารอีลีก็เป็นเพียงมหาวิหารเดียวที่สร้างในลักษณะที่ว่านี้โดยมีหอที่เตี้ยกว่าขนาบสองข้าง แต่หอทางด้านซ้ายพังทลายลงมาแล้ว[9] มหาวิหารอีลีเป็นมหาวิหารในอังกฤษแห่งเดียวที่มีสิ่งก่อสร้างเหนือจุดตัดที่ดูคล้ายหอตะเกียง [3] หลายเหลี่ยมที่นิยมสร้างกันในสเปน หอที่สร้างอย่างงดงามที่คล้ายโคมนี้เรียกว่า “ตะเกียงแปดเหลี่ยม” (The Octagon) ที่คร่อมทั้งช่องทางเดินกลางและช่องทางเดินข้างที่เชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อการออกแบบโดมของมหาวิหารเซนต์พอลโดยคริสต์โตเฟอร์ เร็น ด้านบนรับด้วยคานแฮมเมอร์ (hammer-beam) ที่ซ่อนไว้ซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมกอธิคแบบอังกฤษ[2]
ด้านหน้า
ลักษณะการก่อสร้างด้านหน้าของมหาวิหารของอังกฤษแตกต่างกันออกไปมากแทนที่จะค่อย ๆ วิวัฒนาการเช่นมหาวิหารทางตอนเหนือของฝรั่งเศสหรือในบริเวณอื่นในยุโรปที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมกอทิกฝรั่งเศส[3] ในหลายกรณีด้านหน้าของมหาวิหารไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรมยุคใดมักจะใช้เป็นฉากตกแต่งที่มีช่องเล็กช่องน้อยสำหรับวางรูปสลัก ซึ่งมาถูกดึงลงมาทำลายไปมากในคริสต์ศตวรรษที่ 17 จะยังเหลืออยู่ก็เพียงไม่กี่แห่งเช่นบน “ระเบียงกษัตริย์” ของมหาวิหารลิงคอล์นยังคงเหลืออยู่เพราะตั้งอยู่สูงเกินเอื้อม หรือระเบียงรูปสลักที่ถูกกัดกร่อนไปตามกาลเวลาของมหาวิหารเอ็กซิเตอร์[2]
ด้านหน้าของมหาวิหารอังกฤษส่วนใหญ่แบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ แต่ละกลุ่มก็มีรายละเอียดที่ต่างกันไป กลุ่มแรกเป็นมหาวิหารที่มีหอคู่อยู่ทางมุขตะวันตกเช่นที่มหาวิหารแคนเตอร์บรี, มหาวิหารเดอแรม, มหาวิหารเซาท์เวล, มหาวิหารเวลล์ส, มหาวิหารริพพอน และมหาวิหารยอร์ค ระหว่างหอก็อาจจะเป็นหน้าต่างที่มีลวดลายตกแต่งของสมัยกอธิควิจิตรเช่นที่มหาวิหารยอร์ค และมหาวิหารแคนเตอร์บรี หรือหน้าต่างเรียบที่ปราศจากลวดลายซี่หิน (untraceried lancet) ของกอธิคตอนต้นเช่นที่มหาวิหารริพพอน หรือมหาวิหารเวลล์ส ซึ่งจะแทบไม่มีหน้าต่างกุหลาบเช่นในมหาวิหารของฝรั่งเศส ประตูทางเข้ามักจะมีสามประตูแต่ไม่เหมือนมหาวิหารของฝรั่งเศสที่จะไม่สูงและไม่มีการตกแต่งอย่างวิจิตร และจะเน้นประตูกลางมากกว่าประตูข้าง แต่ประตูทางเข้าที่ใช้บ่อยมักจะนิยมสร้างทางด้านข้างของตัววัดที่เข้ามายังช่องทางเดินข้างแทนที่จะเข้ามาทางมุขตะวันตกหรือด้านหน้า[3]
ถ้าไม่มีหอใหญ่สองหอทางมุขตะวันตกก็มักจะมีหอที่มียอดแหลมเล็กเป็นกรอบด้านหน้ามหาวิหารหรือช่องทางเดินกลางแทนที่ คล้ายกับการใช้ค้ำยันขนาดใหญ่ เช่นที่พบที่มหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารวินเชสเตอร์ และ มหาวิหารรอเชสเตอร์ ด้านหน้ามหาวิหารลิงคอล์นเป็นฉากหินแบบกอธิคที่มีค้ำยันที่สร้างขวางด้านหน้าที่รวมทั้งประตูทางเข้าแบบนอร์มัน แต่ซ่อนหอนอร์มันไว้ข้างหลัง และมาสร้างเสริมให้สูงขึ้นเหนือฉากต่อมา
ด้านหน้าของมหาวิหารปีเตอร์บะระเป็นฉากแบบกอธิคที่ยื่นออกมาจากทางเดินกลางแบบนอร์มัน ฉากที่ว่านี้เป็นซุ้มโค้งขนาดใหญ่สามซุ้ม ซุ้มสองซุ้มด้านนอกที่กว้างเป็นกรอบให้ซุ้มกลางที่แคบกว่า ความใหญ่โตของประตูทำให้บดบังความเด่นของส่วนประกอบอื่น ๆ ของด้านหน้าเช่นเช่นหอสองหอที่สูงไม่เท่ากันที่สร้างอยู่หลังฉาก ลักษณะสถาปัตยกรรมด้านหน้าของของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์เป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ที่แปลกกว่ามหาวิหารอื่นที่ไม่มีผู้ใดทำกันมาก่อนและไม่มีผู้ใดสร้างตาม แม้ว่าจะมีข้อบกพร่อง ๆ ต่างแต่ก็ถือกันว่าเป็นงานชิ้นเอกของสถาปัตยกรรมแบบกอธิคที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความมีจินตนาการของสถาปนิกอังกฤษในยุคกลาง[2]
มุขตะวันออก
มุขตะวันออกหรือด้านหลังของมหาวิหารอังกฤษมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปมากกว่าที่พบในประเทศอื่น มหาวิหารที่สร้างในสมัยนอร์มันจะมีมุขตะวันออกที่สูงและล้อมรอบด้วยจรมุข (ambulatory) ที่ต่ำกว่าเช่นเดียวกับทางตอนเหนือของฝรั่งเศส เช่นมุขตะวันออกของมหาวิหารนอริชและบางส่วนของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์ และมีร่องรอยของทรงนี้จากสถาปัตยกรรมกอธิคอังกฤษตอนต้นของมุขตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรีแต่ในมหาวิหารอื่นๆ ส่วนนี้ได้รับการขยายเปลี่ยนแปลง[3]
มุขตะวันออกที่สร้างแบบกอทิกจะเป็นสี่เหลี่ยมและอาจจะเป็นคล้ายผาเช่นที่มหาวิหารยอร์ก, มหาวิหารลิงคอล์น, มหาวิหารริพพอน, มหาวิหารอีลี และมหาวิหารคาร์ไล หรืออาจจะมีชาเปลแม่พระใหญ่ยื่นออกไปจากมุขซึ่งก็มีด้วยกันหลายแบบเช่นที่มหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารลิชฟิลด์, มหาวิหารแฮรฟอร์ด, มหาวิหารเอ็กซิเตอร์ และมหาวิหารชิคเชสเตอร์.
มุขตะวันออกของมหาวิหารนอริช และมหาวิหารแคนเตอร์บรีก็มีชาเปลยื่นออกไป แต่ที่นอริชเป็นส่วนที่สร้างเพิ่มเติมแบบกอธิคจากส่วนที่เดิมเป็นแบบนอร์มัน ส่วนที่แคนเตอร์บรีส่วนนี้เรียกว่า “มงกุฎ” (Corona) เป็นแบบสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษตอนต้นที่สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ตั้งของกะโหลกของนักบุญทอมัส เบ็กเก็ตที่ถูกเฉือนออกไปโดยผู้ลอบสังหาร[2] มุขตะวันออกของมหาวิหารอื่นเช่นมหาวิหารเดอแรม, มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ และมหาวิหารกลอสเตอร์ได้รับการขยายเปลี่ยนแปลงและไม่เป็นรูปทรงที่ไม่สามารถบอกลักษณะที่สำคัญได้
ลักษณะภายนอก
มหาวิหารอังกฤษมักจะล้อมรอบด้วยลานหญ้ากว้างใหญ่ที่สามารถทำให้มองเห็นลักษณะโครงสร้างได้อย่างชัดเจนซึ่งไม่เหมือนกับมหาวิหารในยุโรปที่มักจะล้อมรอบด้วยบ้านเรือนหรือกลุ่มสิ่งก่อสร้างของอาราม[3] ภาพพจน์ของมหาวิหารแบบอังกฤษคือสิ่งก่อสร้างที่มีแขนขาแผ่ออกไป ส่วนที่ยื่นออกไปตามแนวนอนได้รับความสมดุลจากหอใหญ่เหนือจุดตัดและ/หรือด้านหน้าที่ตั้งตามแนวดิ่ง มหาวิหารหลายมหาวิหารโดยเฉพาะที่มหาวิหารวินเชสเตอร์, มหาวิหารเซนต์อัลบัน และมหาวิหารปีเตอร์บะระห์ที่หอไม่ค่อยสูงเท่าใดนักจนทำให้ได้รับคำบรรยายว่าดูคล้าย “เรือบรรทุกอากาศยาน”
-
มหาวิหารซอลสบรี
ล้อมรอบด้วยภูมิทัศน์
-
“
เรือบรรทุกอากาศยาน”
มหาวิหารเซนต์อัลบัน
-
“เรือแห่งเฟ็นส”
มหาวิหารอีลี
-
“สามสาวแห่งเวล”
มหาวิหารลิชฟิลด์
-
มหาวิหารเดอรัม
บนเนินชันเหนือแม่น้ำเวียร์
นอกจากมหาวิหารแทบทุกมหาวิหารจะเป็นสิ่งก่อสร้างที่ประทับตาประทับใจแล้วก็ยังเป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญในการเป็นที่หมายตาและเป็นองค์ประกอบของภูมิทัศน์ที่มองเห็นได้แต่ไกลจากทุ่งโล่ง เช่นมหาวิหารอีลีที่สูงเด่นขึ้นมาเมื่อมีน้ำท่วมในบริเวณนั้นจนได้รับฉายาว่า “เรือแห่งเฟ็นส” (The Ship of the Fens) [2] หรือหอสามหอของมหาวิหารลิชฟิลด์ที่ได้รับฉายาว่า “สามสาวแห่งเวล” (The Ladies of the Vale) [2] หรือ “หออันงดงาม”[2] ของมหาวิหารวูสเตอร์สามารถมองเห็นจากอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำเซเวิร์น[8] มหาวิหารลิงคอล์นที่มีหอสามหอด้านหน้ามหาวิหาร หอที่สูงที่สุดสูงถึง 80 เมตรตั้งเด่นสง่าอยู่บนเนินสูงเหนือตัวเมือง มหาวิหารซอลสบรีที่มี “ยอดแหลมอันไม่มีที่ติ” (faultless spire) [2] ที่กลายเป็นภาพสัญลักษณ์ของทิวทัศน์ของอังกฤษ และยิ่งทำให้แพร่หลายยิ่งขึ้นไปอีกจากภาพเขียนของจอห์น คอนสตาเบิล (John Constable) ทางด้านเหนือของอังกฤษ มหาวิหารเดอแรมก็ตั้งเด่นบนเนินชันเหนือแม่น้ำเวียร์ราวกับเป็น “กึ่งสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และกึ่งปราสาทที่สร้างความยำเกรงแก่ชาวสกอต”[2][10]
ลักษณะภายใน
เน้นแนวนอน
ความที่ลักษณะการก่อสร้างของมหาวิหารอังกฤษแตกต่างจากกันเป็นอันมากทำให้ลักษณะภายในก็ต่างกันมากเช่นกัน ภายในมหาวิหารแบบอังกฤษมักจะสร้างความประทับตาว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่ยาวหรือลึก และตามความเป็นจริงแล้วก็เป็นสิ่งก่อสร้างที่ยาวจริงๆ นอกจากนั้นแล้วการก่อสร้างของสถาปัตยกรรมของยุคกลางก็ยังแตกต่างกับมหาวิหารในประเทศอื่นที่เน้นความประทับตาตามแนวนอนมากกว่าที่จะเน้นแนวตั้งเช่นในฝรั่งเศส โดยเฉพาะในกรณีของมหาวิหารเวลล์สที่ไม่มีผนังแนวตั้งที่ต่อเนื่องกันตลอดแนวให้เห็น แต่มีระเบียงแนบที่ตั้งตลอดแนวของช่องทางเดินกลางที่ดูสุดลูกหูลูกตา
มหาวิหารซอลสบรีก็เช่นกันที่ไม่เน้นแนวตั้งและใช้การตกแต่งภายใต้ระเบียงแนบด้วยเสาที่ทำด้วยหินเพอร์เบ็ค (Purbeck stone) ที่ช่วยเพิ่มความยาวหรือความลึกของแนวนอน มหาวิหารวินเชสเตอร์, มหาวิหารนอริช และมหาวิหารเอ็กซิเตอร์เน้นแนวนอนโดยการใช้สันบนเพดานโค้งที่ตกแต่งอย่างงดงาม[2]
เพดานโค้ง
-
เพดานโค้งประทุน
มหาวิหารคาร์ไล
-
เพดานโค้งแบบฝรั่งเศส
มหาวิหารชิคเชสเตอร์
-
“เพดานโค้งสอดสลับ”
มหาวิหารวินเชสเตอร์
-
“เพดานโค้งแห”
มหาวิหารยอร์ก
-
ความซับซ้อนของเพดานโค้งเป็นลักษณะสำคัญอีกลักษณะหนึ่งของมหาวิหารอังกฤษ[3] เพดานโค้งมีตั้งแต่เพดานโค้งแบบง่ายๆ ตามแบบเพดานโค้งแบบฝรั่งเศสเช่นที่มหาวิหารชิคเชสเตอร์ไปจนถึงเพดานโค้งที่ซับซ้อนขึ้นที่รวมทั้ง “เพดานโค้งซ้อน” (“tierceron”) ที่มหาวิหารเอ็กซิเตอร์ หรือ “เพดานโค้งสอดสลับ” (“lierne”) ที่มหาวิหารนอริช หรือที่ซับซ้อนยิ่งไปกว่านั้นก็ที่มหาวิหารวินเชสเตอร์, หรือเพดานโค้งสอดสลับที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิหารบริสตอล, หรือเพดานโค้งเป็นแหเหนือบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารกลอสเตอร์ และมหาวิหารยอร์ก เพดานพัดหลังบริเวณร้องเพลงสวดที่มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ และเพดานที่แต่งด้วยปุ่มหินที่ห้อยลงมาเหมือนตะเกียงในบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารออกซฟอร์ด[2] เพดานที่วิวัฒนาการขึ้นมาอย่างซับซ้อนเป็นลักษณะเฉพาะของอังกฤษ นอกไปจากเพดานดาวของสเปนและเยอรมนี[3]
ลักษณะสถาปัตยกรรม
แซกซันและนอร์มัน
แม้ว่ามหาวิหารในอังกฤษส่วนใหญ่ที่เป็นสถาปัตยกรรมนอร์มันสร้างแทนที่คริสต์ศาสนสถานเดิมที่เป็นแบบแซ็กซอน มหาวิหารริพพอนยังคงรักษาคริพท์ (crypt) ที่เป็นแบบแซ็กซอนภายใต้บริเวณร้องเพลงสวด มหาวิหารทุกมหาวิหารที่ก่อสร้างในยุคกลางยกเว้นมหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารลิชฟิลด์ และ มหาวิหารเวลล์สพอมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมนอร์มันหลงเหลืออยู่บ้าง และตัวสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่ของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์, มหาวิหารเดอแรม และ มหาวิหารนอริชยังคงเป็นสถาปัตยกรรมนอร์มัน บางมหาวิหารก็มีบางส่วนที่เป็นแบบนอร์มันเช่นช่องทางเดินกลางของมหาวิหารอีลี, มหาวิหารกลอสเตอร์ และ มหาวิหารเซาท์เวลยังคงเป็นแบบนอร์มัน หรือหัวเสาแกะสลักเป็นสิงหาราสัตว์แบบนอร์มันที่มีชื่อเสียงภายในคริพท์ของมหาวิหารแคนเตอร์บรี[2]
กอธิคตอนต้น
มหาวิหารหลายมหาวิหารมีบริเวณหลักๆ ที่สร้างขึ้นระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง 13 ในสมัยสถาปัตยกรรมที่เรียกว่า “กอธิคตอนต้น” หรือ “กอธิคแลนเซ็ท” ที่เห็นได้จากลักษณะที่เรียบง่าย ไม่มีลวดลายตกแต่งด้วยซี่หินในบานหน้าต่าง ตัวอย่างของสถาปัตยกรรมกอธิคตอนต้นที่สำคัญคือที่มหาวิหารซอลสบรี, มหาวิหารเวลล์ส และมหาวิหารวูสเตอร์, ทางแขนกางเขนด้านตะวันออกของมหาวิหารแคนเตอร์บรี, มหาวิหารแฮรฟอร์ด และมหาวิหารซัทเธิค, และแขนกางเขนของมหาวิหารยอร์ค นอกจากนั้นสมัยนี้ยังเป็นสมัยที่มีการก่อสร้างด้านหน้าอย่างบรรเจิดเช่นที่ด้านหน้าของมหาวิหารปีเตอร์บะระห์ หรือที่ไม่หรูหราเท่าและกลมกลืนกว่าของมหาวิหารริพพอน[2]
กอธิควิจิตร
กอธิควิจิตรจะเห็นหน้าต่างที่มีการตกแต่งด้วยซี่หินเป็นลวดลายที่อาจจะเป็นลวดลายเรขาคณิตหรือม้วนโค้ง มหาวิหารมีส่วนที่สร้างเป็นแบบเรขาคณิตระหว่างกลางคริสต์ศตวรรษที่ 13 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 14 ที่รวมทั้งมหาวิหารลิงคอล์น, มหาวิหารลิชฟิลด์, บริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารอีลี และหอประชุมสงฆ์ของมหาวิหารซอลสบรี และมหาวิหารเซาท์เวล เมื่อมาถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 การตกแต่งหน้าต่างก็เริ่มรวมการตกแต่งที่ใช้เส้นม้วนโค้งที่เห็นได้จากหน้าต่างของหอประชุมสงฆ์ของมหาวิหารยอร์ค, หอประชุมสงฆ์แปดเหลี่ยมของมหาวิหารอีลี และหน้าต่างทางมุขตะวันตกของมหาวิหารเอ็กซิเตอร์.
การวิวัฒนาการต่อมาก็รวมทั้งการใช้เส้นม้วนโค้งซ้อนหรือเส้นโค้งคล้ายเปลวไฟที่มักจะพบในหน้าต่างที่สร้างราวคริสต์ทศวรรษ 1320 โดยเฉพาะหน้าต่างด้านหลังของบริเวณร้องเพลงสวดที่มหาวิหารเวลล์ส และของช่องทางเดินกลางของมหาวิหารเอ็กซิเตอร์ การตกแต่งลักษณะนี้มักจะทำร่วมกับการใช้เพดานสันที่สลับเส้นสันกันอย่างซับซ้อนเช่นในหอประชุมสงฆ์ของมหาวิหารเวลล์สและบนเพดานของมหาวิหารเอ็กซิเตอร์ที่แล่นตลอดแนวช่องทางเดินกลางโดยไม่มีหอกลางมาขัดที่ยาวถึง 91 เมตร และเป็นเพดานโค้งจากยุคกลางที่ยาวที่สุดในโลก[2]
ช่วงสุดท้ายของกอธิควิจิตรแบบโค้งม้วนเห็นได้ในงานตกแต่งเส้นโค้งม้วนที่ซับซ้อนมากขึ้น หน้าต่างที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดในอังกฤษสร้างในช่วงเวลานี้ระหว่าง ค.ศ. 1320 ถึง ค.ศ. 1330 ที่รวมทั้งหน้าต่างกุหลาบบนผนังของแขนกางเขนด้านใต้ที่เรียกกันว่า “ตาพระสังฆราช” ที่มหาวิหารลิงคอล์น, “หัวใจของยอร์คเชอร์” บนมุขด้านตะวันตกของมหาวิหารยอร์ค และหน้าต่างเก้าช่องของมหาวิหารคาร์ไล[1][2]
นอกจากนั้นก็ยังมีงานชิ้นเล็กๆ ภายในมหาวิหารที่สร้างแบบกอธิควิจิตรแบบโค้งม้วนที่รวมทั้งซุ้มโค้งของชาเปลพระแม่มารีที่มหาวิหารอีลีที่มีเพดานโค้งที่กว้างที่สุดในอังกฤษ, ฉากหินที่มหาวิหารลิงคอล์น และประตูที่ตกแต่งอย่างงดงามของมหาวิหารอีลี และมหาวิหารรอเชสเตอร์ ลักษณะที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของยุคนี้คือการสร้างเพดานโค้งที่ซับซ้อนที่เรียกว่า “เพดานโค้งสอดสลับ” (“lierne”) ที่สันเพดานต่อเนื่องกันโดยสันที่ไขว้สลับที่ไม่ได้พุ่งออกมาจากผนังซึ่งทำให้ไม่ใช่สิ่งที่มีความสำคัญต่อโครงสร้าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเพดานโค้งของมหาวิหารบริสตอล หรือมหาวิหารยอร์ค[1][2]
กอธิคเพอร์เพ็นดิคิวลาร์
ในคริสต์ทศวรรษ 1330 เมื่อสถาปนิกในยุโรปนิยมการตกแต่งแบบกอธิควิจิตร สถาปัตยกรรมอังกฤษก็เริ่มหันจากการตกแต่งแบบโค้งม้วนไปในแนวใหม่ที่เรียบกว่ากอธิคเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ เช่นในการก่อสร้างบริเวณร้องเพลงสวดของแอบบีนอร์มันที่ปัจจุบันเป็นมหาวิหารที่มหาวิหารกลอสเตอร์ สถาปัตยกรรมกอธิคเพอร์เพ็นดิคิวลาร์ที่ใช้การไขว้สลับซี่หินแทนที่จะเป็นการแกะสลักด้วยเส้นโค้งม้วนเช่นที่ทำกันในสมัยกอธิควิจิตร ที่ทำให้ผลที่ออกมาดูกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เช่นในการสร้างโครงสร้างของหน้าต่างของมุขตะวันออกและหน้าต่างชั้นบนที่ผสานกับลักษณะของซุ้มโค้งภายใต้และเพดานโค้งเหนือขึ้นไป ลักษณะการก่อสร้างที่ว่านี้เป็นลักษณะที่แปรเปลี่ยนได้ง่ายและใช้ในการสร้างช่องทางเดินกลางของมหาวิหารแคนเตอร์บรีและมหาวิหารวินเชสเตอร์ และในบริเวณร้องเพลงสวดของมหาวิหารยอร์ค
ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 15 หอของมหาวิหารในอังกฤษไม่ก็สร้างหรือต่อเติมเป็นแบบเพอร์เพ็นดิคิวลาร์กันในสมัยนี้ ที่รวมทั้งหอของมหาวิหารกลอสเตอร์, วูสเตอร์,เวลล์ส, ยอร์ค, เดอแรม และ แคนเตอร์บรี และยอดแหลมของมหาวิหารชิชิสเตอร์ และมหาวิหารนอริช
การออกแบบภายในก็มาถึงช่วงสุดท้ายที่สร้างกันต่อมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เป็นการวิวัฒนาการการสร้างเพดานพัดที่สร้างกันเป็นครั้งแรกราวคริสต์ทศวรรษ 1370 ภายในระเบียงคดของมหาวิหารกลอสเตอร์ และต่อมาที่ด้านหลังของบริเวณร้องเพลงสวดที่มหาวิหารปีเตอร์บะระห์ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 15 หรือที่ยิ่งหรูหรากว่านั้นในการใช้ปุ่มหินห้อยบนเพดานเหนือบริเวณร้องเพลงสวดแบบนอร์มันที่มหาวิหารออกซฟอร์ด หรือในการตกแต่งชาเปลของพระเจ้าเฮนรีที่ 7ที่แอบบีเวสต์มินสเตอร์ในขณะที่อิตาลีอยู่ในสมัยการก่อสร้างแบบฟื้นฟูศิลปวิทยาเข้าไปแล้ว[1][2][3]
ลักษณะความแตกต่างทางสถาปัตยกรรม
ผังของมหาวิหารซอลสบรีที่เป็นรูปกางเขนซ้อนมักจะใช้ในการอ้างถึงในประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมในการเปรียบเทียบระหว่างสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอังกฤษกับสถาปัตยกรรมกอทิกแบบฝรั่งเศสและสถาปัตยกรรมกอทิกแบบอิตาลีหรือกับในประเทศอื่นๆ[11] มหาวิหารซอลสบรีมีลักษณะหลายอย่างซึ่งเป็นลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของอังกฤษ เช่นผังของมหาวิหารวูสเตอร์ที่คล้ายคลึงกับของมหาวิหารซอลสบรี ทั้งสองซอลสบรีมีแขนกางเขนซ้อนกันสองแขน, มีหอเหนือจุดตัดขนาดใหญ่, ซุ้มทางเข้า (porch) ของช่องทางเดินกลางทางด้านเหนือขนาดใหญ่ และ ระเบียงคดทางด้านใต้ที่เปิดออกไปยังหอประชุมสงฆ์หลายเหลี่ยม[1] ภายในทัศนมิติก็คล้ายคลึงกันที่ประกอบด้วยหน้าต่างแลนเซ็ทบนมุขตะวันออก และเรียงรายด้วยเสาสลับสีตัดกันที่ทำด้วยหินเพอร์เบ็ค แต่เมื่อมาถึงประวัติศาตร์แล้วสองมหาวิหารนี้ก็แตกต่างกันมาก มหาวิหารซอลสบรีใช้เวลาสร้าง 160 ปีก็เสร็จตั้งแต่การวางรากฐานในปี ค.ศ. 1220 จนเมื่อสร้างหอยอดแหลมในปี ค.ศ. 1380 ส่วนมหาวิหารวูสเตอร์ใช้เวลาถึง 420 ปีตั้งแต่การสร้างคริพท์แบบนอร์มันในปี ค.ศ. 1084 ไปจนถึงการสร้างชาเปลเจ้าชายอาร์เธอร์ในปี ค.ศ. 1504[1] แต่ประวัติการก่อสร้างของมหาวิหารวูสเตอร์เป็นประวัติที่คล้ายคลึงกับประวัติของการก่อสร้างมหาวิหารอื่นๆ ในอังกฤษในยุคก
างมากกว่าประวัติของมหาวิหารซอลสบรี
การก่อสร้างมหาวิหารซอลสบรี
ระหว่างปี ค.ศ. 1075 ถึงปี ค.ศ. 1228 มหาวิหารซอลสบรีตั้งอยู่บนเนินใกล้กับป้อมที่โอลด์เซรัม เมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทางมหาวิหารก็ตัดสินใจย้ายที่ตั้งจากบนเนินไปตั้งบนที่ราบไม่ไกลจากที่ตั้งเดิมนัก สิ่งก่อสร้างใหม่ออกแบบเป็นแบบกอธิคแลนเซ็ท (หรือที่เรียกว่ากอธิคอังกฤษตอนต้น) โดยนายช่างหินเอกอีไลอัสแห่งเดอแรม (Elias of Dereham) และนิโคลัสแห่งอีลี (Nicholas of Ely) โดยเริ่มก่อสร้างในปี ค.ศ. 1220 ทางด้านมุขตะวันออกมาทางตะวันตกจนกระทั่งปี ค.ศ. 1258 จึงสร้างเสร็จ ส่วนที่สร้างต่อมาเป็นสถาปัตยกรรมเรขาคณิตวิจิตร (Geometric Decorated) ที่ตกแต่งด้วยลวดลายซี่หินในบานหน้าต่างและตามซุ้ม ราวห้าสิบปีหลังจากนั้นจึงได้มีการเริ่มสร้างหอกลางเหนือจุดตัดโดยสถาปนิกริชาร์ด ฟาร์ลีห์ การตกแต่งหรูหรากว่าลักษณะการก่อสร้างตอนต้น มหาวิหารทั้งหมดสร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1380 การต่อเติมต่อมาก็เป็นเพียงแต่การสร้างหนุนซุ้มโค้งและหอเมื่อเสาข้างหนึ่งของหอเริ่มโก่งตัว สรุปแล้วมหาวิหารซอลสบรีแบ่งการก่อสร้างเป็นสามช่วงในระยะเวลา 160 ปีซึ่งทำให้เป็นมหาวิหารที่มีลักษณะความแตกต่างทางสถาปัตยกรรมน้อยที่สุดและดูกลมกลืนกันมากที่สุดในอังกฤษ[1][2][8]
การก่อสร้างมหาวิหารวูสเตอร์
ประวัติการก่อสร้างของมหาวิหารวูสเตอร์ไม่เหมือนกับของมหาวิหารซอลสบรี ส่วนสำคัญของมหาวิหารสร้างมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 มาจนถึง คริสต์ศตวรรษที่ 16
ส่วนที่เก่าที่สุดเป็นคริพท์รับด้วยคอลัมน์แบบนอร์มันที่มีหัวเสาแกะสลักที่เป็นของอารามที่เริ่มสร้างโดยนักบุญวูลฟสตันในปี ค.ศ. 1084 อีกส่วนหนึ่งที่เป็นสถาปัตยกรรมนอร์มันคือหอประชุมนักบวชที่เป็นหอกลมสร้างในปี ค.ศ. 1120 ที่มาเปลี่ยนเป็นทรงแปดเหลี่ยมทางด้านนอกเมื่อมาเสริมกำแพงในคริสต์ศตวรรษที่ 14 ช่องทางเดินกลางสร้างแล้วสร้างซ้ำเป็นช่วงๆ เป็นหลายแบบหลายลักษณะโดยสถาปนิกหลายคนในช่วงระยะเวลาที่รวมทั้งหมดด้วยกันกว่า 200 ปีระหว่างปี ค.ศ. 1170 ถึงปี ค.ศ. 1374 ช่วงซุ้มโค้งบางช่วงก็เป็นงานกึ่งนอร์มันกึ่งกอธิค มุขตะวันออกแบบนอร์มันสร้างเหนือคริพท์เดิมโดยอเล็กซานเดอร์ เมสันระหว่างปี ค.ศ. 1224 ถึงปี ค.ศ. 1269 ที่มีลักษณะคล้ายกับลักษณะส่วนใหญ่ของมหาวิหารซอลสบรี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1360 จอห์น ไคลฟ์ก็สร้างช่องทางเดินกลางเสร็จและเริ่มสร้างเพดานโค้งเหนือช่องทางเดิน, มุขตะวันตก, ซุ้มทางเข้าทางด้านเหนือ และทางตะวันออกของระเบียงคด นอกจากนั้นแล้วไคลฟ์ก็ยังสร้างเสริมกำแพงของหอประชุมสงฆ์นอร์มันโดยเพิ่มค้ำยันและเปลี่ยนเพดานโค้ง งานชิ้นเอกของไคลฟ์คือหอกลางเหนือจุดตัดที่สร้างในปี ค.ศ. 1374 เดิมหนุนด้วยไม้และปูหลังคาด้วยตะกั่ว ระหว่างปี ค.ศ. 1404 ถึงปี ค.ศ. 1432 สถาปนิกไม่ทราบนามต่อเติมด้านเหนือและใต้ของระเบียงฉันนบถ ที่ต่อมามาต่อด้วยส่วนตะวันตกที่สร้างโดยจอห์น แช็พแมนระหว่างปี ค.ศ. 1435 ถึงปี ค.ศ. 1438 ส่วนสำคัญส่วนสุดท้ายที่สร้างคือชาเปลแชนทรีสำหรับเจ้าชายอาร์เธอร์ทางด้านขวาของบริเวณร้องเพลงสวดด้านใต้ระหว่างปี ค.ศ. 1502 ถึงปี ค.ศ. 1504[1][2][8]
ลักษณะเด่นของแต่ละมหาวิหาร
ข้อสังเกต: วันที่ที่อ้างถึงข้างล่างเป็นเวลาที่กล่าวโดยจอห์น ฮาร์วีย์[1]
อ้างอิง
- ↑ 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 1.17 John Harvey, English Cathedrals
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 2.19 2.20 2.21 2.22 2.23 2.24 2.25 2.26 2.27 2.28 2.29 2.30 2.31 2.32 2.33 2.34 2.35 2.36 2.37 2.38 2.39 2.40 2.41 2.42 2.43 2.44 2.45 2.46 2.47 2.48 2.49 2.50 2.51 2.52 2.53 2.54 2.55 2.56 2.57 Alec Clifton-Taylor, ‘’The Cathedrals of England’’
- ↑ 3.00 3.01 3.02 3.03 3.04 3.05 3.06 3.07 3.08 3.09 3.10 3.11 3.12 3.13 3.14 3.15 3.16 3.17 3.18 Banister Fletcher, ‘’History of Architecture on the Comparative Method.’’
- ↑ 4.0 4.1 4.2 4.3 Nikolaus Pevsner, ‘’An Outline of European Architecture’’
- ↑ F.H. Crossley, ‘’The English Abbey’’
- ↑ J.C. Cox and C.B. Ford, ‘’Parish Churches’’
- ↑ Phoebe Stanton, ‘’Pugin’’
- ↑ 8.00 8.01 8.02 8.03 8.04 8.05 8.06 8.07 8.08 8.09 8.10 8.11 8.12 8.13 8.14 8.15 8.16 8.17 8.18 8.19 8.20 8.21 8.22 8.23 8.24 Tim Tatton-Brown and John Crook, ‘’The English Cathedral’’
- ↑ Hereford Cathedral also had a single western tower, as well as its central tower. The western tower fell in 1786.
- ↑ Sir Walter Scott
- ↑ See for example- Nikolaus Pevsner, ‘’An Outline of European Architecture’’.
- ↑ John Shirley, ‘’ A Pictorial History of Canterbury Cathedral’’.
- ↑ C.J. Stranks, ‘’A Pictorial History of Durham’’
- ↑ The towers also occupied this position at Old Sarum and Ottery St Mary. ref. ACT
- ↑ H.R. Burrows, A Pictorial History of Hereford Cathedral’’
- ↑ D.C. Dunlop, ‘’ A Pictorial History of Lincoln Cathedral’’.
- ↑ J.L. Cartwright, ‘’ A Pictorial History of Peterborough Cathedral’’
- ↑ 18.0 18.1 Lee, Seddon and Stephens, ‘’Stained Glass’’
- ↑ N. Sykes,’’ A Pictorial History of Winchester Cathedral’’
ดูเพิ่ม
แหล่งข้อมูลอื่น
วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ สถาปัตยกรรมการก่อสร้างมหาวิหารในอังกฤษในยุคกลาง