วิกฤตรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ค.ศ. 1975 หรือเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปว่า "The Dismissal" (การปลดนายกรัฐมนตรี) ถือเป็นเหตุการณ์ทางการเมืองและวิกฤตรัฐธรรมนูญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย เหตุการณ์มาถึงจุดแตกหักในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 (พ.ศ. 2518) เมื่อนายกรัฐมนตรี กอฟ วิทแลม รวมทั้งคณะรัฐมนตรี จากพรรคแรงงานออสเตรเลีย (Australian Labor Party) ถูกปลดออกจากตำแหน่งโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เซอร์ จอห์น เคอร์ ก่อนที่จะแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน มัลคอล์ม เฟรเซอร์ จากพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) ขึ้นดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี
รัฐบาลพรรคแรงงานของวิทแลมได้รับการเลือกตั้งเข้ามาในปี 1972 โดยมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร มากกว่าพรรคฝ่ายค้านเพียง ในขณะที่ในวุฒิสภา พรรคแรงงานประชาธิปไตย (Democratic Labor Party) ที่มักจะสนับสนุนฝ่ายค้านของพรรคเสรีนิยมและพรรคชนบท (Country Party, ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น National Party) เป็นผู้กุมสมดุลอำนาจ การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี 1974 ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากนัก ในขณะที่รัฐบาลของวิทแลมดำเนินนโยบายและโครงการใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ข่าวอื้อฉาวและความผิดพลาดทางการเมืองส่งผลให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1975 พรรคฝ่ายค้านใช้อำนาจที่ตนมีในวุฒิสภาเพื่อยับยั้งร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนฯ มาแล้ว พรรคฝ่ายค้านยืนยันที่จะยับยั้งการผ่านร่างกฎหมายต่อไปนอกเสียจากว่าวิทแลมจะประกาศให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนฯ และเรียกร้องให้เคอร์ปลดวิทแลมออกหากวิทแลมไม่ยินยอม วิทแลมเชื่อว่าเคอร์จะไม่สั่งปลดอย่างแน่นอน ในขณะที่เคอร์เองก็ไม่เคยแจ้งให้วิทแลมทราบถึงเจตนาที่จะปลดมาก่อนเช่นกัน
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 วิทแลมตั้งใจที่จะประกาศให้มีการเลือกตั้งครึ่งสภาในวุฒิสภาเพื่อผ่าทางตัน เมื่อวิทแลมเข้าพบเคอร์เพื่อขอคำรับรองให้มีการเลือกตั้ง เคอร์ก็ปลดวิทแลมให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลักจากนั้นไม่นาน ได้แต่งตั้งให้เฟรเซอร์ดำรงตำแหน่งรักษาการณ์ฯ แทน เฟรเซอร์และพรรคจึงเร่งดำเนินการให้มีการลงคะแนนร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณในวุฒิสภาก่อนที่วุฒิสมาชิกจากพรรคแรงงานจะทราบข่าวการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณผ่านวุฒิสภา หลังจากนั้น เคอร์จึงประกาศยุบสองสภา ให้มีการเลือกตั้งทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแบบเต็มสภา การเลือกตั้งในเดือนต่อมาส่งผลให้เฟรเซอร์และพรรคกลับมาเป็นรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย
วิกฤตการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญเพียงเล็กน้อย วุฒิสภาคงอำนาจในการยับยั้งการอนุมัติงบประมาณ ขณะที่ผู้สำเร็จราชการฯ คงอำนาจในการปลดรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามอำนาจดังกล่าวไม่เคยถูกนำมาใช้อีกเลย เคอร์ถูกวิพากย์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้สนับสนุนพรรคแรงงาน ส่งผลให้เคอร์ลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ ก่อนเวลาอันควร และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่นอกประเทศออสเตรเลีย
ภูมิหลัง
ภูมิหลังทางรัฐธรรมนูญ
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จอห์น เคอร์
นายกรัฐมนตรี กอฟ วิทแลม
ผู้นำฝ่ายค้าน มัลคอล์ม เฟรเซอร์
ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย รัฐสภาออสเตรเลีย ใช้ระบบสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขฝ่ายบริหาร มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นผู้แทนพระองค์ในการลงพระปรมาภิไธย ถือครองอำนาจบริหารตามรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีอำนาจที่สงวนไว้ คืออำนาจที่ผู้สำเร็จราชการสามารถใช้ได้โดยไม่ต้องได้รับคำแนะนำ[ 3]
ภายใต้รัฐธรรมนูญออสเตรเลีย ผู้สำเร็จราชการฯ ปฏิบัติตามคำแนะนำของสภาบริหารส่วนกลาง ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี แต่รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตามอัธยาศัยของผู้สำเร็จราชการฯ และผู้สำเร็จราชการฯ มีอำนาจแต่งตั้งสภาบริหารฯ แต่เพียงผู้เดียว[ 4] โดยปกติแล้ว ผู้สำเร็จราชการฯ ถูกผูกมัดตามธรรมเนียม ให้กระทำการใดๆ ตามคำแนะนำของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเท่านั้น แต่สามารถใช้อำนาจที่สงวนไว้โดยไม่ต้องรอหรือปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐบาล ผู้สำเร็จราชการฯ สามารถพ้นจากจากตำแหน่งโดยพระราชโองการจากสมเด็จพระราชินีนาถ ตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ ดังที่หัวหน้าพรรคเสรีนิยม มัลคอล์ม เฟรเซอร์ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้ได้กล่าวไว้ว่า "สมเด็จพระราชินีนาถมีสิทธิในการดำรงตำแหน่ง พระองค์ไม่อาจถูกปลดจากตำแหน่งได้ แต่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ถวายงานรับใช้ตามพระราชอัธยาศัย เมื่อใดไม่ทรงมีพระราชอัธยาศัยแล้ว นายกรัฐมนตรีก็สามารถปลดได้"
ประเทศออสเตรเลียมีลักษณะทางการเมืองคล้ายกับประเทศส่วนใหญ่ที่มีรัฐสภาระบบเวสต์มินสเตอร์ คือตามปกติแล้ว รัฐบาลออสเตรเลียจะถูกจัดตั้งโดยพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากหรือได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกรัฐสภาในสภาล่าง ซึ่งก็คือสภาผู้แทนราษฎร อย่างไรก็ตาม รัฐสภาออสเตรเลียยังมีสภาบนที่มีอำนาจมาก คือวุฒิสภา ซึ่งมีอำนาจในการผ่านร่างกฎหมายทุกฉบับที่มาจากสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ร่างกฎหมายถูกตราเป็นพระราชบัญญัติได้อย่างสมบูรณ์
วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นตัวแทนของรัฐในออสเตรเลีย โดยที่แต่ละรัฐจะมีผู้แทนในจำนวนเท่ากัน ไม่ว่าจะมีจำนวนประชากรต่างกันเท่าไรก็ตาม ซึ่งเป็นเจตนาของผู้เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อดึงดูดให้อาณานิคมต่าง ๆ ในทวีปออสเตรเลียมารวมตัวกันเป็นสหพันธรัฐเดียว รัฐธรรมนูญห้ามไม่ให้วุฒิสภายื่นร่างต้นฉบับหรือร่างแก้ไขพระราชบัญญัติงบประมาณ แต่ไม่ได้จำกัดให้วุฒิสภาไม่สามารถตีตกร่างกฎหมายดังกล่าวได้
ในปี 1970 กอฟ วิทแลม ซึ่งในขณะนั้นเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ได้กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติงบประมาณดังนี้
"ผมขอพูดอย่างชัด ๆ ตั้งแต่ต้นว่าการคัดค้านร่างงบประมาณฉบับนี้ของเรา ไม่ได้ทำแค่พอเป็นพิธี เราตั้งใจจะคัดค้านให้ถึงที่สุด ด้วยทุกวิถีทางที่เรามีในทุก ๆ มาตรา ในทั้งสองสภา ถ้าญัตติถูกตีตก เราก็จะลงคะแนนคัดค้านร่างพระราชบัญญัติทั้งในสภานี้และในวุฒิสภา จุดมุ่งหมายของเราคือการทำลายร่างงบประมาณนี้และทำลายรัฐบาลที่สนับสนุนร่างนั้น"
จนถึงปี 1975 วุฒิสภาระดับสหพันธรัฐก็ยังไม่เคยยับยั้งร่างงบประมาณมาก่อน ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านจะมีเสียงข้างมากอยู่ก็ตามที ในปี 1947 สภาบนของรัฐสภารัฐวิคตอเรียยับยั้งร่างงบประมาณเพื่อกดดันให้มีการเลือกตั้งก่อนที่จะหมดวาระ มุขมนตรี จอห์น เคน จึงประกาศให้มีการเลือกตั้งและประสบกับความพ่ายแพ้[ 9]
ก่อนวิกฤต ค.ศ. 1975 ไม่เคยมีการใช้อำนาจสงวนของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในการปลดนายกรัฐมนตรีโดยที่นายกรัฐมนตรีเองไม่ยินยอมมาก่อน ซึ่งเป็นอำนาจตามบทบัญญัติมาตรา 64 ในรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม ในปี 1904 คริส วัตสัน นายกรัฐมนตรีจากพรรคแรงงาน เสนอแนะให้มีการจัดการเลือกตั้งก่อนหมดวาระ แต่ผู้สำเร็จราชการ ลอร์ด นอร์ธโคท ปฏิเสธ ทำให้วัตสันลาออกจากตำแหน่ง แล้วจอร์จ รีด ผู้นำฝ่ายค้าน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน[ 11]
ตั้งแต่ที่ก่อตั้งสหพันธรัฐขึ้นมา เคยเกิดความขัดแย้งในระดับรัฐระหว่างมุขมนตรี ของรัฐกับผู้ว่าราชการรัฐ ซึ่งมีหน้าที่และบทบาทล้อกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระดับสหพันธรัฐ ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวมีผลให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องออกจากตำแหน่ง ในปี 1916 มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ วิลเลียม ฮอลแมน ถูกไล่ออกจากพรรคแรงงานออสเตรเลีย เพราะทำการสนับสนุนการเกณฑ์ทหาร ฮอลแมนสามารถรั้งอยู่ในตำแหน่งได้ด้วยการสนับสนุนจากพรรคฝ่ายค้านและทำการปรึกษาผู้ว่าราชการรัฐ เซอร์ เจอรัลด์ สตริคแลนด์ ว่าจะเสนอให้ผ่านร่างกฎหมายเพื่อขยายวาระของสภานิติบัญญัติรัฐนิวเซาท์เวลส์ ออกไปอีก 1 ปี เมื่อสตริคแลนด์คัดค้านโดยให้เหตุผลว่าการทำเช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อพรรคแรงงานมากเกินไป ฮอลแมนจึงจัดการให้มีผู้ว่าราชการรัฐคนใหม่มาแทน ต่อมาในปี 1932 มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ แจ็ค แลงก์ จากพรรคแรงงาน ปฏิเสธไม่ยอมจ่ายเงินที่เป็นหนี้สินกับรัฐบาลกลาง ทำให้รัฐบาลกลางทำการอาญัติบัญชีธนาคารของรัฐนิวเซาท์เวลส์ ส่งผลให้แลงก์มีคำสั่งให้การจ่ายเงินต่อรัฐบาลของรัฐเป็นเงินสดเท่านั้น ผู้ว่าราชการรัฐ เซอร์ ฟิลิป เกม เขียนถึงแลงก์ เพื่อเตือนว่าคณะรัฐมนตรีของเขากำลังทำผิดกฎหมาย และถ้าแลงก์ยังดึงดันที่จะทำแบบนี้ต่อไป เขาก็จำเป็นจะต้องหาคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่จะสามารถทำการบริหารภายใต้กรอบของกฎหมายได้ แลงก์ยืนยันว่าเขาจะไม่ลาออก ส่งผลให้เกมสั่งปลดรัฐมนตรีทั้งคณะ และแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้าน เบอร์แทรม สตีเวนส์ ขึ่นมาเป็นรักษาการมุขมนตรีระหว่างรอการเลือกตั้ง ผลคือพรรคแรงงานแพ้การเลือกตั้งไปในครั้งนั้น
ในบรรดาอำนาจที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มี หนึ่งในนั้นคืออำนาจในการยุบทั้งสองสภา โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฏรผ่านร่างพระราชบัญญัติ 2 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีระยะเวลาห่างกันอย่างน้อย 3 เดือน แล้ววุฒิสภาลงคะแนนไม่ผ่านร่างนั้นทั้ง 2 ครั้ง ในทั้ง 2 กรณีที่เคยเกิดเหตุที่ตรงกับเงื่อนไขนี้ก่อนที่จะเป็นรัฐบาลวิทแลม คือในปี 1914 และ 1951 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ประกาศยุบสองสภาและประกาศให้มีการเลือกตั้งทั้งสองสภาตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี
ภูมิหลังทางการเมือง
รัฐบาลพรรคแรงงานของ กอฟ วิทแลม ได้รับการเลือกตั้งในปี 1972 หลังจากที่มีรัฐบาลพันธมิตรพรรค (Coalition) ประกอบด้วยพรรคเสรีนิยมและพรรคชนบทบริหารราชการแผ่นดินมา 23 ปี รัฐบาลพรรคแรงงานได้รับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรมา 9 ที่นั่ง แต่ไม่มีเสียงข้างมากในวุฒิสภาที่ถูกเลือกตั้งเข้ามาในการเลือกตั้งวุฒิสภาออสเตรเลีย ค.ศ. 1967 และ ค.ศ. 1970 โดยการเลือกตั้งวุฒิสภาในสมัยนั้นยังคงไม่ตรงกับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฏรอยู่
ตามที่ได้สัญญาไว้ก่อนชนะเลือกตั้ง รัฐบาลวิทแลมได้ทำการเปลี่ยนแปลงนโยบายและออกกฎหมายใหม่เป็นจำนวนมาก พรรคฝ่ายค้านที่คุมวุฒิสภาอยู่ ยอมให้ร่างกฎหมายบางฉบับจากรัฐบาลผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา ในขณะเดียวกันก็ยับยั้งร่างกฎหมายฉบับอื่น ๆ
ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1974 หลังจากที่ความพยายามที่จะผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณ ถูกยับยั้งในวุฒิสภาโดยฝ่ายค้านที่นำโดยบิลลี สเน็ดเด็น หลายต่อหลายครั้ง วิทแลมจึงขอความเห็นชอบและได้รับความเห็นชอบจากผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในขณะนั้น เซอร์ พอล แฮสลัค ในการยุบสองสภา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พรรคแรงงานได้รับการเลือกตั้งกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งโดยที่นั่งลดลง 5 เสียง ส่วนในวุฒิสภา ทั้งพันธมิตรพรรคและพรรคแรงงานมี 29 เสียงเท่ากัน และมีวุฒิสมาชิกอิสระอีก 2 เสียงเป็นผู้กุมสมดุลอำนาจไว้อยู่
ในเวลาต่อมา สเน็ดเด็นบอกกับผู้เขียน แกรห์ม ฟรอยเดนเบิร์ก ระหว่างการสัมภาษณ์ว่า "การกดดันให้ยับยั้งร่างงบประมาณมาทางผม จากดัก แอนโธนี พวกเราคิดว่าถ้าคุณมีโอกาสในการได้เสียงข้างมากในวุฒิสภาในการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา หรืออย่างน้อยก็ให้มีเสียงมากพอที่จะผ่านร่างกฎหมายกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ ถ้าทำเจอร์รีแมนเดอริง ด้วย คุณก็จะได้อยู่ในสภาตลอดไป"
แฮสลัคเป็นผู้สำเร็จราชการฯ มาตั้งแต่ปี 1969 และวาระของเขากำลังจะหมดลงในไม่ช้า วิทแลมอยากให้เขาอยู่ต่ออีก 2 ปี แต่แฮสลัคปฏิเสธ โดยอ้างว่าภรรยาของเขาปฏิเสธที่จะพำนักอยู่ที่ยาร์ราลัมลา เกิน 5 ปีตามที่เคยตกลงกันไว้[ 21] วิทแลมเสนอตำแหน่งให้กับนักธุรกิจ เคน ไมเออร์ แต่ถูกปฏิเสธ วิทแลมจึงเสนอตำแหน่งนี้ให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แฟรงค์ เครียน และรองนายกรัฐมนตรี แลนซ์ บาร์นาร์ด แต่ทั้งสองคนต่างยังไม่พร้อมที่จะวางมือจากการเป็น ส.ส. ในรัฐสภา[ 22] ในท้ายที่สุด วิทแลมจึงเสนอตำแหน่งให้กับเซอร์ จอห์น เคอร์ ประธานศาลรัฐนิวเซาท์เวลส์ ตอนแรกเคอร์ลังเลที่จะยกตำแหน่งประธานศาล ซึ่งตอนนั้นเขาตั้งใจว่าจะดำรงตำแหน่งให้ครบ 10 ปี เพื่อแลกกับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่ตามธรรมเนียมแล้วมีวาระ 5 ปี ตามคำขอของเคอร์ วิทแลมจึงตกลงอย่างไม่เป็นทางการว่าถ้าทั้งสองคนยังอยู่ในตำแหน่งในอีก 5 ปี เขาจะให้เคอร์ได้ดำรงตำแหน่งต่ออีกสมัย วิทแลมยังจัดการให้ผ่านกฎหมายให้มีบำนาญสำหรับผู้สำเร็จราชการฯ หรือหม้ายของผู้สำเร็จราชการฯ เพื่อบรรเทาความกังวลด้านการเงินของเคอร์ ผู้นำฝ่ายค้าน บิลลี สเน็ดเด็น เห็นดีเห็นงามกับการแต่งตั้งนี้และตกลงที่จะแต่งตั้งเคอร์ให้ได้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยเช่นกัน ถ้าเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีในอีก 5 ปี ทำให้เคอร์ตกลงที่จะรับตำแหน่ง ซึ่งสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และเคอร์ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ. 1974
ร่างพระราชบัญญัติ 6 ฉบับที่กำลังเข้าสู่เงื่อนไขให้เกิดการยุบสองสภา ถูกยื่นในรัฐสภาเป็นครั้งที่สาม และถูกตีตกไปอีกครั้งตามคาด บทบัญญัติมาตรา 57 ในรัฐธรรมนูญระบุไว้ว่า หลังจากที่มีการเลือกตั้งอันเนื่องด้วยการยุบสองสภา หากร่างพระราชบัญญัติที่ไม่ผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา 2 ครั้งก่อนการเลือกตั้งไม่ผ่านความเห็นชอบเป็นครั้งที่ 3 จะสามารถนำร่างพระราชบัญญัตินั้นเข้าสู่ที่ประชุมร่วม ที่ประกอบด้วยทั้งสองสภา ในวันที่ 30 กรกฎาคม วิทแลมได้รับความเห็นชอบจากเคอร์ให้มีการจัดประชุมร่วมในวันที่ 6-7 สิงหาคม ค.ศ. 1974 ทำให้มีการประชุมร่วมตามมาตรา 57 เป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย ผลคือร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม
เรื่องอื้อฉาวและตำแหน่งที่ว่างลง
ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1974 วิทแลมประสบปัญหาในการหาแหล่งเงินทุนใหม่สำหรับแผนพัฒนาประเทศ หลังจากการประชุมที่เดอะลอดจ์ ทำเนียบประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วิทแลมและรัฐมนตรี 3 คน (รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จิม แคนส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และวุฒิสมาชิก ลิโอเนล เมอร์ฟี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแร่และพลังงาน เร็กซ์ คอนเนอร์ ลงนามในหนังสืออนุญาตให้คอนเนอร์กู้เงิน 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้สื่อข่าวและนักเขียน อลัน รีด กล่าวว่าเอกสารดังกล่าวเปรียบเสมือน "คำสั่งประหารชีวิต" ของรัฐบาลพรรคแรงงานของวิทแลม
คอนเนอร์และรัฐมนตรีคนอื่น ๆ พยายามที่จะติดต่อกับนักการเงินชาวปากีสถาน ทิรัธ เคมลานี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1974 โดยเคมลานีอ้างว่าตนมีคนรู้จักที่สนใจจะลงทุนจากกลุ่มประเทศอาหรับที่เพิ่งร่ำรวยเพราะน้ำมัน หากแต่ความพยายามที่จะกู้เงิน ไม่ว่าจะผ่านเคมลานีหรือผ่านทางอื่น สุดท้ายก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งกรณีนี้กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวและถูกฝ่ายค้านวิพากย์วิจารณ์อย่างหนัก ส่งผลให้รัฐบาลเสียคะแนนความนิยมจากประชาชน
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1975 วิทแลมตัดสินใจที่จะแต่งตั้งให้วุฒิสมาชิกเมอร์ฟีขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิพากษาศาลสูงออสเตรเลีย แม้ว่าที่นั่งของเมอร์ฟีในวุฒิสภาจะยังไม่ถึงวาระเลือกตั้งในการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาครั้งถัดไป ภายใต้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน พรรคแรงงานชนะ 3 ใน 5 ของที่นั่งในรัฐนิวเซาท์เวลส์ แต่ถ้าที่นั่งของเมอร์ฟีว่างลง การที่พรรคแรงงานจะชนะ 4 ใน 6 ที่นั่งนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ดังนั้นการแต่งตั้งเมอร์ฟีจะทำให้พรรคแรงงานต้องเสียที่นั่งในวุฒิสภาไป 1 ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม วิทแลมยังคงตัดสินใจที่จะแต่งตั้งเมอร์ฟีอยู่ดี โดยธรรมเนียมแล้ว เมื่อตำแหน่งของวุฒิสมาชิกว่างลง สภานิติบัญญัติของรัฐควรแต่งตั้งวุฒิสมาชิกคนใหม่ที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน ทอม ลิววิส มุขมนตรีรัฐนิวเซาท์เวลส์ที่มาจากพรรคเสรีนิยม เชื่อว่าธรรมเนียมดังกล่าวควรทำตามเฉพาะในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงเพราะผู้ดำรงตำแหน่งเสียชีวิตหรือมีปัญหาทางทางสุขภาพเท่านั้น จึงจัดการให้สภานิติบัญญัติของรัฐเลือกคลีเวอร์ บันตัน อดีตนายกเทศมนตรีเมืองอัลบูรีที่ไม่สังกัดพรรคใด ๆ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนเมอร์ฟี
ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1975 สมาชิกรัฐสภาของพรรคเสรีนิยมหลายคนเชื่อว่าสเน็ดเด็นปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้นำฝ่ายค้านได้ไม่ดีพอ และถูกเอาชนะโดยวิทแลมอยู่หลายครั้งในสภาผู้แทนราษฎร มัลคอล์ม เฟรเซอร์จึงประกาศท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคของสเน็ดเด็นในวันที่ 21 มีนาคม และเอาชนะสเน็ดเด็นด้วยคะแนน 37 ต่อ 27 ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังจากที่ชนะการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค เฟรเซอร์ได้กล่าวว่า
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับงบประมาณ ผมขอตอบดังนี้ ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งในสภาล่างที่มีเสียงข้างมากและสามารถรักษาเสียงข้างมากในสภาล่างได้ มีสิทธิ์ที่จะอยู่บริหารจนครบวาระ 3 ปี นอกจากจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ธรรมดาเกิดขึ้น ถึงอย่างนั้นแล้ว ... ในภายภาคหน้า หากพวกเราตัดสินใจว่ารัฐบาลตกต่ำลงเสียจนฝ่ายค้านต้องใช้อำนาจใดๆ ก็ตามที่มีในการโค่นล้มรัฐบาล ผมก็อยากจะอยู่ในสถานการณ์ที่คุณวิทแลมตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่าฝ่ายค้านได้ตัดสินใจไปแล้ว และพบว่าตัวเขาเองถูกตลบหลังจนไม่ทันตั้งตัวแม้แต่น้อย
แลนซ์ บาร์นาร์ด รองนายกรัฐมนตรีคนก่อนของรัฐบาลวิทแลม ถูกท้าชิงและเอาชนะโดยนายแคนส์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1974 หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1974 ไม่นาน หลังจากนั้นวิทแลมจึงเสนอตำแหน่งฑูตให้กับบาร์นาร์ด ซึ่งบาร์นาร์ดตกลงรับในช่วงต้นปีของ ค.ศ. 1975 ถ้าการแต่งตั้งสำเร็จ บาร์นาร์ดจะต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกผู้แทนราษฎรซึ่งจะทำให้เกิดการเลือกตั้งซ่อมในเขตเลือกตั้งเบสในรัฐแทสเมเนีย สมาชิกพรรคแรงงานคิดว่าบาร์นาร์ดควรดำรงตำแหน่ง ส.ส. ต่อไป เนื่องจากสภาพอ่อนแอของพรรคในขณะนั้น และถ้าเขาตัดสินใจลาออกก็ไม่ควรได้รับการแต่งตั้งใด ๆ บ็อบ ฮอว์ก ประธานพรรคและผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในอนาคต กล่าวว่าการตัดสินใจแต่งตั้งบาร์นาร์ดเป็นการกระทำที่บ้าคลั่ง บาร์นาร์ดเสียคะแนนความนิยมอย่างต่อเนื่องในการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา และพรรคเสรีนิยมต้องการคะแนนเพิ่มอีกแค่ 4% เท่านั้นก็จะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปในเขตเบส พรรคเสรีนิยมมีเควิน นิวแมน เป็นผู้สมัครที่มีปฏิสัมพันธ์กับฐานเสียงอยู่แล้ว ในขณะที่พรรคแรงงานยังไม่มีตัวแทนและจะมีการคัดเลือกผู้แทนภายในพรรคที่คาดว่าจะเป็นไปอย่างดุเดือด ท้ายที่สุดแล้ว นายบาร์นาร์ดลาออกและได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชฑูตสวีเดน การเลือกตั้งในวันที่ 28 มิถุนายนกลายเป็นความหายนะของพรรคแรงงานโดยนายนิวแมนชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงห่างถึง 17%
ในสัปดาห์ถัดมา วิทแลมปลดแคนส์ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี เนื่องจากแคนส์จงใจชี้นำรัฐสภาให้เข้าใจผิดในกรณีเงินกู้เคมลานี ทั้งยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับเลขานุการรัฐมนตรี จูนี เมโรซี โดยแฟรงค์ เครียน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีแทน ในขณะที่แคนส์ถูกปลด ในเวลาเดียวกันนั้นก็มีวุฒิสมาชิกว่างลง 1 ตำแหน่งหลังจากวุฒิสมาชิกเบอร์ที มิลลิเนอร์จากพรรคแรงงานออสเตรเลียในรัฐควีนส์แลนด์ ได้ถึงแก่อนิจกรรม ตามธรรมเนียมแล้ว เมื่อตำแหน่งวุฒิสมาชิกว่างลงเนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งป่วยไข้หรือถึงแก่อนิจกรรม พรรคการเมืองของวุฒิสมาชิกที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนจะเป็นพรรคที่เสนอชื่อตัวแทนต่อสภา พรรคแรงงานของรัฐควีนส์แลนด์จึงเสนอชื่อมัล โคลสตัน สมาชิกของพรรคที่อยู่ลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อของพรรคประจำปี 1974 ในรัฐควีนส์แลนด์
การเสนอชื่อนี้ทำให้เกิดสภาวะทางตันในรัฐสภาควีนส์แลนด์ เนื่องจากโจ เบลย์เคอ-ปีเตอร์เซน มุขมนตรีแห่งรัฐควีนส์แลนด์จากพรรคชนบท กล่าวหาว่าโคลสตันเป็นผู้ลงมือวางเพลิงโรงเรียนในขณะที่ประกอบอาชีพเป็นครูและมีข้อพิพาทแรงงาน ทำให้รัฐสภาควีนส์ลงคะแนนไม่ผ่านญัตติเสนอชื่อที่พรรคแรงงานยื่นไปทั้ง 2 ครั้ง พรรคแรงงานปฏิเสธที่จะเสนอคนอื่นมาแทน เบยล์เคอ-ปีเตอร์เซนจึงเสนอให้พรรคของเขาซึ่งเป็นเสียงข้างมากในสภาลงคะแนนเลือกอัลเบิร์ต ฟีลด์ สมาชิกระดับล่างในพรรคแรงงานที่ติดต่อสำนักมุขมนตรีและแสดงความประสงค์ที่จะเข้ารับตำแหน่ง ฟีลด์ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่าเขาจะไม่สนับสนุนวิทแลม ฟีลด์จึงถูกขับออกจากพรรคเนื่องจากชิงตำแหน่งจากโคลสตัน และวุฒิสมาชิกพรรคแรงงานคว่ำบาตรพิธีถวายสัตย์ของฟีลด์ วิทแลมให้ความเห็นว่าการที่รัฐสภาควีนส์แลนด์คัดสรรผู้มาดำรงตำแหน่งแทนในลักษณะนี้ เป็นผลให้วุฒิสภา "ทุจริต" และ "มีมลทิน" เพราะฝ่ายค้านได้เสียงข้างมากทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รับคะแนนเสียงส่วนใหญ่จากประชาชนในการเลือกตั้ง เมื่อพรรคแรงงานทราบว่าฟีลด์ไม่ได้แจ้งต่อกระทรวงการศึกษาของรัฐควีนส์แลนด์ล่วงหน้าอย่างน้อย 3 สัปดาห์ก่อนเข้ารับตำแหน่ง เขาจึงยังคงมีสถานะเป็นข้าราชการ ซึ่งขัดต่อคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา และยื่นคำร้องต่อศาลสูงเพื่อเรียกร้องให้การแต่งตั้งฟีลด์เป็นโมฆะ เป็นเหตุให้ฟีลด์ลาการประชุม อย่างไรก็ตาม พันธมิตรพรรคปฏิเสธที่จะเสนอวุฒิสมาชิกจากฝั่งตนเองให้ลาการประชุมเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมเนียมของรัฐสภาออสเตรเลียในกรณีที่สมาชิกสภาของฝั่งตรงข้ามมีเหตุให้ลา ทำให้พันธมิตรพรรคมีเสียงข้างมาก 30 ต่อ 29 เสียงในวุฒิสภา
สภาวะทางตัน
การเลื่อนการอนุมัติงบประมาณ
ห้องประชุมวุฒิสภาในอาคารรัฐสภาชั่วคราว
ในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1975 ศาลสูงมีคำตัดสินให้พระราชบัญญัติที่ผ่านการประชุมร่วมสองสภา ว่าด้วยการกำหนดให้มีวุฒิสมาชิก 2 คนจากดินแดนออสเตรเลียนแคพิทอลเทร์ริทอรี และ 2 คนจากดินแดนนอร์เทิร์นเทร์ริทอรี มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย
การเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาจำเป็นต้องมีขึ้นภายในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1976 โดยวุฒิสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งจากการเลือกตั้งครั้งนี้จะเข้ารับตำแหน่งได้ในวันที่ 1 กรกฎาคม ในขณะที่วุฒิสมาชิกจากทั้งสองดินแดนและวุฒิสมาชิกที่จะเข้ามาแทนฟีลด์และบันตันสามารถเข้ารับตำแหน่งได้ในทันที คำตัดสินของศาลสูงหมายความว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคแรงงานจะมีเสียงข้างมากในวุฒิสภาเป็นการชั่วคราว อย่างน้อยก็จนกระทั่งวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1976
เพื่อที่จะได้เสียงข้างมาก พรรคแรงงานจะต้องชนะการเลือกตั้งทั้งในเขตของฟีลด์และบันทัน และชนะอย่างน้อยหนึ่งเขตในแต่ละดินแดน และที่นั่งที่สองของออสเตรเลียแคพิทอลเทร์ริทอรีจะต้องตกเป็นของพรรคแรงงานหรือผู้สมัครอิสระอย่าง จอห์น กอร์ตัน อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเสรีนิยมที่แตกออกจากพรรคมาแล้ว ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามนั้น พรรคแรงงานจะมีเสียงข้างมาก 33-31 ทำให้ยังสามารถอนุมัติงบประมาณได้ถ้ามีปัญหา และยังสามารถผ่านกฎหมายกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่ (ที่เคยผ่านในสภาล่างมาแล้วสองครั้ง แต่ถูกวุฒิสภาตีตกไปทั้งสองครั้ง) ซึ่งจะทำให้พรรคแรงงานได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นักข่าวและนักเขียน อลัน รีด อธิบายสถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านในขณะที่วิกฤตทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมไว้ดังนี้
อาจจะเป็นการพูดเกินจริงไปบ้าง ถ้าจะบอกว่าสถานการณ์ในปี 1975 คือทางเลือกระหว่างสิ่งที่ชั่วร้ายสองสิ่ง แต่ทั้งสองกลุ่มการเมืองใหญ่ต่างก็อยู่ในสถานการณ์ลำบากในวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1975 โดยไม่มีฝั่งไหนเลยที่มีมือขาวสะอาด เฟรเซอร์และวุฒิสมาชิกพรรคเสรีนิยมร่วมกับพรรคชนบทขาดจำนวนเสียงที่เพียงพอในการเลื่อนการอนุมัติงบประมาณจนกว่าอัลเบิร์ต แพทริก ฟีลด์จะเข้ามารับตำแหน่งในวุฒิสภา โดยไม่ได้เข้ามาด้วยเสียงของประชาชนออสเตรเลียแต่มาจากการตัดสินใจของผู้นำคนเดียว คือเบลย์เคอ-ปีเตอร์เซนผู้เกลียดชังวิทแลม ส่วนวิทแลมก็ตัดสินใจก่อนที่งบประมาณจะถูกเลื่อนการอนุมัติ คิดจะริเริ่มโครงการใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญออสเตรเลียในลักษณะเดียวกับครอมเวลล์ โดยไม่ผ่านการลงคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง แต่ผ่านการใช้อิทธิพลส่วนตัวที่มีอยู่อย่างมหาศาลโดยได้รับการสนับสนุนจากลูกพรรคที่อยู่ในรัฐสภา
เมื่อมีผลคำตัดสินจากศาลสูง และมีกำหนดการที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณในวันที่ 16 ตุลาคม ขณะนั้นเฟรเซอร์ยังไม่ได้ตัดสินใจที่จะยับยั้งการอนุมัติงบประมาณ ฟิลิป ไอเรส นักเขียนชีวประวัติของเฟรเซอร์ ยืนยันว่า ถ้าหากไม่มีเรื่องอื้อฉาวในรัฐบาล เฟรเซอร์คงไม่ทำอย่างนั้น อย่างไรก็ตาม เคมลานีกล่าวหาว่าคอนเนอร์ไม่เคยถอนอำนาจที่เคยมอบให้เขาในการหาเงินกู้และยังคงติดต่อกับคอนเนอร์อย่างต่อเนื่องจนถึงกลางปี 1975 ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับคำชี้แจงของรัฐบาล ในวันที่ 13 ตุลาคม หนังสือพิมพ์เมลเบิร์นเฮรัลด์ ตีพิมพ์เอกสารที่สนับสนุนคำกล่าวหาของเคมลานี และในวันต่อมาคอนเนอร์ก็ลาออก
เฟรเซอร์ตัดสินใจที่จะยับยั้งการอนุมัติงบประมาณ โดยเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเงา และได้รับการสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์ ในการแถลงข่าว เฟรเซอร์อ้างสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และเรื่องอื้อฉาวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุในการตัดสินใจ ถ้าไม่มีการผ่านร่างพระราชบัญญติจัดสรรงบประมาณฉบับใหม่ งบประมาณประจำปีที่ผ่านมาจะหมดลงในวันที่ 30 พฤศจิกายน
ในวันที่ 15 ตุลาคม ผู้ว่าราชการรัฐควีนส์แลนด์ เซอร์ คอลิน ฮันนาห์ กล่าวสุนทรพจน์โจมตีรัฐบาลวิทแลม ซึ่งการทำเช่นนี้ขัดต่อธรรมเนียมที่ผู้ว่าราชการรัฐจะต้องทำตัวเป็นกลาง ฮันนาห์ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารเครือรัฐ ซึ่งเป็นการแต่งตั้งที่ถูกระงับไว้ (dormant commission) เป็นตำแหน่งที่จะขึ้นมารักษาการณ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่เคอร์ถึงแก่อนิจกรรม ลาออก หรือไม่ได้อยู่ในประเทศออสเตรเลีย วิทแลมจึงติดต่อกับพระราชวังบัคกิงแฮม เพื่อถอดถอนตำแหน่งที่ถูกระงับไว้ของฮันนาห์ทันที โดยใช้เวลาสิบวันฮันนาห์จึงพ้นจากตำแหน่ง แม้ว่าวิทแลมจะอ้างว่าตัวเองไม่เคยคิดที่จะปลดเคอร์ในระหว่างที่เกิดวิกฤต แต่ในวันที่ 16 ตุลาคม ระหว่างที่เขาพูดคุยอยู่กับเคอร์ และพบกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ตุน อับดุล ราซัก เขาพูดกับเคอร์ว่าถ้าวิกฤตนี้ยังคงดำเนินต่อไป "คงจะขึ้นอยู่กับว่าอะไรจะเกิดขึ้นก่อนกัน ระหว่างผมทูลพระราชินีเพื่อเรียกตัวท่านกลับไป หรือท่านทูลพระราชินีเพื่อปลดผม" เคอร์เข้าใจว่าสิ่งที่เคอร์พูดคือคำขู่ แต่วิทแลมกล่าวในเวลาต่อมาว่าสิ่งที่พูดออกไปเป็นแค่การ "หยอกเล่น" และพูดเพียงเพื่อต้องการที่จะเปลี่ยนเรื่องเท่านั้น
ในวันที่ 16 และ 17 ตุลาคม วุฒิสภาด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์จากพันธมิตรพรรคที่มีเสียงข้างมาก ลงคะแนนให้เลื่อนการอนุมัติร่างพระราชบัญญติจัดสรรงบประมาณออกไป พันธมิตรพรรคมีจุดยืนว่าเคอร์สามารถปลดวิทแลมให้พ้นจากตำแหน่งถ้าฝ่ายรัฐบาลไม่สามารถผ่านงบประมาณได้ บ็อบ เอลลิค็อทท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรมในรัฐบาลวิทแลม ซึ่งในขณะนั้นเป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคเสรีนิยม ลงความเห็นทางกฎหมายในวันที่ 16 ตุลาคมว่า ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์มีอำนาจในการปลดวิทแลม และควรจะทำเช่นนั้นโดยทันทีหากวิทแลมไม่สามารถชี้แจงว่าจะผ่านงบประมาณได้อย่างไร เอลลิค็อทท์ยังกล่าวในเชิงชี้นำว่า วิทแลมปฏิบัติกับเคอร์ราวกับว่าเคอร์ไม่มีวิจารณญาณเป็นของตัวเอง แต่ต้องปฏิบัติตามคำเสนอแนะของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามารถและควรที่จะปลดคณะรัฐมนตรีที่ไม่สามารถผ่านงบประมาณได้ เอลลิค็อทท์กล่าวว่าเคอร์
ควรถามนายกรัฐมนตรีว่ารัฐบาลพร้อมแล้วหรือไม่ที่จะแนะนำให้ท่านประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา หรือยุบสภาผู้แทนราษฎรสภาเดียว เพื่อให้มั่นใจได้ว่าความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างสองสภาจะถูกคลี่คลาย หากนายกรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะทำทั้งสองอย่าง ก็ขึ้นอยู่กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่จะให้คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง และหาผู้อื่นที่พร้อมจะให้คำแนะนำเดียวที่เหมาะสมและเป็นไปได้ นี่คือสิ่งที่ท่านควรดำเนินการ
การปรึกษาหารือและการเจรจา
คนสำคัญที่เคอร์ไว้วางใจและเป็นที่ปรึกษาอย่างลับ ๆ ในเรื่องของการปลดนายกรัฐมนตรีคือ ผู้พิพากษาศาลสูงและเพื่อนของเคอร์ เซอร์ แอนโทนี เมสัน โดยที่บทบาทของเขาไม่ถูกเปิดเผยจนกระทั่งปี 2012 เมื่อนักเขียนชีวประวัติของวิทแลม เจนนี ฮ็อกคิง เปิดเผยรายละเอียดในบันทึกการปรึกษาหารือระหว่างเคอร์และเมสันที่เคอร์เป็นผู้เก็บไว้[ 49] เคอร์ระบุว่าเมสัน "มีบทบาทสำคัญที่สุดต่อความคิดของข้าพเจ้า" และเขียนถึงการไว้วางใจให้เมสัน "เป็นกำลังใจให้กับสิ่งที่ข้าพเจ้ากำลังจะกระทำ"[ 50] บทบาทของเมสันนั้นรวมไปถึงการร่างคำสั่งปลดให้เคอร์ และเขายังอ้างว่าเคยให้คำปรึกษาเคอร์ว่าควรที่จะเตือนวิทแลมถึงเจตนาที่จะปลดเขาก่อน "เพื่อความเป็นธรรม" แต่เคอร์ปฏิเสธที่จะทำตาม[ 51] เมสันเขียนว่าการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเคอร์เริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1975 และจบลงในบ่ายวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 เขาปฏิเสธคำขอร้องของเคอร์ที่จะอนุญาตให้เปิดเผยบทบาทของเขาสู่สาธารณะ[ 52]
เคอร์โทรศัพท์หาวิทแลมในวันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม เพื่อขออนุญาตปรึกษากับประธานศาลสูง เซอร์ การ์ฟีลด์ บาร์วิค เกี่ยวกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในเวลานั้น วิทแลมแนะนำไม่ให้เคอร์ทำเช่นนั้น โดยตั้งข้อสังเกตว่าไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนไหนที่ขอคำปรึกษาจากหัวหน้าผู้พิพากษาในสภาวะการณ์ที่คล้ายกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 1914 สมัยที่ประเทศออสเตรเลียยังอยู่ในช่วงแรกเริ่มของการพัฒนารัฐธรรมนูญ วิทแลมยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ในบรรดาคำร้องที่ผ่านมาทั้งหมดต่อศาลสูงในฟากฝั่งที่ต้องการคัดค้านกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ บาร์วิคนั้นอยู่ในเสียงข้างน้อยที่ตัดสินในฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาล[ 54]
ในวันที่ 21 ตุลาคม เคอร์โทรศัพท์หาวิทแลมเกี่ยวกับความคิดเห็นของเอลลิค็อทท์และถามว่า "ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเหลวไหลใช่ไหม" วิทแลมตอบในเชิงเห็นด้วยกับเคอร์ จากนั้นเคอร์จึงขอให้ฝ่ายรัฐบาลลงความเห็นทางกฎหมายเป็นหนังสือเพื่อตอบโต้ความเห็นของเอลลิค็อทท์ แต่เคอร์ไม่ได้รับหนังสือข้อเสนอแนะดังกล่าวจากรัฐบาลจนกระทั่งวันที่ 6 พฤศจิกายน นักข่าวและนักเขียน พอล เคลลี ผู้เขียนหนังสือสองเล่มเกี่ยวกับวิกฤตนี้ ระบุว่าความล่าช้านี้เป็นความผิดพลาดอันใหญ่หลวงของวิทแลม เนื่องจากเคอร์มีภูมิหลังมาจากฝ่ายตุลาการ
ในวันเดียวกัน เคอร์ยังขออนุญาตวิทแลมสัมภาษณ์เฟรเซอร์ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตในทันที เคอร์กับเฟรเซอร์จึงพบปะในคืนเดียวกันนั้น เฟรเซอร์บอกเคอร์ว่าฝ่ายค้านตั้งใจที่จะยับยั้งการอนุมัติงบประมาณ เฟรเซอร์ยังบอกเป็นนัยว่าการตัดสินใจของฝ่ายค้านที่จะเลื่อนการอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ แทนที่จะตีตกไปเลย เป็นการตัดสินใจทางยุทธวิธี เพราะเมื่อทำเช่นนั้น ร่างพระราชบัญญัติก็จะอยู่ในการควบคุมของวุฒิสภาและจะอนุมัติเมื่อไรก็ได้ เขากล่าวว่าพันธมิตรพรรคเห็นด้วยกับความคิดเห็นของเอลลิค็อทท์ และเสนอให้เลื่อนอนุมัติงบประมาณต่อไประหว่างรอให้เหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้น สื่อมวลชนไม่ทราบถึงเนื้อหาของการสนทนานี้ จึงรายงานไปเพียงว่าเคอร์พบกับเฟรเซอร์เพื่อตำหนิการยับยั้งการอนุมัติงบประมาณ ทำให้สำนักงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว
ตลอดวิกฤตที่เกิดขึ้น เคอร์ไม่ได้แจ้งวิทแลมให้ทราบถึงความกังวลของตนเองที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ และไม่เคยแนะเลยว่าเขาอาจจะปลดวิทแลม เคอร์เชื่อว่าไม่ว่าเขาจะพูดอะไรก็คงไม่สามารถเปลี่ยนใจวิทแลมได้ และกลัวว่าหากวิทแลมเห็นว่าเขามีโอกาสที่จะเป็นศัตรู นายกรัฐมนตรีก็อาจจะถวายคำแนะนำให้พระราชินีทรงมีพระราชโองการปลดเขาให้พ้นจากตำแหน่ง เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว แม้ว่าเคอร์จะเข้าหาวิทแลมอย่างเป็นมิตร แต่เขาไม่เคยบอกนายกรัฐมนตรีได้ทราบถึงความคิดของเขาเลย วุฒิสมาชิกพรรคแรงงาน โทนี มัลวิฮิลล์ เล่าว่า "วิทแลมจะกลับมายังการประชุมผู้บริหารพรรคทุกครั้งแล้วพูดว่า "ฉันไปพบท่านผู้สำเร็จราชการฯ มา ไม่ต้องห่วงหรอก ท่านก็เป็นของท่านอย่างนั้นแหละ" ไม่เคยเลยที่เขาจะบอกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ทำหน้าบึ้งตึงแม้แต่ครั้งเดียว
ในขณะนั้นมีความสนใจและความกังวลจากประชาชนเป็นอย่างมากในภาวะทางตันที่เกิดขึ้น เฟรเซอร์และสมาชิกพรรคเสรีนิยมต่างก็ออกมาพยายามรวบรวมแรงสนับสนุน ส่วน ส.ส. ที่เป็นรัฐมนตรีเงาของพรรคเสรีนิยมก็พยายามโน้มน้าวให้องค์กรรัฐเห็นชอบกับกลยุทธ์นี้ เซอร์ โธมัส เพลย์ฟอร์ด อดีตมุขมนตรีรัฐออสเตรเลียใต้ที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนาน ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยับยั้งงบประมาณ ทำให้ดอน เจสซอป วุฒิสมาชิกรัฐออสเตรเลียใต้ มีท่าทีหวั่นไหวต่อการสนับสนุนกลยุทธ์นี้ เฟรเซอร์สามารถประสานงานติดต่อกับสมาชิกพรรคคนอื่น ๆ เพื่อลดแรงกระเพื่อมจากสองคนนี้ได้ ด้วยการขอการสนับสนุนจากเซอร์ โรเบิร์ต เมนซีส์ อดีตนายกรัฐมนตรีพรรคเสรีนิยมที่ดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานผู้วางมือทางการเมืองแล้ว และเข้าไปพบกับเมนซีส์ด้วยตัวเอง โดยนำแถลงการณ์ของเมนซีส์ในปี 1947 ที่สนับสนุนการยับยั้งงบประมาณในสภาสูงของรัฐสภาวิคตอเรียไปด้วย ปรากฎว่าเฟรเซอร์ไม่จำเป็นต้องอ้างอิงถึงแถลงการณ์นั้น เมนซีส์กล่าวว่าเขาคิดว่ากลยุทธ์นี้ไม่น่าพิสมัย แต่ในกรณีนี้ เป็นสิ่งที่จำเป็น อดีตนายกรัฐมนตรีจึงออกแถลงการณ์สนับสนุนกลยุทธ์ของเฟรเซอร์
เคอร์เชิญวิทแลม และรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน วุฒิสมาชิก จิม แม็คเคลแลนด์ ไปรับประทานอาหารกลางวันในวันที่ 30 ตุลาคม ก่อนหน้าการประชุมสภาบริหาร ในระหว่างมื้ออาหาร เคอร์ได้เสนอข้อตกลงประนีประนอมที่เป็นไปได้ คือฝ่ายค้านจะอนุมัติงบประมาณ แต่วิทแลมจะต้องไม่เสนอแนะให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาจนกระทั่งเดือนพฤษภาคม หรือเดือนมิถุนายน ปี 1976 และจะไม่เปิดประชุมวุฒิสภาจนกระทั่ง 1 กรกฎาคม ซึ่งการทำเช่นนี้จะทำให้ไม่มีทางเกิดเสียงข้างมากเป็นการชั่วคราวของพรรคแรงงานได้ วิทแลมที่มุ่งมั่นจะทำลายทั้งภาวะผู้นำของเฟรเซอร์ และสิทธิ์ในการยับยั้งงบประมาณของวุฒิสภา ปฏิเสธที่จะประนีประนอมใด ๆ
การตัดสินใจ
เนื่องด้วยลักษณะอันเป็นสหพันธรัฐในรัฐธรรมนูญของเรา และเนื่องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจทางรัฐธรรมนูญให้กับวุฒิสภาในการไม่อนุมัติหรือเลื่อนการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาล เนื่องด้วยหลักการที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ นายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถผ่านงบประมาณ ซึ่งรวมถึงเงินที่ใช้ในการดำเนินบริการทั่วไปของรัฐบาล จะต้องแนะนำให้มีการเลือกตั้งทั่วไปหรือลาออก หากปฏิเสธที่จะทำเช่นนั้น ข้าพเจ้ามีอำนาจและเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของข้าพเจ้าในการถอนการแต่งตั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สภาพในประเทศออสเตรเลียนั้นค่อนข้างแตกต่างจากสภาพในสหราชอาณาจักร ที่นี่รัฐบาลจะต้องได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองสภาเพื่อคงไว้ซึ่งบทบัญญัติ ในสหราชอาณาจักรต้องการเพียงแค่ความไว้วางใจจากสภาสามัญชนก็เพียงพอ แต่ทั้งที่นี้และในสหราชอาณาจักร หน้าที่ของนายกรัฐมนตรีล้วนเหมือนกันในเกณฑ์ที่สำคัญที่สุด คือหากไม่สามารถผ่านงบประมาณได้ก็ต้องลาออกหรือแนะนำให้มีการเลือกตั้ง
—
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เซอร์ จอห์น เคอร์ แถลงการณ์ (ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975)[ 62]
เฟรเซอร์เป็นประธานในการประชุมผู้นำพันธมิตรพรรคในวันที่ 2 พฤศจิกายน แถลงการณ์ร่วมจากการประชุมนั้นสนับสนุนให้วุฒิสมาชิกจากพันธมิตรพรรคยับยั้งการอนุมัติงบประมาณต่อไป และยังขู่ว่า หากเคอร์ยินยอมให้วิทแลมจัดการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา มุขมนตรีของรัฐที่มาจากพันธมิตรพรรคจะแนะนำให้ผู้ว่าราชการรัฐระงับการออกหมาย ไม่ให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในรัฐ 4 รัฐที่ไม่ได้มีมุขมนตรีจากพรรคแรงงาน หลังจากการประชุม เฟรเซอร์ยื่นข้อเสนอประนีประนอม โดยฝ่ายค้านจะยอมอนุมัติงบประมาณหากวิทแลมตกลงที่จะจัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรพร้อมกับการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา วิทแลมปฏิเสธข้อเสนอนั้น
ในวันที่ 22 ตุลาคม วิทแลมสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เค็ป เอ็นเดอร์บี ร่างเอกสารตอบโต้ความเห็นของเอลลิค็อทท์เพื่อเสนอให้กับเคอร์ เอ็นเดอร์บีมอบหมายงานนี้ให้กับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม มัวริซ ไบเออร์สและข้าราชการคนอื่น ๆ ในวันที่ 6 พฤศจิกายน เอ็นเดอร์บีมีกำหนดเข้าพบเคอร์เพื่อเสนอความเห็นทางกฎหมาย ว่าด้วยแผนสำรองของรัฐบาลในกรณีที่งบประมาณหมดลง โดยจะมีการออกใบรับรองให้กับพนักงานเครือรัฐและผู้รับจ้างแทนเช็ค และให้นำไปขึ้นเงินกับธนาคารหลังจากที่วิกฤตสิ้นสุดลง (เป็นการทำธุรกรรมที่ธนาคารชั้นนำจะไม่ยอมรับในเวลาต่อมาและพิจารณาว่าเป็นธุรกรรมที่ "มีมลทินจากสถานะผิดกฎหมาย") เอ็นเดอร์บีตัดสินใจที่จะเสนอข้อโต้แย้งเอลลิค็อทท์ต่อเคอร์ แต่เมื่อเอ็นเดอร์บีตรวจตราเอกสาร เขาพบว่า ในขณะที่เอกสารดังกล่าวโต้แย้งให้กับฝ่ายรัฐบาล แต่ในเนื้อความยังยอมรับว่าวุฒิสภามีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในการยับยั้งงบประมาณ และยอมรับว่าอำนาจที่สงวนไว้นั้นยังคงมีอยู่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้เอ็นเดอร์บีไม่เห็นด้วย เขาจึงนำเสนอข้อโต้แย้งต่อเคอร์ แต่ขีดฆ่าลายเซ็นของไบเออร์สและแจ้งเคอร์ให้ทราบถึงความเห็นที่ต่างออกไป เอนเดอร์บีบอกเคอร์ว่าข้อโต้แย้งของไบเออร์สเป็นเพียง "ภูมิหลัง" ของหนังสือคำเสนอแนะอย่างเป็นทางการ ซึ่งวิทแลมจะเป็นผู้เสนอ ในเวลาต่อมาในวันเดียวกัน เคอร์พบกับเฟรเซอร์อีกครั้ง หัวหน้าฝ่ายค้านบอกว่าหากเคอร์ยังไม่ปลดวิทแลม ฝ่ายค้านจะวิจารณ์เขาในรัฐสภาว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่
เคอร์สรุปในวันที่ 6 พฤศจิกายนว่า ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างไม่มีใครยอมใคร และได้รับคำแนะนำจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บิล เฮย์เด็น ว่างบประมาณจะหมดลงในวันที่ 27 พฤศจิกายน ผู้สำเร็จราชการฯ ตัดสินใจว่า ในเมื่อวิทแลมไม่สามารถผ่านงบประมาณ และตั้งใจที่จะไม่ลาออกหรือแนะนำให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร เขาจึงจำเป็นต้องปลดนายกฯ ออก และเมื่อเคอร์กลัวว่าวิทแลมจะถวายคำแนะนำให้พระราชินีมีพระบรมราชโองการให้เขาพ้นจากตำแหน่ง เขาจึงคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะไม่เตือนวิทแลมล่วงหน้าถึงสิ่งที่เขากำลังจะกระทำ เคอร์กล่าวในเวลาต่อมาว่า หากวิทแลมต้องการจะปลดเขา สมเด็จพระราชินีฯ ก็จะต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพื่อยืนยันในการตัดสินใจของตัวเอง เขาติดต่อกับหัวหน้าผู้พิพากษาบาร์วิคเพื่อนัดพบและถามความคิดเห็นเรื่องการปลดวิทแลม บาร์วิคให้คำแนะนำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยให้ความเห็นว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สามารถและควรปลดนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถผ่านงบประมาณ บาร์วิคลงรายละเอียดว่านายกรัฐมนตรีไม่ควรปฏิเสธที่จะลาออก หรือปฏิเสธที่จะแนะนำให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งทั้งหมดนี้เคอร์ก็เห็นด้วย
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน เฟรเซอร์ติดต่อวิทแลมและเชิญให้มาเข้าร่วมการเจรจากับพันธมิตรพรรค เพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง วิทแลมตกลงและมีการนัดหมายเป็นวันอังคารที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 9 นาฬิกา ที่อาคารรัฐสภา วันอังคารเดียวกันนั้นยังเป็นวันสุดท้ายที่สามารถประกาศให้มีการเลือกตั้งได้ ถ้าต้องการที่จะจัดการเลือกตั้งก่อนเทศกาลคริสต์มาส
ทั้งผู้นำของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็อยู่ในนครเมลเบิร์น ในคืนวันที่ 10 พฤศจิกายนที่งานเลี้ยงของสมุหพระนครบาล เพื่อให้มั่นใจว่าผู้นำฝ่ายค้านจะมาถึงแคนเบอร์ราได้ทันเวลานัดพบ วิทแลมจึงพาพวกเขากลับมาด้วยในเครื่องบินประจำตำแหน่ง ซึ่งมาถึงกรุงแคนเบอร์รา ในเวลาเที่ยงคืน
การปลดนายกรัฐมนตรี
การนัดพบที่ยาร์ราลัมลา
ยาร์ราลัมลา คือชื่อเรียกที่พำนักอย่างเป็นทางการของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 9 นาฬิกา วิทแลม พร้อมกับรองนายกรัฐมนตรี แฟรงค์ เครียน และผู้นำ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เฟรด ดาลี พบกับเฟรเซอร์ และหัวหน้าพรรคชนบท ดัก แอนโธนี แต่ไม่สามารถตกลงประนีประนอมได้ วิทแลมแจ้งให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรพรรคทราบว่าเขาจะแนะนำให้เคอร์ประกาศให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาในวันที่ 13 ธันวาคม และจะไม่ยื่นขออนุมัติงบประมาณชั่วคราวก่อนการเลือกตั้ง เฟรเซอร์ผู้คิดว่าเคอร์ไม่น่าจะยินยอมให้มีการเลือกตั้งโดยที่งบประมาณยังไม่ผ่าน จึงเตือนวิทแลมว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาจจะตัดสินใจในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง แต่วิทแลมมีท่าทีไม่ใส่ใจ และหลังจากการเจรจาสิ้นสุดลง เขาก็โทรหาเคอร์เพื่อขอเข้าพบ เพื่อแนะนำให้จัดการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภา ทั้งสองคนต่างติดภารกิจในช่วงเช้า โดยเคอร์ต้องเข้าร่วมพิธีรำลึกในวันที่ระลึก ในขณะที่วิทแลมต้องเข้าประชุมพรรคและเข้าประชุมสภาเพื่ออภิปรายญัตติตำหนิโทษที่ฝ่ายค้านเป็นผู้ยื่น ทั้งสองคนจึงนัดเวลาเข้าพบเป็น 13 นาฬิกา ในเวลาต่อมาสำนักงานของเคอร์โทรหาสำนักงานของวิทแลมเพื่อยืนยันเวลาใหม่เป็น 12.45 นาฬิกา แต่ไม่ได้มีการแจ้งนายกรัฐมนตรีให้ทราบ ในการประชุมพรรค วิทแลมประกาศว่าจะขอให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภาให้สมาชิกพรรครับทราบ ซึ่งสมาชิกพรรคก็เห็นชอบด้วย
หลังจากที่คุยกับวิทแลมเสร็จ เคอร์ก็โทรหาเฟรเซอร์ ตามคำบอกเล่าของเฟรเซอร์ เคอร์ได้ถามเขาว่า หากได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เขาจะสามารถผ่านงบประมาณและถวายคำแนะนำให้มีการยุบสองสภาและจัดการเลือกตั้งในทันทีหรือไม่ และจะหลีกเลี่ยงการประกาศนโยบายใหม่หรือตรวจสอบผลงานของรัฐบาลวิทแลมจนกว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งเฟรเซอร์เล่าว่าเขาตอบตกลง ในฝั่งของเคอร์ เขาปฏิเสธว่ามีการพูดคุยกันทางโทรศัพท์ แต่ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าเคอร์ถามคำถามชุดเดียวกันกับเฟรเซอร์ในวันเดียวกัน ก่อนที่จะแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี เคอร์เล่าว่า เฟรเซอร์ควรที่จะมาพบเขาที่ยาร์ราลัมลา ในเวลา 13 นาฬิกา
วิทแลมออกมาจากอาคารรัฐสภาช้า ในขณะที่เฟรเซอร์ออกมาก่อนล่วงหน้าเล็กน้อย ทำให้เฟรเซอร์มาถึงยาร์ราลัมลาก่อน เขาถูกพาไปที่ห้องพักข้างห้องรับแขก และรถของเขาถูกย้ายออกไปจอดที่อื่น วิทแลมมั่นใจว่าสาเหตุที่รถของเฟรเซอร์ถูกย้ายออกไปก็เพื่อไม่ให้นายกรัฐมนตรีไหวตัวทันเมื่อเห็นรถของผู้นำฝ่ายค้านจอดอยู่ โดยกล่าวว่า "หากผมรู้ว่าคุณเฟรเซอร์อยู่ที่นั่นแล้ว ผมก็คงไม่เหยียบย่างเข้าไปในยาร์ราลัมลา" แต่เคลลีกลับไม่คิดว่าวิทแลมจะจำรถฟอร์ดรุ่นแอลทีดี ของเฟรเซอร์ได้ ตามคำบอกเล่าของฟิลิป อายเรส ผู้เขียนชีวประวัติให้กับเฟรเซอร์ เขากล่าวว่า "รถคันสีขาวถึงจะจอดอยู่ตรงนั้นก็คงไม่มีใครเห็นความสำคัญ มันก็คงเป็นเพียงรถที่ขวางทางอยู่เท่านั้น"
วิทแลมมาถึงก่อน 13 นาฬิกา และถูกพาไปที่ห้องทำงานของเคอร์โดยผู้ช่วยคนหนึ่ง เขานำหนังสือถวายคำแนะนำให้มีการเลือกตั้งครึ่งวุฒิสภามาด้วย และหลังจากที่ทั้งสองคนนั่งลง ก็พยายามที่จะยื่นหนังสือนี้ให้กับเคอร์ ในคำบอกเล่าของทั้งสองคนถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการเข้าพบครั้งนั้น ทั้งสองคนเห็นตรงกันว่าเคอร์เป็นคนบอกวิทแลมว่าเขาถูกถอนการแต่งตั้งจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยอำนาจตามมาตราที่ 64 ในรัฐธรรมนูญ[ 79] และมอบหนังสือและแถลงการณ์ชี้แจงเหตุผลให้กับวิทแลม เคอร์เขียนในเวลาต่อมาว่า เมื่อถึงตอนนั้น วิทแลมยืนขึ้น มองไปที่โทรศัพท์ในห้องทำงาน และกล่าวว่า "ผมต้องติดต่อกับทางวังทันที" แต่วิทแลมแย้งว่าเขาไม่ได้ทำเช่นนั้น หากแต่ถามเคอร์ว่าท่านได้ปรึกษาเรื่องนี้กับทางวังแล้วหรือยัง ซึ่งเคอร์ตอบว่าเขาไม่จำเป็นต้องปรึกษา และบาร์วิคเป็นผู้แนะนำให้เขาทำเช่นนี้ ทั้งสองให้คำบอกเล่าตรงกันว่าหลังจากนั้นเคอร์ได้พูดว่า พวกเขาทั้งสองคนจะต้องอยู่กับสิ่งนี้ไปตลอดชีวิต วิทแลมจึงตอบว่า "ท่านจะต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตอย่างแน่นอน" เหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงโดยเคอร์อวยพรให้วิทแลมโชคดีในการเลือกตั้งและยื่นมือมาให้จับ ซึ่งอดีตนายกรัฐมนตรีก็รับมาจับไว้[ 82]
หลังจากที่วิทแลมออกไปจากห้อง เคอร์ก็เรียกให้เฟรเซอร์เข้าพบ แจ้งให้เขาทราบถึงการปลดนายกรัฐมนตรี และถามว่าเขาจะตั้งรัฐบาลรักษาการณ์หรือไม่ ซึ่งเฟรเซอร์ตอบตกลง ต่อมาเฟรเซอร์กล่าวว่าความรู้สึกที่ท่วมท้นในเวลานั้นคือความโล่งอก เฟรเซอร์เดินทางกลับไปยังอาคารรัฐสภาเพื่อปรึกษากับผู้นำพันธมิตรพรรค ในขณะที่เคอร์เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่รอเขาอยู่ เคอร์ขอโทษแขกเหรื่อในงานและอ้างว่าเขายุ่งกับการไปปลดรัฐบาลมา
ยุทธศาสตร์ในรัฐสภา
วิทแลมเดินทางกลับไปยังเดอะลอดจ์ เพื่อรับประทานอาหารกลางวัน เมื่อผู้ช่วยของเขามาถึง เขาจึงบอกให้ทราบถึงการปลด วิทแลมร่างมติให้กับสภาผู้แทนฯ เพื่อแสดงความไว้วางใจในรัฐบาลของเขา ในขณะนั้นไม่มีผู้นำวุฒิสภาของพรรคแรงงานอยู่ที่เดอะลอดจ์ ตัววิทแลมหรือคณะของเขาก็ไม่ได้ติดต่อวุฒิสมาชิกคนไหนเลยเมื่อพวกเขาขับรถกลับไปยังอาคารรัฐสภา โดยเลือกที่จะจำกัดยุทธศาสตร์ของตนอยู่ให้ในสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
ก่อนที่วิทแลมจะถูกปลด คณะกรรมการบริหารพรรคแรงงานตัดสินใจที่จะยื่นญัตติให้วุฒิสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณ และเนื่องจากบรรดาวุฒิสมาชิกพรรคแรงงานไม่ทราบถึงการปลดวิทแลม แผนการจึงยังดำเนินต่อไป วุฒิสมาชิก ดัก แม็คเคลแลนด์ ในตำแหน่งผู้จัดการกิจการของรัฐบาลพรรคแรงงานในวุฒิสภา แจ้งให้ผู้นำฝ่ายพันธมิตรพรรคในวุฒิสภา เร็ก วิทเธอร์ส ทราบถึงความจำนงของพรรคแรงงานเมื่อเวลา 13.30 น. หลังจากนั้นวิทเธอร์สเข้าประชุมผู้บริหารพรรค เขาจึงได้ทราบถึงการแต่งตั้งเฟรเซอร์เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และได้ให้คำมั่นกับนายกรัฐมนตรีว่าเขาจะสามารถผ่านงบประมาณได้ เมื่อวุฒิสภาเปิดประชุม ผู้นำพรรคแรงงานในวุฒิสภา เค็น รีดท์ ยื่นญัตติเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ. จัดสรรงบประมาณ เมื่อรีดท์ทำเช่นนั้น จึงมีคนบอกให้เขาทราบว่ารัฐบาลเพิ่งถูกปลด ซึ่งตอนแรกเขายังไม่ยอมเชื่อ จนกระทั่งมีคำยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ กว่าจะถึงตอนนั้นก็เป็นเวลา 14.15 น. แล้ว ซึ่งก็สายเกินไปแล้วที่จะถอนญัตติ เขาจึงพยายามยับยั้งร่าง พ.ร.บ. จัดสรรงบประมาณของพรรคตัวเองเพื่อขัดขวางเฟรเซอร์
ณ เวลา 14.24 น. ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณของพรรคแรงงานก็ผ่านวุฒิสภาในที่สุด เป็นไปตามสัญญาแรกของเฟรเซอร์ที่จะผ่านงบประมาณให้ได้
ในสภาผู้แทนฯ การอภิปรายย่อยในญัตติตำหนิโทษของเฟรเซอร์ยุติลงหลังจากที่เสียงข้างมากจากพรรคแรงงานแก้มติให้เป็นการตำหนิโทษเฟรเซอร์แทน และญัตตินั้นผ่านโดยที่ทั้งสองฝ่ายลงคะแนนตามมติพรรค
ณ เวลา 14.34 น. เมื่อเฟรเซอร์ลุกขึ้นยืนและประกาศว่าเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ข่าวการปลดนายกรัฐมนตรีก็เป็นที่รู้กันไปทั้งสภาแล้ว เฟรเซอร์แสดงความประสงค์ที่จะแนะนำให้มีการยุบสองสภา และยื่นญัตติให้เลื่อนการประชุมสภา ซึ่งญัตตินั้นถูกตีตกไป รัฐบาลใหม่ของเฟรเซอร์ประสบกับความพ่ายแพ้ซ้ำ ๆ ในสภาผู้แทนฯ ซึ่งผ่านญัตติไม่ไว้วางใจในรัฐบาลของเฟรเซอร์ และขอให้ประธานสภา กอร์ดอน โชลส์ เสนอแนะให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แต่งตั้งวิทแลมกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โชลส์พยายามติดต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อขอเข้าพบ ตอนแรกเขาถูกแจ้งว่าคงไม่สามารถนัดพบในวันนั้นได้ แต่หลังจากที่เขาบอกว่าจะเรียกประชุมสภาอีกครั้งและแจ้งให้ ส.ส. ทราบถึงการปฏิเสธ จึงยินยอมให้นัดพบกันเคอร์ได้ในเวลา 16.45 น.
การยุบสภา
การประท้วงบนถนนจอร์จสตรีท ด้านหน้าศาลาว่าการนครซิดนีย์ ในวันที่ 11 พฤศจิกายน เวลา 18.57 น. หลังจากข่าวการปลดนายกรัฐมนตรีได้แพร่ออกไป
หลังจากที่ร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณผ่านทั้งสองสภาแล้ว จึงถูกส่งไปยังยาร์ราลัมลาเพื่อให้เคอร์เป็นผู้แทนพระองค์ในการพระราชทานพระบรมราชานุญาต เมื่องบประมาณผ่านแล้ว เคอร์จึงให้เฟรเซอร์เข้าพบ เฟรเซอร์แนะนำว่าร่างพระราชบัญญัติ 21 ฉบับ (รวมถึงร่างพระราชบัญญัติกำหนดเขตเลือกตั้งใหม่) ถูกยื่นเข้าสู่สภาตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ทำให้ตรงกับเงื่อนไขในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่อนุญาตให้มีการยุบสองสภาได้ตามมาตรา 57 เฟรเซอร์จึงขอให้ยุบทั้งสองสภา และให้จัดการเลือกตั้งในวันที่ 13 ธันวาคม เคอร์ลงนามในคำประกาศยุบสภา และส่งเลขาธิการสำนักงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เดวิด สมิธ ไปเป็นผู้อ่านคำประกาศยุบสภาจากขั้นบันไดหน้าอาคารรัฐสภา
ณ เวลา 16.45 น. เคอร์ให้โชลส์เข้าพบ และแจ้งให้เขาทราบถึงการยุบสภา เคอร์เขียนว่า "ไม่มีเรื่องอื่นที่สำคัญ" เกิดขึ้นในการเข้าพบครั้งนั้น แต่โชลส์เล่าว่า เขากล่าวหาเคอร์ว่ามีเจตนาร้ายที่นัดพบกับประธานสภาโดยไม่รอให้มีการปรึกษาพูดคุยกับเขาก่อนที่จะยุบสภา วิทแลมกล่าวในเวลาต่อมาว่าคงจะฉลาดกว่าหากโชลส์นำร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณไปด้วยแทนที่จะส่งไปก่อนล่วงหน้า การกระทำเช่นนี้ของเคอร์เป็นไปตามคำแนะนำที่เขาได้รับจากผู้พิพากษาศาลสูงสองคน (เมสันและประธานศาลสูงบาร์วิค) และอัยการแผ่นดิน (เอ็นเดอร์บีและไบเออร์ส)[ 89]
ระหว่างที่โชลส์และเคอร์พูดคุยกัน สมิธก็เดินทางมาถึงอาคารรัฐสภา ในเวลานั้นการปลดนายกรัฐมนตรีเป็นที่ทราบต่อสาธารณะแล้ว และมีกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคแรงงานที่โกรธแค้นมาร่วมชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภามากขึ้นเรื่อย ๆ จนเต็มขั้นบันไดหน้าอาคารและล้นทะลักออกไปบนถนนและเข้าไปด้านในอาคารรัฐสภา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่จากพรรคแรงงาน อีกส่วนหนึ่งมาจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย สมิธจึงต้องเดินเข้าอาคารรัฐสภาจากประตูด้านข้างและเดินออกมาตรงขั้นบันไดจากด้านในอาคาร เขาอ่านคำประกาศท่ามกลางเสียงโห่ของฝูงชนที่ดังจนเสียงเขาถูกกลบไป และลงท้ายด้วยคำว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" (God Save the Queen ) ตามธรรมเนียม อดีตนายกรัฐมนตรีวิทแลมที่ยืนอยู่ข้างหลังสมิธ จึงแถลงต่อฝูงชนดังนี้
พวกเราอาจพูดได้ว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" เพราะไม่มีสิ่งใดจะคุ้มครองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้ คำประกาศที่พวกคุณเพิ่งได้ยินเลขาธิการสำนักงานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อ่านไป ลงนามกำกับโดยมัลคอล์ม เฟรเซอร์ ผู้ที่จะต้องถูกจารึกลงในประวัติศาสตร์ออสเตรเลียในวันที่ระลึกปี 1975 ว่าเป็นสุนัขรับใช้เคอร์ (Kerr's cur) พวกเขาจะไม่ทำสามารถให้เสียงรอบอาคารรัฐสภาเงียบลงได้ แม้ว่าภายในอาคารจะเงียบมาสองสามสัปดาห์แล้ว รักษาความโกรธแค้นและความแข็งขันของพวกคุณเอาไว้สำหรับการหาเสียงเลือกตั้งตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง[ 94]
ผลที่ตามมา
การหาเสียงเลือกตั้ง
งานเปิดตัวนโยบายของพรรคแรงงานออสเตรเลีย ที่มีผู้คนเข้ามาร่วมงานอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ที่สนามซิดนีย์โดเมน ในวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975
ข่าวการปลดวิทแลมแพร่กระจายไปทั่วประเทศออสเตรเลียในบ่ายวันนั้น ทำให้เกิดการชุมนุมประท้วงในทันที ในวันที่ 12 พฤศจิกายน โชลส์เขียนจดหมายทูลเกล้าฯ ถึงพระราชินี ขอพระราชทานพระบรมราชโองการให้คืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับวิทแลม เซอร์ มาร์ติน ชาร์เทอริส ราชเลขานุการในพระองค์ เขียนตอบไปในจดหมาย ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 มีความว่าดังนี้
ตามที่พวกเราเข้าใจสถานการณ์ในตอนนี้ รัฐธรรมนูญออสเตรเลียมอบพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้กับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อย่างเด็ดขาด ในฐานะตัวแทนสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลีย บุคคลเดียวที่มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียได้คือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จพระราชินีนาถทรงไม่มีส่วนในการตัดสินใจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ต้องทำตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ พระองค์ในพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระราชินีนาถแห่งออสเตรเลียทรงทอดพระเนตรเหตุการณ์ในแคนเบอร์ราด้วยความสนพระทัยและตั้งพระทัยเป็นอย่างยิ่ง และคงจะไม่เป็นการเหมาะสมที่พระองค์จะลงไปแทรกแซงด้วยพระองค์เองในเรื่องที่ถูกระบุไว้อย่างชัดเจนในพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าเป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในวันที่ 12 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 คณะรัฐมนตรีเฟรเซอร์ 1 เข้าร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อเคอร์ ในคำบอกเล่าบางแหล่งเล่าว่า เคอร์ถามเพื่อขอคำความมั่นใจในพิธีนั้น โดยถามว่าวุฒิสมาชิกของฝ่ายพันธมิตรพรรคไม่เคยคิดที่จะถอยก่อนที่งบประมาณจะหมดลงใช่หรือไม่ เขาถามว่า "วุฒิสภาไม่เคยคิดจะยอมถอยใช่ไหม" ตามคำบอกเล่าเหล่านั้น วุฒิสมาชิก มาร์กาเร็ต กิลฟอยล์ หัวเราะและพูดกับเพื่อนสมาชิกว่า "เขารู้แค่นั้นสินะ" กิลฟอยล์กล่าวในเวลาต่อมาว่า ถ้าเธอเคยพูดเช่นนั้น สิ่งที่เธอพูดไม่ได้หมายความว่าวุฒิสมาชิกฝั่งพันธมิตรพรรคจะแตกแถว อย่างไรก็ตาม เคลลีทำรายชื่อของวุฒิสมาชิกพันธมิตรพรรคสี่คนที่เปิดเผยหลังจากเหตุการณ์ผ่านมาหลายปีว่า พวกเขาคงจะสวนมติพรรคและลงคะแนนให้ผ่านร่างพระราชบัญญัติจัดสรรงบประมาณหากรู้ว่าเหตุการณ์จะเป็นเช่นนี้
พรรคแรงงานเชื่อว่าตัวเองมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และการปลดนายกรัฐมนตรีจะเป็นข้อได้เปรียบในการเลือกตั้งสำหรับพวกเขา อย่างไรก็ตาม นักยุทธศาสตร์ของพรรคแรงงานบางคนเชื่อว่าพรรคกำลังมุ่งสู่ตวามหายนะ เพราะมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่ประสบความสำเร็จเพียงไม่กี่อย่าง และอารมณ์ของผู้เลือกตั้งคงจะเย็นลงไปแล้วก่อนถึงวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี วิทแลมที่เริ่มหาเสียงเกือบจะทันทีหลังจากที่โดนปลด ได้รับการต้อนรับจากมวลชนอย่างล้นหลามในทุก ๆ ที่ที่เขาไป มีมวลชน 30,000 คนมาเข้าร่วมงานเปิดตัวหาเสียงของพรรคจนล้นสนามซิดนีย์โดเมน เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน ในค่ำวันนั้น วิทแลม กล่าวสุนทรพจน์ครั้งสำคัญที่หอแสดงเฟสติวัลฮอลล์ ต่อหน้า 7,500 คนและยังมีผู้ชมทางโทรทัศน์ทั่วประเทศ เขาเรียกวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่าเป็น "วันอัปยศของเฟรเซอร์ เป็นวันที่จะอยู่ในความอัปยศไปชั่วกาล"
ผลสำรวจความเห็นถูกเผยแพร่ในช่วงท้ายสัปดาห์แรกของการหาเสียง และแสดงให้เห็นว่าพรรคแรงงานตามหลังอยู่เก้าจุด ในตอนแรกทีมงานหาเสียงของวิทแลมไม่เชื่อผลนี้ แต่ผลสำรวจอื่น ๆ ที่ตามมาทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าผู้เลือกตั้งกำลังถอยห่างจากพรรคแรงงาน ฝ่ายพันธมิตรพรรคโจมตีพรรคแรงงานในประเด็นสภาพเศรษฐกิจ และปล่อยโฆษณาทางโทรทัศน์ชุด "สามปีอันมืดมน" (The Three Dark Years) ที่แสดงภาพจากข่าวอื้อฉาวในรัฐบาลวิทแลม
แคมเปญหาเสียงของพรรคแรงงาน มุ่งประเด็นไปยังเรื่องการปลดวิทแลม แต่ไม่ได้พูดถึงเรื่องเศรษฐกิจจนกระทั่งเหลืออีกไม่กี่วันก่อนการเลือกตั้ง เมื่อถึงตอนนั้น เฟรเซอร์ซึ่งมั่นใจแล้วว่าจะชนะ พอใจที่จะถอยฉากออกมา หลีกเลี่ยงที่จะลงรายละเอียดเชิงนโยบาย และระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด แทบไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้นเลยระหว่างช่วงหาเสียง ยกเว้นแต่ระเบิดในซองจดหมายที่ถูกส่งทางไปรษณีย์ ฉบับหนึ่งระเบิดในสำนักงานของเบลย์เคอ-ปีเตอร์เซน ทำให้มีผู้บาดเจ็บ 2 คน ในขณะที่สองฉบับที่ส่งไปให้เคอร์และเฟรเซอร์ ถูกสกัดและปลดชนวนได้ก่อนที่จะระเบิด
ระหว่างการหาเสียง ครอบครัวเคอร์ซื้ออพาร์ทเมนต์ในซิดนีย์ ในขณะที่เซอร์จอห์นเตรียมตัวที่จะลาออกจากตำแหน่งในกรณีที่พรรคแรงงานชนะการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งวันที่ 13 ธันวาคม ผลคือฝ่ายพันธมิตรพรรคชนะการเลือกตั้งเป็นประวัติการณ์ โดยได้ 91 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ในขณะที่พรรคแรงงานได้ไปเพียง 36 ที่นั่ง ส่วนในวุฒิสภาฝ่ายพันธมิตรพรรคก็ได้เสียงข้างมากที่ห่างขึ้นไปอีกเป็น 35 ต่อ 27
ปฏิกิริยา
การปลดนายกรัฐมนตรีถือว่าเป็นวิกฤตทางรัฐธรรมนูญและทางการเมืองที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ออสเตรเลีย[ 105] ในปี 1977 รัฐบาลเฟรเซอร์เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 มาตราผ่านการลงประชามติ ผลคือประชาชนลงคะแนนให้ผ่าน 3 มาตรา
หนึ่งในมาตราที่รัฐบาลเสนอร่างแก้ไขคือการกำหนดให้วุฒิสมาชิกที่ถูกแต่งตั้งเพื่อแทนเก้าอี้ที่ว่างลงต้องมาจากพรรคการเมืองเดียวกันกับวุฒิสมาชิกที่ออกไปเท่านั้น วุฒิสภายังคงมีอำนาจในการยับยั้งงบประมาณ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ยังมีอำนาจในการปลดรัฐมนตรี (รวมถึงนายกรัฐมนตรี) อย่างไรก็ตาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา ไม่มีการใช้อำนาจเหล่านั้นอีกเลยเพื่อบีบให้คณะรัฐมนตรีต้องออกจากการเป็นรัฐบาล
เมื่อเกิดเหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรี พรรคแรงงานและผู้สนับสนุนโกรธแค้นเคอร์เป็นอย่างมาก มีการชุมนุมประท้วงในทุกที่ที่เขาปรากฎตัว ส่วนสมาชิกรัฐสภาที่เหลืออยู่ของพรรคแรงงานก็คว่ำบาตรไม่ยอมเข้าร่วมพิธีเปิดอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ที่เคอร์เป็นประธานในพิธี
วิทแลม ซึ่งกลายเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ปฏิเสธทุกคำเชิญให้ไปงานที่ยาร์ราลัมลา ซึ่งครอบครัวเคอร์ยังคงเชิญอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งเขาปฏิเสธคำเชิญไปพิธีถวายการต้อนรับสมเด็จพระราชินีนาถในปี 1977 ที่ทำให้ครอบครัวเคอร์รู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องพยายามอีกต่อไป วิทแลมไม่พูดกับเคอร์อีกเลย แม้แต่สมาชิกรัฐสภาพรรคแรงงานที่เคยเป็นเพื่อนกับเคอร์ก็ตัดขาดความสัมพันธ์ เพราะคิดว่าเคอร์ทรยศพรรคแรงงานและลอบกัดวิทแลม เลดีเคอร์กล่าวว่าทั้งเธอและสามีของเธอต้องเผชิญกับ "ฉากใหม่อันไร้ซึ่งเหตุผล เต็มไปด้วยศัตรูรอบตัวในพริบตา"
วิทแลมด่าว่าเคอร์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเกี่ยวกับบทบาทของเขาในการปลดนายกรัฐมนตรี เมื่อเคอร์ประกาศลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1977 วิทแลมแสดงความเห็นว่า "เหมาะสมดีที่บูร์บง คนสุดท้ายจะโค้งอำลาในวันบัสตีย์ " หลังจากที่เคอร์ลาออกจากการเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เขายังคงต้องการที่จะดำรงตำแหน่งทางราชการอยู่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นความตั้งใจของเขาที่จะดำรงตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ให้ครบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม ความพยายามของเฟรเซอร์ที่จะแต่งตั้งเคอร์ให้เป็นฑูตประจำองค์การยูเนสโก (ตำแหน่งที่วิทแลมได้เป็นในเวลาต่อมา) ทำให้เกิดแรงต่อต้านจากสาธารณชนอย่างรุนแรงจนต้องถอนการเสนอชื่อออกไป ครอบครัวเคอร์ใช้เวลาอีกหลายปีอยู่ในทวีปยุโรป และเมื่อเคอร์ถึงแก่อนิจกรรมในประเทศออสเตรเลียในปี 1991 ไม่มีการประกาศแจ้งการถึงแก่อนิจกรรมจนกระทั่งหลังจากที่เขาถูกฝัง[ 111]
ในปี 1991 วิทแลมกล่าวว่าคงไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนใดในอนาคตที่จะทำเหมือนเคอร์ ถ้าผู้นั้นไม่อยาก "กลายเป็นที่ถูกประณามและต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว"
ในปี 1997 เขาพูดว่าหนังสือให้พ้นจากตำแหน่งมี "ข้อบกพร่องเนื่องด้วยเป็นการด่วนตัดสิน ตัดสินใจโดยฝ่ายเดียว เป็นการเจาะจง และเกิดขึ้นในที่ลับ" (ex tempore, ex parte, ad hoc and sub rosa)
ในปี 2005 วิทแลมเรียกเคอร์ว่าเป็น "คนที่น่ารังเกียจ"[ 105] ขณะเดียวกันในอีกฝั่งหนึ่ง ดัก แอนโธนี หัวหน้าพรรคชนบทและรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า "ผมให้อภัยกอฟไม่ได้ที่จับเขามาตรึงกางเขนอย่างนี้" เซอร์การ์ฟีลด์ บาร์วิค ก็ไม่เว้นที่จะถูกวิทแลมด่าใส่ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีพรรณนาว่าเขาเป็น "คนชั่วช้า"
วิทแลมลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานหลังจากที่พรรคประสบกับความพ่ายแพ้ติดต่อกันเป็นครั้งที่สองในการเลือกตั้งปี 1977 เฟรเซอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นเวลา 7 ปี และลาออกจากตำแหน่งผู้นำพรรคเสรีนิยมหลังจากที่ฝ่ายพันธมิตรพรรคพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1983
หลายปีต่อมา วิทแลมและเฟรเซอร์เลิกความบาดหมางต่อกัน วิทแลมเขียนในปี 1997 ว่าเฟรเซอร์ "ไม่ได้จงใจที่จะหลอกลวงผม" ทั้งสองออกมารณรงค์ร่วมกันเพื่อสนับสนุนการลงประชามติในปี 1999 เพื่อเปลี่ยนออสเตรเลียให้กลายเป็นสาธารณรัฐ[ 118] แกรห์ม ฟรอยเด็นเบิร์ก ผู้เขียนสุนทรพจน์ให้กับวิทแลม ได้กล่าวไว้ว่า "ความเคียดแค้นที่สะสมมาจากพฤติกรรมของตัวแทนองค์พระราชินี มาเจอทางลงที่สร้างสรรค์ในแนวร่วมสนับสนุนสาธารณรัฐออสเตรเลีย"
ฟรอยเด็นเบิร์ก สรุปชะตากรรมของเคอร์หลังจากเหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรีไว้ดังนี้
ผู้ได้รับผลประโยชน์จากการปลดนายกรัฐมนตรีแทบไม่สนใจที่จะปกป้องเคอร์และในท้ายที่สุดก็ทอดทิ้งเขาไป ในแง่ตัวบุคคล เซอร์ จอห์น เคอร์ ตกเป็นเหยื่อที่แท้จริงจากการปลดนายกรัฐมนตรี และประวัติศาสตร์เห็นตามความเป็นจริงที่โหดร้ายและน่าจะเจ็บแสบจากคำประกาศของวิทแลม ณ ขั้นบันไดอาคารรัฐสภาในวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ที่ว่า "พวกเราอาจพูดได้ว่า "ขอให้พระเจ้าคุ้มครององค์พระราชินี" เพราะไม่มีสิ่งใดจะคุ้มครองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้"
การประเมิน
ในปี 1995 การสำรวจของเคลลีเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวิกฤตครั้งนี้จากหนังสือ November 1975 เคลลียกให้เป็นความผิดของเฟรเซอร์ที่ทำให้วิกฤตเริ่มขึ้น และเป็นความผิดของวิทแลมที่พยายามฉวยโอกาสใช้วิกฤตในการทำลายเฟรเซอร์และวุฒิสภา อย่างไรก็ดี เขายกให้เคอร์มีความผิดมากที่สุด ที่ไม่ซื่อตรงกับวิทแลม จงใจปิดบังซ้อนเร้นเจตนาของตนเอง และไม่ยอมเตือนอย่างตรงไปตรงมาก่อนที่จะปลดวิทแลม เคลลีอธิบายไว้ดังนี้
[เคอร์] ควรที่จะแสดงความรับผิดชอบต่อองค์พระมหากษัตริย์และต่อรัฐธรรมนูญอย่างกล้าหาญและไม่หวั่นเกรง เขาควรจะพูดเรื่องนี้ตรง ๆ กับนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ต้น เขาควรที่จะเตือนในทุกที่และทุกเวลาที่เหมาะสม เขาควรที่จะรู้ว่า ไม่ว่าเขาจะมีความกลัวอย่างไร ก็ไม่มีข้ออ้างใด ๆ ที่จะอนุญาตให้ปฏิบัติตัวเป็นอื่นได้
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คนก่อนเคอร์ เซอร์ พอล แฮสลัค เชื่อว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดวิกฤตขึ้นคือการขาดความเชื่อใจและความไว้วางใจระหว่างวิทแลมกับเคอร์ และบทบาทที่สมควรของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์คือการให้คำปรึกษา คำแนะนำ และคำเตือน[ 124]
คำกล่าวหาว่ามีความเกี่ยวข้องกับซีไอเอ
ระหว่างที่เกิดวิกฤต วิทแลมกล่าวหาว่าหัวหน้าพรรคชนบท ดัก แอนโธนี มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสำนักข่าวกรองกลาง ของสหรัฐฯ (ซีไอเอ)[ 125] ต่อมามีการกล่าวหาว่าเคอร์ทำตามคำสั่งของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ปลดวิทแลม คำกล่าวหาที่มีอยู่ดาษดื่นที่สุดคือซีไอเอมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเคอร์[ 126] ในปี 1966 เคอร์เข้าร่วมกลุ่มคอนเกรสฟอร์คัลเชอรัลฟรีดอม (Congress for Cultural Freedom) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากซีไอเอ คริสโตเฟอร์ บอยซ์ ที่ต้องโทษข้อหาเป็นสายลับให้กับสหภาพโซเวียต กล่าวว่าซีไอเอต้องการปลดวิทแลมออกจากตำแหน่งเพราะเขาเคยขู่ว่าจะปิดฐานทัพสหรัฐฯ ในออสเตรเลีย รวมถึงฐานทัพไพน์แก็ป บอยซ์เป็นลูกจ้างอายุ 22 ปี ในบริษัทผู้รับจ้างที่อยู่ในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของสหรัฐฯ ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ปลดนายกรัฐมนตรี เขาพูดว่าซีไอเอเรียกเคอร์ว่าเป็น "เคอร์คนของเรา"[ 127]
โจนาธาน ควิทนีย์จากหนังสือพิมพ์เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล กล่าวว่าซีไอเอ "ออกค่าเดินทางให้กับเคอร์ สร้างสมบารมีให้... เคอร์ยังคงไปหาซีไอเอเพื่อขอเงิน" ในปี 1974 ทำเนียบขาวส่ง มาร์แชล กรีน มาเป็นเอกอัครราชฑูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศออสเตรเลีย ผู้เป็นที่รู้จักในฉายา "เจ้าแห่งการรัฐประหาร" เพราะมีบทบาทสำคัญต่อการรัฐประหารในปี 1965 เพื่อโค่นล้มประธานาธิบดีซูการ์โน แห่งอินโดนีเซีย [ 128]
วิทแลมเขียนในเวลาต่อมาว่า เคอร์ไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนใด ๆ จากซีไอเอ[ 129] [ 130] อย่างไรก็ตาม เขาเคยกล่าวว่าในปี 1977 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา วอร์เร็น คริสโตเฟอร์ เดินทางมายังซิดนีย์เป็นการพิเศษเพื่อพบกับเขา ส่งสาส์นในนามประธานาธิบดีสหรัฐฯ จิมมี คาร์เตอร์ ว่าเขาพร้อมที่จะร่วมงานกับรัฐบาลใด ๆ ก็ตามที่ประชาชนออสเตรเลียเป็นผู้เลือกเข้ามา และสหรัฐฯ จะไม่แทรกแซงกระบวนการทางประชาธิปไตยของออสเตรเลียอีกต่อไป เคอร์ปฏิเสธว่าตัวเองเกี่ยวข้องกับซีไอเอ และไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่ระบุว่าเขาเกี่ยวข้องจากบันทึกส่วนตัวของเขา[ 130]
อดีตผู้อำนวยการองค์การข่าวกรองความมั่นคงออสเตรเลีย (เอซิโอ) เซอร์ เอ็ดเวิร์ด วูดเวิร์ด ปฏิเสธว่าซีไอเอมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้[ 132] ผู้พิพากษาโรเบิร์ต โฮป ที่อยู่ในคณะกรรมธิการสอบสวนหน่วยข่าวกรองออสเตรเลียถึงสองครั้ง พูดในปี 1998 ว่าเขาพยายามที่จะตามหาและสัมภาษณ์พยานที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ให้หลักฐานจากกล้องถ่ายภาพกับคณะกรรมาธิการเชิร์ช ว่าด้วยความเกี่ยวข้องของซีไอเอกับการปลดนายกรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถหาได้ทั้งพยานและคำให้การ[ 133] ในปี 2015 นักประวัติศาสตร์ชาวออสเตรเลีย ปีเตอร์ เอ็ดเวิร์ดส ปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยเขาเรียกสิ่งนี้ว่าเป็น "ทฤษฎีสมคบคิดที่อยู่มาอย่างยาวนาน"[ 134]
จดหมายลับระหว่างเคอร์กับชาร์เทอริสที่ถูกเผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2020 เปิดเผยว่าเคอร์คิดว่าคำกล่าวหาที่ว่าเขาเกี่ยวพันกับซีไอเอเป็น "เรื่องไร้สาระ" และเขายืนยันอย่างหนักแน่นถึง "ความจงรักภักดีตลอดมา" ที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์[ 135]
ความเกี่ยวข้องของวัง
ทั้งวิทแลมและเคอร์ไม่เคยชี้นำว่าวังได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับเรื่องนี้[ 130] เจนนี ฮอคกิง นักเขียนชีวประวัติของวิทแลม อ้างถึงบันทึกของเคอร์จากหอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรเลียที่เปิดเผยว่าเขาเคยพูดคุยเรื่องอำนาจสงวนที่เขามีและความเป็นไปได้ที่เขาจะใช้มันเพื่อปลดรัฐบาลวิทแลมกับเจ้าชายชาลส์ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1975[ 136] เคอร์ถามว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเขาปลดวิทแลมแล้วนายกรัฐมนตรีตอบโต้ด้วยการปลดเขา จากคำบอกเล่าของเคอร์ เจ้าชายชาลส์ตรัสว่า "แน่นอนอยู่แล้ว เซอร์จอห์น พระราชินีไม่ควรรับถวายคำแนะนำให้เรียกตัวท่านกลับไปทุกครั้งที่ท่านพิจารณาจะปลดรัฐบาล" เคอร์เขียนในสมุดบันทึกว่าเจ้าชายชาลส์ได้ทรงแจ้งให้ราชเลขานุการในพระองค์ เซอร์ มาร์ติน ชาร์เทอริส ทราบถึงการสนทนานี้ ชาร์เทอริสจึงเขียนไปหาเคอร์เพื่ออธิบายว่า ในกรณีที่เกิดเหตุเช่นนั้นขึ้น "พระราชินีคงจะทรงพยายามประวิงเวลาให้ แต่ท้ายที่สุดแล้วพระองค์ก็ทรงต้องรับคำแนะนำที่นายกรัฐมนตรีถวาย"[ 137] [ 138] [ 130] ไมเคิล เฮเซลไทน์ นักการเมืองอังกฤษผู้อยู่ฝั่งรัฐบาลในเวลานั้นได้ยืนยันในเรื่องนี้[ 139]
หนึ่งในเอกสารหลายฉบับที่ฮ็อคกิงอ้างถึงจากบันทึกของเคอร์คือรายชื่อประเด็นสำคัญที่เคอร์เขียนไว้เป็นข้อ ๆ เกี่ยวกับการปลดนายกรัฐมนตรี รวมถึงการสนทนากับเจ้าชายชาลส์และ "คำแนะนำของชาร์เทอริสเกี่ยวกับการปลดนายกรัฐมนตรี"[ 140] พอล เคลลี ปฏิเสธข้อมูลที่ฮ็อคกิงอ้างถึง เขาเขียนว่าการสนทนาในปี 1975 ไม่ได้ถูกเขียนไว้ในบันทึกส่วนตัวอื่น ๆ ของเคอร์ ซึ่งถ้ามีก็คงเป็นการบันทึกก่อนที่จะเกิดวิกฤตขึ้น ซึ่งคงเป็นเพียงการเปิดเผยความหวาดระแวงของเคอร์ที่มีต่อการถูกวิทแลมปลด เคลลีตั้งข้อสังเกตถึงคำบอกเล่าที่แสดงถึงความประหลาดใจจากในวังเมื่อทราบถึงการตัดสินใจของเคอร์[ 130]
ตั้งแต่ปี 2012 ฮอคกิงเริ่มพยายามที่จะขอให้มีการปล่อยจดหมายโต้ตอบระหว่างที่ปรึกษาของพระราชินีกับเคอร์ในเรื่องการปลดนายกรัฐมนตรี ซึ่งหอจดหมายเหตุแห่งชาติเป็นผู้เก็บไว้อยู่[ 141] [ 142] [ 143] ในปี 2016 ฮ็อคกิงยื่นคำร้องต่อศาลสหพันธรัฐ เพื่อเรียกร้องให้หอจดหมายเหตุแห่งชาติทำการปล่อยจดหมายโต้ตอบระหว่างเคอร์ พระราชินี และชาร์เทอริส ที่เรียกว่า "จดหมายจากวัง" (palace letters) ที่หอจดหมายเหตุเก็บไว้อยู่แต่ไม่อนุญาตให้ดู[ 144] คำร้องตกไปในการพิจารณาแบบครบองค์คณะ คือเทียบเท่าชั้นอุทธรณ์ในระบบศาลของออสเตรเลีย แต่ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2020 ฮ็อคกิงที่ยื่นคำร้องฎีกาต่อศาลสูง ก็ประสบความสำเร็จในที่สุด โดยศาลสูงมีคำตัดสิน 6 ต่อ 1 ให้ถือว่าจดหมายจากวังเป็น "เอกสารของเครือรัฐ" คือเป็นเอกสารสาธารณะที่บุคคลทั่วไปสามารถขอดูได้ตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติจดหมายเหตุ ค.ศ. 1983[ 145]
ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 จดหมายทั้งหมดถูกปล่อยทางออนไลน์โดยไม่มีการปกปิดใด ๆ ข้อความในจดหมายเหล่านี้เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าเคอร์จะเคยเขียนจดหมายโต้ตอบกับชาร์เทอริสในเรื่องของอำนาจทางรัฐธรรมนูญที่เขามีในการปลดวิทแลม แต่เขาไม่เคยทูลแจ้งให้พระราชินีทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการตัดสินใจที่จะปลดวิทแลม[ 146] แต่จดหมายก็เปิดเผยเช่นกันว่าเคอร์เคยเอ่ยถึงความเป็นไปได้ที่จะปลดวิทแลมมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1975[ 147] [ 148] คือประมาณ 2-3 เดือนก่อนที่จะเกิดวิกฤต นอกจากนี้ ในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1975 มาร์ติน ชาร์เทอริสยังยืนยันในจดหมายว่าเคอร์ได้พูดคุยกับเจ้าชายชาลส์ในเรื่องความเป็นไปได้ที่วิทแลมจะทูลเกล้าฯ ขอให้พระราชินีมีพระบรมราชโองการปลดเคอร์ให้พ้นจากตำแหน่ง[ 149]
อ้างอิง
↑ รัฐธรรมนูญเครือรัฐออสเตรเลีย ม. 62
↑ รัฐธรรมนูญเครือรัฐออสเตรเลีย ม. 63, ม. 64
↑ Murray, Robert; White, Kate (1993). "Cain, John (1882–1957)" . พจนานุกรมชีวประวัติออสเตรเลีย . Vol. 13. โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น. ISSN 1833-7538 – โดยทาง ศูนย์ชีวประวัติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย.
↑ "Chris Watson, In office" . Australia's Prime Ministers . หอจดหมายเหตุแห่งชาติออสเตรเลีย . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 18 February 2016. สืบค้นเมื่อ 10 February 2010 .
↑ Wurth, Bob (2 January 2010), "How one strong woman changed the course of Australian history" , The Age , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 28 August 2010, สืบค้นเมื่อ 21 May 2010
↑ Jenny Hocking Gough Whitlam: His Time. Melbourne University Publishing 2012. ISBN 9780522857931 p.132
↑ Jenny Hocking Gough Whitlam: His Time. Melbourne University Publishing 2012. Chapter 10 'The Third Man' passim
↑ Hocking 2012p. 306
↑ "Mason Disputes Details But Largely Confirms Kerr's Account of Their Discussions" . whitlamdismissal.com. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 April 2014. สืบค้นเมื่อ 22 April 2014 .
↑ Sir Anthony Mason 'It was unfolding like a Greek tragedy' Sydney Morning Herald เก็บถาวร 12 มกราคม 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 27 August 2012
↑ Jenny Hocking Gough Whitlam: His Time. Melbourne University Publishing. 2012. p.258
↑ Kerr, John. "Statement from John Kerr (dated 11 November 1975) explaining his decisions" . WhitlamDismissal.com . คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 23 February 2012. สืบค้นเมื่อ 11 January 2017 .
↑ มาตรา 64 ในรัฐธรรมนูญให้อำนาจผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ผู้จะดำรงตำแหน่งโดยเป็นไปตามอัธยาศัยของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
↑ หนังสือปลดนายกรัฐมนตรี คำชี้แจงเหตุผลของเคอร์ และคำแนะนำของบาร์วิคถูกตีพิมพ์ในหนังสือ Williams, George; Brennan, Sean; Lynch, Andrew (2014). Blackshield and Williams Australian Constitutional Law and Theory (6 ed.). Leichhardt, NSW: Federation Press. pp. 361–365. และยังปรากฎอยู่ใน "Dismissal Documents" . whitlamdismissal.com. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 9 December 2013. สืบค้นเมื่อ 24 April 2014 . พร้อมกับเอกสารอื่น ๆ และภาพถ่ายของหนังสือปลดฯ
↑ จดหมายจากบาร์วิคถึงเคอร์ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 และจดหมายจากเคอร์ถึงชาร์เทอริสลงวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1975 ถูกเผยแพร่ในตอนที่ 2 ของชุดจดหมายจากวังที่ https://www.naa.gov.au/explore-collection/kerr-palace-letters
↑ Shaw, Meaghan (5 November 2005), "Nothing will save the governor-general" , The Age , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 20 May 2010, สืบค้นเมื่อ 26 June 2010
↑ 105.0 105.1 Marks, Kathy (7 November 2005), "Dismissal still angers Gough" , AM , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 7 April 2010, สืบค้นเมื่อ 19 May 2010
↑ "Sir John Kerr; overturned Government of Australia" , The Los Angeles Times , 30 March 1991, เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2012, สืบค้นเมื่อ 19 May 2010
↑
Marks, Kathy (6 November 1999), "Australia poised to say no to republican dream" , The Independent , สืบค้นเมื่อ 1 April 2010
↑ Kelly, Paul; Bramston, Troy (7 November 2015). "Queen, Fraser wanted Kerr gone soon after Whitlam's dismissal" . The Australian .
↑ Butterfield, Fox (6 November 1975), "C.I.A. issue enters Australian crisis" , The New York Times , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 3 November 2012, สืบค้นเมื่อ 11 June 2010 (fee for article)
↑ Blum, William (1998), Killing Hope – U.S. Military and CIA interventions since World War II , Black Rose Books, ISBN 978-1-55164-096-9 , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 June 2016, สืบค้นเมื่อ 6 June 2010
↑ Martin, Ray (23 พฤษภาคม 1982), A Spy's Story: USA Traitor Gaoled for 40 Years After Selling Codes of Rylite and Argus Projects. ( 60 Minutes transcript) , williambowles.info, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม เมื่อ 1 พฤษภาคม 2009, สืบค้นเมื่อ 24 กันยายน 2006
↑ Cited in Pilger, John The British-American coup that ended Australian independence เก็บถาวร 31 มกราคม 2018 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน The Guardian 22 October 2014.
↑ Steketee, Mark (1 January 2008), "Carter denied CIA meddling" , The Australian , เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 10 October 2010, สืบค้นเมื่อ 19 May 2010
↑ 130.0 130.1 130.2 130.3 130.4 Whitlam dismissal: Queen, CIA played no role in 1975 , Paul Kelly and Troy Bramston, The Australian , 26 December 2015
↑ Terrorist threat heightened, former spy boss says , Australian Broadcasting Corporation , 7.30 Report, 11 October 2005. Accessed 23 July 2009. Archived 2009-07-25.
↑ Hope, Robert (10 July 1998). "Robert Marsden Hope interviewed by John Farquharson in the Law in Australian society oral history project [sound recording]" . Trove (National Library of Australia) . สืบค้นเมื่อ 16 July 2020 .
↑ Edwards, Peter (22 December 2015). "Arthur Tange, the CIA and the Dismissal" . The Strategist . Australian Strategic Policy Institute . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 20 June 2020. สืบค้นเมื่อ 14 July 2020 .
↑ " 'Don't ever write and preach to me again': One missive in the Palace letters broke all the rules" . www.abc.net.au (ภาษาอังกฤษแบบออสเตรเลีย). 2020-07-18. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 21 July 2020. สืบค้นเมื่อ 2020-07-27 .
↑ Hocking p.312
↑ Hocking p.312
↑ "What the Queen, Prince Charles really knew about Gough's dismissal" . Crikey . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 8 May 2016. สืบค้นเมื่อ 20 April 2016 .
↑ The Crown and Us: The Story of the Royals in Australia ABC-TV March 2019
↑ Hocking The Dismissal Dossier: Everything You Were Never Meant to Know About November 1975 - the Palace Connection 2017 p. 147 Melbourne UP, ISBN 978-0-522-87301-6
↑ Jenny Hocking Gough Whitlam: His Time. Melbourne University Publishing 2012. ISBN 9780522857931 pp. 311–317
↑ Wright, Tony (21 October 2016). "What did Kerr tell the Queen leading up to Whitlam's dismissal? Legal bid to force release of Palace letters" . Sydney Morning Herald . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 23 October 2016. สืบค้นเมื่อ 23 October 2016 .
↑ Knaus, Christopher (16 August 2019). "Whitlam dismissal 'palace letters' case wins right to be heard by high court" . The Guardian . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 16 August 2019. สืบค้นเมื่อ 16 August 2019 .
↑ Hocking, Jenny (26 November 2018). "Why the Queen's Secret 'Palace Letters' about Gough Whitlam Should be Released" . The Guardian . เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 January 2020. สืบค้นเมื่อ 17 February 2020 .
↑ Jenny Hocking 'Why my battle for access to the ‘Palace letters’ should matter to all Australians' The Conversation เก็บถาวร 30 มิถุนายน 2020 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 8 June 2020
↑ "Gough Whitlam: Queen not told in advance of Australia PM's sacking, letters show" . BBC News. 14 July 2020. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 July 2020 .
↑ "Kerr discussed reserve powers with Queen as early as September" . The Guardian Australia. 14 July 2020. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 July 2020 .
↑ "Kerr raised dismissal on 3 July but said he had 'no intention' to act" . The Guardian Australia. 14 July 2020. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 July 2020 .
↑ "Release of Buckingham Palace correspondence on dismissal of Australian government in 1975 – as it happened" . The Guardian Australia. 14 July 2020. เก็บ จากแหล่งเดิมเมื่อ 14 July 2020. สืบค้นเมื่อ 14 July 2020 .
บรรณานุกรม
Ayres, Philip (1987), Malcolm Fraser , William Heinemann Australia, ISBN 978-0-85561-060-9
Brown, Wallace (2002), Ten Prime Ministers: Life Among the Politicians , Loungeville Books, ISBN 978-1-920681-04-3
Cohen, Barry (1996), Life With Gough , Allen & Unwin, ISBN 978-1-86448-169-3
Freudenberg, Graham (2009), A Certain Grandeur: Gough Whitlam's Life in Politics (revised ed.), Viking, ISBN 978-0-670-07375-7
Hocking, Jenny (2017), The Dismissal Dossier. The Palace Connection: Everything You Were Never Meant to Know About November 1975 (revised ed.), Melbourne UP, ISBN 978-0-522-87301-6
Kelly, Paul (1983), The Dismissal , Angus & Robertson Publishers, ISBN 978-0-207-14860-6
Kelly, Paul (1995), November 1975 , Allen & Unwin, ISBN 978-1-86373-987-0
Kerr, John (1978), Matters for Judgment , Macmillan, ISBN 978-0-333-25212-3
Lloyd, Clem (2008), "Edward Gough Whitlam", ใน Grattan, Michelle (บ.ก.), Australian Prime Ministers (revised ed.), New Holland Publishers Pty Ltd, pp. 324–354, ISBN 978-1-74110-727-2
Markwell, Donald (2016). Constitutional Conventions and the Headship of State: Australian Experience . Connor Court. ISBN 9781925501155 .
McMinn, Winston (1979), A Constitutional History of Australia , Oxford University Press, ISBN 978-0-19-550562-7
Reid, Alan (1976), The Whitlam Venture , Hill of Content, ISBN 978-0-85572-079-7
Whitlam, Gough (1979), The Truth of the Matter , Allen Lane, ISBN 978-0-7139-1291-3
Whitlam, Gough (1997), Abiding Interests , University of Queensland Press, ISBN 978-0-7022-2879-7