ละเอียด พิบูลสงคราม

ละเอียด พิบูลสงคราม
คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
ดำรงตำแหน่ง
16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487
(5 ปี 228 วัน)
ก่อนหน้าพิจ พหลพลพยุหเสนา
ถัดไปเลขา อภัยวงศ์
ดำรงตำแหน่ง
8 เมษายน พ.ศ. 2491 – 16 กันยายน พ.ศ. 2500
(9 ปี 161 วัน)
ก่อนหน้าเลขา อภัยวงศ์
ถัดไปศิริ สารสิน
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครนายก
ดำรงตำแหน่ง
26 กุมภาพันธ์ – 16 กันยายน พ.ศ. 2500
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด
ละเอียด พันธุ์กระวี

25 ตุลาคม พ.ศ. 2446
ตำบลดอนพุทรา อำเภอกำแพงแสน เมืองนครไชยศรี ประเทศสยาม (ปัจจุบันคืออำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ประเทศไทย)
เสียชีวิต3 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 (80 ปี)
กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
พรรคการเมืองเสรีมนังคศิลา
คู่สมรสแปลก พิบูลสงคราม
บุตร6 คน
บุพการี
  • เจริญ พันธุ์กระวี (บิดา)
  • แช่ม พันธุ์กระวี (มารดา)
ลายมือชื่อ
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้ ไทย
สังกัดกองทัพบกไทย
ยศ พันโท
ผ่านศึกสงครามโลกครั้งที่สอง

พันโทหญิง ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม (25 ตุลาคม พ.ศ. 2446 – 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2527) หรือ ล. พิบูลสงคราม สกุลเดิม พันธุ์กระวี เป็นภริยาจอมพล แปลก พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรีไทย

ครอบครัว

ละเอียดเกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2446 ที่ตำบลดอนพุทรา เมืองนครไชยศรี (จังหวัดนครปฐม)[1]

ละเอียดเป็นบุตรคนหัวปีในบุตรทั้งสิ้น 9 คนของเจริญ พันธุ์กระวี และแช่ม พันธุ์กระวี[1] ปู่ของละเอียด คือ ขุนสุนทรลิขิต (กะวี) และย่าของละเอียดชื่อ กอง[1] ปู่ชวดของละเอียด คือ จ่าอัศวราช (ศรีจันทร์)[1] ครอบครัวของละเอียดมีฐานะปานกลาง[2]

การศึกษา

ละเอียดเริ่มเรียนเขียนอ่านโดยบิดาสอนให้เองที่บ้าน ภายหลังจึงส่งเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนประจำที่โรงเรียนสตรีวิทยา[3] แล้วบิดาพาไปอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ให้เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนตัวอย่างพิทยาคม (ปัจจุบันคือโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม) ซึ่งเป็นโรงเรียนชาย เพราะในเวลานั้นยังไม่มีโรงเรียนหญิง ต่อมาเมื่อคณะมิชชันนารีอเมริกันตั้งโรงเรียนหญิงคือ โรงเรียนผดุงนารี (ปัจจุบันคือโรงเรียนผดุงราษฎร์) แล้ว บิดาจึงให้ไปศึกษาที่โรงเรียนผดุงนารี[4]

การสมรส

ขณะอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก ละเอียดพบจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ซึ่งเวลานั้นคือร้อยตรี แปลก ขีตตะสังคะ กำลังฝึกทหารอยู่ เมื่อพบกันบ่อยเข้า จึงเขียนจดหมายหากัน จนรักกัน และหมั้นกันในที่สุด[5] ก่อนจะสมรสกันใน พ.ศ. 2459 ขณะนั้น ละเอียดอายุ 14 ปี[6] เมื่อสมรสแล้วได้ 3 เดือน ร้อยตรี แปลก ต้องย้ายเข้ากรุงเทพฯ ละเอียดก็ติดตามไปด้วย[6] ภายหลังเมื่อสามีย้ายไปที่อื่น ๆ ละเอียดก็ได้ติดตามไปทุกแห่ง จนกระทั่งสามีไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ. 2467–2470 ละเอียดจึงไปประกอบอาชีพครูที่โรงเรียนผดุงนารี[7]

ละเอียดและสามีมีบุตรธิดาด้วยกัน 6 คน คือ[8]

  1. พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม สมรสกับหม่อมหลวงพร้อมศรี สนิทวงศ์
  2. พลเรือโท ประสงค์ พิบูลสงคราม สมรสกับเรืองยศ เกตุนุติ
  3. ร้อยเอกหญิง จีรวัสส์ ปันยารชุน (ชื่อเดิม ผอบ;[9] 1 ตุลาคม 2464 – 6 มีนาคม 2560)[10] สมรสกับพันตรี ดร.รักษ ปันยารชุน[11]
  4. รัชนิบูล ปราณีประชาชน สมรสกับพลตำรวจโท ชูลิต ปราณีประชาชน อดีตเลขานุการกรมตำรวจ (สกุลเดิม หงสเวส)
  5. พัชรบูล เบลซ์ สมรสกับปีเตอร์ เบลซ์
  6. นิตย์ พิบูลสงคราม (30 มิถุนายน 2484 – 24 พฤษภาคม 2557) สมรสกับพัชรินทร์ (นามเดิม แพทริเชีย ออสมอนด์)

งานการเมือง

ละเอียดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของจังหวัดนครนายก สังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500[12]

ในระหว่างที่จอมพล แปลก สามีของเธอ เป็นนายกรัฐมนตรี ละเอียดได้ดำรงตำแหน่งประธานสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง[13] และมีบทบาทในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีในประเทศไทย โดยใน พ.ศ. 2497 ละเอียดได้เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้สตรีรับราชการได้ นำมาสู่การออกพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการตุลาการ พ.ศ. 2497 ซึ่งเปิดให้สตรีเป็นข้าราชการตุลาการได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย แต่ในทางปฏิบัติ กระทรวงยุติธรรมเพิ่งยอมให้สตรีเป็นข้าราชการตุลาการได้ใน พ.ศ. 2502 และยอมให้เพียงบางตำแหน่งเท่านั้น[14]

ละเอียดยังบุกเบิกงานด้านสังคมสงเคราะห์และงานพัฒนากิจการสตรีในประเทศไทย โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสภาสตรีแห่งชาติ[15] และริเริ่มจัดตั้งโรงพยาบาลสงเคราะห์หญิงมีครรภ์และบุตร (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลราชวิถี)

ละเอียดระบุว่า ในคราวที่จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลของจอมพล แปลก สามีของเธอ เมื่อ พ.ศ. 2500 นั้น เธอกำลังร่วมการประชุมของสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อประชุมเสร็จแล้ว ได้ข่าวว่า สามีถูกรัฐประหารและกำลังหลบหนีออกจากประเทศไทยไปประเทศกัมพูชา ต่อมาได้ข่าวอีกว่า พระมหากษัตริย์กัมพูชาทรงต้อนรับสามีของเธอเป็นอย่างดียิ่ง เธอจึงรีบเดินทางไปพบสามีที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา และจากนั้นก็ได้ใช้ชีวิตอยู่กับสามีที่ตำหนักของเจ้าฟ้าสีหนุซึ่งพระมหากษัตริย์กัมพูชาพระราชทานให้[16] ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2500 เธอและสามีจึงย้ายไปพำนักในประเทศญี่ปุ่น[17]

เมื่อจอมพล แปลก อุปสมบทที่วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย เป็นเวลา 24 วันใน พ.ศ. 2503 ละเอียดก็ตามไปปรนนิบัติด้วย[18] ภายหลัง จอมพล แปลก เสียชีวิตด้วยหัวใจวายที่ประเทศญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2506 ละเอียดก็ได้อยู่ด้วยจนวินาทีสุดท้าย[19] และได้เชิญอัฐิของสามีกลับประเทศไทยใน พ.ศ. 2507 จากนั้นละเอียดก็พำนักอยู่ในประเทศไทยจนวาระสุดท้าย[19]

การเสียชีวิต

ละเอียดเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว อายุรวม 80 ปี[20] เสียชีวิตที่โรงพยาบาลพร้อมมิตร กรุงเทพมหานคร เวลา 13:31 นาฬิกา[21]

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานโกศแปดเหลี่ยมและฉัตรเบญจาตั้งประกอบศพ[21] และเมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2527 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน กรุงเทพมหานคร[22]

เกียรติยศ

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ

ยศทหาร

อ้างอิง

เชิงอรรถ

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 1)
  2. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 2)
  3. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 3)
  4. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 4)
  5. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 6–7)
  6. 6.0 6.1 อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 7)
  7. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 8–9)
  8. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 17)
  9. อภิรดา มีเดช (2017-03-06). "ลูกทหารรักชาติ: จีรวัสส์ พิบูลสงคราม". WAY. สืบค้นเมื่อ 2017-04-17.
  10. จีรวัสส์ ปันยารชุน บุตรี 'จอมพล ป. พิบูลสงคราม' เสียชีวิต
  11. ประวัติบริษัทฯ ยุคแรกปี พ.ศ. 2499–ปี พ.ศ. 2530 article
  12. ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป
  13. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 202)
  14. ภาพิมล อิงควระ (2021, หน้า 9–10)
  15. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 213–214)
  16. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 12)
  17. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 13)
  18. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 15–16)
  19. 19.0 19.1 อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 16)
  20. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า 20)
  21. 21.0 21.1 อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า [6])
  22. อนุสรณ์ฯ (1984, หน้า [9])
  23. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 70 ตอนที่ 29 ง หน้า 2055, 12 พฤษภาคม 2496
  24. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม 71 ตอนที่ 84 ง หน้า 2807, 14 ธันวาคม 2497
  25. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2012-05-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 68 ตอนที่ 74 ง หน้า 5656, 11 ธันวาคม 2494
  26. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 73 ตอนที่ 81 ง หน้า 3005, 9 ตุลาคม 2499
  27. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการภายใน, เล่ม 58 ตอนที่ 0 ง หน้า 1956, 23 มิถุนายน 2484
  28. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญช่วยราชการเขตภายใน, เล่ม 61 ตอนที่ 33 ง หน้า 952, 30 พฤษภาคม 2487
  29. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ เก็บถาวร 2014-11-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 55 ตอนที่ 0 ง หน้า 3021, 5 ธันวาคม 2481
  30. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์, เล่ม 70 ตอนที่ 80 ง หน้า 5433, 29 ธันวาคม 2496
  31. 31.0 31.1 ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ เก็บถาวร 2021-11-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม 72 ตอนที่ 63 ง หน้า 2085, 9 สิงหาคม 2498
  32. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตประดับเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ, เล่ม 73 ตอนที่ 11 หน้า 385, 31 มกราคม 2499
  33. แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ หน้า 55 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2485

บรรณานุกรม

  • อนุสรณ์ในงานเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ป.จ. ม.ว.ม. ป.ช. ณ เมรุวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร วันอังคาร 14 สิงหาคม พ.ศ. 2527. กรุงเทพฯ: ศูนย์การพิมพ์. 1984.
  • ภาพิมล อิงควระ (2021). ความเปลี่ยนแปลงในอาชีพผู้พิพากษาสตรีในสังคมไทย พ.ศ. 2497–2563 (PDF). กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, บัณฑิตวิทยาลัย.
  • กรมศิลปากร. สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, พ.ศ. 2547. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-9527-87-9

อ่านเพิ่ม

แหล่งข้อมูลอื่น

ก่อนหน้า ละเอียด พิบูลสงคราม ถัดไป
คุณหญิงพิจ พหลพลพยุหเสนา คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
(สมัยที่ 1)

(16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 – 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487)
คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์
คุณหญิงเลขา อภัยวงศ์ คู่สมรสนายกรัฐมนตรีไทย
(สมัยที่ 2)

(8 เมษายน พ.ศ. 2491 – 16 กันยายน พ.ศ. 2500)
คุณหญิงศิริ สารสิน

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!