มาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซัน 5 เป็นรายการเกมโชว์อาหารของประเทศไทยเป็นฤดูกาลที่ 5 โดยเปิดรับสมัครผู้เข้าแข่งขันที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ผู้เข้าแข่งขันต้องเป็นประชาชนหรือผู้พำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ได้ทำงานเป็นเชฟมืออาชีพไม่เคยเป็นเชฟมืออาชีพมาก่อน และไม่เคยเรียนหลักสูตรการทำอาหารเกิน 3 เดือน หรือ 180 ชั่วโมง[1][2] โดยเริ่มออกอากาศในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ทางช่อง 7 เอชดี[3][4][5]
ในรอบคัดเลือกนี้ ผู้เข้าแข่งขันที่เข้ามาในรอบนี้มีทั้งหมด 60 คน จะได้รับผ้ากันเปื้อนสีส้มเพื่อทำการแข่งขันในรอบนี้ โดยโจทย์การแข่งขัน คือ การแสดงทักษะขั้นพื้นฐานในการทำอาหารไทย จำนวน 2 รอบ โดยในรอบแรก คือ การทอดไข่ดาว และรอบที่สอง คือ การตำพริกแกงตามสีของสเตชัน ผู้เข้าแข่งขันที่ไม่สามารถทำได้ตามโจทย์จะตกรอบทันที โดยกรรมการจะเข้าไปกระชากผ้ากันเปื้อนของผู้เข้าแข่งขันออก จนเหลือผู้ที่สามารถตำพริกแกงได้ตรงตามโจทย์ จะได้เป็นผู้เข้าแข่งขันตัวจริง และรับผ้ากันเปื้อนสีขาว
รอบคัดเลือกรอบนี้ ทางรายการได้มอบโอกาสที่สองแก่ผู้ที่ตกรอบบางคน ให้กลับเข้าแข่งขันอีกครั้ง ผ่านการแข่งขันสองรอบ ได้แก้ ภารกิจแบบทีม และบททดสอบความคิดสร้างสรรค์ ในรอบภารกิจแบบทีม จะต้องเลือกทีมและหัวหน้าทีมกันเอง โจทย์การแข่งขัน คือ การทำอาหารคาวและอาหารหวานจำนวนมากจากวัตถุดิบที่กำหนด ทีมที่ชนะจะได้รับสิทธิ์เลือกผู้เข้าแข่งขันบางคนรับผ้ากันเปื้อนและเข้ารอบทันที ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่เหลือจะต้องแข่งขันต่อกับทีมที่แพ้ในรอบทดสอบความคิดสร้างสรรค์เพื่อชิงผ้ากันเปื้อนที่เหลือ
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 จานจากวัตถุดิบในกล่องปริศนาและวัตถุดิบเสริมที่จัดเตรียมไว้ให้เท่านั้น โดยคณะกรรมการจะทำการคัดเลือกอาหารจำนวน 3 จานที่ดีที่สุดมาชิมอีกครั้งที่โต๊ะของกรรมการและเลือกจานที่ดีที่สุดจาก 3 จานดังกล่าวเพียง 1 จานเท่านั้น โดยผู้เข้าแข่งขันที่เป็นผู้ชนะในรอบนี้จะได้รับสิทธิพิเศษแตกต่างกันออกไปในแต่ละรอบ และจะไม่มีการคัดออกใด ๆ ในรอบนี้ ยกเว้นในบางรอบที่อาจมีการคัดออกในรอบนี้โดยกรรมการจะแจ้งให้ทราบทุกครั้งหากมีการคัดออกในรอบนี้ ในบางครั้ง หากมีการคัดออก จะคัดเลือกอาหารในกลุ่มที่แย่ที่สุดมาชิมอีกครั้งเพื่อหาผู้ที่ถูกคัดออก
ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 จานจากโจทย์และวัตถุดิบหลักที่กำหนดให้และต้องทำให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด โดยผู้เข้าแข่งขันสามารถเลือกวัตถุดิบที่จำเป็นต้องใช้ภายในเวลา 3 - 5 นาทีจากห้องจัดเก็บอาหาร (Food Pantry) ของมาสเตอร์เชฟ เมื่อหมดเวลาแล้วผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องนำจานอาหารของตนเองมาเสิร์ฟที่โต๊ะของกรรมการตามลำดับการเรียกชื่อของพิธีกร ผู้เข้าแข่งขัน 2 คนที่ทำอาหารได้ดีที่สุดจะได้เป็นหัวหน้าทีมในการแข่งขันรอบการแข่งขันแบบทีมต่อไป ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่ทำอาหารได้แย่ที่สุดจะถูกคัดออกจากการแข่งขัน
ผู้เข้าแข่งขันที่เป็นหัวหน้าทีมจะมีสิทธิเลือกผู้เข้าแข่งขันคนอื่นเข้าสู่ทีม โดยผู้ชนะอันดับ 1 จากรอบทดสอบความคิดสร้างสรรค์จะได้สิทธิในการเลือกสมาชิกทีมก่อน และมีสิทธิที่จะเลือกผู้เข้าแข่งขันคนสุดท้ายที่ยังไม่ได้ถูกเลือกเข้าสู่ทีมให้กับอีกทีมหนึ่ง หรือเลือกที่จะเก็บไว้ในทีมตัวเองก็ได้ ในรอบนี้ทั้ง 2 ทีมจะต้องทำอาหารให้กับผู้ลงคะแนนที่ทางรายการเชิญมาในสถานการณ์และวัตถุดิบหลักที่แตกต่างกันในแต่ละรอบ โดยผลแพ้หรือชนะนั้นจะมาจากการที่ผู้ลงคะแนนเลือกที่จะให้คะแนนทีมใดทีมหนึ่งเป็นจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ลงคะแนนทั้งหมด โดยทีมที่ชนะจะได้ผ่านเข้าสู่รอบต่อไปทันที ส่วนทีมที่แพ้นั้นจะต้องแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำอีกครั้งเพื่อหาผู้เข้าแข่งขันที่ต้องออกจากการแข่งขันต่อไป
ทีมที่แพ้ในรอบการแข่งขันแบบทีมจะต้องมาแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำอีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่ต้องออกจากแข่งขันอย่างน้อย 1 คน ในบางรอบหัวหน้าของทีมที่แพ้ หรือหัวหน้าทีมของทีมที่ชนะในการแข่งขันในรอบการแข่งขันแบบทีมสามารถเลือกผู้เข้าแข่งขันหรือตัวเองเพื่อผ่านเข้าสู่รอบต่อไปได้โดยไม่ต้องแข่งขันในรอบทดสอบความละเอียดและแม่นยำ ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่ทำอาหารได้แย่ที่สุดจะถูกคัดออกจากการแข่งขัน
โดยทั้งสองทีมจะต้องทำอาหารจานหลักจากวัตถุดิบ เนื้อแองกัส ส่วนริบอาย จากประเทศออสเตรเลีย และ ปูม้า จากทะเลอันดามัน และอาหารหวานจากวัตถุดิบ ลูกตาล จากจังหวัดเพชรบุรี เสิร์ฟกรรมการซึ่งเป็นเชฟมืออาชีพ นักชิมและนักวิจารณ์อาหารชื่อดังของประเทศไทย จำนวน 50 คน ภายในเวลา 2 ชั่วโมง 30 นาที แต่จะต้องเสิร์ฟอาหารจานหลักในเวลา 2 ชั่วโมง ในระหว่างการทำอาหาร หัวหน้าทีมสีฟ้าไม่สามารถควบคุมทีมได้ จึงมีการเปลี่ยนหัวหน้าทีมเป็น แบรด เมื่อถึงเวลา 2 ชั่วโมง ที่จะต้องเสิร์ฟอาหารจานหลัก ทีมสีฟ้ามีอาหารที่ไม่สมบูรณ์จำนวน 10 จาน และทีมสีชมพูมีอาหารที่ไม่สมบูรณ์จำนวน 16 จาน ซึ่งจานเหล่านี้ไม่สามารถเสิร์ฟกรรมการได้ สำหรับขนมหวาน ทั้งสองทีมสามารถเสิร์ฟได้ครบถ้วน โดยผลจากการตัดสินทีมที่ชนะคือ ทีมสีชมพู ชนะไปด้วยคะแนน 29 ต่อ 21
จากชัยชนะของทีมสีชมพู ส่งผลให้ทีมสีฟ้าทั้งทีมต้องแข่งขันต่อในรอบถัดไป ส่วนทีมสีชมพู เนื่องจากอาหารของทั้งสองทีมยังไม่ได้มาตรฐาน จึงทำให้กรรมการเล็งเห็นว่าจะมอบผ้ากันเปื้อนให้ทีมสีชมพูจำนวน 7 ผืนเท่านั้น และให้ทีมสีชมพูปรึกษากันภายในทีม ซึ่งทีมสีชมพูได้ข้อสรุปว่าจะให้ นุ, ต้น, แทส, หยก, มิเชล, ไม้ซุง และฮอลลี่ ได้รับผ้ากันเปื้อนในรอบนี้ ขณะที่กรรมการเห็นด้วยกับทีมเพียง 2 คนเท่านั้น แต่เนื่องจากสมาชิกที่เหลือไม่ต่อสู้เพื่อคว้าโอกาสเอง ทำให้ผู้ที่ถูกเลือกทั้ง 7 คนได้รับผ้ากันเปื้อน ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่เหลืออีก 5 คนจะต้องไปแข่งขันกันต่อในรอบถัดไป
หมายเหตุ † หมายถึง ผู้เข้าแข่งขันที่ถูกทิ้งอาหารโดยไม่มีการชิมในการแข่งขันนั้น
ในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 เมนู โดยเลือกวัตถุดิบได้แค่ 16 อย่างเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าไปเลือกวัตถุดิบรายการให้เวลา 10 นาทีในการประชุม หลังจากที่เลือกวัตถุดิบเสร็จแล้วรายการได้เปลี่ยนกติกาให้แต่ละคู่แข่งขันกันเอง โดยการเสี่ยงดวงเลือกมีดคนละเล่ม ผู้ที่หยิบมีดที่มีโลโก้ MasterChef จะได้เลือกวัตถุดิบจำนวน 7 อย่าง ส่วนวัตถุดิบที่เหลือจะตกเป็นของอีกคนในคู่ทันที ซึ่งผู้ที่หยิบมีดที่มีโลโก้ MasterChef ได้แก่ คุณตึ๋ง แน่น นุ ขวัญ หยก โหน่ง คุณยุพ มิเชล มีเวลา 60 นาทีในการทำอาหาร ผู้ชนะจะได้ผ่านเข้ารอบทันที ส่วนผู้แพ้จะต้องแข่งขันกันต่อในรอบต่อไปพร้อมผ้ากันเปื้อนสีดำ
ในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหาร 1 เมนู โดยเลือกวัตถุดิบได้เพียง 16 อย่างเท่านั้น ผู้เข้าแข่งขันมีเวลา 10 นาทีในการเลือกวัตถุดิบ แต่ทั้งสองคนจะต้องทำอาหารจานเดียวกันโดยทำอาหารอยู่คนละ station ในรอบนี้ station จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คั่นด้วยชั้นวางอุปกรณ์ ดังนั้นทั้งสองคนจะไม่สามารถเห็นความเคลื่อนไหวของคู่ของตัวเองได้ แต่สามารถสื่อสารข้ามกันได้ เกณฑ์การตัดสินในรอบนี้คือ รสชาติ ความคิดสร้างสรรค์ และความเหมือนกันของจานอาหาร (รสชาติ การแต่งจาน องค์ประกอบที่ครบถ้วน) มีเวลา 60 นาทีในการทำอาหารจานนี้เพื่อคัดคนที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดจากทีมที่มีผลงานแย่ที่สุด 1 คนออกจากการแข่งขัน
โจทย์ที่ใช้ในการแข่งขันครั้งนี้ คือ อาหารญี่ปุ่นในรูปแบบเบนโต 5 ช่อง มีวัตถุดิบหลักได้แก่ เนื้อวากิว A5 ปูทาราบะ โฮตาเตะ และปลาคินเมะได จำนวน 10 ที่ มีเวลา 60 นาที ส่วนผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ถูกเลือก จะได้สิทธ์เป็นผู้ร่วมตัดสิน พร้อมกับกรรมการรับเชิญอีก 2 ท่าน คือ เชฟพฤกษ์ พฤกษ์ สัมพันธวรบุตร และเชฟอ๊อฟ ณัฐวุฒิ ธรรมพันธ์ กรรมการรับเชิญและผู้เข้าแข่งขัน 4 คนที่ไม่ถูกเลือกจะชิมโดยไม่ทราบว่าจานไหนเป็นของทีมใด เมนูของทีมสีแดงคือ "เสียงคำรามจากโชกุน" ประกอบไปด้วย หอยโฮตาเตะอบเนย ข้าวหน้าเนื้อวากิว ก้ามปูทาราบะย่างเสิร์ฟพร้อมไอศกรีมมันปู ปลาคินเมะไดทอดราดซอสหวาน สลัดเต้าหู้อ่อนและกิมจิ และเมนูของทีมสีน้ำเงินคือ "เสียงกระซิบของเกอิชา" ประกอบไปด้วย ข้าวผัดกระเทียม ปลาเทมปุระ เนื้อทาตากิ สลัดเต้าหู้และหอยโฮตาเตะ ของหวานเป็นครีมมันบดข้าวโพดเนื้อปู โดยผลจากคณะกรรมการได้ลงคะแนน ทีมสีแดง เป็นฝ่ายชนะ ด้วยคะแนน 7 ต่อ 3
ผู้เข้าแข่งขันทั้งสองทีมจะต้องจัดงานเลี้ยงขอบคุณให้ทีมกู้ชีพและกู้ภัยของมูลนิธิต่าง ๆ โดยจะต้องทำอาหารจานหลัก 1 จาน กินคู่กับซุปหรือแกง ซึ่งจะต้องเป็นอาหารที่แปลกใหม่ ไม่เคยกินมาก่อน มีปริมาณที่อิ่มท้อง มีรสชาติ เปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เผ็ด ให้ทีมกู้ภัยจำนวน 101 คน มีเวลา 2 ชั่วโมงในการเตรียมอาหาร และ 30 นาทีในการจัดเสิร์ฟ เมนูของทีมสีแดงคือ "สมรศรีท่องอิตาลี" ประกอบไปด้วยจานหลัก พาสตาผัดซอสกะปิแซลมอน กินคู่กับหมูหวานและผัก และซุปต้มแซ่บหมึกน้ำดำ ส่วนเมนูของทีมสีน้ำเงิน คือ "แซ่บนานาชาติ" ประกอบไปด้วยจานหลัก ลาบปลาแซลมอน กินกับเส้นใหญ่และเส้นพาสตา กับหมูกรอบเค็ม และซุปโคชูจังตีนไก่ผสมปลาหมึกสไตล์เกาหลี หลังจากที่ทีมกู้ภัยทั้ง 101 คนได้ชิมอาหารของทั้งสองทีม ทีมที่ชนะ คือ ทีมสี แดง ชนะไปด้วยคะแนน 52 ต่อ 49 ก่อนที่จะประกาศคะแนน ผู้เข้าแข่งขันทั้งสองทีมจะต้องประชุมว่าใครในทีมคือผู้ที่มีความผิดพลาดมากที่สุด โดยทีมสีแดงได้เลือกแหม่มและเริญ ส่วนทีมสีน้ำเงินได้เลือกมิเชลและแทส โดยกรรมการได้ให้ผู้เข้าแข่งขันทั้งสองคนตกรอบ แต่จะได้รับสิทธิ์ให้แข่งขันกับผู้เข้าแข่งขันที่ถูกกักตัว ได้แก่ ฮอลลี่และแบรด
ผู้เข้าแข่งขันทั้งสองทีมจะต้องทำอาหารให้กับนักกีฬาเพาะกายจากสมาคมกีฬาเพาะกายและฟิตเนสแห่งประเทศไทย จำนวน 30 คน นำโดยเชฟอาร์ ธีรภัทร ตียาสุนทรานนท์ เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย โดยอาหารที่ทำจะต้องเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ และดีต่อสุขภาพ จากวัตถุดิบหลัก อกไก่ สันในคุโรบุตะ ปลากะพง ปลาเก๋าการ์ตูน นม ไข่ ข้าวโอ๊ต และธัญพืชที่มีโปรตีน มีเวลา 75 นาทีในการทำอาหาร เมื่อหมดเวลาแล้วจะต้องหยุดทันที แต่เนื่องจากในรอบนี้จะต้องทำอาหารจำนวนมากในเวลาที่น้อย รายการจึงให้ตัวช่วยพิเศษ คือ คุณตึ๋ง ไม้ซุง อาร์ต และโหน่ง ซึ่งคุณยุพได้เลือกโหน่งและอาร์ต และคุณแดงได้เลือกไม้ซุงและคุณตึ๋ง อาหารของทีมสีแดง คือ "เจ้านกน้อยคล้อยบินสู่เวหา" ส่วนอาหารของทีมสีน้ำเงิน คือ "หมูไก่เร่งเบ่งกล้าม" เมื่อเสิร์ฟอาหารคาวเสร็จ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทำอาหารหวานต่อในเวลา 60 นาที จากวัตถุดิบ น้ำผึ้ง ลูกเกด อินทผาลัม กล้วย แอปเปิ้ลเขียว แก้วมังกร และนมถั่วเหลือง ทั้งนี้ ทั้งสองทีมจะต้องเลือกสมาชิกในทีมออก 1 คนทุก ๆ 15 นาที เมื่อเหลือเวลา 3 นาทีสุดท้าย ผู้เข้าแข่งขันทุกคนที่ถูกตัดออกจะมีสิทธิ์มาช่วยทีมของตน เมนูของทีมสีแดง คือ "เจ้าถลาเล่นลมสมฤดี" และจานของสีน้ำเงิน คือ "คัสตาร์ดนมถั่วเหลืองจอมพลัง" หลังจากกรรมการชิมอาหารของทั้งสองทีมแล้ว ทีมที่ชนะ คือ ทีมสีแดง โดยชนะไปด้วยคะแนน 16 ต่อ 14
ในรอบนี้ผู้เข้าแข่งขันจะได้รับนาฬิกาจับเวลา มีเวลารวมในการแข่งขัน 2 รอบ จำนวน 80 นาที