มานะ มานี ปิติ ชูใจ เป็นชุดแบบเรียนภาษาไทย ระดับประถมศึกษาปีที่ 1–6 รวม 12 เล่ม (ภาคเรียนละ 1 เล่ม) ซึ่งใช้ในการเรียนการสอนภาษาไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2521–2537 เขียนเรื่องโดยรัชนี ศรีไพรวรรณ และมีรูปภาพประกอบ ซึ่งวาดขึ้นโดย เตรียม ชาชุมพร นักเขียนการ์ตูนและนิยายภาพ จากชัยพฤกษ์การ์ตูน, โอม รัชเวทย์ และปฐม พัวพิมล[1]
ประวัติ
ที่มาของแบบเรียน เริ่มจากที่กระทรวงศึกษาธิการ เห็นว่าแบบเรียนภาษาไทย ชุดที่ใช้อยู่ก่อนหน้านั้น มีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย จึงต้องการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ โดยวางวัตถุประสงค์ให้นักเรียนอ่านแล้ว มีความรู้สึกสนุกสนาน เพื่อกระตุ้นให้อยากเรียนภาษาไทย แบบเรียนชุดนี้ ใช้เวลาเขียนอยู่นานกว่า 4 ปี มุ่งให้ความรู้ทางภาษาไทย ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน หลังจากนั้นจึงนำมาปรับปรุง และทดลองใช้เรียนจนแน่ใจว่า เนื้อหาที่นักเรียนประถมทั้งประเทศ ต้องอ่านเพื่อใช้ศึกษา เป็นเรื่องราวอันบริสุทธิ์ดีงาม ไม่เป็นพิษเป็นภัย โดยกำหนดจำนวนคำ ให้เรียนรู้ในแต่ละระดับชั้น ทั้งนี้ เมื่อแรกเผยแพร่ยังไม่มีชื่อ แต่รัชนีผู้เขียนเล่าว่า มีผู้เรียกอย่างลำลองว่า ตำนานเด็กดี จนกระทั่ง พ.ศ. 2537 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศยกเลิกแบบเรียนชุดนี้ เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่ทันต่อยุคสมัย[2]
การคิดเนื้อหา รัชนีเห็นว่า เด็กชอบสัตว์เลี้ยง จึงเป็นที่มาของตัวละครที่มีสัตว์เลี้ยง มานะ มานี เป็นพี่น้องกันที่มีเจ้าโต (สุนัข) และต่อมามีนกแก้ว ชูใจมีแมว วีระมีเจ้าจ๋อ (ลิง) ปิติมีเจ้าแก่ (ม้า)[3] และรัชนีเคยให้สัมภาษณ์ วราภรณ์ สมพงษ์ ผู้สื่อข่าวของไอทีวีว่าฉากทั้งหมดที่เกิดในเนื้อเรื่องนั้น จำลองมาจากสถานที่ ๆ มีอยู่จริง คือ อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เนื่องจากรัชนีชื่นชอบบรรยายกาศของสถานที่นั้น[4]
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 จนถึงปัจจุบัน กระทรวงศึกษาธิการของไทย อนุญาตให้ศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมไทย (Thai Language and Culture Centre; ชื่อย่อ: TLCC) นครเมลเบิร์น เครือรัฐออสเตรเลีย ซึ่งขอนำแบบเรียนชุดนี้ ไปใช้เป็นหนังสือเรียนภาษาไทยของสถาบัน[5]
อนึ่ง เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557 องค์การค้าของ สกสค. ประกาศว่าจะตีพิมพ์แบบเรียนดังกล่าว เพื่อใช้เป็นหนังสืออ่านเพิ่มเติม ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 เป็นต้นไป โดยรวมเนื้อหาเป็นชั้นปีละ 1 เล่ม จากเดิมที่แยกเป็นเล่ม 1 และเล่ม 2 ส่วนภาพประกอบนั้นวาดขึ้นใหม่ แต่ยังคงเนื้อหาตามเดิมทุกประการ ซึ่งจะเริ่มจัดจำหน่าย ที่ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ ทุกสาขาทั่วประเทศ ตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ปีเดียวกันเป็นต้นไป[ต้องการอ้างอิง]
ตัวละคร
- มานะ รักเผ่าไทย : พี่ชายของมานี เลี้ยงสุนัขไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าโต เขาขยันตั้งใจเรียน จึงมีผลการเรียนดี จึงเป็นนักเรียนคนเดียวของโรงเรียน ที่สามารถเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาในกรุงเทพมหานคร เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6
- มานี รักเผ่าไทย : น้องสาวของมานะ เลี้ยงนกแก้วไว้ตัวหนึ่ง เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เพื่อนๆ เลือกตั้งให้เธอเป็นรองประธานนักเรียน
- ปิติ พิทักษ์ถิ่น : เลี้ยงม้าไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าแก่ แต่ภายหลังก็ตายไปตามวัย ทำให้ปิติเสียใจมาก ต่อมาเขาถูกรางวัลสลากออมสิน เป็นเงิน 10,000 บาท จึงนำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่ เพื่อทดแทนเจ้าแก่ และตั้งชื่อให้ว่า เจ้านิล
- ชูใจ เลิศล้ำ : เป็นเพื่อนสนิทของมานี เลี้ยงแมวไว้ตัวหนึ่งชื่อ สีเทา เธอพักอยู่กับย่าและอาตั้งแต่ยังเล็ก โดยไม่ทราบว่าใครเป็นพ่อแม่ ซึ่งความจริงก็คือ พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เธอมีอายุเพียง 1 ขวบ ส่วนแม่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ และต่อมาก็เดินทางกลับมา ตั้งใจจะรับลูกสาวกลับไปอยู่ด้วยกัน แต่เธอเลือกจะอยู่กับย่าต่อไป
- วีระ ประสงค์สุข : มีพ่อเป็นทหาร แต่เสียชีวิตในระหว่างรบ ตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้อง ส่วนแม่ตรอมใจ เสียชีวิตหลังจากคลอดวีระได้ 15 วัน ทำให้เขาต้องอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด และเลี้ยงลิงแสมไว้ตัวหนึ่งชื่อ เจ้าจ๋อ
- สมคิด : เมื่อจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 6 แล้ว เขาย้ายกลับไปอาศัยอยู่กับปู่ และศึกษาต่อชั้นมัธยมที่จังหวัดภูเก็ต
- เพชร : เกิดในครอบครัวยากจน มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี เคยพุ่งฉมวกเข้าปักงูในอุโมงค์ เพื่อช่วยเหลือเพื่อน แม่ของเขาถูกงูกัดเสียชีวิต ขณะเข้าไปเก็บหน่อไม้ในป่า
- ดวงแก้ว ใจหวัง : มีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี
- จันทร : เป็นเด็กหญิงพิการขาลีบข้างหนึ่ง ในตอนท้ายของเรื่อง โรงเรียนคัดเลือกให้เป็นผู้แทนร้องเพลง "ความฝันอันสูงสุด" รวมถึงอ่านทำนองเสนาะถวาย เฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์พระราชทาน รับเธอไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งหายเป็นปกติ
- คุณครูไพลิน : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–3 เมื่อคราวไฟไหม้ตลาด เธอมีโอกาสพบ ทวีป เกษตรอำเภอเป็นครั้งแรก และต่อมาลูกศิษย์ของเธอ เป็นสื่อนำพาให้รู้จักคุ้นเคย และแต่งงานกันในที่สุด โดยทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน
- คุณครูกมล : เป็นครูประจำชั้น ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4–6
เรื่องย่อ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
เล่ม 1 ทำความรู้จักกับตัวละครต่าง ๆ คือ มานะ มานี ปิติ ชูใจ รวมถึงสัตว์เลี้ยง ในเล่ม 2 ปรากฏตัวละครชื่อวีระ ส่วนมานี ชูใจ และปิติได้ไปโรงเรียนครั้งแรก ได้พบกับครูไพลินซึ่งเป็นครูประจำชั้นของเด็ก ๆ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
เล่ม 1 มีนักเรียนที่ย้ายมาใหม่คือ สมคิด และดวงแก้ว มีเหตุการณ์สำคัญอยู่ 2 เรื่อง คือ กคือ พ่อแม่พามานะมานีไปเที่ยวกรุงเทพฯ โดยนั่งรถไฟไปและพักที่บ้านของลุง มานะได้เห็นเครื่องบินจึงเริ่มมีความฝันอยากจะเป็นนักบินขึ้นมา อีกฉากสำคัญคือ เจ้าแก่ ม้าคู่ใจของปิติตายจากไป ส่วนในเล่ม 2 ผองเพื่อนเริ่มสนิทกันมากขึ้น ปิติกับสมคิดกลายเป็นคู่หูกัน ปิติมีน้องแรกเกิด ในเล่มนี้ค่อย ๆ เล่ารายละเอียดพื้นฐานของแต่ละครอบครัวมากขึ้น เช่น พ่อของมานะมานีเป็นข้าราชการ ส่วนพ่อของปิติเป็นเกษตรกร ฉากสำคัญของเล่มนี้คือ ครูไพลินเล่าว่า ในหลวง รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีนาถ เพิ่งเสด็จฯ มาที่อำเภอนี้ เด็ก ๆ ได้ไปต้อนรับในหลวง
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
เล่ม 1 มีตัวละครชื่อ เพชร ซึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ เพื่อน ๆ ช่วยกันสอนหนังสือให้เพชร เหตุการณ์สำคัญเช่น วีระช่วยปฐมพยาบาลเพื่อนในค่ายลูกเสือ ในเล่ม 2 มีการเล่าภูมิหลังของตัวละครอย่าง วีระที่ไม่มีพ่อไม่มีแม่ อยู่กับลุง พ่อของวีระถูกเกณฑ์ไปเป็นทหารที่ชายแดน แล้วถูกข้าศึกฆ่าตาย แม่ของวีระเศร้ามาก พอคลอดวีระได้ 15 วันก็ตายตาม วีระจึงอยู่กับลุงและป้า ส่วนเพชรก็เริ่มทำงานพิเศษ มีเหตุการณ์ที่เพชรช่วยจังขโมย นายอำเภอได้มอบรางวัลให้เพชร 2,000 บาท และมีหนังสือพิมพ์มาถ่ายเขากับครอบครัวเพื่อทำข่าวด้วย เล่มนี้ปิติได้ม้าตัวใหม่ อีกฉากสำคัญ การเสด็จเปิดโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชที่อำเภอ ของในหลวง รัชกาลที่ 10 สมัยที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มานี ชูใจ และดวงแก้ว มีโอกาสได้รำถวายพระพร
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
เล่ม 1 มีเหตุการณ์ผจญภัยของเด็ก ๆ ที่ไม่ได้บอกพ่อและแม่ เพชรชวนทุกคนไปเที่ยวที่วัดร้างที่อยู่ในเขตป่าสงวน พบอุโมงค์ปริศนา แต่พอเข้าไปอิฐก็พังลงมาปิดปากอุโมงค์ ต้องหาทางออกอื่นแทน โดยใช้เส้นทางของมดเป็นจุดสังเกต แล้วพบข้าวของเครื่องใช้ใช้แล้วอยู่ พอออกมาได้เจองูจงอาง แล้วเพชรเอาฉมวกเสียบทะลุคอ เล่มนี้มีตัวละครใหม่ 3 คนคือ คุณอาทวีป เกษตรกรอำเภอ ครูกมล ซึ่งมารับช่วงเป็นครูประจำต่อจากครูไพลิน และเด็กหญิงขาพิการชื่อ จันทร ส่วนเล่ม 2 ปิติเพาะปลานิลและเริ่มขยายเป็นธุรกิจ โดยมีคุณอาทวีปมาช่วยดูแล ปิตินำเงินไปฝากธนาคารออมสิน และแบ่งซื้อสลากออมสิน ต่อมาถูกรางวัลที่ 3 ได้เงิน 10,000 บาท และมีเนื้อหาเกี่ยวกับเจ้านิล ม้าของปิติ และเล่มนี้ยังพูดถึงการพบกันของคุณอาทวีปกับครูกมล
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
เล่ม 1 มีตอนน้ำบ่อน้อยที่ปิติใช้น้ำลายเลียแสตมป์ มีฉากเที่ยวน้ำตกที่พบว่าครูไพลินและคุณอาทวีปได้แต่งงานกันแล้ว โดย เด็กๆ ได้ไปช่วยงานมงคลสมรสด้วย เล่ม 2 ครูไพลินกับคุณอาทวีปห้กำเนิดลูกสาวคนแรก ปิติได้เป็นตัวแทนจังหวัดไปร่วมชุมนุมหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ ของหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ทำให้เขามีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวง รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระราชินีนาถ และสมเด็จพระสังฆราช อีกเหตุการณ์สำคัญ พวกเขายังเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยผู้ประสบอุทกภัยทางภาคเหนือ จันทรถูกปลามหากาฬหรือปลาชะโดกัด เพชรใช้ฉมวกพุ่งเสียบปลาช่วยไว้ ยังมีเหตุการณ์ที่เด็ก ป.5/1 กับ 5/2 ทะเลาะกัน เพราะแปลงเกษตรของห้อง 1 ถูกทำลาย แต่แท้จริงแล้วเกิดจากหมาแมวไล่กัน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
เล่ม 1 ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปิติทำหน้าที่รับผิดชอบงานหลายอย่างทั้งในบ้านและชุมชน ขณะที่มานี ชูใจก็เตรียมอ่านหนังสือสอบชั้นมัธยม น้องของปิติที่กล่าวในช่วงแรกว่าแบเบาะตอนนี้อยู่ชั้นประถม 2 เล่มนี้เริ่มต้นด้วยช่วงเวลาแห่งการจบการศึกษา โรงเรียนจัดงานมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนชั้น ป.6 วีระได้รับรางวัลเรียนดี มานี ชูใจ ปิติ ดวงแก้ว สมคิด เรียนชั้น ป.6 ห้องเดียวกัน เพชรเรียนชั้น ป.5 วีระไปเรียน ม.1 ที่โรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ ส่วนมานะไปเรียนต่อกรุงเทพฯ เพราะลุงกับป้าไม่มีลูกจึงขอมานะให้ไปอยู่เรียนหนังสือด้วย มีการเลือกประธานนักเรียนคนใหม่ ผลก็คือ ปิติได้เป็น อีกเหตุการณ์คือในหลวง รัชกาลที่ 9 เตรียมเสด็จฯ ยกช่อฟ้าพระอุโบสถหลังใหม่ของวัดหลวงประจำอำเภอ ทางโรงเรียนได้รับคัดเลือกให้จัดการแสดงต่อหน้าพระพักตร์ และจันทรได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงรับตัวไปผ่าตัดขาที่กรุงเทพฯ มีอีกเหตุการณ์ที่เพชรถูกโจรจับขัง เพชรแอบทำสัญลักษณ์ไว้ให้เพื่อน ๆ สืบ จนติดตามมาได้และตำรวจจับกุมคนร้ายได้ทั้งหมด
เล่ม 2 หลังผ่าตัดจันทรกลับมาเรียนอีกครั้ง อาการเริ่มหายดี มีตัวละครชื่อ วัฒนา เขามีวัวอยู่ 22 ตัว แต่ปัญหาคือในไร่ของเขาไม่มีน้ำเข้ามาเลย เด็ก ๆ พยายามหาวิธีช่วยเหลือ มานีได้พบกับเศรษฐี จึงเล่าเรื่องน้ำในลำธารเปลี่ยนทางเดินให้เศรษฐีฟัง เศรษฐีไม่เคยรับทราบเรื่องนี้มาก่อนเลย เขาก็เลยตัดสินใจทำลายที่กั้นน้ำเพื่อให้น้ำเข้าที่ดินของพ่อวัฒนาเหมือนเดิม อีกเหตุุการณ์สำคัญคือ แม่ของเพชรตายเนื่องจากถูกงูกัด ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ชูใจ เด็กหญิงกำพร้าที่อาศัยอยู่กับย่าและอา ก็ได้พบแม่ที่ไม่ได้เจอกัน 13 ปี แล้วจะรับลูกไปอยู่ด้วยกัน แต่ชูใจกลับบอกว่าไม่ไป จะอยู่กับย่ากับอาตลอดไป แม่ชูกใจจะไปอยู่ต่างประเทศ แล้วฝากเงินไว้ให้ 100,000 บาท[6]
สาระของบทเรียน
มานะ มานี ปิติ ชูใจ มีเรื่องราว ตัวละคร และการดำเนินเรื่อง ซึ่งจำลองมาจากชีวิตจริง เพื่อให้มีความสนุกสนาน ชวนให้สนใจอ่าน และเพิ่มทักษะการเรียนรู้ทางภาษา ทั้งแสดงถึงบุคลิกภาพ และลักษณะนิสัยอันดีงาม ของแต่ละตัวละคร แต่ละบทจะมีภาพวาดประกอบ โดยช่วงท้ายของแต่ละบท จะมีแบบฝึกเพื่อทดสอบความรู้ โดยกำหนดจำนวนคำพื้นฐาน ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนรู้ ไว้ในหลักสูตรของแต่ละระดับชั้น สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1–4 จำนวน 4,000 คำ ประกอบด้วย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวน 450 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 800 คำ, ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 1,200 คำ และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 1,550 คำ สำหรับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 6 ไม่กำหนดจำนวนคำ[7]
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
เล่ม 1–2 รวม 40 บท มีคำใหม่ 450 คำ โดยเล่ม 1 นำคำที่สื่อความหมายได้ มาเรียงเป็นคำ ๆ ผสมคำจากพยัญชนะบางตัวและรูปสระง่าย ๆ เริ่มจาก แม่ ก กา จนมีตัวสะกดทั้ง 8 แม่ คำควบกล้ำ, อักษรนำ, สระ, เครื่องหมายไม้ยมก, รูปวรรณยุกต์ทั้ง 4 รูป และไม้ทัณฑฆาต คำต่าง ๆ นั้นผูกเป็นเรื่องราว มีตัวละครจำนวน 5 คน ได้แก่ มานะ, ปิติ, วีระ เด็กหญิง 2 คน ได้แก่ มานี, ชูใจ มีสัตว์เลี้ยงประจำตัวเด็ก เช่น มานี มานะ มีหมาชื่อ เจ้าโต, วีระ มีลิง ชื่อ เจ้าจ๋อ, ปิติ มีม้า ชื่อ เจ้าแก่ และชูใจ มีแมวชื่อ สีเทา
เล่ม 2 มีเนื้อหาสอดแทรกให้เด็กรู้จักรักสัตว์ รักเพื่อน รักธรรมชาติ รักษาความสะอาดในโรงเรียน ตลาด มารยาทสังคม เช่นการกล่าวสวัสดี ขอโทษ และการใช้หางเสียง เป็นต้น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 800 คำ ตัวละครยังคงเป็นชุดเดิม สอนคำใหม่อย่าง คำควบกล้ำ, ตัวสะกดไม่ตรงมาตรา, อักษรนำ การย้ำคำที่ ย, ว สะกด โดยผูกกับเรื่องราวที่มีสาระเกี่ยวกับประสบการณ์ที่เด็กควรรู้ ควรปฏิบัติ เช่น การศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียน, ดวงจันทร์, รุ้งกินน้ำ, การเดินทางโดยรถไฟ, ภูมิประเทศสองข้างทางรถไฟ ทำความรู้จักกับยานพาหนะชนิดต่าง ๆ เช่น เครื่องบิน, รถยนต์ ยังคงกล่าวย้ำเรื่องความสะอาดในสถานที่ต่าง ๆ วัฒนธรรมอย่างการขนทรายเข้าวัด ตักบาตร ลอยกระทง นอกจากนั้นยังสอนให้รู้จักเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน สัญญาณจราจร, การรู้จักบุคคลในท้องถิ่น เช่น สาธารณสุขอำเภอ, เกษตรอำเภอ, ตำรวจ, นายอำเภอ เป็นต้น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
รวมมี 20 บท มีคำใหม่ 1,200 คำ สอนเรื่องคำที่สะกดไม่ตรงมาตราในแม่ต่าง ๆ, การใช้ รร, ทร เป็น ซ, กลุ่มคำซ้อน, คำประวิสรรชนีย์, คำพ้องเสียง, คำราชาศัพท์ที่ควรรู้ ผูกเรื่องราวโดยแทรกนิทานพื้นบ้านอย่าง โสนน้อยเรือนงาม, ศรีธนญชัย, พระอภัยมณี ตอนสุดสาครปราบม้านิลมังกร, ขุนช้างขุนแผน ตอนพลายชุมพลปราบจระเข้ นอกจากนั้นยังมี เรื่องความรู้ทั่วไปนำมาสอดแทรกอย่างเช่น ยาเสพติด กิจกรรมของลูกเสือ ความรู้เชิงธรรมชาติศึกษา และยังมีการนำวรรณคดีไทย นิทานพื้นบ้าน แทรกเข้ามา ส่วนตัวละครเริ่มเห็นบุคลิกภาพต่าง ๆ กัน
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
รวมมี 30 บท มีคำใหม่ 1,550 คำ นอกจากการเรียนรู้ภาษาไทยยังมีให้ความรู้ในวิชาอื่น ในส่วนภาษาไทย ความรู้ที่ได้เช่น เกมต่อคำไทย, กลุ่มคำ, รูปประโยคแบบต่าง ๆ, สำนวน, พังเพย, ภาษิตต่าง ๆ, ปริศนาคำทาย, การเขียนจดหมาย, การบันทึกประจำวัน, การใช้เครื่องหมายวรรคตอนต่าง ๆ เช่น ปรัศนี, อัศเจรีย์, นขลิขิต เป็นต้น ราชาศัพท์ มีเรื่องวรรณคดีไทยอย่างเช่น ขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายแก้ว, คนังเงาะน้อย, สังข์ทอง, รามเกียรติ์ ตอน หนุมานลองดีพระฤๅษี, สุวรรณสามชาดก ในด้านการให้ความรู้ประวัติศาสตร์ เช่น พระบรมราชานุสรณ์ดอนเจดีย์, ท้าวเทพกระษัตรีและท้าวศรีสุนทร ส่วนด้านประเพณีไทยเช่น สงกรานต์, เล่นสะบ้า, ละครลิง, เพลงพวงมาลัย ในด้านความรู้ด้านอาชีพ เช่น เกษตรอำเภอ, การเลี้ยงปลานิล, การปลูกเงาะ, การเลี้ยงหอย นอกจากนั้นยังให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เช่น การทำโทรศัพท์อย่างง่าย อีกทั้งยังมีการสอดแทรกด้านจริยธรรม เช่น การที่ปิติที่ไม่ยอมลอกข้อสอบของเพื่อน และตอนเก็บกระเป๋าสตางค์ได้แล้วนำไปคืนเจ้าของ
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
ในหนังสือเรียนชั้นปีนี้มี 2 ส่วน ส่วนแรกมี 20 บท ส่วนหลังเป็นนักเรียนค้นคว้านอกเวลา 4 เรื่อง มีการเรียนรู้ ความหมายของคำ ทุ่ม-โมง, ย่ำ-ยาม, เกาะหนู เกาะแมว, เกษตรกรที่หุบกะพง ส่วนด้านวรรณคดีไทย กล่าวถึงเรื่อง พระอภัยมณี ตอน สินสมุทร, รามเกียรติ์ ตอนน้ำบ่อน้อย ด้านการละเล่นไทยพูดถึงลักษณะเพลงเกี่ยวข้าว เรียนรู้เรื่องธรรมชาติและการท่องเที่ยวเช่น เรื่องธรรมชาติของน้ำตก วีรกรรมที่บ้านบางระจัน, ประเพณีบุญบั้งไฟของชาวอีสาน และนิทานเรื่องสามัคคีเภท
ส่วนหลังของเล่ม ที่เป็นหนังสืออ่านนอกเวลา 4 เรื่องคือ เรื่องนกกระจาบ, เรื่องสังข์ทอง ตอนเลือกคู่และหาเนื้อหาปลา, เรื่องการผจญภัยของผ้าขี้ริ้ว (ผลงานนักเรียน) และ เรื่องแปล 1 เรื่อง คือเรื่องเมาคลีลูกหมาป่า
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
เล่ม 1 มี 10 บท โดยสอนเรื่องด้านต่าง ๆ ทั้งการฟัง, พูด, อ่าน, เขียน และคิด เช่น การตั้งใจฟัง, การพูดในโอกาสต่าง ๆ, การเขียนจดหมาย, การใช้สำนวนอุปมาอุปมัย, การเลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เป็นต้น ในส่วนวรรณคดี เช่น เรื่อง พระรถเมรี, สังข์ศิลป์ชัย มีการให้ความรู้ด้านประวัตศาสตร์และตำนานอย่างเรื่อง พระยาพิชัยดาบหัก และประวัติวัดพนัญเชิง (พระเจ้าสายน้ำผึ้ง และนางสร้อยดอกหมาก) ในส่วนรัฐพิธี กล่าวถึงพิธีพืชมงคล, พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และการลงคะแนนเสียงตามระบอบประชาธิปไตย ส่วนท้ายเล่มมีหนังสืออ่านนอกเวลา 3 เรื่องคือ ละครพูดเรื่อง พระร่วง พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 สองตอน บทละครเรื่อง ระบำดอกฝิ่น (ผลงานนักเรียน) และเรื่องสั้น ไอ้ตุ่น ของรัชนี ศรีไพรวรรณ
เล่ม 2 มี 10 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับสมุดบันทึก สอนให้ฝึกหัดการบันทึก ประวัตินักเล่านิทานอย่างอีสปและสุนทรภู่ ในด้านภาษา สอนการฝึกพูดโต้วาที เรื่อง การอ่านยากกว่าการเขียน มีเนื้อหาวรรณคดีอย่าง เรื่อง รามเกียรติ์ ตอนศึกทรพี ส่วนในบทสุดท้าย กล่าวถึงการเรียนจบประโยคประถมศึกษา ในตัวละครของเรื่องก็แยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน
สิ่งสืบเนื่อง
เมื่อปี พ.ศ. 2537 ในสตูดิโออัลบั้มชุดแรกของโมเดิร์นด็อก มีเพลงหนึ่งชื่อ มานี (Manee) เนื้อเพลงส่วนหนึ่งมาจากบทร้อยแก้ว ในแบบเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1[8] ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเค้าโครงของเรื่องนี้ มาเสนอเป็นละคอนถาปัด โดยให้ชื่อว่า มานีและชูใจ
ปี พ.ศ. 2547 คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้นำเรื่องราวของ มานีมานะ มาดัดแปลงเป็นละครเวที ลำดับที่ 6 ชื่อ Miss Manee กุลสตรี ชะนีป่วนโลก
จากนั้น นิตยสารอะเดย์ ฉบับที่ 5 ประจำเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 นำเรื่องราวเกี่ยวกับแบบเรียนชุดนี้ มาเผยแพร่เป็นเรื่องจากปก และต่อมายังเชิญอาจารย์รัชนี ผู้เขียนเรื่องตามแบบเรียนเดิม ขอให้เขียนวรรณกรรมชุดใหม่ในชื่อ ทางช้างเผือก โดยนำเค้าโครงมาจากเรื่องดังกล่าว แล้วนำลงตีพิมพ์ระหว่างฉบับที่ 26 ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 จนถึงฉบับที่ 37 ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 รวมทั้งสิ้น 12 ตอน ซึ่งเนื้อหาดำเนินไปอย่างสมจริงมากขึ้น และเป็นเรื่องยาวต่อเนื่องกัน ต่างจากเรื่องราวในแบบเรียน ที่ต้องระมัดระวังในสำนวนภาษา และถ้อยคำที่กำหนดให้เรียนรู้ตามหลักสูตร โดยในเดือนกันยายนปีถัดมา (พ.ศ. 2547) สำนักพิมพ์อะบุ๊ก นำมาตีพิมพ์รวมเล่ม และเพิ่มเนื้อหาเรื่องราวมากขึ้น รวมทั้งมีตัวละครใหม่เพิ่มเติม หลังจากนั้นยังมีการพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้ง[9] ระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 มีการจัดแสดงละครเวทีเรื่อง มานีและชูใจ ขึ้นโดยนำเค้าโครงของเรื่องนี้มาเขียนบทใหม่[10]
มีการนำตัวละครมาใช้ ทั้งเพื่อหวนรำลึกถึงอดีต และนำมาล้อเลียนเสียดสี เช่น แฟนเพจในเฟซบุ๊ก หนังสือเพี้ยน ป.1 และ กาตูนร์ ระทม ที่นำตัวละครอย่างมานี ซึ่งเป็นเด็กเรียบร้อยเรียนดี มาสร้างเป็นมีมในแก๊ก และถูกเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ [11] และแฟนเพจ มานีมีแชร์ ที่นำมานี เจ้าโต และตัวละครอื่นในบางโอกาส มาใช้ล้อเลียนทางการเมือง และวัฒนธรรมร่วมสมัย[12]
พ.ศ. 2568 มีการสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ มานี มานะ The movie กำกับโดยนันทพล กมุทวณิช[13]
อ้างอิง