พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา (สวีเดน)

พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา
Etnografiska museet
แผนที่
ชื่อเดิม
พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ของประชาชน
ก่อตั้งพ.ศ. 2443 (พิธีเปิด)
ที่ตั้งสต็อกโฮล์ม สวีเดน
พิกัดภูมิศาสตร์59°19′57″N 18°07′14″E / 59.33250°N 18.12056°E / 59.33250; 18.12056
ประเภทพิพิธภัณฑ์แห่งรัฐ
ขนาดผลงาน220,000 ชิ้น
จำนวนผู้เยี่ยมชม131,556 (พ.ศ. 2562)
ผู้ก่อตั้งราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์สวีเดน
สถาปนิกยอน จีเซเลียส และกุนนา มัสสัน
เว็บไซต์www.etnografiskamuseet.se

พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา (สวีเดน: Etnografiska museet) เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ตั้งอยู่ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เก็บรักษาวัตถุที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์และมานุษยวิทยากว่า 220,000 ชิ้น จากชาติพันธุ์ทั่วโลก ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคแปซิฟิก ทวีปอเมริกา และทวีปแอฟริกา[1] พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่มูเซียปาร์กเค็น เขตแยร์เดีย กรุงสต็อกโฮล์ม และเป็นส่วนหนึ่งของ หน่วยงานพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลกแห่งชาติสวีเดน เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลก พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุเอเชียตะวันออก และพิพิธภัณฑ์เมดิเตอร์เรเนียน และเป็นผู้ดูแลมูลนิธิสเวน เฮดิน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 11.00–17.00 น. และเวลา 11.00–20.00 น. ในวันพุธ และปิดทุกวันจันทร์[2]

ประวัติความเป็นมา

ของสะสมที่เก่าแก่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์มาจากราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์สวีเดน และสะสมวัตถุต่าง ๆ จากการออกเดินทางรวบรวมวัตถุและได้รับมาเป็นของขวัญ ราว ๆ พ.ศ. 2403 จึงเริ่มมีแยกแบ่งส่วนของสะสมเกี่ยวกับชาติพันธุ์โดยเฉพาะแบบถาวร[3] นิทรรศการสาธารณะหลัก ๆ หลายนิทรรศการจัดขึ้นแบบชั่วคราวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นนั้น ๆ ซึ่งรวมไปถึงนิทรรศการเกี่ยวกับชาติพันธุ์ทั่วไป ใน พ.ศ. 2421–2422 นิทรรศการการออกสำรวจบนเรือเวกา ใน พ.ศ. 2423 และนิทรรศการจัดแสดงของสะสมโบราณคดีและชาติพันธุ์จากทวีปอเมริกากลาง ใน พ.ศ. 2443

ของสะสมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติได้รับการจัดวางในห้องจัดแสดงพิเศษใน พ.ศ. 2384 และขยายไปจัดวางในห้องขนาดเล็ก 6 ห้องในตรอกวอลลิงกาทัน[4] แผนกชาติพันธุ์ก่อตั้งขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งสวีเดน ใน พ.ศ. 2443 ซึ่งยังเป็นส่วนหนึ่งของราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์สวีเดน ในขณะนั้น ยัลมาร์ สต็อลเปอ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของแผนกชาติพันธุ์ และงานดังกล่าวได้รับการสานต่อจนถึง พ.ศ. 2473 ณ ตรอกวอลลิงกาทัน 2 ในเมืองสต็อกโฮล์ม ยิ่งไปกว่านั้นพิพิธภัณฑ์ยังจัดนิทรรศการหลัก ๆ เกี่ยวกับหัวข้ออื่น ๆ เช่น นิทรรศการภารกิจเกี่ยวกับชาติพันธุ์ใน พ.ศ. 2450 นิทรรศการศิลปะญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2454 นิทรรศการงานฝีมือจากชวาและจีนใน พ.ศ. 2458 และ นิทรรศการงานฝีมือต่างแดนใน พ.ศ. 2470

ใน พ.ศ. 2473 ของสะสมเกี่ยวกับชาติพันธุ์ได้รับการย้ายไปอยู่ในอดีตตึกกลาโหมที่เขตลาดูกัวส์แยดเดีย ส่วนบริหารของพิพิธภัณฑ์นั้นแยกออกมาจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งสวีเดนใน พ.ศ. 2478 โดยใช้ชื่อว่า พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาแห่งรัฐ (Statens ethnografiska museum)[5] พิพิธภัณฑ์แห่งนี้อยู่ภายใต้การบริหารและการดูแลของราชบัณฑิตยสถานวิทยาศาสตร์สวีเดนจนถึง พ.ศ. 2509

สถาปัตยกรรม

อาคารพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2519–2521 บนอาณาเขตเดิมและเปิดให้สาธารณชนเข้าชมใน พ.ศ. 2523 อาคารออกแบบโดยยอน จีเซเลียส และกุนนา มัสสัน และได้รับรางวัลแคสเปอร์ ซาลินใน พ.ศ. 2524 พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายกับสวนสาธารณะและตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์การช่าง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การเดินเรือ พิพิธภัณฑ์ตำรวจ และพิพิธภัณฑ์การกีฬาสวีเดน

ใน พ.ศ. 2531 หน่วยงานได้เปลี่ยนชื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนาของประชาชน ถัดมาใน พ.ศ. 2542 พิพิธภัณฑ์ยังอยู่ภายใต้หน่วยงานเดิม แต่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมโลกแห่งชาติสวีเดนในปีเดียวกันนั้น สุดท้ายใน พ.ศ. 2544 พิพิธภัณฑ์ได้เปลี่ยนชื่อกลับไปใช้ชื่อดั้งเดิมคือ พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา[6]

ของสะสม

ของสะสมที่เก่าแก่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์คือ การเดินทางของกัปตันคุก ในศตวรรษที่ 18 ในขณะที่ของสะสมหลักมาจาก พ.ศ. 2393–2493 และได้รับอิทธิพลจากการออกสำรวจดินแดนในศตวรรษที่ 18 การเผยแพร่คำสอนศาสนาและการค้าเป็นอย่างสูง เมื่อพิพิธภัณฑ์เปิดให้สาธารณะชนเข้าชมครั้งแรกใน พ.ศ. 2473 นั้นเป็นผลจากการสะสมและการวิ่งเต้นสรรหาของฮยัลมาร์ สต็อลเปอ และอาลันด์ นูร์เดนเควิล

ใน พ.ศ. 2550 พิพิธภัณฑ์ตกลงที่จะคืนเสารูปสลักให้แก่ชาติไฮสลาที่นำมาใน พ.ศ. 2472 ชาติไฮสลาได้มอบเสาสลักฉบับคัดลอกให้แก่พิพิธภัณฑ์ซึ่งปัจจุบันเสานี้ตั้งอยู่บริเวณทางเข้าอาคาร พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนายังได้คืนวัตถุหลายชนิดคืนสู่ถิ่นฐานเดิม[7] วัตถุทั้งหมดที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบันถือเป็นสมบัติชาติและหน่วยงานมีสิทธิและหน้าที่จัดแสดงและอนุรักษ์วัตถุดังกล่าว[8]

พิพิธภัณฑ์เก็บรักษาของสะสมจากประเทศไทยราว 1,000 ชิ้น ส่วนหนึ่งเป็นของที่ได้มาจากการเดินทางรอบโลกบนเรือวานาดิส (อังกฤษ: Vanadis expedition; สวีเดน: Vanadis världsomsegling) ในช่วงพ.ศ. 2426 - 2428 โดยเริ่มเดินเรือจาก เขตคาร์ลสครูนา ประเทศสวีเดน และสิ้นสุดที่ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส[9] ของสะสมจากประเทศไทยที่ได้รับมาขณะหยุดแวะที่บางกอก ประเทศสยามในวันที่ 17-22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2427[10]  มีจำนวน 500 ชิ้นโดยประมาณ ส่วนใหญ่เป็นวัตถุที่ ฮยัลมาร์ สโตลเปอ ได้รับเป็นของขวัญจากเจ้าหน้าที่จากราชสำนักและบางส่วนเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันที่สโตลเปอซื้อมาจากตลาดท้องถิ่น ตัวอย่างของสะสมจากประเทศสยาม ได้แก่ เครื่องทองเหลือง พระพุทธรูป  หน้ากาก ผ้า ปิ่นปักผม

ภาพเรือนชาซูอิคิเตอิ ณ กรุงสต็อกโฮล์ม

เรือนชาซูอิคิเตอิ

เรือนชาซูอิคิเตอิ (ญี่ปุ่น: 瑞暉 亭; "เรือนสถิตของแสงแห่งความหวัง") เป็นอาคารสถาปัตยกรรมแบบญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นเพื่อพิธีชงชาญี่ปุ่นใน พ.ศ. 2533[11]  ปัจจุบันตั้งอยู่บนเนินที่มุ่งหน้าไปสู่คลองยูร์กวชบรุนน์ในสวนสาธารณะด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ อาคารได้รับการออกแบบโดยมาซาโอะ นากามูระ ภายในเรือนประกอบไปด้วยห้องสำหรับพิธีชงชาจำนวนสองห้อง ห้องเตรียมชา (มิซูยะ) โถงทางเข้า (ซาโดงูจิ)  และห้องเก็บของ อาคารดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะซึ่งมักจะปิดในฤดูหนาว แต่โดยทั่วไปเปิดให้ผู้คนได้เข้าชมสวนสาธารณะและชื่นชมเรือนชาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้ตลอดปี

เสาสลักแบบจำลองในพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วรรณนา พ.ศ. 2546

เสาสลักด้านนอกพิพิธภัณฑ์

ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์มีเสาโทเท็มหรือเสาสลักซึ่งแกะสลักขึ้นใน พ.ศ. 2543 โดยชาวไฮสลาที่อาศัยอู่ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา เสาสลักต้นนี้มาแทนที่เสาเดิมที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2415 และพิพิธภัณฑ์ได้รับมาราว ๆ พ.ศ. 2463 - 2472 เสาสลักสร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวชาวไฮสลาได้เผชิญโรคทรพิษหรือโรคฝีดาษทำให้มีผู้คนล้มตายจำนวนมาก เสาสลักต้นเดิมตั้งอยู่บริเวณสวนด้านนอกพิพิธภัณฑ์ในตรอกวอลลิงกาทัน แต่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจึงถูกนำออก เมื่อเสาสลักต้นใหม่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2523 และตั้งอยู่ในโถงกลางที่ปรับความสูงของอาคารเพื่อรองรับเสาดังกล่าว ถัดมาใน พ.ศ. 2534 ตัวแทนจากชนเผ่าไฮสลาเดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑ์และเผยความประสงค์เสาสลักนี้คืนสู่ถิ่นเดิม ใน พ.ศ. 2537 มีผลตัดสินให้พิพิธภัณฑ์ส่งมอบเสาคืนสู่ชนเผ่าไฮสลา หลังจากนั้นจึงเกิดการสร้างเสาสลักแบบจำลองใน พ.ศ. 2549 เสาสลักต้นใหม่มีขนาดและรูปลักษณ์คล้ายกับต้นเก่าและยังใช้ไม้ยมแดงซึ่งเป็นไม้ชนิดเดียวกับต้นเดิม ใน พ.ศ. 2546 จิล คาร์ดินัล ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวแคนาดา สร้างสารคดีเกี่ยวกับการส่งมอบเสาสลักคืนชื่อว่า โทเท็ม: การกลับมาของเสาจีพีเอสโพล็อกซ์ (อังกฤษ: Totem: The Return of the G'psgolox Pole)

อ้างอิง

  1. "Etnografiska museet". Etnografiska museet (ภาษาสวีเดน).
  2. "Opening hours". Etnografiska museet (ภาษาอังกฤษ).
  3. "Historier från samlingarna | Från Nordre älv till Karibiska sjön". samlingar.varldskulturmuseerna.se. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-10-23. สืบค้นเมื่อ 2021-10-19.
  4. Linné, Sigvald (1947). Primitiv konst, konst och konsthantverk hos primitiva folk (ภาษาสวีเดน). Aktiebolaget Bokverk.
  5. "Etnografiska museet, Stockholm", Wikipedia (ภาษาสวีเดน), 2021-08-30, สืบค้นเมื่อ 2021-10-19
  6. Murray, Anne (2016-03-05). "Ethnographic Museum, Museum History" (PDF). web.archive.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2021-10-19.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  7. "Etnografiska museet". Etnografiska museet (ภาษาอังกฤษ).
  8. "Etnografiska museet". Etnografiska museet (ภาษาอังกฤษ).
  9. "Vanadis världsomsegling (1883-1885) :: expedition, världsomsegling". collections.smvk.se.
  10. "Vanadis ångade mot Siam - Thailandspostens arkiv". web.archive.org. 2016-11-28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-11-28. สืบค้นเมื่อ 2021-10-28.{{cite web}}: CS1 maint: bot: original URL status unknown (ลิงก์)
  11. "Etnografiska museet". Etnografiska museet (ภาษาสวีเดน).

แหล่งข้อมูลอื่น

Strategi Solo vs Squad di Free Fire: Cara Menang Mudah!